เหตุใด "ฮ่องกง" และ "จีน ไทเป" จึงไม่เข้าร่วมโอลิมปิกภายใต้ชื่อ "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ?

เหตุใด "ฮ่องกง" และ "จีน ไทเป" จึงไม่เข้าร่วมโอลิมปิกภายใต้ชื่อ "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ?

เหตุใด "ฮ่องกง" และ "จีน ไทเป" จึงไม่เข้าร่วมโอลิมปิกภายใต้ชื่อ "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มหกรรมกีฬาโอลิมปิก คือการแข่งขันกีฬาใหญ่ที่สุดในโลกจากจำนวนสมาชิก 206 ชาติ ทว่า หลายทีมในจำนวนนั้น ไม่ได้มาจากประเทศที่ผ่านการรับรอง บางทีมอาจเป็นเพียงเขตการปกครองพิเศษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ

หนึ่งในข้อสงสัยที่คาใจหลายคน คือ การแยกทีมของ ฮ่องกง และ จีน ไทเป สองชาติที่เข้าร่วมโอลิมปิก ทั้งที่อยู่ภายใต้การปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ และมีเลือดเนื้อเชื้อไขชาวจีนเหมือนกัน ทำไมพวกเขาจึงแบ่งเป็น 3 ชาติ ให้สับสนวุ่นวายเหมือนปัจจุบัน?

Main Stand พาไปหาคำตอบว่า เหตุใด ฮ่องกง และ จีน ไทเป จึงไม่เข้าร่วมโอลิมปิกภายใต้ชื่อสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านภูมิหลังการสร้างชาติ และโครงสร้างทางการเมืองที่แตกต่างของทั้งสามจีน

จีน และ จีน ไทเป

ก่อนแบ่งทีมเหมือนปัจจุบัน จีน และ ไต้หวัน ต่างเคยเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในนามชาติเดียวกัน ภายใต้ชื่อ สาธารณรัฐจีน โดยลงแข่งขันทั้งหมด 3 ครั้ง คือ โอลิมปิก 1930 ที่นครลอสแอนเจลิส, โอลิมปิก 1934 ที่กรุงเบอร์ลิน และ โอลิมปิก 1948 ที่กรุงลอนดอน

แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงมาถึงในปี 1949 เมื่อสงครามกลางเมืองของจีนถึงจุดสิ้นสุด พรรคคอมมิวนิสต์จีน เอาชนะ พรรคก๊กมินตั๋ง รัฐบาลเดิมได้สำเร็จ ก่อนจะเปลี่ยนการปกครองจากรัฐชาตินิยมสู่ประเทศคอมมิวนิสต์ และทำให้ประเทศจีนที่รู้จักกันในปัจจุบัน ถูกตั้งขึ้นในนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน

1

ส่วนผู้แพ้อย่างพรรคก๊กมินตั๋ง หอบหิ้วรัฐบาลของสาธารณรัฐจีน หนีไปตั้งรกรากบนเกาะไต้หวัน กลายเป็น ประเทศไต้หวัน ในปัจจุบัน และนับแต่นั้น สถานะทางการเมืองของสองประเทศ เกิดความขัดแย้งกันโดยตลอด เนื่องจากจีนไม่ยอมรับไต้หวันเป็นประเทศ เช่นเดียวกับไต้หวันที่มองว่าตนเป็นรัฐอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้การปกครองของใคร

ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงส่งนักกีฬาเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ภายใต้ชื่อ สาธารณรัฐจีน ในโอลิมปิก 1956 ที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เช่นเดียวกับ จีนที่ส่งทีมลงแข่งขันในนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่โอลิมปิก 1952 ก่อนหายจากการแข่งขัน ช่วงปี 1956-1980 เพื่อตอบโต้การตัดสินใจของ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ที่อนุญาตให้ไต้หวันลงแข่งขันโอลิมปิก

การบอยคอตและถอนตัวจากชาติสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากลของประเทศจีน คือส่วนหนึ่งความขัดแย้ง "สองจีน" ที่คุกรุ่นในช่วงสงครามเย็น กระทั่งช่วงทศวรรษ 1970’s ความสัมพันธ์ของรัฐบาลจีน และขั้วตรงข้ามทางการเมือง อย่าง สหรัฐอเมริกา กลับมาฟื้นฟูจาก การทูตปิงปอง (Ping-pong diplomacy) การแข่งขันปิงปองระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ในการแข่งขันปิงปองชิงแชมป์โลก 1971 ที่เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น

เหตุการณ์ดังกล่าวช่วยให้จีนได้การยอมรับจากนานาชาติ เดือนตุลาคม ปี 1971 ข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 2758 ประกาศรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็น "ผู้แทนชอบด้วยกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวของจีนในสหประชาชาติ" พร้อมกับตอกย้ำสถานะไม่มั่นคงทางการเมืองของไต้หวันในฐานะประเทศ จนนำมาสู่ความกดดันที่เกิดขึ้นในโลกกีฬา

โอลิมปิก 1976 ที่นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ไม่อนุญาตให้ไต้หวันลงแข่งขันในนาม สาธารณรัฐจีน เนื่องจากแคนาดาไม่ยอมรับไต้หวันที่จะลงแข่งโดยอ้างชื่อประเทศจีน เพราะตามมติของสหประชาชาติ ยึดว่าประเทศจีนแท้จริงคือสาธารณรัฐประชาชนจีนเพียงแห่งเดียว

นอกจากนี้ ในปี 1979 ที่จีนกลับเข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ยังนำมาสู่มติจาก 89 ชาติสมาชิกบังคับให้ ประเทศไต้หวัน ต้องเปลี่ยนชื่อขณะลงแข่งขันกีฬาจาก สาธารณรัฐจีน สู่ จีน ไทเป และไม่อนุญาตให้ใช้ธงชาติไต้หวัน หรือ เพลงชาติไต้หวัน ในการแข่งขันมหกรรมกีฬานานาชาติ ส่งผลให้ไต้หวันตอบโต้ด้วยการถอนตัวจากการแข่งขันโอลิมปิก 1980 ที่กรุงมอสโก

2

อย่างไรก็ดี บทสรุปของความขัดแย้งก็มาถึงในปี 1984 เมื่อไต้หวันยอมรับสถานะที่ถูกตัดสินของของตัวเอง ทำให้โอลิมปิก 1984 ที่นครลอสแอนเจลิส นักกีฬาไต้หวันได้ลงแข่งขันในนามจีน ไทเป เป็นครั้งแรก และยังลงแข่งขันภายใต้ชื่อดังกล่าวถึงปัจจุบัน

สถานะของฮ่องกง

ขณะที่ จีน และ ไต้หวัน แสดงความขัดแย้งผ่านมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ฮ่องกงกลับเข้าร่วมการแข่งขันในโอลิมปิก 1952 ที่กรุงเฮลซิงกิ โดยปราศจากความขัดแย้งกับจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากฮ่องกงในขณะนั้นคือ รัฐอาณานิคม ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร นับแต่ 1898 จากสิทธิ์การเช่าเกาะฮ่องกง 99 ปี

3

แม้จะเป็นเขตการปกครอง (territory) ที่ไม่ได้รับเอกราช หรือการรับรองจากนานาชาติในฐานะประเทศ ฮ่องกงสามารถส่งทีมนักกีฬาลงแข่งขันโอลิมปิก เช่นเดียวกับชาติอาณานิคมอื่นในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น อเมริกันซามัว, กวม และ เกาะเวอร์จิน ที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา

เช่นกันกับ เบอร์มิวดา, เกาะคุก และ เกาะเวอร์จิน บริติช ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร และ อารูบา ที่อยู่ภายใต้การปกครองของเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากทั้งหมดคือเขตการปกครองพิเศษ ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศตะวันตก ที่ใช้สิทธิ์ลงแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ไม่ต่างจาก บริติช ฮ่องกง

ทว่า สถานะของฮ่องกงในโอลิมปิกถึงคราวเปลี่ยนแปลงในปี 1997 เมื่อสหราชอาณาจักรคืนสิทธิการปกครองเกาะฮ่องกงแก่สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังหมดสิทธิ์การเช่า 99 ปี แม้ว่าคณะกรรมการโอลิมปิกสากล อนุญาตให้ฮ่องกงเข้าร่วมการแข่งขันในฐานะ "ฮ่องกงจากประเทศจีน" และอนุญาตให้ใช้ธงชาติฮ่องกง แต่หากนักกีฬาคว้าเหรียญรางวัล ต้องใช้เพลงชาติจีน เช่นเดียวกับ จีนแผ่นดินใหญ่

อย่างไรก็ดี เนื่องจากฮ่องกงไม่เคยตั้งตนเป็นประเทศแบบไต้หวัน และอยู่ภายใต้การปกครองของจีนในฐานะเขตบริหารพิเศษ ภายใต้นโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ฮ่องกงจึงไม่เคยถูกจีนบอยคอต หรือบีบให้เข้าร่วมแข่งขันภายใต้ธงชาติเดียวกัน ยิ่งกว่านั้น ฮ่องกงยังถูกเลือกให้จัดการแข่งขันขี่ม้าในโอลิมปิก 2008 กรุงปักกิ่ง ซึ่งประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ

ฮ่องกงจึงส่งนักกีฬาแข่งขันโอลิมปิก ภายใต้ชื่อ ฮ่องกง นับตั้งแต่เข้าร่วมการแข่งขันในปี 1952 ไม่ว่าจะอยู่ใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร หรือ สาธารณรัฐประชาชนจีน

อนาคตของสามจีน

สถานะของ จีน, จีน ไทเป และ ฮ่องกง ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ไม่เปลี่ยนแปลงยาวนานหลายสิบปี แต่เนื่องจากนโยบาย "จีนเดียว" ที่กลับมาเข้มข้น จนก่อให้เกิดการประท้วงในฮ่องกง รวมถึงไต้หวัน ทำให้การแสดงออกถึงความเป็นเอกราชของ 2 ชาติผ่านโอลิมปิกอาจเพิ่มสูงขึ้น

4

ในปี 2016 ชาวไต้หวัน 80 เปอร์เซ็นต์ อ้างว่าตัวเองเป็น "ชาวไต้หวัน" ไม่ใช่ "ชาวจีน" ในขณะที่ขบวนการนักศึกษาทานตะวัน ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลจากการที่ผู้ปกครองของพวกเขาหันกลับไปจับมือกับจีนแผ่นดินใหญ่ ยังทำให้กระแสชาตินิยมดั้งเดิมในฐานะจีนแท้จริงลดน้อยลงไป 

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การเข้าร่วมโอลิมปิกในนาม "จีน ไทเป" แทนจะเป็น "ไต้หวัน" จึงเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้สำหรับพวกเขา แถมยังสร้างความรู้สึกถูกดูหมิ่นจากมุมมองคนรุ่นใหม่ส่วนมากในไต้หวัน

"นักกีฬาโอลิมปิกของไต้หวันเดินทางมาจากทั่วประเทศ และพวกเขามีภูมิหลังทางเชื้อชาติที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ชื่อที่ดีที่สุดของทีมควรเป็น ไต้หวัน ไม่ใช่ จีนไทเป" เฟรดดี ลิม นักร้องเมทัล และอดีตนักการเมืองพรรค New Power Party ให้สัมภาษณ์กับ CNN

5

"ไม่ใช่แค่ชื่อ จีน ไทเป จะเป็นการดูหมิ่นผู้คน 23 ล้านในประเทศอันเป็นประชาธิปไตยแห่งนี้ แต่เรายังเป็นกังวลถึงเหตุผลการคงอยู่ของชื่อนั้น" โคเอน บลอว์ ผู้สนับสนุนการประกาศเอกราชของไต้หวัน กล่าวเสริมกับ CNN

"อำนาจการยับยั้งการคงอยู่ของไต้หวันในเวทีนานาชาติ ไม่ควรสร้างข้อกำหนดที่กีดกันชาวไต้หวัน ไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันอย่าง โอลิมปิก"

สวนทางกับไต้หวัน โอกาสเดียวที่ฮ่องกงจะแสดงความเป็นอิสระในฐานะรัฐปกครองตนเอง เหลือเพียงในโอลิมปิก เนื่องจากรัฐบาลจีนเข้ามามีบทบาทภายในรัฐบาลฮ่องกง รวมไปถึงการร่างรัฐบัญญัติกฎหมายผู้หนีคดีและความช่วยเหลือร่วมกันทางกฎหมายในคดีอาญา (แก้ไขเพิ่มเติม) ค.ศ. 2019 ซึ่งนำมาสู่การประท้วงในฮ่องกงที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ชัดเจนว่าเหตุผลที่ ไต้หวัน หรือ จีน ไทเป และ ฮ่องกง ไม่เข้าร่วมโอลิมปิก ภายใต้ชื่อสาธารณรัฐประชาชนจีน หนีไม่พ้นความแตกต่างด้านแนวคิดทางการเมือง และวิถีชีวิตที่ดำเนินมาหลายสิบปีจนยากที่จะเปลี่ยน

6

ชาวไต้หวันคุ้นเคยกับระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับฮ่องกงที่คุ้นชินกับชีวิตทุนนิยมเสรีจากชาติตะวันตก ดังนั้น การเข้ามาของนโยบาย "จีนเดียว" ที่อัดแน่นแนวคิดชาตินิยม ผ่านวิธีการแบบอำนาจนิยม จึงยิ่งตอกย้ำความต้องการของ ไต้หวัน และ ฮ่องกง ที่ไม่ต้องการแข่งขันโอลิมปิกในนามทีมชาติจีนเหมือนชาวจีนแผ่นดินใหญ่ทั่วไป

จีน, ไต้หวัน และ ฮ่องกง จึงไม่สามารถแข่งขันภายใต้ธงเดียวกันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกอีกต่อไป เนื่องจากความภูมิใจที่มีต่อชาติต่างกันโดยสิ้นเชิง

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ เหตุใด "ฮ่องกง" และ "จีน ไทเป" จึงไม่เข้าร่วมโอลิมปิกภายใต้ชื่อ "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook