คาวาซากิ ฟรอนตาเล : ทีมเทพจากเจลีก ที่ไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางการทำทีมตลอด 20 ปี
สำหรับคนที่ติดตาม ฟุตบอลเจลีก คงพอจะทราบดีว่า ลีกสูงสุดของญี่ปุ่น มีการแข่งขันที่สูงมาก ไม่ค่อยมีทีมไหนที่ยืนระยะคว้าแชมป์ได้อย่างต่อเนื่อง บางสโมสรจบอันดับหัวตารางเมื่อปีที่แล้ว อาจต้องหนีตายในซีซั่นถัดไปก็ได้
คาวาซากิ ฟรอนตาเล ไม่ใช่เพียงสโมสร ที่สามารถยืนหยัดอยู่แถวหน้าของวงการลูกหนังแดนอาทิตย์อุทัย จากการครองตำแหน่งจ่าฝูงฤดูกาลปัจจุบัน
และช่วง 4 ฤดูกาลหลังสุด ฟรอนตาเล คั่วแชมป์ลีกถึง 3 ซีซั่น หลายคนจึงยกให้พวกเขา เป็นทีมฟุตบอลที่ดีที่สุดของประเทศญี่ปุ่น
ปัจจัยที่ทำให้ คาวาซากิ ฟรอนตาเล ยกระดับตัวเองจากทีมลีกล่าง ขึ้นมาเป็น สโมสรที่มีคุณภาพดีสุดในญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่เพียงขุมกำลังนักเตะ และมันสมองของโค้ช แต่มีพิมพ์เขียวมาจากแนวทางการทำทีมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอด 2 ทศวรรษ จนออกผลคว้าแชมป์ เจลีก ได้ 2 สมัยซ้อน
บทเรียนจากลีกล่าง
คาวาซากิ ฟรอนตาเล ก่อตั้งขึ้นในปี 1955 ภายใต้ชื่อ สโมสรฟุตบอลฟูจิตสึ ลงเล่นในฐานะทีมองค์กรนานกว่า 40 ปี
กระทั่งสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ออกกฏห้ามสโมสรฟุตบอลมีชื่อบริษัท เพื่อลบภาพทีมองค์กร และเพิ่มความเป็นมืออาชีพ สโมสรฟูจิตสึ จึงประกาศเป็นอิสระ จากบริษัทแม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น คาวาซากิ ฟรอนตาเล ในปี 1997
Photo : musashikosugi.blog.shinobi.jp
คำว่า ฟรอนตาเล ที่ตามหลังชื่อเมืองที่ตั้งมาจากคำว่า frontal ภาษาอิตาลี มีความหมายว่า “แนวหน้า” สื่อถึงความทะเยอทะยานที่อยากเป็นทีมฟุตบอลระดับท็อป สวนทางกับสถานการณ์ตอนนั้น ที่เป็นเพียงทีมกลางตารางในศึก Japan Football League (JFL) การแข่งขันฟุตบอลกึ่งอาชีพของญี่ปุ่น
ความเปลี่ยนแปลงเข้ามาสู่สโมสรแห่งนี้ เมื่อปี 1999 หลังการจัดตั้งของเจทู (J.2 League) ลีกฟุตบอลอาชีพระดับสองแห่งใหม่
คาวาซากิ ฟรอนตาเล ที่จบอันดับ 2 ของศึก JFL ฤดูกาล 1998 จึงถูกคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 10 ทีม ได้โอกาสลงเล่นศึกเจทู ฤดูกาล 1999 ก่อนคว้าแชมป์ลีกรองได้สำเร็จ คว้าตั๋วเลื่อนชั้นสู่เจลีก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร
โชคร้ายที่ความฝันบนลีกสูงสุดของพวกเขาไม่ยืนยาว ฟรอนตาเล จบฤดูกาล 2000 ในฐานะอันดับ 15 ของตารางคะแนน ตกชั้นจากเจลีก หลังเก็บเพียง 10 แต้ม จากการแข่งขัน 15 นัด นี่คือผลงานที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อเป็น คาวาซากิ ฟรอนตาเล
Photo : www.jiji.com
การตกชั้นครั้งนี้กลายบทเรียนครั้งใหญ่ของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล พวกเขาปรับเปลี่ยนโครงสร้างสโมสรครั้งใหญ่ หลังฤดูกาล 2000 นักเตะรวมถึงสตาฟฟ์จำนวนมาก ที่อยู่กับทีมตั้งแต่ยุคลีกกึ่งอาชีพ
ไม่ว่าจะเป็น อิคุโอะ มัทสึโมโต ผู้อำนวยการสโมสร อดีตเฮดโค้ชชุดเลื่อนชั้นปี 1999, ฮิโรชิ โคบายาชิ เฮดโค้ชคนปัจจุบัน, เรียวสึเกะ โอคุโนะ กองหลังกัปตันทีม และเท็ตสึโอะ นากานิชิ เอซของสโมสร ที่อยู่กับทีมตั้งแต่ปี 1997 ถูกโละออกจากสโมสร เพื่อเปิดทางให้โค้ช และผู้เล่นดาวรุ่งเข้ามาทำผลงาน
บุคลากรชาวบราซิลถูกดึงเข้ามาเป็นกำลังหลักของสโมสร ฟรอนตาเล คว้าตัว เอเมอร์สัน อดีตกองหน้าคอนซาโดเล ซัปโปโร ดีกรีดาวซัลโวเจทู ฤดูกาล 2000 เข้ามาสู่ทีม และดึง พิตตา อดีตนักเตะที่ชาติบราซิล ที่เคยเล่นฟุตบอลในลีกญี่ปุ่นช่วงปี 1991-1993 เข้ามาเป็นทีมสตาฟฟ์
ส่วนตำแหน่งเฮดโค้ชตกเป็นของ โนบุฮิโระ อิชิซากิ ที่เคยพา โออิตะ ทรินิตะ จบอันดับ 3 ในเจทู สองฤดูกาลติดต่อกัน
Photo : www.frontale.co.jp
ฟุตบอลเกมรุกสไตล์บราซิลของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล ทำผลงานเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการเล่นของ เอเมอร์สัน ที่ยิง 19 ประตู จากการเล่นเพียง 18 นัด ฟอร์มร้อนแรงเกินคาดของศูนย์หน้ารายนี้ กลายเป็นดาบ 2 คมทิ่มแทงตัวเอง
อูราวะ เรดไดมอนส์ มหาอำนาจลูกหนังญี่ปุ่นในตอนนั้น ทุ่มเงินมหาศาลคว้าตัวเอเมอร์สัน ตั้งแต่ช่วงครึ่งฤดูกาล 2001 พร้อมกับดึงตัว พิตตา โค้ชที่อยู่เบื้องหลักเกมรุกแสนเร้าใจไปจากทีม
เมื่อเสียกองหน้าคนสำคัญ เกมรุกที่เคยร้อนแรงของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล จึงหายไป บวกกับจุดอ่อนในเกมรับที่เป็นปัญหาอยู่ก่อนหน้า ฟรอนตาเล ฟอร์หลุดแบบกู่ไม่กลับ จบเจทู ฤดูกาล 2001 ด้วยอันดับ 7 ของตาราง พลาดตั๋วเลื่อนชั้นแบบหมดลุ้น
ยึดมั่นในแนวทาง
ความล้มเหลวในศึกเจทู ฤดูกาล 2001 ส่งผลร้ายกับ คาวาซากิ ฟรอนตาเล กว่าที่คาด
นักฟุตบอลหลายรายย้ายทีม เพื่อหาโอกาสลงเล่นในเจ.ลีก ขณะเดียวกัน กลุ่มดาวรุ่งของสโมสรที่แฟนบอลตั้งความหวัง ไม่สามารถแบกทีมตามเป้าหมาย ท่ามกลางระบบฟุตบอลเกมรุกที่พึ่งพาความสามารถนักเตะค่อนข้างสูง
Photo : @kawasaki_frontale_por
หากเป็นสโมสรอื่น การเปลี่ยนวิธีเล่นให้เข้ากับทรัพยากรของทีม ดูจะเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่า เพื่อคว้าตั๋วเลื่อนชั้น แต่ผู้บริหาร คาวาซากิ ฟรอนตาเล มองเป้าหมายไกลกว่านั้น
การตกชั้นอย่างน่าอับอายในฤดูกาล 2000 คือสิ่งที่ฟรอนตาเล ไม่ต้องการพบเจอเป็นครั้งที่สอง ดังนั้นการเลื่อนชั้น จึงไม่ใช่สิ่งเดี่ยวที่ทีมต้องการ แต่รวมถึงการรักษาพื้นที่บนลีกสูงสุดอย่างยั่งยืน
คาวาซากิ ฟรอนตาเล เรียนรู้จากความผิดพลาด พวกเขามองเห็นว่า การพึ่งพาความหวังที่กองหน้าต่างชาติ ซึ่งเป็นวิธียอดฮิตของสโมสรญี่ปุ่นในช่วงนั้น ไม่ตอบโจทย์ในระยะยาว
เนื่องจากไม่มีเงินมากพอจะรั้งแข้งเหล่านี้จากทีมใหญ่ เช่นกรณีของ เอเมอร์สัน การยึดมั่นกับระบบทีม และวางแผนการระยะยาวต่างหาก คือ กุญแจสำคัญที่จะพาพวกเขาถึงเป้าหมาย
ด้วยเหตุนี้ ฟรอนตาเล ให้โอกาส โนบุฮิโระ อิชิซากิ ทำงานต่อในฤดูกาลถัดมา เนื่องจากเชื่อมั่นในวิธีการที่เรียกว่า “ฟิสิคเทค” (フィジテク)
คือ การผสมผสานความสามารถเฉพาะตัวของนักเตะ เข้ากับการฝึกซ้อมที่เข้มข้น จนสร้างสมรรถภาพความฟิตของผู้เล่นให้เกินมาตรฐาน สามารถเล่นเกมเพรสซิงใส่คู่แข่ง ยาวนานตลอด 90 นาที ตั้งแต่ฤดูกาล 2001
“ผมอยู่กับแนวทางนั้น(ฟิสิคเทค) ในปีแรกของผมบนทีมชุดใหญ่ การฝึกซ้อมเป็นงานที่หนักสำหรับผมมาก แม้แต่การฝึกซ้อมส่วนตัว ผมถูกฝึกอย่างหนักเพื่อพัฒนาสภาพร่างกายให้มากที่สุด” เคนโกะ นากามูระ กองกลางดีกรีทีมชาติญี่ปุ่น ที่อยู่กับ คาวาซากิ ฟรอนตาเล ตั้งแต่ปี 2003 จนถึงปัจจุบัน กล่าว
กำจัดข้อดีของคู่ต่อสู้ ด้วยการเพรสซิงอย่างเข้มข้นบริเวณกลางสนาม ก่อนโจมตีอย่างรวดเร็ว คือ คำอธิบายที่สื่อญี่ปุ่นมอบให้กับแนวทางการเล่นแบบฟิสิคเทค
นักเตะดาวรุ่งของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล เรียนรู้แนวทางนี้ตั้งแต่อายุน้อย ไม่เพียงแค่นั้น อิชิซากิ ได้อิสระจากผู้บริหารในการดึงนักเตะชาวญี่ปุ่นจากโออิตะ ทรินิตะ ที่คุ้นชินกับแทคติกนี้ อย่าง อิวาโอะ ยามาเนะ หรือ ทาเคโตะ ชิโอคาวา เข้ามาสู่ทีม
ประสิทธิภาพของ ฟิสิคเทค เห็นผลในศึกเจทู ฤดูกาล 2003 ฟรอนตาเล กลายเป็นทีมที่ทำประตูมากที่สุดในลีกด้วยผลงาน 88 ประตู จบอันดับ 3 ของตาราง พลาดคว้าตั๋วเลื่อนชั้นด้วยระยะห่างเพียง 1 คะแนน
แม้ อิชิซากิ จะปฏิเสธที่จะต่อสัญญากับทีมออกไป เพื่อย้ายไปคุม ชิมิสุ เอส-พัลส์ ในเจลีก แต่ฟุตบอลเกมรุกที่ผสมผสานเทคนิค และการเพรสซิง ได้กลายเป็นรากฐานของสโมสร
คาวาซากิ ฟรอนตาเล ภายใต้การคุมทีมของเฮดโค้ชคนใหม่ ทาคาชิ เซกิสุกะ สามารถคว้าแชมป์เจทู ฤดูกาล 2004 ด้วยการเก็บ 105 คะแนน จาก 34 นัด และยิงถึง 104 ประตู เลื่อนชั้นกลับสู่เจลีกเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์สโมสร และไม่ตกชั้นอีกเลยนับแต่นั้น
อดทนรอความสำเร็จ
ฟุตบอลเกมรุกยังเป็นแนวทางหลักของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล หลังเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด ทาคาชิ เซกิสุกะ ปรับแทคติกให้เน้นการครองบอล และใส่ใจเกมรับมากขึ้น
หลังได้แรงบันดาลใจจากรูปแบบการเล่นของ คาร์โล อันเชล็อตติ ที่เอซี มิลาน โดยเลือกใช้แผนกองหลัง 4 ตัว และปรับตำแหน่งของ เคนโกะ นากามูระ ให้คล้ายคลึงกับ อันเดรีย ปีร์โล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจหากฟรอนตาเล จะทำผลงานน่าประทับใจในศึกเจ.ลีก ฤดูกาล 2005 ด้วยการจบอันดับ 8 ของตาราง ด้วยผลต่างลูกได้-เสีย +7
Photo : www.frontale.co.jp
ความสำเร็จในสนามของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล สอดคล้องกับเรื่องราวนอกสนาม แตกต่างจาก เวอร์ดี คาวาซากิ (โตเกียว เวอร์ดี ในปัจจุบัน)
พวกเขาสามารถมัดใจแฟนบอลท้องถิ่น ที่เคยเลือกเชียร์ทีมฟุตบอลจากเมืองใหญ่รอบข้าง อย่าง โตเกียว หรือ โยโกฮามา ด้วยการสร้างแคมเปญ “ความภูมิใจแห่งคาวาซากิ” ช่วยให้ ฟรอนตาเล มีค่าเฉลี่ยคนดู 13,658 ราย เพิ่มขึ้นจากเดิม 49.3 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูกาล 2005
ความพร้อมทั้งขุมกำลังในสนาม และแฟนบอลที่คอยหนุนหลัง คาวาซากิ ฟรอนตาเล จึงเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการล่าแชมป์ระดับเมเจอร์ เข้ามาประดับสโมสร
พวกเขาดึงนักเตะฝีมือดีจากต่างชาติ อย่าง ฮัลค์ แข้งดาวรุ่งชาวบราซิล และ จอง แด แซ กองหน้าทีมชาติเกาหลีเหนือ เข้าสู่ทีมในฤดูกาล 2006
Photo : www.jiji.com
โชคร้ายที่ผลงานของทีมไม่เป็นอย่างหวัง ฮัลค์ กลายเป็นนักเตะอีโก้จัด ไม่ยอมปรับตัวเข้ากับสไตล์การเล่นของฟรอนตาเล ถูกปล่อยให้สโมสรอื่นยืมตัว 2 ปีติด นักเตะรายอื่นขาดประสบการณ์ลุ้นแชมป์ จนฟอร์มแกว่งท้ายฤดูกาล พวกเขาจบปี 2006 ด้วยตำแหน่งรองแชมป์ แม้เป็นทีมที่ยิงประตูเยอะที่สุดในลีก
คาวาซากิ ฟรอนตาเล พลาดเป้าหมายอีกครั้งในฤดูกาล 2007 หลังจบอันดับ 5 ของตาราง ความกดดันจากความคาดหวังที่มากขึ้น นำมาสู่เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ทาคาชิ เซกิสุกะ มีปัญหาสุขภาพ ถึงขั้นต้องพักการคุมทีมในช่วงกลางฤดูกาล 2008 ก่อนกลับมารับงานในซีซั่น 2009
แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ ฟรอนตาเล ไปไม่ถึงฝัน ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลลีก หรือ ฟุตบอลถ้วย เซกิสุกะ ปฏิเสธสัญญาใหม่หลังจบฤดูกาล ปิดฉากช่วงเวลาของเขากับฟรอนตาเล เพียงเท่านี้
เกิดคำถามมากมายหลังการจากไปของ ทาคาชิ เซกิสุกะ โดยเฉพาะสไตล์ฟุตบอลเกมรุกที่ไม่เคยพาทีมไปถึงฝัน ช่วงปี 2006 – 2009 คาวาซากิ ฟรอนตาเล คว้าตำแหน่งรองแชมป์ 5 รายการ ได้แก่ ตำแหน่งรองแชมป์เจ.ลีก ฤดูกาล 2006, 2008 และ 2009 รวมถึงรองแชมป์ เจ.ลีก คัพ ฤดูกาล 2007 และ 2009
Photo : www.frontale.co.jp
ความผิดหวังของนักเตะฟรอนตาเลมาถึงขีดสุด ในรอบชิงชนะเลิศศึกเจ.ลีก คัพ 2009 หลังพวกเขาแพ้ต่อ เอฟซี โตเกียว 2-0
นักเตะบางส่วนของทีม ปฏิเสธการรับเหรียญเงิน และจับมือกับผู้มีเกียรติในพิธีมอบรางวัล การกระทำดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม ถือว่าไม่ให้เกียรติผู้ชนะ สโมสรออกมาขอโทษ ก่อนตัดสินใจไม่รับเงินรางวัล 50 ล้านเยน โดยบริจาคเงินทั้งหมดแก่เมืองคาวาซากิ
ทางเลือกของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล เหลือเพียง 2 ทาง อย่างแรกคือ ปรับเปลี่ยนแนวทางสโมสรสู่รูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การใช้โค้ชต่างชาติ หรือเล่นฟุตบอลเกมรับเน้นผลมากขึ้น
ส่วนอีกทางเลือกคือ ยึดมั่นแนวทางเดิมที่วางรากฐานตั้งแต่ปี 2000 ผ่านแทคติกฟุตบอลเกมรุกแบบเน้นเพรสซิงที่ โนบุฮิโระ อิชิซากิ และทาคาชิ เซกิสุกะ วางไว้
“แม้จะไม่สามารถคว้าแชมป์มาครองในช่วงหลายปีหลัง มีการถกเถียงว่า ฟรอนตาเล คือทีมฟุตบอลที่ดีที่สุดในประเทศญี่ปุ่น พวกเขาชนะใจแฟนบอลจำนวนมาก และก้าวขึ้นสู่การเป็นทีมแถวหน้าในประเทศ และเอเชีย” ข้อความส่วนหนึ่งจากบทความสโมสร คาวาซากิ ฟรอนตาเล ที่เขียนในเว็บไซต์ Goal.com
โชคดีที่ผู้บริหารฟรอนตาเล เชื่อมั่นในแนวทางที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้ ด้วยการหาโค้ชรายใหม่ที่เหมาะสมกับสไตล์ของทีมอย่าง ทสึโทมุ ทากาฮาตะ, นาโอกิ โซมะ หรือ ยาฮิโระ คาซามา ทั้งหมดคือเทรนเนอร์ชาวญี่ปุ่นที่ยึดมั่นในฟุตบอลเกมรุก
ความเชื่อมั่นต่อแนวทางกลับมาตอบแทน คาวาซากิ ฟรอนตาเล ในฤดูกาล 2017 ภายใต้การคุมทีมของ โทรุ โอนิกิ เฮดโค้ชรายใหม่ของสโมสร ที่ซึมซับปรัชญาฟุตบอลผ่านการคุมทีมเยาวชน ตั้งแต่ปี 2007
ก่อนรับตำแหน่งผู้ช่วยโค้ชในปี 2010 จนก้าวขึ้นมากุมบังเหียนทีมในฤดูกาลดังกล่าว และพาต้นสังกัดคว้าแชมป์ลีกทันที ด้วยผลงานยิง 71 ประตู มากที่สุดในลีก ทำให้พวกเขามีได้ผลต่างลูกได้เสียดีกว่า คาชิมา แอนท์เลอร์ส หลังทั้งสองทีมมีแต้มเท่ากัน 72 คะแนน
คาวาซากิ ฟรอนตาเล ป้องกันตำแหน่งแชมป์เจลีกได้สำเร็จ ในฤดูกาล 2018 แม้พลาดจบอันดับ 4 ในฤดูกาล 2019 แต่พวกเขาสามารถคว้าแชมป์เจลีก คัพ มาครองในฤดูกาลดังกล่าว ก่อนลงแข่งขันฤดูกาล 2020 ด้วยฟอร์มยอดเยี่ยม นำเป็นอันดับ 1 ของตาราง หลังผ่านการแข่งขัน 16 นัด โดยมีคะแนนนำ เอฟซี โตเกียว ทีมอันดับ 2 อยู่ 8 คะแนน
ฟุตบอลเกมรุกเน้นเพรสซิงของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล ยังเป็นแนวทางหลักของทีม พวกเขาครองบอลเพียง 54.6 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าแชมป์เก่า โยโกฮามา เอฟ มารินอส ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อดูผลงานในปัจจุบัน (หลังผ่าน 16 นัด) ฟรอนตาเลยิงมากกว่ามารินอส 17 ประตู และเก็บแต้มมากกว่า 20 คะแนน
Photo : Kawasaki Frontale
ผลงานในศึกเจลีก ฤดูกาล 2020 ของคาวาซากิ ฟรอนตาเล ไม่ได้เกิดขึ้นในพริบตา แต่มาจากการอดทนรอคอยความสำเร็จ ที่ยาวนานมากกว่า 10 ปี นับตั้งแต่เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดในฤดูกาล 2005
หากพวกเขาถอดใจเลิกแนวทางที่เคยทำมา ไม่มีใครรู้ว่า ฟรอนตาเล จะมีลุ้นคว้าแชมป์ลีก 3 สมัย ภายใน 4 ปีหลังสุด อย่างทุกวันนี้หรือไม่
แนวทางการทำทีมของ คาวาซากิ ฟรอนตาเล จึงเป็นตัวอย่างที่หลายสโมสรน่าศึกษา พวกเขาพัฒนาตัวเองจากทีมฟุตบอลลีกล่าง สู่การเป็นมหาอำนาจลูกหนังญี่ปุ่น ไม่ใช่เพราะเม็ดเงิน หรือนักเตะต่างชาติชื่อดัง แต่มาจากแนวทางฟุตบอลที่พวกเขายึดมั่น และไม่เคยเปลี่ยนตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา