เส้นชัยไม่ใช่เป้าหมาย : เมื่อทีมดันนักขับมือ 1 แล้ว นักขับมือ 2 ใน F1 มีไว้เพื่ออะไร?

เส้นชัยไม่ใช่เป้าหมาย : เมื่อทีมดันนักขับมือ 1 แล้ว นักขับมือ 2 ใน F1 มีไว้เพื่ออะไร?

เส้นชัยไม่ใช่เป้าหมาย : เมื่อทีมดันนักขับมือ 1 แล้ว นักขับมือ 2 ใน F1 มีไว้เพื่ออะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งเจ้าแห่งความเร็วบนเวที Formula 1 หรือ F1 ย่อมมีผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว เพื่อเพิ่มโอกาสในการคว้าชัย แต่ละทีมผู้ผลิตจึงสามารถส่งนับขับลงสนามได้ครั้งละ 2 คน

สัจธรรมของโลกกีฬา คือ ผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนฝีมือไม่เท่ากัน เมื่อนักขับที่เก่งกว่าถูกดันขึ้นเป็นมือ 1 ของทีม คำถามที่เกิดขึ้นคือ หน้าที่ของนักขับมือ 2 คืออะไรกันแน่ ?

Main Stand หาคำตอบถึงการมีอยู่ของนักขับมือ 2 ใน Formula 1 เมื่อเส้นชัยไม่ใช่ปลายทางที่ทีมต้องการ แล้วจุดหมายของนักแข่งเหล่านี้คือสิ่งใด ...

Formula 1 คือกีฬาประเภททีม

ไฮไลท์ของ Formula 1 ย่อมหนีไม่พ้น การแข่งขันชิงแชมป์โลกประเภทนักขับ แต่ถึงกระนั้น การแข่งขันชิงแชมป์โลกประเภททีม ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสายตาของทีมผู้ผลิต

เงินรางวัล Formula 1 แต่ละฤดูกาล จะถูกแบ่งแก่ทีมผู้ผลิต ตามอันดับในการแข่งขันประเภททีม โดยทีมที่คว้าแชมป์โลก หรือได้อันดับหนึ่ง จะได้ค่าตอบแทนเป็นส่วนแบ่งจากผลกำไร (Pool of the Profits) มากที่สุด ก่อนลดหลั่นลงไปตามลำดับในตาราง

นั่นหมายความว่า ทีมที่ได้ค่าตอบแทนสูงสุดในแต่ละปี ไม่ใช่ทีมที่เป็นต้นสังกัดนักขับแชมป์โลก แต่เป็นทีมที่นักขับทั้ง 2 ราย สามารถทำคะแนนสะสมรวมกันมากที่สุด ทีมผู้ผลิตใน Formula 1 จึงใส่ใจผลงานในภาพรวมของนักขับทั้ง 2 ราย ไม่ใช่แค่นักขับมือ 1


Photo : Carinner.com

ทีมระดับหัวแถวของ Formula 1 อย่าง Mercedes-AMG Petronas และ Scuderia Ferrari จึงให้ความสำคัญกับตำแหน่งนักขับมือ 2 ในทีม แม้จะมีฝีมือดีอย่าง ลูวิส แฮมิลตัน และ เซบาสเตียน เฟ็ตเทล ครองตำแหน่งมือ 1 ของแต่ละทีมตามลำดับ แต่นักขับเบอร์รองของพวกเขาต้องมีฝีมือยอดเยี่ยมไม่ด้อยไปกว่ากัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ Mercedes ที่คว้าแชมป์โลกประเภททีมผู้ผลิตไป 6 สมัยซ้อน (2014, 2015, 2016, 2017, 2018, 2019) นั่นเป็นเพราะ พวกเขาให้ความสำคัญกับนักขับมือ 2 เสมอมา แม้คู่หูปัจจุบันของแฮมิลตัน อย่าง วัลท์เทรี บอตตาส จะไม่เคยเป็นแชมป์โลกเหมือน มิคาเอล ชูมัคเกอร์ หรือ นิโค รอสเบิร์ก แต่หากมองที่เป้าหมายในการแข่งประเภททีม บอตตาส ถือว่าทำหน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้ หน้าที่หลักของนักขับมือ 2 จึงหนีไม่พ้น "ทำแต้มให้มากที่สุด" ในการแข่งขันแต่ละสนาม เพื่อเพิ่มคะแนนสะสมในตารางประเภททีม ภายใต้ข้อแม้คือ ห้ามจบอันดับสูงกว่านักขับมือ 1 ยกเว้นว่าในสนามนั้น นักขับมือ 1 จะไม่มีโอกาสทำแต้มสูงกว่า นักขับมือ 2 แล้วจริง ๆ เช่นในกรณีรถมีปัญหา หรือประสบอุบัติเหตุ ต้องออกจากการแข่งขัน หรืออันดับหล่นจนหมดสิทธิ์ลุ้นแล้ว


Photo : FoxSports

แน่นอนว่า การลงแข่งขันโดยรู้ว่าต้องตามหลังนักขับอย่างน้อย 1 คน ย่อมเป็นเรื่องขัดใจ แต่อย่างที่ใครหลายคนกล่าวไว้ว่า "Formula 1 คือกีฬาประเภททีม" การคว้าตำแหน่งแชมป์โลกประเภททีมผู้ผลิต คงเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากนักขับมือ 2 การขับขี่อย่างเต็มที่เพื่อคว้าอันดับดีที่สุด (โดยไม่แซงหน้านักขับมือ 1) จึงเป็นหน้าที่พื้นฐาน และงานหลักของนักขับมือ 2 ในการแข่งขันแต่ละสนาม
 

ช่วยเหลือนักขับมือ 1


นักขับมือ 2 ที่ดี ไม่ใช่แค่ขับขี่โดยเก็บแต้มให้ได้มากที่สุด แต่ยังรวมถึงการทำตามคำสั่งของทีม (Team Orders) เพื่อช่วยเหลือนักขับมือ 1 ให้ได้อันดับที่ดีกว่า เพื่อเพิ่มโอกาสในการคว้าตำแหน่งแชมป์โลกประเภทนักขับ

วัลท์เทรี บอตตาส นักขับทีม Mercedes คู่หูของ ลูอิส แฮมิลตัน คือตัวอย่างของนักขับมือ 2 ที่ยอมถอยให้แก่นักขับมือ 1 ตามคำสั่งของทีมมาแล้วหลายครั้ง เริ่มที่การแข่งขัน ฮังกาเรียน กรังด์ปรีซ์ ฤดูกาล 2017 

เขาถูกสั่งให้แฮมิลตันแซงขึ้นคว้าอันดับ 3 เนื่องจากนักขับชาวอังกฤษ มีโอกาสไล่จี้ชิงอันดับ 2 มาจาก คิมี ไรโคเนน นักขับจากทีม Ferrari ก่อนที่สุดท้าย แฮมิลตันจะรู้ตัวว่า เขาไม่สามารถแซงหน้าไรโคเนนได้ จึงคืนอันดับ 3 ให้แก่บอตตาส ในโค้งสุดท้ายของการแข่งขัน


Photo : MotorsportWorld

ฤดูกาล 2018 บอตตาส เจอปัญหาฟอร์มตก และยังไม่สามารถคว้าตำแหน่งผู้ชนะได้แม้แต่สนามเดียว กระทั่งการแข่งขัน เยอรมัน กรังด์ปรีซ์ เขามีโอกาสคว้าตำแหน่งผู้ชนะเป็นครั้งแรกในฤดูกาล เมื่อคู่แข่งจากทีม Ferrari อย่าง เซบาสเตียน เฟ็ตเทล ออกจากการแข่งขัน

บอตตาส จึงเร่งเครื่องเพื่อชิงอันดับ 1 จากแฮมิลตัน ที่ขึ้นนำในขณะนั้น แต่สุดท้าย เจมส์ วาวล์ส หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของ Mercedes สั่งห้ามบอตตาส ไล่จี้เพื่อแย่งอันดับ 1 จากแฮมิลตัน กับประโยคทางวิทยุอันลือลั่น "Valtteri, it's James." ส่งผลให้เขาจบการแข่งขันที่อันดับ 2 ของการแข่งขัน

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง ในการแข่งขัน รัสเซียน กรังด์ปรีซ์ ที่บอตตาสถูกสั่งให้มอบอันดับแก่แฮมิลตัน ทั้งที่เขาคว้าตำแหน่ง Pole Position และมีโอกาสสูงที่จะคว้าชัยชนะครั้งแรกในฤดูกาล 2018 แต่ด้วยคำสั่งของทีมที่ต้องการให้แฮมิลตัน นำห่างเฟ็ตเทล ในตารางคะแนนประเภทนักขับมากขึ้นอีก บอตตาสต้องยอมปล่อยให้แฮมิลตันแซงหน้า พร้อมคำสั่งย้ำจาก เจมส์ วาวล์ส หลังจากนั้นด้วยว่า "กันเฟ็ตเทลไว้อย่าให้แซงได้" และต้องจบฤดูกาล 2018 โดยปราศจากชัยชนะ

"เราจำเป็นต้องออกคำสั่งเลวร้ายนี้ ทั้งที่ชัยชนะในสนามนี้เป็นของวัลท์เทรี แต่เพื่อทำให้ลูอิสเก็บแต้มได้มากที่สุด เราจำเป็นต้องสลับอันดับพวกเขา" โตโต้ โวล์ฟฟ์ ผู้อำนวยการทีม Mercedes กล่าว

"เมื่อ วัลท์เทรี หลบรถของเขาออกด้านข้าง หัวใจของผมแตกสลาย และรู้สึกขอโทษเขา เพราะสิ่งที่ทำลงไปมันเลวร้ายมาก แต่บางครั้งกีฬานี้ก็โหดร้าย และนี่คือหนึ่งในเหตุการณ์แบบนั้น"


Photo : BBC

หลายคนอาจรู้สึกว่า สิ่งที่ทีม Mercedes ทำกับ บอตตาส ไม่ยุติธรรม แต่ถึงอย่างไร หน้าที่ของนักขับมือ 2 คือ "ช่วยเหลือนักขับมือ 1" พวกเขาจำเป็นต้องแลกชัยชนะส่วนตัว เพื่อผลประโยชน์ของเพื่อนร่วมทีม กรณีที่เกิดขึ้นกับบอตตาส เป็นไปตามหน้าที่ของนักขับมือ 2

เขาช่วยให้คู่หูอย่าง แฮมิลตัน จบอันดับหนึ่ง และคว้าตำแหน่งแชมป์โลกประเภทนักขับตามเป้าหมาย ในขณะเดียวกัน บอตตาส ก็เก็บคะแนนสะสมของตัวเอง ได้มากพอที่จะช่วยให้ทีม Mercedes จบอันดับ 1 ในตารางคะแนนประเภททีม อันเป็นเป้าหมายที่สำคัญไม่แพ้กัน

การยอมรับคำสั่งของทีม จึงเป็นหน้าที่สำคัญของนักขับมือ 2 ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักขับใน Formula 1 จะทำได้ แต่สุดท้าย ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง สำหรับ นักขับมือ 2 การหลีกทางเพื่อช่วยเหลือคู่หู คือหนึ่งในนั้น

"มันเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ แต่ในจุดนั้น ด้วยสถานการณ์ขณะนั้น ทั้งเรื่องของคะแนน และทุกสิ่ง ผมคือผู้เล่นของทีม และผมยอมทำแบบนี้เพื่อทีม และผมจะทำแบบเดิมในวันพรุ่งนี้" บอตตาส กล่าว
 

สู้เพื่อตัวเอง


สำหรับตำแหน่งนักขับมือ 2 พวกเขาอาจมีหน้าที่หลักคือการทำงานเพื่อทีม แต่สุดท้าย เมื่อนักขับก้าวขึ้นนั่งหลังพวงมาลัย สิ่งที่เกิดขึ้นในสนาม คือ ผลงานส่วนตัว หมายความว่า นักขับมือ 2 ต้องแข่งขันเพื่อตัวเอง ไม่ต่างจาก นักขับมือ 1

ปัญหาหนักใจของนักขับมือ 2 ที่หลายคนไม่รู้ คือ การต้องไล่ตามนักขับมือ 1 ให้ทันตลอดเวลา เมื่อใดก็ตามที่ทีมผู้ผลิตรู้สึกว่า นักขับมือ 2 ถูกทิ้งห่างมากเกินไป ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นคู่หูในการทำแต้มประเภททีม และคู่แข่งในสนามซ้อมได้ พวกเขาจะถูกเขี่ยออกไป เพื่อเปิดทางให้คนใหม่เข้ามา


Photo : Carinner.com

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดไม่ใช่ใครนอกจาก อเล็กซ์ อัลบอน นักขับลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ที่ถูกโยกจากทีม Scuderia Toro Rosso (Scuderia AlphaTauri ในปัจจุบัน) เข้ามาเสียบตำแหน่งนักขับมือ 2 ในทีม Aston Martin Red Bull Racing กลางฤดูกาล 2019 หลัง ปิแอร์ แกสลี ไม่สามารถทำผลงานใกล้เคียงนักขับมือ 1 อย่าง แม็กซ์ เวอร์สแตปเพน

ดั่งที่เรารู้กันดีว่า อัลบอน ทำผลงานได้น่าประทับใจ จนได้อยู่ต่อในทีมหลักของ Red Bull ในฤดูกาล 2020 และคว้ารางวัลนักขับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม แต่อนาคตไม่มีอะไรแน่นอน หาก อัลบอน ไม่สามารถทำผลงานจนทีมรู้สึกว่า ตัวเขาสามารถทำผลงานเคียงบ่าเคียงไหล่ กับเวอร์สแตปเพนได้ อัลบอนอาจเสียตำแหน่งนักขับมือ 2 ในทีมแบบไม่ทันตั้งตัว

"การอยู่ในกีฬาแบบแข่งขันทีมละ 2 คน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณจะถูกเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมทีมตลอดเวลา" อัลบอน ให้สัมภาษณ์กับ BBC

"มันขึ้นอยู่กับว่า คุณจะปฏิเสธเรื่องเหล่านั้นได้ไหม คุณจัดการมันออกไปจากหัวได้หรือไม่ เพราะมันเป็นเรื่องง่ายมากที่คุณจะร่วงลงไปสู่ก้นบึ้งของจิตใจ"

"ผมรู้ดีว่า แม็กซ์ เร็วมากแค่ไหน แต่ในขณะเดียวกัน ผมแค่ต้องการทำงานของตัวเอง ผมต้องการมีผลการแข่งขันที่ดี เพราะมันเป็นเรื่องปกติใน Formula 1 ในกีฬามอเตอร์สปอร์ต คุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย ทุกปีอาจเป็นปีสุดท้ายของคุณ"


Photo : Formula1.com

นักขับมือ 2 จึงไม่ใช่แค่ "ตามหลัง" แต่ต้อง "ตามให้ทัน" นักขับมือ 1 ซึ่งเป็นทั้งคู่แข่ง และเพื่อนร่วมทีม การคับเขี่ยวกันเองระหว่างนักขับภายใต้ชายคาเดียวกัน ย่อมทำให้ผลงานโดยรวมของทีมในตารางคะแนนสะสมดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมผู้ผลิตต้องการมากที่สุด

จากทั้งหมดที่กล่าวมา การเป็นนักขับมือ 2 ประจำทีม ไม่ได้มีศักดิ์ศรีน้อยกว่านักขับมือ 1 พวกเขาลงแข่งขันเพื่อทีม, ต่อสู้เพื่อตัวเอง และยอมรับคำสั่งโดยไม่มีข้อแม้ นักขับมือ 2 ในการแข่งขัน Formula 1 คือตัวอย่างที่บอกเราว่า กีฬาไม่ได้มีแค่ชัยชนะ การทำหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับ บนเส้นทางการแข่งขัน มีความหมาย และสร้างความภาคภูมิใจได้ไม่น้อยไปกว่ากัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook