"สตีเฟ่น เฮนดรี้" : ผู้เปลี่ยนยุคของวงการสนุกเกอร์ด้วยความโอหังที่ทำได้จริง
สนุกเกอร์ คือกีฬาอีกหนึ่งชนิดที่คนดูไม่เป็นจะเข้าใจมันได้ยากยิ่ง การยิงลูกแดงสลับลูกสี การทำเบรก การวางสนุ้ก ล้วนเป็นศัพท์ที่ชวนทำให้เข้าใจยาก ซึ่งเทคนิคเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักสนุ้กแทบทุกคนจะใช้ผสมผสานกันไปในแต่แมตช์
เพราะสนุกเกอร์คือกีฬาที่นอกจากจะสู้กันที่ฝีมือแล้วยังต้องสู้ด้วยการวางแผนด้วย จึงทำให้เป็นกีฬาที่ดูยากและไม่แมสเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม มีนักสนุ้กคนหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสความนิยมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ด้วยวิธีที่เอ็นเตอร์เทนยิ่งกว่าใครที่เคยมีมา และเขาคนนั้นคือ สตีเฟ่น เฮนดรี้ เจ้าของฉายา "มัจจุราชผมทอง" จากสก็อตแลนด์นั่นเอง
นี่คือเบื้องลึกของผู้สร้างกระแสความนิยมของสนุกเกอร์ในยุค 90's เทพแห่งการทำเบรกที่หาตัวจับยากและการันตีด้วยการเป็นมือ 1 ของโลกนานถึง 8 ปีโดยไม่มีใครล้มแชมป์ได้..
ทำไมเฮนดรี้ทำได้ถึงขนาดนั้น? ติดตามได้ที่นี่
จุดเริ่มต้นของราชาแห่งยุคสมัย
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น สตีเฟ่น เฮนดรี้ นั้นเป็นผู้จุดกระแสสนุกเกอร์ให้เป็นกีฬาที่ดูสนุกและทำให้คนดูเกาะติดการแทงแต่ละช็อตของเขาแบบไม่กระพริบตา เพราะการแจ้งเกิดของเขานั้นคือการมาของสไตล์ที่โลกแห่งสนุกเกอร์ไม่เคยเจอ
ว่ากันว่าในยุค 70's หรือต้นๆยุค 80's นั้น ค่านิยมหรือสไตล์การเล่นของนักกีฬาหลายๆคนมักจะเลือกเล่นในแต่ละเฟรมด้วยการพยายามที่จะเน้นชัวร์ไว้ก่อน กล่าวคือเป็นการเล่นสนุกเกอร์แบบเน้นเกมรับ ไม่เสี่ยงเล่นช็อตยากๆ และถ้าเป็นไปได้ ทางเลือกที่ดีที่นิยมที่สุดคือการวางสนุ้ก หรือ การแทงสนุ้กแบบวางแผนไว้ล่วงหน้า ไม่ได้กะให้ลูกลงหลุม แต่ตั้งใจให้เกิดการเปลี่ยนจุดของลูกสีขาว ให้อยู่ในจุดที่แทงในไม้ต่อไปให้ยากที่สุด เพื่อให้คู่แข่งเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก และถ้าหากวางสนุ้กได้ดีก็จะทำให้คู่แข่งผิดพลาด (แทงไม่โดนเป้าหมาย) จนสุดท้ายต้องเสียแต้มไปเอง.. นี่คือสไตล์ของสนุกเกอร์ในยุคที่เรียกว่า โอลด์ สคูล ก็คงไม่ผิดนัก
ทว่าการมาของ สตีเฟ่น เฮนดรี้ นั้นคือยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง เขาเริ่มเล่นสนุ้กตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็กชาย อีกทั้งยังเริ่มเล่นโดยที่ไม่เคยดูและสนใจกีฬาชนิดนี้มาก่อนเลย ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเขาไปที่ห้างสรรพสินค้าเพื่อเลือกของขวัญคริสต์มาสให้กับตัวเอง ซึ่งสุดท้ายแล้วเขาก็ไม่รู้จะเลือกอะไร จนพ่อและแม่ของเขาตัดสินใจซื้อโต๊ะสนุ้กในราคา 134 ปอนด์ ให้เป็นของขวัญประจำคริสต์มาสปีนั้น
"ผมไม่เคยดูหรือเล่นสนุกเกอร์มาก่อนไม่ว่าจะแข่งจริงหรือในทีวี แม่ผมไปเจอโต๊ะสนุ้กและถามว่า 'แล้วอันนี้ล่ะเป็นยังไง?' ผมตอบว่า ก็ดีเหมือนกัน ผมขอบคุณแม่ที่ซื้อให้ และเมื่อนำโต๊ะกลับไปตั้งที่บ้าน ผมไม่เคยหยุดเล่นสนุ้กเลยเป็นเวลาถึง 3 สัปดาห์ รู้ตัวอีกที่ผมก็ทำเบรกได้ถึง 50 ครั้งแล้ว" เฮนดรี้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเล่นสนุกเกอร์ของเขา
หลังจากนั้นมันเหมือนกับว่านิสัยใจคอของนั้นเกิดมาเพื่อเป็นผู้นำเทรนด์ เฮนดรี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีความใจกล้าสูงมาก เขายอมรับว่าหลังจากเริ่มเล่นจริงจัง เขากลับพบว่าเกมสนุ้กที่เน้นเกมรับเกินไปมันช่างเป็นอะไรที่น่าเบื่อ เขาจึงตั้งปณิธานว่าหากเขาได้เป็นนักสนุกเกอร์อาชีพ เขาจะใช้สไตล์ที่สร้างขึ้นมาเองเพื่อถึงจุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดให้ได้ นั่นคือการตั้งเป้าหมายไว้ที่ "ชนะเฟรมได้ในไม้เดียว" กล่าวคือการจะวางแผนแต่ละช็อตอย่างแยบยล และทำในสิ่งที่ได้คะแนนง่ายที่สุดแต่ทำยากที่สุดนั่นคือ "เน้นแทงให้ลงทุกครั้งเมื่อเขาได้สาวคิว"
แนวคิดนี้เกิดจากเหล่าไอดอลของเขาทั้งหลาย เฮนดรี้มีนักกีฬาระดับตำนานอย่าง ไมเคิล ชูมัคเกอร์ (F1), ไทเกอร์ วู้ดส์ (กอล์ฟ) อยู่ในดวงใจ (ถึงบางคนอาจจะอายุน้อยกว่าเจ้าตัวเองก็เถอะ) นักกีฬาเหล่านี้คือผู้สร้างแนวคิดผู้ชนะให้กับเฮนดรี้ เพราะนอกจาก ชูมัคเกอร์ และ ไทเกอร์ มักจะชนะคู่แข่งได้แล้ว พวกเขายังมีความพิเศษตรงที่พวกเขามักจะชนะด้วยความเหนือชั้น จนกลายเป็นที่กล่าวขาน
"ผมชอบดูพวกแชมเปี้ยน คนอังกฤษส่วนใหญ่มักมีค่านิยมในการเชียร์พวกมวยรองบ่อน แต่ไม่ใช่ผม ผมชื่นชมเหล่านักกีฬาผู้ยิ่งใหญ่ ผมเห็นชัยชนะของพวกเขาในแต่ละเกมมันง่ายดายและเป็นไปอย่างผ่อนคลาย ซึ่งมีไม่กี่คนหรอกที่จะชนะแล้วชนะอีกได้ง่ายๆแบบนั้น ผมเคารพความเก่งกาจ และรู้ว่าพวกเขาเสียสละมากขนาดไหนจนกลายเป็น เดอะ เบสต์ ได้.. ไทเกอร์ และ ชูมัคเกอร์ คือแบบอย่างที่บอกผมว่าจงเสพติดการเป็นแชมป์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้"
ดังนั้นสไตล์การ "เอาชนะในไม้เดียว" ของเฮนดรี้ จึงถูกฝึกอย่างจริงจัง เขาเล่นแบบนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนได้ฉายาว่า "โกลเด้น บอย" จุดเด่นของเขาคือการเล่นที่ไม่เหมือนใคร และเขาเองก็อธิบายไม่ถูกว่าทำไมสไตล์และแนวคิดของเขาจึงแตกต่างกับคนอื่นๆโดยสิ้นเชิง
เฮนดรี้แม่นและละเอียดมาก ลูกครึ่งโต๊ะแทงแบบเล็งให้ลงกลางหลุมทุกลูก หรือจะหลุมยาวก็แม่นไม่แพ้กัน การวางแผนก็ดีมากจนใครต่อใครก็ยอมรับ
"การเข้าเบรก (Break-building) เหมือนกับเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาเพื่อผม ตอนที่ผมลงแข่งขันมีนักสนุ้กหลายคนที่ชอบเล่นในรูปแบบของการเปิดเกมรุกกล้าได้กล้าเสีย แต่ไม่มีใครทำในสิ่งที่ผมทำ ผมมุ่งหวังจะเอาชนะเฟรมให้ได้ในไม้เดียว ซึ่งมีหลายคนบอกผมนะว่า 'เฮ้ย แกน่ะต้องช้าลงหน่อย เซฟๆไว้บ้าง ไม่อย่างนั้นถ้าพลาดมาระวังแกจะโดนลงโทษ'.. ซึ่งบอกตามตรงนะ ผมไม่เคยเก็บคำพูดเหล่านี้เอามาคิดให้เข้าหูเข้าสมองตัวเองเลย ผมรู้ดีว่าแนวทางของผมเป็นแบบไหน และผมอยากจะเล่นในแบบที่ผมต้องการมันก็เท่านั้น"
ไม่มีทางลัด
คำพูดที่กล่าวไปของเฮนดรี้ในข้างต้น หากถูกพูดโดยคนอื่นมันจะเป็นการเอ่ยวาจาที่ยโสโอหังชวนให้หมั่นไส้เป็นอย่างมาก แต่เหตุผลที่เฮนดรี้พูดแล้วคำพูดเหล่านี้กลับดูเป็นประโยคที่เท่ระเบิดขึ้นมาได้ นั่นก็เพราะว่า "เขาทำได้จริง"
ทุกความสำเร็จไม่เคยมีทางลัด ราชาแห่งการเข้าเบรกอย่างเฮนดรี้ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการวางแผนอันละเอียดยิบ น้อยครั้งมากที่เขาจะต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า เพราะทุกอย่างมักอยู่ในแผนและขอบเขตการเตรียมการของเขาเสมอ ว่ากันว่าเมื่อเดินหน้าเข้าสู่การแข่งขัน จิตใจของเขาจะเยือกเย็นเหมือนกับน้ำแข็ง ไม่ว่าจะดีใจ, เสียใจ, แพ้ หรือ ชนะ เขามักจะแสดงออกผ่านสีหน้าอันราบเรียบราวกับคิดอะไรในหัวอยู่เสมอ จนกลายเป็นที่มาของฉายา "มัจจุราชผมทอง" ที่วงการสนุกเกอร์คุ้นเคย
การฝึกแบบเต็มรูปแบบของเฮนดรี้ เริ่มจากที่เขาได้รู้จักกับ เอียน ดอยล์ ผู้จัดการส่วนตัวของเขาตั้งแต่ตอนที่เขายังไม่เทิร์นโปร ตัวของดอยล์นั้นเป็นเหมือนโค้ชจอมโหดนอกรีต เขาทำให้เฮนดรี้กลายเป็นเหมือนกับเครื่องจักร ที่เชิดชูชัยชนะเหนือทุกสิ่ง ดังนั้น ในช่วงที่เฮนดรี้เป็นวัยรุ่น เขาจึงไม่มีโอกาสได้ทำอะไรมากไปกว่าการทุ่มเทให้กับสนุกเกอร์เลย
"ในช่วงยุค 90's ผมไม่เคยมีเวลาสังสรรค์กับผู้เล่นคนอื่นๆเลย ผมได้รับฉายาว่า 'ไอซ์แมน' ซึ่งมองย้อนกลับไปมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น ผมรู้สึกว่าผมเป็นเหมือนสัตว์ที่โดนฝึกมาเพื่อให้ออกไปคว้าชัยชนะในการแข่งขัน" เฮนดรี้กล่าว
ดอยล์ทำในสิ่งที่ทำให้เฮนดรี้มีความ "ทั้งรักทั้งเกลียด" สิ่งที่เกลียดก็อย่างที่เขาได้เคยว่าไว้ นั่นคือเขาควรจะได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์มากกว่านี้ เพราะเขาใช้เวลาทั้งหมดทุ่มเทให้กับการเป็นนักสนุกเกอร์ที่เก่งที่สุดในโลก นอกจากนี้ ยังว่ากันว่า ดอยล์คือตัวแปรสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตครอบครัวของเฮนดรี้ จนทำให้เขาต้องเลิกกับภรรยาคนแรกที่ชื่อว่า แมนดี้ ทาร์ต ที่แต่งงานกันตอนอายุ 19 ปีเลยทีเดียว
ส่วนสิ่งที่เฮนดรี้ต้องรักและขอบคุณในตัวของดอยล์ คือการเห็นความสามารถของเขาและจับมาปลุกปั้นตั้งแต่อายุแค่ 15 ปี แม้เฮนดรี้จะเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าโค้ชนอกรีตอย่าง ดอยล์ มอบความรู้ทั้งเชิงทฤษฎีและปฎิบัติจนหมดทุกตำราที่เขามี และยังใส่ความคิดที่ว่า "จงเกลียดความพ่ายแพ้และพยายามเอาคืนให้ได้" ซึ่งสำคัญกับอาชีพของเฮนดรี้จนถึงวันที่เขาเลิกเล่น
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือช่วงที่เฮนดรี้ยังหนุ่มและอยู่ในวัยทีนเอจ เขามักมีปัญหาในการเล่นกับ สตีฟ เดวิส และมักจะเป็นฝ่ายแพ้บ่อยๆ สิ่งที่เขาทำคือการนอนไม่หลับ เฝ้าคิดถึงแต่ข้อที่ผิดพลาดของตัวเอง และอดใจรอให้พระอาทิตย์ขึ้นแทบไม่ไหว เพราะเขาจะรีบไปที่โต๊ะและซ้อมสิ่งที่เคยพลาดให้กลายเป็นกุญแจสู่ชัยชนะหากเจอกันครั้งต่อไป
"ผมเกลียดความพ่ายแพ้มาก ผมแพ้สตีฟคืนแล้วคืนเล่า ผมต้องการอยู่ในระดับเดียวกับเขาให้ได้ ผมยอมแลกด้วยการฆ่าวัยเด็กของผมทิ้งและทุ่มเทซ้อมแทบตายในทุกๆคืน" นี่คือสิ่งที่เฮนดรี้เป็น
เสพติดชัยชนะ และรับไม่ได้ทุกครั้งที่ตัวเองแพ้ เขากินความพ่ายแพ้เป็นอาหารจานโปรด และอาหารจานนี้เข้าไปสร้างความลุกโชนให้เกิดขึ้นในร่างกายของเขา นั่นทำให้ สตีเฟ่น เฮนดรี้ สร้างประวัติศาสตร์มากมาย อาทิ แชมป์โลก 7 สมัย, แชมป์ เดอะ มาสเตอร์ส 6 สมัย, แชมป์ ยูเค แชมเปียนชิพ 5 สมัย, แชมป์ บริติช โอเพ่น 4 สมัย, แชมป์สนุกเกอร์ กรังด์ปรีซ์ 4 สมัย, แชมป์ ยูโรเปี้ยน โอเพ่น 3 สมัย และแชมป์ เวลช์ โอเพ่น อีก 3 สมัย รวมถึงการทำแม็กซิมั่มเบรกอีก 11 ครั้งตลอดการเล่นสนุกเกอร์อาชีพ สรุปเบ็ดเสร็จคว้าแชมป์ไปทั้งหมด 75 รายการ (นอกจากนี้ยังมีแชมป์ประเภททีม 4 รายการ และแชมป์สมัยยังเป็นนักกีฬาสมัครเล่น 3 รายการอีกด้วย)
"ผมไม่ได้จ้องจะแก้แค้นใครเป็นพิเศษหรอก แต่สัญชาตญาณมันบอกให้ผมต้องเอาชนะทุกคนให้ได้ ไม่สำคัญว่าคนๆนั้นจะเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นนักสนุ้กที่เก่งที่สุดในโลกหรือแม้แต่คนในครอบครัวของผมเอง ผมแค่อยากจะเอาชนะตลอดเวลา นั่นคือเสียงที่ดังอยู่ในหัวสมองของผมเสมอ"
ทุกความสำเร็จนั้นมีราคา เฮนดรี้แลกช่วงชีวิตหนึ่งของตัวเองจนกลายเป็นหนึ่งในนักสนุกเกอร์ที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลก และเป็นแบบอย่างให้กับนักสนุกเกอร์รุ่นหลังๆที่เริ่มให้ความสำคัญเรื่องการเล่นสนุ้กแบบเปิดเกมรุกมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลหลายอย่าง และอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ โลกของสนุกเกอร์เปลี่ยนไป กระแสความนิยมมากขึ้น เพราะการเล่นแบบเน้นไม้เดียวจบนั้นเป็นสไตล์ที่ดูง่าย เข้าใจง่าย และเร้าใจกว่าการเล่นเชิงรับในยุคก่อนๆเป็นไหนๆ ดังนั้น เฮนดรี้จึงเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงในแบบที่ไม่มีใครกล้าปฎิเสธแน่นอน
การเรียนรู้ก่อนเลิกเล่น
เรื่องฝีมือนั้นไม่มีใครสงสัย และเฮนดรี้เองก็มีแฟนคลับเป็นของตัวเองที่หนาแน่นในระดับหนึ่ง แต่ความเยือกเย็นปานน้ำแข็งของเขามันทำให้หลายช่วงชวนอึดอัด อย่างที่บอก เขาไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคู่แข่ง ไม่ได้นับถือใครเป็นพิเศษ ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็ดี เพราะมันทำให้เขามีสมาธิและกลายเป็นสุดยอดนักสนุกเกอร์ แต่ในอีกทางหนึ่ง เขาได้พบว่าช่วงเวลาแห่งความยิ่งใหญ่ของเขา เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาขาดบางสิ่งไป.. นั่นคือ การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้แพ้ที่ดี
คอสนุกเกอร์อาจจะรู้ว่าภายหลังจากที่เฮนดรี้ยิ่งใหญ่จนนั่งบนบัลลังก์มือ 1 ของโลกนานถึง 8 ปี เขาถูกไล่หลังมาโดย รอนนี่ โอ'ซัลลิแวน นักสอยคิวชาวอังกฤษ และถึงแม้ว่าเฮนดรี้จะมีสถิติเฮดทูเฮดในการดวลกับรอนนี่แบบเป็นรอง เพราะแพ้มากกว่า ทว่า รอนนี่ไม่ใช่คนที่ทำให้เขาเป็นผู้รู้จักความพ่ายแพ้ที่ดี ทั้งสองคนยังมีความสัมพันธ์แบบซับซ้อน จะเรียกว่าเป็นเพื่อนก็ไม่ใช่ เป็นอริก็ไม่เชิง (ซึ่งเรื่องนี้คงจะได้กล่าวถึงกันในโอกาสหน้า)
ผู้ที่สอนให้เขารู้จักการเป็นผู้แพ้ที่ดีคือ "ตัวของเขาเอง" ในวันที่เขากวาดแชมป์และกลายเป็นยอดฝีมือ เขาได้เรียนรู้ว่าชีวิตจะมีความหมายเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อได้ลองมีมิตรภาพดูบ้าง และมิตรภาพที่ดีทีสุดเกิดขึ้นในช่วงที่เขาแยกทางกับ เอียน ดอยล์ ซึ่งทำให้เฮนดรี้นั้นปล่อยชีวิตให้ผ่อนคลายขึ้น และนั่นเองเป็นช่วงเวลาที่เขาได้กลับมาทบทวนเรื่องความพ่ายแพ้ดูอีกสักครั้ง
"ครั้งหนึ่ง เคนนี่ ดัลกลิช (ตำนานนักเตะและผู้จัดการทีมของลิเวอร์พูล นอกจากนี้ยังเป็นชาวสก็อตเหมือนกัน แถมยังเป็นคอสนุกเกอร์ด้วย) มาบอกกับผมว่า จงแสดงความเป็นผู้แพ้ที่ดีออกมาเสีย เดี๋ยวผมจะชี้ให้คุณดูว่าผู้แพ้จริงๆนั้นเป็นอย่างไร"
ดัลกลิชกล่าวกับเฮนดรี้ในเกมเกมหนึ่งที่เขาจะพบกับ จิมมี่ ไวท์ ซึ่งในเกมนั้นเฮนดรี้เป็นฝ่ายชนะ และเขาสังเกตในสิ่งที่ดัลกลิชชี้เป้า นั่นคือปฎิกิริยาของ จิมมี่ ไวท์ หลังความพ่ายแพ้ ซึ่งแตกต่างกับเขาโดยสิ้นเชิง
"จิมมี่เป็นผู้แพ้ที่น่าเหลือเชื่อ ผมมั่นใจสุดๆว่าลึกแล้วจิตใจของเขาเจ็บช้ำกับมัน แต่เขาไม่เคยแสดงมันออกมาเลย ลองเป็นผมสิ ถ้าแพ้ในนัดชิงขึ้นมาแล้วล่ะก็ระเบิดลงแน่ ผมไม่ค่อยรับผิดชอบอารมณ์ตัวเองเวลาเป็นผู้แพ้เท่าไหร่หรอก"
นั่นคือจุดเล็กๆที่เขาได้พบถึงโลกอีกใบ นั่นคือการเป็นคนที่เยือกเย็นของเขานั้นควรจะเบาๆลงได้แล้ว เขาย้อนนึกกลับไปช่วงที่เขาได้เป็นคู่ซ้อมกับรุ่นน้องอย่าง จอห์น ฮิกกิ้นส์ และเกิดความเคารพฮิกกิ้นส์ขึ้นมาในใจ ทว่าสุดท้าย เมื่อวันที่ฮิกกิ้นส์คว้าแชมป์โลกได้ เขากลับไม่กล้าแม้จะบอกพูดคำว่า "ยินดีด้วย นายทำได้ดีมากๆ" เพราะเป็นคนปากหนักเกินไป และไม่ค่อยคุ้นกับการเป็นเพื่อนกับคู่แข่งมาก่อนในชีวิต
"ผมพูดแสดงความยินดีไม่ได้จริงๆในตอนนั้น ผมรู้ว่าเขาเป็นคนดี แต่ผมไม่ชอบเห็นคนอื่นเป็นผู้ชนะ" ถึงแม้ปากจะบอกแบบนั้น แต่จิตใจของเฮนดรี้ก็เปลี่ยนไปเยอะ อย่างน้อยเขาเรียนรู้ที่จะเป็นผู้แพ้และยังคงให้ความเคารพกับฮิกกิ้นส์จนถึงทุกวันนี้ แม้เขาจะเป็นรุ่นพี่ถึง 7 ปีก็ตาม.. ก็ยังดีที่อย่างน้อยเขาได้เรียนรู้ และได้สัมผัสบรรยากาศในห้องแต่งตัวนักกีฬาในฐานะเพื่อนบ้าง หลังจากมองเป็นคู่แข่งมาโดยตลอด
จบสวยๆ
"ผมไม่ค่อยได้จดจำว่าช่วงเวลาที่พิเศษคือช่วงใด การได้แชมป์ครั้งแรกที่นี่ และการคว้าแชมป์โลก 7 สมัย ก็คงเป็นอะไรที่น่าจดจำที่สุดในชีวิตแล้วล่ะ"
สตีเฟ่น เฮนดรี้ ประกาศแขวนคิวไปเมื่อปี 2012 โดยให้เหตุผลว่ามาตรฐานของเขาตกไปเยอะ และสาเหตุที่ฟอร์มตกนั้นก็เพราะตั้งใจจะให้มันเป็นแบบนั้น เพราะเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง แชมป์โลกที่มีเยอะจนไม่มีใครต้องการหลักฐาน ก็สร้างจุดอิ่มตัวให้กับเขาเอง
"การตัดสินใจจะเลิกมันก็ง่ายๆ ผมไม่ค่อยแฮปปี้กับมาตรฐานของผมหรอก สำคัญที่สุดคือไม่สนุกกับการซ้อมแล้ว ผมอยากจะทำอย่างอื่นบ้าง.. ก่อนจะประกาศเลิก ผมมีสัญญากับสปอนเซอร์ที่จีน ซึ่งทำให้ผมต้องปฎิบัติตัวตามนั้นอย่างไร้ข้อแม้ บ้านช่องก็ไม่ได้กลับด้วย" นี่คือความรู้สึกของผู้ได้สัมผัสบรรยากาศสดชื่นบนยอดเขาจนรู้ว่ามันมากพอแล้ว เขาอยากกลับลงมาข้างล่างและใช้ชีวิตในแบบของเขาเอง
การแข่งขันครั้งสุดท้ายของเขาเป็นการแข่งขันชิงแชมป์โลก ซึ่งตัวของเฮนดรี้นั้นแพ้ให้กับ สตีเฟ่น แม็คไกวร์ ในรอบ 8 คนสุดท้าย และจบแมตช์นั้นเขาก็ยืนยันการเลิกเล่นอย่างเป็นทางการ พร้อมเป็นการปิดตำนานมัจจุราชผมทองผู้ยิ่งใหญ่อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะการแข่งขันครั้งสุดท้ายของเขาถึงแม้ว่าจะไปไม่ถึงแชมป์ แต่ก็ยังไว้ลายด้วยการทำแม็กซิมั่มเบรก (สกอร์ 147 แต้ม แทงลูกแดงแล้วตบลูกดำอย่างเดียว 15 ครั้ง แล้วกวาดลูกสีหมดโต๊ะ) ให้แฟนๆได้ปรบมือเกรียวกราวในเกมรอบแรกที่ชนะ สจ็วร์ต บิงแฮม เป็นการส่งท้ายผู้นำสนุกเกอร์เข้าสู่ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุด..
"การเข้าเบรกเหมือนกับเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาเพื่อผม ผมรู้ดีว่าแนวทางของผมเป็นแบบไหน และผมอยากจะเล่นในแบบที่ผมต้องการมันก็เท่านั้นเอง" สิ่งที่เขาพูดในวัยหนุ่มกลับกลายเป็นฉากส่งท้ายของเขาอย่างพอดิบพอดี
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ