“ครัวมาดาม” เจาะกลยุทธ์การตลาดทีมฟุตบอลท่าเรือฯ ในวันที่โลกเจอวิกฤติ
วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้แทบทุกชีวิตต้องพบเจอกับความยากลำบากกว่าที่เคยเป็นมา
มีผู้คนมากมายตกงาน, รายได้ลดลง หลายครอบครัวใช้ชีวิตกันอย่างขัดสน ขาดแคลนทั้งความหวัง กำลังใจ และการช่วยเหลือจากส่วนกลางที่ไม่สามารถครอบคลุมกระจาย ไปถึงทุกชีวิตที่เดือดร้อน
คนจำนวนหนึ่ง อาจกินอิ่มนอนหลับ เพราะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยังพอมีเรี่ยวแรง และทุนทรัพย์ในการดำรงชีวิตต่อไป แต่ยังมีผู้คนอีกไม่น้อย ที่ต้องดิ้นรน เพื่อหาเงินที่จำนวนมากพอ สำหรับซื้ออาหารประทังชีพในแต่ละวัน บนโลกที่ความเท่าเทียมเป็นเพียง อุดมคติ
“การแบ่งปัน” จึงเป็นสิ่งที่สังคมโหยหา ... ในวิกฤติครั้งนี้ เราได้เห็น ผู้คนมากมายที่ออกมาเสียสละทุนทรัพย์ เวลา และการทำลงมือเพื่อคนที่ยากลำบากกว่า ใช่แหละ ... ตามโครงสร้างแล้ว มันควรเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่บางคนก็ไม่ต้องการรอให้ภาครัฐลงมืออยู่ฝ่ายเดียว เพราะความหิวโหยมันรอกันไม่ได้
ในหลายๆ โครงการ ที่มีการช่วยเหลือคนในสังคม มีหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นจาก คนในวงการลูกหนัง นั่นคือ “ครัวมาดาม” ที่มีโต้โผหลักได้แก่ นวลพรรณ ล่ำซำ ประธานสโมสรฟุตบอล การท่าเรือ เอฟซี ที่สลัดภาพผู้บริหารหญิงแกร่ง มาจับตะหลิว ปรุงอาหารสดใหม่ แจกจ่ายให้กับผู้คนในชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพมหานครฯ เมืองหลวงอันแสนกว้างใหญ่ และมีหลายครัวเรือนที่อยู่ห่างไกลจากความช่วยเหลือของรัฐ
ในวันที่ยากลำบาก
ไม่มีธุรกิจไหนในโลก ที่ปราศจากผลกระทบจากวิกฤติไวรัส โควิด-19 ในวันที่ฟุตบอลไทย ต้องหยุดทำการแข่งขันไปอย่างน้อยถึง เดือนกันยายน “การท่าเรือ เอฟซี” ที่ทุ่มเม็ดเงินไปมากมายในการทำทีม ซื้อตัวผู้เล่น เพื่อหวังความสำเร็จในฤดูกาลนี้ ต้องพับโปรเจกต์ลุ้นแชมป์ของพวกเขาไปก่อน
เพราะ ณ เวลานี้ ไม่มีใครล่วงรู้อนาคตว่า สถานการณ์ของ โควิด-19 จะลงเอยเมื่อไหร่? และถ้าสมมติมีการแพร่ระบาดใหญ่รอบสองเกิดขึ้น สโมสรเจ้าบุญทุ่มแห่งนี้ จะยิ่งช้ำแค่ไหน
Photo : การท่าเรือ เอฟซี Port FC
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงที่ไม่มีเวลาบอลแข่ง ยังทำให้แฟนคลับ กับสโมสร ถูกเว้นว่างระยะให้ห่างกันออกไปกว่าเดิม
เราไม่อาจทราบได้ว่า เมื่อถึงเวลาที่ฟุตบอลไทยกลับมาหวดแข้งอีกครั้ง แฟนบอลจะยังคงเข้าสนามเหมือนเดิมหรือไม่? พวกเขาจะยังสนับสนุนทีมโปรดต่อไปหรือเปล่า เพราะโลกก่อน โควิด-19 และหลัง โควิด-19 แทบจะเป็นโลกคนละใบ ที่มนุษย์มีความเปลี่ยนแปลงไปในหลายๆ ด้าน
ในวิกฤติที่สโมสรต่างๆ ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย โดยไม่มีรายรับเข้ามา การเกิดขึ้นของโครงการที่ชื่อ “ครัวมาดาม” คือการพลิกวิกฤติของสโมสร ให้เป็นโอกาสในการตอบแทนสังคม และสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อผู้คนในท้องถิ่น ที่เป็นฐานกำลังหลักของการสนับสนุนสโมสร
การท่าเรือ เอฟซี ภายใต้การบริหารงานของ “มาดามแป้ง” มีประสบการณ์อย่างมาก ในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์แบบไม่แสวงหากำไรเพื่อสังคม ... โดยปกติการจะลงมือทำ CSR สักโครงการ ต้องใช้ระยะเวลาในการแผนวาง และเตรียมงาน แต่การตัดสินใจของเธอ คือ การเลือกที่จะลงมือทำทันที ในการเข้าไปช่วยเหลือ และบรรเทาความทุกข์ของผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อน จากพิษวิกฤติครั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจรอได้
เริ่มจากการจัดกิจกรรม “คลองเตยดีดี” ที่เป็นการลงพื้นที่ไปยังชุมชนกว่า 43 แห่งในย่านคลองเตย เพื่อสอนประชาชน ทำหน้ากากผ้า, เจลล้างมือ, สเปรย์แอลกอฮลล์ รวมถึงตั้งครัวทำข้าวกล่องแจกฟรี ให้กับพี่น้องประชาชน เพราะในเวลานั้น มีผู้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง หรือบางคนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ
หลังจากทำโครงการ คลองเตยดีดี ไปได้สักระยะ สิ่งที่มาดามแป้งได้ค้นพบก็คือ ยังมีคนที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องอาหารในการประทังชีวิต
นั่นจึงทำให้เกิดโครงการต่อเนื่องในชื่อ “ครัวมาดาม” ที่มีการแจกอาหารปรุงสุกใหม่ และถุงยังชีพที่มีอาหารแห้ง ไว้ให้สำหรับผู้คนที่เข้ามาร่วมกิจกรรม
Photo : คลองเตยดีดี
ในแรกเริ่ม “ครัวมาดาม” จะลงพื้นที่ในชุมชนต่างๆ ที่อยู่ร่ายรอบสโมสร เช่น คลองเตย, พระรามสี่, สุขุมวิท, ยานนาวา ฯลฯ โดยเน้นไปยังชุมชน ที่ประชากรส่วนใหญ่ มีชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบาก หาเช้ากินค่ำ มีปัญหาเรื่องรายได้ มากกว่าจะแจกจ่าย ตามหมู่บ้านที่ คนชนชั้นกลางค่อนบนขึ้นไปอาศัยอยู่
หลังจากนั้น “ครัวมาดาม” ได้มีการขยายโครงการออกไปแจกจ่ายอาหารสด อาหารแห้ง แก่ชุมชนอื่นๆ นอกเหนือเขตที่เป็นฐานแฟนคลับของสโมสร อาทิ หนองแขม, ภาษีเจริญ, บางขุนเทียน, มีนบุรี, บางกะปิ, ดินแดง, ห้วยขวาง, ลาดพร้าว, บางเขน ฯลฯ
กิจกรรมในครั้งนี้ จึงไม่ได้เลือกจากการดูว่า สถานที่ไหนเป็นฐานที่ตั้งของแฟนคลับเท่านั้น แต่เป็นการเลือกจากพื้นที่มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจริง และต้องการความช่วยเหลือ
เป็นหนึ่งเดียวกัน
ความพิเศษของ “ครัวมาดาม” อยู่ตรงที่การนำ นักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ของ การท่าเรือ เอฟซี, นักฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย และนักร้อง-นักแสดง ระดับประเทศ มาร่วมทำกิจกรรมมอบความบันเทิง และใกล้ชิดกับ คนในชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และมอบความสุขแก่ประชาชนที่มาร่วมโครงการ
Photo : การท่าเรือ เอฟซี Port FC
ตุ้ย ธีรภัทร์, ก้อง สหรัถ, ชาริล ชัปปุยส์, ธนบูรณ์ เกษารัตน์, ป้อง ณวัฒน์ ฯลฯ คือ ส่วนหนึ่งเท่านั้นของบุคคลที่มีชื่อเสียง ที่ตบเท้าเข้ามาร่วมโครงการ “ครัวมาดาม” ซึ่งเรียกรอยยิ้ม และความสุขที่ดีจากผู้รับ ในยามที่กำลังใจ เป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันให้ ผู้คน ลุกขึ้นสู้ชีวิตต่อ
การที่ สโมสรลงมาทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อชุมชน ในยามที่ผู้คนตกทุกข์ได้ยาก มันทำให้คนในพื้นที่ต่างเกิดความรู้สึกว่า สโมสรกับชุมชนเป็นหนึ่งเดียวกันกับพวกเขา มีความใกล้ชิด และไม่ทอดทิ้งกันในยามลำบาก
การท่าเรือ เอฟซี ฉลาดในการเลือกนำเอา นักฟุตบอล ที่เป็นทรัพย์สินอันมีค่ามากสุดของสโมสร มาทำกิจกรรมด้วย
หลายสโมสรในไทย มักคิดว่า นักฟุตบอล มีหน้าที่แค่เล่นให้ดี ทำให้ทีมชนะเท่านั้น แต่ความเป็นจริง นักเตะอาชีพ มีประโยชน์มากกว่านั้น เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มบุคคลที่สังคมให้ความสนใจ และกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ได้ง่ายกว่า การทำกิจกรรมที่ไม่มีบุคคลสาธารณะร่วมอยู่ด้วย ตัวนักเตะของการท่าเรือฯ แม้ว่าจะถูกหักเงินเดือนบ้าง ตามสถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบนี้ แต่พวกเขารู้ดีว่า พวกเขายังโชคดีกว่าหลายๆ คนที่หิวโหย และไม่มีใครอิดออดกับการเข้าร่วมกิจกรรมในทุกๆ ครั้งที่ถูกเรียกตัว
Photo : การท่าเรือ เอฟซี Port FC
ความรู้สึกของผู้รับ ย่อมส่งผลต่อเนื่องไปถึง ภาพลักษณ์ขององค์กรในการดูแลของ มาดามแป้ง ทั้ง สโมสรการท่าเรือ เอฟซี และ เมืองไทยประกันภัย ในด้านของการเป็นองค์กรที่ห่วงใยต่อสังคม เกิดการรับรู้ที่ดีต่อแบรนด์ นำไปสู่โอกาสในวันข้างหน้า ที่ผู้รับเหล่านี้ จะหันมาสนับสนุนทีม และอยากอุดหนุนสินค้า บริการของสโมสร และธุรกิจประกันชีวิต (ถ้าต้องเลือกทำกับสักแบรนด์)
เราจะได้เห็นจากการที่ แฟนคลับสิงห์เจ้าท่าบางราย เดินทางตามไปช่วยกิจกรรม เข้ามาเป็นอาสาสมัครของโครงการ รวมถึงให้ความร่วมมือกับสโมสร ในกิจกรรมนี้
เพราะแฟนคลับรู้! ทุกคนรู้! กิจกรรมนี้ดีต่อชุมชนที่เขาอาศัย ดีต่อภาพลักษณ์ของสโมสรที่เขาเชียร์ และสำคัญที่สุด พวกเขารู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม
สังคมการแบ่งปัน
ตลอดระยะเวลา 1 เดือนครึ่งของ ครัวมาดามแป้ง สิ่งที่เราเห็นมากกว่าแค่ การแจกอาหารฟรี คือ สังคมแห่งการแบ่งปัน
Photo : คลองเตยดีดี
เพราะโครงการนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่บริษัทประกันของ “มาดามแป้ง” และ สโมสรการท่าเรือ เอฟซี เท่านั้นที่เป็นผู้ให้ แต่ยังมีภาคเอกชนขนาดใหญ่, ร้านอาหาร ร้านค้าในชุมชน, ประชาชนทั่วไป มาร่วมกันบริจาค ทั้งในรูปแบบของ เงินสด, สิ่งของต่างๆ เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง, ไข่ไก่, น้ำมันพืช, เครื่องปรุงรสต่างๆ ในศูนย์รับบริจาคกลางของโครงการ ที่ตั้งอยู่ ณ วัดคลองเตยใน
จนทำให้โครงการนี้ ลุล่วงไปได้ด้วยดี และสามารถเข้าลงพื้นที่เข้าถึง ชุมชนได้ร่วม 100 แห่ง เพราะทุกคนที่เข้ามาเป็นผู้ให้ ต่างต้องการแบ่งปันธารน้ำใจ ไปยังที่ผู้ที่ลำบากกว่าตน ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ
Photo : คลองเตยดีดี
นับเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่ทำให้เห็นว่า แม้ในวันที่ไม่มีบอลแข่งขัน สโมสรกับท้องถิ่น ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ และมีความใกล้ชิดกันได้ ในการทำกิจกรรมดีๆ เพื่อส่วนรวม
และมันคงดีไม่น้อย หากทุกๆสโมสร ลงมาทำโครงการแบบนี้ กับท้องถิ่น และชุมชนรอบข้าง ในวันที่ยังไม่มีฟุตบอลให้ดูและเชียร์ แต่ชีวิตของทุกคนยังคงต้องดำเนินต่อไป