ไทยแท้ผิดตรงไหน? : ทำไมนักกีฬาลูกครึ่งถึงได้รับการเชิดชูก่อนใครเสมอในสังคมไทย?

ไทยแท้ผิดตรงไหน? : ทำไมนักกีฬาลูกครึ่งถึงได้รับการเชิดชูก่อนใครเสมอในสังคมไทย?

ไทยแท้ผิดตรงไหน? : ทำไมนักกีฬาลูกครึ่งถึงได้รับการเชิดชูก่อนใครเสมอในสังคมไทย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักกีฬาลูกครึ่ง มักได้รับความสนใจ จากสื่อไทยอยู่เสมอ แม้จะไม่เคยโชว์ผลงานในเมืองไทย แต่การที่พวกเขา เติบโตและถูกฝึกฝนกีฬาในต่างแดน จึงไม่ใช่เรื่องยาก ที่จะได้รับความสนใจจากผู้คน

อันที่จริง ไม่ใช่แค่วงการกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่ในวงการอื่นลูกครึ่งไทยกับชาติต่างประเทศ โดยเฉพาะฝั่งโลกตะวันตก และญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ ล้วนได้รับความสนใจจากสื่อ ตีข่าวให้เราได้เห็น ผ่านตาอยู่บ่อยครั้ง

อนุมานได้ว่า คนไทยโดยธรรมชาติ ให้ความสนใจกับบุคคลที่เป็นลูกครึ่ง แต่ไม่เพียงเท่านั้น ในวงการกีฬา คนที่เป็นลูกครึ่ง ดูเหมือนจะได้รับการเชิดชู กว่าคนไทยทั่วไป ทั้งเรื่องของโอกาส รายได้ การออกสื่อ และการยอมรับ

เรื่องเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้ที่มา หรือไม่มีเหตุผลรองรับ แต่มาจากกลไล ด้านวัฒนธรรม สังคม เฉียดๆไปจนถึงการเมือง และเศรษฐกิจ นำไปสู่การเกิดค่านิยม ที่นักกีฬาลูกครึ่งได้รับการเชิดชู ยอมรับ มากเป็นพิเศษในสังคมไทย โดยไม่ต้องพิสูจน์ฝีมือ บนสนามแข่งขัน

เหลื่อมล้ำจากความเป็นชาติ

เมื่อบทความนี้ พูดถึงเรื่องของเชื้อชาติ ดังนั้นการเริ่มต้นอธิบาย เหตุผลที่คนไทยชื่นชอบนักกีฬาลูกครึ่ง ได้ดีที่สุด คือว่ากันด้วยเรื่องของความเป็นชาติ


Photo : WorldPulse 

ถึงจะมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไม่น้อย ที่ตั้งสมมติฐานว่า คนผิวขาว, ผิวเหลือง, ผิวดำ มีทักษะด้านร่างกายและความคิดไม่เท่าเทียมกัน...แต่ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ เราขอเก็บทฤษฎีเหล่านั้นไว้ก่อน เพราะเราอยู่ในโลกศตวรรษที่ 21 โลกยุคใหม่ที่ผู้คนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน ผิวสีอะไร ทุกคนเท่าเทียมกัน

กระนั้นต่อให้มีการรณรงค์ ความเท่าเทียมกันมากเพียงใด เรายังคงเห็นความเหลื่อล้ำ ระหว่างชาติพันธ์ุอยู่ดี ไม่เว้นแม้แต่ในวงการกีฬา...นักฟุตบอลหนุ่มไทยวัย 18 อาจได้เซ็นสัญญาฉบับแรกกับสโมสรไทย ด้วยค่าเหนื่อย 30,000 บาท แต่หากเป็นหนุ่มลูกครึ่งไทย-อังกฤษ อายุ 18 ย้ายกลับมาเล่นฟุตบอลที่ไทย สัญญาที่เขาจะได้ อย่างน้อยต้องเหยียบหลักแสน 

สิ่งที่ทำให้นักเตะทั้งสองราย ได้รับค่าเหนื่อยต่างกัน คือเรื่องเชื้อชาติ นักเตะไทย ไม่มีทางได้รับค่าเหนื่อย การได้รับความสนใจ เท่านักเตะลูกครึ่ง หากเริ่มวัดในช่วงจุดเริ่มต้นของอาชีพ หรือในกรณีที่นักกีฬาทั้งสองคน เก่งเท่ากัน นักกีฬาลูกครึ่งยังคงได้รับความสนใจมากกว่า


Photo : ฟุตบอลทีมชาติไทย Facebook

สิ่งที่ทำให้นักเตะไทย มีคุณค่าไม่เท่านักเตะลูกครึ่ง ไม่ใช่เพราะคนไทยมีคุณค่าความเป็นคน ไม่เท่ากับชาติตะวันตก หรือชาวญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ แต่เป็นเพราะเรารู้สึกว่า ประเทศไทยด้อยกว่าบางประเทศ จนทำให้เกิดความรู้สึก เชิดชูคนไทยที่มีเชื้อผสม จากประเทศที่เหนือกว่า 

หากเรารู้สึกว่า ประเทศสักประเทศ เหนือกว่าประเทศไทย อย่างรอบด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ยกตัวอย่างญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศที่คนไทย เชิดชูมากที่สุดในโลก...คนไทยย่อมรู้สึกว่า คนญี่ปุ่นเหนือกว่าคนไทย เพราะคนญี่ปุ่นสามารถสร้างประเทศ ให้เจริญได้มากกว่าที่คนไทยทำได้ จึงเหมือนว่าเชื้อพันธ์ุชาติญี่ปุ่น มีประสิทธิภาพกับเหนือกว่าเชื้อพันธ์ุชาติไทย

เมื่อมีเด็กลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น กลับจากญี่ปุ่น มาเล่นกีฬาในเมืองไทย หรือทำอาชีพอื่นก็ตาม ไม่แปลกที่คนไทยจะให้ความสนใจ คาดหวัง จากความรู้สึกที่ว่า เด็กคนนี้จะต้องเก่งกว่าเด็กไทยทั่วไป เพราะเติบโตมาในสังคมที่ดีกว่า 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องผิดที่คนไทยจะรู้สึกแบบนั้น เพราะนักวิชาการจำนวนไม่น้อย มองว่าเป็นเรื่องปกติ ที่มนุษย์โลก จะรู้สึกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ต้องให้ความรู้สึกที่เหนือกว่า ชาติด้อยพัฒนา 


Photo : Helping Hand

แอลเฟร็ด ซูวี (Alfred Sauvy) นักวิชาการชื่อดัง ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ได้ยกทฤษฎีโลกที่สาม (Third World Countries) กับการแบ่งแยกระหว่างประเทศพัฒนา กับประเทศด้อยพัฒนา และเป็นเรื่องปกติที่ประเทศจะด้อยพัฒนา จะต้องรับวัฒนธรรมตะวันตก เข้าไปพัฒนาประเทศตัวเอง

แม้ทฤษฎีจะไม่ได้เน้นถึงเรื่องเชื้อชาติ (เพราะเป็นทฤษฎีทางการเมือง เศรษฐกิจ) และไม่ได้บอกว่าประเทศพัฒนา จะต้องขยายเผ่าพันธ์ุ ไปปกครองประเทศด้อยพัฒนา แต่ทฤษฎีนี้ได้สร้างกำแพงแบ่งแยกชัดเจน ระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว กับประเทศยังไม่พัฒนา โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และสังคม 

ความรู้สึกที่คนไทย (ซึ่งอาศัยในประเทศยังไม่พัฒนา) จะรู้สีกว่าคนที่ไทยที่มีเชื้อสาย จากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ, อังกฤษ, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ ดูมีภาษีดีกว่าคนไทยทั่วไป มาจากภาพจำที่ว่า คนเหล่านี้เติบโตในสังคมที่ดีกว่า พร้อมกว่า ประเทศไทย ดังนั้นจึงควรที่จะเก่งกว่า มีความสามารถมากกว่า คนไทยทั่วไป

ความรู้สึกนี้ เกิดขึ้นกับคนไทยแท้ที่ย้ายไปเติบโต เรียนหนังสือที่ต่างประเทศ เช่นเดียวกัน...เราย่อมรู้สึกว่า นักศึกษาจบปริญญาจากเมืองนอก จะต้องเก่งกว่านักศึกษา ที่จะปริญญาในเมืองไทย เพราะนักเรียนนอก ได้เรียนรู้ เติบโต ในสังคมที่ดีกว่า 


Photo : Posttoday

หากเราโฟกัสที่วงการกีฬา เราจะเห็นว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จ ในด้านกีฬา (รวมวงการอื่น) มากกว่าประเทศไทย

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ในวงการกีฬา จะให้ความสำคัญกับนักกีฬาลูกครึ่ง ที่ได้เติบโตในต่างประเทศ หรือเด็กไทยแท้ ที่เติบโตต่างแดนเช่นกัน เพราะเราคาดหวังว่า เขาจะเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้กับวงการกีฬาไทย ได้เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ในทางกลับกัน ไม่ใช่หนุ่มลูกครึ่งทุกคน จะได้รับความสนใจ เป็นที่ชื่นชม เชิดชู จากคนไทย หากพวกเขาเหล่านั้น เติบโตหรือมีเชื้อสายจากประเทศ ที่คนไทยไม่ได้มองว่าเป็นชาติที่เหนือกว่า


Photo : Thairath

เราอาจได้เห็นข่าว ที่ให้ความสนใจนักกีฬาลูกครึ่งจากยุโรป จากสหรัฐฯ กันจนชินตา แต่กับข่าวนักกีฬาไทยลูกครึ่งลาว, ลูกครึ่งพม่า, ลูกครึ่งกัมพูชา ที่ได้รับการยกยอ ตั้งแต่ยังเด็กหรือเป็นดาวรุ่งนั้นมีน้อยมาก เพราะเราไม่รู้สึกว่า นักกีฬาที่มีเชื้อสายเหล่านี้ จะเติบโตมาในสังคมที่มีคุณภาพดีกว่าสังคมบ้านเรา

  ความหวังของความสำเร็จ 

พูดถึงหนึ่งในจุดมุ่งหมายของกีฬา คือชัยชนะและความสำเร็จ ทุกชนชาติใดบนโลก อยากเห็นนักกีฬา หรือทีมกีฬาประจำชาติตนเอง ประสบความสำเร็จ แต่สำหรับบางประเทศ การไปถึงเป้าหมาย ไม่ใช่เรื่องง่าย

ยกตัวอย่าง วงการฟุตบอลบ้านเรา กับเป้าหมายสุดคลาสสิค คือการไปฟุตบอลโลก แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฟุตบอลทีมชาติไทย ไม่เคยไปถึงความฝันนั้น แค่คำว่าใกล้เคียงยังลำบาก


Photo : Thairath

ตลอดหลายสิบปี ที่ผ่านมาวงการฟุตบอลไทยพยายาม ปลุกปั้นขุมกำลังด้วยการพยายามใช้นักเตะไทยแท้ ไทยล้วน แทบไม่มีผู้เล่นลูกครึ่ง ไม่มีนักเตะโอนสัญชาติ แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

แฟนฟุตบอลจึงต้องพยายาม มองหาความหวังใหม่ ที่จะพาทีมชาติไทย ไปเหยียบการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งนั่นคือ นักเตะลูกครึ่งจากโลกตะวันตก

ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในระดับวงการฟุตบอลนานาชาติ กับการฝากความหวังนักกีฬา จากชาติที่เหนือกว่า เราเห็นนักเตะโอนสัญชาติจำนวนมาก ในกีฬาฟุตบอล กับประเทศในเอเชีย หรือทุกวันนี้ ประเทศจีนยังคงมีการมอบสัญชาติ ให้นักเตะจากประเทศบราซิลอยู่ตลอด เพื่อหวังให้นักเตะเหล่านี้ สร้างความสำเร็จ ให้กับวงการลูกหนังแดนมังกร

สำหรับประเทศไทย ที่ไม่นิยมการโอนสัญชาติ ทางเดียวที่จะได้นักฟุตบอล ที่มาจากชาติลูกหนังมหาอำนาจ คือเหล่านักเตะลูกครึ่ง ที่เราหวังให้พวกเขาพกฝีเท้าชั้นเลิศ มาช่วยยกระดับทีมชาติไทย เพื่อเข้าใกล้เป้าหมายความสำเร็จ

แฟนฟุตบอลไทยรู้กันดีว่า ปัจจุบันแม้เราจะมีลีกไทยที่แข็งแกร่ง วงการฟุตบอลพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้าย เรายังไม่ใกล้เคียงกับการเข้าสู่เป้าหมายระดับโลก หากมองถึงการพัฒนาภายในชาติ จึงมีการพยายามผลักดัน พัฒนา ให้นักฟุตบอลไทยแท้ ออกไปค้าแข้งต่างประเทศ ที่ยุโรปหรือที่ญี่ปุ่น


Photo : LineToday 

นักฟุตบอลไทย ที่ย้ายออกไปเล่นต่างประเทศ แค่เพียงปีเดียว แฟนบอลยังคาดหวังถึงการพัฒนาฝีเท้า...สำหรับนักฟุตบอลลูกครึ่ง ที่ส่วนใหญ่ล้วนผ่านการฝึกฝน จากสโมสรในประเทศฟุตบอลชั้นนำ จึงไม่แปลกที่คนไทยจะคาดหวัง ว่าพวกเขาจะมีฝีเท้าคุณภาพเยี่ยม

แม้จะเป็นเรื่องแปลกไม่น้อย ที่วงการฟุตบอลไทย (หรือวงการกีฬาอื่น) จะตื่นเต้นกับการมาของนักฟุตบอลดาวรุ่งจากต่างแดน ยามถูกเรียกติดทีมชาติชุดเยาวชน เพราะประเทศกีฬาชั้นนำ คงไม่ได้ตื่นเต้นอะไร หากนักฟุตบอลลูกครึ่งสักคนติดทีมชาติ 

หากเรามองที่ประเทศ เยอรมัน, อังกฤษ, อิตาลี นักเตะชาติผสม ต้องพยายามมากกว่าคนท้องถิ่นด้วยซ้ำ ถึงจะได้ยอมรับ กับการเป็นนักกีฬาที่ได้รับความสนใจจากสื่อและผู้คน

แต่สุดท้าย ไม่ใช่ความผิดของนักกีฬา ว่าจะเป็นคนไทยแท้หรือเป็นลูกครึ่ง ถึงควรจะได้รับความสำคัญ...สิ่งที่เราต้องย้อนถามคือ ประเทศไทยควรจะทำอย่างไร ที่จะพัฒนาวงการฟุตบอล ให้มีศักยภาพ สามารถสร้างนักฟุตบอลไทยแท้ ที่มีทรัพยากร เป็นเยาวชนมากมายทั่วประเทศ ให้พวกเขาผลิดอกออกผล ก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะระดับโลก หรืออย่างน้อยต้องเป็นระดับแถวหน้าของเอเชีย เหมือนญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้


Photo : ฟุตบอลทีมชาติไทย 

ไม่ต่างกับวงการกีฬาอื่น ที่ผู้มีอำนาจในสมาคมกีฬา ไปจนถึงรัฐบาล จะต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า พวกเขาทำหน้าที่เต็มที่หรือยัง ในการพัฒนาเยาวชนเด็กไทย ที่จะสร้างให้พวกเขาไปประสบความสำเร็จระดับโลก ไม่ต้องรอพึ่งเด็กลูกครึ่งเพียงอย่างเดียว

หากมีวันที่ประเทศไทย สามารถพัฒนาวงการฟุตบอล ปลุกปั้นเยาวชน ให้เป็นนักเตะที่ยอดเยี่ยม แบบญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ ความสำคัญของการเชิดชู ให้ความหวัง กับผู้เล่นลูกครึ่ง จะลดน้อยถอยลงไป เพราะสุดท้ายคนไทยจะรู้สึกว่า ต่อให้เป็นเด็กไทย-อังกฤษ ก็ใช่ว่า จะเก่งกว่านักเตะไทยแท้

ยกตัวอย่างถึงกีฬา ที่นักกีฬาไทยมีความเป็นเลิศ เช่น มวยหรือมวยไทย ความตื่นเต้นในนักกีฬาลูกครึ่ง หรือนักกีฬาต่างประเทศจะมีน้อย เพราะคนไทยรู้ว่าต่อให้เป็นลูกครึ่ง ไม่ได้หมายความว่า จะเก่งไปกว่านักกีฬาไทยแท้

แต่ถ้าเรายังทำไม่สำเร็จ การที่แฟนฟุตบอลไทย ยังคงรอคอย และคาดหวัง ให้มีนักฟุตบอลลูกครึ่ง เข้ามาเล่นในประเทศไทยเยอะๆ จะยังคงอยู่ต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ

 

การปักฐานของวัฒนธรรมตะวันตก และการผลิตซ้ำของสื่อ

กีฬาในยุคปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเพียงแค่เกมการแข่งขัน หรือการออกกำลังกาย แต่เป็นวัฒนธรรมหนึ่ง ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ กีฬาเป็นไอเดีย ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ผ่านแฟชั่น, บทเพลง หรือ งานศิลปะ


Photo : Zimbio 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วัฒนธรรมจากกีฬาส่วนใหญ่ ที่เข้าไปผนวกกกับวัฒนธรรมป็อปคัลเจอร์ คือวัฒนธรรมจากชาติตะวันตก...จริงอยู่ว่า ประเทศไทยมีวัฒนธรรมจากกีฬาเป็นของตัวเอง แต่ว่ากันตามความเป็นจริง วัฒนธรรมเช่นมวยไทย เป็นวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยม และไม่ร่วมสมัย จึงทำให้มีผู้ชื่นชอบวัฒนธรรมไทย เพียงเฉพาะกลุ่ม แตกต่างจากวัฒนธรรมตะวันตก ที่มีความร่วมสมัย สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่ง กับชีวิตของคนยุคใหม่ ได้อย่างง่ายดาย

การเข้ามามีอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก เป็นเรื่องง่ายที่คนไทย จะถูกครอบคลุมด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมต่างแดน เราเห็นความหล่อ ความเท่ แฟชั่น เทรนด์นำกระแส จากฝั่งอเมริกาหรือยุโรป แม้กระทั่งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จนชินตา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะอยากเห็น วัฒนธรรมเหล่านั้น เกิดและเติบโตในประเทศไทยบ้างเช่นกัน

วงการกีฬา ก็ไม่ต่างกัน เราได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมกีฬาตะวันตก ผ่านการชมกีฬาถ่ายทอดสดผ่านจอโทรทัศน์ มายาวนานหลายสิบปี จนคนไทยรู้สึกคุ้นชินโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ตั้งคำถามกับพฤติกรรม การบริโภคกีฬาต่างประเทศของคนไทย


Photo : SCG Muangthong United 

เมื่อเราใกล้ชิด กับวัฒนธรรมตะวันตกมากขนาดนี้ ผ่านการนำเข้าของสื่อต่างๆ การเกิดนักกีฬาลูกครึ่งในไทย คือความรู้สึกที่ทำให้คนไทย ได้เหมือนเข้าใกล้กับวัฒนธรรมตะวันตก ที่เราติดตามมาตลอดหลายสิบปี 

เรามีนักกีฬาลูกครึ่งสหรัฐฯ, ลูกครึ่งฝรั่งเศส, ลูกครึ่งเยอรมัน ความเป็นลูกครึ่งของคนเหล่านี้ ทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงและจับต้อง กับวัฒนธรรมตะวันตก ได้มากกว่าในอดีต

การผูกพันกับคนชนชาติตะวันตก จะไม่สามารถเกิดขึ้น และสืบเนื่องยาวนานหลายสิบปีได้เลย หากปราศจากอิทธิพลของสื่อ ที่เป็นเสมือเชฟ คอยเสิร์พข่าวนักกีฬาลูกครึ่ง ให้คนไทยบริโภคอย่างต่อเนื่อง

ในแง่หนึ่งเราบอกได้ว่า คนไทยนิยมบริโภคข่าวสาร ของนักกีฬาลูกครึ่ง แต่อิทธิพลของสื่อสำคัญมากเช่นเดียวกัน เราเห็นได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่วงการกีฬาบ้านเราเข้าสู่ความเป็นธุรกิจมากขึ้น ข่าวคราวของนักกีฬาลูกครึ่ง ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และช่วงชิงพื้นที่หน้าสื่อได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับดีกรีนักกีฬาที่น่าสนใจ แม้เราจะไม่เคยเห็นนักกีฬาลูกครึ่งคนนั้น ลงเล่นในสนามแข่งขันแม้แต่ครั้งเดียว

สังคมไทยที่คุ้นชินกับวัฒนธรรมตะวันตก พร้อมเปิดกว้างต้อนรับนักกีฬาลูกครึ่งอยู่เสมอ แต่นอกจากการเปิดรับ เรายังยกย่อง ให้โอกาสนักเตะลูกครึ่ง เปรียบเสมือนกับว่าพวกเขาเป็นนักกีฬาต่างชาติ มากกว่าเป็นนักกีฬาไทย เพราะเรามองว่าพวกเขาคือคนตะวันตก มากกว่าคนไทย และเรายินดีที่จะได้คนตะวันตก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง กับสังคมกีฬาไทย

กีฬาฟุตบอล น่าจะเป็นภาพที่ชัดเจนที่สุด กับการอธิบายโอกาสที่นักฟุตบอลลูกครึ่งได้รับ เหนือกว่านักเตะไทยทั่วไป นักเตะลูกครึ่งมักเป็นข่าวตั้งแต่พวกเขาอยู่ที่ต่างประเทศ พร้อมกับดีกรีมากมาย ที่ทำให้นักเตะลูกครึ่งดูเก่งกาจกว่านักเตะไทยทั่วไป 

ชื่อเสียง ดีกรี บวกกับการปั่นข่าวของสื่อ ทำให้นักเตะลูกครึ่งมักได้รับความสนใจ จากสโมสรชั้นนำของประเทศ และสโมสรก็พร้อมที่จะประเคนค่าเหนื่อยก้อนโต ให้นักฟุตบอลลูกครึ่ง โดยที่ไม่รู้ว่านักเตะเหล่านั้น จะเล่นดีหรือไม่ และทุกวันนี้ เราคงเห็นว่าไม่ใช่นักบอลลูกครึ่งทุกคน ที่จะประสบความสำเร็จในไทย 

แต่สิ่งที่นักฟุตบอลลูกครึ่ง สามารถใช้เป็นจุดขาย เรียกค่าตัวได้แพงกว่านักกีฬาไทย ไม่ได้มีแค่เรื่องผลงานในฐานะนักกีฬา แต่พวกเขายังมีความเป็นคนตะวันตก ติดตัวมาด้วย ซึ่งความเป็นคนตะวันตก สามารถนำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง นอกสนามกีฬา โดยเฉพาะในเเง่ของเรื่องสื่อ และโฆษณา

นักกีฬาลูกครึ่ง มีเรื่องราวให้เล่ามากมาย ที่สื่อจะหยิบยกมาชูเป็นประเด็น สร้างจุดสนใจ ขายข่าวหรือบทความต่างๆ ผลลัพธ์ที่ตามคือ นักกีฬาลูกครึ่งจึงเป็นที่สนใจจากสังคม และมีชื่อเสียงตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน เราจะเห็นว่านักกีฬาลูกครึ่ง มักได้รับโอกาสให้แสดงโฆษณาทางโทรทัศน์อยู่บ่อยครั้ง เพราะพวกเขามีภาพลักษณ์ที่ดีกว่า กับการเป็นพรีเซ็นเตอร์ และยกระดับภาพลักษณ์ของแบรนด์ ให้มีมูลค่าสูงขึ้น

เรื่องของภาพลักษณ์ ที่คนไทยให้ความสำคัญ จากอิทธิพลของชาวต่างชาติ เป็นภาพจำสะสมจากอิทธิพลของวัฒนธรรมจากโลกตะวันตก ที่มีบทบาทในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน

ท้ายที่สุด เราไม่ได้ต้องการจะบอกว่า คนไทยแท้ดีกว่าคนไทยที่เป็นลูกครึ่ง หรือส่งเสริมแนวคิดชาตินิยม ไม่ให้ต้อนรับคนลูกครึ่ง ชาวต่างชาติ หรือปิดกั้นวัฒนธรรมตะวันตก

เพราะปัจจุบัน เราอยู่โลกยุคโลกภิวัฒน์ ที่เชื่อมสังคมทั่วทุกมุมโลกเข้าหากัน ดังนั้นคนยุคใหม่ จึงต้องเรียนรู้ และเปิดใจ รับความเปลี่ยนแปลง หรือ วัฒนธรรมใหม่เข้ามาอย่างเสมอ

กระนั้น การที่เราจะให้ความนิยม เชิดชู หรือยกย่องใครสักคน คงจะดีกว่าหากเรามองที่ผลงาน มากกว่าเรื่องของเชื้อชาติ และนักกีฬาทุกคนที่ทำผลงานได้ดี สมควรที่จะได้รับการชื่นชม ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นคนไทยแท้ หรือลูกครึ่ง 

สำหรับนักกีฬาต่างชาติ ที่กำลังจะเข้ามาเล่นกีฬาในเมืองไทย คงเป็นเรื่องที่ดีกว่า หากเรารอให้เขาโชว์ผลงาน พิสูจน์ตัวเอง จนได้รับการยอมรับ ว่าคู่ควรกับคำเชิดชู มากกว่าที่เราจะไปให้ความสำคัญกับพวกเขา โดยที่ยังไม่ได้โชว์ผลงานอะไร และขายเพียงเชื้อชาติ ความเป็นคนต่างแดนเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook