สู่ลีกยอดฟุตบอลยอดนิยม : เปิดเบื้องหลังการกำเนิดของ "พรีเมียร์ลีก"
พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2020-21 กำลังจะกลับมาเปิดฉากอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในสุดสัปดาห์นี้
ตลอด 28 ฤดูกาลที่ผ่านมา เข้าสู่ปีที่ 29 พรีเมียร์ลีกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยหยุดนิ่ง ทั้งในแง่คุณภาพเกมการแข่งขัน และมูลค่าทางธุรกิจ กลายเป็น ลีกลูกหนังยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลก ที่แม้แต่คนไม่ดูฟุตบอล ต่างเคยได้ยินชื่อผ่านหู คุ้นเคยเป็นอย่างดี
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อราว 30 ปีก่อน มีตั้งลีกใหม่ชื่อว่า "พรีเมียร์ลีก" มีสถานะเป็นลีกสูงสุดของฟุตบอลอังกฤษ แทนที่ ดิวิชั่น 1 (เดิม)
หลายคนอาจไม่รู้ว่า จุดเริ่มต้นของฟุตบอลแนวคิด การสร้างพรีเมียร์ลีก ได้รับแรงขับผลักดัน อิทธิพลมาจากไหน ทำไมสโมสรฟุตบอลจากลีกสูงสุดต้องแยกตัวออกมาตั้งลีกเป็นของตัวเอง
Main Stand ขออาสาพาคอลูกหนัง ไปหาคำตอบนั้นพร้อมกัน
เหตุเกิดจากฮูลิแกน
หากจะเขียนถึงจุดเริ่มต้นของพรีเมียร์ลีก ต้องย้อนกลับไปยังช่วงทศวรรษ 70s อันเป็นยุคทองของฟุตบอลอังกฤษ
สโมสรจากแดนผู้ดี เริ่มก่อร่างสร้างทีมคว้าความสำเร็จ ภายในช่วงพริบตาเดียว ทีมในอังกฤษ เบียดสโมสรจากเยอรมัน, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี หรือ สเปน ตกกระป๋อง
ลิเวอร์พูล, แอสตัน วิลลา, น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ คว้าแชมป์ยูโรเปียน คัพ (ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ในปัจจุบัน)
ส่วน ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์, อิปสวิช ทาวน์ พิชิตถ้วยยูฟ่า คัพ (ยูโรป้า ลีก ในปัจจุบัน) มาครอง เรียกได้ว่า ทีมจากอังกฤษ ครองความยิ่งใหญ่ทั่ววงการฟุตบอลยุโรป ในช่วงปลายยุค 70s และต้น 80s
ทว่าไม่ใช่แค่ชื่อเสียงของสโมสร ที่ดังกระฉ่อนไปทั่วยุโรป แต่ยังรวมถึงความซ่าของกลุ่มแฟนบอลวัยหนุ่ม ที่ถูกเรียกว่า "ฮูลิแกน" ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศอังกฤษ
การทะเลาะวิวาท บริเวณสนามฟุตบอล โดยกลุ่มฮูลิแกน กลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เกิดแค่ในประเทศอังกฤษ แต่รวมถึงยามสโมสรจากแดนผู้ดี ออกไปเล่นเกมยุโรป
เหล่าวัยรุ่นจอมซ่า จะเดินทางตามทีมรัก ไปชกต่อยกับแฟนบอลเจ้าถิ่น รวมถึงใช้โอกาสนี้ ในการปล้นเงิน และสินค้า เพื่อสมทบทุนค่าใช้จ่าย ในการซื้อเครื่องแต่งกายสุดเท่ของตัวเอง
ฮูลิแกน คือ ปีศาจร้ายของวงการฟุตบอลทั่วยุโรป สร้างชื่อเสียมากมายให้วงการลูกหนังอังกฤษ จนทำให้บุคคลสำคัญ อย่าง มาร์กาเรต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิง ของอังกฤษ ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 1979 ไม่พอใจอย่างมาก โทษฐานทำชื่อเสียงประเทศชาติเสื่อมเสีย
เธอมีเป้าหมายจะพาแดนผู้ดี กลับมาผงาดเป็นเบอร์ 1 ของทวีปยุโรปอีกครั้ง หลังต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคม มายาวนานหลายปี แธตเชอร์มองว่า ฮูลิแกน คือหนึ่งในตัวการ ที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก
ด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมของทีมฟุตบอลอังกฤษ บนเวทียุโรป ทำให้แธตเชอร์ไม่สบโอกาส ในการจัดการฮูลิแกนเสียที แต่ทุกอย่างได้เป็นใจให้นางสิงห์เหล็กผู้นี้ หลังเกิด "โศกนาฏกรรมเฮย์เซล" เมื่อปี 1985
เกมนัดชิงชนะเลิศ ฟุตบอลยูโรเปียน คัพ ระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ ยูเวนตุส กลายเป็น ฝันร้ายของวงการฟุตบอล เมื่อฮูลิแกนของทีมหงส์แดง พากันข้ามโซนบนอัฒจันทร์ของตัวเอง เพื่อไปเล่นงานแฟนบอลของทีมม้าลาย จนเกิดเหตุการณ์อัฒจันทร์ถล่ม และนำมาซึ่งการเสียชีวิตของแฟนบอลรวม 39 คน บาดเจ็บมากกว่า 600 คน
ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ สโมสรฟุตบอลจากอังกฤษโดนแบน 5 ปีจากฟุตบอลยุโรป ส่วนลิเวอร์พูล รับโทษหนักที่สุด ถูกแบน 6 ปี โทษฐานแฟนบอลของทีมเป็นฝ่ายก่อเรื่อง
ความภูมิใจในกีฬาลูกหนังของชาวอังกฤษ สูญสิ้นในทันที จากที่ครองยุโรป กลายเป็นหมดสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน หลังจากนั้น เรื่องราวแย่ ๆ เริ่มเปิดเผยขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
"ชื่อเสีย" ที่โด่งดังถึงขีดสุด ทำให้ฟุตบอลอังกฤษ ถูกมองเป็นลีกฟุตบอลเสื่อมโทรม นักฟุตบอลจากต่างประเทศ ไม่อยากย้ายมาเล่นบนแดนผู้ดี
นักเตะในชาติ ก็ต้องการจะย้ายออก เพื่อไปสัมผัสเกมยุโรป รวมถึงแฟนบอลจำนวนไม่น้อย ที่เลือกหันหลังให้เกมลูกหนัง เพราะไม่อยากพาตัวเอง และครอบครัว ไปเสี่ยงอันตราย จากการทะเลาะวิวาทของฮูลิแกน
ได้เวลาปฏิวัติ
"ฉันหวังว่า ฉันจะจับคนพวกนั้นได้ ให้พวกเขาได้ขึ้นศาล ให้พวกเขาได้มารับผิดชอบ กับสิ่งที่เกิดขึ้น และลงโทษให้หนักที่สุด เพื่อที่จะหยุด พวกเขาทุกคน ที่ยังคิดจะเดินในเส้นทางสายนี้" มาร์กาเรต แธตเชอร์ กล่าวหลังเกิดเหตุการณ์ โศกนาฏกรรมเฮย์เซล อันเป็นการส่งสัญญาณว่า การกวาดล้างฮูลิแกนอย่างจริงจัง ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
วิธีหลักที่นายกรัฐมนตรีหญิงอังกฤษ ใช้จัดการฮูลิแกน คือ การปราบปรามด้วยกำลังตำรวจ อย่างมีระบบ อย่างไรก็ตาม เธอรู้ดีว่า การใช้กำลังทางกายภาพ ไม่ใช่วิธีที่จะกำจัดแฟนบอลอันธพาลได้อย่างเด็ดขาด แต่ต้องทำให้นักเลงพวกนี้ ไม่มีที่ยืนในวงการฟุตบอลอีกต่อไป
แธตเชอร์ คือนายกรัฐมนตรี ที่พลิกอังกฤษ ให้กลับมาเป็นชาติแถวหน้าของโลกอีกครั้ง ดังนั้นการกำจัดฮูลิแกน ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเธอ เพียงแค่นำในสิ่งที่เธอเคยทำ กับการเปลี่ยนประเทศ มาใช้กับวงการฟุตบอล
ทุนนิยม กลายเป็นสิ่งที่แธตเชอร์ ยัดให้กับวงการฟุตบอลอังกฤษ เปิดโอกาสให้นักธุรกิจ เข้ามาเป็นผู้บริหารฟุตบอล เปลี่ยนฟุตบอลให้กลายเป็นสนามการค้า พูดคุยด้วยผลประโยชน์ทางการเงินมากขึ้น
ประกอบกับช่วงเวลานั้น หลายสโมสรโดนพิษฮูลิแกน เล่นงานอย่างต่อเนื่อง แฟนบอลเข้าสนามลดลง รายได้หดหาย เมื่อไม่มีเงิน อุปกรณ์อำนวยความสะดวกของทีม มีสภาพย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ สนามเหย้าของทีมทรุดโทรม เก่าแก่จนไม่รู้ว่าจะถล่มลงมาตอนไหน
ฟุตบอลอังกฤษ ตามหลังลีกสเปน และอิตาลี ในแง่ของจำนวนผู้ชม รวมถึงรายได้ของสโมสร ดังนั้นแล้ว สำหรับผู้มีอำนาจในวงการลูกหนังแดนผู้ดี นี่คือความเสื่อมเสีย ทำให้พวกเขาพร้อมเปิดรับแนวคิดทุนนิยม แบบแธตเชอร์ เข้ามามีบทบาทในวงการฟุตบอล
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล และท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ เป็นแกนนำที่ออกมาแสดงแนวทาง การปฏิวัติฟุตบอลอังกฤษ ทั้ง 3 ทีม มีประธานสโมสรเป็นนักธุรกิจ ที่เข้ามารับตำแหน่งในช่วงยุค 80s
นักธุรกิจเหล่านี้ เห็นด้วยกับแธตเชอร์ว่า วงการลูกหนังแดนผู้ดี สามารถมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว หากสามารถกำจัด แฟนบอลอันธพาลออกไปได้
วิธีกำจัดฮูลิแกน ง่ายดายกว่าที่หลายคนคาดคิด เพียงแค่เพิ่มราคาตั๋วให้มีราคาแพงหูฉีก เหล่าวัยรุ่นที่ไม่มีงานเป็นหลักแหล่ง ก็ไม่มีเงินมากพอที่จะเข้ามาซื้อตั๋ว ชมการแข่งขัน อิทธิพลของฮูลิแกนหายไปอย่างรวดเร็ว
เป้าหมายแฟนบอลกลุ่มใหม่ คือ คนชนชั้นกลาง และการขยายตลาดสู่ต่างชาติ เจ้าของหลายสโมสร เลือกลงทุนด้วยเงินก้อนโต พัฒนาคุณภาพสนาม สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้สมกับตั๋วราคาแพง เพื่อดึงดูดแฟนกระเป๋าหนักเข้าสู่สนาม
ฟุตบอลอังกฤษเริ่มกลับสู่ความนิยมอย่างรวดเร็ว สโมสรฟุตบอลเริ่มรู้สึกว่า หากหันมาทำธุรกิจผ่านกีฬาอย่างจริงจัง ไม่ใช่เรื่องยากที่จะหากำไรกลับคืน และพัฒนาคุณภาพของทีม ทำให้พวกเขามองเห็นโอกาสที่ใหญ่กว่า ในการคว้าเงินก้อนโตไว้ในมือ
ลีกแห่งธุรกิจ
ท่ามกลางการปราบปรามฮูลิแกน แม้ว่าแฟนบอลจะหันหลังให้กับการเข้าชมเกมในสนาม แต่พวกเขาไม่ได้เลิกติดตามฟุตบอล เพียงแต่หันไปรับชมเกม ด้วยช่องทางใหม่ นั่นคือ "การถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์" ที่เริ่มต้นได้รับความนิยมตั้งแต่ยุค 70s
พร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของลัทธิฮูลิแกน ยิ่งกลุ่มอันธพาลลูกหนังเติบโตมากเท่าไหร่ ยิ่งมีแฟนบอลนั่งอยู่บนโซฟา เพื่อชมเกมผ่านหน้าจอมากเท่านั้น
สโมสรในลีกสูงสุดของอังกฤษ รู้เรื่องนี้ดี เพียงแต่ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เงินค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดส่วนใหญ่ ไปเข้ากระเป๋าของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ แทนที่จะเป็นทีมฟุตบอลในลีก
หลังจากโศกนาฏกรรมเฮย์เซล ในปี 1985 ผู้บริหารทีมฟุตบอล มองเห็นค่าลิขสิทธิ์โทรทัศน์เป็นเงินก้อนสำคัญ ที่จะนำมาพัฒนาธุรกิจ
ทำให้ในปี 1986 สโมสรฟุตบอลจากลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษ หรือ ดิวิชั่น 1 รวมหัวกันไปต่อรองกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ขอส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์ 50 เปอร์เซนต์ จากสัญญาฉบับใหม่ มูลค่า 6.3 ล้านปอนด์ ในระยะเวลา 2 ปี
หากสมาคมฯไม่ยอม พวกเขาจะถอนตัวจากลีก ซึ่งสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ยอมต่อข้อเสนอของทีมฟุตบอลแต่โดยดี ทว่าแค่นี้ ยังไม่ทำให้เหล่านักธุรกิจเจ้าของทีมพอใจ
เวลาผ่านไป 2 ปี ฟุตบอลอังกฤษเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผ่านการปรับตัวให้กีฬา เป็นธุรกิจมากขึ้น และดิวิชั่น 1 ได้รับค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฉบับใหม่ 44 ล้านปอนด์ ในระยะเวลา 4 ปี เมื่อปี 1988 มูลค่าเพิ่มขึ้นจากสัญญาฉบับเก่า เกือบ 4 เท่าตัว
เหล่าสโมสรฟุตบอลลีกสูงสุดจึงกลับมาต่อรอง กับสมาคมฟุตบอลอีกครั้ง โดยคราวนี้ขอส่วนแบ่ง 75 เปอร์เซนต์ ไม่อย่างนั้นจะถอนตัวออกจากลีก และเป็นอีกครั้งที่สมาคมฯ ยอมทำตามคำขอของสโมสร
ฟุตบอลอังกฤษ ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทีมชั้นนำ อย่างลิเวอร์พูล, เอฟเวอร์ตัน, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ อาร์เซนอล มีแฟนบอลกระจายตัวอยู่ทั่วโลก ผ่านการเผยแพร่เกมการแข่งขัน ด้วยนวัตกรรมถ่ายทอดทางโทรทัศน์
ทีมฟุตบอลรู้ดีว่า นี่คือขุมทรัพย์มหาศาล เพราะความต้องการชมการแข่งขันลีกสูงสุด อังกฤษ มีมากทั้งใน และนอกประเทศ
5 สโมสรที่ถูกเรียกว่าเป็น บิ๊ก 5 (Big 5) ในปี 1990 ได้แก่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, เอฟเวอร์ตัน, อาร์เซนอล และท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ส ได้จัดประชุมระหว่างผู้บริหาร เพื่อเริ่มต้นแนวคิดที่ยิ่งใหญ่ ท้าทายกว่าในอดีต
แทนที่จะไปต่อรองส่วนแบ่ง กับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ เหล่าสโมสรชั้นนำเห็นตรงกันว่า ถ้าแยกออกมาตั้งลีกของตัวเอง และต่อรองผลประโยชน์ โดยไม่ต้องผ่านสมาคมฯ ทีมฟุตบอลน่ามีจะรายได้ เข้าสู่สโมสรมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว
หลังจากนั้นไม่นาน สโมสรแนวหน้าของศึกดิวิชั่น 1 ตกลงร่วมกันว่าจะแยกตัวออกจากระบบลีก ของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ มาตั้งลีกของตัวเอง บริหารจัดการโดยสโมสรสมาชิกภายในลีก โดยมี เดวิด ดีน ประธาน และผู้ถือหุ้นของอาร์เซนอล เป็นผู้นำในการผลักดันสร้างลีก
ปี 1991 สโมสรบนลีกสูงสุดอังกฤษ ประกาศตั้งองค์กรที่ชื่อว่า เอฟเอ พรีเมียร์ลีก (FA Premier League) เพื่อบริหารธุรกิจของลีก และงานแรกของพวกเขา คือเปิดประมูลค่าลิขสิทธิ์ลีกใหม่ ที่จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ ในฤดูกาล 1992-93
Photo : www.footyheadlines.com
สโมสรจากลีกสูงสุด คิดไม่ผิดที่แยกออกมาสร้างลีกของตัวเอง เพราะพรีเมียร์ลีก ได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์ฉบับแรก สูงถึง 304 ล้านปอนด์ ภายใต้สัญญา 5 ปี จากช่อง Sky Sports สถานีโทรทัศน์เอกชนหน้าใหม่ ที่ไม่เคยถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกสูงสุดมาก่อน
รายได้จากสัญญาฉบับใหม่ เพิ่มขึ้นจากสัญญาฉบับเก่าเกือบ 6 เท่า และเข้าสู่สโมสรโดยตรง การได้รับเงินก้อนนี้ คือหลักฐานสำคัญว่า ฟุตบอลอังกฤษ ได้กลายเป็นธุรกิจกีฬาอย่างเต็มตัว
แผนการของมาร์กาเรต แธตเชอร์ และเจ้าของสโมสร ที่ต้องการให้ทุนนิยม เข้ามาเป็นผู้ปกครองเกมลูกหนัง ได้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย และฤดูกาล 1992-93 คือฤดูกาลแรกของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ลีกสูงสุดใหม่ของวงการลูกหนังอังกฤษ
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา วงการฟุตบอลอังกฤษ ไม่เคยมองกลับหลัง ถึงความตกต่ำ เสื่อมความนิยม ช่วงกลางยุค 80s หรือภาพลักษณ์ของเกมลูกหนัง ที่มาพร้อมกับแฟนบอลอันธพาลอีกเลย
เพราะนับตั้งแต่พรีเมียร์ลีกเกิดขึ้น ฟุตบอลอังกฤษเติบโตอย่างรอบด้าน ทั้งในแง่ความนิยม, คุณภาพการแข่งขัน, ชื่อเสียงของโค้ช และนักเตะ, การลงทุนของสโมสร ผ่านเจ้าของเศรษฐีพันล้าน, มูลค่าของลีกที่เพิ่มขึ้นไม่หยุด จนกลายเป็นลีกฟุตบอลทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลก เฉกเช่นในปัจจุบัน