ไทสัน ฟิวรี่ vs มิคกี้ โอนีล จาก Snatch : ใครกันแน่ "มวยสไตล์ยิปซี" ที่แท้จริง ?
ไทสัน ฟิวรี่ ถือเป็นนักมวยรุ่นเฮฟวี่เวตที่เก่งที่สุดในยุคปัจจุบัน ด้วยการถือเข็มขัดแชมป์โลกอย่างสง่าผ่าเผยจากการคว่ำ ดีออนเตย์ ไวล์เดอร์ และอีกหลาย ๆ คนมาแล้ว
อย่างไรก็ตามจุดขายของนักชกที่ได้ฉายาว่า "ยิปซีคิง" ไม่ใช่แค่เรื่องฝีมือเท่านั้น แต่มันรวมถึงไลฟ์สไตล์ไม่ว่าจะในหรือนอกเวที ที่ใครเห็นก็ต้องจำได้ และเขาเรียกมันว่า "การสู้แบบยิปซี"
สิ่งนี้เองที่ทำให้หลายคนเกิดคำถาม "สู้แบบยิปซีคืออะไร ?" และก่อนหน้าที่ ฟิวรี่ จะแจ้งเกิด มีหนังเรื่อง Snatch (ทีเอ็งข้าไม่ว่า ที่ข้าเอ็งอย่าโวย) ที่ชูบทบาทนักชกยิปซีให้รู้จักในวงกว้าง โดยนักมวยคนนั้นคือ มิคกี้ โอนีล ที่รับบทโดย แบรด พิตต์
คำถามคือ ทำไม ฟิวรี่ ที่อ้างตนว่าเป็นยิปซีคิง ถึงไม่ต่อยเหมือนกับยิปซีพันธุ์แท้อย่าง มิคกี้ โอนีล เราจะหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันที่นี่
เป็นยิปซี ต้องเป็นมวย
ใครว่าพื้นเพต้นกำเนิด บอกนิสัยและตัวตนไม่ได้ ... จริงอยู่ที่หลายคนเกิดมาจากแหล่งอโคจร แต่เติบโตขึ้นมาเป็นคนดีมีคุณภาพและประสบความสำเร็จ นั่นก็เพราะว่าพวกเขาพยายามมากกว่าคนที่มีพื้นเพต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกันหลายเท่า และสุดท้ายพวกเขาสามารถหนีสภาพแวดล้อมในอดีตได้
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่จะไม่จากพวกเขาไปไหน นั่นคือความทรงจำ ... คนรวยและประสบความสำเร็จหลายคนบนโลกนี้ มักจะเล่าย้อนถึงอดีตที่ยากลำบากของตัวเองอย่างภาคภูมิใจ เพราะมันเหมือนเป็นการยืนยันว่าพวกเขาต้องสู้ขนาดไหนกว่าจะมายืน ณ จุดที่เป็นอยู่ ดังนั้น "ความทรงจำ" ที่ติดตัวมาตลอด ก็จะเป็นเครื่องตอกย้ำเสมอว่า ไม่ว่าอดีตจะดีหรือแย่ เราไม่มีทางหนีมันพ้น เพราะมันได้เกิดขึ้นไปแล้วนั่นเอง
Photo : www.insider.com
ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือ ไทสัน ฟิวรี่ นักชกเฮฟวี่เวตแชมป์โลกคนปัจจุบัน ที่ถูกเรียกว่า "ยิปซีคิง" นั้น มักจะเล่าถึงพื้นเพของตัวเองด้วยความภูมิใจเสมอ แม้ว่าคำว่า "ยิปซี" จะไม่ใช่คำที่ดีนัก และถูกมองในเชิงหยามเหยียดเสียมากกว่า แต่ ฟิวรี่ บอกว่า เพราะความเป็นยิปซีนี่แหละ ที่ทำให้เขามาไกลได้ขนาดนี้
"ต่อให้รวยล้นฟ้ามีเงินในกระเป๋าหลายสิบล้านปอนด์ ผมยังคงเป็นยิปซีคนเดิม ขอแค่รถคาราวานไว้ซุกหัวนอนผมก็นอนหลับได้สบายมาก" ฟิวรี่ ยืนยันตัวตนของเขา
ยิปซี นั้นมีตำนานหลากหลายที่บันทึกไว้ บ้างก็ว่ามาจากอินเดีย บางตำราก็บอกมาจาก อียิปต์ ดังนั้นเรื่องต้นสายปลายเหตุที่ไม่แน่ชัดเราจะขอตัดทิ้งไปและพูดถึง "ยิปซี" ในบริบทของ ไทสัน ฟิวรี่ รวมถึงคู่เปรียบของเขาในวันนี้อย่าง มิคกี้ โอนีล จากภาพยนตร์เรื่อง Snatch ที่รับบทโดยดาราเจ้าบทบาทอย่าง แบรด พิตต์ เท่านั้น
ยิปซี ในเส้นทางของทั้งคู่หมายถึงชาวไอร์แลนด์ ที่อพยพเข้ามาเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศอังกฤษเมื่อ 100 กว่าปีก่อนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดย ณ เวลานั้นมีชาวไอริช เข้ามาราว 40,000 คน ก่อนที่พวกเขาจะมีความคิดไม่ตรงกันและแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งแรกคือกลุ่มที่เลือกจะตั้งรกรากเป็นหลักแหล่ง ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งที่ผิดใจกันจึงเลือกอีก 1 เส้นทาง นั่นคือการออกเดินทางไปทั่ว ย้ายถิ่นฐานไปเรื่อย ๆ และใช้ชีวิตอย่างอิสระ ซึ่งฝ่ายหลังนั้นเองที่ถูกเรียกว่าพวกยิปซี
Photo : www.historytoday.com
การเลือกเส้นทางของ ยิปซี นั้นแน่นอนว่ามันส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขามาก การอยู่ไม่ติดที่ทำให้ยากที่จะทำงานและหาเงินได้มากพอกับความต้องการ รวมไปถึงสำหรับเด็กๆที่ไม่สามารถเข้าเรียนตามโรงเรียนได้ปกติ นั่นจึงทำให้ชาวยิปซีส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มีการศึกษาน้อย นอกจากนี้พวกเขายังเป็นพวกใจร้อน ชอบใช้ความแข็งแกร่งและกำลังในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ
นั่นเองทำให้คนเมือง (ชาวอังกฤษ) ส่วนใหญ่มองว่าพวกยิปซี เป็นชนชั้นล่าง ไม่อยากสุงสิงด้วย ด้วยเหตุผลหลายๆเรื่องทั้งลักษณะนิสัย,เรื่องโรคภัยไข้เจ็บที่อาจจะเอามาแพร่ต่อใส่คนเมืองได้ ดังนั้นในช่วงยุคแรกที่ ยิปซี เข้ามาในอังกฤษ พวกเขามักจะโดนดูถูกและไม่ได้รับสิทธิ์เยี่ยงคนทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น หลายผับในยุคนั้นไม่เปิดบริการให้พวกยิปซี เป็นต้น
อย่างไรก็ตามทุกสิ่งบนโลกนั้นมีสองด้านเสมอ การโดนมองเป็นคนโง่, ชอบใช้กำลัง และไม่เอาไหน ไม่สามารถลบความจริงที่เกิดขึ้นอีกด้านได้ ด้วยทุกสิ่งที่กล่าวมาความยากลำบากหลอมให้ชาวยิปซีทุกเพศทุกวัยแข็งแกร่ง มีความเป็นนักสู้อยู่ในตัว พวกเขารักพวกพ้อง และถ้าได้สู้เพื่อศักดิ์ศรีชาวยิปซีที่โดนดูถูก พวกเขาไม่เคยกลัวตาย
Photo : sportlife.news
นอกจากความยากลำบากสะท้อนความแข็งแกร่งด้านจิตใจแล้ว สัญชาติญาณการเอาตัวรอดและการเป็นนักสู้ก็ถูกสั่งสมขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขา ชาวยิปซีที่ไม่ได้ทำงานเป็นหลักแหล่งมักจะหาเงินจากการเลี้ยงม้าพันธ์ดี ส่งตามคอกต่าง ๆ ซึ่งกีฬาแข่งม้าเป็นที่นิยมในอังกฤษเป็นอย่างมาก
และการดูแลม้านั้น ผู้เลี้ยงต้องใช้พละกำลังมากทั้งการพาเดิน พาไปกินหญ้า หาอาหาร รวมถึงการทำงานเกี่ยวกับเหล็กและโลหะที่ใช้ทำเกือกม้าและซ่อมบำรุงรถ "คาราวาน" หรือรถม้าสำหรับเดินทางของพวกเขา
นั่นทำให้ชาวยิปซีมีมัดกล้ามแข็งแรง แม่จะไม่ได้มีร่างกายที่สูงใหญ่ นอกจากนี้ชีวิตประจำวันที่ร่อนเร่เดินเท้าวันละหลายกิโลเมตรก็ช่วยให้ร่างกายของพวกยิปซีแข็งแกร่งขึ้นคูณ 2 นั่นเอง
ในทุกวิกฤตินั้นมีโอกาสเสมอ การที่พวกเขาเป็นพวกชอบตัดสินปัญหาด้วยกำลัง บวกกับการมีร่างกายที่แข็งแรง จึงทำให้เกิดอาชีพใหม่ขึ้นมาของพวกยิปซี ที่สามารถทำเงินได้มากพอๆกับการเลี้ยงม้า นั่นคือการเป็นนักมวย หรือแม้กระทั่งการเป็นนักสู้รับจ้าง กล่าวคือใครที่คิดจะก่อสงครามแก๊งแต่ไม่มีกำลังรบ สามารถเอาเงินมาจ้างพวกยิปซีให้ไปสู้กับฝั่งตรงข้ามแทนนั่นเอง โดยเทคนิคการชกของยิปซี นั้นคือการชกที่เรียกว่า "ไอริชสไตล์" ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในการต่อสู้แบบหมัดเปล่า
Photo : manofmany.com
"เด็กที่อื่นอาจจะเริ่มจากการหัดเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุยังน้อย แต่พวกเราชาวยิปซี ทันทีที่เริ่มรู้ความพวกเราจะชกกันด้วยหมัดเปล่า ๆ เมื่อเราทะเลาะกันหรือมีปัญหาเราไม่เคยแจ้งความกับตำรวจ วิธีแก้ปัญหาของพวกเขาคือการถอดเสื้อและออกมาชกกันให้รู้ดำรู้แดงไปเลย" ไทสัน ฟิวรี่ กล่าว
ไม่ว่าจะลูกเด็กเล็กแดง หรือแก่แค่ไหน ชาวยิปซีล้วนเคยผ่านการชกกันแบบหมัดเปล่ามาแล้วทั้งนั้น ความคลาสสิกส่งต่อกันมาหลายปีจนกลายเป็นสไตล์การชกในแบบของพวกเขา และสไตล์ที่ว่านี้เองที่ ไทสัน ฟิวรี่ เคลมว่าเขาคือคนที่ใช้มันและคว้าแชมป์โลกมาครองได้สำเร็จ
"การชกมวยถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมการเดินทางของชาวยิปซี ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร แต่เมื่อคุณคือยิปซี สิ่งแรกที่คุณต้องเรียนรู้คือการต่อสู้" ฟิวรี่ อธิบาย
ยิปซีสไตล์ เดินหน้าฆ่าไม่เลี้ยง
อย่างที่ได้กล่าวไว้ ยิปซีสไตล์ นั้นมีต้นกำเนิดมาจากมวยหมัดเปล่า ซึ่งชาวยิปซีก็สู้แบบนั้นมานานนม พวกเขาฝึกหัดต่อสู้ตั้งแต่เด็กผ่านวัฒนธรรมแบบไม่รู้ตัว และการถูกสอนให้สู้ ไม่ได้ถูกสอนให้เป็นนักมวยสากล จึงทำให้การต่อสู้ของนักมวยที่เป็นชาวยิปซีลักษณะเฉพาะตัว แน่นอนว่าไอ้บู๊มันบู๊แน่นอนอยู่แล้ว แต่การบู๊แบบยิปซี ต่างกับการบู๊แบบเม็กซิโก อยู่บางประการ
การบู๊ของนักมวยเม็กซิโกที่มีพื้นฐานมาจากความใจสู้เดินบุกแหลกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการบู๊แบบมีเชิง เน้นทักษะการหลบหลีกและปล่อยหมัดที่ว่องไว เจ็บตัวให้น้อยต่อยให้มาก จะว่าอย่างนั้นก็คงไม่ผิดนัก
Photo : www.essentiallysports.com
แต่สำหรับการชกแบบพวกยิปซี คือการบู๊เหมือนกับคนไม่มีอะไรจะเสีย มันเหมือนกับการตั้งโปรแกรมให้เดินเข้าหาคู่ชกอย่างเดียว แทบไม่มีการประเมินจุดอ่อนจุดแข็งแต่อย่างใด ขอแค่ให้ได้เดินเข้าไปซัดหน้าคู่ชกแบบจังๆแล้วเอาให้ร่วงถือเป็นอันใช้ได้ ตัวเองจะโดนอัดโดนชกบ้าง นั่นเป็นเรื่องปกติ พวกเขาชินกับการกินหมัดเป็นอาหารมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว
ตัวอย่างนักมวยยิปซีพันธุ์แท้แบบตามหลักประวัติศาสตร์ยิปซีเล่ามานั้นไม่ใช่ ไทสัน ฟิวรี่ เพราะมีคนชัดเจนยิ่งกว่าเขาอีกนั่นคือ มิคกี้ โอนีล ตัวละครจากเรื่อง Snatch ที่แสดงโดย แบรด พิตต์ นั่นเอง
Photo : www.planetminecraft.com
มิคกี้ โอนีล ในเรื่องนั้นไม่ใช่คนตัวใหญ่เลย แต่แน่นอนด้วยความเป็นยิปซีเขาจึงมีสไตล์การคิดวิเคราะห์ที่อาจจะน้อยไปสักหน่อย ไม่ว่าจะเจอคู่ชกที่ตัวใหญ่กว่าแค่ไหนเขาจะก็รับเดิมพัน ขอแค่มีเงินเป็นปลายทางก็พอ
แต่จะว่าเขารับข้อเสนอแบบโง่ ๆ ก็ไม่สามารถพูดแบบนั้นได้ เพราะในเรื่องนั้น มิคกี้ สามารถคว่ำคู่ชกที่ตัวใหญ่กว่าได้สบาย ๆ (ถ้าไม่โดนจ้างให้ล้มมวยเสียก่อน) และสิ่งที่ทำให้เขาคว่ำคู่ชกได้ไม่ใช่ความเร็วหรือทักษะมวยที่มากล้น แต่มันคือพลังหมัดและความอึดอดทนของร่างกายตามสไตล์ยิปซีต่างหาก
มีหลายฉากที่ มิคกี้ เป็นฝ่ายโดนคู่ชกที่ตัวใหญ่กว่าเปิดก่อน แต่สุดท้ายหมัดของเขาหนักพอที่จะคุ้มค่าเสี่ยงต่อการบุกเข้าไปชก เพราะว่าสไตล์ของ มิคกี้ นั้นขอจัง ๆ แค่ครั้งเดียวใหญ่แค่ไหนก็ร่วงหมด จนเข้าได้ฉายาว่า "วัน พันช์ มิคกี้" หรือไอ้ยิปซีหมัดเดียวน็อคนั่นเอง
ส่วนเรื่องของความอึดนั้นไม่ต้องพูดถึง มิคกี้ สามารถขึ้นชกได้หลายๆไฟต์ต่อ 1 วันตราบใดที่ผลประโยชน์ลงตัว ซึ่งมันเป็นเรื่องอัศจรรย์มาก เพราะแต่ละไฟต์ของเขาที่ปรากฎในเรื่อง Snatch เขาโดนชกคางและชกหัวที่เป็นจุดตายของนักมวยทุกคน แต่เขากลับแค่สะบัดหน้า 2-3 ที เดินเซ ๆ ตั้งสติพักเดียว มิคกี้ โอนีลล์ ก็ลุกขึ้นมาสู้ต่อได้ตลอดโดยไร้ปัญหา
Photo : www.strengthfighter.com
จริงอยู่ที่นั่นอาจจะเป็นเรื่องของหนัง จะแต่งเรื่องราวให้เว่อร์เท่าไหร่ก็ได้ แต่ตัวละครของ มิคกี้ โอนีล นั้นไม่ได้ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาแบบไม่มีพื้นฐานความเป็นจริง เพราะทุกอย่างที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครนี้ ไม่ว่าจะวิธีคิดที่ไม่มากความและไม่คิดหน้าคิดหลัง ฝีปากที่เผ็ดร้อนและมีความกวนบาทาทุกประโยค รวมถึงวิธีการชกที่ไม่ใช่ต้องการแค่ชัยชนะ แต่ต้องชกในแบบที่ไม่เหมือนใคร อันเป็นสไตล์ที่ไม่ว่ายิปซีคนไหนก็หนีไม่ได้เพราะมันถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่ที่ยังเป็นเด็ก ไม่ว่าจะต้องเจ็บตัวแค่ไหน ถ้าปลายทางคือการได้ซัดหน้าคู่ชกซักครั้ง นั่นถือว่าเป็นสิ่งที่นักมวยยิปซีอย่าง มิคกี้ โอนีล ยอมรับได้อย่างไร้ข้อโต้แย้ง
ยิปซีสไตล์บนโลกแห่งความเป็นจริง
ตัดจากโลกแห่งภาพยนตร์กลับมาที่โลก ณ ปัจจุบัน หากเราเอาการสู้แบบยิปซีสไตล์ของ มิคกี้ โอนีล มาใส่ในโลกแห่งความจริง คงเป็นเรื่องที่เสื่อมเสียประวัติมวยยิปซีเป็นอย่างมาก เพราะในโลกแห่งความจริง การเดินเข้าไปให้นักมวยอีกคนชกเป็นอะไรที่เรียกได้ว่า "งี่เง่า" ที่สุด โดยเฉพาะการชกกันในระดับโลกนั้น หมัดของนักชกแต่ละคนอย่างกับกระสุนปืนใหญ่ ยิ่งรุ่นเฮฟวี่เวตนั้นไม่ต้องพูดถึง "โป้งเดียวดับ" น็อคกันตั้งแต่ยกแรกก็มีให้เห็นกันมากมาย
แต่เราจะบอกว่ายิปซีสไตล์ไร้ประโยชน์ในโลกแห่งความจริงนั้นก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะ ไทสัน ฟิวรี่ คือคนที่ลบคำสบประมาทนั้นด้วยการเป็นแชมป์โลก จากสไตล์ที่เขาเรียกว่า "ยิปซีสไตล์" แม้ไม่บ้าดีเดือดเท่าที่ มิคกี้ โอนีล ทำแต่ในโลกของมวยอาชีพ สิ่งที่ ฟิวรี่ ทำถือว่าเป็นปรากฎการณ์อย่างไม่ต้องสงสัย
Photo : www.boxing247.com
มวยของ ไทสัน ฟิวรี่ เป็นประเภทเดินหน้าฆ่ามันตามตำรับตำรายิปซี แต่สิ่งที่แตกต่างสำหรับนักมวยชาวเมืองแมนเชสเตอร์ ที่มีพื้นเพมาจากมาจากชาวไอริชอพยพในช่วงเกือบ ๆ 100 ปีก่อนและมีบรรพบุรุษเป็นนักมวย รายนี้คือเขาใช้ยิปซีสไตล์ปรับเข้ากับการชกแบบมีชั้นเชิงที่หวังผลถึงชัยชนะได้ ไม่ใช่แค่ชกเอามัน หรือเอาเดิมพันอย่างเดียว
มันเป็นเรื่องของมุมมองและการปรับตัว ไทสัน ฟิวรี่ รู้ว่าสิ่งที่จะทำให้เขาไปได้ไกลกว่าการชกในประเทศคือการเรียนรู้ที่จะหลบหลีกป้องกันที่เป็นจุดบอดของนักชกยิปซี ซึ่งเขาบอกเองเลยว่ามีนักชกยิปซี 2 คนบนโลกนี้เท่านั้นที่สามารถก้าวข้ามการเป็น "มวยนักเลง" สู่ "มวยอาชีพ" ได้
"มีเพียงผมและ บิลลี่ โจ (ซอนเดอร์) เท่านั้นที่ก้าวข้ามาชกในระดับนี้ได้ คุณมีพรสวรรค์นั่นเป็นเรื่องที่ดี แต่คุณต้องมีวินัยและทุ่มเทให้กับงานของคุณด้วย ตอนนี้ผมคือพวกยิปซีที่โดนฝึกให้มีวินัยแล้วนั่นเอง" ฟิวรี่ กล่าว
วันเวลาเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย เมื่อเข้าสู้ยุคปัจจุบันคำว่า ยิปซี หรือพวกเร่ร่อนไปตามที่ต่างเรื่อย ๆ ก็แทบไม่มีปรากฎแล้ว โลกยุคใหม่บีบให้ทุกชีวิตต้องสู้ในแบบของตัวเอง อย่างน้อยๆชาวยิปซีหลายครอบครัวในแมนเชสเตอร์ และลอนดอน ก็เลือกที่จะลงหลักปักฐานสร้างฐานะให้มั่นคงต่างจากในอดีตที่โดนหยายามเหยียดทั้งเรื่องวิถีชีวิตและการศึกษา ซึ่ง ไทสัน ฟิวรี่ เองก็เช่นกัน เขาไม่ได้ร่อนเร่อีกต่อไป เพียงแต่เขาตกตะกอนความเป็นยิปซีเอาไว้กับตัวเองในแง่ของวิธีการสู้ที่เน้นเรื่องการน็อคคู่แข่งให้ได้ และเอามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิถีของโลกปัจจุบันนั่นเอง
ทุกคนรู้ดีว่า ฟิวรี่ นั้นไม่ธรรมดา นอกจากสไตล์การชกที่เป็นมวยห้าวต่อยไม่มีหมดแล้ว ชั้นเชิงของเขาก็ไม่ธรรมดา การเอาชนะ วลาดิเมียร์ คลิทช์โก้ เมื่อ 4 ปี ก่อนตอบแทนคำกล่าวทั้งหมดได้เป็นอย่างดี เขาอาจจะลดความหนักของหมัดไปบ้าง แต่เรื่องของความเร็วและเทคนิคของ ไทสัน ฟิวรี่ ถือว่าเป็นมวยเบอร์ต้น ๆ ของโลกเฮฟวี่เวต ตอนนี้แน่นอน ยิ่งรวมกับส่วนสูงและช่วงในการปล่อยหมัดที่ยาวมาก ยิ่งทำให้เขาได้เปรียบคู่ชกอีกไม่น้อยเลยทีเดียว
การชกของ ฟิวรี่ ชี้ชัดว่ายุคนี้สำหรับมวยเฮฟวี่เวตแค่หนักอาจไม่พอ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของเขาคือการคว่ำ ดีออนเตย์ ไวล์เดอร์ ซึ่ง ไวล์เดอร์ นั้นคือมวยสไตล์หมัดเขวี้ยงควาย โดนทีเดียวหลับ แต่สุดท้าย ฟิวรี่ ประยุกต์เอาความเร็วและเทคนิคมาใช้ ก็ใช้หมัดแย็บที่ทั้งไวและช่วงยาวอัดใส่ ไวล์เดอร์ ในยกที่เจ็ดจนคู่ชกชาวอเมริกันหมดสภาพถึงขั้นพี่เลี้ยงทนดูไม่ไหวต้องโยนผ้าขาวยอมแพ้เลยทีเดียว และนั่นคือเหตุการณ์ที่ทำให้เข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตอยู่กับเขา ณ เวลานี้นั่นเอง
Photo : www.thetimes.co.uk
สุดท้ายแม้หลายคนจะบอกว่าเขาเป็นยิปซีคิงกำมะลอ เพราะไม่เห็นจะบู๊เหมือนบรรพบุรษตามพงศาวดารมวยยิปซีเลย แต่สำหรับ ฟิวรี่ ดูเหมือนว่าเขาจะไม่สนใจ เพราะเขารู้ตัวเองดีกว่าเขานี่แหละคือจิตวิญญาณของยิปซีเต็มขั้น เพียงแค่มันไม่ได้สะท้อนผ่านการชกบนเวทีเท่านั้นเอง
ฝีปาก พฤติกรรมนอกเวที และการใช้ชีวิตที่สุดเหวี่ยงของเขาถือว่าจี๊ดสุดๆหาตัวจับยาก เขาเคยสละแชมป์โลกเพราะติดยาเสพติดมาแล้ว ก่อนจะใช้เวลาบำบัดไม่นานและกลายเป็นนักชกที่เก่งยิ่งกว่าเดิม นอกจากนี้เรื่องคำพูดของเขายิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะมันทั้งข่มขวัญและมีมุกสอดแทรกให้เรียกเสียงฮาได้ตลอด เหมือนกับหลาย ๆ ไดอะล็อกในเรื่อง Snatch ที่ยิปซีคิงอย่าง มิคกี้ โอนีลล์ แสดงออกไม่มีผิด เช่นในแมตช์กับ คลิทช์โก้ ที่อีกฝ่ายครองแชมป์โลกมานานร่วมทศวรรษ แต่ก็ไม่วายโดน ฟิวรี่ แซวจนเสียหลักมาแล้ว
Photo : www.dazn.com
"ผมจะเล่าอะไรให้ฟัง ผมไปเข้าซาวน่าพร้อมๆ กับ คลิทช์โก้ พอดี ตอนนั้นมีคนอยู่ในห้อง 10 คน ทุกคนมองมาที่เราว่าจะใส่กันหรือเปล่า ในใจเขาคิดยังไงผมไม่รู้ แต่ในใจที่ผมคิดคือผมพร้อมจะตายตั้งแต่ในห้องซาวน่านั้นแล้ว ส่วนผลสุดท้ายคืออะไรนะเหรอ วล้าด เดินออกจากห้องนั้นไปก่อนไงล่ะ" ฟิวรี่ ว่าไว้อย่างแสบ
ไม่ว่าเขาจะเป็นยิปซีแท้หรือไม่นั่นไม่สำคัญเท่ากับตัวตนและเส้นทางการสู้ของเขามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เขาเกือบจะสูญเสียทุกอย่างไปจากโรคซึมเศร้า แต่สุดท้ายก็กลับมาคัมแบ็คและสู้กับโรคนี้จนหายขาดได้และกลับมาเป็นแชมป์โลกอย่างยิ่งใหญ่
หากจุดมุ่งหมายของนักสู้ยิปซีคือการน็อคคู่แข่งที่แข็งแกร่ง ไทสัน ฟิวรี่ ก็ควรถูกเรียกว่า "ยิปซีคิง" อย่างไร้ข้อโต้แย้ง เขาชนะคู่ชกในรุ่นระดับหัวแถวแทบทุกคน และยังชนะโรคที่กำลังเล่นงานผู้คนอีกมากมาย ที่สำคัญเขาเอาชนะโชคชะตาของพวกยิปซีที่มักจะโดนคนทำนายว่า "ไม่ได้ความ" สำเร็จ การสยบทั้งโลกและโลกของ ไทสัน ฟิวรี่ บางทีทั้งหมดนี้อาจจะทำให้เขาเป็นยิ่งกว่ายิปซีคิงก็เป็นได้ ...