โมเดล “คนไทย” เทคโอเวอร์ทีมผู้ดี
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมามีข่าว “ตื่นเต้น ๆ” เกี่ยวกับการ “เทคโอเวอร์” สโมสรฟุตบอลอังกฤษ ทีมที่ 3 ของกลุ่มทุนชาวไทย
ทีมดังกล่าว คือ โบลตัน วันเดอเรอร์ส ส่วน “กลุ่มทุน” นำโดยคุณ ไบรอัน แอล. มาร์คาร์ ประธานสโมสรบีอีซี เทโรศาสน และกรรมการผู้จัดการบริษัท บีอีซี – เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
ในแง่การข่าว “สื่อกีฬาไทย” ส่วนใหญ่เล่นข่าวนี้ ส่วนสื่อไทยภาษาอังกฤษ นสพ.เดอะ เนชั่น นำเสนอข่าวนี้ และเนื้อหาข่าวถูก นสพ.อังกฤษ เดอะ การ์เดี้ยน นำไป “ต่อยอด” ด้วยเช่นกัน
ไบรอัน แอล.มาร์คาร์
ใจความสำคัญของข่าวประกอบด้วย “สาระหลัก” ประมาณ 3 หัวข้อ:
1.ตัวเลขการเทคโอเวอร์ อยู่ที่ประมาณ 40 ล้านปอนด์ หรือกว่า 2,000ล้านบาทไทย
2.คุณไบรอัน ระบุว่า ได้รับการติดต่อจากโบลตัน ที่ประธานสโมสรบีอีซีฯ มีสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับทั้งสโมสร และประธานฯ ฟิล การ์ตไซด์
3.แม้โบลตัน จะมีสถานะหนี้อยู่ประมาณ 150 ล้านปอนด์ ทว่ามี “สินทรัพย์” (Assets) ทั้งสนามฟุตบอล, โรงแรม และอเคเดมี ฟุตบอล ของตัวเอง
สุดท้าย ทั้งคุณไบรอัน, ทีมกฎหมาย และพันธมิตร กำลังเตรียมบินไปเจรจา และตรวจสอบสถานะการเงินของสโมสรเร็ว ๆ นี้
มากกว่านั้น บีอีซี เทโรฯ ยังเป็นพาร์ตเนอร์กับครูไซโร แห่งบราซิล และเตรียมจะเปิดตัวการเป็นพันธมิตรกับสโมสรดังจากกัลโช่ เซเรีย อา เร็ว ๆ นี้อีกด้วย (ข้อมูล “เดอะ เนชั่น”)
โบลตัน วันเดอเรอร์ส กำลังฟาดแข้งในระดับ แชมเปี้ยนชิพ
ทั้งนี้ ไม่ว่า “ดีลนี้” ระหว่าง บีอีซีฯ กับโบลตัน ซึ่งขณะนี้อยู่อันดับ 22 จาก 24 ทีมในตารางเดอะ แชมเปี้ยนชิพ จะประสบความสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ
แต่ข่าวนี้ได้กระพือออกไปแล้ว และเท่ากับว่า ประเทศไทยมีสิทธิ์จะมี “กลุ่มทุน” รายที่ 3 ต่อจาก คิง เพาเวอร์ กับเลสเตอร์ ซิตี้ และทีมงานคุณหญิง ศศิมา ศรีวิกรม์ และคุณสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา กับเรดดิ้ง เรียบร้อยแล้ว
ส่วนตัว ผมเคยเขียนเสมอ ๆ ครับว่า หาก “มีตังค์” และเลือกสโมสรได้ถูกต้อง การเทคโอเวอร์สโมสรฟุตบอลผู้ดีมีแต่คุ้ม
คุ้มแรก คือ ข่าว “พีอาร์”, สอง – สินทรัพย์สโมสร เช่น สนาม, อเคดิมี, โรงแรม, ที่ดิน หรือแม้กระทั่ง “มูลค่า” ผู้เล่น
สาม – สิทธิประโยชน์พิเศษ อาทิ การทำกิจกรรมการตลาด, กิจกรรมเพื่อสังคม ฯลฯ
สี่ – มูลค่า “แบรนด์” โบลตัน วันเดอเรอร์ส
ฯลฯ และ ฯลฯ
ทั้งหมดมีมูลค่ามากกว่า “หนี้สิน” 150 ล้านปอนด์ของโบลตันแน่นอน
วิชัย รักศรีอักษร เจ้าของคิงเพาเวอร์และสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ในพรีเมียร์ลีก
ณ เวลานี้ เลสเตอร์ และกลุ่มคิง เพาเวอร์ กำลัง “ต่อยอด” แผนการตลาด และกิจกรรมการตลาด/เพื่อสังคมอย่างเป็น “รูปธรรม” และมี “แผนการ” ในประเทศไทย
เช่น แคมเปญ “Fox Hunt: ตามล่าจิ้งจอกสายพันธุ์สยาม” ที่คัดเลือกเด็กไทยอายุต่ำกว่า 17 ปีทั่วประเทศจำนวน 16 คนไปฝึกฟุตบอล และเรียนหนังสือเป็นเวลา 2 ปีครึ่งที่อังกฤษ
เรดดิ้ง ก็ได้ร่วมมือกับทีมเพื่อนตำรวจ นำผู้เล่นอย่าง ปกเกล้า อนันต์ ไปชุบตัวฝึกฟุตบอล
แน่นอนครับว่า การได้เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นใหญ่จะทำให้ “กลุ่มทุนไทย” สามารถสร้างแคมเปญ หรือโปรแกรมที่เหมาะสม และสอดคล้องกับวงการฟุตบอลไทยได้
จับตาดูดี ๆ กับพื้นที่ตรงนี้ ผมเชื่อว่า ไม่เกิน หรือประมาณ 5 ปีเราน่าจะได้เห็นนักบอลไทยในพรีเมียร์ลีกครับ
ไข่มุกดำ