ชีวิตเสือเฒ่าเจลีกของ "คาซุโยชิ มิอุระ" ที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่น 100%

ชีวิตเสือเฒ่าเจลีกของ "คาซุโยชิ มิอุระ" ที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่น 100%

ชีวิตเสือเฒ่าเจลีกของ "คาซุโยชิ มิอุระ" ที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่น 100%
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

1 ตุลาคม เป็นวันผู้สูงอายุสากล และถ้าหากเราจะพูดถึงนักกีฬาที่เหมาะสมกับวันนี้ที่สุด คงหนีไม่พ้น คาซุโยชิ มิอุระ หรือ "คิง คาซู" ตำนานนักเตะของญี่ปุ่นวัน 54 ปี นี่ยังคงเล่นฟุตบอลอาชีพอยู่ และยังเล่นในลีกระดับสูงสุด ระดับเดียวกับที่นักเตะไทยอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีราทร บุญมาทัน และ ธีรศิลป์ แดงดา ค้าแข้งอยู่อีกด้วย

 อะไรทำให้เขายังอยู่ในวงการได้อย่างยาวนาน ร่างกายของเขามันมีอะไรผิดปกติตรงไหนหรือไม่ ? หรือความกระหายของเขาจะหมดไปเมื่อไหร่ ? และอะไรที่ทำให้เขายังเล่นฟุตบอลอาชีพได้อยู่ 

ติดตามได้ที่นี่

แบกความหวังตั้งแต่วัยหนุ่ม 

คาซุโยชิ มิอุระ ไม่ใช่นักเตะที่โด่งดังในระดับสากลหากจะเอาไปเทียบกับรุ่นน้องชาวญี่ปุ่นอย่าง ชินจิ คางาวะ หรือ ฮิเดโตชิ นาคาตะ เขาแทบไม่เคยได้แชมป์ระดับเมเจอร์ ไม่เคยเป็นตัวหลักแบบมีผลงานจับต้องได้ตอนค้าแข้งในยุโรป แต่เหตุผลที่ชาวญี่ปุ่นเรียกเขาว่า "คิง คาซู" มันมีเหตุผลมาจากการเสียสละในฐานะผู้กรุยทางให้กับผู้เล่นญี่ปุ่นยุคหลัง ๆ นั่นเอง

คาซู เล่นฟุตบอลตั้งแต่ที่ฟุตบอลญี่ปุ่นยังไม่มีลีกอาชีพ และตั้งใจตั้งแต่วันนั้นว่าเขาจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นให้ได้ และเรื่องนี้มีที่มา


Photo : www.jinbaosports.com

"พ่อของผมอยู่ที่เม็กซิโกในปี 1970 เขาไปดูฟุตบอลโลก พ่อไม่ได้ไปดูเปล่า ๆ แต่ถ่ายภาพการแข่งขันด้วยกล้องขนาด 8 มม. ตอนนั้น เปเล่ ยังเล่นฟุตบอลอยู่ด้วย วีดีโอของพ่อคือสิ่งที่ทำให้ผมรู้จักฟุตบอล และเติบโตจากการดูพวกมันเหล่านั้น" คาซู กล่าวกับ BBC 

การติดตาม เปเล่ ทำให้ คาซู ชื่นชอบทีมชาติบราซิลเป็นชีวิตจิตใจ เขาดูการเล่นของ เปเล่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และนั่นเองทำให้เขาคิดว่าอยากจะเป็นนักฟุตบอล และฝันใหญ่กว่าการเป็นนักฟุตบอลในประเทศด้วยซ้ำ คาซู เผยว่าเขาอยากจะไปเล่นฟุตบอลที่บราซิล

"ผมกลายเป็นแฟนฟุตบอลทีมชาติบราซิล ผมอยากเป็นนักเตะอาชีพตั้งแต่จำความได้แล้ว" เขาว่าต่อ

เขาทั้งดูวีดีโอ ขยันฝึกซ้อมเพื่อจะเป็นนักเตะอาชีพให้ได้ แต่ ณ เวลานั้น เจลีก ยังไม่ปรากฎบนหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอล (เจลีก เริ่มเป็นอาชีพในปี 1993) ทำให้เขาไม่สามารถสานฝันได้หากยังเล่นอยู่ในญี่ปุ่นต่อไป เขาจึงแสดงความกล้าหาญและเดิมพันอนาคตตัวเองด้วยการลาออกจากโรงเรียน และย้ายไปแสวงโชคที่ บราซิล ดินแดนฟุตบอลสไตล์แซมบ้าที่เขายกย่องมาตั้งแต่จำความได้ 

"ผมไม่รู้เลย (เกี่ยวกับอนาคต) ไม่ว่าจะจบลงแบบไหน แต่นักฟุตบอลคืออาชีพเดียวที่ผมอยากเป็น" 

ที่บราซิล เขาได้เซ็นสัญญากับทีม คลับ แอตเลติโก ยูเวนตุส และไม่ประสบความสำเร็จมากมายนัก แต่สิ่งที่เขาได้คือการเรียนวิชาชีวิต การอยู่ในสังคมที่แตกต่างด้านวัฒนธรรม คาซู เปิดรับสิ่งแปลกใหม่และปรับตัว เขาย้ายไปเล่นกับอีกหลายทีมในบราซิลรวมถึง ซานโต๊ส ทีมเก่าของ เปเล่ ด้วย  


Photo : www.futbolsapiens.com

แม้ที่บราซิล คาซู จะไม่ได้โด่งดัง แต่เมื่อฟุตบอลญี่ปุ่นเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง คาซู ก็กลับมาเล่นให้กับทีม เวอร์ดี้ คาวาซากิ (โตเกียว เวอร์ดี้ ในปัจจุบัน) ในปี 1990 ก่อนที่ในปี 1993 ซึ่งญี่ปุ่นมีลีกฟุตบอลอาชีพครั้งแรก เขาแสดงถึงระดับที่แตกต่างจากผู้เล่นคนอื่นในลีกอย่างลิบลับ การันตีด้วยรางวัล MVP คนแรกในประวัติศาสตร์ของ เจลีก อีกด้วย 

ณ ตอนนั้นเองที่ญี่ปุ่นก็เกิดกระแส คาซู ฟีเวอร์ เมื่อเขาเป็นนักเตะที่เก่งที่สุดในประเทศ เขาก็ถูกผลักดันจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะการผลักดันไปเล่นให้กับทีม เจนัว ใน กัลโช่ เซเรีย อา อิตาลี เมื่อปี 1994 ซึ่ง ณ เวลานั้นเป็นนโยบายทางการตลาดของ Kenwood บริษัทเครื่องเสียงสัญชาติญี่ปุ่น ที่เป็นสปอนเซอร์คาดหน้าอกของ เจนัว ในตอนนั้น 

การมาอิตาลี ของ คาซู อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าประสบความสำเร็จเพราะเขายิงได้เพียงประตูเดียวเท่านั้น จากการลงเล่นทั้งหมด 23 เกม แถมเจนัวยังตกชั้นอีกต่างหาก แต่สำหรับชาวญี่ปุ่น แค่นั้นก็มากพอแล้วที่จะทำให้พวกเขาชอบดูฟุตบอล อิตาลี มากขึ้น จนนำไปสู่ยุคของ ฮิเดโตชิ นาคาตะ หรือ ชุนซุ นาคามูระ ในอีกหลายปีให้หลัง  


Photo : realsoccerfacts.blogspot.com

"ส่วนสำคัญคงเป็นเพราะเขาเริ่มต้นอาชีพค้าแข้งที่เหลือเชื่อ เขาไปบราซิลคนเดียวตั้งแต่ยังวัยรุ่น สู้ชีวิตในต่างแดน และเมื่อบวกกับคนญี่ปุ่นที่ทำงานหนักชอบเอาชนะความลำบากเพื่อปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นช่วงสำคัญมาก เพราะตอนนั้น เจลีก ลีกอาชีพกำลังจะก่อตัวขึ้นพอดี" ฌอน แคร์โรลล์ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในญี่ปุ่นกล่าวถึง คาซู

"ผมไม่ได้พูดเกินจริงนะ สถานะของเขาในเวลานั้นยิ่งใหญ่กว่านักบอลไปอีกหนึ่งระดับ ยังไงดีล่ะผมว่าเขาเหมือนร่างทรงของ มาราโดน่า น่ะ ใครที่พูดถึงเขาก็จะพูดเหมือนกับว่าเขาคือคนที่หลุดมาจากเทพนิยาย แม้ไม่ใช่เทพก็ถูกยกย่องเหมือนเป็นเทพดี ๆ นี่เอง" 

ทั้งหมดนี้คือภารกิจของ คาซู ที่เป็นผู้สร้างกระแสฟุตบอลให้บูมในญี่ปุ่น เปิดตำนานถากถางอุปสรรค และสร้างความเชื่อมันให้นักเตะญี่ปุ่นรุ่นหลัง ๆ รู้ว่า "จงกล้าที่จะออกไปเผชิญโลกกว้าง" เพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่ตนเอง แต่มันหมายถึงวงการฟุตบอลญี่ปุ่นเลยทีเดียว

 

ยังไม่หยุดแม้พิสูจน์ทุกอย่าง

ภารกิจผู้บุกเบิกของ "คิง คาซู" สำเร็จลุล่วงไปอย่างยิ่งใหญ่ ไม่ใช่แค่ นาคาตะ, นาคามูระ หรือ คางาวะ เท่านั้น นักเตะญี่ปุ่นตบเท้าไปลุยต่างแดนมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งระยะหลัง ๆ พวกเขาส่งออกนักเตะตั้งแต่วัยทีนเอจ อันเป็นการพัฒนาบุคคลที่ยั่งยืนที่สุด จนทุกวันนี้มีนักเตะญี่ปุ่นในลีกดังของยุโรปนับจำนวนไม่ถ้วนเลยทีเดียว 

อันที่จริง หาก คาซู จะแขวนสตั๊ด เขาก็สามารถทำได้ตั้งแต่ปี 1998 ที่พลาดโอกาสไปเล่นฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศส ทั้ง ๆ ญี่ปุ่น ผ่านรอบคัดเลือกไปเล่นในรอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรก เพราะตอนนั้นเขาก็เข้าสู่วัยเลข 3 และมีคลื่นลูกใหม่หลายลูกเข้ามาแทนที่ แต่เขาไม่เลิก การจบสวย ๆ แบบตำนานให้คนจดจำไม่ใช่สิ่งที่เขาฝันไว้ ... สำหรับ คาซู ฟุตบอลไม่ใช่งานและไม่ใช่การออกกำลังกาย แต่มันคือความรักและความบ้าคลั่งที่ทำเท่าไหร่ก็ไม่รู้เบื่อ นั่นคือเหตุผลที่เขาไม่ยอมหันหลังให้กับมันสักที แม้วันนี้จะอายุ 53 ปี แล้วก็ตาม 

คาซู ในฐานะนักเตะของทีม โยโกฮาม่า เอฟซี เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาเองรู้ว่าร่างกายของเขาไม่แข็งแกร่งและปราดเปรียวเหมือนแต่ก่อน แต่สิ่งที่เขาทำได้คือการสนุกกับสิ่งที่ฟุตบอลมอบให้เขา แม้จะโด่งดังเป็นถึงตำนาน เรียกได้ว่าเป็นซีเนียร์ที่สมควรได้รับการยกเว้นในบางเรื่อง แต่ คาซู ยังคงเรื่องวินัยอันเข้มข้นเหมือนเคย เขาไม่เคยถืออภิสิทธิ์เหนือใคร และยังลงซ้อมอย่างจริงจังร่วมกับนักเตะรุ่นหลาน 

ทุกวันนี้ คาซู รับค่าเหนื่อยกับ โยโกฮาม่า เอฟซี ราว 40 ล้านเยน (ราว 11 ล้านบาท) ต่อปี และเป็นนักเตะที่รับค่าเหนื่อยมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของทีม นั่นแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลที่เขามีต่อทีม และเช่นเดียวกันที่ว่าทำไมเขาถึงต้องพยายามแสดงความมุ่งมั่นออกมาตลอดเวลาให้สมกับค่าจ้างที่ได้รับ 

"คาซู ยังวิ่งได้สบายมาก เราเห็นเขาร่วมฝึกซ้อมและทำกายภาพบำบัดทุกวัน เขาตามทุกคนทัน และไม่เคยโดดซ้อมเลย แถมยังเป็นคนที่มาถึงสนามซ้อมก่อนเวลา 1 ชั่วโมง เขาจะยืนคู่กับ เทรนเนอร์ส่วนตัว และเริ่มทำการฝึกในแบบของตัวเองไปก่อน ... ขณะที่ตัวผมเองกำลังนั่งกินแซนด์วิช คาซู ก็ซ้อมส่วนตัวไปแล้วครึ่งชั่วโมง" คัลวิน จอง เพื่อนร่วมทีมของ คาซู เผยเบื้องหลังความฟิตของ คาซู ในวัยคุณลุง 

อย่างที่ได้กล่าวไป คาซู มีโค้ชฟิตเนสส่วนตัวคอยแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะกับวัย มีความมุ่งมั่นในการฝึกซ้อมและดูแลตัวเองอย่างดี ในกีฬาที่ต้องใช้ร่างกายปะทะ เขาต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพื่อทำให้ตัวเองอยู่กับทีมในฐานะ "ทีม" ไม่ใช่นักเตะสิทธิ์พิเศษให้ใครว่าได้  

เหนือสิ่งอื่นใดคำว่า "จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว" นั้นถือว่าเป็นเคล็ดลับของ คาซู อย่างแท้จริง ความสนุก ความบ้า และคลั่งไคล้ที่มีต่อฟุตบอลของเขาไม่เคยหมดลงง่าย ๆ เรื่องนี้ อลัน กิบสัน บรรณาธิการของนิตยสาร Jsocccer ที่เคยเห็นคาซูมาตั้งแต่ยุค 90s ยังยอมรับด้วยตัวเองว่า ตัวแขานั้นได้แต่คิดว่าสักวันแพชชั่นที่มีต่อฟุตบอลของ คาซู จะหมดลงเมื่ออายุมากขึ้น ... แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ไม่เคยได้เห็นซักที นี่คือคุณสมบัติที่เขาไม่เคยเห็นในนักเตะคนไหน

"ผมสงสัยว่าเขาจะรักษาความกระหายแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน พ่อหนุ่มคนนี้มีแรงจูงใจเต็มเปี่ยม ผมไม่เคยเจอใครแบบนี้ ... คนที่รักฟุตบอลมีอยู่มากมายทั่วโลก แต่สำหรับเขาผมคงใช้คำว่า 'บ้าคลั่ง' ถึงจะเหมาะสม" กิบสัน เริ่มร่ายยาว

"บางครั้งผมได้ยินเรื่องราวของเขาและทำให้ประหลาด เรื่องมันมีอยู่ว่าในช่วงเวลาของเกมสำคัญ ๆ คาซู จะขอแยกตัวออกจากครอบครัว เพราะต้องการให้ความสำคัญกับฟุตบอลเป็นพิเศษ เขาต้องการสมาธิจนถึงขั้นนั้น คุณนึกภาพความบ้าขนาดนี้ออกไหมล่ะ ?" 

 

มองกว้าง ๆ อย่างเข้าใจ 

สิ่งทั้งหมดที่เรากล่าวมาอาจจจะเป็นเพียงเรื่องรายละเอียดส่วนบุคคลที่ทำให้ คาซู ยังคงลงเล่นฟุตบอลอาชีพ แถมยังเป็นระดับสูงสุดของประเทศได้แบบเหลือเชื่อ แต่หากจะมองกว้างตามบริบทสังคมญี่ปุ่น เรื่องนี้สามารถเป็นเหตุผลประกอบที่สมเหตุสมผลสุด ๆ

กล่าวคือสังคมญี่ปุ่นนั้นเหมาะสมกับการทำให้ประชากรในประเทศแข็งแรง และมีอายุยืน พวกเขากินอาหารที่มีไขมันประกอบน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นผักและปลา และยังเน้นอาหารที่มีตามฤดูกาล จึงทำให้มีความสดและคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก 

สำหรับอาหาร 1 ชุดมักจะประกอบด้วยสารอาหารที่ครบ 5 หมู่ อาทิ ข้าวสวย, ปลาย่าง, ซุปเต้าเจี้ยว (มิโสะ), ผักต้ม รวมถึงมีน้ำชาร้อนที่สามารถขับไล่ไขมันในลำไส้ได้อีก ซึ่งแค่การกินของเหล่านี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรง โรคที่จะมาเยือนในวัย 50-60 บวก ๆ อย่างโรคหัวใจ, ความดัน, เส้นเลือดในสมอง ก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงอีกด้วย เรียกได้ว่าไลฟ์สไตล์การกินของชาวญี่ปุ่นเหมาะกับวลี "You are what you eat" โดยแท้จริง 

เท่านั้นยังไม่พอ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีลักษณะในการเดินเหมือนกัน นั่นคือพวกเขา "เดินเร็วมาก" เพราะพวกเขาให้สำคัญกับการเดินมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก พวกเขาใช้วิธีเดินไปขึ้นระบบขนส่งมวลชนในชีวิตประจำวันมาจนเคยชิน เมื่อทำจนเป็นกิจวัตรก็กลายเป็นคนที่กระฉับกระเฉงอีกด้วย

สังคมผู้สูงอายุยังมีการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐเสมอ มีการจัดกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุทั้งการออกกำลังกาย การแนะนำเส้นทางสำหรับเดินเท้าที่ชัดเจน มีกิจกรรมกลุ่ม ให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายทางอ้อมและยังได้ออกมาพบเจอสังคม ทำให้สุขภาพจิตดีกว่าการอยู่เฉย ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ญี่ปุ่น ถือว่าเป็นชนชาติที่อายุยืนที่สุดในโลก ผู้สูงอายุมีอายุเฉลี่ยถึง 84.2 ปีเลยทีเดียว 

หลายอย่างประกอบหลอมรวมขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะทำให้ชาวญี่ปุ่นมีสุขภาพแข็งแรง และมันสะท้อนมาถึงวงการฟุตบอลที่มีนักเตะอายุแตะหลัก 40 ปี หลายคน ลงเล่นในลีกสูงสุดอย่างหน้าตาเฉย นอกจาก คาซู แล้วยังมีทั้ง ชุนซุเกะ นาคามูระ, ชินจิ โอโนะ, จุนอิจิ อินาโมโตะ, เคงโงะ นาคามูระ และอีกมากมายหลายคนที่อายุมากแล้วแต่ก็ยังลงเล่นเหมือนกับคนหนุ่มๆ อีกด้วย

สำหรับ คาซุโยชิ มิอุระ นั้นถือว่าเป็นต้นแบบของคำว่าตำนานโดยแท้จริง สิ่งที่เขาทำในทุกช่วงชีวิตสะท้อนความเป็นชาวญี่ปุ่นออกมาแบบเต็ม ๆ มุ่งมั่นและไม่กลัวอุปสรรคเมื่อวัยหนุ่ม, พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อส่วนรวมเมื่อถึงวัยกลางคน และเมื่อบั้นปลายอาชีพเขาก็ยังเป็นต้นแบบให้ทุกคนได้เข้าใจว่า "วัยวุฒิและคุณวุฒิ" คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นมาควบคู่กัน จึงจะได้รับการนับถือจากคนรอบข้างโดยดุษฎี 

ทุกวันนี้หากนักข่าวช่องไหนหรือสื่อใดถาม คาซู ไว้ว่าเมื่อไหร่เขาจะเลิกเล่นฟุตบอล ? คำตอบเหมือนเดิมทุกครั้งนั่นคือ "ผมก็ไม่รู้" เพราะเมื่อมีความสุขกับสิ่งที่ทำ เขาก็ไม่มีเหตุผลที่จะเลิกทำมัน 

"ผมรู้ว่าผมไม่ใช่เด็ก ๆ อีกต่อไปแล้ว ทุกวันนี้ผมรู้สึกว่าฟุตบอลชักจะเล่นยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันต้องใช้พลังในร่างกายอย่างสูงเลย แต่ในอีกทางผมก็มีความสุขมาก ๆ ทุกครั้งเวลาที่ทีมของเราชนะ หรือวันไหนที่ผมเล่นได้ดี ... และตราบใดที่ผมยังรู้สึกแบบนี้อยู่ ผมคิดว่าผมจะเล่นฟุตบอลต่อไปนะ" คาซุโยชิ มิอุระ ทิ้งท้าย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook