ไขข้อข้องใจ : ทำไมนักสู้ MMA จึงนิยมหันมาเป็นนักมวยปล้ำในช่วงบั้นปลายอาชีพ?
บร็อค เลสเนอร์ (Brock Lesnar), รอนดา ราวซีย์ (Ronda Rousey) และ เคน เวลาสเกซ (Cain Velasquez) ชื่อเหล่านี้คือ ยอดนักสู้ MMA ผู้ประสบความสำเร็จจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ชีวิตคนเรามีขึ้นมีลง บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่ข้อยกเว้น เมื่อสภาพร่างกายโรยรา นัก MMA ระดับแชมป์โลกเข้าสู่ช่วงท้ายชีวิตภายในกรง แทนที่จะหันหลัง พวกเขากลับเริ่มต้นเส้นทางใหม่ ในกีฬาต่อสู้กำหนดผลล่วงหน้า อย่าง มวยปล้ำ
Main Stand พาคุณไขข้อข้องใจ ทำไมนักสู้ MMA จึงนิยมหันมาเป็นนักมวยปล้ำในช่วงบั้นปลายอาชีพ? เรามีคำตอบทั้งหมดมาให้คุณ
คล้ายกันกว่าที่คิด
MMA กับ มวยปล้ำ คือกีฬาต่อสู้ที่อยู่ตรงข้ามกันและกัน ฝ่ายแรกคือกีฬาต่อสู้ในรูปแบบ Shoot หรือ ต่อยจริงเจ็บจริง ส่วนอีกฝั่ง คือการต่อสู้แบบ Work หมายถึง การแข่งขันที่ถูกกำหนดผลล่วงหน้า มีการฝึกซ้อมและพูดคุยระหว่างนักกีฬาทั้งสองฝ่าย แต่ความจริงแล้ว ทั้งสองชนิดกีฬา มีความใกล้ชิดกว่าที่หลายคนคิดไว้
ความหมายของคำว่า MMA หรือ Mixed Martial Arts คือ "ศิลปะการต่อสู้แบบผสม" และหนึ่งในศิลปะที่ถูกนำมารวมในการต่อสู้แขนงนี้ คือ มวยปล้ำ ทักษะที่มีจุดเด่นในการรวบคู่ต่อสู้ ถูกยกย่องเป็นหนึ่งในรูปแบบการต่อสู้ที่อันตรายที่สุดของโลก MMA หลายคนยกย่องให้พื้นฐานเหล่านี้ มีความสำคัญไม่แพ้ ศอก และ เข่า ของมวยไทย
นัก MMA สายมวยปล้ำ ยึดครองความยิ่งใหญ่ในการต่อสู้รูปแบบนี้ตั้งแต่ต้น แม้จะถูกวิจารณ์ว่าน่าเบื่อ แต่กาลเวลาพิสูจน์ว่าทักษะมวยปล้ำใน MMA มีประสิทธิภาพเพียงใด เดือนมิถุนายน ปี 2019 แชมป์โลก UFC จำนวน 6 จาก 7 ราย คือนักสู้ที่ได้การยอมรับเรื่องทักษะมวยปล้ำ ยกตัวอย่างเช่น เฮนรี เซฮูโด (Henry Cejudo) แชมป์รุ่นฟลายเวตและแบนตัมเวต ที่เพิ่งประกาศแขวนนวมไป หรือ แดเนียล โครเมียร์ (Daniel Cormier) ที่เคยคว้าแชมป์โลกในรุ่นไลต์เฮฟวี่เวตและเฮฟวี่เวตในขณะเดียวกัน
Photo : ESPN
ขณะเดียวกัน การต่อสู้รูปแบบ MMA แฝงตัวอยู่ในกีฬามวยปล้ำอย่างยาวนาน ช่วงทศวรรษ 1950's และ1960's นักมวยปล้ำชื่อดังอย่าง คาร์ล กอทช์ (Karl Gotch) และ บิล โรบินสัน (Billy Robinson) ฝึกฝนทักษะ Catch Wrestling อันเป็นรูปแบบมวยปล้ำที่ใช้ใน MMA
นักมวยปล้ำในช่วงเวลาดังกล่าว ถูกฝึกฝนให้สามารถใช้ท่าซับมิชชันได้จริง และยังเรียนรู้ทักษะการต่อสู้ประเภทอื่น อย่าง ยูโด หรือ คิกบ็อกซิ่ง จึงกล่าวได้ว่า นักมวยปล้ำมีทักษะแบบ MMA ติดตัวมาเสมอ
อันโตนิโอ อิโนกิ (Antonio Inoki) ตำนานแชมป์โลกชาวญี่ปุ่น คือผู้พัฒนารูปแบบมวยปล้ำ Strong Style ที่ได้รับการยกย่องในฐานะ Shoot Wrestling จนสามารถต่อกรบนสังเวียนกับ มูฮัมหมัด อาลี ในการต่อสู้ที่กล่าวกันว่าเป็น "MMA แมตช์แรกของโลก"
Photo : Los Angeles Times
แม้ภายหลัง ความสมจริงของการต่อสู้จะหายไป ผ่านการนำเสนอมวยปล้ำในรูปแบบ "กีฬาเพื่อความบันเทิง" ของ WWE แต่ทักษะพื้นฐานยังคงเป็นสิ่งสำคัญ มีนักมวยปล้ำจำนวนมากในปัจจุบัน สามารถรวบคู่ต่อสู้ลงพื้นได้สวยงามไม่แพ้นัก MMA และยังมีการนำท่าซับมิชชันที่นิยมในกรงต่อสู้อย่าง Triangle choke หรือ Cross Armbreaker มาใช้
ความคล้ายคลึงกันของทั้งสองกีฬา ทำให้การเปลี่ยนผ่านจาก MMA สู่ มวยปล้ำ ง่ายกว่าที่จะเกิดขึ้นกับการต่อสู้ชนิดอื่น เช่น มวยไทย หรือ หรือ มวยสากล แม้จะมีทักษะเหล่านี้ใน MMA แต่เมื่อพิจารณากีฬามวยทั้งสองในรูปแบบของตัวเอง ถือว่าต่างจาก MMA อย่างเห็นได้ชัด
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นนักกีฬาบางคนสลับไปมาระหว่างฐานะ นักสู้ MMA และนักมวยปล้ำ เช่น บร็อค เลสเนอร์ แชมป์โลก WWE ที่เริ่มต้นอาชีพนักมวยปล้ำในปี 2002 ก่อนเบนเข็มเข้าสู่สังเวียน UFC ในปี 2008 ก่อนกลับสู่ WWE อีกครั้งในปี 2012 จนถึงปัจจุบัน โดยระหว่างนั้นในปี 2016 เลสเนอร์หวนคืนสู่เวที MMA อีกหนึ่งไฟต์ ในศึก UFC 200 อีกด้วย
ยืดอายุยอดนักสู้
MMA คือกีฬาที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของความ "โหด ดิบ เถื่อน" เนื่องจากการผสมผสานศิลปะป้องกันตัวจากทั่วโลก ทั้ง หมัด, ศอก, เข่า, เท้า และ ท่าจับล็อคสุดอันตราย ทั้งหมดล้วนเป็นอาวุธของนักสู้ในกรง
การต่อสู้แต่ละไฟต์ นักกีฬา MMA เอาร่างกายของตัวเองเป็นเดิมพัน ภาพผู้ชนะบอบช้ำทั่วร่าง กับ ผู้แพ้ที่บาดเจ็บจนเลือดอาบ สามารถเห็นจนชินตา หลายครั้งที่นักสู้ประเภทนี้โพสต์ภาพหลังจบการแข่งขัน ด้วยสภาพใบหน้ายับเยินจนแทบจำไม่ได้
นักสู้ MMA ส่วนใหญ่ จึงเป็นพวก "ดังเร็ว ดับเร็ว" สังเกตได้จากซูเปอร์สตาร์ระดับท็อปของวงการ อย่าง บร็อค เลสเนอร์ และ รอนดา ราวซีย์ ทั้งสองคือนักสู้ระดับแชมป์โลก UFC แต่เมื่อช่วงเวลาขาลงมาถึง พวกเขาฟอร์มตกอย่างเห็นได้ชัด หลังจากเสียแชมป์โลก เลสเนอร์ และ ราวซีย์ กลับสู่เวทีกรง 8 เหลี่ยม อีก 1 นัด ผลลัพธ์คือพ่ายแพ้ จึงประกาศเลิกชก MMA ทั้งที่พ้นตำแหน่งแชมป์เพียงปีเดียว
Photo : TIME
เทียบกับกีฬามวยปล้ำ แชมป์โลกที่เราคุ้นชื่ออย่าง จอห์น ซีนา (John Cena) สามารถครองตำแหน่งแนวหน้าของสมาคม WWE ยาวนานถึง 10 ปี โดยไม่แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมสภาพของร่างกาย ตามอายุที่เพิ่มขึ้น นักมวยปล้ำบางคน เช่น ริค แฟลร์ (Ric Flair) หากินในวงการนี้ในฐานะนักกีฬาเป็นเวลา 40 ปี ยาวนานกว่านักกีฬาต่อสู้ประเภทไหน
มวยปล้ำ คือ กีฬาเพื่อความบันเทิง หากพูดให้เข้าใจง่าย นักมวยปล้ำมีสถานะไม่ต่างจากนักดนตรี ที่เดินสายเปิดการแสดงทั่วประเทศ สภาพร่างกาย คือสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลรักษา กีฬาชนิดนี้จึงถูกออกแบบให้มีความปลอดภัยค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับการต่อสู้ชนิดอื่น
สำหรับนักสู้ MMA ที่เคยก้าวผ่านนรกในกรง แรงกระแทกจากการปะทะในมวยปล้ำ กลายเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ประกอบกับร่างกายของพวกเขา ที่แม้จะไม่ดีพอสำหรับการต่อสู้แบบ Shoot แต่หากหันมาเทียบกับนักมวยปล้ำทั่วไป สภาพร่างกายนัก MMA ถือว่าอยู่ในระดับยอดเยี่ยม และสามารถหากินในกีฬาเพื่อความบันเทิงชนิดนี้ได้อีกนาน
Photo : Forbes
นัก MMA ที่อยู่ในช่วงโรยรา ทั้ง บร็อค เลสเนอร์, รอนดา ราวซีย์ และ เคน เวลาสเกซ จึงพาเหรดเข้าสู่กีฬามวยปล้ำ เพื่อครองความยิ่งใหญ่ในฐานะนักสู้ต่อไป ด้วยชื่อเสียงที่คนเหล่านี้สั่งสมมาในสังเวียน UFC นอกจากจะได้การตอบรับอย่างดีจาก WWE พวกเขาเหล่านี้ยังได้รับการผลักดันสู่ระดับสูงทันทีแบบไม่ต้องไต่เต้า
รอนดา ราวซีย์ รับบทนักมวยปล้ำหญิงไร้พ่ายระยะเวลานาน 1 ปี ก่อนก้าวสู่การเป็นคู่เอก WrestleMania ขณะที่ เคน เวลาสเกวส ถูกผลักดันให้ชิงแชมป์โลก WWE ตั้งแต่การขึ้นปล้ำแมตช์แรก ส่วน บร็อค เลสเนอร์ แม้จะเคยเป็นนักมวยปล้ำ แต่ดีกรีนักสู้แชมป์โลก UFC สร้างคาแรกเตอร์ของเลสเนอร์ กลายเป็นนักมวยปล้ำที่แข็งแกร่งที่สุดใน WWE ครองแชมป์โลกยาว 504 วัน นานที่สุดนับแต่ปี 1988
ความยิ่งใหญ่และความภาคภูมิใจของนักสู้เหล่านี้ ที่เคยสูญเสียไปในเวที UFC จึงหวนคืนกลับมาอีกครั้งใน WWE แม้พวกเขาเหล่านี้จะรู้ดีว่ามันไม่ใช่ชัยชนะ "ของจริง" แต่ความสำเร็จในวงการมวยปล้ำนำพาซึ่งบางสิ่ง อันเป็นเหตุผลสำคัญที่สุด ในการนำพานักกีฬา MMA สู่ วงการมวยปล้ำ
เงิน เงิน เงิน
มวยปล้ำไม่ใช่กีฬาที่สร้างรายได้มหาศาล เทียบเท่ากับ MMA หรือ มวยสากล แต่หากเทียบตารางการทำงานกับเม็ดเงินที่ไหลเข้ากระเป๋า เราคงกล่าวได้ว่า ไม่มีกีฬาชนิดไหน "งานสบาย รายได้ดี" มากกว่านี้
ดั่งที่กล่าวไว้ บรรดาแชมป์โลก UFC ได้รับการผลักดันสู่ระดับสูงโดยไม่ต้องไต่เต้า แต่สิทธิพิเศษหน้าฉาก เทียบไม่ได้กับสิ่งที่พวกเขาได้รับเบื้องหลัง นัก MMA ที่เข้าสู่ WWE มีตารางงานน้อยกว่านักมวยปล้ำรายอื่น พวกเขาไม่ต้องปล้ำโชว์รายสัปดาห์, โชว์ออกทีวี รวมถึง ศึกใหญ่บางรายการ
สวนทางกับตารางงาน นักมวยปล้ำ-MMA เหล่านี้ มีค่าเหนื่อยสูงเสียดฟ้า บร็อค เลสเนอร์ มีค่าเหนื่อย 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 385 ล้านบาท จากการขึ้นปล้ำ 8 นัด ในปี 2019 ขณะที่ เคน เวลาสเกซ เริ่มต้นสัญญาฉบับแรกกับ WWE โดยไร้ประสบการณ์มวยปล้ำ ด้วยมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 160 ล้านบาท
Photo : Bleacher Report
เม็ดเงินมหาศาลไม่เพียงดึงดูดนัก MMA เข้าสู่วงการมวยปล้ำ แต่ยังรวมถึง ไทสัน ฟิวรี (Tyson Fury) แชมป์โลกไร้พ่ายชาวอังกฤษ ที่แม้จะอยู่ในช่วงพีคของอาชีพมวยสากล ก็ไม่สามารถต้านทานเงินจำนวน 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 481 ล้านบาท จาก WWE แลกกับการขึ้นปล้ำเพียงแมตช์เดียว
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่า วงการมวยปล้ำกำลังถูกนัก MMA หรือนักสู้กีฬาอื่นเข้ามาฉกฉวยเม็ดเงินในระยะเวลาสั้น ก่อนหันหลังจากไปหรือไม่ คำตอบนั้นตรงกันข้าม นักกีฬาชื่อดังเหล่านี้ คือส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้มหาศาลแก่ WWE แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
Photo : Boxing Scene
การเข้ามาของซูเปอร์สตาร์อย่าง รอนดา ราวซีย์ คือส่วนสำคัญที่ทำให้ WWE บรรลุสัญญาถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์มูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 73,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่การปรากฏตัวของ เคน เวลาสเกซ และ ไทสัน ฟิวรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงระหว่าง WWE กับ ประเทศซาอุดิอาระเบีย มูลค่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 2,000 ล้านบาท
WWE ได้รับการการันตีว่าจะมีกำไรมหาศาลไปจนถึงปี 2024 เป็นอย่างน้อย การหว่านเม็ดเงินมหาศาลเพื่อว่าจ้างซูเปอร์สตาร์จากกีฬาอื่นไม่ใช่ปัญหาของพวกเขา ขณะเดียวกัน นักสู้ MMA ยังได้ผลประโยชน์มากมายนอกเหนือเม็ดเงินในสัญญา ทั้ง เงินสปอนเซอร์และธุรกิจอื่น จากการรักษาพื้นที่ในหน้าสื่อ ด้วยบทบาทนักมวยปล้ำแถวหน้า ดั่งที่เคยกล่าวไป
การข้ามฝั่งของนักสู้ MMA สู่ มวยปล้ำ กลายเป็นกรณีศึกษาชั้นยอดในแง่ของธุรกิจ เงินนับหมื่นล้านบาทไหลเข้าสู่วงการกีฬา และกระจายตัวไปสู่ทุกฝ่ายทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ไม่มีใครรู้ว่าการโอนถ่ายระหว่างการต่อสู้ 2 ชนิด จะเกิดขึ้นไปอีกนานแค่ไหน แต่ตราบใดที่ผลประโยชน์ยังมีแก่ทุกฝ่าย เราคงได้เห็นนักสู้ MMA อีกหลายราย ปรากฏตัวบนเวที WWE ในอนาคต