30 ปีแห่งการพัฒนา : เหตุใดอุรุกวัยคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรก แม้ไม่ใช่กีฬาท้องถิ่น?

30 ปีแห่งการพัฒนา : เหตุใดอุรุกวัยคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรก แม้ไม่ใช่กีฬาท้องถิ่น?

30 ปีแห่งการพัฒนา : เหตุใดอุรุกวัยคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรก แม้ไม่ใช่กีฬาท้องถิ่น?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอลเริ่มต้นในประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นเวลาหลายร้อยปีที่กีฬาชนิดนี้เติบโต และพัฒนาในภูมิภาคยุโรป หากจะมีสักประเทศที่ครองตำแหน่งแชมป์โลกคนแรกในโลกฟุตบอล พวกเขาควรมาจากทวีปแห่งนี้

ปี 1930 การแข่งขันฟุตบอลโลกถือกำเนิด จาก 13 ประเทศที่ตกลงร่วมแข่งขัน ชาติที่คว้าแชมป์ในตอนท้าย กลับกลายเป็นอุรุกวัย ประเทศขนาดเล็กในอเมริกาใต้ ที่เริ่มต้นเล่นกีฬาฟุตบอลเพียง 30 ปี 

Main Stand พาคุณหาคำตอบว่า เหตุใดอุรุกวัยคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรก แม้ไม่ใช่กีฬาท้องถิ่น ? ตั้งแต่ก้าวแรกที่ชาวอุรุกวัยรู้จักกีฬาฟุตบอล จนถึงวันที่พวกเขาสร้างประวัติศาตร์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง ติดตามได้ที่นี่ …

จากผู้อพยพ สู่คนท้องถิ่น

ประเทศอุรุกวัย ประกาศตัวเป็นเอกราชจากจักรวรรดิบราซิล ในปี 1825 เป็นเรื่องยากที่รัฐอิสระขนาดเล็กในอเมริกาใต้ จะหาทรัพยากรมาพัฒนาประเทศ รัฐบาลอุรุกวัย จึงกู้เงินมหาศาลจากสหราชอาณาจักร และเปิดทางให้บริษัทคมนาคมในกรุงลอดนดอน ทำสัมปทานการรถไฟทั่วประเทศ ชาวบริติชจำนวนมาก หลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศอุรุกวัย พร้อมกับวัฒนธรรมกีฬาของพวกเขา

ปี 1861 สโมสรกีฬาแห่งแรกเกิดขึ้นในอุรุกวัย ได้แก่ สโมสรคริกเก็ตมอนเตวิเดโอ ตามมาด้วย สโมสรรักบี้, สโมสรเรือพาย และในที่สุด สโมสรฟุตบอล ปี 1891 ทีมอัลเบียน เอฟซี (Albion FC) ถือกำเนิด จากการร่วมมือของนักเรียนชาวอังกฤษในกรุงมอนเตวิเดโอ เมืองหลวงของประเทศอุรุกวัย


Photo : www.wikiwand.com

หนึ่งในนักเตะของ อัลเบียน เอฟซี คือ วิลเลียม เลสลี พูล บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ประกอบอาชีพครูในอุรุกวัย พูลถูกยกย่องเป็น บิดาแห่งกีฬาฟุตบอลในประเทศนี้ จากความทุ่มเทในการเผยแพร่กีฬาฟุตบอลสู่คนท้องถิ่น เขาทำหน้าที่เป็นทั้งนักเตะ, กรรมการ และฝ่ายจัดการแข่งขัน เพื่อให้กีฬาฟุตบอลเติบโตในอุรุกวัยได้มากที่สุด

ความพยายามจัดตั้งลีกฟุตบอล จึงถือกำเนิดขึ้น พูล จับมือกับหนึ่งในผู้ก่อตั้งอัลเบียน เอฟซี เฮนรี ลิชเตนเบอเกอร์ ก่อตั้งลีกฟุตบอลแห่งอุรุกวัย ในปี 1900 (ปัจจุบันคือ Uruguayan Primera División) มีทีมแข่งขันในลีกทั้งหมด 4 ทีม ได้แก่ สโมสรฟุตบอลเยอรมัน, สโมสรอุรุกวัยแอธเลติก และสโมสรคริกเก็ตการรถไฟอุรุกวัยกลาง (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น สโมสรแอตเลติโก เปญาโรล)

ทุกสโมสรที่กล่าวมา ล้วนก่อตั้งขึ้นโดยผู้อพยพชาวอังกฤษ-เยอรมันรุ่นที่ 2 ในขณะที่ทีมฟุตบอลแห่งแรกที่มาจากชาวอุรุกวัย คือ สโมสรฟุตบอลนาซิอองนาล ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1899 ซึ่งทำให้สโมสรแห่งนี้เป็นดั่งหัวใจ และจิตวิญญาณของกีฬาฟุตบอลในอุรุกวัย ในฐานะสโมสรเพื่อคนท้องถิ่น


Photo : www.footyfair.com

“แฟนของนาซิอองนาลภูมิใจในความเป็นอุรุกวัยของตัวเอง พวกเขามองเปญาโรลเหมือนสโมสรของผู้อพยพ คำแสลงในภาษาอิตาเลียน mangare merda ที่แปลว่า พวกกินขี้ ถูกใช้เพื่อเหยียดหยามบ่อยครั้ง” อันเดรส คัมโปรมาร์ เขียนในหนังสือ ¡Golazo! ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของฟุตบอลในอเมริกาใต้

ฟุตบอลกลายเป็นกีฬายอดฮิตของชาวอุรุกวัยนับแต่นั้น พวกเขาตั้งสมาคมฟุตบอลอรุกวัย ในปี 1900 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฟุตบอลในฐานะกีฬาประจำชาติ ขณะที่ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ ให้ความสนใจกับกีฬาชนิดอื่น เช่น คริกเก็ต, รักบี้ และพายเรือ 

“อุรุกวัย เหมือนกับอาร์เจนตินา หรือประเทศอื่นในลาติน อเมริกา ในเวลานั้น พวกเขาต้องการยืนยันความเป็นเอกราช และมีความชื่นชมลัทธิชาตินิยม ไม่ต่างจากประเทศอื่นในยุโรป” ฮวน คาร์ลอส ลูซูริอากา นักประวัติศาสตร์ชาวอุรุกวัย กล่าว


Photo : www.wikiwand.com

“ช่วงแรก ชาวอุรุกวัยมองฟุตบอลเป็นกีฬาของพวกอังกฤษ แต่หลังจากได้ลองเล่น และเข้าใจกติกา พวกเขากลับชื่นชมทีมอย่าง อัลเบียน หรือ เปญาโรล แต่หลังจากการถือกำเนิดของนาซิอองนาล สโมสรฟุตบอลมากมายถูกสร้างขึ้นโดยชาวอุรุกวัย”

วันที่ 5 มีนาคม ปี 1918 ความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอลของชาวอุรุกวัย เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อ อับดอน ปอร์เต นักเตะวัย 25 ปี ของสโมสรนาซิอองนาล ถูกตัดออกจากทีมเนื่องจากฟอร์มตก เขาเดินทางด้วยรถไฟสู่สนามฟุตบอลของสโมสร ก่อนยิงตัวตาย เพื่อแสดงให้เห็นว่า ฟุตบอลสำคัญต่อชีวิตเขามากแค่ไหน

 

แกร่งในทวีป เก่งระดับโลก

อุรุกวัยไม่ใช่ประเทศเดียวในอเมริกาใต้ที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล อาร์เจนตินา คืออีกประเทศที่หลงรักกีฬาชนิดนี้เช่นกัน ทั้ง 2 ประเทศ มองฟุตบอลมากกว่ากีฬา เนื่องจากเห็นเป็นช่องทางการประกาศความยิ่งใหญ่เหนือชาติร่วมภูมิภาค

ความขัดแย้งระหว่างอุรุกวัย และอาร์เจนตินา นำมาสู่การแข่งขันฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดของโลก รองจาก British Home Championship ทัวร์นาเมนต์ระหว่างทีมชาติอังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์


Photo : .wikipedia.org

Copa de Caridad Lipton หรือ ฟุตบอลถ้วยการกุศลลิปตัน คือการแข่งขันที่กล่าวถึง ทีมชาติอุรุกวัย เจอกับ ทีมชาติอาร์เจนตินา ในรายการนี้ครั้งแรกเมื่อปี 1905 ผลสกอร์จบลงที่ 0-0 อุรุกวัยเป็นฝ่ายคว้าแชมป์ เนื่องจากลงแข่งขันในฐานะทีมเยือน

อุรุกวัย และอาร์เจนตินา ผลัดกันคว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยการกุศลลิปตัน กระทั่งปี 1916 สองชาติร่วมทวีปอย่าง บราซิล และชิลี ขอมีส่วนร่วมในการแข่งขันฟุตบอล พวกเขาจึงจับมือสร้างทัวร์นาเมนต์ใหม่ ที่รู้จักกันดีในชื่อ โคปา ลิเบอดาตอเรส อุรุกวัยพิสูจน์ความเป็นเจ้าแห่งฟุตบอลในอเมริกาใต้ ด้วยการครองแชมป์ 2 สมัยซ้อน (1916, 1917) โดยไม่แพ้ใครในรายการนี้จนถึงปี 1919

การแข่งขันฟุตบอลอย่างต่อเนื่องในอเมริกาใต้ พัฒนาฝีเท้าของนักเตะอุรุกวัย (รวมถึง อาร์เจนตินา) อย่างก้าวกระโดด บททดสอบครั้งใหญ่มาถึงในปี 1924 เมื่อสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ FIFA บรรลุข้อตกลงกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เลือกการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 1924 ที่กรุงปารีส เป็นการแข่งขันฟุตบอลระดับโลก

ทีมชาติอุรุกวัย ลงแข่งขันรายการดังกล่าว ในฐานะตัวแทนจากทวีปอเมริกาใต้ ไม่มีใครรู้จักพวกเขา แต่ทันทีที่ลงสนาม อีก 21 ทีมได้เห็นฟุตบอลรูปแบบใหม่ซึ่งไม่เคยปรากฎที่ไหน นักเตะอุรุกวัยจ่ายบอลสั้น และเคลื่อนที่อย่างสวยงาม บวกกับความสามารถเฉพาะตัวที่ชาวยุโรปบ้าพลังได้แต่อิจฉา


Photo : www.theguardian.com

“พวกเขาสร้างฟุตบอลที่สวยงาม เย่อหยิ่ง แต่ในขณะเดียวกัน มีความหลากหลาย รวดเร็ว ทรงพลัง และมีประสิทธิภาพ” กาเบรียล ฮาน็อต นักข่าวผู้ให้กำเนิดรางวัลบัลลงดอร์ เขียนใน L’Equipe

“การผสมผสานอย่างน่าประหลาด ระหว่าง ผู้มีอารยธรรม กับ คนเถื่อน” โกแล็ตต์ (Colette) นักเขียนหญิงชาวฝรั่งเศสที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา กล่าวสรุปการเล่นฟุตบอลของทีมชาติอุรุกวัยในตอนนั้น 

ฟุตบอลที่รวดเร็ว และทรงพลัง ช่วยให้อุรุกวัยคว้าเหรียญทองมาในโอลิมปิก 1924 มาครอง ด้วยผลงาน ยิง 20 เสีย 1 ประตู จากการลงแข่งขัน 5 นัด เปโดร เปโตรเน กองหน้าของนาซิอองนาล ครองตำแหน่งดาวซัลโวจากการยิง 7 ประตู เขายังคงเป็นกำลังหลักในอีก 4 ปีถัดมา เมื่อทีมชาติอุรุกวัย เดินทางมาป้องกันแชมป์โลก ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 1928 ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม

เปโดร เปโตรเน อาจไม่ยิงระเบิดเหมือนเคย เขายิงเพียง 4 ประตู ในการแข่งขันครั้งนี้ แต่ฟุตบอลแข่งขันด้วยระบบทีม ไม่ใช่ความสามารถเฉพาะตัว อุรุกวัยเข้าชิงชนะเลิศเป็นครั้งที่ 2 พบกับทีมชาติอาร์เจนตินา คู่ปรับร่วมทวีปที่ยิงกระจาย 23 ประตู ใน 3 นัด จากฟุตบอลเกมรุกที่อุรุกวัยเคยใช้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว


Photo : www.olympic.org

อุรุกวัย พบกับ อาร์เจนตินา ในรอบชิงชนะเลิศ 2 ครั้ง เนื่องจากผลเสมอในนัดแรก 1-1 ผลสุดท้าย อุรุกวัยคือทีมที่ดีกว่า พวกเขาเอาชนะอาร์เจนตินาด้วยสกอร์ 2-1 ครองตำแหน่งแชมป์โลก 2 สมัย โดยไม่แพ้ใครในการแข่งขันโอลิมปิกทั้ง 2 ครั้ง พิสูจน์ว่าตัวเองคือทีมที่ดีที่สุดในโลกในเวลานั้น

“อุรุกวัยไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เหมือนประเทศในยุโรป ในทางกลับกัน พวกเขาหารายได้จากการส่งออก การลงทุนจากภาครัฐ และการแลกเปลี่ยนเงินตรา นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ฟุตบอลอุรุกวัย แจ้งเกิดในยุโรปได้สำเร็จ” ลูกา ไคโอลี นักเขียนชาวอิตาลีอธิบาย 

 

หมายเลขหนึ่งโลกฟุตบอล

ปี 1930 FIFA ไม่รับรองกีฬาฟุตบอลในโอลิมปิกเป็นการแข่งขันชิงแชมป์โลก พวกเขาจัดทัวร์นาเมนต์ใหม่ที่เรียกว่า ฟุตบอลโลก (World Cup) โดยให้แชมป์โลก 2 สมัยซ้อน ประเทศอุรุกวัย รับเกียรติเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรก


Photo : apnews.com

ช่วงเวลานั้น กีฬาฟุตบอลกำลังเป็นที่นิยมในอเมริกาใต้ เนื่องจากความสำเร็จของอุรุกวัย รวมถึงอาร์เจนตินา ในโอลิมปิก 1928 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาติร่วมภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น บราซิล, โบลิเวีย, ชิลี, ปารากวัย และเปรู จะลงชื่อเข้าแข่งขัน เมื่อรวมกับ 2 ชาติขาประจำ ฟุตบอลโลก 1930 จึงมีทีมจากอเมริกาใต้ ลงแข่งขันมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน ด้วยจำนวน 7 ทีม

สวนทางกัน ประเทศในยุโรปต่างปฏิเสธเข้าร่วมการแข่งขัน อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, สเปน และสวีเดน อ้างว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยที่ให้อุรุกวัยเป็นเจ้าภาพ ขณะที่ เบลเยียม, โรมาเนีย, ยูโกสลาเวีย และฝรั่งเศส ที่ตอบตกลงในตอนแรก ปฏิเสธ เนื่องจากการเดินทางไปอเมริกาใต้ ใช้เวลานานหลายสัปดาห์ และมีค่าใช้จ่ายมหาศาล

ประเทศอุรุกวัยแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า ฟุตบอลมีความหมายแค่ไหน พวกเขาเสนอจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในการเดินทางมาแข่งขันฟุตบอลโลกที่อเมริกาใต้ โชคร้ายที่ไม่มีใครตอบรับข้อเสนอ จน FIFA ต้องยื่นมือเข้ามากดดัน จนเบลเยียม, โรมาเนีย, ยูโกสลาเวีย และฝรั่งเศส เปลี่ยนใจกลับมาลงแข่งขัน


Photo : www.fifa.com

ชาติในยุโรปกล่าวอ้างภายหลังว่า การเดินทางด้วยเรือที่นานกว่า 2 สัปดาห์ จนมาถึงอุรุกวัยเพียงไม่กี่วันก่อนการแข่งขัน และภาระหน้าที่ในบ้านเกิด (นักเตะโรมาเนียได้คำรับรองจากกษัตริย์ว่าจะไม่ตกงานขณะแข่งฟุตบอลโลก) ทำให้พวกเขาไม่มีจิตใจจะเล่นฟุตบอล จนโชว์ผลงานย่ำแย่ในฟุตบอลโลกครั้งดังกล่าว

“พวกเราใช้ชีวิตอยู่บนเรือนาน 15 วัน เราเดินทางจากฝรั่งเศส พร้อมกับพวกยูโกสลาเวีย และเบลเยียม เราออกกำลังกายพื้นฐานในห้อง และฝึกซ้อมเล็กน้อยบนดาดฟ้าเรือ แต่โค้ชไม่เคยพูดคุยเรื่องแทคติกเลย” ลูเซียน โลร็อง นักฟุตบอลชาวฝรั่งเศสที่เป็นคนแรกที่ทำประตูในฟุตบอลโลกกล่าว

ความจริงในปี 1930 แตกต่างจากสิ่งที่บอกเล่าภายหลัง ประเทศจากยุโรป ไม่เคยเป็นตัวเต็งในการแข่งขันฟุตบอลโลก อุรุกวัย และอาร์เจนตินา คือ 2 ทีมที่ดีที่สุดในการแข่งขัน ทั้งคู่เอาชนะคู่แข่งในรอบรองชนะเลิศด้วยสกอร์ 6-1 เท่ากัน สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในปี 1930 คือฟุตบอลในอเมริกาใต้ มีคุณภาพกว่าทวีปยุโรป

รอบชิงชนะเลิศของฟุตบอลโลก 1930 จึงเป็นหนังม้วนเดิมจากโอลิมปิก 1928 อาร์เจนตินา คือทีมที่มีเกมรุกดีกว่า กิเยร์โม เอสตาบิเล นำตำแหน่งดาวซัลโวจากการยิง 7 ประตู ใน 3 นัด มีการบันทึกในหนังสือ The World Cup: The Complete History ว่า เกมรุกของอาร์เจนตินารวดเร็วมาก แม้แต่ความแข็งแกร่งของนักเตะอเมริกัน ไม่สามารถต้านทานได้


Photo : www.mamm-mdf.ru

แต่ทีมชาติสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่อุรุกวัย ระบบทีมยังเป็นจุดแข็งของพวกเขา นักเตะอุรุกวัยชุดนี้คือหนึ่งในทีมที่ดีที่สุด นับตั้งแต่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก ด้วยค่าเฉลี่ยผลต่างลูกได้-เสีย +3 ประตูต่อนัด ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากทีมชาติฮังการี ในฟุตบอลโลก 1954

การแข่งขันระหว่าง อุรุกวัย กับ อาร์เจนตินา ในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 1930 จึงเป็นการพบกันของ 2 ทีมที่ดีที่สุดในโลกฟุตบอล และเป็นอีกครั้งที่อุรุกวัย พิสูจน์ว่าตัวเองดีกว่าคู่ปรับร่วมภูมิภาค เอาชนะเกมดังกล่าวด้วยสกอร์ 4-2 เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในฐานะแชมป์ฟุตบอลโลกทีมแรก

มีเรื่องราวมากมายบอกเล่นในเกมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนลูกฟุตบอลในช่วงพักครึ่งเวลา หรือ ผู้ตัดสินที่ตอบตกลงทำหน้าที่ หลังหาช่องทางหนีจากประเทศหลังจบการแข่งขัน แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงน้อยครั้ง คือคำยืนยันที่บอกว่าการคว้าแชมป์ของอุรุกวัยไม่ใช่เรื่องบังเอิญ


Photo : www.fifa.com

ความสำเร็จของทีมชาติอุรุกวัยในฟุตบอลโลก 1930 จึงไม่ใช่เรื่องราวของทีมม้ามืด ดั่งที่หลายคนเข้าใจ ความหลงไหลในกีฬาฟุตบอล ผสมกับการแสดงออกอัตลักษณ์ความเป็นชาติผ่านกีฬา ทีมฟุตบอลในทวีปอเมริกาใต้เติบโตอย่างรวดเร็ว จนแซงหน้าประเทศในยุโรป ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20

ประเทศอุรุกวัยใช้เวลาเพียง 30 ปี ในการทำความรู้จักกีฬาฟุตบอล จนก้าวสู่หมายเลขหนึ่งของโลก ไม่มีประเทศไหนแข็งแกร่งกว่าพวกเขาในช่วงปี 1924 ถึง 1930 ชาติขนาดเล็กในอเมริกาใต้แห่งนี้ คือทีมเดียวในประวัติศาสตร์กีฬาฟุตบอลที่คว้าแชมป์โลก 3 สมัยติดต่อกัน (โอลิมปิก 2 สมัย ฟุตบอลโลก 1 สมัย) ก่อนคว้าแชมป์โลกอีกครั้งในฟุตบอลโลก 1950 


Photo : thesefootballtimes.co


Photo : lamiradadeuncoleccionista.blogspot.com

ความสำเร็จของพวกเขาเมื่อวันวาน ถูกเล่าขานสู่คนรุ่นหลัง ผ่านดาว 4 ดวงที่ปักอยู่บนตราสัญลักษณ์ และยังคงเป็นความภูมิใจของชาวอุรุกวัย ตราบจนทุกวันนี้ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook