ทำไมตำแหน่ง "Libero" ในวอลเลย์บอลถึงจำเป็นต้องตัวเล็ก?

ทำไมตำแหน่ง "Libero" ในวอลเลย์บอลถึงจำเป็นต้องตัวเล็ก?

ทำไมตำแหน่ง "Libero" ในวอลเลย์บอลถึงจำเป็นต้องตัวเล็ก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกครั้งที่คุณดูการแข่งขันวอลเลย์บอล เราเชื่อว่าคุณอาจจะเห็นผู้เล่นคนหนึ่ง จาก 6 คนของแต่ละฝั่ง ที่สวมชุดแข่งสีต่างจากคนอื่นๆ ในทีม.. ตำแหน่งดังกล่าว ถูกเรียกว่า "ลิเบโร"

ตำแหน่ง ลิเบโร เกิดขึ้นเมื่อใด? มีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไร? และเหตุใด เราถึงเห็นผู้เล่นตัวเล็ก ที่มีความสูงไม่มากนัก เล่นในตำแหน่งนี้เสมอ?

ติดตามหาคำตอบได้ที่นี่

ตำแหน่งที่เพิ่งถูกสร้าง

อย่างที่เราทราบกันว่า ในเกมวอลเลย์บอล แต่ละทีมจะมีผู้เล่น 6 คนในสนาม ซึ่งก็จะมีตำแหน่งอย่างชัดเจน..

ตัวตบหัวเสา (Outside Hitter), บอลเร็ว หรือ ตัวบล็อก (Middle Blocker), ตัวตีตรงข้าม หรือ บีหลัง (Opposite Hitter) รวมถึง ตัวเซ็ต (Setter) คือชื่อตำแหน่งที่คุณๆ น่าจะจำได้ขึ้นใจ แต่สำหรับ ลิเบโร (Libero) ตำแหน่งนี้เข้ามามีบทบาทในกีฬาตบลูกยางได้อย่างไร?

1

อันที่จริง ตำแหน่งลิเบโร เพิ่งจะถือกำเนิดในกีฬาวอลเลย์บอลเมื่อปี 1998 นี้เอง โดยเป็นแนวคิดของ FIVB หรือ สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ ที่ต้องการเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆสู่กีฬาตบลูกยาง

สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตำแหน่งนี้ คือ ผู้เล่นจะต้องสวมใส่ชุดที่มีสีต่างจากเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีเหตุผลอยู่..

ตามกติกาการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลนั้น จะมีการเปลี่ยนตัวได้มากสุด 6 คนต่อเซต โดยผู้เล่นสำรองจะต้องเปลี่ยนตัว เข้า-ออก กับผู้เล่นคนใดคนหนึ่งในสนาม และสามารถเปลี่ยนตัวกลับเข้ามาเล่นได้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับตำแหน่งลิเบโรนั้นมีข้อยกเว้น คือผู้เล่นตำแหน่งนี้สามารถเปลี่ยนตัวกับผู้เล่นคนใดก็ได้ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนตัวกับผู้เล่นคนเดิมเวลาที่ต้องการให้ลิเบโรออกจากสนาม ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนผู้เล่นตำแหน่งลิเบโรลงสนาม จะไม่ถูกนับรวมไปกับโควตาการเปลี่ยนตัวต่อเซตอีกด้วย โดยสามารถเปลี่ยนตัวเมื่อไหร่ก็ได้ ขอให้จบการเล่นแต่ละแต้มก่อนเท่านั้น

2

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ลิเบโร คือตำแหน่งที่ช่วยเพิ่มมิติใหม่ในการเล่นวอลเลย์บอล ซึ่งเพิ่มความสนุก ตื่นเต้น เร้าใจ แก่แฟนๆอย่างแท้จริง

เหตุผลที่ต้องใช้คนตัวเล็ก

กติกาที่อนุญาตให้เปลี่ยนตัวได้อย่างอิสระกว่าตำแหน่งอื่นๆของลิเบโรในกีฬาวอลเลย์บอลนั้น จะว่าไปก็สอดคล้องกับรากศัพท์ภาษาอิตาลี ที่แปลว่า "อิสระ" อย่างลงตัว

3

อย่างไรก็ตาม ในความอิสระนั้นก็มีข้อจำกัดอยู่ คือผู้เล่นตำแหน่งนี้จะไม่สามารถเข้าไปเล่นในพื้นที่แถวหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระโดดตบ บล็อก หรือเซ็ต รวมถึงการเสิร์ฟด้วย (ยกเว้นในการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา ที่สามารถเสิร์ฟได้) ทำให้การเปลี่ยนตัวของตำแหน่งลิเบโรส่วนใหญ่ จะถูกเปลี่ยนตัวกับผู้เล่นในแถวหลังเท่านั้น

ขณะเดียวกัน อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ตำแหน่งลิเบโร เกิดขึ้นเพื่อสร้างมิติใหม่ให้กับการเล่นวอลเลย์บอล สิ่งนั้นคือ "การเล่นเกมรับ" ด้วยเหตุนี้ ลิเบโร จึงมีความหมายในกีฬาวอลเลย์บอลว่าเป็นตำแหน่ง "ตัวรับอิสระ" นั่นเอง

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ผู้เล่นตำแหน่งลิเบโร จะอยู่ได้แค่ในแนวหลังเท่านั้น ทำให้หน้าที่สำคัญของลิเบโร คือการรับบอลตบ โดยเฉพาะจากผู้เล่นตำแหน่งหัวเสาของทีมคู่แข่งที่จะโจมตีเข้าใส่ 

และเมื่อกติกาวอลเลย์บอลถูกปรับเปลี่ยน ให้บอลที่เสิร์ฟพลิกเน็ตเป็นบอลดี สามารถเล่นต่อได้ รวมถึงมีการนับคะแนนแบบแรลลี่ สามารถเป็นแต้มได้ทั้งเมื่อเป็นฝ่ายเสิร์ฟหรือฝ่ายรับเสิร์ฟ ก็ทำให้การรับบอลเสิร์ฟ กลายเป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญไปด้วย

4

แน่นอนว่า ลูกตบกับลูกเสิร์ฟ หรือแม้กระทั่งลูกหยอดนั้น ล้วนคาดเดายาก จะตกลงที่แหน่งไหนของสนามก็ได้ ผู้ที่จะทำหน้าที่ "ด่านแรก" เพื่อรับบอล จะต้องมีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วด้วยเช่นกัน

แม้โดยปกติ จะเป็นที่ทราบกันดีว่า ความสูง คือปัจจัยสำคัญในการเล่นวอลเลย์บอล แต่ตามธรรมชาติแล้ว ก็ต้องแลกกับความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว และนั่นทำให้ คนตัวเล็ก ที่มีการเคลื่อนไหวที่คล่องตัวกว่า กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับการเล่นตำแหน่งลิเบโร ซึ่งต้องเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วเพื่อไปดักบอลที่อีกฝ่ายโจมตีมานั่นเอง

เป็นลิเบโรให้ดีต้องมีอะไร?

5

การเคลื่อนไหวอันคล่องแคล่ว รวดเร็ว ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นพรที่พระเจ้ามอบให้คนตัวเล็กเป็นการชดเชยสิ่งที่ขาดหาย อาจเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญของการเล่นในตำแหน่งลิเบโรก็จริง

แต่การจะเป็นยอดลิเบโร แค่นั้นอาจไม่พอ..

เจฟฟ์ สมิธ (Jeff Smith) ผู้อำนวยการ Serve City โรงเรียนฝึกสอนวอลเลย์บอลสำหรับเยาวชนในสหรัฐอเมริกาเผยว่า "ในขณะที่ตัวเซ็ตเป็นผู้นำในเกมบุก ลิเบโรนี่แหละคือผู้นำในเกมรับ รวมถึงเป็นหัวใจและจิตวิญญาณของการรับลูกเสิร์ฟ รวมถึงผู้เล่นเกมรับทั้งหมดด้วย"

ด้วยเหตุดังกล่าว ลิเบโรที่ดี จึงควรต้องมีการรับบอล รวมถึงการขุดบอล (Digging) ที่อีกฝ่ายตั้งใจตบฝังที่ดี ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องมีการอ่านเกมที่แม่นยำว่าฝั่งคู่แข่งจะโจมตีด้วยรูปแบบใด จะมาด้วยลูกตบ หรือลูกหยอด ซึ่งนอกจากไอคิววอลเลย์บอลที่สูงแล้ว ยังต้องมีการสั่งการเพื่อนร่วมทีม เพื่อแบ่งหน้าที่ในเกมรับให้ชัดเจนด้วยเช่นกันว่า แต่ละคนจะต้องไปรอดักบอลที่ตำแหน่งไหน

6

อย่างไรก็ตาม ทักษะเกมรุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเซ็ตบอล ก็ถือเป็นสิ่งที่ผู้เล่นตำแหน่งลิเบโรไม่ควรละเลย ดังที่ เคน ชิบุยะ (Ken Shibuya) หนึ่งในทีมงานโค้ชวอลเลย์บอลของทีมชาติสหรัฐอเมริกาให้มุมมองว่า

"บางครั้ง คนที่ต้องทำหน้าที่รับบอลซึ่งอีกฝ่ายโจมตีมา อาจจะไม่ใช่ลิเบโรเสมอไป เพราะตัวเซ็ต อาจจะเป็นเป้าที่ถูกตีบอลใส่ ซึ่งตามกฎ ผู้ที่สัมผัสบอลแล้ว จะไม่สามารถสัมผัสบอลได้อีก ดังนั้น ลิเบโรนี่แหละ ที่จะต้องทำหน้าที่เซ็ตบอลให้ตัวตบหากจำเป็น"

แม้ผู้เล่นที่มักจะถูกนึกถึงเป็นคนแรกๆในกีฬาวอลเลย์บอล คือตำแหน่งสายทำแต้มอย่าง ตัวตบ ก็ตาม แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกคนในทีมนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

และบางที ปัจจัยสู่ชัยชนะของทีมตบลูกยาง อาจจะมาจากคนที่ถูกเรียกได้ว่า "ตัวเล็กที่สุดในสนาม" อย่าง ลิเบโร ก็เป็นได้

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ทำไมตำแหน่ง "Libero" ในวอลเลย์บอลถึงจำเป็นต้องตัวเล็ก?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook