ไขข้อข้องใจจากหลักฐานการแพทย์ : “เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก” ร้ายแรงถึงจุดจบนักกีฬาอาชีพ?
“เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก” อาการบาดเจ็บสุดฮิตของนักเตะที่แฟนลูกหนังคุ้นหูเป็นอย่างดี
อย่างเคสล่าสุด สโมสรลิเวอร์พูล ยืนยันว่า “เวอร์กิล ฟาน ไดจ์ค” ปราการหลังคนสำคัญ จะต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาอาการบาดเจ็บที่เข่า จากจังหวะที่ถูก จอร์แดน พิคฟอร์ด ผู้รักษาประตู เอฟเวอร์ตัน เข้าปะทะหนัก ทำให้ต้องพักยาวไม่มีกำหนด
แม้ไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากต้นสังกัดว่า ฟาน ไดจ์ค ได้รับบาดเจ็บส่วนไหน แต่จากที่สื่อคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ต่างยืนยันไปในทิศทางเดียวกัน คือ เอ็นไขว้หน้าเข่าของ แนวรับทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ฉีกขาด
อาการบาดเจ็บของ ฟาน ไดจ์ค ทำเอาสาวกเดอะ ค็อป หายใจไม่ทั่วท้อง เพราะในอดีตมีผู้เล่นฝีเท้าดีมากมาย ไปไม่ถึงดวงดาว หรือไม่สามารถกลับมาเล่นได้เหมือนเดิม เนื่องจากถูกอาการบาดเจ็บเช่นนี้ เล่นงาน บางรายโชคร้ายถึงขั้นต้องแขวนสตั๊ดตั้งแต่อายุยังน้อย
แฟนบอลอาจเคยสงสัยว่า ทำไมมันถึงส่งผลกระทบอย่างมากต่ออาชีพพ่อค้าแข้งนัก ? “หมอทิม - นพ. ภคภณ อิสรไกรศีล” - AFC Medical Officer และ แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา และออร์โธปิดิกส์ ผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า ข้อไหล่ สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ BASEM โรงพยาบาลกรุงเทพ จะมาไขข้อข้องใจเหล่านี้ให้ทุกท่านได้ทราบผ่านงานเขียนบทความชิ้นนี้
เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
เอ็นไขว้หน้าเข่า (Anterior Cruciate Ligament; ACL) คือ เส้นเอ็นสำคัญในข้อเข่าเส้นหนึ่ง มีหน้าที่ในการช่วยรักษาความมั่นคงของข้อเข่าระหว่างเคลื่อนไหว รวมถึงป้องกันการบิดหมุนของข้อเข่า
Photo : www.mayoclinic.org
ด้วยเหตุนี้จึงมักพบอาการบาดเจ็บบริเวณดังกล่าว ในหมู่นักกีฬา ที่ต้องขยับขยับเขยื้อนและบิดหมุนของข้อเข่าอยู่ตลอดเวลา เช่น ฟุตบอล, บาสเกตบอล ซึ่งมักลงเอยด้วยการผ่าตัดรักษาและพักยาวหลายเดือน
ความจริงอาการบาดเจ็บ ACL ฉีดขาด ไม่ใช่สิ่งที่พบได้บ่อยนักในกีฬาฟุตบอล หากดูตัวเลขการจัดเก็บข้อมูลของ UEFA พบว่า เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก มีสัดส่วนน้อยกว่า 1% เมื่อเทียบจากอาการบาดเจ็บทั้งหมด
แต่เหตุผลที่แฟน ๆ เมื่อได้ยินคำว่า “เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก” จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะอาการเช่นนี้ ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ใช้พักยาวนานโดยเฉลี่ย 6-12 เดือน ส่งผลให้นักกีฬาคนนั้น แทบจะต้องปิดฉากซีซั่นไปเลยทีเดียว
ที่สำคัญ การบาดเจ็บนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการปะทะโดยตรง และไม่มีการปะทะ (non-contact) โดยมักจะเกิดจากการบิดของข้อเข่า ในจังหวะเปลี่ยนทิศทาง หรือจังหวะวางขาหลังกระโดด
จากการศึกษาโดย video analysis ในฟุตบอลลีกอิตาลี พบว่า มีการบาดเจ็บ ACL ถึง 148 ครั้งใน 10 ฤดูกาลหลังสุด
ที่น่าสนใจคือ 88% ของการบาดเจ็บลักษณะนี้ ไม่ได้มาจากจังหวะปะทะกันโดยตรงของผู้เล่น แต่มักเกิดในจังหวะต่อเนื่องจากการโดนเพรสซิ่ง ทำให้ข้อเข่าบิด อาจมีเสียงดังป็อบ! ในข้อเข่า หรือข้อเข่าปวดบวมตามมา
แฟนบอลจึงมักเห็นภาพ นักเตะที่เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด นอนดิ้นร้องทุรนทุราย เอามือกุมหัวเข่า และถูกหามขึ้นเปลออกนอกสนามอยู่เป็นประจำ หลังจากนั้น เมื่อแข้งผู้โชคร้ายเหล่านี้ คัมแบ็กกลับสู่สนาม หลายคนอาจไม่สามารถกลับไปโชว์ได้ดั่งเดิม
รุนแรงแค่ไหน
หลายๆคนมักจะจดจำภาพการบาดเจ็บของโรนัลโด้ ศูนย์หน้าชาวบราซิล หรือภาพรอยแผลเป็นที่หัวเข่าของเขา สร้างความหวาดกลัวให้กับแฟนบอลและนักฟุตบอลถึงการบาดเจ็บเข่าที่ลดทอนพรสวรรค์อันน่าตื่นตาตื่นใจของเขา แต่จริงๆแล้ว โรนัลโด้ ไม่ได้บาดเจ็บ ACL ขาด แต่เป็นเอ็นลูกสะบ้าขาด ซึ่งรุนแรงกว่ามาก
หากย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ถัาคุณได้รับบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก นั่นอาจหมายถึง อาชีพนักกีฬาของคุณมีโอกาสถึงคราวต้องปิดฉากลง
แต่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ และการผ่าตัดส่องกล้อง ทำให้นักฟุตบอลในเจเนอเรชั่นต่อมา ได้กลับมาโลดแล่นบนผืนหญ้าอีกครั้ง
ACL ขาดในยุคนี้ จึงไม่ได้ดูรุนแรงมากเท่ากับเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน ทว่าการจะกลับมาเล่นฟุตบอลหลังเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ดี
จากข้อมูลงานวิจัยในฟุตบอลยุโรป ที่ติดตามนักเตะ หลังได้รับการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าไปแล้ว 5 ปี มีเพียงแค่ 40 % เท่านั้น ที่สามารถเล่นฟุตบอลในระดับสูงได้เหมือนเดิม แม้บางคนจะยังค้าแข้งอยู่ แต่ฟอร์มการเล่น จังหวะ ความมั่นใจต่าง ๆ หดหายไป
กรณีของ เวอร์กิล ฟาน ไดค์จ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมก่อนหน้านี้ สื่อถึงตั้งข้อสันนิษฐานว่า เขาอาจได้รับบาดเจ็บ ACL ขาด ทั้งที่เจ้าตัวสามารถลุกขึ้นเดินออกจากสนามได้เอง
หากสังเกตจากภาพช้าจังหวะการบาดเจ็บ เข่าของ ฟาน ไดค์จ มีลักษณะบิดเข้าไปด้านใน รวมทั้งมีการแอ่นของข้อเข่าผิดรูป ซึ่งเป็นจังหวะที่เสี่ยงต่อ ACL ขาดเป็นอย่างมาก และหากโชคร้าย อาจไม่ใช่แค่ เอ็นไขว้หน้าเข่าขาดแค่เส้นเดียวด้วย
เพราะในทางการแพทย์ การลุกออกจากสนามเอง ไม่ได้เป็นสิ่งที่ชี้วัดว่า “เอ็นไขว้หน้าเข่า” จะไม่ฉีดขาด จริงอยู่เมื่อเกิดอาการ ACL ขาดเฉียบพลัน จะส่งผลให้เดินลงน้ำหนักยากลำบาก เข่าปวดบวม แต่นักกีฬาบางรายก็ยังสามารถเดินกะเผลกเองได้ เหมือนดั่งกรณีของ เคลย์ ทอมป์สัน นักบาสเกตบอลทีม โกลเดน สเตท วอริเออร์ส ที่สามารถเดินกลับมาชู้ตลูกโทษได้หลังจากบาดเจ็บรุนแรง
ในแถลงการณ์จากสโมสรลิเวอร์พูล ไม่ได้ระบุว่า ฟาน ไดจ์ค ต้องผ่าตัดส่วนไหน ? ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ทั้ง เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด บวกกับอาการอื่น ๆ ที่จะส่งผลให้ ฟาน ไดจ์ค ต้องพักยาวหลายเดือน
หรือหากโชคดีหน่อย ตามจังหวะการบาดเจ็บของ ฟาน ไดจ์ค อาจจะเป็น เอ็นประคบด้านใน (MCL: Medial collateral ligament) หรือ หมองรองเข่า (Meniscus) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาฟื้นตัวเร็วกว่า ACL ขาด
วิวัฒนาการแพทย์ช่วยได้
เทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้อง และการกายภาพบำบัด มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมาก ทำให้ นักฟุตบอลระดับโลกมากมาย สามารถกลับมาวาดลวยในสนามด้วยฟอร์มอันยอดเยี่ยมดั่งเดิม
จากงานวิจัยในปัจจุบันพบว่าหลังการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่าในนักฟุตบอลอาชีพ พวกเขาสามารถกลับคืนสู่เส้นทางฟุตบอลอาชีพได้มากกว่า 95%
ยกตัวอย่างในอดีต รุด ฟานนิสเตอรอย เคยเข้ารับการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่า สมัยยังค้าแข้งกับ พีเอสวี แต่หลังจากนั้นเขาก็มาระเบิดฟอร์มกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ เรอัล มาดริด ได้ยาวนานนับทศวรรษ
หรืออย่างในรายของ ซาบี เอร์นานเดซ เขาพาทีมชาติสเปนคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก และนำต้นสังกัด บาร์เซโลนา กวาดแชมป์แทบทุกรายการ หลังจากเคยผ่าตัด ACL เมื่อปี 2006 รวมถึงสุดยอดระดับตำนานอย่าง ฟรานเชสโก ต็อตติ, โรแบร์ ปิแรส, อเลกซานเดร เดล ปิเอโร ก็ล้วนผ่านการผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าเข่ามาแล้วทั้งสิ้น
ส่วนในปัจุบัน ตัวย่างที่เห็นได้ชัด คือ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ที่บาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด ตอนอายุ 35 ปี ขณะลงเล่นยูโรป้าลีก ให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
เข่าของซลาตันบิดผิดรูปอย่างชัดเจน หลังการกระโดดแย่งบอล ทำเอาแฟนบอลและสื่อหลายๆสำนักต่างคาดเดาว่า กองหน้าวัยเก๋าผู้นี้ คงต้องปิดฉากชีวิตค้าแข้งเป็นอย่างแน่แท้ แต่ซลาตันสลบคำวิจารณ์ กลับมายิงประตูต่อเนื่อง ให้กับทีม แอลเอ แกแล็กซี่ และ เอซี มิลาน
รวมถึงนักเตะหนุ่มอย่าง เคิร์ท ซูม่า และ เฮคเตอร์ เบเยอริน ที่กลับมายึดตำแหน่งตัวจริงในแผงหลังของเชลซี และอาร์เซน่อลได้อย่างต่อเนื่องในฤดูกาลนี้
เช่นเดียวกับ มาร์โก อเซนซิโอ ที่ได้รับบาดเจ็บ ACL ในเกมปรีซีซั่น และหายกลับมามีส่วนสำคัญในการช่วย เรอัล มาดริด ปาดหน้าคว้าแชมป์ ลาลีก้าสเปน ได้สำเร็จ หลังจากผ่านพ้นช่วงล็อคดาวน์ และล่าสุด เลรอย ซาเน่ ที่ย้ายไปโชว์ผลงานเยี่ยมยอดอย่างต่อเนื่องกับแชมป์ยุโรปทีมล่าสุดอย่างบาเยิร์น มิวนิค ทั้งที่พึ่งหายจากผ่าตัดรักษาได้ไม่นาน
หรือในประเทศไทยเอง นักเตะดีกรีทีมชาติไทยหลายต่อหลายรายก็ผ่านการผ่าตัด ACL มาแล้ว และยังสามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย
นอกจากนี้ อีกหนึ่งข้อได้เปรียบทางการแพทย์ในกีฬาฟุตบอลอาชีพ คือ การมีวิดีโอจังหวะบาดเจ็บให้ทีมแพทย์วิเคราะห์อาการ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก ต่อการประเมินร่วมกับการตรวจร่างกาย และการสแกนเพิ่มเติม
ซึ่งปัจจุบันทั้งในตอนแข่งขัน รวมทั้งสนามซ้อม จะมีการบันทึกวิดีโอไว้ตลอด โดยในแมตช์ระดับฟีฟ่า ยูฟ่า และเอเอฟซี มีการแจก Medical Tablet ให้กับแพทย์เผื่อใช้ดูภาพวิดีโอรีเพลย์ได้ตลอดเวลาในการแข่งขัน คล้ายๆมี VAR ส่วนตัว เพื่อประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาลผู้เล่น
แน่นอนว่า เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก ยังคงเป็นอาการบาดเจ็บที่รุนแรงและน่ากลัว ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพียงแต่ในยุคนี้ อาจไม่ได้ร้ายแรงเหมือนอดีต เนื่องด้วยเทคนิคในการผ่าตัดส่องกล้องที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา ที่เข้ามาช่วย
ทว่าแค่นั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะการทำให้ นักเตะสักคนหนึ่ง กลับมาเล่นได้เหมือนเดิม หลังการผ่าตัด ต้องอาศัยความพยายามจากตัวนักเตะ ในการกายภาพบำบัด และมีปัจจัยร่วมหลายๆอย่าง
ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการผ่าตัด การบาดเจ็บร่วมในข้อเข่า เช่น หมอนรองกระดูกฉีกขาด หรือกระดูกอ่อนบาดเจ็บ ความพร้อมของสภาพจิตใจ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หรือแม้กระทั่งสไตล์การเล่นของแต่ละบุคคล ซึ่งล้วนมีผลต่อฟอร์มการเล่นในระยะยาว
บทความโดย : นพ. ภคภณ อิสรไกรศีล - AFC Medical Officer และ แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา และออร์โธปิดิกส์ ผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า ข้อไหล่ สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายกรุงเทพ BASEM โรงพยาบาลกรุงเทพ