Asian Mist : สารพิษในวงการมวยปล้ำ ภาพแทนของปีศาจชาวเอเชียในอเมริกา

Asian Mist : สารพิษในวงการมวยปล้ำ ภาพแทนของปีศาจชาวเอเชียในอเมริกา

Asian Mist : สารพิษในวงการมวยปล้ำ ภาพแทนของปีศาจชาวเอเชียในอเมริกา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เสน่ห์ของกีฬามวยปล้ำ ไม่จำกัดแค่ท่าทางในรูปแบบศิลปะการต่อสู้ แต่รวมถึงลูกตุกติก ที่นักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมนำออกมาใช้ เพื่อคว้าชัยชนะ และเรียกเสียงโห่จากผู้ชม

สำหรับนักมวยปล้ำเอเชียในสหรัฐอเมริกา ไม่มีกลเม็ดไหนได้รับความนิยมมากกว่า "Asian Mist" หรือ "สารพิษ" ที่พ่นใส่หน้าคู่ต่อสู้ แต่คุณเคยฉุกคิดหรือไม่ว่า ทำไมชาวเอเชียต้องใช้สารพิษ แล้วที่มาของอาวุธชนิดนี้มากจากไหน ?
 
Main Stand พาคุณค้นหาสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง Asian Mist สารพิษในวงการมวยปล้ำ ตั้งแต่ความหมายของพิษแต่ละสี จนถึงการแสดงภาพแทนของปีศาจจากโลกตะวันออก ที่ชาวอเมริกาหวาดกลัว

ต้นกำเนิดพิษสีเขียว

หากถามว่า Asian mist ถือกำเนิดในวงการมวยปล้ำตั้งแต่เมื่อไร ? คำตอบคือ เกือบ 40 ปีที่ผ่านมา แม้จะบอกชัดเจนว่า นี่คืออาวุธลับจากทวีปเอเชีย แต่ความจริง Asian Mist มีต้นกำเนิดจากประเทศสหรัฐอเมริกา จากไอเดียของโปรโมเตอร์รายหนึ่ง ที่ต้องการสร้างคาแรกเตอร์นักมวยปล้ำชาวญี่ปุ่น ที่แข็งแกร่งดุจดั่งปีศาจ


Photo : www.kayfabenews.com

ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1980s หนึ่งในค่ายมวยปล้ำที่โด่งดังที่สุดในสหรัฐอเมริกา คือ World Class Championship Wrestling หรือ WCCW สมาคมมวยปล้ำหมายเลขหนึ่งในรัฐเท็กซัส ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของค่ายแห่งนี้คือ แกรี ฮาร์ท บุ๊คเกอร์ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล โดยเฉพาะการสร้างคาแรกเตอร์นักมวยปล้ำที่น่าสนใจ

ในช่วงเวลานั้น พระเอกของ WCCW คือ พี่น้องตระกูล วอน อีริช เด็กหนุ่มจากเท็กซัสที่แสดงภาพความฝัน และความหวังของชาวเมือง การจะหาวายร้ายสักคนเข้ามาเติมเต็ม นักมวยปล้ำจากต่างชาติย่อมเป็นอะไรที่เหมาะสม แกรี ฮาร์ท ตระเวนหาคนที่ใช่ จนพบกับ อากิฮิสะ เมระ นักมวยปล้ำชาวญี่ปุ่นที่เดินสายในเมืองแคนซัส ซิตี ภายใต้ชื่อ Takachiho

แกรี ฮาร์ท ประทับใจฝีมือการปล้ำของเมระ แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายคือคาแรกเตอร์ เขาพบว่า ความเกลียดชังที่ชาวอเมริกันมีต่อคนญี่ปุ่น นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่เพียงพออีกต่อไป แกรี ฮาร์ท ต้องเปลี่ยนนักมวยปล้ำญี่ปุ่น ให้กลายเป็นปีศาจ ฝันร้ายที่ชาวตะวันตกเคยหวาดกลัว เหมือนหลายสิบปีก่อน

อากิฮิสะ เมระ จึงถูกเปลี่ยนโฉมกลายเป็น เดอะ เกรท คาบูกิ (The Great Kabuki) นักมวยปล้ำลึกลับจากประเทศญี่ปุ่น ที่ได้แรงบันดาลใจจากละครคาบูกิ ที่แกรี ฮาร์ท เคยรับชมตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น เขาสร้างคาแรกเตอร์ให้ดูน่าสนใจ โดยบอกว่า ไม่มีใครรู้ความเป็นมาของเดอะ เกรท คาบูกิ ทราบแต่เพียงว่า นักมวยปล้ำรายนี้มีแผลเป็นจากการถูกไฟไหม้บนใบหน้า จึงต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา และจะถอดมันยามขึ้นปล้ำเท่านั้น


Photo : ringthedamnbell.wordpress.com

คาแรกเตอร์ เดอะ เกรท คาบูกิ ถูกสร้างให้มีความน่ากลัวเท่าที่จะทำได้ ถึงอย่างนั้น แกรี ฮาร์ท มองว่า รูปลักษณ์ภายนอกไม่เพียงพอ เขาจึงสร้าง Dokugiri (แปลว่าหมอกพิษในภาษาญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นสารพิษสีเขียวที่สร้างความเจ็บปวดมหาศาลแก่คู่ต่อสู้ ให้กลายเป็นอาวุธลับของ เดอะ เกรท คาบูกิ เอาไว้ใช้จัดการนักมวยปล้ำรายอื่น

ทันทีที่ เดอะ เกรท คาบูกิ พ่นสารพิษใส่หน้า ฟริตซ์ วอน อีริช เขากลายเป็นนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมที่น่ากลัวที่สุดในสหรัฐอเมริกา ผู้คนทั่วประเทศต้องการชมปีศาจจากญี่ปุ่นรายนี้ เดอะ เกรท คาบูกิ จึงตระเวนปล้ำทั่วประเทศ ไล่ตั้งแต่ WCCW, Georgia Championship Wrestling จนถึง Mid-Atlantic Championship Wrestling หนึ่งในค่ายมวยปล้ำที่โด่งดังที่สุดของสหรัฐอเมริกา


Photo : aminoapps.com

การปรากฎตัวของ เดอะ เกรท คาบูกิ ใน Mid-Atlantic Championship Wrestling ค่ายมวยปล้ำคู่แข่งอย่าง WWF รู้ทันทีว่าพวกเขาต้องทำอะไร วินซ์ แม็คแมน สร้างคาแรกเตอร์ คิลเลอร์ ข่าน นักมวยปล้ำชาวมองโกล ที่ภาพลักษณ์ต่างจาก เดอะ เกรท คาบูกิ ลิบลับ สิ่งเดียวที่เหมือนกันคือ คิลเลอร์ ข่าน พ่นสารพิษสีเขียวออกจากปาก

ความโด่งดังของ เดอะ เกรท คาบูกิ และ Asian Mist ส่งผลให้ภาพจำของนักมวยปล้ำญี่ปุ่น ต่อคนอเมริกันในช่วงเวลานั้น คือปีศาจร้ายที่ลึกลับ และน่ากลัว ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของพวกเขา ที่นักมวยปล้ำญี่ปุ่นถูกเชิดชูเป็นฮีโร่ ด้วยคาแรกเตอร์เหนือจินตนาการ เช่น หน้ากากเสือ หรือ จูชิน ทันเดอร์ ไลเกอร์ 

 

ความหมาย และวิธีใช้

เดอะ เกรท คาบูกิ โบกมือลาประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปลายยุค 80s เพื่อกลับไปหากินที่ญี่ปุ่น เหตุการณ์นี้คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ การใช้ Asian Mist กระจายตัวไปทั่วโลก เมื่อ เดอะ เกรท คาบูกิ ดำเนินคาแรกเตอร์ของเขาในบ้านเกิดต่อไป ขณะเดียวกัน มีการสร้างนักมวยปล้ำรายใหม่ชื่อว่า เดอะ เกรท มูตา (The Great Muta) ก้าวขึ้นมาสานต่อความยิ่งใหญ่ของเขา ในดินแดนตะวันตก


Photo : lastwordonprowrestling.com

ด้วยเหตุนี้ Asian mist จึงเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เคยมีแค่สีเขียว ไม่นานนัก แฟนมวยปล้ำทั่วโลก เริ่มเห็นสารพิษสีแดง, สีดำ จนถึง สีเหลือง ตามการใช้งาน และคาแรกเตอร์มวยปล้ำที่แตกต่างกันไป กลายเป็นคำถามที่แฟนบางคนสงสัย ว่าแต่ละสีมีความหมายแตกต่างกันอย่างไร

กล่าวตามความจริง การเปลี่ยนสีของ Asian Mist ไม่มีความหมายอะไรพิเศษ นอกจากเปลี่ยนสีผสมอาหารที่ใช้ผสม แต่ถ้ามองผ่านมุมของเนื้อเรื่องในโลกมวยปล้ำ (Kayfabe) Asian Mist ออกฤทธิ์เล่นงานคู่ต่อสู้แตกต่างกัน ตามแต่ละสีที่ออกมา โดยมีความหมายดังต่อไปนี้

สีเขียว – ใช้เพื่อบดบังการมองเห็นของคู่ต่อสู้ เป็นสารพิษที่ใช้ง่าย และพบเห็นบ่อยที่สุด
สีแดง – ใช้เพื่อทำให้คู่ต่อสู้รู้สึกแสบร้อนบริเวณดวงตา เป็นพิษที่รุนแรงกว่าสีเขียว
สีดำ – ใช้เพื่อเล่นงานให้คู่ต่อสู้ตาบอดชั่วขณะ ออกฤทธิ์ตั้งแต่ไม่กี่นาทีจนถึงหลายสัปดาห์ เป็นพิษที่รุนแรงกว่าสีเขียว
สีน้ำเงิน – ใช้เพื่อเล่นงานคู่ต่อสู้ให้สลบฉับพลัน
สีเหลือง – ใช้เพื่อทำให้คู่ต่อสู้เป็นอัมพาตชั่วขณะ
สีม่วง – ใช้เพื่อลบความทรงจำคู่ต่อสู้ หรือทำให้คู่ต่อสู้บกพร่องทางจิตชั่วขณะ


Photo : @JimmySuzuki1

แตกต่างจากอัศวินเจไดกับไลท์เซเบอร์ นักมวยปล้ำไม่ต้องจำกัดตัวเองว่าแต่ละคนต้องใช้พิษสีไหน Asian Mist สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามรูปแบบการใช้งานที่กล่าวไป ยกตัวอย่าง กรณีของ ทาจิริ (Tajiri) นักมวยปล้ำญี่ปุ่นชื่อดังที่มักใช้พิษสีเขียว เล่นงานคู่ต่อสู้ในแมตช์ทั่วไป


Photo : www.wwe.com

แต่ในแมตช์ที่เขาชิงแชมป์ครุยเซอร์เวตจาก เรย์ มิสเตริโอ ทาจิริ ใช้พิษสีแดงเพื่อเพิ่มความรุนแรง เช่นเดียวกับตอนใช้พิษสีดำเล่นงานใส่ นิเดีย นักมวยปล้ำหญิงตัวแสบ ด้วยเจตนาทำให้เธอตาบอดนานหลายสัปดาห์ เห็นได้ว่า ทาจิริ เลือกใช้พิษแตกต่างตามเป้าหมายที่ต้องการเล่นงาน

ความอัศจรรย์ของ Asian Mist ไม่จำกัดแค่ความหมาย แต่รวมถึงวิธีการใช้ อันถือเป็นศิลปะของศาสตร์กีฬามวยปล้ำ นักมวยปล้ำต้องแอบนำแคปซูลบรรจุพิษ เข้าปากในจังหวะที่คนดูไม่สังเกต โดยแคปซูลบรรจุพิษสามารถซ่อนไว้กับใครก็ได้ ตั้งแต่ นักมวยปล้ำ, กรรมการ หรือ ตามส่วนต่าง ๆ ของเวที กระทั่งถึงเวลาที่นัดแนะไว้ ผู้ใช้งาน Asian Mist จึงหยิบนำมันเข้าปากอย่างแนบเนียน ก่อนพ่นใส่หน้าคู่ต่อสู้ ซึ่งถือจุดไคลแมกซ์ของแมตช์การปล้ำ ช่วงเวลาที่ทุกคนตั้งตารอ

 

พิษร้ายจากเอเชีย

Asian Mist ยังคงการใช้งานอย่างแพร่หลายถึงปัจจุบัน ทั้งในสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยบริบทเบื้องหลังการใช้งานในแต่ละประเทศ แตกต่างกันไป ในประเทศญี่ปุ่น Asian Mist ไม่มีความหมายมากกว่า "อาวุธของตัวโกง" ยกตัวอย่างค่าย New Japan Pro Wrestling (NJPW) ที่สร้างคาแรกเตอร์นักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมให้มีอาวุธ หรือท่ามวยปล้ำสกปรกประจำตัว เอาไว้ใช้เล่นงานคู่ต่อสู้อย่างน้อยคนละ 1 ท่า


Photo : 411mania.com

นักมวยปล้ำที่ที่ใช้งาน Asian Mist ใน NJPW คือ บูชิ นักมวยปล้ำหน้ากาก สังกัดทีม Los Ingobernables de Japon การพ่นพิษของนักมวยปล้ำรายนี้ ไม่มีความแตกต่างจาก การพ่นเหล้าของ โยชิโนบุ คาเนมารุ นักมวยปล้ำสังกัด Suzuki-gun เพียงแค่เปลี่ยนสิ่งของที่ใช้ "โกง" คู่ต่อสู้ ให้แตกต่างตามคาแรกเตอร์ของนักมวยปล้ำ

สำหรับมวยปล้ำในสหรัฐอเมริกา Asian Mist ถือเป็นภาพแทนชาวเอเชียที่เป็นผู้ร้ายเหมือนเคย แม้ไม่เสนอภาพรุนแรงเป็นปีศาจ แต่การใช้ Asian Mist ช่วยเพิ่มความรุนแรงในคาแรกเตอร์ของนักมวยปล้ำ เห็นได้ชัดจากกรณีที่ อาสึกะ นักมวยปล้ำหญิงชาวญี่ปุ่น เริ่มต้นพ่นสารพิษใส่คู่ต่อสู้ ทันทีที่พลิกบทบาทเป็นฝ่ายอธรรม แทนที่จะใช้แทคติกนี้ ตั้งแต่เร่มต้นที่เธอยังเป็นฝ่ายธรรมะ


Photo : slicewrestling.com

Asian Mist ไม่จำกัดการใช้แค่ชาวญี่ปุ่น แต่ยังรวมถึงนักมวยปล้ำตะวันตกบางราย ที่มีความเกี่ยวพันกับประเทศนั้น ยกตัวอย่าง ลอร์ด เทนไซ นักมวยปล้ำร่างใหญ่ชาวอเมริกัน ที่เคยปล้ำใน New Japan Pro Wrestling ช่วงปี 2006 – 2012 ด้วยคาแรกเตอร์นักมวยปล้ำที่ฝึกวิชาจนแก่กล้าจากญี่ปุ่น เขาใช้งาน Asian Mist เล่นงานใส่คู่ต่อสู้ใน WWE


Photo : www.wwe.com

ทั้งที่ความจริง ลอร์ด เทนไซ หรือ ไจแอนท์ เบอร์นาร์ด ไม่เคยใช้สารพิษเลย ตลอดระยะเวลา 6 ปี ใน NJPW แต่ทันทีที่เปิดตัวในฐานะนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมจากญี่ปุ่น WWE เลือกให้เขาใช้ Asian Mist เพราะมันสอดคล้องกับคาแรกเตอร์ "ภัยพิบัติจากโลกตะวันออก" ของลอร์ด เทนไซ

Asian Mist พิษร้ายจากทวีปเอเชีย จึงไม่ใช่แค่อาวุธที่นักมวยปล้ำหยิบเข้าปาก และพ่นใส่หน้าคู่ต่อสู้ แต่เป็นสัญลักษณ์แสดงเห็นถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมของสองซีกโลก ตราบใดที่ชาวตะวันตกยังคงมีความหลงไหล ความไม่เข้าใจ หรือกระทั่งความหวาดกลัวต่อวัฒนธรรมเอเชีย Asian Mist จะยังคงอยู่ในวงการมวยปล้ำ เพื่อเป็นตัวแทนของภาพเหล่านั้นบนสังคมโลก ตราบนานเท่านาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook