โมนาโก : สโมสรฟุตบอลที่คนเข้าดูน้อย แต่ทำไมทำกำไรมหาศาล?

โมนาโก : สโมสรฟุตบอลที่คนเข้าดูน้อย แต่ทำไมทำกำไรมหาศาล?

โมนาโก : สโมสรฟุตบอลที่คนเข้าดูน้อย แต่ทำไมทำกำไรมหาศาล?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึง ลีกเอิง ฟุตบอลอาชีพลีกสูงสุดของประเทศฝรั่งเศส ... อาแอส โมนาโก คงเป็นหนึ่งในทีมที่แฟนบอลหลายคนจำได้ดี ทั้งจากชุดแข่งสีแดง-ขาวสุดแปลกตา รวมถึงเป็นทีมที่ตำนานวงการลูกหนัง รวมถึงยอดนักเตะหลายคนเคยอยู่

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวแปลกๆ ชวนให้ทึ่งนั้นมีให้ได้เห็นเสมอ  เพราะแม้จะเป็นทีมใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมากมาย แต่สนามแข่งของ โมนาโก นั้นถือว่าเล็กกระจ้อย ที่สำคัญคือ ยอดผู้ชมโดยเฉลี่ยของที่นี่ มีไม่ถึงครึ่งของความจุเสียด้วยซ้ำ

ทั้งๆ ที่ขาดแคลนซึ่งเสียงเชียร์ แต่เหตุใด โมนาโก ถึงอยู่รอดในลีกได้อย่างมั่นคง รวมถึงทำกำไรได้อย่างมหาศาลกันล่ะ?

ดินแดนที่แพงเกินไปสำหรับแฟนบอล

ก่อนอื่นเลย เราต้องขอบอกว่า แม้ โมนาโก จะเล่นในลีกของประเทศฝรั่งเศส แต่ความจริงนั้น โมนาโก มีสถานะเป็น "ประเทศ" เลยทีเดียว

ดินแดนแห่งนี้ คือประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยเนื้อที่เพียง 2.1 ตารางกิโลเมตร ทว่าด้วยประชากรราว 38,000 คน ที่นี่จึงเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดในโลก

แม้จะเป็นประเทศขนาดจิ๋ว แต่เศรษฐกิจของที่นี่ไม่จิ๋วเลย เมื่อโมนาโกใช้การท่องเที่ยว และการพนัน เป็นหัวหอกในการนำเม็ดเงินเข้าประเทศ ... คาสิโนสุดหรู รวมถึงอีเวนท์ระดับยักษ์อย่าง การแข่งขัน Formula 1 โมนาโก กรังด์ปรีซ์ ที่ปิดถนนเพื่อใช้เป็นสนามแข่งขัน ดึงดูดผู้คนมากมายสู่ดินแดนแห่งนี้ในทุกๆ ปี


Photo : Cococoat

ไม่เพียงเท่านั้น โมนาโก ยังมีอีกสิ่งที่เป็นจุดเด่น นั่นคือ มาตรการภาษี ... ที่นี่ไม่มีการเก็บภาษีเงินได้ รวมถึงภาษีมรดก เป็นแรงดึงดูดให้มหาเศรษฐีมากมาย ย้ายสำมะโนครัวเข้ามายังดินแดนแห่งนี้ เพื่อต่อยอดความมั่งคั่งอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับนักกีฬา ไม่ว่าจะเป็นนักเทนนิสอย่าง โนวัค ยอโควิช รวมถึงนักแข่ง F1 อย่าง ลูอิส แฮมิลตัน, แม็กซ์ เวอร์สตัพเพ่น หรือแม้แต่ อเล็กซ์ อัลบอน นักแข่งสัญชาติไทย ก็ย้ายมาอาศัยอยู่ที่โมนาโกเช่นกัน

แต่ถึงจะไม่มีการเก็บภาษีเงินได้ รวมถึงภาษีมรดก ภาษีในด้านอื่นๆ ของโมนาโกนั้น ถูกจัดเก็บในอัตราที่สูงมาก ทำให้โมนาโกคือหนึ่งในประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก สูงถึงเดือนละ 22,575 ดอลลาร์สหรัฐฯ (700,000 บาท) ต่อครัวเรือน ... และเรื่องนี้เองที่ส่งผลกระทบต่อแฟนบอลเต็มๆ

"โมนาโกเป็นประเทศที่ค่าครองชีพสูงเกินไปสำหรับแฟนบอลโมนาโกครับ" โยฮัน สาวกทีม โมนาโก คนหนึ่งเผยกับ CNN "อันที่จริง พวกเราไม่ได้อาศัยอยู่ที่นี่ แต่เป็นเมืองอื่นๆ ในประเทศฝรั่งเศสที่อยู่รายรอบ จะเข้ามาก็แค่วันแข่งเท่านั้น เพราะค่าครองชีพที่นี่แพงเกินไป เลยทำให้แฟนบอลไม่สามารถเข้ามาดูเกม เพื่อให้ผู้ชมเต็มสนามได้"


Photo : squawka

ค่าครองชีพที่สูงมากๆ ส่งผลต่อยอดผู้ชมเกมของ โมนาโก อย่างชัดเจน เพราะถึงแม้ สต๊าด หลุยส์ เดอซ์ รังเหย้าของโมนาโกจะจุผู้ชมได้เพียง 16,360 คน ทว่ายอดผู้ชมเฉลี่ยในฤดูกาล 2019-20 ของทีม กลับอยู่ที่เพียง 6,641 คนเท่านั้น 

เมื่อคนรวยในประเทศ มีกิจกรรมอื่นที่น่าสนใจยิ่งกว่าการชมฟุตบอล ขณะที่แฟนบอล ก็จนเกินกว่าที่จะได้เข้าไปชมเกมในสนาม ภาพของ สต๊าด หลุยส์ เดอซ์ ที่มีคนเป็นหย่อมๆ จึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้อย่างชินตาด้วยประการฉะนี้
 

โรงงานผลิตแข้งดาวรุ่ง

แม้ โมนาโก จะมีแต้มต่อสำคัญในเรื่องของภาษี อย่างไรก็ตาม พวกเขากลับไม่คิดที่จะดึงดูดสตาร์ระดับท็อปเข้ามาเสริมทีมมากนัก

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ระดับการแข่งขันของทีมในลีกฝรั่งเศส ซึ่ง โมนาโก ไปอยู่นั้น สู้ลีกของประเทศอื่นๆ อย่าง อังกฤษ, สเปน, เยอรมัน, อิตาลี ไม่ได้ ทว่ายังมีอีกเหตุผลสำคัญ นั่นคือ พวกเขาเลือกที่จะสร้าง มากกว่าซื้อ ...

จุดเริ่มต้นของเรื่องดังกล่าวต้องย้อนกลับไปถึงปี 1975 สมัยที่ทีมกำลังล้มลุกคลุกคลาน เวียนว่ายตายเกิดระหว่างลีกเอิง ลีกสูงสุด กับลีกเดอซ์ หรือลีกรอง เมื่อ ฌอง-หลุยส์ คัมโปรา ประธานสโมสรที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ได้ไม่นาน เล็งเห็นถึงความสำเร็จของทีมคู่แข่งอย่าง โซโชซ์ และ น็องต์ส รวมถึงปัญหาภายในที่ประสบอยู่ ทำให้สโมสรตัดสินใจ สร้างอคาเดมีเป็นของตัวเอง


Photo : AS Monaco 

แบร์ทรานด์ เรอซู หนึ่งในโค้ชนักเตะเยาวชนที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในประเทศฝรั่งเศส กล่าวกับ The Guardian ว่า "ในโมนาโกนั้น มีเด็กๆ ที่เล่นฟุตบอลไม่มากครับ นั่นทำให้ไม่มีทีมระดับเยาวชน ตั้งแต่อายุไม่เกิน 9 ปี ที่จะคอยป้อนนักเตะเข้าสู่สโมสร และถึงฟากฝรั่งเศสจะมีมาตรการช่วยเหลือของพวกเขา ด้วยการส่งนักเตะอายุ 15 ปี ที่ผ่านการฝึกจากศูนย์ฝึกของสหพันธ์ฟุตบอลฯ มาให้กับสโมสรต่างๆ แต่โมนาโกก็ได้นักเตะแค่ราวๆ 12 คนต่อปี ขณะที่สโมสรอื่นๆ ได้ถึงปีละราว 30 คนเลยทีเดียว"

จากสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ โมนาโก ต้องใช้วิธีการใหม่ในการเลือกเด็กดาวรุ่งเข้าสู่อคาเดมี "ลา ตูร์บี" (ตั้งชื่อตามย่านที่ตั้ง โดยแปรสภาพจากเหมืองเก่า) ... นอกจากรับผลผลิตจากศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติอย่าง แกลร์กฟงแตน แล้ว พวกเขายังสร้างเครือข่ายแมวมอง เพื่อหานักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีทั่วประเทศฝรั่งเศสมาสู่สโมสรอีกด้วย โดย เรอซู เผยด้วยว่า นี่ถือเป็นแผนการระยะยาว 


Photo : AS Monaco 

"สิ่งที่โมนาโกทำ คือการไปหานักเตะอายุ 11-12-13 ปีมา ทำข้อตกลงกันระยะยาวว่าจะดึงตัวไปอยู่กับทีม หลังจากนั้นก็ให้พวกเขาได้อยู่กับที่บ้านต่อไปจนกว่าจะอายุครบ 15 ปี ที่สโมสรสามารถดึงตัวเด็กจากนอกพื้นที่เข้าสู่อคาเดมีได้ วิธีการนี้ใช้เพื่อให้พวกเขาได้มีเวลาปรับตัว อยู่กับสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยก่อน ถึงเวลาแล้วก็เข้าสู่กระบวนการของสโมสรต่อไป" 
 

วิธีอาจเปลี่ยน แต่แนวทางยังคงเดิม

แม้ข้อจำกัดที่มี จะทำให้ต้องเลือกเส้นทางที่แตกต่าง ถึงกระนั้น โมเดลที่ โมนาโก เลือกใช้ ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เมื่อพวกเขาสามารถปั้นยอดนักเตะขึ้นมาประดับวงการได้มากมาย

เธียร์รี่ อองรี, เอ็มมานูเอล เปอตีต์, ดาวิด เทรเซเกต์, ซาลีฟ ดิเยา, คริสโตเฟอร์ เรห์ รายชื่อทั้งหมดนี้ล้วนมี 2 สิ่งที่เหมือนกัน หนึ่ง พวกเขาไม่ได้เป็นคนโมนาโกโดยกำเนิด บางคนเกิดในฝรั่งเศส บางคนเกิดในทวีปแอฟริกา แล้วเข้ามาล่าฝันในการค้าแข้งที่ฝรั่งเศส และ สอง ทุกคนที่กล่าวมา ล้วนถูกดึงตัวเข้าสู่อคาเดมีของ โมนาโก ที่ปลุกปั้นต่อยอด จนได้ลงสนามในทีมชุดใหญ่ครั้งแรกกับสีเสื้อแดง-ขาว ด้วยกันทั้งสิ้น ก่อนที่พวกเขาจะร่วมกันนำความสำเร็จมากมายมาสู่ทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แชมป์ลีกเอิง


Photo : The National 

แม้จะประสบปัญหาฟอร์มตก จนตกชั้นไปอยู่ลีกเดอซ์ รวมถึงปัญหาทางการเงิน แต่ชื่อชั้นสโมสร รวมถึงความน่าอยู่ของประเทศนี้ ก็ดึงดูดมหาเศรษฐีเข้ามาช่วยชีวิตทีมได้ เขาคือ ดิมิทรี รีโบลอฟเลฟ มหาเศรษฐีลำดับที่ 224 ของโลกชาวรัสเซีย ซึ่งย้ายมาอยู่ที่โมนาโกเมื่อปี 2010 และซื้อหุ้น 2 ใน 3 ของสโมสรในปีต่อมา ขณะที่พวกเขาอยู่ในลีกเดอซ์ (ส่วนที่เหลือ ราชวงศ์กรีมัลดี ผู้ปกครองโมนาโก ถือไว้)

แม้ในฤดูกาล 2013-14 ที่ โมนาโก ได้กลับสู่ลีกเอิงอีกครั้ง รีโบลอฟเลฟจะเปลี่ยนนโยบาย หันมาทุ่มซื้อนักเตะเกรดเอ อย่าง ราดาเมล ฟัลเกา และ ฮาเมส โรดริเกซ แต่ก็ยังคงดำเนินนโยบายเสาะหาดาวรุ่งฝีเท้าดีเข้าสู่ทีมควบคู่กัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังต่อยอดด้วยการดึงตัวนักเตะดาวรุ่งค่าตัวไม่แพง แต่มีแววเก่งมาเสริมอีกด้วย

นับแต่นั้นมา โมนาโก ก็สามารถยืนบนลำแข้งของตัวเองได้อย่างมั่นคง ด้วยระบบอคาเดมีและทีมโค้ชชุดใหญ่ที่ดี นักเตะของพวกเขาที่ทั้งปั้นและซื้อมา สามารถพัฒนาตัวเองสู่การเป็นแข้งชั้นนำของลีก และทำเงินให้สโมสรได้อย่างมหาศาลกว่าเดิมเสียอีกในตอนที่จากไป


Photo : The Mirror 

อองโตนี่ มาร์กซิยาล ซื้อจาก ลียง เพียง 4.5 ล้านปอนด์ในปี 2013 แต่ขายให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในราคาสูงถึง 54 ล้านปอนด์ในปี 2015, แบงฌาแม็ง เมนดี้ ซื้อจาก โอลิมปิก มาร์กเซย 11.7 ล้านปอนด์ในปี 2016 หลังจากนั้นปีเดียว ก็ขายให้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ราคาถึง 51.8 ล้านปอนด์ และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ที่คว้าตัวเข้าสู่อคาเดมีมาแบบฟรีๆ ในปี 2013 ก่อนจะกลายเป็นนักเตะค่าตัว 166 ล้านปอนด์ แพงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกในปี 2018 เมื่อ ปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง ยอมทุ่มไปร่วมทีม (หลังจากยืมตัวมาก่อนหน้า 1 ฤดูกาล ซึ่งสาเหตุเชื่อว่าเป็นการเล่นแร่แปรธาตุไม่ให้ผิดกฎ ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์) นอกจากนี้ยังมีแข้งชื่อคุ้นหูอย่าง เลย์แว็ง เคอร์ซาว่า กับ ยานนิค การ์ราสโก้ ที่เริ่มต้นเส้นทางกับ โมนาโก ก่อนกลายเป็นดาวดังอีกด้วย

แม้ในช่วง 1-2 ฤดูกาลหลัง ผลงานของ โมนาโก จะตกลงไปจนเคยเกือบตกชั้น แต่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า ด้วยนโยบาย "ปั้นนักเตะเอง ผสมกับซื้อถูก แล้วขายออกในราคาแพง" ได้ทำให้ โมนาโก นอกจากจะมีฐานะการเงินที่มั่นคง สวนทางกับทีมยักษ์ใหญ่หลายทีมแล้ว ผลงานในสนามก็ถือว่าน่าดูชม

เพราะนอกจากจะกลายเป็นขาประจำของศึก ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก แล้ว นักเตะดาวรุ่งที่พวกเขาทั้งปั้นและซื้อ คือกำลังสำคัญที่ช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จ เมื่อแชมป์ลีกเอิง 6 จาก 8 สมัย เกิดขึ้นหลังจากพวกเขามีอคาเดมีปั้นเด็กเป็นของตัวเอง รวมถึงในฤดูกาล 2016-17 ที่พวกเขาโค่น เปแอสเช คว้าแชมป์ได้แบบหักปากกาเซียนอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook