"ตาฮิติ" : หมู่เกาะเล็กกว่ากรุงเทพฯ ทำอย่างไรถึงคว้ารองแชมป์โลกฟุตบอลชายหาด 2 สมัยติด?
หลังเสียงนกหวีดเป่าหมดเวลา 90 นาทีของการแข่งขันฟุตบอลคอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ ปี 2013 เกมระหว่างทีมชาติไนจีเรีย กับ ทีมชาติตาฮิติ ดังขึ้น การแข่งขันจบลงด้วยการที่ทัพอินทรีมรกตไล่ถลุงทีมจากหมู่เกาะอันไกลโพ้นไปด้วยสกอร์ 6-1 แต่ปรากฏว่าบัญชีทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของสมาคมฟุตบอลทีมชาติตาฮิติกลับทวิตข้อความว่า
“WE ARE THE CHAMPIONS!!!!”
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพวกเขาสามารถยิงประตูคู่ต่อสู้ที่เป็นทีมระดับหัวแถวของโลกลูกหนัง เคยผ่านการเข้าร่วมศึกฟุตบอลโลกมาแล้วหลายต่อหลายครั้งได้สำเร็จ หลังจากที่ก่อนหน้านี้พวกเขาพ่ายแพ้ให้กับทีมชาติสเปน 0-10 ต่อด้วยความปราชัยแก่ทีมชาติอุรุกวัยอีก 0-8 ดังนั้น การที่สามารถยิงประตูได้ พวกเขาจึงรู้สึกยินดีกับมันราวกับการคว้าแชมป์เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าทีมชาติตาฮิติยังคงเป็นสมันน้อยในการแข่งขันฟุตบอลสนามหญ้า โดยในปัจจุบันพวกเขาก็ยังรั้งอยู่ที่อันดับ 161 ของฟีฟ่าแรงกิ้ง
แต่สำหรับกีฬาที่ใกล้เคียงกันอย่างฟุตบอลชายหาด ทุกอย่างกลับต่างออกไป ตาฮิติ ไม่ใช่สมันน้อยให้ใครมายำใหญ่ใส่ได้ง่ายๆ ตรงกันข้าม พวกเขากลับไปได้ไกลถึงขั้นคว้าตำแหน่งรองแชมป์โลกมาแล้วถึง 2 สมัยซ้อน (ส่วนทีมชาติไทยเคยไปไกลสุดได้เพียงอันดับ 4 ในปี 2002 แต่สำหรับการแข่งขัน 3 ครั้งล่าสุด ไม่สามารถผ่านรอบคัดเลือกเข้าไปได้)
เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นได้อย่างไร? หาคำตอบได้ที่นี่..
เกาะที่เล็กกว่ากรุงเทพฯ
ก่อนจะไปถึงเรื่องของฟุตบอลชายหาด เรามาทำความรู้จัก ตาฮิติ กันก่อนดีกว่า เพราะเชื่อว่าหลายคนอย่าว่าแต่รู้จักเลย แค่เอ่ยชื่อนี้ขึ้นมาก็อาจขมวดคิ้วพร้อมคำถามแล้วว่า "มันมีดินแดนชื่อนี้อยู่ด้วยหรือ?"
เฟรนช์ โพลินีเชีย เป็นดินแดนของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ มีฐานะเป็น "เขตรัฐบาลกลางโพ้นทะเล" พร้อมกับ "ประเทศโพ้นทะเล" ซึ่งเป็นตำแหน่งเฉพาะตัว ประกอบด้วยกลุ่มเกาะหลายเกาะในภูมิภาคโพลินีเซีย โดย ตาฮิติ คือหนึ่งในนั้น และเป็นเกาะที่มีความเจริญด้านเศรษฐกิจสูงที่สุด รวมถึงจำนวนประชากรเยอะที่สุดด้วย
ถึงแม้จะมีประชากรเยอะที่สุดในเฟรนช์ โพลินีเชีย แต่คำว่าเยอะที่ว่านั้นก็แค่เพียง 130,000 คนเท่านั้นเอง โดย 70% เป็นชาวเฟรนช์ โพลินีเชีย ท้องถิ่น ส่วนอีก 30% เป็นชาวจีนและชาวยุโรปที่อพยพเข้ามา
จำนวนประชากรว่าน้อยแล้ว ขนาดพื้นที่ยิ่งน้อยเข้าใหญ่ เพราะนับรวมทั้ง ตาฮิติ มีพื้นที่เพียง 1,045 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น เมื่อเทียบกับกรุงเทพมหานครที่มีขนาด 1,569 ตารางกิโลเมตร ก็ถือว่าเกาะแห่งนี้เล็กกว่าพอสมควร
เกาะตาฮิติเกิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟ จึงทำให้ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ล้อมรอบด้วยหาดทรายและแนวปะการัง ส่วนในเรื่องของวัฒนธรรม ถึงแม้จะมีฐานะเป็นประเทศโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ภาษาราชการเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ด้วยความไกลปืนเที่ยงของที่ตั้ง ดังนั้น ตาฮิติ จึงมีภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นของตัวเองเช่นกัน
ด้วยสภาพภูมิศาสตร์แบบนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กีฬาประจำชาติของพวกเขาคือการพายเรือแคนู ไม่ใช่ฟุตบอลชายหาดที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด
แล้วพวกเขามีความโดดเด่นด้านฟุตบอลชายหาดขึ้นมาได้อย่างไรกันนะ?
อัศวินขี่ม้าขาวจากแดนนาฬิกา
สำหรับโลกกีฬาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ฟุตบอลชายหาดถือเป็นน้องใหม่มาก เพราะกีฬาชนิดนี้เพิ่งถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการโดยฟีฟ่าเมื่อปี 1992 ระบุกฎกติกาว่าผู้เล่นฝ่ายละ 5 คนรวมผู้รักษาประตูจะแข่งกันทำประตูฝ่ายตรงข้าม ในสนามทรายขนาด 37*28 เมตร และการแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 3 พีเรียด พีเรียดละ 12 นาที
ด้วยกฎกติกาแบบนี้ ประกอบกับพื้นสนามที่เป็นทรายร่วน ทักษะที่ใช้ในการเล่นจึงค่อนข้างแตกต่างจากฟุตบอลสนามหญ้า นักฟุตบอลชายหาดไม่มีโอกาสได้เลี้ยงหรือส่งลูกเลียดพื้นมากนัก แต่พวกเขาจะใช้การเดาะบอล ส่งบอล รับบอล ภาคพื้นอากาศแทน และจะยิงประตูทันทีเมื่อมีโอกาสไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของสนามก็ตาม
นอกจากทักษะการเดาะบอล เล่นกับลูกฟุตบอลที่ต้องคล่องแคล่วราวกับเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 แล้ว นักกีฬาฟุตบอลชายหาดจำเป็นต้องมีความฟิตสูงมาก ใครที่เคยเล่นฟุตบอลบนชายหาดน่าจะเข้าใจดีว่ามันต้องใช้แรงเยอะขนาดไหน
กีฬาว่าใหม่แล้ว ตาฮิติ ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะพวกเขาเพิ่งมีสมาคมฟุตบอลชายหาดในปี 2006 หรือเมื่อ 14 ปีก่อนนี้เอง พร้อมทัวร์นาเมนต์ OFC Beach Soccer Nations Cup ที่ก็เริ่มต้นจัดขึ้นในปีเดียวกัน โดยทัวร์นาเมนต์นี้คือการแข่งขันฟุตบอลชายหาดของภูมิภาคโอเชียเนีย มีทีมเข้าร่วมทั้งหมด 5 ทีม ได้แก่ ตาฮิติ, หมู่เกาะโซโลมอน, วานูอาตู, นิว คาลาโดเนีย และ ตองกา โดยแชมป์จะได้รับตั๋วเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลชายหาดชิงแชมป์โลกรอบสุดท้าย
ในช่วงแรกหลังการก่อตั้ง ตาฮิติก็ไม่ต่างอะไรจากทีมหมู่เกาะทั่วไป พวกเขาไม่สามารถคว้าแชมป์ในการแข่งขัน OFC Beach Soccer Nations Cup 3 ครั้งแรกได้ โดยทำได้ดีที่สุดเพียงแค่อันดับ 3 เท่านั้น
โจนาธาน โทโรเฮีย นักฟุตบอลชายหาดทีมชาติตาฮิติตำแหน่งผู้รักษาประตูในช่วงเวลาดังกล่าวได้ให้คำนิยามทีมของเขาเอาไว้ว่า
"เหมือนมีโค้ชอยู่คนหนึ่ง และเขาดึงเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงมาทำทีมฟุตบอลชายหาดด้วยกันเท่านั้นเอง"
แต่ด้วยมาตรฐานที่ไม่ต่างกันมากนัก เพราะคู่แข่งทีมอื่นๆก็เป็นประเทศหมู่เกาะด้วยกัน บวกกับความพยายามแบบงูๆปลาๆ ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ในที่สุด ตาฮิติก็สามารถคว้าแชมป์ OFC Beach Soccer Nations Cup ได้สำเร็จในปี 2011 พร้อมคว้าตั๋วเข้าร่วมการแข่งขันศึกชิงแชมป์โลกฟุตบอลชายหาดในปีเดียวกัน ณ เมืองราเวนนา ประเทศอิตาลี ได้สำเร็จ...สำหรับประเทศหมู่เกาะไกลโพ้น นี่คือรางวัลแสนล้ำค่าเท่าที่จะจินตนาการได้แล้ว
ลัดฟ้าสู่ประเทศอิตาลี ตาฮิติถูกจับให้อยู่ในกลุ่ม C ร่วมกับ รัสเซีย หนึ่งในมหาอำนาจแห่งวงการฟุตบอลชายหาด, ไนจีเรีย และ เวเนซุเอล่า ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าตาฮิติถูกมองว่าเป็นตัวเต็งอันดับสุดท้ายของการแข่งขัน ทุกคนคิดว่าพวกเขาน่าจะโดนยำเละอยู่ข้างเดียว โดยไม่สามารถยิงประตูได้
ทว่าเพียงนัดเปิดสนาม ตาฮิติก็ทำการช็อกชาวโลกเสียแล้ว เพราะประเทศที่ไม่มีใครคุ้นชื่อนี้กลับพลิกล็อกถล่มทลาย เอาชนะ เวเนซุเอล่า ไปได้ด้วยสกอร์ 5-2.. หลายคนที่เคยมองข้ามก็เริ่มกลับมาให้ความสนใจทีมนี้ ก่อนที่สุดท้ายทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม เพราะอีก 2 นัดที่เหลือ ตาฮิติ ก็โดน รัสเซีย กับ ไนจีเรีย ถล่มตามคาด หยุดเส้นทางการผจญภัยของพวกเขาไว้เพียงเท่านี้
เข้าสู่ปี 2013 (ฟุตบอลชายหาดชิงแชมป์โลกจัดขึ้นทุก 2 ปี แตกต่างจากฟุตบอลโลกที่ 4 ปีจะมีครั้ง) นี่คือปีที่ชาวตาฮิติทุกคนรอคอย เพราะตาฮิติได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลชายหาดชิงแชมป์โลก ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ต้องเล่นรอบคัดเลือก และได้เข้าสู่รอบสุดท้ายโดยอัตโนมัติในฐานะทีมเจ้าภาพ
คนทั่วไปอาจจะคิดว่าการเป็นเจ้าภาพคงไม่ช่วยอะไรมากนัก สุดท้ายพวกเขาก็น่าจะสิ้นสุดเส้นทางที่รอบแรกเหมือนเช่นเดิม แต่สำหรับชาวตาฮิติ ทัวร์นาเมนต์นี้มีความหมายมาก มันคือเวทีที่จะแสดงให้ชาวโลกเห็นว่านอกจากหาดทรายสวยงามแล้ว พวกเขาก็มีดีเรื่องกีฬาเช่นกัน
ความมุ่งมั่นของสมาคมฟุตบอลชายหาดตาฮิติไม่ใช่เพียงแค่ลมปาก เพราะพวกเขาได้ แองเจโล ชิรินซี่ (Angelo Schirinzi) อดีตโค้ชฟุตบอลชายหาดทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ หนึ่งในโค้ชที่ได้รับการยอมรับว่าเก่งกาจที่สุดของวงการ และเป็นเจ้าของหนังสือเกี่ยวกับการเล่นฟุตบอลชายหาดหลายเล่ม เข้ามาทำหน้าที่ดูแลทีม
ชิรินซี่ทำงานร่วมกับฟีฟ่าในการเดินทางไปทั่วโลกเพื่อสัมมนาเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลชายหาดให้แพร่หลายยิ่งขึ้น และเมื่อเขาเดินทางมายังตาฮิติ ชิรินซี่ก็เล็งเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของทีมๆนี้ เขาจึงอาสาเข้ามาวางรากฐานให้กับทีม
"ผมมาถึงตาฮิติในปี 2012 และหลังจากนั้นผมก็สอนนักเตะทุกคนถึงหลักสูตรการเตะฟุตบอลชายหาดของฟีฟ่า ให้พวกเขาได้เข้าใจเกมนี้อย่างแท้จริง" ชิรินซี่กล่าว
โค้ชจากแดนนาฬิกาผู้นี้รู้แจ้งตั้งแต่วันแรกว่าลูกทีมของเขามีศักยภาพเป็นเลิศ ประเทศแห่งนี้เต็มไปด้วยชายหาด พวกเขาเตะฟุตบอลบนผืนทรายมาตั้งแต่จำความได้ บางคนเป็นชาวประมง บางคนเป็นนักเก็บมะพร้าว ดังนั้น เรื่องความฟิตจึงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือพวกเขาไม่มีใครมาให้ความรู้อย่างถูกต้อง และในตอนนี้เขาคือคนที่กำลังเปิดประตูบานดังกล่าว
นอกจากจะสอนเรื่องการเล่นแล้ว ชิรินซี่ยังใช้คอนเนคชั่นในวงการที่ตัวเองมีผลักดันทีมฟุตบอลชายหาดตาฮิติอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการพาพวกเขาทุกคนบิดลัดฟ้าไปร่วมซ้อมกับทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือแม้แต่การติดต่อสโมสรฟุตบอลชายหาดอาชีพในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และสเปนให้ดึงตัวนักเตะเหล่านี้ไปร่วมทีม.. และมันก็ได้ผลเป็นอย่างดี
หลังการเข้ามาของชิรินซี่ นักฟุตบอลชายหาดตาฮิติจำนวน 5 คนได้มีโอกาสไปค้าแข้งเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับสโมสรซูริค, กราสฮอปเปอร์ หรือแม้แต่ บาร์เซโลน่า หนึ่งในสโมสรที่ดีที่สุดในโลกด้วย
ในส่วนของการเก็บตัวฝึกซ้อมภายในประเทศ ถึงแม้อุปกรณ์ต่างๆของประเทศหมู่เกาะเล็กๆนี้จะมีขาดตกบกพร่องไปบ้าง แต่ชิรินซี่ก็พยายามปรับทุกอย่างให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งนอกจากการฝึกทักษะในสนามทรายแล้ว ชิรินซี่ได้พาลูกทีมของเขาปั่นจักรยาน รวมถึงวิ่งขึ้นลงปากปล่องภูเขาไฟเพื่อเพิ่มความฟิต
นอกจากการฝึกซ้อมทางกายแล้ว แม้แต่สิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าอย่างสภาพจิตใจ ชิรินซี่ก็ไม่มองข้าม เขาติวเข้มลูกทีมของเขาในเรื่องนี้เช่นกัน
"ผมแสดงให้ลูกทีมทุกคนเห็นว่าผมบ้ากีฬาชนิดนี้แค่ไหน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนเดินตาม"
"แม้แต่การฝึกซ้อม ผมก็ยังอยากเอาชนะ ผมแสดงให้ลูกทีมทุกคนเห็น โชคดีที่ชาวตาฮิติทุกคนเป็นพวกสู้ไม่ถอยอยู่แล้วเหมือนกัน พวกเขากระหายการเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลาและให้ความเคารพผมอย่างมาก ทุกคนเต็มที่ทั้งในและนอกสนาม"
"ก่อนการแข่งขันชิงแชมป์โลกปี 2013 จะเริ่มขึ้น ผมบอกกับทุกคนว่า นี่พวกนายอยากให้ทีมอื่นมาฆ่าพวกนายโชว์กลางสนามของพวกนายเองหรือเปล่า? ผมไม่มีปัญหานะถ้ามันจะเป็นเช่นนั้น แน่นอนว่าทุกคนโกรธที่ได้ยิน แต่มันก็สร้างความฮึกเหิมได้มากเช่นกัน" ชิรินซี่กล่าว
และแล้วฟุตบอลชายหาดชิงแชมป์โลกปี 2013 ณ ตาฮิติ ก็เปิดฉากขึ้น..
ตำนานบนผืนทราย
ในฐานะเจ้าภาพ ตาฮิติก้าวขาลงสนามด้วยความฮึกเหิมเต็มที่ เพราะตอนนี้พวกเขามั่นใจว่าตัวเองไม่ใช่หมูให้ใครมาเชือดได้ง่ายๆเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว การได้ฝึกซ้อมร่วมกับชิรินซี่เปลี่ยนพวกเขาไปโดยสิ้นเชิง ทว่าการจะผ่านรอบแบ่งกลุ่มก็ไม่ใช่งานง่าย เพราะคู่แข่งอีก 3 ทีมคือ สเปน, สหัรฐอเมริกา และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ในนัดเปิดสนาม ตาฮิติได้โชว์ทักษะเวอร์ชั่นอัปเกรดให้ทั้งแฟนบอลท้องถิ่นที่เข้ามาเชียร์ติดขอบสนาม รวมถึงอีกหลายล้านคนทั่วโลกที่ดูการถ่ายทอดสดได้เห็น พวกเขาเบียดเอาชนะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปอย่างสุดมัน 3-2 ก่อนที่ในนัดต่อมาก็ยังคงรักษาฟอร์มนี้ไว้ได้ เอาชนะสหรัฐอเมริกาไปอีกทีมด้วยสกอร์ 5-3 ถึงแม้ว่าในนัดที่ 3 พวกเขาจะพ่ายต่อสเปนไป 1-4 แต่เพียงเท่านี้ก็ดีพอแล้วที่จะส่งพวกเขาเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
อาร์เจนติน่า คือคู่แข่งทีมต่อไป และไม่ต้องบอกว่าทีมฟ้าขาวดูเหนือกว่าพวกเขาแทบทุกประการ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าฝ่ายที่คว้าชัยคือประเทศเจ้าภาพ แถมสกอร์ยังถล่มทลายถึง 6-1
อีกเพียงนัดเดียว ตาฮิติก็จะผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ เพียงแต่ว่าเป็นเรื่องโชคร้ายที่คู่แข่งในรอบรองชนะเลิศของพวกเขาคือทีมชาติรัสเซีย อดีตแชมป์โลก 1 สมัย
ตาฮิติทุ่มทุกอย่างที่มีลงไปในการแข่งขันนัดนี้แล้ว แต่น่าเสียดายที่รัสเซียนั้นยังแข็งแกร่งเกินไป สุดท้ายพวกเขาก็พ่ายแพ้ไปอย่างสูสีด้วยสกอร์ 3-5
"ตาฮิติควรเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศด้วยซ้ำ" ชิรินซี่กล่าวออกมาอย่างหัวเสียหลังเสียงนกหวีดหมดเวลาดัง เขารู้สึกว่ากรรมการในนัดนี้ทำหน้าที่ผิดพลาดหลายจุด และส่งผลเสียต่อลูกทีมของเขา
ในนัดชิงอันดับที่ 3 ตาฮิติก็ได้สร้างตำนานอีกครั้ง เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าทีมหมู่เกาะเล็กๆนี้จะสามารถสู้กับ บราซิล อันดับหนึ่งตลอดกาลของกีฬาชนิดนี้ได้อย่างสูสีด้วยสกอร์ 7-7 ก่อนจะแพ้ไปในการดวลจุดโทษ
แม้จะไปไม่ถึงดวงดาว แต่อันดับ 4 ก็ถือว่ายอดเยี่ยมมากแล้ว ไม่มีคำก่นด่า มีเพียงคำชื่นชมที่จากผู้คนในประเทศราวกับทีมฟุตบอลทีมนี้คือฮีโร่เท่านั้น
ส่วนชิรินซี่ที่เปรียบเสมือนอัศวินขี่ม้าขาวที่ผ่านทางมา ตอนนี้ภารกิจของเขากับตาฮิติสิ้นสุดลงแล้ว เขาตัดสินใจเดินทางกลับมาเป็นโค้ชทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหลังจบศึกชิงแชมป์โลกปี 2013
"แต่ไม่ว่ายังไงผมกับทีมตาฮิติก็ยังมีมิตรภาพอันดีต่อกันเสมอ" ชิรินซี่กล่าวอำลา
การวางรากฐานอย่างแน่นหนาของชิรินซี่ ประกอบกับการเป็นเจ้าภาพในปี 2013 ที่ทำให้กีฬาชนิดนี้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมากในประเทศตาฮิติ ดังนั้น ต่อให้ยอดโค้ชจะไม่อยู่แล้ว แต่ทีมฟุตบอลชายหาดทีมนี้ก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พวกเขาคว้าแชมป์ OFC Beach Soccer Nations Cup ในปี 2015 ได้อย่างสบายๆ และคว้าตั๋วเข้ารอบชิงแชมป์โลกได้อีกครั้ง โดยครั้งนี้สังเวียนฟาดแข้งคือประเทศโปรตุเกส
รัสเซีย, ปารากวัย, มาดากัสการ์ คือคู่แข่งร่วมกลุ่ม ส่วนตาฮิติพวกเขาไม่ใช่ม้านอกสายตาอีกแล้ว แต่เป็นทีมที่ทุกคนจับตามอง และตั้งคำถามว่าทีมๆนี้จะเป็นอย่างไรเมื่อขาดหัวเรือใหญ่?
ตาฮิติตอบคำถามนั้นด้วยการคว้าชัย 3 นัดรวดในรอบแบ่งกลุ่ม แม้แต่รัสเซีย แชมป์เก่าก็ยังต้านทานไม่ไหว พ่ายไปด้วยสกอร์ 6-7 ก่อนที่ในรอบ 8 ทีม และรอบรองชนะเลิศพวกเขาก็ยังร้อนแรงไม่เลิก เอาชนะอิหร่าน แชมป์ทวีปเอเชีย ตามด้วยการโค่นอิตาลี อีกหนึ่งมหาอำนาจไปในการดวลจุดโทษอย่างสุดมัน เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ
ปราการด่านสุดท้ายก่อนจะคว้าแชมป์คือทีมชาติโปรตุเกสเจ้าภาพ และเมื่อเสียงนกหวีดดังขึ้นทั้งสองทีมต่างงัดทุกสิ่งทุกอย่างที่มีโรมรันใส่กันอย่างไม่มีใครยอมใคร เอ็งยิงมา ข้ายิงคืน ทำเอาแฟนบอลทั้งในสนามและทางบ้านหายใจไม่ทั่วท้อง
ตาฮิติทำดีทุกอย่างแล้ว เพียงแต่พวกเขายังมีความเฉียบคมไม่มากพอ ทำให้สุดท้ายพ่ายแพ้ต่อโปรตุเกสไปด้วยสกอร์ 3-5
อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่าไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่ตาฮิติได้สร้างตำนานคว้ารองแชมป์โลกได้ถึง 2 สมัยซ้อน ดังนั้น เหตุการณ์ในฟุตบอลชายหาดชิงแชมป์โลก 2017 ณ ประเทศบาฮามาส จึงราวกับภาพฉายซ้ำ
ถึงแม้จะต้องอยู่กลุ่มเดียวกับ บราซิล, ญี่ปุ่น และ โปแลนด์ ก็ไม่ใช่ปัญหาในการผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายแต่อย่างใด ก่อนที่พวกเขาจะย้ำแค้นอิหร่านและปารากวัย ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้อีกครั้ง โชคร้ายที่คู่ต่อสู้ในรอบชิงชนะเลิศคือ บราซิล แชมป์โลก 13 สมัย
0-6 คือสกอร์ที่อาจจะดูขาดลอยเมื่อเทียบกับการแข่งขันครั้งก่อนที่ต้องดวลกันถึงจุดโทษ แต่ต้องบอกว่าเกมนี้วัดกันที่ความเฉียบคมจริงๆ ตาฮิติสู้ได้ดีมากแล้ว แต่ประสบการณ์คือสิ่งที่ไม่มีทางลัดใดช่วยเก็บเกี่ยวได้นอกจากต้องเรียนรู้มันด้วยตัวเอง
แต่ไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่พวกเขาได้สร้างเอาไว้จะเป็นประวัติศาสตร์ให้ได้เล่าขานไปอีกนานแสนนาน
ล้มกี่ครั้งก็สู้ใหม่
การเข้าร่วมศึกชิงแชมป์โลกดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วสำหรับทีมตาฮิติ ดังนั้น ในปี 2019 ณ ประเทศปารากวัย พวกเขาจึงมาปรากฏตัวเหมือนเช่นเคย ส่วนคู่แข่งในรอบแบ่งกลุ่มได้แก่ อิตาลี, อุรุกวัย และ เม็กซิโก
ถึงแม้จะเปิดฉากด้วยการโดนอิตาลียำใหญ่ไม่ยั้งไปด้วยสกอร์ 4-12 แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็เอาชนะอุรุกวัยและเม็กซิโกไปได้แบบสบายๆ
เหตุการณ์ที่ทีมซึ่งเก็บได้ 6 คะแนนจะตกรอบแบ่งกลุ่มพบเห็นได้ไม่บ่อยนักในกีฬาฟุตบอลทุกประเภท แต่โชคร้ายที่มันดันมาเกิดกับตาฮิติในครั้งนี้ บาดแผลผลต่างประตูได้เสียในเกมกับอิตาลีนั้นสาหัสเกินไป ทำให้สุดท้าย ตาฮิติต้องกระเด็นตกรอบด้วยผลต่างที่น้อยกว่าอุรุกวัยเพียงแค่ประตูเดียวเท่านั้น
"ชัยชนะถึง 2 เกมแต่กลับไม่เพียงพอสำหรับการเข้ารอบ มันเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่นั่นคือสิ่งที่เราต้องยอมรับ"
"เป้าหมายในการเป็นแชมป์โลก พวกเราจำเป็นต้องเตรียมตัวให้ดียิ่งกว่านี้ ถึงแม้ความเป็นมืออาชีพเราจะน้อยกว่าทีมอื่นๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้าง ผมสาบานว่าจะนำข้อผิดพลาดทั้งหมดไปแก้ไข และตั้งตารอฟุตบอลชายหาดชิงแชมป์โลก 2021 ที่ประเทศรัสเซีย" เนียล เบนเน็ต โค้ชคนปัจจุบันของทีมตาฮิติกล่าว
ถึงตรงนี้คงสามารถกล่าวได้ว่าการเดินทางของทีมฟุตบอลชายหาดตาฮิติที่ผ่านมามันคือเรื่องมหัศจรรย์ แต่ตำนานนี้ยังไม่จบ ตรงกันข้าม มันเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เพราะในตอนนี้ ตาฮิติได้เริ่มพัฒนาลีกฟุตบอลชายหาดของพวกเขาอย่างจริงจังแล้ว มีแม้กระทั่งลีกของทีมหญิง พร้อมสร้างสนามแข่งขันอีก 6 สนามทั่วประเทศ
ดังนั้น พวกเขาไม่มีถอยหลัง มีแต่เดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่งขึ้น.. ไม่แน่ว่าตำแหน่งแชมป์โลกอาจมาถึงประเทศหมู่เกาะเล็กๆนี้ในเร็ววันก็เป็นได้
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ