เจาะกลยุทธ์ "ONE Championship" โตได้...แม้ต่อให้ไม่มีการแข่งขันอีก 2 ปี

เจาะกลยุทธ์ "ONE Championship" โตได้...แม้ต่อให้ไม่มีการแข่งขันอีก 2 ปี

เจาะกลยุทธ์ "ONE Championship" โตได้...แม้ต่อให้ไม่มีการแข่งขันอีก 2 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในโลกของธุรกิจกีฬา อีเวนต์การแข่งขัน เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความอยู่รอดขององค์กรนั้นๆ เมื่อ โควิด-19 เข้าทำมาให้โลกกีฬาต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา

องค์กรกีฬาต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบกันอย่างมหาศาล จนเราได้เห็นความพยายามของ หลายๆ ลีกกีฬาทั่วโลก ที่อยากจะกลับมาจัดแข่งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ทุกชีวิตในองค์กรไปต่อได้

ONE Championship ไม่อาจหลีกหนีเอฟเฟกต์ที่เกิดขึ้นแล้ว ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ ลีกการต่อสู้ที่ก่อตั้งโดยคนไทยอย่าง ชาตรี ศิษย์ยอดธง กลับยังสามารถรับมือ และเดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางความยากลำบากในภาวะวิกฤติครั้งนี้ 

สิ่งที่ทำให้ ONE Championship มูฟออนออกมาได้อย่างรวดเร็ว คือ กลยุทธ์ขององค์กร ที่มีความยืดหยุ่น และกระจายความเสี่ยงได้ดี แตกต่างกับหลายๆ ลีกกีฬาการต่อสู้ชั้นนำ ที่พึ่งพารายได้จากการ ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และเงินค่าตั๋วจากแมตช์การแข่งขัน

Main Stand บุกออฟฟิศของ "ปลาย-จิติณัฐ อัษฎามงคล" ผู้บริหารหนุ่มของ ONE Championship ประจำประเทศไทย เพื่อมาเจาะลึกถึงวิสัยทัศน์ของ องค์กรการต่อสู้ที่มียอดผู้ชมออนไลน์สูงกว่า พรีเมียร์ลีก และ UFC ... ที่ยังคงทำให้ ONE พุ่งข้างหน้าต่อไปได้ แม้จะเกิดวิกฤติกับธุรกิจก็ตาม

ONE Championship เติบโตอย่างมาก ภายในระยะเวลาแค่ 8 ปี ONE Championship ใช้กลยุทธ์อะไรในการพาตัวเองไปถึงจุดนั้น?

หากมองผิวเผิน คนอาจคิดว่า ONE Championship เป็นแค่ บริษัทที่จัดกีฬา แต่แท้จริงแล้ว สินทรัพย์ของเรา คือ การผลิตคอนเทนต์ โดยนำเอากีฬาการต่อสู้ ที่มีตลาดคนดูเป็นแบบ Niche Market (ตลาดเฉพาะทาง) ไม่แพร่หลายมาก เอามาทำให้มันเข้าถึงง่าย 

เราพบว่าในตลาดกีฬาการต่อสู้ โปรโมเตอร์ส่วนมาก มุ่งเน้นไปที่การสร้างไฟต์ที่ดุเดือดเลือดสาด เรื่องของความมันบนสังเวียนเป็นหลักในการโปรโมต รวมถึงการสร้างกระแสเชิงลบ ให้นักกีฬาบลัฟกัน มีการสร้างความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ เพื่อทำให้ไฟต์ได้รับความสนใจ 

สำหรับ ONE Championship เราไปอีกทางหนึ่งเลย ความมันบนเวที เป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องมีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ขาดหายไปในการทำคอนเทนต์กีฬาการต่อสู้ คือ การเชิดชูฮีโร่ที่มีคุณค่าต่อสังคมจริงๆ ONE Championship ศึกษากลยุทธ์จากหลายๆ แบรนด์ ในโลกอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น Disney ที่ใช้การสร้างฮีโร่ ทำให้ฮีโร่ มีเรื่องราว 

ONE Championship จึงไม่ได้มองนักกีฬาเป็นแค่ นักสู้ แต่เขาต้องมีความเป็นฮีโร่ เพื่อให้คนดูได้รับมากกว่าแค่ความสนุกบนสังเวียน แต่นักกีฬาเหล่านั้น ต้องสามารถสร้างความฝัน สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้ เด็กอายุ 9-10 ขวบ ก็สามารถมีโปสเตอร์เขาอยู่ในห้องนอนได้ 

 

กลยุทธ์ของ ONE Championship มีความแปลกและแตกต่างกับ องค์กรการต่อสู้ระดับโลกทั่วไป ที่เน้นหารายได้จากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอด แต่ ONE Championship กลับเลือกที่จะทิ้งเงินก้อนโตจากส่วนนั้น เพื่อนำเสนอเนื้อหาไปให้ได้กว้างที่สุด การตัดสินใจแบบนี้มีความเสี่ยงแค่ไหน และได้อะไรกลับมาจากความเสี่ยงนั้น? 

มันเป็นเกมที่เสี่ยง และเดิมพันสูงมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งเจ้าอื่นๆ เรามองว่าวัฒนธรรมแบบ Paywall (การเสียเงินเพื่อเข้าถึงเนื้อหา) ในโลกตะวันตกเป็นสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคย แต่ในเอเชีย การสร้างกำแพงแบบนั้นไปสู่คนดู ที่ต้องเสียเงิน และใช้ขั้นตอนถึง 2-3 ชั้น กว่าจะเข้าถึงคอนเทนต์ได้นั้น มันจะไม่เติบโตในระยะยาว 

กลยุทธ์ของเรา คือการทำให้เนื้อหาเข้าถึงผู้ชมทั่วโลกให้ง่ายที่สุด ผ่านช่อง Free-to-air เพื่อสร้างพฤติกรรมการรับชมเป็นประจำของคนดู โดยใช้การ Disruption (การทำสิ่งใหม่ที่จะมาทำลายสิ่งเก่า) แบบที่ Facebook และ YouTube เติบโตมาได้ 

การจะผลิตเนื้อหาแบบนั้น ในเชิงธุรกิจบันเทิงกีฬา เราต้องเปลี่ยนเนื้อหาที่สร้างความขัดแย้ง ให้เป็น คอนเทนต์ที่เป็นมิตรกับครอบครัว มีความเป็นสากล สามารถรับชมได้ทุกเพศ ทุกวัย ฉายให้เห็นภาพของความมีสปิริต น้ำใจนักกีฬา ความสวยงามหลังเกมบนเวที 

เรารู้ว่ากลยุทธ์นี้จะทำให้เราเข้าถึงผู้ชมได้กว้างขึ้นกว่าเดิม และเปิดโอกาสให้เราได้ทำงานกับ หลายองค์กรที่ไม่ได้มีความเกี่ยงข้องกับการต่อสู้เลย เช่น Disney, Marvel อย่างในญี่ปุ่นก็มี Shiseido ที่เป็นแบรนด์ที่มีความเป็นผู้หญิงมากๆ แต่เขาก็เลือกที่จะร่วมงานกับเรา เพราะเห็นว่า คอนเทนต์ของเรา เชิดชูผู้หญิงบนสังเวียนนักสู้

นั่นจึงทำให้เนื้อหาของเราสามารถถ่ายทอดสดในช่องทาง Free-to-air (รับชมฟรี) ได้มากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก แม้แต่ในบางประเทศที่ช่องรัฐบาล มีความเข้มงวดและอนุรักษ์นิยมมาก ก็อนุญาตให้ ONE Championship นำเสนอเนื้อหาผ่านช่องของรัฐได้ 

ในขณะเดียวกัน เรายังทำคอนเทนต์ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในแอปพลิเคชั่นของเรา, บน YouTube บน Facebook 

ภายในระยะเวลา 4 ปี แค่เฉพาะ YouTube ยอดวิว และยอดผู้ติดตาม เราเติบโตขึ้นเป็น 10,000 เปอร์เซนต์ เราน่าจะเป็นองค์กรการต่อสู้เจ้าเดียวในโลก ที่มีการแปลภาษาท้องถิ่นมากที่สุด เพื่อให้คนเข้าถึงง่ายที่สุด

ด้วยกลยุทธ์หลายอย่างๆ ที่เราผสมผสานกัน ทำให้ในปี 2019 ที่ผ่านมา ONE Championship ติดอันดับ 4 ของโลก ในฐานะองค์กรสื่อทรัพย์สินกีฬา ที่มียอดผู้ชมออนไลน์สูงสุด จากจำนวนทั้งสิ้นกว่า 5,000 องค์กร (โดยการจัดอันดับของ Tubular Labs) 

 

กระทั่งเกิดการแพรร่ะบาดของไวรัส โควิด-19 กิจการทุกอย่างบนโลกแทบต้องหงุดชะงัก การแข่งขันกีฬาทั่วโลก ไม่สามารถจัดได้ ณ ช่วงเวลาที่ต้องเจอกับวิกฤติ ONE Championship ประสบปัญหาอย่างไรบ้าง?

นี่คือวิกฤติที่ไม่เคยมีบริษัทไหน เคยเจอมาก่อนในรอบ 100 ปี ผู้บริหารของเราแทบจะต้องประชุมวอร์รูมแบบรายวัน เพื่อหา แพลน A, B, C มีสิ่งหนึ่งที่เราจะไม่ทำอย่างแน่นอน คือ การจัดอีเวนต์ที่มีความเสี่ยงต่อผู้ชม, นักกีฬา และทีมงานของเรา

เราไม่มีทางรู้ได้ว่า โรคระบาดจะจบลงเมื่อไหร่? วัคซีนจะมาตอนไหน เพราะนั่นคือปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา ทีนี้เมื่อวิกฤติเกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องกลับมาดู สินทรัพย์ที่เรามีคืออะไรบ้าง? โชคดีที่ ONE Championshop ไม่ได้พึ่งพารายได้จากการขายตั๋ว และการจัดอีเวนต์เท่านั้น 

เราเปรียบเสมือน เครื่องจักรในการผลิตเนื้อหา ต่อให้ไม่มีการแข่งขัน เราก็สามารถเอาของที่เรามี มาเสิร์ฟให้คนดูได้ เรามีการเชิญนักกีฬาของเรามาทำ Podcast, เรามีการทำคลิปโฮมเทรนนิ่ง เพื่อให้นักกีฬาได้มีปฏิสัมพันธ์และกิจกรรมร่วมกับแฟนคลับ และยังมีหลายโปรเจกต์ที่เรากำลังจะทำต่อไปเรื่อยๆ ในช่วงที่ไม่มีการแข่งขัน

อย่างเช่น ตอนที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ เรายังสามารถร่วมกับพันธมิตรอย่าง Global Citizen ในการไลฟ์คอนเสิร์ตเพื่อการกุศล (One World: Together At Home) โดยนำศิลปิน ดาราฮอลลีวูด คนดังจากหลายๆ วงการ มาผลิตคอนเทนต์ จนได้รับเงินบริจาค เพื่อช่วยเหลือด้านการแพทย์จำนวนมาก และสร้างอิมแพกต์ต่อสังคมได้อีกด้วย 

เพราะเราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแค่ โปรโมเตอร์ และคอนเทนต์ของเรามีแค่ไฟต์การต่อสู้เท่านั้น แต่เราคือผู้สร้างเนื้อหา ที่เชิดชูและให้คุณค่ากับฮีโร่ ที่สร้างแรงบันดาลใจ, จุดประกายความหวัง ความฝันแก่ผู้คน 

และเราเชื่อว่าคอนเทนต์ของเรา จะตอบโจทย์กับยุคเจเนเรชั่น มิลเลนเนียม ที่มีความสนใจในเนื้อหาหลากหลายประเภท 

 

แสดงว่าด้วยกลยุทธ์ที่แตกต่างของ ONE Championship จึงทำให้องค์กรสามารถอยู่ได้ โดยไม่ต้องเร่งรีบจัดการแข่งขัน เหมือนกับลีกกีฬาหลายแห่ง ที่พยายามอยากกลับมาจัดเร็วๆ 

ถ้ารีบแล้วเอาตัวเองไปเสี่ยง มันจะไม่คุ้มค่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ONE กระจายความเสี่ยงขององค์กรค่อนข้างดี แต่บางแห่ง ต้องเข้าใจว่า เขาพึ่งพารายได้จากการจัดการแข่งขันเป็นหลัก หากไม่เร่งจัดอีเวนต์ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อหนี้ รวมถึงสปอนเซอร์ เลยทำให้เขาต้องยอมเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงเพื่อจัด 

แต่เราก็มีแพลนที่จะพัฒนารูปแบบการจัดแข่งขัน ให้มีความเสี่ยงน้อยสุด โดยใช้เทคโนโลยีในสตูดิโอ เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ของการแข่งขัน เหมือนจัดในอารีนา

 

อย่างเร็วสุดที่ ONE Championship จะกลับมาอีกมีแมตช์การแข่งขัน ทั้งแข่งแบบสนามปิด หรือแข่งแบบเปิดให้มีผู้ชม คาดการณ์ว่าน่าจะประมาณเมื่อไหร่? และมองถึงช็อตในอนาคตไหมว่า หากยังไม่มีการค้นพบวัคซีนในเร็วๆ นี้ จะจัดการแข่งขันอย่างไร ให้ได้ตามมาตรฐานเดิม?

คงไม่สามารถตอบได้เลยว่า แมตช์ที่เปิดให้ผู้ชมเข้าสนาม จะกลับมาเมื่อไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และวัคซีน แต่ถ้าเราให้เราคาดการณ์ โดยปกติเมื่อมีการระบาดของโรคใหม่ จะต้องใช้เวลาประมาณ 12-18 เดือน ในการพัฒนาวัคซีน ถึงมีวัคซีน ช่วงแรก คนน่าจะยังกลัวอยู่ คงต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง 

ONE จึงมีการวางแผนว่า หากใน 12-24 เดือนข้างหน้า ไม่สามารถกลับไปจัดการแข่งขันในอารีนาได้ เราจะต้องมี แผนคอนเทนต์ อย่างไรบ้าง? เพื่อให้นักกีฬาในองค์กรกว่า 600 คน สามารถมีช่องทางในการทำมาหากินได้ นี่คือสิ่งที่ทีมผู้บริหารกำลังระดมความคิด เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา 

ผมมองว่า วิกฤติครั้งนี้ จะเป็นตัวเร่งให้ภาพวิสัยทัศน์ที่เรามองไว้ในอนาคตให้เกิดเร็วขึ้น และมันจะเข้ามาเร่งให้ ทีมครีเอทีฟ และทีมพัฒนานวัตกรรมของเรา สปีดอัพตัวเอง ในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

เมื่อไหร่ก็ตามที่สถานการณ์ เอื้ออำนวยให้กลับมาจัดการแข่งขันได้ เรามั่นใจว่า ONE มีความพร้อมที่กลับไปจัดการแข่งขันอีกครั้ง แต่หากการจัดแข่งขันยังมีความเสี่ยงอยู่ ต่อให้อยากกลับมาจัด เราก็คงไม่พาตัวเองไปอยู่ในความเสี่ยงนั้น 

 

สิ่งที่ ONE Championship กังวลมากสุด หลังเกิดวิกฤต โควิด-19? 

เรากังวลในเรื่องการเดินทางข้ามประเทศ สมมติหากมีการแพร่ระบาดรอบสอง กระบวนการโลจิสติกส์ในการขนส่งนักกีฬาระหว่างประเทศจะซับซ้อนยิ่งขึ้น บางประเทศอาจเดินทางไปหากันไม่ได้ ก็อาจทำให้เราไม่สามารถจัดแมตช์ที่สนุก อย่างที่ต้องการได้

อย่างที่สองคือเรื่อง ระดับการรักษาความปลอดภัย เรารู้ว่าองค์กร ONE มีความพร้อมแค่ไหน และสามารถทำได้ปลอดภัย แต่เราไม่รู้ว่าโปรโมเตอร์เจ้าอื่นจะคิดแบบเราไหม เขาอาจยอมเสี่ยงเพื่อให้ได้เป็นเจ้าแรกที่กลับมาจัดการแข่งขัน หาามันพลาดพลั้งมีการติดเชื้อขึ้น ทุกคนจะได้รับผลกระทบไปหมด

ยกตัวอย่างในตอนที่มีการแพร่ระบาดจาก สนามมวยลุมพินี มันกระทบกับผู้คนทั้งหมด รวมถึง ONE Championship ที่ถูกมองว่า โปรโมเตอร์เป็น ธุรกิจที่สร้างความเสียหายแก่สังคม 

เหตุการณ์นั้น ทำให้เกิดความเข้าใจเชิงลบต่อวงการกีฬาการต่อสู้ นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เพราะต่อให้เราระวัง แต่คนอื่นไม่ระวัง สุดท้ายผลกระทบก็จะตกมาถึงเราด้วยอยู่ดี

 

วิกฤติในครั้งนี้จะพลิกโฉมและส่งผลกระทบอย่างไรกับต่อองค์กรการต่อสู้ทั่วโลก?

ผมคิดว่าอาจจะมีผู้ประกอบการ โปรโมเตอร์หลายเจ้า ต้องล้มหายตายจาก เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ รวมถึงโลกคอนเทนต์กีฬาการต่อสู้จะเปลี่ยนไป

แนวทางที่ ONE Championship ทำอยู่ในตอนนี้ จะเป็นการบุกเบิกที่ทำให้ ผู้ประกอบได้เห็นว่า การขายกีฬาการต่อสู้ คุณไม่ได้ขายแค่ไฟต์ดุเดือดอย่างเดือด แต่คุณต้องขายความฝัน ขายแรงบันดาลใจ ขายความเป็นฮีโร่ให้แก่ผู้ชม

หากโปรโมเตอร์ยังใจจดใจจ่อ อยู่กับการสร้างไฟต์ดุเดือด พึ่งพารายได้จากการขายตั๋ว หวังให้คนมาที่สนามเยอะๆ โดยไม่สร้างแบรนด์อื่นๆ ไม่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ผู้ประกอบเหล่านั้นก็จะอยู่ลำบาก และวนกลับไปอยู่ที่วัฏจักรเดิมๆ

เหมือนอย่างที่ วงการมวยไทยอาชีพ ไม่สามารถเติบโตและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากกว่านี้ วิกฤติในครั้งนี้ มันจะเร่งให้ผู้ประกอบมองหานวัตกรรมใหม่ๆ และเปลี่ยนมุมมองว่า ธุรกิจของเขาไม่ใช่โปรโมเตอร์ แต่เขากำลังอยู่ในธุรกิจการผลิตเนื้อหา ที่มีคนเป็นหัวใจหลัก 

 

ONE Championship ในฐานะคนที่ทำงานร่วมกับนักมวยไทย, ค่ายมวยไทยหลายๆ แห่ง มีความกังวลและห่วงใยอย่างไร ต่อสถานการณ์ของวงการมวยไทยอาชีพในบ้านเรา? เพราะตอนนี้ภาพลักษณ์ถูกมองในด้านที่ไม่ดีนัก หลังเกิดการแพร่ระบาดที่สนามมวย

เรามีความห่วงใยมาก อย่างคุณชาตรี ศิษย์ยอดธง (ผู้บริหารสูงสุด ONE Championship) ก็โทรมาสอบถามเป็นระยะๆ ว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร เพราะเมืองไทยคือประเทศบ้านเกิด และมวยไทยก็อยู่ในสภาวะวิกฤติมานานแล้ว 

เนื่องจากมวยไทยไม่มีระบบนิเวศการเติบโตที่ยั่งยืน ผู้ประกอบการหลายคน ยังคงให้ความสำคัญอยู่กับแค่การแข่งขัน การเป็นแชมป์ การมีสนามแข่งขัน และเม็ดเงินเท่านั้น แต่ลืมมองว่า คุณจะทำอย่างไรให้มวยไทย เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ทำอย่างไรถึงจะเกิดระบบนิเวศที่มีความมั่นคง และทำให้ ฮีโร่รุ่นใหม่ของมวยไทยเกิดขึ้น

ค่านิยมของมวยไทยในบ้านเรา ยังถูกมองว่าเป็นกีฬาคนจน กีฬาสำหรับคนที่ไม่มีทางออกในชีวิต ต้องใช้กำปั้นเพื่อหาเลี้ยงชีพ และมีระยะเวลาการชกที่ไม่ยั่งยืน เริ่มต่อยอายุ 9 ขวบ อายุ 20 กว่าๆ บางคนก็รีไทร์แล้ว คำถามคือชีวิตที่เหลืออีก 30-40 ปีข้างหน้าล่ะ คุณจะทำอย่างไรต่อ?

 

เสียดายศักยภาพของ มวยไทย ไหมครับ? ทั้งที่น่าจะเป็น ศิลปะการต่อสู้ที่ถูกมองอย่างมีคุณค่า และควรมีมูลค่ามากกว่านี้ แต่กลับไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้เลย เหมือนหลายๆ ศิลปะการต่อสู้ในโลก 

ในความเชื่อของผม บรรดาการต่อสู้ ต่อให้มองแบบเป็นกลาง มวยไทย มีศักยภาพทางการตลาดมากสุด เพราะว่าสกิลเซ็ทของนักกีฬามวยไทย สามารถนำเอาไปต่อย คิกบอกซิ่ง, มวยสากล, คาราเต้, MMA ได้เลย 

ที่ผมลิสต์มาแต่ละอย่าง มวยสากล เป็นกีฬาต่อสู้ที่มีคนดูมากสุดในโลก, MMA มีอัตราการเติบโตสูงสุดในโลก, คิกบอกซิ่ง เป็นกีฬาที่สามารถเข้าถึงคนดูได้ง่ายสุดในโลก รองจาก มวยสากล และ MMA ทักษะของมวยไทย สามารถนำไปใช้กับ 3 กีฬานี้ได้ ประเทศไทย เหมาะอย่างมากสำหรับการเก็บตัวนักกีฬา และอิมพอร์ทนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้มาฝึกมวยไทย

ถามหน่อยว่า คนที่เก่งบนสังเวียนคิกบอกซิ่ง และ MMA มีใครบ้างที่ไม่ต้องเรียนมวยไทย? เพราะมวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีความครบเครื่อง และเป็นเหมือนจิกซอว์ในสองกีฬาการต่อสู้หลักของโลก แต่มวยไทยไม่สามารถไปจุดนั้นได้เลย เพราะวิธีการแบบเดิมที่เราทำมา

ในต่างประเทศ นักกีฬามวยไทยต่างชาติยุคหลัง มีพัฒนาการที่เร็วมาก เพราะทัศนคติที่มีต่อกีฬา ต่างจากบ้านเรา ภาครัฐให้การสนับสนุน และมีระบบที่มีความยั่งยืนกว่า 

แต่เราไม่สามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้ เพราะด้วยโครงสร้างที่วางมาเป็นเวลาช้านาน และการจะไปแก้ที่รากนั่น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก 

 

ในอนาคต ONE Championship มีแผนที่จะเข้าไปทำในสเกลระดับประเทศ กับมวยไทยในบ้านเรา อย่างไรบ้าง? 

มีแน่นอนครับ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เราทำงานร่วมกับ กกท. (การกีฬาแห่งประเทศไทย) ในผลักดันให้เกิดลีกมวยไทย ในชื่อ "ONE Hero Series Muay Thai" 

เพื่อเป็นแพลตฟอร์มใหม่ และสร้างระบบนิเวศ และ Career-Path (เส้นทางการเติบโตในอาชีพ) ของนักมวยไทยรุ่นใหม่ ที่ต้องการหาทางออกและเข้ามาสู่ฟีเจอร์ใหม่ ในการเรียนรู้ว่า การจะเป็นฮีโร่มวยไทย คุณต้องมีมากกว่าแค่ ทักษะการต่อสู้ แต่ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย

ด้วยระบบที่เราจะสร้างตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ นั่นคือลีกระดับโลก ONE Super Series เพราะกีฬาที่ไปสู่ระดับโอลิมปิกได้ ต้องเริ่มจากการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแรงก่อน ในระดับรากหญ้า ถ้าวันนี้เราไม่สามารถทำให้ รากหญ้าของมวยไทยแข็งแรงได้ โอกาสจะไปตรงนั้นก็ยาก โอกาสที่พัฒนานักกีฬารุ่นใหม่ และเข้าถึงคนเจเนเรชั่นต่อไป ทำได้ยาก

ทำไมกีฬาอย่าง เทควันโด ที่ไม่มีลีกอาชีพรองรับ ถึงมีเด็กไปเรียนเป็นจำนวนมาก และผู้ปกครองสบายใจที่จะส่งลูกไปเรียน แต่กับมวยไทย มันเหมือนยังมีกำแพงกั้นสำหรับการเข้าถึง เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ และทำให้มวยไทยเป็นกีฬาที่เข้าถึงคนได้ง่าย โดยเฉพาะในระดับเยาวชน

หากเด็กทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงมวยไทย ต่อให้มีแค่ 0.01 เปอร์เซนต์ ต่อยอดมาเป็น นักกีฬาระดับแชมป์ได้ แต่ที่เหลืออีก 99 เปอร์เซนต์ คนเหล่นั้นจะมีมีโอกาสที่กลายมาเป็น ผู้ชม, ผู้บริโภคมวยไทย ในอนาคต

ถ้าวันนี้เรายังคิดแต่จะจัดมวย เพื่อรอให้แฟนมวยไทยกลับมาเข้าสนาม มันไม่เพียงพอแล้ว เพราะคุณต้องมองด้วยว่า แฟนของมวยไทยในอีก 10 ปี จะเป็นใคร มันจึงควรต้องเริ่มสร้างตั้งแต่วันนี้ กับเด็กระดับประถมฯ และมัธยมฯ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook