ของดีที่ขายไม่ดี : เหตุใด AIR JORDAN II จึงกลายเป็น "แกะดำแห่ง AIR JORDAN" ?
ไม่มีข้อครหาสำหรับความสำเร็จของ Air Jordan แบรนด์รองเท้าภายใต้ชายคาของ Nike ที่ปัจจุบันมีมูลค่าแบรนด์สูงถึง 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 1 แสนล้านบาท โดยหลังจากที่เริ่มวางจำหน่ายรุ่นแรกในปี 1985 จนถึงปัจจุบันก็มีกว่า 35 รุ่นหลักเข้าไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่ในความสำเร็จอันมหาศาลนั้นจะมี "แกะดำ" ที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรซ่อนอยู่เสมอ โดยหนึ่งในแกะดำที่ชัดเจนที่สุดซึ่งเราหยิบยกมากล่าวถึงในครั้งนี้ก็คือรุ่น Air Jordan II
ถึงจะไม่มียอดขายเปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการ แต่จากการที่ Bloomberg สำนักข่าวเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้เคยจัดอันดับ Air Jordan รุ่นที่ขายดีที่สุด 25 อันดับแรก ปรากฏว่าไม่มี Air Jordan II รวมอยู่ในนั้น และถือเป็นรุ่นเดียวใน 13 รุ่นแรกที่วางจำหน่ายในช่วงที่ ไมเคิล จอร์แดน ยังเล่นบาสเกตบอลอาชีพอยู่ซึ่งไม่อยู่ในลิสต์นี้ เพียงเท่านี้ก็น่าจะพอเป็นหลักฐานยืนยันได้แล้วว่า Air Jordan 2 นั้นไม่ได้รับความนิยมจริง ๆ ไม่ใช่อุปทานหมู่แต่อย่างใด
ทั้ง ๆ ที่ Air Jordan II ถือเป็นหนึ่งในรุ่นที่สำคัญที่สุดในอาชีพนักบาสเกตบอลของ จอร์แดน เรียกได้ว่าเป็นคู่สร้างตำนานก็ว่าได้ อีกทั้งยังผลิตด้วยวัสดุคุณภาพสูงกว่ารุ่นอื่น ๆ แต่ทำไมผลตอบรับถึงไม่เป็นดังหวัง
หาคำตอบพร้อมกันได้ที่ Main Stand
รองเท้าสร้างตำนาน ส่งตรงจากอิตาลี
"การคว้าแชมป์ว่ายากแล้ว การรักษาแชมป์นั้นยากยิ่งกว่า"
ปีเตอร์ มัวร์ (Peter Moore) ดีไซเนอร์ของ Nike ผู้ออกแบบ Air Jordan I น่าจะเป็นหนึ่งในคนที่เข้าใจประโยคนี้อย่างกระจ่างแจ้งที่สุด เพราะอย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า Air Jordan I นั้นประสบความสำเร็จมหาศาลขนาดไหน ถึงขั้นขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในสนีกเกอร์ที่ขายดีที่สุดตลอดกาล ดังนั้นความกดดันมหาศาลจึงถามโถมมาที่เขาทันทีเมื่อต้องรับหน้าที่ทำให้ Air Jordan II ให้ออกมายอดเยี่ยมไม่แพ้รุ่นแรก
เพื่อสร้างสรรค์รองเท้าให้ออกมายอดเยี่ยม ทาง Nike จึงได้ส่ง บรูซ คิลกอร์ (Bruce Kilgore) อีกหนึ่งดีไซเนอร์มือดี ที่ภายหลังได้ไปสร้างตำนานกับรุ่น Air Force 1 ให้มาช่วย มัวร์ ด้วยอีกแรง
Photo : Ballislife.com
การผลิต Air Jordan II เกิดขึ้นในปี 1986 ซึ่งถือเป็นช่วงที่ จอร์แดน กำลังรุ่งโรจน์สุด ๆ กับเส้นทางนักบาสเกตบอล และมันก็ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์นอกสนามของเขาด้วย จอร์แดน เริ่มกลายเป็น "แฟชั่นนิสต้า" ที่แต่งตัวจัดจ้าน ใส่สูทราคาแพง นอกจากนั้นยังมีทองคำเส้นใหญ่ห้อยอยู่ที่คอด้วยเสมอ
ดังนั้นบรีฟที่ 2 ดีไซเนอร์ได้รับจาก Nike จึงเป็นบรีฟที่ต้องการให้รองเท้ารุ่นใหม่นี้ดูเข้ากับไลฟ์สไตล์ของ ไมเคิล จอร์แดน มากที่สุด นั่นก็คือ
"รองเท้าบาสเกตบอลที่โดดเด่นทั้งเรื่องประสิทธิภาพในสนามและแฟชั่น เน้นความหรูหรา สามารถนำมาใส่คู่กับชุดสูทได้อย่างไม่เคอะเขิน"
Photo : Sneaker History
...เรียกได้ว่าเป็นบรีฟที่โหดหินพอสมควรเลยทีเดียว...
เมื่อรู้ถึงแนวทางที่ควรจะเป็นของ Air Jordan II แล้ว ทั้ง ปีเตอร์ มัวร์ และ บรูซ คิลกอร์ ก็รู้ได้ในทันทีว่าถ้าจะเดินตามรอย Air Jordan I คงไม่ได้อย่างแน่นอน พวกเขาต้องทำอะไรที่แปลก และแตกต่างไปกว่านั้นให้มาก ที่สำคัญคือต้องเข้ากับบรีฟที่ได้รับมาด้วย ดังนั้นทั้งคู่จึงตัดสินใจบินลัดฟ้าสู่ประเทศอิตาลี
"Made in Italy" ถ้ามีคำนี้ปรากฏอยู่บนสินค้าแฟชั่นเมื่อไร ภาพลักษณ์ของมันก็จะดูหรูหราขึ้นมาทันที นั่นคงเป็นความคิดของ Nike และดีไซเนอร์ ดังนั้นรองเท้า Air Jordan II OG ทุกคู่จึงถูกผลิตขึ้นในประเทศอิตาลี โดยการออกแบบเน้นความเรียบง่าย แต่หรูหราด้วยสีขาวโทนแดง พวกเขาจึงจำเป็นต้องตัดโลโก้ Swoosh ที่ดูสปอร์ตออกไป ส่วนโลโก้ Air Jordan Wing นั้นยังคงอยู่ที่ลิ้นรองเท้าเหมือนเดิม
นอกจากนั้นเพื่อเพิ่มความหรูหรา Air Jordan II ยังผลิตในส่วนอัปเปอร์ด้วยวัสดุหนังอิตาลี (Italian Leather) และส่วนมิดโซลด้วยหนังอีกัวน่าราคาแพง พร้อมวัสดุโพลียูรีเทนในบริเวณพื้นรองเท้าเพื่อประสิทธิภาพการรองรับแรงกระแทกที่ดียิ่งขึ้น
Photo : Sneaker Files
อีกหนึ่งความพิเศษคือในช่วง 2 เดือนแรกที่มีการวางจำหน่าย ก็จำกัดแค่เฉพาะในร้านค้า 30 แห่งใน 19 เมืองของประเทศอิตาลีเท่านั้น ก่อนที่จะวางจำหน่ายทั่วโลกในภายหลัง เรียกได้ว่าทุกกระบวนการตั้งแต่การออกแบบ ผลิต และจำหน่ายนั้นพรีเมี่ยมสุด ๆ
ไมเคิล จอร์แดน สวมใส่ Air Jordan II ต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกในเกมบาสเกตบอลการกุศลศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิษย์เก่านอร์ธแคโรไลนาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 1986 แต่ที่ทุกคนน่าจะจดจำได้จริง ๆ ก็น่าจะเป็นในโฆษณาของ Nike ที่ จอร์แดน ลอยตัวกลางอากาศแบบสโลว์โมชั่น พร้อมด้วยสโลแกน "rock-a-baby" ในตำนาน
ก่อนที่ในฤดูกาล 1986-87 หลังจากที่ ไมเคิล จอร์แดน หายกลับมาจากอาการบาดเจ็บ เขาก็ได้ใส่ Air Jordan II ลงสนามอย่างเป็นทางการ
ไมเคิล จอร์แดน ไม่เคยออกมาพูดอย่างเป็นทางการว่าเขาชอบหรือไม่ชอบรองเท้ารุ่นนี้ มีแต่ข่าวลือที่ปล่อยออกมา บ้างก็ว่าเขาชอบมันมาก บ้างก็ว่าเขาเกลียดมันสุด ๆ อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะความจริงอันเที่ยงแท้คือ ไมเคิล จอร์แดน สามารถทำแต้มได้สูงถึง 50 แต้ม ในเกมที่พบกับทีม นิวยอร์ก นิกส์ ซึ่งเป็นเกมแรกที่เขาสวมรองเท้ารุ่นนี้ลงสนาม
Photo : NBA
นอกจากนั้นตลอดฤดูกาล 1986-87 ไมเคิล จอร์แดน ก็สามารถทำแต้มได้เกิน 3,000 แต้ม นับเป็นคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ NBA ที่ทำได้ใน 1 ฤดูกาลต่อจาก วิลท์ แชมเบอร์เลน ปิดท้ายด้วยสถิติแต้มเฉลี่ยต่อเกมที่ 37.09 ซึ่งสูงที่สุดในอาชีพนักบาสเกตบอลของเขา
ถึงแม้ว่าในปีนั้น ไมเคิล จอร์แดน จะไม่ได้แหวนแชมป์ และพลาดตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่าให้กับ แมจิก จอห์นสัน ไปก็ตาม แต่เท่านี้ก็เพียงพอที่จะพูดได้อย่างเต็มปากแล้วว่า Air Jordan II คือหนึ่งในรองเท้าที่สร้างตำนานให้กับ ไมเคิล จอร์แดน
ยอดเยี่ยมขนาดนี้ แต่ทำไมถึงไม่ประสบความสำเร็จ ?
จากที่กล่าวไปเห็นได้ว่า Air Jordan II มีแต่เรื่องราวดี ๆ อีกทั้งยังใช้วัสดุคุณภาพสูง มันก็ควรจะประสบความสำเร็จสิ แล้วทำไมถึงกลายมาเป็นประเด็นในบทความนี้ได้ล่ะ ?
การใช้วัสดุคุณภาพสูง และผลิตที่ประเทศอิตาลีถือเป็นดาบสองคมก็ว่าได้ เพราะด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นมาก ทำให้วันแรกที่เริ่มวางจำหน่าย ทุกคนก็ตกตะลึงทันที ในขณะที่ Air Jordan I วางจำหน่ายด้วยราคาคู่ละ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ Air Jordan II ราคากลับพุ่งไปถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ เรียกว่าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
นอกจากราคาจะแพงแล้ว ปีเตอร์ มัวร์ และ บรูซ คิลกอร์ ยังได้ฆ่าตัวตายซ้ำสอง พวกเขามัวแต่คิดว่าต้องการสร้างภาพ Air Jordan II ให้ออกมาหรูหรา จึงตัดสินใจให้รุ่นนี้ไม่มีโลโก้ Swoosh โดยลืมคิดไปว่าหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่สุดที่คนตัดสินใจซื้อรองเท้า Nike หรือ Air Jordan ก็เพราะโลโก้ Swoosh นี่แหละ
"รองเท้าราคา 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่กลับไม่มี Swoosh เนี่ยนะ ให้ตายเถอะ !"
Photo : Le Site de la Sneaker
แต่ถ้าจะโยนความผิดของความล้มเหลวนี้ให้กับ 2 ดีไซเนอร์ทั้งหมดก็ดูจะไม่ยุติธรรมนัก เพราะพวกเขาต้องทำตามบรีฟที่ทาง Nike มอบให้ ดังนั้นความผิดส่วนใหญ่จึงน่าจะเป็นของ Nike มากกว่า เนื่องจากพวกเขามัวแต่สนใจที่จะให้รองเท้ารุ่นนี้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของ ไมเคิล จอร์แดน โดยไม่ได้คำนึงว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีไลฟ์สไตล์หรูหราเหมือนยอดนักบาสเกตบอล
หลังจากที่วางจำหน่ายในปี 1986 แล้วยอดขายไม่เข้าเป้า ทาง Nike ก็ตัดสินใจยุติการผลิตไปนานถึง 7 ปี ก่อนจะกลับมาผลิตอีกครั้งในปี 1994 แต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ก่อนที่จะหายไปอีก 10 ปี และกลับมาในปี 2004
การวางจำหน่ายแบบขาดช่วงแบบนี้ยิ่งทำให้สถานการณ์ของ Air Jordan II ที่แย่อยู่แล้วยิ่งแย่ลงไปอีก ไม่มีทางที่กระแสของมันจะฮิตขึ้นมาได้จากการวางจำหน่ายแบบนี้ เพราะในทุก ๆ ปีก็จะมีรุ่นใหม่ ๆ ออกมาวางจำหน่ายอยู่เสมอ ทำให้ชื่อของ Air Jordan II ค่อย ๆ เลือนหายไปตามเวลา
Photo : ShoesFx
ถึงแม้หลังจากนั้นจะมีการนำ Air Jordan II มาคอลแลบกับศิลปินต่าง ๆ จนเกิดเป็นสินค้าน่าสนใจออกมาไม่น้อยไม่ว่าจะเป็น Eminem x Nike Air Jordan II "The Way I Am", Doernbecher x Nike Air Jordan II "Peacock", Just Don x Nike Air Jordan II "Quilted"/"Bright Blue", Just Don x Nike Air Jordan II "Beach" และอีกมากมาย แต่ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ไม่ว่าจะทำยังไง Air Jordan II ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เท่ากับรุ่นอื่น ๆ อยู่ดี เนื่องจากรากฐานที่ไม่แข็งแรง
นอกจากนั้นการที่ ปีเตอร์ มัวร์ และ บรูซ คิลกอร์ ถูกแทนที่ด้วย ทิงเกอร์ ฮาตฟิลด์ ในตำแหน่งดีไซเนอร์ตั้งแต่ Air Jordan III เป็นต้นมา ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันถึงความล้มเหลวครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามถ้าถามว่า Air Jordan II เป็นรองเท้าที่แย่หรือไม่ ? คำตอบก็คือไม่ใช่โดยสิ้นเชิง มันเป็นรองเท้าที่สวยงาม โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ประสิทธิภาพการใช้งานสูง อีกทั้งยังเป็นรองเท้าที่มีส่วนสำคัญในการสร้างตำนานของ ไมเคิล จอร์แดน เพียงแต่มันอาจจะไม่เข้ากับกลุ่มตลาดเท่านั้นเอง
Photo : CNN
ล่าสุดในปี 2020 ทาง Nike ก็ได้ปลุก Air Jordan II 1986 OG ออกมาวางจำหน่ายอีกครั้งในราคาคู่ละ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 18,000 บาท (ไม่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย) ใครที่ต้องการจับจองเป็นเจ้าของ "แกะดำแห่ง Air Jordan" คู่นี้ก็สามารถหาซื้อได้ในช่องทางที่สะดวก