ตกชั้นก็ไม่กลัว : ทีมลีกรองมีวิธีกลับสู่พรีเมียร์ลีกอย่างรวดเร็วได้อย่างไร?

ตกชั้นก็ไม่กลัว : ทีมลีกรองมีวิธีกลับสู่พรีเมียร์ลีกอย่างรวดเร็วได้อย่างไร?

ตกชั้นก็ไม่กลัว : ทีมลีกรองมีวิธีกลับสู่พรีเมียร์ลีกอย่างรวดเร็วได้อย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"การตกชั้น" คือหนึ่งในความเจ็บปวดที่สุดของโลกฟุตบอล เพราะนี่คือสัญลักษณ์ของความพ่ายแพ้ใน การต่อสู้บนเกมลูกหนังที่ยาวตลอดฤดูกาล มีแค่ทีมตกชั้นเท่านั้นที่คู่ควร กับการถูกเรียกว่าเป็นผู้แพ้

การตกชั้นคือความเจ็บปวด แต่คงจะยิ่งปวดใจกว่า หากการตกชั้นคือการร่วงจาก พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ลีกลูกหนังสูงสุดของแดนผู้ดี อันเป็นลีกฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก 

ความเจ็บปวดที่ยิ่งกว่าการตกชั้น คือการไม่สามารถกลับไปยังจุดที่เคยอยู่ หลายสโมสรร่วงจากพรีเมียร์ลีก และติดอยู่ในลีกระดับล่าง 

อย่างไรก็ตาม บางสโมสรกลับสามารถเลื่อนชั้น กลับสู่ลีกสูงสุดได้ภายในเวลาไม่กี่ปี หลังจากตกชั้น ทั้งที่การเลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีก ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะลีกรองอย่าง อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ คือหนึ่งในลีกฟุตบอล ที่แข่งขันอย่างเข้มข้นมากที่สุดในโลก เนื่องจากมีแค่ 3 จาก 24 ทีมเท่านั้น ที่จะได้ขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ในแต่ละฤดูกาลแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม มีบางทีมเจอสูตรสำเร็จของการเลื่อนชั้น และใช้เป็นแนวทางพาสโมสรกลับสู่ลีกสูงสุดได้อย่างรวดเร็ว

ปรับสภาพทีมให้เหมาะกับการตกชั้น

หลังร่วงหล่นจากลีกสูงสุดอังกฤษ ความท้าทายสำคัญที่สโมสรต้องเผชิญ ไม่ใช่การคิดเรื่องกลับไปเล่นในพรีเมียร์ลีก แต่เป็นการปรับสภาพคล่องทางการเงิน ให้เหมาะสม กับรายได้มหาศาลที่หายไป

การเล่นในพรีเมียร์ลีก ช่วยรับประกันรายได้อย่างน้อย 95 ล้านปอนด์ ให้กับสโมสร แต่เมื่อทีมร่วงหล่นสู่ อีเอฟเเอล แชมเปียนชิพ จะเหลือรายได้เฉลี่ยอยู่เพียง 32 ล้านปอนด์เท่านั้น คิดง่าย ๆ สโมสรที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก ต้องสูญเสียรายได้อย่างน้อย 63 ล้านปอนด์ และเม็ดเงินมหาศาลที่หายไป ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของทีมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีการเปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันลีกพระรองอังกฤษ คือหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอลที่สโมสรมีรายจ่ายมากในลำดับต้น ๆ ของยุโรป โดยเป็นรองเพียงแค่ 5 ลีกใหญ่เท่านั้น โดยปัจจุบัน ทีมในอีเอฟแอล แชมเปียนชิพ จ่ายค่าเหนื่อยให้กับนักเตะเฉลี่ยทีมละ 34 ล้านปอนด์ มากกว่ารายรับเฉลี่ยของสโมสรด้วยซ้ำ 

เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในด้านอื่น ปฏิเสธไม่ได้ว่าทีมในลีกพระรองของอังกฤษ ต้องเผชิญหน้าการขาดทุน กับการทำธุรกิจฟุตบอล ยิ่งเป็นสโมสรที่ตกชั้นมาจากพรีเมียร์ลีก ย่อมมีค่าใช้จ่ายเยอะกว่าทีมอื่น

นอกจากนี้ แม้ว่าการตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก จะมีเงินชูชีพจำนวน 75 ล้านปอนด์ ซึ่งแบ่งจ่าย 2 ปี เข้ามาช่วยเหลือสโมสร แต่เงินก้อนนี้ไม่ได้มีไว้ เพื่อให้ทีมที่ร่วงจากลีกสูงสุดนำไปใช้ซื้อนักเตะ เเต่มีไว้ใช้รักษาสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อช่วยให้ทีมจากพรีเมียร์ลีกปรับตัวกับลีกพระรองให้ไวที่สุด 

ดังนั้นแล้ว การจะเอาตัวรอดเบื้องต้น ในอีเอฟแอล แชมเปียนชิพ สโมสรที่ตกชั้น ต้องรีบปรับการบริหารองค์กรให้เหมาะสม กับจุดที่ตัวเองยืนอยู่ให้ได้อย่างรวดเร็วเสียก่อน แล้วค่อยมองถึงสเต็ปต่อไป คือการเลื่อนชั้นกลับสู่ลีกสูงสุด 

หลายสโมสรตกหลุมพรางของเงินชูชีพ หวังที่จะใช้เงินก้อนใหญ่พาทีมเลื่อนชั้น กลับพรีเมียร์ลีกในปีเดียว ก่อนติดหนี้หัวโตหลังเลื่อนชั้นไม่สำเร็จ ดังนั้นสิ่งที่ทีมต้องทำไม่ใช่การเพิ่มรายจ่าย แต่เป็นการลด

เวสต์บรอมวิช อัลเบียน ถือว่าเป็นทีมที่เชี่ยวชาญในการเลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในพรีเมียร์ลีกอย่างมาก หนึ่งในเคล็ดลับสำคัญของสโมสรแห่งนี้ คือการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วทุกครั้งที่ต้องเล่นในลีกพระรอง

ย้อนไปในฤดูกาล 2017-18 เวสต์บรอมวิช ทุ่มเงิน 50 ล้านปอนด์ เพื่อให้อยู่รอดในพรีเมียร์ลีก แต่เมื่อไม่ประสบผลสำเร็จ ทีมจัดการขายนักเตะออกทันทีเพื่อรับเงิน 24 ล้านปอนด์เข้ามาหมุนในสโมสร

นาเซอร์ ชาดลี, จอนนี อีแวนส์, เบน ฟอสเตอร์, ซาโลมอน รอนดอน, โอลิเวอร์ เบิร์ก ถูกปล่อยตัวออกจากทีม เพื่อหารายได้สโมสร และลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าเหนื่อย ที่เป็นตัวผลาญเงินของทีมใน อีแอฟแอล แชมเปียนชิพ

นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เป็นอีกทีมที่เลือกในแนวทางนี้ ในฤดูกาล 2016-17 ที่พวกเขาตกชั้นลงมาเล่นในลีกรอง ทัพสาลิกาดง ขายนักเตะรวมกว่า 92 ล้านปอนด์เพื่อนำเงินก้อน มาใช้วางแผนปรับการบริหารทีมอย่างเหมาะสม

มุสซา ซิสโซโก, จอร์จินิโอ ไวจ์นัลดุม, แอนดรอส ทาวน์เซนด์, เรมี คาเบลลา, ทิม ครูล, ฟลอริยอง โตแวง, เควิน เอ็มบาบู คือนักเตะเพียงส่วนหนึ่ง จากทั้งหมด 25 คน ที่นิวคาสเซิล ปล่อยออกจากทีมหลังการตกชั้น ทั้งขายขาดและยืมตัว

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ การเลื่อนชั้นของ เวสต์บรอมวิช และนิวคาสเซิล ในเวลาอันสั้น กลับสู่ลีกสูงสุดอีกครั้ง 

การปรับสภาพการเงิน รวมถึงการปล่อยนักเตะเพื่อหารายได้ อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักทำให้เลื่อนชั้น กลับไปเล่นในพรีเมียร์ลีก แต่เป็นก้าวสำคัญของการเดินถอยหลัง ช่วยให้สโมสรยืนตั้งหลักได้อย่างมั่นคง ที่พร้อมจะเดินหน้ากลับไปอีกครั้ง

 

เสริมตัวที่ควรเสริม

การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ คือแนวทางที่ทีมตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกหันมาใช้สู้ศึก อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ เช่น คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ หรือสวอนซี ที่ร่วงหล่นจากลีกสูงสุดได้ไม่นาน ล้วนเลือกปล่อยนักเตะออกจากทีม เพื่อหาเงินเข้าสโมสร

อย่างไรก็ตาม หากต้องการมองถึงการเลื่อนชั้น กลับคืนสู่พรีเมียร์ลีกโดยใช้เวลาไม่กี่ปี ก้าวถัดไปที่ต้องให้ความสำคัญ คือการหานักเตะฝีเท้าดีเข้ามาทดแทนผู้เล่นที่เสียไป

การปล่อยนักเตะตัวหลักบางคนสมัยอยู่ในพรีเมียร์ลีกไม่ใช่เรื่องแย่ ผู้เล่นบางคนไม่มีใจเล่นกับลีกพระรอง การเก็บเอาไว้มีแต่จะทำให้ทีมเสียสปิริต ในทางกลับกันยังมีนักฟุตบอลอีกมากที่ต้องการโอกาสลงสนาม พิสูจน์ความสามารถของตัวเอง แม้จะเป็นลีกระดับล่าง

แนวทางแรกคือการดึงนักเตะที่เป็นส่วนเกิน ของสโมสรจากพรีเมียร์ลีกมาร่วมทีม เช่น เวสต์บรอมวิช อัลเบียน ที่ใช้เวลา 2 ปี ในอีเอฟแอล แชมเปียนชิพ หลังตกชั้น ด้วยการดึงผู้เล่นซึ่งไม่มีที่ยืนบนลีกสูงสุดมาเล่นให้กับทีม

แซม จอห์นสโตน, ไคล์ บาร์ทลีย์, ชาลี ออสติน คือผู้เล่นที่เวสต์บรอมวิช ซื้อมาจากทีมในพรีเมียร์ลีก นักเตะเหล่านี้มีฝีเท้าดีแต่ถูกมองข้าม เพราะไม่ได้รับโอกาสหรืออยู่ในทีมที่ใหญ่เกินไป 

เมื่อได้ย้ายมาเล่นใน อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ คือโอกาสสำคัญให้ผู้เล่นเหล่านี้ได้พิสูจน์ตัวเอง เป็นกำลังหลักพาทีมลุ้นเลื่อนชั้น และเมื่อกลับมาเล่นในพรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ ผู้เล่นเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีฝีเท้ามากพอจะช่วยทีมบนลีกสูงสุด

ฟูแลม เป็นอีกทีมที่ใช้แนวทางนี้หลังตกชั้นมาเล่นลีกพระรองในฤดูกาลที่ผ่านมา สโมสรเก่าแก่จากลอนดอนตะวันตกเลือกดึงนักเตะที่ถูกมองข้ามจากพรีเมียร์ลีกเข้าสู่ทีม ไม่ว่าจะเป็น ไมเคิล เฮ็คเตอร์, อ็องโตนี น็อคการ์ต และ อีวาน คาวาเลโร มาสู้ศึกอีเอฟแอล แชมเปียนชิพ 

รวมถึงอีกทีมจากลอนดอนตะวันตก อย่าง ควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส ที่ใช้กลยุทธ์ดึงนักเตะส่วนเกิน จากพรีเมียร์ลีก มาสู้ศึกลีกพระรองหลังตกชั้น และทำให้พวกเขาเลื่อนชั้นกลับลีกสูงสุดภายในปีเดียว เมื่อฤดูกาล 2013-14

ทัพทหารเสือราชินี เซ็นสัญญานักเตะจากพรีเมียร์ลีก 3 ราย แบบไม่มีค่าตัว ได้เเก่ แดนนี ซิมพ์สัน, ริชาร์ด ดันน์ และ แกรี โอนีลล์ มาร่วมทีม เป็นการได้ของดีราคาถูกที่หลายทีมมองข้าม ช่วยทีมกลับไปเล่นพรีเมียร์ลีกอีกครั้ง 

การดึงผู้เล่นส่วนเกินจากลีกสูงสุดมาช่วยงานในลีกรอง คือแนวทางที่ตอบโจทย์แบบไม่ต้องสงสัย ดูได้จากกรณีของ แดนนี ซิมพ์สัน ที่เจ้าตัวพัฒนาฝีเท้าแบบก้าวกระโดด ก้าวขึ้นไปเป็นตัวหลักของ เลสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกร่วมกันมาแล้ว

นอกจากการซื้อตัวจากลีกสูงสุด อีกวิธีที่ได้รับความนิยมในการพาทีมกลับไปเล่นพรีเมียร์ลีก คือการยืมตัวผู้เล่นดาวรุ่งที่ขาดโอกาสการลงสนามมาระเบิดผลงานบนลีกพระรอง

อีเอฟแอล แชมเปียนชิพ ถือเป็นลีกที่นิยมการยืมตัวอยู่แล้ว และผู้เล่นชื่นชอบที่จะย้ายมาเล่นเช่นกัน เพราะเป็นลีกที่ไม่แข็งเกินไป แต่ถือว่ายังมีคุณภาพ รวมถึงหากทำผลงานได้ดี มีโอกาสที่ทีมจากพรีเมียร์ลีกจะให้ความสนใจดึงตัวไปร่วมทีม 

ทีมที่เพิ่งตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกได้เปรียบทีมอื่นตรงที่มีงบประมาณมากกว่า ช่วยให้หานักเตะคุณภาพดีได้ง่ายขึ้น ถ้าเจอผู้เล่นที่ตรงจุดช่วยเสริมความแกร่งให้ทีมได้ การเลื่อนชั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องยาก

ดังเช่น เวสต์บรอมวิช อัลเบียน ยืมตัว มาเธียส เปเรย์รา ปีกขวาชาวบราซิลมาจากสปอร์ตติง ลิสบอน สโมสรในประเทศโปรตุเกส และระเบิดผลงาน คว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของทีม จากการโหวตโดยแฟนบอล จนเดอะ แบ็กกีส์ ต้องซื้อขาดนักเตะรายนี้ เพื่อมาลุยพรีเมียร์ลีกกับทีมต่อไป

 

หาโค้ชที่ลงตัว 

การมีนักเตะที่ดีเหมือนกับอาหารที่ประกอบด้วยวัตถุดิบชั้นเลิศ แต่หากอาหารจะออกมาอร่อย ต้องมีเชฟฝีมือดีคอยรังสรรค์ ไม่ต่างอะไรกับฟุตบอล ถ้าจะเล่นให้ดีต้องมีกุนซือชั้นเยี่ยม คุมบังเหียนข้างสนาม

สำหรับอีเอฟแอล แชมเปียนชิพ การจะหาโค้ชที่พาทีมเลื่อนชั้นกลับไปลีกสูงสุด แค่ฝีมืออย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องเป็นกุนซือที่เหมาะสมกับแนวทางของลีก ภายใต้ความกดดันมหาศาล

สำหรับทีมที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก ความกดดันมหาศาลคือสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญ สำหรับแฟนบอล เป้าหมายเดียวที่พวกเขาต้องการเห็นคือการเลื่อนชั้น เป้าหมายนอกเหนือจากนั้นคือความล้มเหลว 

ขณะเดียวกัน หากยิ่งพลาด เงินในคลังยิ่งหมดไปเรื่อย ๆ อาจเปลี่ยนสภาพจากทีมที่ตกชั้นจากลีกสูงสุด กลายเป็นทีมเกรดกลางตารางของลีกพระรอง มีเป้าหมายเตะฟุตบอลเพื่ออยู่รอดในลีกระดับ 2 ไม่ใช่เลื่อนชั้นกลับพรีเมียร์ลีก

"ผมภูมิใจที่จะบอกว่าผมชอบที่จะคุมทีมในระดับแชมเปียนชิพ เพราะนี่คือลีกที่ยากมาก ผมกล้าพูดว่างานนี้เต็มไปด้วยความกดดัน ที่แม้แต่ตัวผมก็จินตนาการไม่ออก และมันเหนื่อยมาก ๆ" สลาเวน บิลิช ผู้จัดการทีมที่พาเวสต์บรอมวิช เลื่อนชั้นกลับสู่พรีเมียร์ลีกได้อย่างรวดเร็ว กล่าวถึงความท้าทายในการทำทีมลีกพระรอง

เรื่องฝีมือในการทำทีมของ สลาเวน บิลิช เป็นที่ชัดเจน กับผลงานผ่านทีมชาติโครเอเชีย และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ด้วยฟุตบอลที่เน้นการปะทะ การตั้งรับอย่างมีระเบียบวินัย สวนกลับด้วยเกมบุกเร็ว หากแต่สิ่งที่ทำให้บิลิช ประสบความสำเร็จ พาเวสต์บรอมวิชเลื่อนชั้น คือการใช้จิตวิทยาเข้ามาช่วยเหลือ

"ฟุตบอลเป็นเรื่องของความเจ็บปวด ถ้าคุณจะเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก ต้องรับความรู้สึกตรงนี้ให้ได้ การนั่งก้มหน้าและร้องไห้กับความพ่ายแพ้ไม่ช่วยอะไร"

"คุณต้องลุกขึ้นสู้อีกครั้ง นอนหลับให้เพียงพอ ตื่นเช้าขึ้นมา แล้วสู้ใหม่" บิลิชกล่าว 

สลาเวน บิลิช อาจไม่ใช่โค้ชที่ทุกทีมในลีกอีเอฟแอล แชมเปียนชิพ สามารถจ้างได้ เพราะกุนซือชาวโครเอเชียรายนี้ รับรายได้ประมาณ 3 ล้านปอนด์ต่อปี มากที่สุดในลีกพระรองของอังกฤษฤดูกาลที่ผ่านมา (เท่ากับ มาร์เซโล บิเอลซา ของลีดส์ ยูไนเต็ด)

อย่างไรก็ตาม เงิน 3 ล้านปอนด์ สำหรับทีมที่เพิ่งตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก ไม่ได้แพงเกินไปหากจะจ่ายเพื่อจ้างโค้ชฝีมือดีสักคน ที่มีทั้งความรู้ทางเทคติคฟุตบอล และการบริหารมนุษย์ ขณะที่หลายสโมสรในลีกรอง ไม่มีเงินจ้างผู้จัดการทีมระดับนี้ เพราะมีสถานะการเงินด้อยกว่า

การลงทุนกับโค้ชจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากทีมต้องการกลับไปเล่นในพรีเมียร์ลีกให้เร็วที่สุด แต่ใช่ว่าการทุ่มเงินจ้างโค้ชดีจะตอบโจทย์ หากว่าคุณมีโค้ชที่เข้าใจการทำฟุตบอลลีกล่าง อยู่ในมือตั้งแต่เเรก เหมือนดังกรณี ฟูแล่ม กับ สก็อตต์ ปาร์คเกอร์ ที่พาทีมเลื่อนชั้น กลับสู่พรีเมียร์ลีกในปีเดียว

ปาร์คเกอร์ รับงานคุมฟูแล่ม ในฐานะโค้ชชั่วคราวกลางฤดูกาล 2018-19 แต่ไม่สามารถช่วยให้ทีมรอดตกชั้นได้ และต้องไปเริ่มต้นใหม่กับทีมบนลีกพระรอง ซึ่งทำให้เขาเห็นความลับ ที่ทำให้บางสโมสรไม่สามารถเลื่อนชั้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว

"ผู้คนไม่เคยรู้ หรือเข้าใจว่า ความพ่ายแพ้มีผลต่อนักฟุตบอลขนาดไหน สำหรับทีมที่ตกชั้น นี่คือทีมที่แพ้ติดต่อกันแทบทุกสัปดาห์ มันมีผลกระทบด้านจิตใจ อันที่จริงต้องพูดว่า เป็นบาดแผลใหญ่มากทีเดียว"

"สิ่งสำคัญคือ คุณต้องทำให้พวกเขาเชื่อว่า ตัวเองมีคุณสมบัติความเป็นผู้ชนะ ทำให้ผลงานของทีมคงที่ ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของเราอย่างชัดเจน ในช่วงท้ายฤดูกาล" ปาร์คเกอร์กล่าวหลังพาฟูแล่มเลื่อนชั้น

ดังนั้นแล้ว การจะหาโค้ชสักคนมาทำทีมเลื่อนชั้น ขึ้นสู่พรีเมียร์ลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับสโมสรที่ตกชั้นมาได้ไม่นาน ผู้จัดการทีมที่เก่งด้านจิตวิทยา รวมพลังใจของนักเตะ สำคัญกว่ากุนซือยอดแทคติก แต่ขาดความสามารถในการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เล่น

เพราะสุดท้าย ความรู้สึกเชื่อมั่นว่าตัวเองคือผู้ชนะคือสิ่งสำคัญ ที่ผลักดันให้นักฟุตบอลลงไปเดินหน้าคว้าชัยในสนาม หากไร้ซึ่งความมั่นใจ ก็ยากที่จะเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน

เหมือนกับการตกชั้น ของสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก ความพ่ายแพ้อาจฝั่งลึกอยู่ในจิตใจ จนบางทีมไม่สามารถลุกขึ้นยืน กลับมาสู้เพื่อเลื่อนชั้นได้อีก

แต่ชีวิตต้องก้าวต่อไป เช่นกันกับฟุตบอล การตกชั้นจากลีกสูงสุดไม่ใช่จุดจบ หากทุกสโมสรมีแผนในการจัดการทีมเป็นอย่างดี ตั้งหลักกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น เดินหน้าอย่างมีแบบแผน การเลื่อนชั้นกลับสู่พรีเมียร์ลีกอย่างรวดเร็ว คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอีกต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook