เพื่อสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ : ทำไมนักฟุตบอลญี่ปุ่นย้ายไปเล่นในยุโรปด้วยราคาแสนถูก?

เพื่อสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ : ทำไมนักฟุตบอลญี่ปุ่นย้ายไปเล่นในยุโรปด้วยราคาแสนถูก?

เพื่อสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ : ทำไมนักฟุตบอลญี่ปุ่นย้ายไปเล่นในยุโรปด้วยราคาแสนถูก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ญี่ปุ่นคือหนึ่งในชาติ ที่พัฒนาความเก่งกาจ ในเกมลูกหนังอย่างก้าวกระโดด ภายในเวลาไม่ถึง 30 ปี พวกเขากลายเป็นทีมฟุตบอลหัวแถว ของทวีปเอเชีย และมีนักเตะมากมาย ย้ายไปค้าแข้งในฟุตบอลยุโรป

ฮิเดโตชิ นากาตะ, ชินจิ คางาวะ, มายะ โยชิดะ, ทาคุมิ มินามิโนะ, ยูยะ โอซาโกะ, เคซุเกะ ฮอนดะ, มาโคโตะ ฮาซาเบะ, อัตสึโตะ อุจิดะ, ชินจิ โอกาซากิ คือตัวอย่างส่วนน้อย ของผู้เล่นชาวญี่ปุ่น ที่ไปสร้างชื่อเสียง ในลีกฟุตบอลชั้นนำของโลก

ขณะที่แดนอาทิตย์อุทัย เป็นประเทศที่ผลิตนักฟุตบอลฝีเท้าดีมากมาย นักเตะเหล่านี้กลับย้ายไปค้าแข้ง ในลีกลูกหนังยุโรป ด้วยราคาแสนถูก ไม่สมกับทักษะของพวกเขาแม้แต่น้อย

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

หนทางการพัฒนาฟุตบอลญี่ปุ่น

หนึ่งในเหตุผลสำคัญ ที่ญี่ปุ่นสามารถพัฒนานักฟุตบอลเยาวชนฝีเท้าดี ขึ้นมาประดับวงการได้อย่างต่อเนื่อง เพราะว่าพวกเขามีแผนการ 100 ปี (100-year vision) หรือการวางระบบสร้างวงการลูกหนังแดนซามูไร ให้ขึ้นมาเป็นสุดยอดของโลก ภายในระยะเวลาหนึ่งศตวรรษ

แม้ว่าญี่ปุ่น จะเน้นความสำคัญ ไปที่ฟุตบอลเจลีก และการสร้างรากฐานให้ชุมชนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมของการพัฒนา แต่อีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้วงการฟุตบอล เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือการส่งผู้เล่น ไปเก็บประสบการณ์ต่างแดน 


Photo : www.straitstimes.com

“หนึ่งในวิธีที่ทำให้ผู้เล่น รวมถึงโค้ชของเรายกระดับ คือการส่งพวกเขาไปเล่นต่างประเทศ ตอนที่เจลีกเริ่มแข่งขัน สักช่วง 20 ปีก่อน เราแทบไม่เคยได้ยินชื่อนักฟุตบอลญี่ปุ่น เล่นต่างประเทศ เพราะพวกเขาเก่งไม่พอ”

“ผมภูมิใจมากที่นักเตะของเราจำนวนไม่น้อย ไปเล่นที่ต่างประเทศ เมื่อพวกเขากลับมาในประเทศ นักเตะเหล่านี้ สามารถพัฒนาการแข่งขันของเรา (เจลีก) ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น” มิตซึรุ มุราอิ ประธานฟุตบอลเจลีก กล่าวถึงความสำคัญที่ต้องส่งนักเตะ ไปเล่นต่างแดน

การพูดว่าประเทศญี่ปุ่น เริ่มส่งออกนักเตะไปต่างแดนได้ไม่นาน ไม่ใช่เรื่องที่ผิดนัก … การเริ่มต้นตามหลังชาติจากทวีปอเมริกาใต้ และแอฟริกา ทำให้นักเตะญี่ปุ่นมีเครดิตน้อยกว่า 

เพื่อทำตามแผน ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพผู้เล่น ผ่านการส่งไปค้าแข้งในยุโรป การปล่อยนักเตะในราคาที่ถูกกว่า เหมือนการขายตัดราคาสินค้า จึงเกิดขึ้น

ฮิเดโตชิ นากาตะ คือผู้เล่นพรสวรรค์สูงคนหนึ่ง ที่ญี่ปุ่นเคยมีมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มต้นค้าแข้ง ในทวีปยุโรป กับเปรูจา ในประเทศอิตาลี เขากลับถูกซื้อตัวในราคาแค่ 3.5 ล้านยูโรเท่านั้น ก่อนที่นากาตะจะไประเบิดผลงาน และถูกโรม่า มาซื้อตัวไปจากเปรูจา ในราคาสูงถึง 21.7 ล้านยูโร มากกว่าเดิม เกือบ 7 เท่า


Photo : www.asroma.com

ช่วงเริ่มต้นของการส่งออกนักเตะ ญี่ปุ่นถึงกับต้องใช้วิธีส่งผู้เล่นไปยืม เพื่อหาโอกาสในต่างแดน … ฮิโรชิ นานามิ ดาวดังของทัพซามูไรบลู ช่วงยุคปลาย 90’s ได้โอกาสไปยืมตัวกับเวเนเซีย ในอิตาลี แต่ไม่ประสบความสำเร็จแบบที่คาดหวัง 

การส่งนักฟุตบอลญี่ปุ่นไปลองของที่ยุโรป คือการเปิดประตูที่ดี ให้กับเหล่านักเตะแดนซามูไรในอนาคต โดยเฉพาะฮิเดโตชิ นากาตะ ที่สร้างมาตรฐานการค้าแข้งอันยอดเยี่ยมทิ้งเอาไว้ ทำให้หลายสโมสรเริ่มคิดว่า ญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดนักเตะที่น่าสนใจ 

เพราะพวกเขาสามารถหาผู้เล่นฝีเท้าเลิศ แบบนากาตะ ได้ในราคาแสนถูก ที่หากซื้อนักเตะจากชาติชั้นนำ คงได้แค่ตัวเกรดกลางค่อนไปทางล่าง มาร่วมทีม

จากฟุตบอลโลก 1998 ประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมการแข่งขัน โดยไม่มีนักเตะค้าแข้งนอกประเทศ แม้แต่คนเดียว 4 ปีถัดมา ในฟุตบอลโลก 2002 ญี่ปุ่นมีผู้เล่นอยู่ต่างแดน ถึง 4 คน ได้แก่ ฮิเดโตชิ นากาตะ, โยชิคัตสึ คาวางุจิ (พอร์ทสมัธ ซื้อไปในราคา 2.7 ล้านยูโร), จุนอิจิ อินาโมโต (อาร์เซนอล ยืมตัว) และ ชินจิ โอโนะ (เฟเยนูร์ด ซื้อไปในราคา 5.5 ล้านยูโร) 

เห็นได้ว่า นักเตะญี่ปุ่นที่ถูกคว้าตัวไปเล่นยุโรป มีค่าตัวที่แสนถูก บางคนประสบความสำเร็จที่ยุโรป บางคนก็ไม่ แต่สุดท้ายไม่ว่าผลงาน ในลีกฟุตบอลชั้นนำ จะเป็นอย่างไร สุดท้ายวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด เพราะนักเตะที่ไปค้าแข้งต่างแดน ล้วนเป็นสมาชิกของทีมชาติญี่ปุ่น และพวกเขาสามารถยกระดับคุณภาพของทีมได้อย่างชัดเจน


Photo : gekisaka.jp

การเริ่มส่งนักเตะออกไปค้าแข้งต่างแดน ได้ผลลัพธ์กลับมา เป็นการผ่านรอบแบ่งกลุ่มครั้งแรก ของทีมชาติญี่ปุ่น ในฟุตบอลโลก 2002 แม้ว่าพวกเขาจะเป็นเจ้าภาพร่วมของการแข่งขัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทัพซามูไรบลูชุดนั้น แข็งแกร่งพอที่จะผ่านเข้าสู่รอบ 2  และต่อยอดความสำเร็จ ด้วยการเป็นแชมป์เอเชียน คัพ 2004

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความแข็งแกร่งของทีมชาติญี่ปุ่น ได้รับการพัฒนา ผ่านการออกมาค้าแข้งต่างแดนของนักเตะ … ฟุตบอลโลก 2018 นักเตะ 14 คน จาก 23 คน ในชุดทีมชาติญี่ปุ่น เล่นอยู่นอกประเทศ และทำผลงานที่ยอดเยี่ยมอีกครั้ง ด้วยการผ่านเข้าสู่รอบ 2 เป็นครั้งที่ 3 ในการแข่งขันฟุตบอลโลก จาก 5 ครั้งหลังสุด

เป็นภาพแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การเปิดโอกาสให้ผู้เล่น มาค้าแข้งต่างแดน ช่วยให้ญี่ปุ่นรักษาคุณภาพทีม ในฐานะทีมระดับหัวแถวของเอเชีย ไว้ได้นานกว่า 20 ปี 

 

เปิดโอกาสตามความฝัน 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแตกต่างจากอดีตตรงที่ ทุกวันนี้สโมสรฟุตบอลในยุโรป รับรู้ถึงศักยภาพของนักเตะญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ผลงานในระดับเวทีนานาชาติ ของผู้เล่นแดนซามูไรเป็นที่ประจักษ์ แต่วงการลูกหนังญี่ปุ่น ยังคงขายนักเตะในราคาถูกเช่นเดิม ทั้งที่โก่งราคากว่านี้ ก็สามารถทำได้


Photo : www.sponichi.co.jp

เป็นผลสืบมาจาก การผลักดันส่งนักเตะออกไปค้าแข้งต่างประเทศ และความสำเร็จของฮิเดโตชิ นากาตะ ที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชนญี่ปุ่น ที่รักกีฬาลูกหนัง … นากาตะ ฟีเวอร์ ทำให้เด็กญี่ปุ่น เกิดความฝัน อยากไปค้าแข้งที่ญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จ เป็นซุเปอร์สตาร์ แบบนากาตะ

การไปค้าแข้งในลีกชั้นนำของยุโรป จึงกลายเป็นความฝัน ของนักฟุตบอลญี่ปุ่นทั่วประเทศ ไม่มีใครอยากหยุดอยู่แค่เจลีก หากคิดว่าตัวเองฝีเท้าดีพอ ที่จะเผชิญความท้าทาย บนเวทีลูกหนังยุโรป

การย้ายไปเล่นฟุตบอลต่างแดน จึงกลายเป็นค่านิยมร่วมกัน ที่ทุกฝ่ายในวงการฟุตบอลญี่ปุ่นได้ประโยชน์ ทั้งทีมชาติ และนักเตะ รวมถึงสโมสรฟุตบอล เพราะทีมไหนที่เปิดโอกาสให้นักเตะ ย้ายไปค้าแข้งต่างแดนได้ง่ายกว่า มีโอกาสที่นักฟุตบอลจะเลือกเซ็นสัญญามากกว่า

เคซุเกะ ฮอนดะ คือตัวอย่างที่ดี เขาเป็นนักเตะที่ความสามารถสูง ได้รับการจับตาจากหลายสโมสร ตั้งแต่สมัยเล่นในระดับโรงเรียน ซึ่งสุดท้ายเขาเลือกเซ็นสัญญาอาชีพ กับทีมนาโงยา แกรมปัส เพราะนาโงยา พร้อมจะปล่อยฮอนดะ ออกจากทีมไปเล่นที่ยุโรป ไม่ว่าสโมสรไหนจะยื่นข้อเสนอเข้ามา

3 ปีหลังจากเซ็นสัญญากับนาโงยา ฮอนดะได้รับความสนใจจาก วีวีวี เวนโล สโมสรในเนเธอร์แลนด์ ที่มี เซฟ เวอร์โกรสเซน อดีตกุนซือของนาโงยาคุมทีมอยู่ … เวอร์โกรสเซน รู้ถึงความสามารถของฮอนดะเป็นอย่างดี และเขาต้องการแข้งดาวรุ่งวัย 21 ปี ณ เวลานั้นไปร่วมทีม 

ถึงจะเป็นสโมสรขนาดเล็ก แต่ฮอนดะต้องการโอกาสที่จะไปตามความฝัน เล่นในทวีปยุโรป สุดท้ายด้วยสัญญาใจ ระหว่างสโมสร กับนักเตะ … นาโงยา แกรมปัส จึงปล่อยฮอนดะ ออกไปเล่นกับ วีวีวี เวนโล ด้วยค่าตัว 0 ยูโร

สำหรับนักฟุตบอลญี่ปุ่น พวกเขาต้องการตอบรับทุกโอกาส ที่ถูกหยิบยื่นโดยทีมฟุตบอลจากยุโรป เช่น กรณีของ อัตสึโตะ อุจิดะ เขาถูกชาลเก้ 04 ยื่นมาซื้อตัว ในราคาเพียง 1.3 ล้านยูโร ซึ่งถือว่าถูกมาก หากเทียบกับผลงานในฐานะอนาคตแบ็คขวาตัวจริง ของทีมราชันย์สีน้ำเงิน ที่ประสบความสำเร็จ คว้าแชมป์ร่วมกับทีม

เหตุผลที่อุจิดะ ถูกขายในราคาสุดถูก จากต้นสังกัดเดิม อย่าง คาชิมา อันท์เลอร์ส เพราะเหมือนในกรณีของฮอนดะไม่มีผิด การยื่นข้อเสนอเข้ามาของชาลเก้ คือโอกาสสำคัญอย่างมาก ที่จะส่งนักฟุตบอลเลือดซามูไร ไปสัมผัสเกมระดับโลก ในลีกบุนเดสลีกา เยอรมัน


Photo : sakanowa.jp

“นี่เป็นโอกาสสำคัญที่ผมต้องคว้าไว้ เพราะผมจะได้พัฒนาตัวเอง ในฐานะนักฟุตบอล” อุจิดะ กล่าวหลังจากย้ายมาร่วมทีมชาลเก้ 04 

ขณะเดียวกัน การปล่อยนักเตะไปตามฝันคือการรักษาความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างสโมสร และนักเตะ เพราะหลังจากจบการผจญภัยที่ยุโรป ทีมที่อุจิดะเลือกเมื่อกลับมาค้าแข้งในญี่ปุ่น คือ คาชิมา อันท์เลอร์ส

อีกหนึ่งคนที่ได้ประโยชน์ จากสัญญาใจระหว่างสโมสร กับนักเตะ คือ ชินจิ คางาวะ … ดาวเตะชื่อดังรายนี้ ย้ายจากเซเรโซ โอซากา ไปอยู่กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ด้วยราคาเพียง 350,000 ยูโรเท่านั้น จากข้อตกลงที่สโมสรเซเรโซ ทำร่วมกับอดีตแข้งทีมเสือเหลืองรายนี้

คางาวะ เหมือนกับ ฮอนดะ เขามีฝีเท้าโดดเด่นตั้งแต่สมัยเล่นฟุตบอลเยาวชน และเขาได้รับการเสนอสัญญาจากเซเรโซ โอซากา ซึ่งยอดทีมจากแคว้นคันไซ ได้สัญญากับคางาวะว่า ถ้าเซ็นสัญญากับเรา จะใส่ค่าฉีกสัญญา สำหรับทีมในยุโรป เพื่อให้คางาวะย้ายทีมตามที่ต้องการ ในราคาแค่ 350,000 ยูโรเท่านั้น

สุดท้ายคางาวะ ได้ย้ายทีมในราคาสุดจะถูก ไปอยู่กับดอร์ทมุนด์ สโมสรดังในเยอรมัน ตามความฝัน … แม้ว่าจะเป็นราคาการย้ายตัว ที่ไม่สมกับฝีเท้าของคางาวะ แม้แต่น้อย 

ทว่าสุดท้าย นี่คือธรรมเนียมปฏิบัติของสโมสรฟุตบอลในญี่ปุ่น พวกเขายอมจะเสียนักเตะในราคาแสนถูก เพื่อโอกาสในการได้ผู้เล่นฝีเท้าดี อนาคตไกลมาร่วมทีม 


Photo : www.japantimes.co.jp

ขณะเดียวกันการย้ายออกไปต่างแดนของแข้งเยาวชน คือการพัฒนาคุณภาพของฟุตบอลญี่ปุ่นไปในตัว หากนักเตะญี่ปุ่นจะไปเล่นที่ยุโรป ต้องเล่นในเจลีกกับต้นสังกัดเดิมให้ดีเสียก่อน 

สุดท้าย ทั้งสโมสรได้นักเตะที่ต้องการพัฒนาฝีเท้าตลอดเวลา เมื่อนักเตะย้ายออกนักเตะก็ได้ยกระดับฝีเท้า และทั้งหมดนำไปสู่ การก้าวไปอีกขั้น ของฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น

ดังนั้นการยอมเสียสละเงินค่าตัวนักเตะ ของสโมสรฟุตบอลญี่ปุ่น นำมาสู่โอกาสในการพัฒนาวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ที่มีคุณค่ามหาศาล แม้แต่ตัวเงินไม่สามารถประเมินค่าได้

 

เน้นสร้างไม่เน้นซื้อ

การขายนักฟุตบอลราคาถูก ของสโมสรญี่ปุ่น ส่งผลดีอย่างมากกับวงการฟุตบอลในประเทศ แต่ในทางกลับกัน ท่ามกลางโลกฟุตบอลยุคใหม่ ที่ทุกอย่างเป็นธุรกิจ การยอมสูญเสียเงินหลายสิบล้าน ซึ่งควรเป็นรายได้ของสโมสร คือทางเลือกที่คุ้มค่าของทีมฟุตบอลแล้วหรือ ?


Photo : www.jfa.jp

เราจึงต้องย้อนกลับไปดูรากฐานของฟุตบอลญี่ปุ่น นั่นคือแผนการ 100 ปี ซึ่งเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า การพัฒนาวงการลูกหนัง ให้ก้าวขึ้นมาเป็นระดับโลก ต้องสร้างรากฐานมาจากการปั้นเยาวชน ไม่ใช่การทุ่มซื้อ

แนวทางที่วงการฟุตบอลแดนซามูไรใช้ ในการหานักเตะเข้าสู่สโมสร คือการพัฒนาผู้เล่นจากเยาวชน เริ่มต้นจากสร้างความผูกพัน ระหว่างฟุตบอล กับชุมชน เพื่อให้เยาวชนมีความฝันอยากเป็นนักเตะอาชีพ 

“ฟุตบอลยังเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในหมู่เยาวชนญี่ปุ่น … การเป็นนักเตะในเจลีก คือความฝันที่เด็กชายญี่ปุ่น อยากเป็นมากที่สุด” มิตซึรุ มุราอิ ประธานฟุตบอลเจลีก กล่าวถึงความสำคัญที่ต้องส่งนักเตะ ไปเล่นต่างแดน

ผลที่ตามมาคือ เด็กญี่ปุ่นจำนวนมาก พร้อมเข้าสู่กระบวนการสร้างนักฟุตบอล ทำให้แต่ละสโมสรมีทางเลือกมาก ที่จะหาเพชรเม็ดงามเข้าสู่ทีม และสร้างนักเตะผ่านแนวทางของสโมสร ตั้งแต่เป็นเเข้งเยาวชน โดยไม่ต้องไปเสียเงินซื้อนักเตะราคาแพง เข้ามาจากต่างแดน

ญี่ปุ่น มีความทะเยอทะยาน พวกเขาเชื่อสุดใจว่า แนวทางการพัฒนาเยาวชน คือหนทางการพัฒนาให้เจลีก แข็งแกร่งเท่ากับลีกชั้นนำในยุโรป ไม่ใช่ในแง่ของค่าตัวนักเตะ หรือชื่อเสียงผู้เล่น แต่เป็นคุณภาพนักเตะในชาติ ที่สักวันแข้งแดนซามูไร ต้องเก่งไม่ต่างจากนักเตะเยอรมัน หรือสเปน

ด้วยเหตุนี้ สโมสรเจลีก จึงไม่จำเป็นที่จะต้องหาเงิน ซื้อนักเตะราคาแพง เข้ามาแทนผู้เล่นฝีเท้าดี ซึ่งถูกขายไปในราคาสุดถูก เพราะสามารถสร้างขึ้นมาแทนได้ ผ่านระบบเยาวชนของทุกสโมสร ซึ่งถูกสร้างอย่างเป็นระบบ จากการวางแผนที่ดีขอวงการฟุตบอลญี่ปุ่น

การส่งนักเตะไปค้าแข้งต่างแดน คือหนึ่งในกระบวนการสำคัญ ที่สโมสรฟุตบอลญี่ปุ่น ใช้พัฒนานักเตะของตัวเอง กับการสร้างแรงจูงใจ ในการยกระดับฝีเท้า


Photo : www.thisisanfield.com

เราไม่ได้เห็นทีมในเจลีก ซื้อนักเตะราคาแพงแบบ ไชนีส ซุเปอร์ ลีก แต่เจลีกยังคงเป็นสุดยอดลีก ด้วยเรื่องคุณภาพของนักเตะ และวิธีการเล่น เพราะนักเตะฝีเท้าเยี่ยมของทีม ไม่ใช่ผู้เล่นต่างชาติ แต่เป็นนักเตะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแกนหลักของทีม

ขณะเดียวกัน การเซ็นสัญญานักเตะค่าเหนื่อยแพงเข้าสู่ทีม ไม่ได้รับประกันถึงความสำเร็จเสมอไป ดังกรณีของ วิสเซิล โกเบ ที่เซ็นนักบอลระดับโลกเข้าสู่ทีมติดต่อกันหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ลูคัส โพโดลสกี, อันเดรส อิเนียสตา, ดาบิด บีญา, เซร์จี แซมเปร์ และ โธมัส แฟร์มาเลน แต่กลับได้แชมป์ เอมเพอร์เรอร์ คัพ มาครองแค่สมัยเดียวในปี 2019 จาก 3 ฤดูกาลหลังสุด ที่สโมสรเริ่มดึงผู้เล่นชั้นนำเข้าสู่ทีม ส่วนฟุตบอลลีก พวกเขาจบได้สูงสุดเพียงอันดับ 8 เท่านั้น

สำหรับฟุตบอลเจลีก ผู้เล่นต่างชาติที่จะเข้ามาในทีม ถูกมองเรื่องการเข้าระบบ และโอกาสในการช่วยพัฒนาฝีเท้าของผู้เล่นญี่ปุ่น มากกว่าชื่อเสียงในอดีต 

สโมสรส่วนใหญ่ จึงเลือกเซ็นสัญญา นักฟุตบอลโนเนมจากบราซิล ที่ไม่เคยมีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน แต่กลับทำผลงานได้ดีอย่างน่าประหลาด เมื่อย้ายมาเล่นที่เจลีก ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผล ที่ทีมฟุตบอลในญี่ปุ่น ต้องขายนักเตะราคาแพง เพื่อนำเงินก้อนไปซื้อนักเตะราคาแพง มาอีกต่อหนึ่ง ในเมื่อสามารถหานักเตะต่างชาติ ฝีเท้าดีราคาถูกได้เช่นกัน


Photo : nofootynolife.blog.fc2.com

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นได้รับประโยชน์จากการสร้างเยาวชน สามารถส่งนักเตะไปเล่นต่างชาติได้ต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องปิดโอกาสนักเตะ หรือขายราคาแพง เพราะการย้ายออกของผู้เล่น เท่ากับการเปิดโอกาสให้นักเตะเยาวชน ได้โอกาสลงสนามพัฒนาตัวเอง กับเกมคุณภาพบนเวทีเจลีก

สุดท้าย โลกฟุตบอลยุคปัจจุบัน ถูกปกคลุมด้วยธุรกิจ การซื้อนักเตะคุณภาพดี จึงกลายเป็นภาพจำว่า ต้องซื้อขายในราคาแพงเท่านั้น … แต่ญี่ปุ่น ได้แสดงสิ่งที่ต่างออกไป เม็ดเงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด เท่ากับการพัฒนาคุณภาพของวงการลูกหนังในประเทศ ที่ทุกคนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook