คาร์ลอส วัลเดอร์รามา : นักฟุตบอลอัจฉริยะผู้เป็นมรดกทางสมบัติของ ปาโบล เอสโคบาร์

คาร์ลอส วัลเดอร์รามา : นักฟุตบอลอัจฉริยะผู้เป็นมรดกทางสมบัติของ ปาโบล เอสโคบาร์

คาร์ลอส วัลเดอร์รามา : นักฟุตบอลอัจฉริยะผู้เป็นมรดกทางสมบัติของ ปาโบล เอสโคบาร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักฟุตบอลบางคนอาจจะไม่ได้เก่งระดับโลก แต่ก็โดดเด่นจากภาพลักษณ์และไลฟ์สไตล์ที่ฉูดฉาดจนเกินมองข้าม 

นี่คือเรื่องราวของ คาร์ลอส วัลเดอร์ราม่า ที่ทุกวันนี้ในความทรงจำของใครหลายคน ยังคงนึกถึงเขาแค่ในฐานะนักเตะตำแหน่งเพลย์เมคเกอร์ทีมชาติโคลอมเบีย กับหัวฟูฟ่องเป็นฝอยทองเท่านั้น

แต่อย่าให้ทรงผมนั้นหลอกตา เพราะชีวิตนักฟุตบอลของ วัลเดอร์ราม่า นั้นน่าสนใจไม่แพ้ทรงผม ติดตามเรื่องราวความฉูดฉาดสุดจี๊ดของอัจฉริยะแดนลาตินได้ที่นี่

เรื่องทั้งหมดเริ่มจาก เอสโคบาร์ ! 

ก่อนจะพูดถึง คาร์ลอส วัลเดอร์ราม่า เราอยากให้คุณเข้าใจบริบทและความเป็นไปของวงการฟุตบอลโคลอมเบียในช่วงก่อนเข้ายุค 90s สักหน่อย ... หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าในขณะที่ทีมชุดปัจจุบันของ โคลอมเบีย สามารถสู้ได้กับทุกชาติบนโลก แต่แท้จริงแล้วพวกเขาเพิ่งมาจริงจังและฟื้นฟูวงการฟุตบอลได้ประมาณ 30-40 ปีเท่านั้น 

ก่อนจะถึงฟุตบอลโลกปี 1990 โคลอมเบีย ไม่เคยผ่านเข้ามาเล่นในรายการนี้นานติดต่อกันถึง 28 ปี (7 สมัย โดยครั้งก่อนหน้าที่ได้มาเล่นคือเมื่อปี 1962) เหตุผลเดียวที่เป็นเช่นนั้น เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวฟุตบอลถือเป็นของเล่นของเหล่าอาชญากร พ่อค้ายาเสพติดที่ดังไปทั่วโลก และหากจะเอ่ยชื่อที่คุ้นที่สุดคงไม่พ้น ปาโบล เอสโคบาร์ ราชาโคเคน มหาเศรษฐีผู้มีอิทธิพลคับประเทศนั่นเอง 


Photo : www.copa90.com

กลุ่มอาชญากรเลือกจะซื้อทีมฟุตบอลเป็นของตัวเอง ส่วนหนึ่งนอกจากความชื่นชอบส่วนตัวแล้ว การมีสโมสรฟุตบอลที่เป็นธุรกิจถูกกฎหมายนั้นสามารถนำมาใช้ฟอกเงินได้ อย่างไรก็ตามเนื้อในของฟุตบอลโคลอมเบียมันเละเทะเกินต้าน มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ ล้มบอล ซื้อกรรมการ ขู่ฆ่านักเตะ หรือทุก ๆ อย่างเท่าที่คุณจะนึกออก ... อาชีพนักฟุตบอลตายง่ายพอ ๆ กับลูกกระจ๊อกแก๊งค้ายา ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่โคลอมเบียจะไม่เคยประสบความสำเร็จเลย และไม่มีทีท่าว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น 

"โคลอมเบีย ได้รับความเสียหายจากเงินของพวกพ่อค้ายาเสพติดหลายด้าน เห็นชัด ๆ ก็ด้านฟุตบอลนี่แหละ มีการสอบสวนจนเจอหลักฐานหลายชิ้น แต่ก็ไม่มีการเอาผิดกันได้ เงินของพวกแก๊งแทรกซึมไปในสังคมโคลอมเบีย ไม่ใช่แค่ฟุตบอล แต่มันกระจายไปทั่วทุกวงการในประเทศนี้" กาเบรียล เมลุค นักข่าวสายกีฬาชาวโคลอมเบีย กล่าวถึงเรื่องนี้กับสื่อสายเจาะลึกอย่าง The Athletic 

อย่างไรก็ตาม ในความยากลำบากของฟุตบอลที่เต็มไปด้วยอิทธิพลมืด โคลอมเบีย เองก็ได้ประโยชน์บางประการจากเงินของเหล่าอาชญกร เพราะหลังจากที่แก๊งหลายแก๊งเข้าเทคโอเวอร์สโมสร แต่ละแก๊งก็นำเงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายมาสร้างสโมสรให้แข็งแกร่ง เพื่อแสดงถึงอิทธิพลของแก๊ง พวกเขาต้องการให้ทีมของตัวเองยัดเยียดความปราชัยให้กับทีมตรงข้ามที่มีเจ้าของเป็นแก๊งค้ายาแก๊งอื่น ๆ 

ความอยากเด่นและมีอำนาจนี้เองที่ทำให้เกิดเจเนเรชั่นที่ยอดเยี่ยมขึ้นมา นักเตะที่เติบโตจากระบบอคาเดมีที่มีมาตรฐาน แถมยังได้รับค่าตอบแทนสูงเพราะพวกเขาคือ 1 ในความภูมิใจของแก๊ง และในช่วงนั้นเองคือช่วงที่ คาร์ลอส วัลเดอร์ราม่า ปรากฎตัวในฐาะนะ "อัจฉริยะของวงการฟุตบอลโคลอมเบีย"

แกนกลางของยุคทอง

ความรุ่งเรืองด้านวัตถุดิบถูกสร้างขึ้นและกำลังเติบโตจากแต่ละสโมสร แต่สิ่งสำคัญคือคนที่หยิบจับเด็ก ๆ พวกนั้นมาเล่นด้วยกันในนามทีมชาติ หลังจากได้ฟื้นฟูฟุตบอลอย่างจริงจังในช่วงกลางยุค 80s พวกเขาเลือกโค้ชที่ชื่อว่า ฟรานซิสโก้ มาตูราน่า อดีตทันตแพทย์ที่สามารถสอบใบประกอบโค้ชอาชีพได้ 

สไตล์ที่ มาตูราน่า สร้างไว้ถูกเรียกว่า "Toque-Toque" ซึ่งหากจะอธิบายให้นึกภาพออก คงเหมือนกับ Tiki-Taka ที่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ใช้ในทุกวันนี้ นั่นคือการให้นักเตะในทีมผ่านบอลกันให้เร็วที่สุด เน้นไปที่การเล่นจังหวะเดียว และใช้การเคลื่อนที่ของคนที่ไม่มีบอลสร้างความได้เปรียบในการเล่นเกมรุก และจอมทัพที่คอยกำหนดทิศทางการเล่นของทีมที่ มาตูราน่า วางไว้คือ คาร์ลอส วัลเดอร์ราม่า 

วัลเดอร์ราม่า นั้นถือว่าเป็นสุดยอดนักเตะของประเทศมาตั้งแต่ช่วงกลางยุค 80s แล้ว สิ่งสำคัญที่ทำให้เขาเก่งกว่าคนอื่น ๆ คือเมื่อลีกโคลอมเบียเต็มไปด้วยมาเฟียและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีเท้า วัลเดอร์ราม่า ตัดสินใจเลือกไปเล่นในยุโรป โดยย้ายไปเล่นให้กับ มงต์เปลลิเย่ร์ ในปี 1988 ซึ่ง ณ เวลานั้นเขาอายุ 27 ปี เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ฝีเท้าเข้าสู่จุดพีก และเหมาะสมสำหรับการเพิ่มเพดานบินให้กับตัวเองโดยแท้จริง 

วัลเดอร์ราม่า คือนักเตะในสไตล์เพลย์เมคเกอร์แบบลาติน 100% กล่าวคือชอบทำอะไรที่เหนือความคาดหมาย มีเทคนิคดี แต่มีสภาวะทางอารมณ์และความมุ่งมั่นที่น้อยไปหน่อย นั่นคือหลายสิ่งที่คนมองถึงตัวเขา ว่ากันว่าเขาเป็นนักเตะประเภทที่รักความสบายและขี้เกียจ ถ้าหากเขาไม่ได้มาเล่นในยุโรป รับรองเลยว่าเขาจะเป็นเช่นนั้นต่อไป

โลรองต์ บล็องก์ นักเตะทีมชาติฝรั่งเศสชุดแชมป์โลกปี 1998 ที่เคยเล่นอยู่กับ มงต์เปลลิเยร์ ในช่วงเวลาเดียวกันเล่าว่า การมี วัลเดอร์ราม่า อยู่ในทีมคือกุญแจสำคัญที่ทำให้ มงต์เปลลิเยร์ คว้าแชมป์เฟร้นช์คัพได้สำเร็จในปี 1990 สิ่งที่เขาทำได้คือความแตกต่างในแบบที่เพื่อนร่วมทีมคนอื่นได้แต่มองจนตาค้าง


Photo : www.telemundodeportes.com

"เขาโคตรมีพรสวรรค์เลย ตอนนั้นนักเตะในทีมแค่ฝากบอลไว้กับเขาเวลาที่คิดอะไรไม่ออก เราเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำอะไรต่อไป แต่ที่รู้แน่ ๆ คือถ้าส่งให้ วัลเดอร์ราม่า ไอ้หมอนี่จะไม่ยอมเสียบอลให้กับใครง่าย ๆ แน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว วัลเดอร์ราม่า ก็มักจะทำแบบนั้น เขาทำอะไรที่เหนือความคาดหมาย ทำในสิ่งที่มหัศจรรย์ ในขณะที่พวกเราได้แต่ฝันถึงเท่านั้น" บล็องก์ กล่าว 

ความสามารถระดับนี้เองที่ทำให้แท็คติก Toque-Toque ตอบโจทย์กับความสามารถของ วัลเดอร์ราม่า การวางบอลยาวหนีการไล่บอลของคู่แข่ง การแทงทะลุช่องสร้างสรรค์การเข้าทำ ทำให้ โคลอมเบีย นับตั้งแต่เข้ายุค 90s เป็นต้นมากลายเป็นทีมที่แฟนบอลทั่วโลกเริ่มพูดถึงอีกครั้ง นอกจากนี้ โคลอมเบีย ของ มาตูราน่า ที่มี วัลเดอร์ราม่า เป็นแกนกลางยังสามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่าเหลือเชื่อให้ทั้งโลกได้เห็น

ในฟุตบอลโลกปี 1990 ที่ อิตาลี ถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการฟุตบอล โคลอมเบีย และแจ้งเกิดในระดับโลกของ วัลเดอร์ราม่า อย่างแท้จริง ทีมชาติโคลอมเบีย อยู่ร่วมกลุ่มกับ ยูโกสลาเวีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และ เยอรมันตะวันตก ... หลังผ่านไป 2 เกมแรก พวกเขามี 3 แต้มจากการเอาชนะ ยูเออี และแพ้ให้กับ ยูโกฯ ดังนั้นเกมสุดท้ายเป็นไฟต์บังคับที่พวกเขาจะต้องมีแต้มในการเจอกับ เยอรมันตะวันตก ซึ่งนำทัพโดย โลธาร์ มัทเธอุส 

ในเกมนั้น เยอรมัน สามารถทำประตูขึ้นนำได้ในช่วงท้ายเกม แต่ถึงจะเหลือเวลาน้อย ผู้เล่นของ โคลอมเบีย ไม่ถอดใจ วัลเดอร์ราม่า เล่าว่าเขาบอกให้เพื่อนร่วมทีมทุกคนเลิกกลัว และดันเกมรุกให้มากขึ้น เขารู้ว่าหากทีมสามารถเข้ารอบได้ ประวัติศาสตร์ฟุตบอล โคลอมเบีย จะเปลี่ยนไป โมเมนตัมจะกลับมาอีกครั้ง หลังจาก 28 ปีที่แสนยาวนาน

"นั่นคือโมเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เราต้องเจอกับทีมแข็งแกร่งอย่างเยอรมัน โดยที่ไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้างในเกมนั้น แต่โจทย์ของเราคือต้องชนะหรือเสมอเท่านั้น เราเล่นได้ดีแต่ก็โดนยิงนำ เราเสียเปรียบ แต่ทีมชุดนั้นสภาพจิตใจแข็งแกร่งมาก เราผลักดันทีมไปข้างหน้า เคลื่อนที่กดดันพวกเขาแล้วโอกาสก็มาถึง" 

วัลเดอร์ราม่า คือหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์ประตูตีเสมอในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ เขารับบอลมาจากแบ็กขวา ก่อนที่ มัทเธอุส จะนำทัพนักเตะเยอรมันอีก 3 คนรุมบี้เขาแดนกลาง แต่ วัลเดอร์ราม่า ทำในสิ่งที่เหนือความคาดหมาย เขาม้วนตัวหนีการประกบและใช้การทำชิ่งบอลแบบ Toque-Toque แหวกแนวรับจนเจอที่ว่าง จากนั้นเขาใช้เท้าซ้ายแทงทะลุช่องทีเดียวให้กับ เฟร็ดดี้ รินคอน หลุดเดี่ยวเข้าไปยิงตีเสมอ 1-1 ... นี่คือประตูประวัติศาสตร์ นักเตะของ โคลอมเบีย ดีใจกันอย่างบ้างคลั่ง ที่พวกเขาสามารถสร้างจุดเปลี่ยนของยุคทองได้เสียที 

"ทีมคนหนุ่มยุคนั้นคือประวัติศาสตร์ของฟุตบอลโคลอมเบีย มันเป็นครั้งแรกที่เราผ่านรอบแบ่งกลุ่มไปได้ ประเทศของเราแทบเกิดแผ่นดินไหวเมื่อบอลมันเข้าประตูไป แม้กระทั่งทุกวันนี้ผมย้อนกลับไปดูทีไรก็ยังขนลุกทุกที" วัลเดอร์ราม่า กล่าว

การผจญภัยอันน่ามหัศจรรย์ของ โคลอมเบีย จบลงในรอบ 16 ทีมสุดท้าย จากการออกมาเล่นนอกเขตของ เรเน่ ฮิกิต้า ที่ทำให้โดน โรเจอร์ มิลลา ดาวยิงตัวเก๋าของ แคเมอรูน แย่งบอลและยิงประตู นำมาซึ่งความพ่ายแพ้ในช่วงต่อเวลาด้วยสกอร์ 1-2 ... แม้จะเป็นความผิดหวังและเป็นไฮไลต์ตลอดกาล แต่นั่นไม่ใช่ใจความสำคัญ เพราะ วัลเดอร์ราม่า และเพื่อนร่วมทีมโคลอมเบีย กลับถึงบ้านในฐานะฮีโร่ คนต้อนรับเต็มสนามบิน ในฐานะทีมชุดที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยมีมา  

 

ไว้ลายจนท้ายที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นจากฟุตบอลโลกในปี 1990 คือกระแสความนิยมกีฬาฟุตบอลในประเทศตื่นตัวถึงขีดสุด และ วัลเดอร์ราม่า ก็มีส่วนร่วมในฟุตบอลโลกอีก 2 ครั้งในปี 1994 และ 1998 

ทุกไฮไลต์ที่ วัลเดอร์ราม่า ลงเล่นล้วนแต่น่าจดจำทั้งนั้น หนึ่งในนั้นคือเกมที่ โคลอมเบีย ต้องเจอกับ อาร์เจนติน่า ในฟุตบอลโลก 1994 รอบคัดเลือก ตอนนั้น อาร์เจนติน่า ที่มี ดิเอโก้ มาราโดน่า โดน โคลอมเบีย ยุคทองสอนบอลคาบ้านไปถึง 5-0 จนเกือบไม่ได้ไปฟุตบอลโลกเลยทีเดียว 

หากจะถามว่ามีผลงานหรือแชมป์อะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านี้หรือไม่สำหรับ วัลเดอร์ราม่า หลังจากนั้น ... คำตอบคือไม่มีเลย เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จในฐานะแชมเปี้ยน หลังจบศึกฟุตบอลโลกปี 1994 วัลเดอร์ราม่า เล่นในลีกบ้านเกิดช่วงสั้น ๆ ก่อนจะย้ายไปค้าแข้งใน เมเจอร์ลีก ซอคเก้อร์ ของสหรัฐอเมริกาที่กำลังก่อร่างสร้างลีกเป็นเวลา 7 ปี (มีแอบแว่บกลับมาเล่นให้ทีมในโคลอมเบียช่วงสั้น ๆ อีกครั้ง) ก่อนแขวนสตั๊ดไปในปี 2002 ตอนอายุ 41 ปี  

แต่เหตุผลที่ทุกคนยังคงพูดถึงเขา มันไม่ใช่แง่ของความสำเร็จ แต่มันคือการสร้างจุดเปลี่ยนต่างหากที่ทำให้เขาเป็นตำนาน แม้จะไม่ใช่นักเตะระดับโลกเกรด A แต่อย่างน้อย ๆ ชาว โคลอมเบีย ก็รักและเคารพเขาจนถึงขั้นมีการสร้างรูปปั้นเพื่อเป็นเกียรติแก่จอมทัพของเขา


Photo : www.tripadvisor.com

ส่วนสิ่งที่โลกจดจำวัลเดอร์ราม่า คือนักเตะคนหนึ่งที่บ่งบอกถึงตัวตนการเป็นคนลาตินแท้ ๆ ตรงผมฟูฟ่องที่ได้รับอิทธิพลมาจากการเติบโตในยุคที่แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ไร้ข้อจำกัด เหนือสิ่งอื่นใดคือลักษณะนิสัยที่โดดเด่นเกินใครและทำให้หลายคนรักเขา เขายิ้มและหัวเราะได้เสมอ แม้ประสบการณ์การเป็นนักฟุตบอลของเขาจะมีเรื่องราวมากมายให้พูดถึง 

มีคำถามว่าอะไรที่ทำให้เขาเป็นนักเตะที่มีความคิดสร้างสรรค์ และมองเห็นช่องทางการเล่นเกมรุกแบบที่ใครมองไม่เห็น เป็นเพราะเขาได้ไปเล่นในต่างประเทศหรือเปล่า จึงทำให้เขาเหนือกว่านักเตะโคลอมเบียยุคนั้น ที่ส่วนใหญ่เล่นให้กับทีมท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว ? 

วัลเดอร์ราม่า ตอบได้เพียงว่า ฝีเท้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่แต่เพียงอย่างเดียว การทำซ้ำ ๆ และมีความสุขกับสิ่งที่ทำต่างหากคือกุญแจสำคัญ 

"อย่าลืม ผมก็แค่เตะบอลข้างถนนเหมือนกับเด็ก ๆ คนอื่น ๆ แต่ผมแค่เรียนรู้ในทุก ๆ วัน และที่สำคัญคือสนุกกับมัน ... ผมคิดเสมอว่า 'แค่ออกไปเล่นก็เพียงพอแล้ว'" เพลย์เมคเกอร์จอมด้นสดกล่าว 

ทุกวันนี้ประตูทางเข้าของเมือง ซานตา มาร์ตา ยังคงมีรูปปั้นที่เชิดชูเกียรติของเขา พร้อมกับป้ายข้อความที่ว่า "ยินดีต้อนรับสู่ ซานตา มาร์ตา เมืองที่พร้อมบันดาลทุกอย่างให้คุณได้" ... นี่คือคำขวัญที่คล้าย ๆ กับตัวตนของ คาร์ลอส วัลเดอร์ราม่า ที่เกิดและเป็นลูกรักของเมืองนี้ เพราะเมื่อลูกฟุตบอลอยู่ที่เท้าของเขา เขาสามารถบันดาลทุกอย่างให้กับทีมได้เช่นกัน 

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ คาร์ลอส วัลเดอร์รามา : นักฟุตบอลอัจฉริยะผู้เป็นมรดกทางสมบัติของ ปาโบล เอสโคบาร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook