ทำไม โจเซป บาร์โตเมว จึงเป็นผู้นำบาร์เซโลน่าที่แฟน ๆ อยากไล่ออกมา 6 ปี

ทำไม โจเซป บาร์โตเมว จึงเป็นผู้นำบาร์เซโลน่าที่แฟน ๆ อยากไล่ออกมา 6 ปี

ทำไม โจเซป บาร์โตเมว จึงเป็นผู้นำบาร์เซโลน่าที่แฟน ๆ อยากไล่ออกมา 6 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ผมไม่เคยมีความคิดที่จะลาออก"

นี่คือคำกล่าวของ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว อดีตประธานสโมสรของ บาร์เซโลน่า ที่ครองตำแหน่งมานานถึง 6 ปี และทำให้แฟน ๆ ของ บาร์ซ่า ต้องส่ายหัวกับการก้าวถอยหลังและมีแต่ความตกต่ำ ...   

6 ปีในถิ่น คัมป์ นู เขาทำผิดอะไรนักหนา ทำไม โนบิตะ คนนี้จึงถูกมองเป็นคนผิดในทุก ๆ เรื่อง ติดตามได้ที่นี่

จากขุนพล ... สู่ท่านผู้นำ

คำว่าประธานสโมสรของ บาร์เซโลน่า นั้นไม่ได้หมายความว่าผู้รับตำแหน่งนั้นจะเป็นเจ้าของของสโมสร เพราะทีม ๆ นี้มีระบบการคัดครองคนเข้ามาบริหารทีมในระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือคนที่จะถูกเรียกว่าท่านประธานจะต้องเป็นคนที่ได้รับการโหวตจากแฟนบอลที่เป็นสมาชิกของสโมสร หรือ โซซีโอ ใครหาเสียงดี มีนโยบายที่นำพาทีมไปข้างหน้า คน ๆ นั้นก็มีโอกาสจะได้รับเลือกสูง ... ซึ่งข้อเสียของจุดนี้มีเพียงอย่างเดียวคือบางครั้ง สิ่งที่โฆษณา กับสิ่งที่ทำจริง ๆ มันไม่ตรงปกกันอย่างที่คิด

กรณีของ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว คือตัวอย่างที่ชัดเจนพอสมควร ก่อนขึ้นเป็นประธานสโมสร บาร์เซโลน่า บาร์โตเมว เป็นทั้งหุ้นส่วนและซีอีโอ ของบริษัท ADELTE และ EFS Bartomeu โดยตลอดช่วงเวลาก่อนหน้านั้น เขาถือเป็นหนึ่งในขุนพลคณะทำงานของ โจน ลาปอร์ต้า อดีตประธานของ บาร์เซโลน่า ในช่วงยุค 2000s

การไต่เต้าจนมาถึงจุดที่เป็นหัวหน้าใหญ่ของ บาร์โตเมว ต้องยอมรับว่ามีดวงผสมอยู่ไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งปี 2010 ซานโดร โรเซลล์ ที่ชนะการเลือกครั้งนั้นกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เหตุผลก็เพราะเขาเป็นผู้บริหารทีมในช่วงเวลาที่ บาร์เซโลน่า คือทีมที่ดีที่สุดในโลก

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะกลุ่มแข้งลูกหม้ออย่าง ชาบี เอร์นันเดซ, อันเดรียส อิเนียสต้า, เคราร์ด ปีเก้, เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ และ ลิโอเนล เมสซี่ กำลังอยู่ในจุดพีก จึงทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย แต่ส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือนักเตะที่ดึงเข้ามาเสริมทัพแต่ละดีลนั้นเป็นนักเตะประเภทเห็นผลจริงทั้งนั้น โดยเฉพาะการเข้ามาของ เนย์มาร์ ที่สามารถยกระดับทีมได้อย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้ โรเซลล์ ได้รับคำชมไปไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม ดีลของ เนย์มาร์ กลายเป็นดาบสองคม เนื่องจากมีการตรวจสอบว่า บาร์เซโลน่า ซื้อขายเขาอย่างผิดกฎหมายเพราะจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับเอเย่นต์และพ่อของนักเตะ จนทำให้เกิดการไล่บี้หาคนผิดเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ถูกเรียว่า Neymar Casa และกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ โรเซลล์ โดนไล่บี้ สุดท้ายเขาก็ลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม 2014 โดยส่งอำนาจต่อให้ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการบริหารมาตลอด 10 ปีหลัง ... หลังจากนั้นสิ่งต่าง ๆ มากมายก็เกิดขึ้น

 

คนบางคนไม่เหมาะกับการเป็นผู้นำ 

ปีแรกหลังรับไม้ต่อจาก โรเซลล์ ... บาร์โตเมว สามารถแอ็คได้เต็มที่ เนื่องจากโครงสร้างทีมชุดนั้นดีมาก นักเตะยอดเยี่ยม ระบบและแบบแผนยึดถือจากยุคเก่า ๆ มา ทำให้คุณภาพทีมอยู่ในระดับสูง บาร์เซโลน่า คว้าแชมป์ ลา ลีกา, โคปา เดล เรย์ และ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ในปี 2015 ซึ่งเป็นการเปิดศักราชใหม่ของ บาร์โตเมว ที่ยอดเยี่ยมสุด ๆ นั่นทำให้เขาชนะการเลือกตั้งประธานสโมสรเหนือ โจน ลาปอร์ต้า อดีตเจ้านาย ในช่วงกลางปีนั้นเอง และได้ครองตำแหน่งไปอีก 6 ปี 

แต่หลังจากนั้น สิ่งสำคัญคือการต่อยอดและการวางแผนระยะยาว เพราะทีมจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย นักเตะหลายคนกำลังเลยจุดพีกไปแล้ว และที่แน่ ๆ เลยคือเรื่องของกุนซือ เมื่อ หลุยส์ เอ็นริเก้ กุนซือผู้นำทีมคว้า 3 แชมป์หนล่าสุดเกิดอาการอิ่มตัวและไม่ต่อสัญญาในปี 2017 ... บาร์โตเมว และทีมงาน "ผิดตั้งแต่การเลือกแม่ทัพ" ว่าอย่างนั้นจึงจะถูกที่สุด

คนแรกที่เข้ามาคือ เอร์เนสโต้ บัลเบร์เด้ อดีตกุนซือของ แอธเลติก บิลเบา ชายผู้ทำฟุตบอลสไตล์ตีหัวเข้าบ้าน ทำทีมแบบเน้นผลการแข่งขันได้เก่ง แต่ในวันที่แต่งตั้งเขา แฟนบอล บาร์เซโลน่า ทุกคนตั้งคำถามว่า บัลเบร์เด้ ตอบโจทย์ปรัชญาของสโมสรแน่หรือ ?

"บัลเบร์เด้ เป็นโค้ชที่ดี แต่เขาไม่ควรได้เป็นโค้ชของ บาร์เซโลน่า เขาไม่เคยเหมาะสมกับสไตล์ของเรา สไตล์ของ บัลเบร์เด้ ขัดแย้งกับปรัชญาของทีมโดยตรง เขาไม่เคยวางใจนักเตะเยาวชน เขาไม่ใส่ใจแฟน ๆ (ทำบอลน่าเบื่อ)" นี่คือสิ่งที่กลุ่มผู้นำแฟนบอลเขียนลงในเว็บไซต์ BarcaTimes

ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ฟุตบอลของ บัลเบร์เด้ แม้จะบันดาลแชมป์ลีกได้ แต่ไม่เคยได้ใจแฟนบอลเลยแม้แต่น้อย ตอนเข้ามาเป็นอย่างไร ผ่านไปปีสองปีก็ไม่เปลี่ยนแปลง เขาทำให้ บาร์ซ่า เป็นทีมที่น่าเบื่อและเป็นทีมที่ขี้กลัว กังวลกับผลการแข่งขันเกินไป จนลืมรากเหง้าของทีม และเกิดเรื่องน่าอับอายซ้ำ ๆ กันถึง 2 ปีในศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก

ในฤดูกาล 2017-18 พวกเขาเสียท่า โรม่า ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ทั้ง ๆ ที่ชนะเกมแรกในบ้านมาก่อนโดยตุนสกอร์ไว้ถึง 4-1 ทว่าถึงเกมเยือน พวกเขาเล่นตั้งรับแบบที่ บาร์เซโลน่า ไม่เคยทำมาก่อน และสุดท้ายก็เสียท่าทัพหมาป่าถึง 3-0 โรม่า เข้ารอบไปด้วยสกอร์ 4-4 ด้วยกฎประตูทีมเยือน ... นี่คือครั้งแรกที่แฟนบาร์เซโลน่ารับไม่ได้ พวกเขาเรียกร้องให้บอร์ดบริหารที่นำโดย บาร์โตเมว พิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและควรเลือกตัดเนื้อร้ายทิ้งไปก่อนที่จะลุกลาม แต่ บาร์โตเมว ให้สัมภาษณ์ในทางกลับกัน เขาถือหาง บัลเบร์เด้ และพอใจกับแชมป์ลีกที่ บัลเบร์เด้ บันดาลให้ แต่สำหรับแฟน ๆ ของ บาร์ซ่า ... มันน้อยเกินไป

หลังจากนั้นปีเดียว ความอับอายครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในรายการเดิม ศึก แชมเปี้ยนส์ ลีก แต่คราวนี้เป็นรอบรองชนะเลิศ บาร์ซ่า คว้าชัยเหนือ ลิเวอร์พูล ในเกมแรกที่ คัมป์ นู มาก่อนอีกครั้งด้วยสกอร์ 3-0 ก่อนจะบุกเยือน แอนฟิลด์ ด้วยแท็คติกตั้งรับแบบหดหัวในกระดอง ส่งผลให้ทีมหงส์แดงพลิกนรกยิง 4 ลูกรวด เขี่ย บาร์ซ่า ตกรอบไปแบบสุดช็อค ก่อนก้าวไปคว้าแชมป์ ... รอบนี้แฟน ๆ บาร์ซ่าไม่ได้โกรธ บัลเบร์เด้ แล้ว พวกเขาไม่ได้โกรธหมา แต่โกรธเจ้าของหมามากกว่าที่ไม่เคยเห็นปัญหาอะไรสักอย่าง

"ใคร ๆ ก็รู้ตั้งนานแล้วว่าเขาควรถูกไล่ออกตั้งแต่ปีกลาย ความน่าอับอายในเกมกับ ลิเวอร์พูล ที่ แอนฟิลด์ มันชัดโคตร ๆ แล้ว แต่ บาร์โตเมว และคณะยังบอกว่าเราโอเคและจะเก็บเขาไว้อีก 1 ฤดูกาล จากนี้คงไม่ต้องพูดอะไรอีกแล้ว เรารู้กันดีว่ามันจบได้ไม่สวยขนาดไหน" สื่อเจ้าเดิมว่าต่อ

แม้ปากจะบอกมั่นใจในตัวของ บัลเบร์เด้ แต่เสียงของ บาร์โตเมว แผ่วลงทุกวัน ๆ ว่ากันว่าเหตุผลที่เขาไม่ยอมปลดสักทีเป็นเพราะเขาคาดหวังว่า บัลเบร์เด้ จะกู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และเหตุผลสำคัญที่สุดคือทีมกำลังถังแตก พวกเขาไม่อยากจะจ่ายค่ายกเลิกสัญญาเป็นเงินก้อน ... ทว่าสุดท้าย ก็ต้องยอมจ่ายค่าฉีกสัญญาจากการปลดอยู่ดี

เช่นเดียวกับการแต่งตั้ง กีเก้ เซเตียน เข้ามาคุมทีมในช่วงครึ่งหลังของฤดูกาล 2019-20 ที่สุดท้ายแล้วก็ล้มเหลว แถมยังมีเรื่องการจ่ายค่าชดเชยจากการปลด แล้วดึงตัว โรนัลด์ คูมัน มาคุมทีมแทน จนมีเหตุให้ต้องฟ้องร้องกันจนถึง ณ เวลานี้ เห็นได้ชัดว่าการเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่ายแบบนี้นี่เอง ที่ทำให้ตอนจบของเรื่องนี้เละจนเกินกว่าจะมีใครซ่อมได้ 

 

สูญเสียความเป็น บาร์ซ่า 

การปล่อยให้ บัลเบร์เด้ อยู่ต่อและสร้างปรัชญาที่ผิดเพี้ยน กลายเป็นการกัดกินจิตใจนักเตะในทีมตลอดระยะเวลาสองปีครึ่ง นักเตะ บาร์เซโลน่า ไม่เคยวิจารณ์ตัว บัลเบร์เด้ หรือ บอร์ดบริหารเลย แต่ภาษากายและฟอร์มการเล่นของพวกเขาบอกทุกอย่าง ความตกต่ำกำลังมาเยือน จุดพีกของทีม ๆ นี้ได้ผ่านไปแล้ว และที่สำคัญที่สุด พวกเขาไม่เคยได้เตรียมแผนการไว้สำหรับเรื่องนี้เลย 

บอร์ดบริหารที่นำโดย บาร์โตเมว ไม่ได้มองข้ามเรื่องนี้ แต่พวกเขาแก้ปัญหาไม่เคยถูกจุดมันก็เท่านั้น หลังจากการขาย เนย์มาร์ ให้ ปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง ในปี 2017 ด้วยราคาที่เป็นสถิติโลก 222 ล้านยูโร พวกเขาพยายามจะหาตัวแทนด้วยการใช้เงินไปราว 1 พันล้านยูโร ซื้อนักเตะมากมายหลายคนเข้ามา โดยตั้งแต่ปี 2017-2019 มีนักเตะตัวรุกค่าตัวเกิน 100 ล้านยูโร ถึง 3 คน ได้แก่ อุสมาน เดมเบเล่, ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ และ อองตวน กรีซมันน์ ... แต่ไม่เคยมีใครทำผลงานได้ดีสมค่าตัวเลยแม้แต่คนเดียว 

นอกจากนี้นโยบายการดันดาวรุ่งจาก ลา มาเซีย ก็หายไปในกลีบเมฆ นับตั้งแต่ปี 2011 ไม่มีนักเตะคนใดอีกเลยก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักของทีมได้ จนกระทั่งในปี 2020 ที่ อันซู ฟาติ ได้รับโอกาสนั้น และจำนวน 1 คนถ้วนก็ต้องถือว่าน้อยมากหากเทียบกับการผลักดันเด็ก ๆ เมื่อครั้งอดีต 

การซื้อนักเตะผิด แต่งตั้งโค้ชผิด ล้วนเป็นสิ่งที่ บาร์โตเมว มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทั้งนั้น นอกจากนี้เขายังมีความคิดแปลก ๆ ที่ตัดสินใจผิดพลาดอีกหลายอย่าง ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในทีมตกต่ำลงทุกปี แต่ละฝ่ายซัดกันนัวไปหมด ทั้งเช่นการที่ บาร์โตเมว บอกว่ามีนักเตะบางคนไม่เหมาะสมจะเป็นผู้เล่นของบาร์เซโลน่า หรือ เอริค อบิดัล อดีตนักเตะของทีมที่ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการฟุตบอล ซึ่งออกมาพูดต่อจากบาร์โตเมวในทิศทางคล้าย ๆ กันว่า มีนักเตะในทีมบางคนเล่นเหยาะแหยะไม่เต็มที่ จนทำให้ ลิโอเนล เมสซี่ สตาร์เบอร์ 1 ของทีมเดือด ปะทะคารมกันนัวด้วยการถามกลับว่า "หมายถึงใครพูดมาเลยดีกว่า" 

นี่ไม่เคยใช่สิ่งที่ บาร์เซโลน่า เป็น พวกเขาคือตัวแทนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งแคว้นคาตาลัน เมื่อครั้งอดีต นักเตะของ บาร์ซ่า รวมกันเป็นกลุ่มก้อนกับบุคลากรในทีม แต่ในยุคของ บาร์โตเมว ทุกกลุ่มแตกกระจัดกระจาย แม้แต่ตัวของ เมสซี่ เองที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่อายุ 14 ปี ยังยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้คือเหตุการณ์ที่แปลกประหลาดที่สุดที่เขาเคยเจอ 

ความสัมพันธ์ของแต่ละฝั่งชัดเจนว่าไม่ลงรอยกันจนหมดทางที่จะประสาน ทุกครั้งที่ทีมแพ้ นักเตะจะโทษฝ่ายบริหาร และฝ่ายบริหารก็จะโทษนักเตะกับกุนซือ เป็นเช่นนี้เรื่อยมา หนักข้อเข้าถึงขั้นมีข่าวว่าความแตกหักของทั้ง 2 ขั้วทำให้ บาร์โตเมว จ่ายเงินว่าจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ที่มีชื่อว่า I3 Ventures เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของตนเอง และปกป้องชื่อเสียงของบอร์ดบริหารของสโมสร ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของตำนานนักเตะสโมสรทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เป๊ป กวาร์ดิโอลา, การ์เลส ปูโยล, ชาบี เอร์นานเดซ รวมถึงกัปตันทีมคนปัจจุบันอย่าง เมสซี่ ด้วย 

ไม่มีใครได้ใจใคร และแน่นอนว่า บาร์ซ่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นเหมือนกับระเบิดเวลาเท่านั้น ว่าฝั่งไหนจะยอมแพ้และจากไปก่อนกัน ... 

 

ตัวเร่งเวลาระเบิดที่ชื่อว่า "COVID-19" 

"เราไม่มีรายได้อะไรเลยในตอนนี้ ทั้งการถ่ายทอดสด, การขายตั๋วฟุตบอล, เงินจากแมตช์เดย์ทั้งหมด, การทัวร์สนาม และร้านค้าของสโมสร ทำให้รายได้เราลดลงไปมาก แน่นอนที่สุดก็คือ เราพยายามหาวิธีเพื่อที่จะประหยัดเงินที่สุด เพราะเราไม่รู้เลยว่า ไวรัสจะหยุดเมื่อไหร่" บาร์โตเมว ว่าไว้เมื่อหลายเดือนก่อน 

จะดีหรือร้าย หากว่ากันตามกฎของประชาธิปไตยแล้ว บาร์โตเมว จะต้องอยู่บริหารทีมจนครบวาระในช่วงกลางปี 2021 และแน่นอนเจ้าตัวเองก็รู้สึกว่าควรได้อยู่จนครบสัญญา บทสัมภาษณ์หลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา บาร์โตเมว แสดงออกอย่างชัดเจนว่า เขาไม่ได้รู้สึกเป็นคนผิดทั้งหมด ...  

สิ่งสำคัญกว่านั้นคือความมั่นใจระดับ 1,000 แรงม้าว่าข้าเอาอยู่ เขามั่นใจในความสามารถการบริหารของตัวเอง โดยเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ ที่พังลงในช่วงที่ผ่านมาจะถูกแก้ไขให้ดีขึ้นได้ หากปล่อยให้เขาได้หาทางออกอย่างเต็มความสามารถ

อย่างไรก็ตาม COVID-19 ไม่เคยปราณีและให้เวลากับใคร สิ่งที่ บาร์เซโลน่า ในยุค บาร์โตเมว ทำไว้ในอดีตกลับนับถอยหลังเหมือนกับระเบิดเวลา 

เงินที่ บาร์เซโลน่า ใช้ซื้อนักเตะตลอดช่วงเวลา 4-5 ปีในสมัย บาร์โตเมว รวมเป็นเงินราว 1 พันกว่าล้านยูโร ที่ได้กล่าวไป และเงินเหล่านั้นเป็นเงินกู้ ที่ทีมต้องชำระและเสียดอกเบี้ยในภายหลัง

ดังนั้นการซื้อนักเตะก็เหมือนการลงทุนเพื่อหวังให้กำไรงอกเงยในอนาคต แต่ทุกคนรู้ดีว่าไม่มีนักเตะ บาร์เซโลน่า คนใดที่พวกเขาสามารถขายเอากำไรได้ หนำซ้ำนักเตะแต่ละคนยังมีค่าเหนื่อยสูงลิบเกิน 100,000 ยูโร ต่อสัปดาห์กันหลายราย โดยเฉพาะในรายแข้งซีเนียร์อย่าง เมสซี่, ซัวเรส, ปีเก้, บุสเก็ตส์ และ มาร์ค อังเดร แทร์ สเตเก้น นั้น ระดับ 200,000-300,000 ยูโรขึ้นไปทั้งสิ้น 

เมื่อ COVID-19 เข้ามา การห้ามแฟนบอลเข้าสนาม หรือการหยุดแข่งไปหลายเดือนส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก สำหรับ บาร์ซ่า อย่าว่าแต่ซื้อนักเตะใหม่เพื่อนำทีมกลับสู่ความยิ่งใหญ่เลย พวกเขาต้องระบายนักเตะค่าเหนื่อยแพงออก เพราะประสบปัญหาขาดทุนยับภายในเวลาไม่กี่เดือน สื่อใกล้ชิดสโมสรอย่าง SPORT ระบุว่าทางฝ่ายบอร์ดบริหาร ได้เสนอให้นักเตะยอมหั่นค่าแรงในช่วงวิกฤตนี้ลงมาถึง 70 เปอร์เซ็นต์

"เราเป็นสโมสรที่มีรายได้มากที่สุดในโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรายังไปไม่ถึงเป้าหมายเกิน 1,000 ล้านยูโร อย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้" ประธานบาร์ซ่า ให้สัมภาษณ์กับ AP หลังจากประกาศว่า ได้ตกลงลดค่าเหนื่อยนักเตะคนละ 70 เปอร์เซ็นต์ ให้ทีมสามารถไปต่อได้

โดยค่าแรงของทีมฟุตบอล มีสัดส่วนมากกว่า 70 เปอร์เซนต์จากค่าแรงทั้งหมดในทีมกีฬาทุกประเภทของสโมสร คิดเป็น 507 ล้านยูโร จากทั้งหมด 642 ล้านยูโร โดยเฉพาะในกลุ่มนักเตะที่ได้รับค่าเหนื่อยสูง ซึ่งสโมสรต้องหาวิธีลดรายจ่ายตรงส่วนนี้ลงมา ว่ากันว่า COVID-19 ได้แบ่งกลุ่มนักเตะ บาร์ซ่า ออกเป็นย่อย ๆ อีก ทั้ง ๆ ที่แต่เดิมก็เป็นก๊กเป็นเหล่ากันอยู่แล้ว โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้

1. กลุ่มที่ไม่เห็นด้วย และไม่ยอมให้สโมสรหักเงิน 70% เพราะมองว่าสโมสรเป็นฝ่ายลงทุนซื้อนักเตะที่ไม่สมเหตุสมผล ใช้เงินไม่คุ้มค่ามากพอ
2. กลุ่มที่พร้อมตอบรับนโยบายนี้เพื่อทีม นำโดย ลิโอเนล เมสซี่ ศูนย์กลางของทีมชุดนี้

เมื่อไม่มีเงิน ปัญหาก็ใหญ่ขึ้นเมื่อนั้น เห็นได้ชัดว่า COVID-19 เปิดแผลอย่างเร้าใจ ก่อนตามซ้ำด้วยผลงานของทีมที่ยอดแย่ในซีซั่นที่แล้ว ลากยาวมาจนถึงช่วงซัมเมอร์ที่ไม่ได้ตัวนักเตะคนใดมาเสริมทัพสวนทางกับความต้องการของทีม การมีปัญหากับ ลิโอเนล เมสซี่ จนกระทั่ง เมสซี่ ส่งแฟกซ์ขอยกเลิกสัญญา แต่ต้องยอมอยู่ต่อเพราะไม่อยากขึ้นศาลกับทีมรักจากข้อกฎหมายในเงื่อนไขการฉีกสัญญา, การผิดสัญญาและให้ร้ายกับ หลุยส์ ซัวเรซ ที่ต้องย้ายไป แอตเลติโก มาดริด, การไม่มีเงินชดเชยให้ กีเก้ เซเตียน และ การโดนแฟน ๆ ล่ารายชื่อเพื่อขอทำการลงประชามติ ไล่ บาร์โตเมว ออกจากตำแหน่งผู้บริหารของทีม 

แต่ว่าความมั่นใจยังคงอยู่ บาร์โตเมว ยังคงไม่รู้สึกว่าเขาผิดอยู่ดี และเชื่อว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามแผน ทั้ง ๆ ที่มองด้วยตาเปล่ายังรู้ว่าเขากำลังหลอกตัวเอง

"ผมไม่เคยมีความคิดที่จะลาออก"

"โปรเจกต์ของเราน่าสนใจ จากบรรดานักเตะดาวรุ่งที่ผสมผสานกับคนมีประสบการณ์อย่างเมสซี่"

"ผมคิดว่าการมีเขา เราจะคว้าแชมป์ได้ในฤดูกาลนี้ ผมเข้าใจในสิ่งที่ทุกคนพูดกันนะ แต่มันก็มีเส้นตายเกี่ยวกับเรื่องสัญญาว่าเขาต้องการจะย้ายหรือไม่ย้ายวันไหน เขาไม่ได้ทำอะไรและเขาก็ยังอยู่ที่นี่ เราทุกคนต้องการให้เขารีไทร์ที่ บาร์เซโลน่า"

"ความตั้งใจของเราก็คือเก็บเมสซี่เอาไว้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ใหม่ ดังนั้นผมตัดสินใจที่จะปฏิเสธทุกอย่างกับเขา" นี่คือสิ่งที่ บาร์โตเมว เปิดใจเอาไว้ในวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา หากนับจากเวลาปัจจุบันคือ 2 วันก่อนเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม โปรเจกต์ใหม่ที่เขาหวังก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงและคงไม่มีทางได้เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เพราะหลังจากแถลงข่าวได้เพียง 2 วัน ... 27 ตุลาคม 2020 โจเซป บาร์โตเมว และคณะทีมงานของเขาทั้งหมดยืนยันว่าขอยกธงขาว และออกจากการบริหารทีมแบบยกชุดโดยไม่ต้องรอให้ถึงวาระเลือกตั้ง หรือโดนประชามติโหวตไล่ออกไป

ทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามันจะจบได้ไม่สวยเท่าไหร่นักสำหรับทางออกของ บาร์เซโลน่า ในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม อย่างน้อย ๆ ที่สุดเรายังได้เห็นเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นบ้างในการลาออกครั้งนี้ สิ่งนั้นคือ "เขาเลิกโกหกตัวเองว่าทุกอย่างยังโอเค" 

ปัญหาสารพัดสารเพ พังยับเกินกว่าจะซ่อมหรือประกอบขึ้นมาใหม่ หากเขาทู่ซี้อยู่ต่อไป บาร์เซโลน่า ก็มีแต่จะบอบช้ำและพังพินาศลงยิ่งกว่าเดิม

การลาออกของ บาร์โตเมว ทำให้ทีมยังมีเวลาให้ได้แก้ไขสำหรับฤดูกาลที่ยาวนานและเริ่มกลับมามองโครงสร้าง สิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาหลงลืมไป แฟนบอลสมควรได้อะไรบ้าง ? นักเตะควรได้รับการปฏิบัติแบบไหนจากสโมสรที่พวกเขาเคารพรัก ... อย่างน้อย ๆ ก็ เมสซี่ คนหนึ่งล่ะที่คงเบาใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ และคงทำให้เขามีความสุขกับฟุตบอลขึ้นมาบ้าง

ทุกอย่างรวมกันนี้ ทำให้ บาร์โตเมว กับ บาร์เซโลน่า เดินมาด้วยกันจนสุดทาง ... 6 ปีแห่งความตกต่ำ ต้องมีคนรับผิดชอบ 

ไม่มียาขนานไหนอีกแล้วที่เขาสามารถช่วยรักษาสโมสรนี้เอาไว้ได้ บาร์โตเมว ทำสิ่งที่ถูกต้องเพียงทางเดียวนั่นคือการประกาศลงจากตำแหน่งแต่โดยดี 

และต่อจากนี้ไป แฟน ๆ ของ บาร์เซโลน่า จะใช้ประชาธิปไตย เลือกคนที่พวกเขาคิดว่าเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทน ... พร้อมความหวังว่า คนนั้นที่พวกเขาเลือกจะกลายเป็นรุ่งอรุณและแสงแห่งความหวังที่ทำให้ บาร์เซโลน่า กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งเหมือนกับอดีตที่ใคร ๆ ก็ต่างต้องซูฮก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook