มารุโอกะ : นักฟุตบอลที่ "คล็อปป์" หวังให้เป็น "คางาวะ 2" สู่ บีจี ปทุม

มารุโอกะ : นักฟุตบอลที่ "คล็อปป์" หวังให้เป็น "คางาวะ 2" สู่ บีจี ปทุม

มารุโอกะ : นักฟุตบอลที่ "คล็อปป์" หวังให้เป็น "คางาวะ 2" สู่ บีจี ปทุม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กว่าจะมาเป็นกุนซือแชมป์ยุโรปและเเชมป์พรีเมียร์ลีก เจอร์เก้น คล็อปป์ ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์และฝีมืออยู่นานหลายปี จนกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ไม่ใช่แค่การพาทีมคว้าถ้วยเเชมป์เท่านั้น แต่ในฐานะกุนซือผู้ชื่นชอบในการ "ปั้นดินเป็นดาว" ด้วย

คล็อปป์ ไม่ค่อยชอบซื้อตัวนักเตะแพงนัก ในกรณีที่ทีมของเขามีข้อจำกัดทางด้านการเงิน นั่นทำให้เราได้เห็นนักเตะอย่าง โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้, มัตส์ ฮุมเมิลส์ และอีกมากมายแจ้งเกิดสมัยที่เขายังคุม ดอร์ทมุนด์ 

นั่นคือชื่อที่หลายคนอาจจะคุ้นหูกันดี แต่คุณอาจจะไม่รู้ว่ามีนักเตะไทยลีกป้ายเเดงคนหนึ่งที่เคยอยู่ในทีมของคล็อปป์ และเคยมีเพื่อนร่วมทีมระดับโลกรายล้อมมากมาย เขาคือ มิตสึรุ มารุโอกะ นักเตะของ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด นั่นเอง... 

การเดินทางจาก "นิว ชินจิ คางาวะ" ในสายตาของ "เจเค" สู่ลีกสูงสุดของประเทศไทย เกิดอะไรขึ้นบ้างกว่าจนถึงวันนี้ ติดตามไปพร้อมๆกับ Main Stand

เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก

หากย้อนกลับไป 20-30 ปีก่อนวงการฟุตบอล เยอรมัน และสโมสรในเมืองเบียร์นั้นมีค่านิยมที่ทำตามๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่น นั่นคือพวกเขาจะไม่ค่อยเปิดรับนักเตะต่างชาติมากมายนัก ยกเว้นชาติเดียวเท่านั้นที่สอดแทรกเข้ามาในระบบฟุตบอลเยอรมันได้เเบบนับคนไม่ถ้วน นั่นคือนักฟุตบอลบราซิลนั่นเอง

โจวานี่ เอลแบร์,เปาโล แซร์จิโอ,เซ โรแบร์โต้,มาร์เซลินโญ่,ไอล์ตัน และอื่นๆอีกมากมาย นั่นคือยุคที่นักเตะบราซิลตบเท้าเข้ามาและสร้างความยิ่งใหญ่ในลีกบุนเดสลีก้า 

อย่างไรตามเมื่อเวลาหมุนผ่านหลายสิ่งก็เปลี่ยนไป เมื่อเข้าสู่ช่วงยุคกลางของปี 2000 เกิดปัญหาเมื่อฟุตบอลทีมชาติเยอรมันกลับตกต่ำลง เเชมป์โลก 3 สมัยถูกคาไว้นานเกินไป และฟางเส้นสุดท้ายที่สมาคมฟุตบอลเยอรมันต้องปฏิวัติกันครั้งใหญ่คือการแพ้อังกฤษ 1-5 คาบ้านของตัวเอง 

เมื่อนั้นพวกเขาจัดการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการเลือกใช้งานนักเตะต่างชาติ ที่เปลี่ยนเทรนด์ไปตามโมเดลที่พวกเขาได้วางไว้ นั่นคือฟุตบอลเยอรมันต้องเป็นบอลระบบ ผู้เล่นต้องเข้าใจเกม เข้าใจเพื่อนร่วมทีม พร้อมทำงานหนัก และมีจิตวิญญาณของผู้ชนะ... ซึ่งนั่นเองเป็นสิ่งที่นักเตะบราซิลส่วนใหญ่ไม่สามารถให้ได้

นักเตะบราซิลเลี่ยนนั้นเก่งกาจก็จริงแต่พวกเขาขึ้นชื่อเรื่องความเป็นอารมณ์ศิลปิน เราไม่ได้พูดถึงเรื่องนิสัยส่วนตัวเเต่หมายถึงการเล่นในสนาม นักเตะบราซิลมักจะทำในสิ่งที่เหนือความคาดหมาย สร้างสรรค์ตลอดเวลา และไม่สามารถยึดกับระบบใดระบบหนึ่งไปตลอดได้มากนัก การห้ามพวกเขาไม่ให้สร้างสรรค์ก็รั้นแต่จะทำให้เสียของ ดังนั้นหลังจากหมดยุคพวก เอลแบร์ หรือ ไอล์ตัน การใช้นักเตะบราซิลก็ค่อยๆลดลงไป เเละเปลี่ยนเป็นนักเตะจากสแกนดิเนเวียน หรือประเทศใกล้เคียงอย่าง โปแลนด์ และ ออสเตรีย ที่เป็นระบบมากกว่า เช่นกันกับหนึ่งในชาติจากเอเชียที่อยู่ในเทรนด์นี้ก็คือ ญี่ปุ่น นั่นเอง...  

เคมีของนักเตะญี่ปุ่นเข้ากับฟุตบอลเยอรมันมาก พวกเขาเป็นพวกมีความรับผิดชอบสูง ได้รับคำสั่งไหนมาก็พร้อมจะรับและปฎิบัติตามแบบไม่มีคำถาม นั่นทำให้นักเตะญี่ปุ่นสามารถเล่นตามระบบได้ นอกจากนี้พวกเขายังมีความเป็นนักสู้ ไม่ยอมแพ้ มีแพสชั่นกับเกมสูง สิ่งเหล่าเรียกอีกอย่างว่า "จิตวิญญาณซามูไร" 

"คนญี่ปุ่นไม่ค่อยมากเรื่อง มารยาทของญี่ปุ่นมันไม่ใช่มารยาทที่ให้โวยวาย ไม่แสดงความไม่พอใจ พวกเขาถูกฝึกให้อดทนอดกลั้น” กฤตพล วิภาวีกุล นักศึกษาปริญญาเอกด้าน International study มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น อธิบายกับ Main Stand ในบทความเรื่อง "จิตวิญญาณซามูไร"

นอกจากเรื่องของนิสัยแล้ว วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นก็สอดคล้องกับเยอรมันอย่างน่าประหลาด หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง พวกเขาทั้งคู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม ต้องสร้างประเทศขึ้นมาใหม่จากซากปรักหักพัง พวกเขาจึงต้องผลักดันเรื่องอุตสาหกรรม การศึกษา และ เทคโนโลยีเเบบเต็มตัว .. ขณะที่ในส่วนของนิสัยนั้นคนเยอรมันและคนญี่ปุ่นต่างก็เป็นพวกกระหายความก้าวหน้าอยู่เสมอ

"พวกเราตามรอยพวกเขาไป ชาวญี่ปุ่นเราเก่งมากในการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ในฐานะนักฟุตบอลเมื่อผมมองไปที่ทีมชาติเยอรมัน ผมรู้สึกว่าผมได้เห็นสิ่งเดียวกันกับที่ผมเห็นในทีมชาติญี่ปุ่น พวกเรามาเพื่อเล่นกันอย่างเป็นระบบ สำหรับชาวญี่ปุ่นปรัชญาของทีมสำคัญมากจริงๆ" โกโตคุ ซากาอิ อดีตนักเตะของทีมสตุ๊ตการ์ท กล่าว 

นั่นคือจุดเริ่มต้นของเหล่าขุนพลซามูไรลูกหนังจากญี่ปุ่นเริ่มได้เข้าไปเล่นในลีกเยอรมันในช่วงปลายยุค 2000 เป็นต้นมา มาโคโตะ ฮาเซเบะ,นาโอฮิโร ทาคาฮาระ,อัตสึโตะ อุจิดะ และแน่นอนที่สุดคือยอดผู้เล่นอย่าง ชินจิ คางาวะ นักเตะเหล่านี้ย้ายเข้าไปและสร้างความประทับใจในฐานะนักฟุตบอลและในฐานะมืออาชีพ และนั่นคือการเปิดประตูให้นักเตะญี่ปุ่นรุ่นหลังได้เดินตามรอยมาอีกมากมาย และหลังจากนั้นเหล่าซามูไรจากแดนตะวันออก ก็มุ่งหน้าไปเฉิดฉายในตะวันตกคนเเล้วคนเล่า.... เช่นเดียวกับพระเอกของเรื่องในวันนี้อย่าง มิตสึรุ มารุโอกะ ที่อยู่ในช่วงเวลาแห่งปรากฎการณ์นั้นด้วย

คนต่อไป...

“หนึ่งในวิธีที่ทำให้ผู้เล่น รวมถึงโค้ชของเรายกระดับ คือการส่งพวกเขาไปเล่นต่างประเทศ ตอนที่เจลีกเริ่มแข่งขัน สักช่วง 20 ปีก่อน เราแทบไม่เคยได้ยินชื่อนักฟุตบอลญี่ปุ่น เล่นต่างประเทศ เพราะพวกเขาเก่งไม่พอ” ประโยคนี้จาก มิตสึรุ มุราอิ ประธานฟุตบอลเจลีก บอกเล่าถึงช่วงเวลาของ มารุโอกะ ได้เป็นอย่างดี 


Photo : @weeklysd

มารุโอกะ เป็นนักเตะญี่ปุ่นชุดกลางๆ ตามหลังพวก ฮาเซเบะ,อุจิดะ และ คางาวะ ไปอยู่ไม่กี่ปี แต่ความพิเศษของเขาที่ทำให้วงการฟุตบอลญี่ปุ่นรู้ว่าตลาดนักเตะบ้านเขาบูมในหมู่ทีมเยอรมันเเล้วนั่นเอง... เพราะในช่วงก่อนที่ มารุโอกะ จะย้ายไปเล่นในเยอรมัน เขาแทบไม่มีประสบการณ์ในเจลีกเลย แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับ "ความมั่นใจในศักยภาพ" ของเหล่าแมวมองจากเยอรมันที่มาช้อนเเข้งเกรด A ในเจลีกโดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เป็นเครื่องยืนยัน

มารุโอกะ เกิดในจังหวัดโทคุชิมะ ก่อนเข้าระบบอคาเดมี่ของ เซเรโซ โอซาก้า ในปี 2011 ซึ่งสาเหตุที่ได้เข้าอคาเดมี่นั้นเกิดจากช่วงที่เขาเรียนอยู่ในมัธยมมารุโอกะ ถือเป็นเด็กปีศาจของโรงเรียนมัธยมต้นโทคุชิมา คาวาอุจิ ที่สามารถแบกทีมผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติมัธยมต้น 

เมื่อเข้าไปอยู่ในอคาเดมี่ของ เซเรโซ โอซาก้า ชุดยู 18 ได้ไม่นาน มารุโอกะ ถูกตั้งฉายาว่า "คนต่อไป" ... ซึ่งฉายานี้ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นตำนานของสโมสรคนต่อไปอย่างที่ใครเข้าใจ แต่มันหมายความว่าเขาจะกลายเป็นนักเตะของ เซเรโซ คนต่อไปที่จะได้ไปเล่นในยุโรป ซึ่งก่อนหน้านี้ เซเรโซ เคยปล่อยตัว ชินจิ คางาวะ,ฮิโรชิ คิโยตาเกะ และ โยอิจิโร คาคิตานิ ไปลุยก่อนหน้านี้เเล้ว


Photo : blog.livedoor.jp

การปล่อยนักเตะในสังกัดไปเล่นในยุโรปของทีมจากญี่ปุ่นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะพวกเขาอยากจะทำกำไรจากเงินที่ขายได้ แต่นั่นเป็นเพราะพวกเขาต้องการมอบโอกาสพัฒนาให้กับนักเตะคนนั้นๆ และนักเตะเหล่านี้เองก็จะกลับมาเป็นความหวังของประเทศ ช่วยให้ทีมชาติญี่ปุ่นกลายเป็นทีมแถวหน้าของโลก ดังนั้นการปล่อยนักเตะออกไปเปรียบได้กับการเเลกกับสิ่งที่เงินไม่สามารถซื้อได้... นั่นคืออนาคตนั่นเอง

มารุโอกะ เติบโตตามระบบของ เซเรโซ อย่างรวดเร็ว พออายุย่าง 18 ปี เขามีโอกาสได้ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ในฤดูกาล 2014  แต่ไม่ทันที่จะประเดิมสนามให้กับทีมชุดใหญ่ สโมสรจากเยอรมันก็ติดต่อเข้ามายัง เซเรโซ ... ไม่ใช่สโมสรเล็กๆเสียด้วย แต่เป็น โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่คว้าแชมป์ลีก 2 สมัยติดต่อกันมาหมาดๆ 

ดอร์ทมุนด์ ที่มี เจอร์เก้น คล็อปป์ มีสไตล์การเสริมทัพที่หลายคนรู้ดี นั่นคือการดึงนักเตะดาวรุ่งที่มีเเววจากทั่วทุกมุมโลกมาให้โอกาสและปั้นให้เป็นดาว ส่วนเหตุผลที่พวกเขาติดต่อมาที่ เซเรโซ เรื่องการซื้อตัว มารุโอกะ นั้นคงหนีไม่พ้นอาการ "ติดใจ" เนื่องจากไม่กี่ปีก่อน พวกเขาได้ตัว ชินจิ คางาวะ ไปในราคาแค่ 350,000 ยูโรเท่านั้น ก่อนที่ คางาวะ จะพาทีมคว้าแชมป์เเละกลายเป็นนักเตะตำแหน่งเพลย์เมคเกอร์แถวหน้าของยุโรปในช่วงเวลานั้น แถมยังขายทำกำไรให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ได้อีกถึง 18 ล้านปอนด์เลยทีเดียว... ไม่แปลกอะไรที่พวกเขาจะเล็งมาที่ มารุโอกะ เจ้าของฉายา "คนต่อไป" นั่นเอง 

อย่างไรก็ตามจะบอกว่าเป็นเพราะคางาวะอย่างเดียวก็ไม่ถูก มารุโอ เองก็โชว์ลีลาเด็กปีศาจมาในรุ่นเยาวชนของ เซเรโซ เขาเป็นตัวรุกกึ่งปีกสไตล์ญี่ปุ่นขนานแท้ เพราะถึงแม้จะไม่ได้เร็วแบบจรวดเหมือนปีกแอฟริกัน หรือคล่องแคล่วเปี่ยมเทคนิคแบบบราซิเลี่ยน แต่ก็เเลกมาด้วยวินัยในการเล่น การขึ้นสุดลงสุด และความเข้าใจในแต่ละจังหวะ เล่นง่ายๆแต่มีประสิทธิภาพ นั่นคือคำจำกัดความที่พอจะบอกถึงเขาได้ และนั่นเป็นเหตุผลที่ ดอร์ทมุนด์ เลือกที่จะขอยืมตัวเขาไปใช้งาน 1 ฤดูกาลเพื่อทดสอบแบบจริงจังว่าเขาจะไหวไหมกับฟุตบอลยุโรป? 

 

ระดับเยอรมัน

"ทันทีที่ผมโดนยืมตัวจาก เซเรโซ มา ดอร์ทมุนด์ ผมพยายามคิดไว้ว่าจะต้องทำผลงานให้โดนซื้อตัวไปให้ได้ ผมจะทำให้ดีที่สุดในการฝึกซ้อมทุกครั้ง และไม่ว่าจะสนามเล็กหรือใหญ่ผมจะใส่เต็มที่แน่นอน" มารุโอกะ ในช่วงวัยทีนกล่าว


Photo : matome.naver.jp

ณ เวลานั้นหน้าหนังสือพิมพ์ในเยอรมันก็พาดหัวไปในทิศทางเดียวกันว่า ดอร์ทมุนด์ คว้าตัว นิว คางาวะ มาร่วมทีมเเล้ว และนั่นเป็นความกดดันกับ มารุโอกะ บ้าง เพียงแต่เขาก็ไม่ได้กังวลกับมันมากเกินไป สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขาในนาทีนี้คือการได้โอกาสลงสนามเพื่อพิสูจน์ตัวเอง โดยไม่สนว่าจะโดนจับลงที่ตำแหน่งไหน 

"ผมเคยเป็นกองกลางตัวโฮลด์บอลสมัยเรียน ม.ปลาย และ เซเรโซ แต่พอได้ย้ายมาเล่นที่ดอร์ทมุนด์ ผมได้เล่นเกมรุกมากกว่าที่เคย" มารุโอกะ ที่โดนขยับไปทางปีกซ้ายมากกว่าเดิมกล่าว 

สไตล์ของ มารุโอกะ คือนักเตะในแบบที่คล็อปป์ ชอบ เขาวิ่งได้ทังวันไม่มีหมด ว่ากันว่านั่นคือสิ่งที่เขาโดนเสี้ยมสอนมาจากญี่ปุ่นที่มีเคล็ดลับว่าจงวิ่งให้เยอะ เยอะจนคู่แข่งไม่สามารถจับตัวคุณได้ และนั่นจะเป็นจุดเเข็งที่ทำให้คุณได้เปรียบที่เยอรมัน  


Photo : shooty.jp

ซึ่งนั่นเองทำให้เขาสร้างความประทับใจกับผลงานในทีมสำรอง เพียงอายุ 18 ปี เขาได้ลงเล่นในทีมสำรองไป 26 เกม ก่อนที่ คล็อปป์ จะซื้อขาดเขาด้วยราคาเพียง 150,000 ยูโรเท่านั้น และดันเขาขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ในฤดูกาล 2014-15 เขาได้นั่งบนม้านั่งสำรอง 5 เกมและส่งลงสนามครั้งแรกในเกมกับ ไมนซ์ ที่ฝั่งเสือเหลืองแพ้ไป 0-2 

ทุกอย่างกำลังจะดูดี เพราะ คล็อปป์ เริ่มมองมาที่เขามากขึ้นเเล้ว และด้วยอายุที่ยังไม่มาก หากคล็อปป์ยังอยู่มันจะดีต่อเขามากกว่า เพราะคล็อปป์เป็นคนชี้เป้าให้ทีมซื้อ มารุโอกะ มาเอง ทว่าหลังจากจบซีซั่นที่ มารุโอกะ ได้เดบิวต์ คล็อปป์ ก็ลาออกจากตำแหน่ง และเอาโทมัส ทูเคิล มาคุมทีมแทน โอกาสของเขาก็น้อยลงเรื่อยๆ 


Photo : shooty.jp

"พอ ทูเคิล เข้ามาแทน คล็อปป์ ก็มีการเปลี่ยนโค้ชทีมยู 23 คนใหม่ด้วย ผมโดนปรับมาเล่นทางซ้ายโดยถาวรเเล้ว ซึ่งผมก็คิดว่าผมสามารถรับมือกับมันได้นะ สนุกกับการเล่นตรงนี้ สนุกกับการทำประตู"

"ในทีมชุดใหญ่มี มาร์โก รอยส์ ขวางอยู่ แต่ผมคิดว่าผมไม่ใช่ผู้เล่นประเภทเดียวกับเขาหรอก ผมมีความแตกต่างตรงที่วิ่งได้มากกว่า ซึ่งตัวผมเองก็ให้ความสำคัญกับการยิงประตูและแอสซิสต์มาก เป็นรองเพียงชัยชนะของเท่านั้น" มารุโอกะ เล่าถึงสถานการณ์ในเวลานั้น 

อย่างไรก็ตามน่าเสียดายที่ความแตกต่างนั้นไม่ได้ถูกใช้ มารุโอกะ ไม่ค่อยได้โอกาสนักในยุค ทูเคิล ก่อนที่สุดท้ายก็อย่างที่ทุกคนรู้กันคือ เขาไม่ได้โอกาสเล่นในบุนเดสลีก้าอีกเลย และโดนส่งตัวกลับมายัง เซเรโซ่ โอซาก้า ในฤดูกาล 2016

 

มองโลกในแง่ดี 

หลังจากที่กลับมาเล่นให้ เซเรโซ่ หลายคนอาจจะมองว่าเขาล้มเหลว แต่ มารุโอกะ เชื่อเสมอว่าทุกอย่างล้วนต้องการจังหวะและเวลาของมัน เขามองว่าการได้กลับมาเล่นในญี่ปุ่นอีกครั้งก็ไม่แย่อะไร ได้ลงสนามต่อเนื่อง กลับมาติดทีมชาติให้ได้ และเมื่อนั้นจะไปเล่นในยุโรปอีกครั้งก็ไม่สายเกินไป เพราะ ณ เวลานั้นเขาอายุแค่ 20 ปี เท่านั้นเอง


Photo : Osaka F.C.

อย่างไรก็ตามโชคไม่ค่อยเข้าข้างเขาเท่าไรนักหลังจากกลับญี่ปุ่นได้ไม่นานเขาก็มีปัญหาบาดเจ็บ จนเสียโอกาสลงเล่นชุดใหญ่และต้องไปเล่นในทีมสำรองในฤดูกาล 2016 เป็นส่วนมาก หลังจากนั้นเขาก็โดนปล่อยให้กับ วีวาเรน นางาซากิ และ เรโนฟา ยามางุจิ ยืมตัวไปใช้งานซึ่งตลอด 2-3 ปี หลังเขาไม่ประสบความสำเร็จอะไรมากมายนัก 

ซีซั่นสุดท้ายกับ ยามางุจิ เขาลงเล่นไป 12 นัดยิงไป 1 ประตู แต่นั่นยังไม่ดีพอสำหรับ เซเรโซ โอซาก้า เนื่องจากสัญญาของเขากำลังจะหมดลงพอดี เขาไม่ได้รับการต่อสัญญาและกลายเป็นนักเตะไรสังกัดไปในช่วงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2020 นี้นี่เอง 

และอย่างที่ทุกคนรู้อีกครั้งตอนนี้เขาปรากฎตัวในฐานะนักเตะของ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว คำพูดของเขาในคลิปเปิดตัวมีการยืนยันว่า เขาไม่ได้มาประเทศไทยในสภาพที่หมดไฟและมาโกยเงินอย่างเดียวเท่านั้น ที่เขามาที่นี่เพราะว่าเขายังรักฟุตบอลอยู่นั่นเอง

"เพราะฟุตบอลคือความฝันของผม ผมอยากจะสนุกกับมัน หลังจากนี้หวังว่าฟุตบอลจะนำสิ่งดีๆมาให้ผมอย่างที่ผ่านมา" เขาว่าไว้ในวีดีโอเปิดตัวกับต้นสังกัดใหม่และพร้อมแล้วสำหรับฟุตบอลไทยลีก ที่กำลังจะเเข่งขันกันในวันที่ 12 กันยายนนี้ 


Photo : BG Pathum United

ไม่มีใครกล้าปฎิเสธว่าไทยลีกคือลีกที่เล็กและมีชื่อเสียงน้อยที่สุดที่เขาเคยผ่านมา แต่สิ่งสำคัญหลังจากนี้คือพิสูจน์ตัวเองของ มารุโอกะ ว่าเขารักฟุตบอลและพร้อมจะทุ่มเทกับมันสุดชีวิตเหมือนเดิมหรือไม่ 

บางทีเขาอาจจะมาที่นี่และกลายเป็นปลาใหญ่ในบ่อเล็ก และเช่นกันกับชีวิตมนุษย์ บางครั้งความยิ่งใหญ่ภายในใจจิตใจของตัวเอง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องตะกายขึ้นไปยังจุดสูงสุดที่ไม่มีใครเคยหยั่งถึง บางครั้งการได้เล่นอยู่ในที่ที่เป็นของเรา ทำงานที่รักออกอย่างสุดความสามารถ และมีผู้คนให้ความเคาร.พและรักในผลงานที่เราได้แสดงออกไป เท่านี้ความสุขก็บังเกิดขึ้นได้เเล้ว 

ไม่แน่ในวัย 24 ปี นี่อาจจะเป็นการถอยหลัง 1 ก้าวเพื่อก้าวไปข้างหน้าของ มารุโอกะ ก็เป็นได้ เขาอาจจะใช้ไทยลีกไต่กลับสู่ เจลีก และไปยุโรปอีกครั้ง หากว่าเขารักฟุตบอลและสนุกกับมันจริงๆอย่างที่เขาว่า

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ มารุโอกะ : นักฟุตบอลที่ "คล็อปป์" หวังให้เป็น "คางาวะ 2" สู่ บีจี ปทุม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook