จากผู้อพยพสงครามเวียดนาม : "มาร์ติน เหงียน" ประกาศศักดาความยิ่งใหญ่บนเวทีโลก
"The Situ-Asian" มาร์ติน เหงียน นับเป็นนักกีฬาที่มีพรสวรรค์มากที่สุดคนหนึ่งใน "บ้านแห่งศิลปะการต่อสู้" วัน แชมเปียนชิพ แต่คุณพ่อนักสู้ลูกสาม ชาวเวียดนาม-ออสเตรเลียคนนี้ ต้องฝ่าฟันเส้นทางชีวิตในฐานะผู้อพยพหนีสงคราม ซึ่งเรื่องราวของเขาจะเป็นแรงบันดาลให้คนทั่วโลก ถึงจุดเริ่มต้นที่ล่าช้าแต่ไม่สายเกินไปที่จะคว้าความสำเร็จมาเป็นรางวัลให้กับตัวเอง
หนีสงครามในบ้านเกิด
ครอบครัวของ มาร์ติน เหงียน อาศัยอยู่ทางเวียดนามใต้ จนเมื่อสงครามเวียดนามเริ่มคืบคลานเข้ามาใกล้ในปี พ.ศ. 2513 ครอบครัวของเขาและคนอื่นๆในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงจึงตัดสินใจอพยพเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่
พวกเขาเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียโดยทางเรือ และไปรวมกันตัวกันที่ค่ายอพยพในอินโดนีเซีย ก่อนจะบินข้ามไปยังประเทศออสเตรเลีย และตั้งหลักปักฐานที่เมืองลิเวอร์พูล รัฐนิวเซาธ์เวลส์
"ผู้คนในพื้นที่กับคนที่เพิ่งอพยพมาใหม่รวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่และสร้างชุมชนขึ้นที่นี่ พวกเราไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด ไม่ได้เป็นลุงป้าน้าอา หรือลูกพี่ลูกน้องกันจริงๆ แต่ผมนับถือพวกเขาเหมือนญาติ เพราะความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งจนถึงทุกวันนี้"
ในวัยเด็ก มาร์ติน เหงียน ยอมรับว่าเขามักก่อปัญหาที่บ้านและในชั้นเรียนอยู่บ่อยครั้ง แต่ความทะโมนของเขาก็เริ่มลดน้อยลงเมื่อเขาเริ่มเล่นรักบี้ตอนอายุ 10 ปี และทำผลงานได้ดีในการแข่งขัน จูเนียร์ รักบี้ คลับ รวมถึง เวสต์ แม็กพายส์ (การแข่งขันในระดับท้องถิ่น)
แรงปรารถนาของชีวิต
ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย มาร์ติน เติบโตพ้นวัยสู่การเป็นผู้ใหญ่อย่างรวดเร็ว เมื่อได้พบกับ "บรูค" (ภรรยา) ก่อนวันเกิดครบรอบ 17 ปีไม่กี่วัน และหลังจากนั้นสามปีต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2552 พวกเขาก็มีพยานรักคนแรก
"ก่อนหน้านี้ชีวิตผมมีแต่เพื่อนฝูงและการออกไปเที่ยวเตร่ข้างนอก แต่หลังจาก บรูค เข้ามาอยู่ในชีวิตผม เป็นคนที่ผมต้องดูแล การมีลูกทำให้ผมตระหนักว่าผมต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว เลิกออกไปเที่ยว และทำทุกอย่างเพื่อลูกที่เกิดมา"
จากนั้นไม่นานก็มาถึงช่วงเวลาสำคัญอีกครั้งในชีวิต หลังจากได้รับบาดเจ็บ เขาสูญเสียกำลังใจถึงขั้นหันหลังให้การเล่นรักบี้ และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเริ่มมองหากีฬาชนิดอื่นที่จะช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินนี้ออกไปได้
มาร์ติน ตัดสินใจเรียนศิลปะการต่อสู้บราซิลเลียนยิวยิตสู ที่ KMA Top Team ในปี 2553 และได้รับรู้ว่านอกจากมันจะช่วยขจัดน้ำหนักส่วนเกินแล้ว ยังช่วยสร้างวินัยให้เขาในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม
แม้เขาจะเริ่มฝึกศิลปะการต่อสู้ค่อนข้างช้าเมื่ออายุ 21 ปี แต่ประสบการณ์ครั้งนี้ได้เปลี่ยนชีวิตของเขา ด้วยการจุดจิตวิญญาณนักแข่งให้หวนคืนมาอีกครั้ง เขาตัดสินใจขึ้นสังเวียนการแข่งขันการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) สมัครเล่น และคว้าชัยชนะ 4 ไฟต์ติดต่อกันเหนือคู่แข่งขันที่ตัวใหญ่กว่า ก่อนจะสั่งสมความสำเร็จแบบเดียวกันในปีถัดมา และตัดสินใจก้าวสู่สังเวียนระดับอาชีพในปี 2555
สร้างประวัติศาสตร์การต่อสู้
มาร์ติน เขย่าวงการศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน รุ่นเฟเธอร์เวต ด้วยการคว้าแชมป์ Australia’s BRACE ซึ่งเป็นการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ 8 คน ความสำเร็จนั้นทำให้เขาได้เซ็นสัญญากับองค์กรศิลปะการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก วัน แชมเปียนชิพ ในปี 2557 และกลายเป็นที่จับตามองอย่างรวดเร็ว และเป็นนักสู้ที่มีความโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของออสเตรเลีย
ความสำเร็จอันน่าทึ่งในช่วง 5 ปีแรกของการเทิร์นโปร มีรอยด่างพร้อยเดียวจากความพ่ายแพ้ที่มีต่อนักสู้จอมเก๋าชาวรัสเซีย "Cobra" มารัต กาฟูรอฟ ซึ่งครั้งนั้นเป็นการแข่งขันชิงแชมป์โลก ONE เฉพาะกาล รุ่นเฟเธอร์เวต และเป็นไฟต์ที่สองของเขาใน วัน แชมเปียนชิพ โดยรู้ตัวล่วงหน้าเพียงแค่สองวันก่อนการแข่งขัน
มาร์ติน ล้างตา มารัต และคว้าเข็มขัดแชมป์โลก ONE มาครอง
อย่างไรก็ตาม หลังจากใช้เวลาขัดเกลาทักษะและสั่งสมชัยชนะร่วมสองปี มาร์ติน ก็ได้รับโอกาสกู้ชื่อเสียงตัวเองอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2560 ซึ่งเขาโชว์ทักษะการป้องกันซับมิชชันชั้นเลิศจากคู่ปรับเก่าได้อย่างเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังสามารถปิดเกมนี้ได้อย่างเหลือเชื่อ พร้อมกระชากเข็มขัดแชมป์โลก ONE รุ่นเฟเธอร์เวตมาครอง มันเป็นช่วงเวลาที่เขาภูมิใจที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภรรยาได้อยู่เคียงข้างที่นั่นด้วย
"มันยอดไปเลย ภรรยาของผมก็อยู่ที่นั่น และเธอก็อยู่บนเวทีกับผมตอนที่กรรมการชูมือหลังจากจัดการ กาฟูรอฟ ได้"
เขาสร้างความสำเร็จอีกครั้งในสามเดือนต่อมา เมื่อข้ามไปสู้ในรุ่นที่ใหญ่ขึ้น และคว้าแชมป์โลก ONE รุ่นไลต์เวตมาจากไอคอนชาวฟิลิปปินส์ "Landslide" เอดูอาร์ด โฟลายัง แต่อาการบาดเจ็บบังคับให้เขาต้องปล่อยมือจากเข็มขัดรุ่นนี้ และหันมาสานต่อความสำเร็จในรุ่นเฟเธอร์เวตโดยป้องกันตำแหน่งไว้ได้ถึง 3 ครั้ง ก่อนจะย้ายไปสังกัดยิมใหม่ Hard Knocks 365 ที่ฟลอริดา ประเทศอเมริกา ซึ่งเขามั่นใจว่าจะรักษาเข็มขัดเส้นนี้ไว้ได้อีกหลายปี
"เหตุผลของการย้ายคือผมต้องการพาตัวเองออกจากคอมฟอร์ตโซน เพื่อฝึกซ้อมให้ได้ผลดีที่สุด ถ้าอยากเป็นสิงห์ก็ต้องฝึกกับสิงห์ ผมพาตัวเองออกไปและไม่หันหลังกลับไปมองอีกเลย ผมมีความมั่นใจมากขึ้น ไม่เฉพาะกับทักษะการยืนสู้ แต่ในด้านทักษะมวยปล้ำด้วยเช่นกัน มันเหมือนมีใครมาก่อกองไฟอยู่ภายในตัวผม และผมพร้อมที่โชว์ฝีมือให้ทุกคนเห็น"
แม้ว่า มาร์ติน เหงียน จะเดินทางมาถึงจุดสูงสุด แต่เขายังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เขาต้องการใช้ความสำเร็จของตัวเองเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนทั้งในเวียดนาม, ออสเตรเลีย รวมถึงทั่วทุกมุมโลก เกิดแรงบันดาลใจในการทำตามความฝันของพวกเขาให้สำเร็จ
"ถ้าคุณต้องการอะไรในชีวิต คุณก็ต้องทุ่มเทเพื่อสิ่งนั้น คุณต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งเป้าหมายและไปให้ถึง นี่คือสิ่งที่ผมอยากผลักดันให้กับคลื่นลูกใหม่"
"ศิลปะการต่อสู้ช่วยให้ผมมีวินัย และเห็นคุณค่าของชีวิต ไม่เพียงแต่เฉพาะเรื่องการต่อสู้เท่านั้น แต่ยังเห็นคุณค่าของครอบครัว การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน การพบเจอผู้คนใหม่ๆ ผ่านการเดินทางที่ยอดเยี่ยมและมีประสบการณ์ด้วยตัวเองจริงๆ"