SABR : ท่าไม้ตายรุกทุกองศาของ เฟเดอเรอร์ ที่ทั้งสง่างามและร้ายกาจในเวลาเดียวกัน
ถึงแม้ใน The Prince of Tennis ผลงานมังงะว่าด้วยกีฬาเทนนิสที่ประสบความสำเร็จที่สุดของประเทศญี่ปุ่น จากปลายปากกาอาจารย์ ทาเกชิ โคโนมิ จะเต็มไปด้วยความเว่อร์วังอลังการ เหล่าตัวละครสุดยอดนักเทนนิสในร่างเด็กมัธยมต้นต่างดาหน้าใช้ท่าไม้ตายหลุดโลกใส่กันไม่เว้นแต่ละตอน แต่ในโลกความจริงนั้นเป็นเรื่องยากมากๆ ที่เราจะได้เห็นการใช้ท่าไม้ตายของเหล่านักหวดแร็กเกต
เนื่องจากท่าไม้ตายส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการพลิกแพลงวิธีการเล่น ทำให้เกิดเป็นท่วงท่าสุดพิสดาร ซึ่งแน่นอนว่าย่อมตามมาด้วยความเสี่ยงในการผิดพลาด และในการแข่งขันเทนนิสระดับโลก มีเงินเดิมพันหลักร้อยล้านบาท ย่อมไม่มีใครอยากให้เกิดความผิดพลาดขึ้น รูปแบบการเล่นส่วนใหญ่จึงเน้นกลยุทธ์ตามตำรา และ "ปลอดภัยไว้ก่อน"
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าแนวคิดนี้จะใช้ไม่ได้กับ "โรเจอร์ เฟเดอเรอร์" อดีตนักเทนนิสมือ 1 ของโลก ชาวสวิตเซอร์แลนด์ เจ้าของแชมป์แกรนด์สแลมประเภทเดี่ยวมากที่สุดตลอดกาล ด้วยจำนวน 20 รายการ เพราะเขาคนนี้มีท่าไม้ตายอยู่ท่าหนึ่ง ที่ทั้งสง่างามและร้ายกาจ นอกจากนั้นยังนำมาใช้ในการแข่งขันจริงอยู่บ่อยครั้ง ... ทุกคนรู้จักมันในชื่อ SABR
ติดตามเรื่องราวของ SABR ท่าไม้ตายก้นหีบของ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ได้ที่ Main Stand
SABR คืออะไร?
ก่อนจะลงลึกไปในส่วนรายละเอียดความเป็นมา เรามาไขข้อข้องใจให้กระจ่างกันก่อนดีกว่า ว่าที่เรียกกันติดปากว่า SABR แท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่
SABR อักษรภาษาอังกฤษ 4 ตัวนี้ย่อมาจาก
S: Sneak
A: Attack
B: By
R: Roger
ถ้าแปลเป็นภาษาไทยให้เข้าใจโดยง่ายก็น่าจะประมาณว่า "ย่องโจมตีโดยโรเจอร์ (เฟเดอเรอร์)"
Photo : www.essentiallysports.com
ลักษณะของท่า SABR คือการที่อยู่ๆ ตัวของ เฟเดอเรอร์ ก็พุ่งไปด้านหน้า เข้าหาลูกที่คู่ต่อสู้ตีมาด้วยความเร็วสูง ก่อนจะตีฮาล์ฟวอลเลย์สวนลูกกลับไปภายในเสี้ยวพริบตา โดยวิถีของลูกที่พุ่งออกจากแร็กเกต เฟเดอเรอร์ นั้นจะกลายเป็นลูกหยอด กระทบลงคอร์ทบริเวณใกล้กับตาข่าย ทำให้คู่ต่อสู้ที่อยู่บริเวณเบสไลน์นั้นไม่สามารถวิ่งมาตีลูกได้ทัน และถึงทัน ลูกที่ตีกลับไปก็จะอยู่ในวิถีของ เฟเดอเรอร์ ที่ยืนดักรออยู่หน้าตาข่าย พร้อมตีสวนกลับไปเพื่อปิดบัญชีอยู่ดี
ด้วยท่าทางการตีอันสง่างาม และเป็นการเปลี่ยนโมเมนตัมของเกมจากรับเป็นรุกภายในพริบตาราวกับซามูไรชักดาบออกจากฝัก นอกจากนั้นคู่ต่อสู้ที่ตกเป็นเหยื่อของท่า SABR แทบทุกคนก็รู้สึกโมโห หัวเสีย ส่งผลต่อการเล่นในแต้มต่อไป ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ SABR จะถูกหยิบยกมากล่าวถึงในฐานะท่าไม้ตายสุดร้ายกาจของ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ กันอย่างกว้างขวาง
"SABR คือลูกฮาล์ฟวอลเลย์ที่ใช้การง้างสโตรกแขนสั้นมาก มันบ้ามากๆ ต้องใช้การตอบสนองที่ดีมากๆ ในการทำแบบนั้นได้"
"การง้างแขนกว้างเพื่อตีแบคแฮนด์โต้ลูกกลับไปอาจจะเคยเป็นปัญหาสำหรับ เฟเดอเรอร์ แต่ด้วยท่านี้เขาได้ทำให้ปัญหานั้นหมดไป แต่ยังคงรักษาความเร็วไว้ได้เหมือนเดิม" เครก โอแชนเนสซี่ (Craig O'Shannessy) ผู้เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์เทนนิส แสดงความเห็นกับ Reuters
"โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ทำสิ่งที่ไม่น่าเชื่อ" ราฟาเอล นาดาล คู่แข่งตลอดกาลของ เฟเดอเรอร์ กล่าวหลังจากที่โดนท่านี้เล่นงานในศึก Australian Open ปี 2017
Photo : www.bbc.com
เฟเดอเรอร์ ใช้ท่า SABR โกยแต้มจากคู่ต่อสู้มานับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นรายการแข่งขันทั่วไปใน ATP World Tour หรือแม้แต่ศึกสำคัญในแกรนด์แสลมอย่าง US Open หรือ Wimbledon แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าท่านี้จะได้ผลทุกครั้งที่ใช้ เพราะ SARB จะเกิดประโยชน์สูงสุดก็ต่อเมื่อคู่ต่อสู้ไม่คาดคิดว่าจะโดนโจมตีด้วยท่านี้เท่านั้น เพราะถ้าเขารู้ตัวอยู่ก่อนก็จะสามารถหาวิธีป้องกันได้
ถึงตรงนี้เชื่อว่าน่าจะรู้กันแล้วว่า SABR คืออะไร และมันร้ายกาจยังไง ดังนั้นคำถามต่อไปที่ทุกคนคงสงสัยก็คือ ... ท่านี้ถือกำเนิดมาได้อย่างไร?
ต้องขอบคุณโค้ช
ถ้าจะมีใครสักคนได้รับเครดิตเกี่ยวกับท่า SABR นอกจากตัวของ เฟเดอเรอร์ เองแล้ว เขาคนนั้นคือ "เซเวอริน ลูติ" โค้ชส่วนตัวของ เฟเดอเรอร์ ที่เข้ามารับหน้าที่ตั้งแต่ปี 2007 เป็นบุคคลที่อยู่เคียงข้างและคอยผลักดันให้ เฟเดอเรอร์ ก้าวขึ้นสู่ความยิ่งใหญ่ในโลกของเทนนิส นอกจากนั้นเขานี่แหละคือคนสำคัญที่ทำให้ท่า SABR ถือกำเนิดขึ้นบนโลก
Photo : www.zimbio.com
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในปี 2017 ณ เมืองซินซินนาติ รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นตอนที่ เฟเดอเรอร์ และเซเวอริน กำลังฝึกซ้อมตีลูกในคอร์ทกันอย่างขมักเขม้น เพื่อเตรียมตัวเข้าแข่งขันรายการ The Cincinnati Masters
"ตอนนั้นผมเพิ่งเดินทางมาถึงซินซินนาติได้ไม่นาน อาการเจ็ทแลค (Jet Lag) ยังไม่ทันหายดีเลย ผมรู้สึกเหนื่อยสุดๆ และอยากให้การซ้อมจบลงโดยเร็ว โค้ชเองก็คงเหนื่อยเหมือนกัน ผมจึงเสนอว่างั้นเราลองมาเล่นเกมกันมั้ย?"
"โค้ชเองก็เห็นด้วย แต่เขาคิดว่าเกมที่เล่นต้องเป็นเกมที่มีกฎบางอย่าง ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดกับสิ่งที่ใช้ในสนามจริงได้ บทสรุปจึงออกมาเป็นการเล่น Chip and Charge (การเล่นรับลูกเสิร์ฟให้ตกสั้นแล้วตามขึ้นหน้าเน็ตให้เร็วที่สุด) ตอนนั้นผมเหนื่อยมาก จึงพยายามทำออกมาให้ดีที่สุด เพื่อที่จะได้ออกจากคอร์ทกลับไปพักผ่อนให้เร็วที่สุด" เฟเดอเรอร์ เผยกับ Tennis World USA
ในระหว่างการเล่น Chip and Charge ครั้งนั้น อยู่ๆ ท่า SABR ก็ถือกำเนิดขึ้นมาเองตามสัญชาตญาณ เป็นรูปการแบบการตีที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน นอกจากนั้นท่าทางการตียังสวยงาม แต่ที่สำคัญที่สุดคือผลลัพธ์ของมันที่สามารถใช้ตัดสินผลแพ้ชนะในแต่ละแต้มได้เลย
"เมื่อมันเกิดขึ้น ผมหัวเราะ เซเวอรินก็หัวเราะ ทุกคนที่เห็นก็หัวเราะ แล้วเราก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน วันต่อมาเราก็ทดลองมันอีกว่าจะยังได้ผลอยู่หรือเปล่า ซึ่งปรากฏว่ามันยังใช้ได้ผล ไม่ใช่ลูกฟลุค เซเวอรินจึงพูดออกมาว่า 'ทำไมไม่ลองใช้มันในการแข่งขันจริงดูล่ะ'"
"ผมพยายามค้นหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อความตื่นเต้นในการเล่นเทนนิสของตัวเอง รวมถึงของแฟนๆ ด้วยอยู่เสมอ ท่า SABR ก็เช่นกัน ในตอนแรกผมไม่มีความกล้าที่จะใช้มันในการแข่งขันจริง แต่ เซเวอริน นี่แหละคือคนที่ผลักดันให้ผมมีความกล้า"
Photo : www.zimbio.com
ส่วนคำถามว่า ... ที่มาของชื่อคืออะไร คนที่จะตอบมันได้ดีที่สุดก็คงเป็น เฟเดอเรอร์ เช่นเคย
"ตอนที่เราฝึกซ้อมท่านี้จริงจังขึ้น มันจำเป็นที่จะต้องมีชื่อเรียกแทนท่านี้ ดังนั้นชื่อง่ายๆ อย่าง Sneak Attack by Roger หรือ SABR จึงเกิดขึ้นมา"
"แต่คุณจะเรียกมันว่าอะไรก็เรียกไปเหอะ ผมว่ามันสนุกดี"
นี่แหละคือจุดกำเนิดแสนเรียบง่ายคล้ายเรื่องตลกของ SABR สุดยอดท่าไม้ตายของหนึ่งในนักเทนนิสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ทั้งสง่างามและอันตราย อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบมัน
อาวุธอันตรายคือการไม่ให้เกียรติคู่แข่ง?
ถึงแม้ว่าจะเป็นอาวุธสุดร้ายกาจ แต่ เฟเดอเรอร์ กลับไม่ได้ใช้มันบ่อยครั้งนัก นอกจากเหตุผลเรื่องกลัวคู่ต่อสู้จับทางได้ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว นักเทนนิสชาวสวิสผู้นี้ก็ยังมีเหตุผลอื่นที่ซ่อนอยู่อีก
Photo : www.straitstimes.com
"การใช้ SABR แล้วล้มเหลวเป็นเรื่องแย่มาก เพราะทุกคนคาดหวังกับมันไว้มาก แต่ถ้าทำสำเร็จมันก็จะออกมางดงาม มันกลายเป็นหนึ่งในเรื่องสนุกในการเล่นเทนนิสของผม นอกจากนั้นมันยังช่วยพัฒนาทำให้การตีลูกแบ็คแฮนด์ของผมดีขึ้นอีกด้วยจากการฝึกซ้อม แต่ในขณะเดียวกันมันก็อาจจะดูเป็นการไม่ให้เกียรติคู่แข่งได้"
และดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ เฟเดอเรอร์ คนเดียวที่มีความคิดดังกล่าว เพราะถ้าลองสำรวจทางโลกโซเชียลก็จะพบว่ามีความเห็นไปในทิศทางนี้จำนวนไม่น้อยอยู่เหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้นแม้กระทั่งนักเทนนิสระดับตำนานชาวเยอรมันอย่าง บอริส เบกเคอร์ อดีตมือ 1 ของโลก และเจ้าของแชมป์แกรนด์แสลมประเภทเดี่ยว 6 รายการ ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือดว่า
"ผมคิดว่ามันคือการไม่เคารพคู่ต่อสู้" เบกเคอร์ กล่าวกับ Tennis-X
ในขณะที่ จอห์น แม็กเอนโร อีกหนึ่งตำนานของวงการเทนนิสกลับมีความคิดเห็นไปในทางตรงกันข้าม
"มันเป็นเรื่องยากสำหรับผมที่จะมองว่านั่นคือการดูถูก ถ้าเป็นผมคงคิดว่าทำไมถึงตีลูกออกไปได้ห่วยจนเขาสามารถโต้กลับมาแบบนั้นได้มากกว่า" แม็กเอนโร กล่าวกับ ESPN
ส่วน เฟเดอเรอร์ นั้นไม่เคยออกมาตอบโต้ในเรื่องนี้ แต่ต่อให้เขาจะออกมาก็ไม่ใช่ว่าปัญหามันจะจบลงโดยง่าย เพราะประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับ "รสนิยม" และ "วิจารณญาณ" ล้วนๆ ไม่มีอะไรถูกผิด ทุกอย่างเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล
ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลบทสัมภาษณ์ทั้งหมดของ เฟเดอเรอร์ เกี่ยวกับการใช้ท่า SABR รวมถึงที่ใช้อ้างอิงไปข้างต้นก็น่าจะพอตีความได้ว่า เฟเดอเรอร์ รู้ตัวเองดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทุกคนวิพากษ์วิจารณ์เขาว่าอย่างไร ซึ่งเขาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่สิ่งที่เขาเลือกคือ "การเดินทางสายกลาง"
เฟเดอเรอร์ คงใช้ท่า SABR ต่อไปเรื่อยๆ เพราะเขารู้สึกสนุก ตื่นเต้น ท้าทาย รวมถึงแฟนๆ ที่เฝ้ารออยากเห็นด้วย แต่ในขณะเดียวกันเขาก็จะไม่ใช้มันบ่อยเกินไป จนทำให้คู่ต่อสู้รู้สึกว่าตัวเองกำลังโดนดูถูกอยู่ ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับความพอดีและเหมาะสม ... นี่แหละคือวิถีของโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ชายผู้ยืนหยัดอย่างสง่างามในคอร์ทเทนนิสมากว่า 2 ทศวรรษ