NFL vs. AFL : การต่อรองผลประโยชน์ระหว่างสองขั้วอำนาจ สู่ลีกกีฬามูลค่าสูงสุดของโลก

NFL vs. AFL : การต่อรองผลประโยชน์ระหว่างสองขั้วอำนาจ สู่ลีกกีฬามูลค่าสูงสุดของโลก

NFL vs. AFL : การต่อรองผลประโยชน์ระหว่างสองขั้วอำนาจ สู่ลีกกีฬามูลค่าสูงสุดของโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พูดถึงลีกกีฬาที่มีมูลค่าสูงมากที่สุดในโลก ย่อมหนีไม่พ้น NFL หรือ National Football League ลีกอเมริกันฟุตบอลอันดับหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยมูลค่า 91,000 ล้านดอลลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.8 ล้านล้านบาทไทย
 
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีเหตุการณ์สำคัญ ในหน้าประวัติศาสตร์เกมคนชนคน เกิดขึ้นเมื่อปี 1970 NFL อาจไม่ใช่ลีกกีฬาที่ยิ่งใหญ่ และมูลค่าสูงแบบทุกวันนี้

เหตุการณ์ที่เรากล่าวถึง คือการรวมลีกระหว่าง NFL กับ AFL สององค์กรคู่ปรับ ที่จัดการแข่งขันแย่งชิงความเป็นหนึ่ง บนเวทีคนชนคน ก่อนทั้งสองฝ่ายจะหาทางต่อรองอำนาจระหว่างกัน ยุติความบาดหมาง นำไปสู่การเป็นลีกกีฬาที่มูลค่าสูงที่สุดในโลก
 

เมื่อผลประโยชน์กระจายไม่ทั่วถึง

นับตั้งแต่ปี 1920 อันเป็นปีที่ NFL ก่อตั้ง นี่คือลีกอเมริกันฟุตบอลอาชีพ ที่ยึดครองความเป็นหนึ่งมาตลอด หลังจากผ่านช่วงล้มลุกคลุกคลาน ในช่วง 20 ปีแรก จากการตั้งและยุบของหลายแฟรนไชส์ในลีก NFL สามารถลงหลักปักฐาน และสร้างความนิยมให้กับกีฬาคนชนคนได้อย่างต่อเนื่อง

ยุค 50s กลายเป็นยุคทองของ NFL จากการปักหลักของแฟรนไชส์ตามเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์ก ไจแอนท์ส, ฟิลาเดลเฟีย อีเกิลส์, ชิคาโก แบร์ส, วอชิงตัน เรดสกินส์, ลอสแอนเจลิส แรมส์, ซานฟรานซิสโก โฟร์ตีไนเนอร์ส 


Photo : AP News

รวมถึงคุณภาพของเกมที่พัฒนาขึ้น ทำให้ NFL ถูกยกให้เป็นกีฬาอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ร่วมกับลีกเบสบอล MLB โดยในปี 1955 เกมชิงแชมป์ NFL ระหว่าง ลอสแอนเจลิส แรมส์ กับ คลีฟแลนด์ บราวน์ส มีผู้ชมในสนามถึง 85,693 คน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของลีก ที่สำคัญ จำนวนผู้ชมในเกมชิงแชมป์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า หากวัดจาก 10 ปีก่อนหน้า

NFL กลายเป็นธุรกิจกีฬาที่เติบโตมากที่สุดในสหรัฐฯ อนาคตที่สดใสทำให้นักธุรกิจจำนวนมาก อยากเข้ามาลงทุน เป็นส่วนหนึ่งของ NFL และนี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหาครั้งใหญ่

การเติบโตของ NFL มาจากความมั่นคงของแฟรนไชส์ในลีกเป็นหลัก ยิ่งมีการย้ายเมือง หรือการยุบทีมน้อยมากเท่าไหร่ ลีกยิ่งพัฒนา เติบโตได้ไวมากเท่านั้น

ความสนใจจากนักธุรกิจจำนวนมาก ที่ต้องการเพิ่มจำนวนของแฟรนไชส์ เข้าไปในลีก ทำให้ NFL เกิดความกังวลว่า ถ้ามีการเพิ่มจำนวนทีม และเจ้าของทีมเกิดถอดใจ ยุบทีมไปในอนาคต ช่วงเวลายุคทองของลีก คงมาถึงกาลสิ้นสุด

ในช่วงเวลานั้น NFL ยังมีกฎอนุญาตให้แต่ละเมืองในสหรัฐฯ มีแฟรนไชส์อยู่ในลีก ได้แค่ทีมเดียว ซึ่งถูกประกาศใช้ตั้งแต่ปี 1952 ... ทำให้นักธุรกิจหลายคน หมดโอกาสสร้างทีม ในเมืองที่มีศักยภาพ นำไปสู่การเติบโตของทีมกีฬา เช่น นิวยอร์ก, ชิคาโก หรือ ลอสแอนเจลิส

NFL ไม่มีที่ว่างให้กับเหล่านักธุรกิจไฟแรง ผู้ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาที่กำลังเติบโต ทว่านี่คือสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่แนวคิดเสรีนิยมเป็นใหญ่ ... ในเมื่อเข้าร่วมไม่ได้ พวกเขาจึงสร้างลีกของตัวเองขึ้นมา เพื่อหวังยึดอำนาจจาก NFL
 

ลีกฟุตบอลของพวกคนโง่

หนึ่งในบุคคลที่ต้องการเป็นเจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอล ใน NFL มากที่สุดคือ ลามาร์ ฮันท์ (Lamar Hunt) เขาลองแล้วหลายวิธีการ ที่จะได้มีส่วนร่วมใน NFL ทั้งการขอซื้อทีม, ยื่นเรื่องเพิ่มแฟรนไชส์ แต่ไม่ว่าจะทำอะไร ผลลัพธ์เดียวที่ตามมา คือความล้มเหลว


Photo : Kansas City Chiefs

มีนาคม 1959 ฮันท์ตัดสินใจพูดคุยกับเพื่อนนักธุรกิจหลายคน ที่มีความคิดอยากเป็นเจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอลอาชีพ เหมือนกับเขา เพื่อเสนอไอเดียว่า จะเป็นไปได้แค่ไหน หากมีการสร้างลีกมาแข่งกับ NFL 
ประกาศศึกกับลีกขั้วอำนาจเก่า อย่างตรงไปตรงมา และทุกคนที่มาคุยกันในวันนั้น เห็นตรงกันว่า นี่คือไอเดียที่เข้าท่า 

ไม่ใช่แค่นักธุรกิจ ที่ต้องการเป็นเจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอล แต่รวมถึงหลายเมืองในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น เดนเวอร์, บอสตัน, ดัลลัส หรือ ฮิวส์ตัน ที่อยากมีทีมอเมริกันฟุตบอลในเมืองบ้าง หากแต่การไม่ยอมขยายจำนวนทีมของลีก NFL ทำให้ความฝันจะมีแฟรนไชส์อยู่ในเมืองไม่เคยเกิดขึ้น

American Football League หรือ AFL คือลีกใหม่ที่เกิดขึ้น อันประกอบไปด้วย บอสตัน เพเทรียตส์ (นิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ ในปัจจุบัน), บัฟฟาโล บิลส์, เดนเวอร์ บรองโกส์, ดัลลัส เท็กซานส์ (แคนซัส ซิตี ชีฟส์ ในปัจจุบัน), ฮิวส์ตัน ออยเลอร์ส (เทนเนสซี ไททันส์ ในปัจจุบัน), โอคแลนด์ เรดเดอร์ส (ลาสเวกัส เรดเดอร์ส ในปัจจุบัน), นิวยอร์ก ไททันส์ (นิวยอร์ก เจ็ตส์ ในปัจจุบัน) และ ลอสแอนเจลิส ชาร์จเจอร์ส 

AFL เริ่มทำการแข่งขัน อย่างเป็นทางการในปี 1960 และลีกประกาศสงครามกับ NFL ทันที ด้วยการจัดงานดราฟต์ตัวผู้เล่นเข้าสู่ลีก ซึ่งเป็นการแย่งชิงผู้เล่นในระดับมหาวิทยาลัยหลายคน ให้ปฏิเสธการไปร่วมเลือกตัวกับ NFL แล้วมาที่ AFL แทน

"Foolish Club" หรือ สมาคมคนโง่ คือชื่อที่สื่อใช้เรียกกลุ่มเจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอล ใน NFL โทษฐาน ท้าทายอำนาจของลีกกีฬาที่ทรงพลังในสหรัฐฯ ... เปรียบเทียบภาพกับโลกปัจจุบันได้กับ การที่สโมสรฟุตบอลอังกฤษตั้งลีกใหม่ เพื่อหวังแข่งกับพรีเมียร์ลีก 


Photo : Kansas City Chiefs

การเกิดขึ้นของ AFL มีทั้งเรื่องดี และเรื่องเสีย ... เรื่องดีคือ AFL ได้สัญญาโทรทัศน์มูลค่าสูงจากช่อง ABC ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือน ไปถึง NFL ได้ในทันที เหล่าเจ้าของทีม AFL พร้อมที่จะทุ่มเงินก้อนโต เพื่อดึงผู้เล่นฝีมือดี ให้มาเล่นกับลีก แทนที่จะไป NFL

ส่วนเรื่องเสียที่ AFL ต้องเผชิญคือ บางแฟรนไชส์ ไม่ได้รับการตอบรับจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะทีมที่จงใจตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นศัตรูกับ NFL โดยตรง 

เช่น โอคแลนด์ เรดเดอร์ส (แข่งกับ ซานฟรานซิสโก โฟร์ตีไนเนอร์ส), ลอสแอนเจลิส ชาร์จเจอร์ส (แข่งกับ ลอสแอนเจลิส แรมส์) หรือ นิวยอร์ก ไททันส์ (แข่งกับ นิวยอร์ก ไจแอนท์ส) ทำให้แฟรนไชส์เหล่านี้ เจอปัญหาไร้คนดู ขาดดุลทางการเงิน 

แม้กระทั่งทีมของผู้ตั้งลีก อย่าง ลามาร์ ฮันท์ นั่นคือ ดัลลัส เท็กซานส์ ก็ต้องเจอกับปัญหาใหญ่ เพราะ NFL แก้ลำด้วยการอนุญาตให้มีการเพิ่มทีม จนเกิด ดัลลัส คาวบอยส์ มาแข่งกับทีมของฮันท์ทันที ในปี 1960 ทำให้ฮันท์ต้องย้ายทีมหนี ไปอยู่เมืองแคนซัส ซิตี ในปี 1963

อย่างไรก็ตาม AFL ได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้น ผ่านการชิงผู้เล่นมากความสามารถ เข้าไปในลีก ... แชมป์ AFL ในปี 1963 อย่าง ซานดีเอโก ชาร์จเจอร์ส (ที่เปลี่ยนชื่อจาก ลอสแอนเจลิส ชาร์จเจอร์ส หลังก่อตั้งได้ไม่นาน) ได้รับการยกย่องจากสื่อว่า ดีกว่าทีมแชมป์ NFL ในปีนั้นอย่าง ชิคาโก แบร์ส นี่คือก้าวสำคัญที่ทำให้ NFL เริ่มรู้สึกว่า AFL ไม่ใช่คู่แข่งที่จะมองข้ามได้อีกต่อไป
 

Super Bowl

การแย่งชิงความเป็นหนึ่งระหว่าง NFL กับ AFL ทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างหาวิธีโค่นล้มคู่แข่ง หนึ่งในนั้นคือการขยายทีม ... NFL สร้างแฟรนไชส์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้ง มินนีโซตา ไวกิงส์ (ตอนแรกทีมจากรัฐมินนีโซตา จะมาอยู่กับ AFL แต่ถูก NFL ชิงไป), แอตแลนตา ฟอลคอนส์, นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส เพื่อรักษาความยิ่งใหญ่ของลีก ขณะที่ AFL มี ไมอามี ดอลฟินส์ และ ซินซิเนติ เบงกอลส์ เพิ่มขึ้นมา เพื่อท้าชิงอำนาจจาก NFL


Photo : ESPN 99.1

NFL และ AFL ทำการแข่งขันกันในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการชิงตัวผู้เล่น, แย่งความนิยมของแฟนบอล, เม็ดเงินจากลิขสิทธิ์โทรทัศน์ จนเริ่มนำไปสู่ความคิดที่ว่า ถ้านำแชมป์ NFL มาแข่งกับ AFL เพื่อหาแชมป์ตัวจริง จะเป็นอย่างไร ?

ปี 1966 เกิดเหตุการณ์สำคัญ เพราะ AFL สามารถดึงตัวควอเตอร์แบ็คที่เล่นอยู่ใน NFL มาอยู่กับลีก ได้ถึง 7 คน ... ผู้บริหารทีมใน NFL เริ่มมีความคิดตรงกันว่า ถ้าปล่อยให้การแย่งชิงอำนาจ ระหว่างทั้งสองทีมเกิดขึ้นต่อไป ต้องมีสักฝั่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และเหล่าเจ้าของทีม ไม่อยากให้ผู้รับเคราะห์ร้าย เป็นพวกเขา

ผู้บริหารจากทั้งสองฝ่าย เริ่มเปิดฉากเจรจาต่อรองผลประโยชน์ระหว่างกัน นั่นคือการรวมลีกเป็นหนึ่งเดียวกันเพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ สุดท้าย NFL และ AFL ตัดสินใจจะร่วมมือกัน ด้วยการรวมลีกเป็นหนึ่งเดียว แต่ยังไม่เกิดขึ้นในทันที

ทั้งสองลีกตัดสินใจว่า จะรวมลีกอย่างเป็นทางการในฤดูกาล 1970 ระหว่างนั้น จะเริ่มชิมลาง ด้วยการเอาแชมป์มาเจอกัน ในการแข่งขันที่ชื่อว่า "เกมชิงแชมป์โลกระหว่าง AFL กับ NFL" หรือ AFL–NFL World Championship Game ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 1967

การแข่งขัน 2 ครั้งแรก จบลงด้วยชัยชนะแบบถล่มทลายของแชมป์ฝั่ง NFL นั่นคือทีม กรีนเบย์ แพคเกอร์ส ทั้งสองครั้ง ... การแข่งขันกลายเป็นเกมที่ดูน่าเบื่อ เพราะทีมจาก NFL เหนือกว่า AFL ด้วยประการทั้งปวง แถมชื่อของการแข่งขัน ยังดูจืดชืดอย่างมาก ในสายตาของสื่อสายเกมคนชนคน

อย่างไรก็ตาม ในการแข่งขันครั้งที่ 3 ชื่อของการแข่งขันถูกเปลี่ยนเป็น Super Bowl หรือ ซูเปอร์โบวล์ ที่ถูกตั้งโดย ลามาร์ ฮันท์ ... ซึ่งเจ้าตัวนำชื่อนี้มาจาก ลูกฟุตบอลของเล่นที่ชื่อว่า "Super Ball" หลังจากผู้ก่อตั้งลีก AFL เห็นลูกตัวเอง เล่นลูกบอลเด้งดึ๋งอยู่ที่บ้าน

แน่นอนว่า ชื่อซึ่งมีที่มาจากลูกบอลของเล่น เป็นที่รังเกียจของคนในวงการ แต่สื่อกลับชอบชื่อนี้ จนนำไปเป็นชื่อเล่นของการแข่งขันชิงแชมป์ตั้งแต่ครั้งแรก สุดท้ายจึงมีการเปลี่ยนชื่อการแข่งขันเป็น Super Bowl อย่างเป็นทางการ ในการแข่งขันครั้งที่ 3 หรือปี 1969


Photo : The Mercury News

การแข่งขันครั้งนั้นคือ การเจอกันระหว่างแชมป์ของ NFL บัลติมอร์ โคลต์ส (อินเดียนาโปลิส โคลต์ส ในปัจจุบัน) และ นิวยอร์ก เจ็ตส์ ซึ่งราคาต่อรองของคู่นี้ โคลต์สเป็นต่อเจ็ตส์ ถึง 18 คะแนน

อย่างไรก็ตาม ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น โจ แนเมธ (Joe Namath) ควอเตอร์แบ็คของเจ็ตส์ ได้ฟันธงว่า ทีมของเขาจะเป็นฝ่ายชนะอย่างแน่นอน แม้จะเป็นรองตามราคา ถึง 18 แต้ม พร้อมหล่นวาทะเด็ดว่า "เราจะชนะเกมนี้ ผมเอาหัวเป็นประกัน"

คำกล่าวของแนเมธ กลายเป็นที่ล้อเลียนของสื่อ และแฟนของทีมโคลต์ส เพราะพวกเขาจินตนาการไม่ออกว่า ทีมจาก AFL จะหาญกล้าล้มทีมแชมป์ของ NFL ได้อย่างไร

ไม่รู้ว่าแนเมธเห็นอนาคต หรือชื่อ Super Bowl จากผู้ตั้งลีก AFL เป็นมงคล ... เจ็ตส์ช็อกคนสหรัฐฯ ทั้งประเทศ ด้วยการชนะโคลต์ส 16 ต่อ 7 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ทีมจากลีก AFL เอาชนะ NFL 

ชัยชนะของเจ็ตส์ เปลี่ยนมุมมองที่คนอเมริกัน มีต่อ AFL โดยสิ้นเชิง ก่อนหน้านี้ยังมีแฟนบอลจำนวนมาก มองว่า AFL เป็นได้แค่ลูกไล่ของ NFL ... ต่อให้เป็นคู่แข่งขัน AFL เป็นได้แค่เบอร์ 2 ไม่เคยเป็นเบอร์ 1 ทว่าหลังจากเกม Super Bowl ครั้งที่ 3 การจะบอกว่า NFL เหนือกว่า AFL คงพูดไม่ได้อย่างเต็มปาก เมื่อมีผลงานการแข่งขันให้เห็น เป็นที่ประจักษ์

ภาพทุกอย่าง ยิ่งมาตอกย้ำใน Super Bowl ครั้งที่ 4 ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของแชมป์ AFL อีกครั้ง หลังแคนซัส ซิตี ชีฟส์ ล้ม มินนีโซตา ไวกิงส์ ด้วยสกอร์ขาดลอย 23 ต่อ 7

ที่สำคัญนี่คือการคว้าแชมป์ ด้วยทีมของผู้ตั้งลีก AFL อย่าง ลามาร์ ฮันท์ ชายที่ต้องการล้ม NFL ดังนั้นชัยชนะของชีฟส์ คือการตบหน้า NFL อย่างสมบูรณ์แบบ


Photo : The Gangster Report

Super Bowl กลายเป็นเวทีชิงอำนาจ ในโลกอเมริกันฟุตบอลอย่างสมบูรณ์แบบ ผ่านการร่วมมือกันของทั้งสองฝ่าย จาก 2 ครั้งแรกที่ NFL แสดงให้เห็นว่า AFL เป็นได้แค่ลีกนอกสายตา ...

อีกแค่การแข่งขัน 2 ครั้งถัดมา AFL สามารถทำให้คนทั้งประเทศเชื่อว่า ลีกนี้ไม่ได้ด้อยไปกว่า NFL แม้แต่น้อย
 

ร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย

การคว้าแชมป์ Super Bowl ของชีฟส์ คือช่วงเวลาอันเหมาะเจาะ ก่อนที่ฤดูกาล 1970 จะเริ่มขึ้น ... AFL แสดงให้เห็นแล้วว่า ลีกนี้พร้อมแล้ว กับการรวมเป็นหนึ่งเข้ากับ NFL อย่างเป็นทางการ


ก่อนหน้านี้ ทั้งสองฝ่ายตัดสินใจจัดการดราฟต์เลือกผู้เล่นเข้าลีกร่วมกัน นับตั้งแต่ปี 1967 เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการร่วมลีก อย่างไรก็ตามแม้จะมีการตกลง ที่จะรวมลีกเป็นหนึ่งเดียว ตั้งแต่ปี 1966 ทั้งสองฝ่ายมาเริ่มเจรจา อย่างจริงจังของการรวมลีกในปี 1969

สำหรับ AFL แม้ผลงานบนสนามแข่งขัน จะไม่ได้เป็นรอง NFL แต่ลีกยังคงเป็นรองในแง่ของรายได้ และความนิยม โดยเฉพาะเรตติ้งทางโทรทัศน์ ที่ไม่ค่อยแน่นอน หากเทียบกับ NFL 

ทั้งสองฝ่ายจึง ตัดสินใจเปิดโต๊ะเจรจา ถึงข้อตกลงที่จะรวมลีก ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาลีกอเมริกันฟุตบอล ในทิศทางที่ดีขึ้น 

เช่น การยกเลิกกฎห้ามมีทีมมากกว่า 2 ทีมในเมืองของ NFL, ข้อตกลงที่จะต้องหาแฟรนไชส์เพิ่ม หลังจากรวมลีก นำไปสู่การเกิดแฟรนไชส์ ซีแอตเทิล ซีฮอว์คส์ และ แทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส ในปี 1976 


Photo : Pewter Report

ข้อบังคับที่สนามแข่งขัน ต้องจุผู้ชมได้มากกว่า 50,000 คนขึ้นไป ทำให้หลายทีม ต้องสร้างสนามขึ้นมาใหม่ และเป็นการยกระดับมูลค่าของลีก และแฟรนไชส์ รวมถึงข้อสำคัญที่สุด การเปิดโอกาสให้ทีมจากทั้งสองลีก แข่งขันกันได้ ตั้งแต่ในฤดูกาลปกติ

16 มกราคม 1970 เพียงแค่ 4 วันหลังจากการแข่งขัน Super Bowl ครั้งที่ 4 ... NFL และ AFL ประกาศรวมลีกอย่างเป็นทางการ โดยจะใช้ชื่อลีกว่า NFL ขณะที่ AFL ถูกเปลี่ยนกลายเป็นชื่อของสายการแข่งขัน ในชื่อ American Football Conference หรือ AFC ส่วนอีกสายใช้ชื่อของ NFL ที่เปลี่ยนเป็น National Football Conference หรือ NFC

การรวมลีกระหว่าง NFL และ AFL ได้รับการขนานนามจากสื่อว่า เป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่ทำให้ NFL เป็นลีกกีฬาที่สมบูรณ์แบบ เติบโตขึ้นเป็นสองเท่า ด้วยการดึงลีกคู่แข่งมาเป็นหนึ่งเดียวกัน มูลค่า และความน่าสนใจของลีกเพิ่มเป็นเท่าตัว ที่สำคัญคือช่วยให้ NFL มีจำนวนทีมอยู่ทั่วประเทศ กลายเป็นกีฬาของอเมริกันชนที่แท้จริง และก้าวเป็นลีกอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ในเวลาถัดมา

นอกจากนี้ การรวมลีกทั้งสอง ทำให้เป็นครั้งแรกที่ NFL ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ได้มากกว่าหนึ่งช่องโทรทัศน์ ทำให้ลีกมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นหนึ่งในรากฐานการหารายได้หลักของ NFL มาจนถึงปัจจุบัน


Photo : KPBS

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook