จากเทปขาวดำสู่การถ่ายทอดสด : ย้อนประวัติศาสตร์ "มวยปล้ำ" บนหน้าจอโทรทัศน์ไทย
ในอดีต มวยปล้ำ อาจไม่ใช่กีฬาต่อสู้ที่คนไทยคุ้นชินเหมือนกับ มวยไทย หรือ มวยสากล เนื่องจากรากฐานการพัฒนาที่อยู่ห่างออกไปอีกซีกโลก ทำให้กีฬามวยปล้ำเข้ามาสู่เมืองไทย ในฐานะของแปลกอยู่หลายปี
แต่หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ มวยปล้ำ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา เริ่มต้นจากการนำเอาเทปบันทึกการแข่งขันมาออกอากาศทางทีวี
จนยุคหนึ่งกลายเป็นกระแสของเด็ก ๆ ชาวไทยที่คลั่งไคล้มวยปล้ำ ก่อนมาซบเซาลงไปบ้าง กระทั่งล่าสุดจะมีการนำกลับมาฉายอีกครั้งในปัจจุบัน ทางช่อง 3BB Sport One เราจะพาไปย้อนประัวัติษ่สตร์ว่า มวยปล้ำ เข้ามาครองพื้นที่หน้าสื่อในไทยตั้งแต่เมื่อไหร่
ทีวีขาวดำ และ มวยปล้ำญี่ปุ่น
กีฬามวยปล้ำ ถูกนำเข้ามาฉายในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในปีช่วงปีช่วง พ.ศ.2513 ผ่านทางโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม หรือ โมเดิร์นไนน์ทีวี ในปัจจุบัน
โดยมวยปล้ำที่นำมาฉายในช่วงเวลานั้น คือ เทปบันทึกแมตช์จากประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
การรับรู้ของคนไทย เกี่ยวกับกีฬามวยปล้ำในยุคแรก คิดว่ากีฬาชนิดนี้เป็นการต่อสู้ของจริง ไม่ต่างจากมวยไทย และมวยสากล
เพราะมวยปล้ำที่นำมาฉายผ่านจอโทรทัศน์ คือ แมตช์มวยปล้ำในยุค 60’s ถึง 70’s ที่นักมวยปล้ำยังคงอยู่ในรูปแบบนักกีฬา ไม่มีคาแรกเตอร์โดดเด่นเหมือนที่คุ้นเคยในปัจจุบัน
ส่วนเทปแมตช์มวยปล้ำที่ประเทศไทยนำมาฉาย คือ เทปเก่าที่ค่ายมวยปล้ำบันทึกไว้ เพื่อส่งไปฉายในช่องโทรทัศน์ในต่างประเทศ ไม่ได้อยู่ในรูปแบบโปรแกรมรายสัปดาห์เหมือนปัจจุบัน
เนื่องจากยุคนั้นค่ายมวยปล้ำอยู่ในระบบ territory รูปแบบแมตช์ที่คนไทยได้รับชม จึงให้ความรู้สึกไม่แตกต่างจากรับชมมวยสากล หรือมวยไทย ที่ไม่มีความหวือหวาอะไร นอกจากการต่อสู้กันบนเวที
การพากย์มวยปล้ำในช่วงนั้นไม่ได้เน้นมุกตลกเหมือนทุกวันนี้ แต่ให้ความสำคัญไปที่การบรรยายรายละเอียดของแมตช์อย่างสมจริง โดยผู้พากย์มวยปล้ำในยุคนั้น คือ เจือ จักษุรักษ์ แชมป์มวยปล้ำคนแรกของประเทศไทย ที่มักสอดแทรกความรู้ผู้ชม ด้วยการอธิบายเบสิคท่ามวยปล้ำเป็นประจำ
มวยปล้ำในยุคจอทีวีขาวดำได้รับความนิยมสูงสุด ในช่วงที่ช่อง 7 นำเทปมวยปล้ำจากสหรัฐอเมริกา ที่มีนักมวยปล้ำชื่อดังในยุคนั้นอย่าง ฟริตซ์ วอน อิริค และ คิลเลอร์ โควาสกี มาฉาย แต่หลังจากนั้นไม่นาน การฉายกีฬามวยปล้ำทางโทรทัศน์ในประเทศไทยได้ยุติลง
Photo : www.wwe.com
กระทั่ง พ.ศ. 2530 ช่อง 7 ได้นำมวยปล้ำกลับมาฉายอีกครั้งในยุคทีวีสี มวยปล้ำที่นำมาฉายในรอบนี้ คือ มวยปล้ำจากสมาคม AJW (All Japan Women's Pro-Wrestling) ค่ายมวยปล้ำหญิงในประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งแตกต่างจากมวยปล้ำฝั่งอเมริกาที่คนไทยเคยดูเมื่อสิบกว่าปีก่อน เพราะมวยปล้ำของ AJW เต็มไปด้วยนักมวยปล้ำที่คาแรกเตอร์โดดเด่น, เนื้อเรื่องการต่อสู้ระหว่างคนดี-เลว และการใช้อาวุธสไตล์ฮาร์ดคอร์
ค่าย AJW ได้รับความนิยมจากชาวไทยอย่างล้นหลาม ด้วยเนื้อเรื่องที่เข้มข้น และความโหด ดิบ เถื่อนของ การแข่งขัน
เมื่อบวกกับตัวชูโรงอย่าง ดัมพ์ มัตสึโมโตะ นักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมจอมโหด ที่ถือเป็นขวัญใจของชาวไทยในยุคนั้น กีฬามวยปล้ำในประเทศไทย จึงกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง นำมาสู่การนำแมตช์มาฉายผ่านจอโทรทัศน์ยาวนานต่อเนื่องนับสิบปี
WWE ยึดพื้นที่ทีวีไทย
หลังมวยปล้ำค่าย AJW ได้รับความนิยมผ่านจอโทรทัศน์ช่อง 7 ทีวี คู่แข่งอย่างช่อง 3 จึงได้ซื้อมวยปล้ำหญิงจากญี่ปุ่นมาฉายบ้าง แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่า
เนื่องจากในช่วงเวลานั้น คนไทยติด “นักพากย์” มากพอ ๆ กับที่ติดกีฬามวยปล้ำ โดยนักพากย์ชื่อดังในยุคนั้น คือ ศุภพร มาพึ่งพงศ์ ซึ่งพากย์ให้กับช่อง 7 เป็นหลัก
Photo : www.cuethong.com
มวยปล้ำที่ผุดขึ้นมาได้รับความนิยม แทนที่มวยปล้ำหญิงญี่ปุ่น คือ มวยปล้ำจากสหรัฐอเมริกาช่วงยุค 90’s เช่น WWF, NWA และ AWA ที่เข้าสู่ประเทศในรูปแบบวิดีโอเทปของบริษัท วิดีโอสแควร์
ช่วงเวลานี้ถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ชาวไทยนิยมมวยปล้ำจากสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน จากการพากย์ของ “น้าติง” สุวัฒน์ กลิ่นเกษร ที่ใช้ความตลกควบคู่กับการบรรยายมวยปล้ำ ซึ่งไม่มีกีฬาไหนทำแบบนี้ได้
Photo : gen-ed.ssru.ac.th
ความสำเร็จของมวยปล้ำในรูปแบบเทปวิดีโอ ส่งผลให้กีฬามวยปล้ำต่อยอดสู่ธุรกิจทีวีเคเบิล โดยเป็น UBC หรือทรูวิชั่นส์ ในปัจจุบัน ควักกระเป๋าซื้อลิขสิทธิ์มวยปล้ำ WWE และ WCW ในช่วงสงครามคืนวันจันทร์ มาฉายลงหน้าจอทีวีไทยผ่านช่อง Star Sports แม้จะไม่ใช่การถ่ายทอดสด แต่ก็มีแฟนมวยปล้ำติดตามเป็นจำนวนมาก
มวยปล้ำในเมืองไทยเข้าสู่ยุคทองช่วงต้นทศวรรษ 2000’s มวยปล้ำสามารถเข้าถึงคนไทยทุกช่องทาง ตั้งแต่ช่องฟรีทีวี อย่าง ไอทีวี และช่อง 5 หรือ เคเบิลทีวีอย่าง UBC, วิดีโอ-ซีดี ที่หาซื้อได้แทบทุกตลาดนัด หรือ วิดีโอเกมที่เด็กรุ่นนั้นติดงอมแงม ส่งผลให้ WWE เดินทางมาจัดเฮาส์โชว์ในเมืองไทยเป็นครั้งแรกในปี 2003 ถือเป็นจุดสูงสุดของกีฬามวยปล้ำในประเทศไทย
Photo : wwepeep.blogspot.com
“แฟนมวยปล้ำในไทยส่วนใหญ่เริ่มต้นดูมวยปล้ำจากความบังเอิญ ทั้งเปิดเจอในช่องโทรทัศน์ หรือซื้อซีดีมาจากตลาดนัด การมีมวยปล้ำในสื่อโทรทัศน์ทำให้คนไทยเข้าถึงมวยปล้ำมากขึ้น” ปรัชญ์ภูมิ บุณยทัต แอดมินเพจมนุษย์มวยปล้ำ ให้ความเห็น
ทรูวิชั่นส์ ถือครองลิขสิทธิถ่ายทอดมวยปล้ำ WWE บนจอโทรทัศน์ยาวนานกว่า 10 ปี ในรูปแบบรายการสุดสัปดาห์ ช่วงเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ โดยเทปที่นำมาฉายในประเทศไทยจะดีเลย์ราว 2 สัปดาห์
จนมาถึงยุคอินเตอร์เน็ตเฟื่องฟู เมื่อแฟนมวยปล้ำสามารถเข้าถึงผลการแข่งขันได้ทันเหตุการณ์ ไม่ต้องรอชมเทปการแข่งขันแบบดีเลย์ผ่านจอทีวีอีกต่อไป
มวยปล้ำที่เคยเป็นรายการหลักของทรูวิชั่นส์ ในระดับเดียวกับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก จึงถูกถอดออกจากฝังรายการในปี 2014 แต่แฟนชาวไทยรอคอยกันไม่นาน เมื่อเคเบิลทีวีหน้าใหม่อย่าง CTH ซื้อลิขสิทธิมวยปล้ำ WWE มาฉายต่อทันที ในรูปแบบเดิมคือเทปดีเลย์
Photo : stg.pantip.com | สมาชิกหมายเลข 1340058
น่าเสียดายที่มวยปล้ำผ่านจอทีวี ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของแฟนมวยปล้ำไทยอีกต่อไป เนื่องจากมีช่องทางออนไลน์มากมายในการชมมวยปล้ำ แม้จะผิดลิขสิทธ์ แต่ต้องยอมรับว่าช่องทางออนไลน์เหล่านั้น สามารถเสิร์ฟมวยปล้ำแก่ผู้บริโภคชาวไทยอย่างทันใจ ในแบบที่รายการโทรทัศน์ทำไมได้
“มวยปล้ำเจอปัญหาที่ไม่ต่างจากหนังสือการ์ตูน เมื่อวันหนึ่งอินเตอร์เน็ตเข้ามาถึง ทุกคนสามารถอ่านการ์ตูนในวันเดียวกับที่วางแผง ไม่มีใครรอฉบับแปลไทยที่ต้องใช้ระยะเวลาตีพิมพ์ช้ากว่าเป็นเดือน มวยปล้ำก็เจอปัญหาแบบนั้น” ปรัชญ์ภูมิ กล่าวถึงปัญหาของการถ่ายทอดสดมวยปล้ำทางโทรทัศน์ในประเทศไทย
CTH ฉายมวยปล้ำ WWE เพียงปีเดียว จึงตัดสินใจยกเลิกสัญญาในปี 2015 เนื่องจากแบกค่าลิขสิทธิ์ไม่ไหว นับแต่นั้น จึงไม่มีมวยปล้ำ WWE ออกฉายบนหน้าจอโทรทัศน์ประเทศไทยอีกเลย
การกลับมาอีกครั้ง
ช่วงเวลาที่มวยปล้ำบนหน้าจอโทรทัศน์กำลังซบเซา ไม่ได้มีเพียงมวยปล้ำจาก WWE ที่เข้าฉายในเมืองไทย แต่รวมถึงมวยปล้ำค่ายอื่นจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น TNA (Impact Wrestling ในปัจจุบัน), NJPW, AJPW และ Dragon Gate
แต่ไม่มีมวยปล้ำค่ายไหนที่สร้างอิมแพคต์กับแฟนกีฬาไทยในวงกว้างได้เลย ทั้งที่มีการโปรโมตอย่างจริงจัง เหมือนกรณีของ เคิร์ท แองเกิล ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อโปรโมต TNA ที่ถ่ายทอดทางช่องสปอร์ตพลัส
Photo : wwepeep.blogspot.com
เหตุผลหลักที่มวยปล้ำบนหน้าจอทีวีไทยไม่บูมเหมือนแต่ก่อน มีหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องของการถ่ายทอดซึ่งเป็นเทปดีเลย์ หรือ เรื่องของการพากย์ที่ไม่ตอบโจทย์แฟนชาวไทย ทำให้มวยปล้ำบนจอทีวีล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง การถ่ายทอดมวยปล้ำ NJPW ที่ BEC TERO ซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดทางช่อง 3 และเอาน้าติงมาพากย์เพื่อดูดแฟนมวยปล้ำกลับมา
แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเทปมวยปล้ำ NJPW ที่นำมาฉายดีเลย์กว่าเหตุการณ์จริง 1-2 ปี แถมมวยปล้ำญี่ปุ่นยังอยู่ในรูปแบบของกีฬาค่อนข้างสูง แม้เอาน้าติงมาพากย์ ก็ไม่สามารถสร้างความบันเทิงที่ถูกใจคนไทยได้แบบเมื่อก่อน
ความนิยมของกีฬามวยปล้ำซึ่งเคยเป็นที่นิยมในวงกว้าง จึงเหลือเพียงเฉพาะกลุ่มในช่วงหลายปีหลัง ทำให้แฟนมวยปล้ำไทยบางส่วนเลิกฝันถึงการดูมวยปล้ำบนจอโทรทัศน์
กระทั่งวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา สเตฟานนี แม็คแมน หนึ่งในผู้บริหารของ WWE ประกาศอย่างเป็นทางการว่า มวยปล้ำ WWE จะกลับมาฉายในประเทศไทยแบบถูกลิขสิทธิ์อีกครั้ง ผ่านช่อง 3BB Sport One
Photo : www.essentiallysports.com
การกลับมาสู่หน้าจอโทรทัศน์ของมวยปล้ำ WWE ในรอบนี้ จะแตกต่างออกไปจากเดิม เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่มวยปล้ำในเมืองไทยจะถ่ายทอดสดพร้อมกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับช่วงเช้าของบ้านเรา โดยผู้ถือลิขสิทธิ์ได้บรรลุข้อตกลงในการถ่ายทอดสดรายการ RAW และ SmackDown ในช่วงเช้าของวันอังคาร และวันเสาร์ ตามเวลาประเทศไทย
“มันเป็นสิ่งที่คาใจผมมาตลอดว่า ถ้าวันหนึ่งมีคนนำมวยปล้ำกลับมาฉายในไทย โดยเป็นรายการสดตรงกับสหรัฐอเมริกา มีคนพากย์ที่ช่วยสร้างอรรถรส บางทีมวยปล้ำอาจจะกลับมาดังในไทยอีกครั้ง” ปรัชญ์ภูมิ แสดงความเห็นต้องการกลับมาของมวยปล้ำบนหน้าจอทีวีไทย
“สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งของมวยปล้ำในประเทศต่างๆ คือการมีอยู่ของสังคมมวยปล้ำ ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย หรือ สิงคโปร์ วงการมวยปล้ำในประเทศเหล่านี้เติบโต จากรากฐานของรายการมวยปล้ำ WWE ในทีวีท้องถื่นทุกสัปดาห์ มันทำให้แฟนมวยปล้ำรู้สึกว่า พวกเขาติดตามมวยปล้ำได้ตลอดเวลา”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการหายไปของมวยปล้ำบนหน้าจอทีวีไทย ทำให้ฐานแฟนมวยปล้ำรุ่นใหม่ไม่เติบโตเท่าที่ควร การกลับมาครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่โอกาสดีที่คนไทยจะได้ดูมวยปล้ำบนจอโทรทัศน์ แต่หมายถึงประตูที่เปิดกว้างสู่กิจกรรมมากมายกับ WWE โดยเฉพาะการจัดเฮาส์โชว์ในประเทศไทย นับตั้งแต่ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2007
การถ่ายทอดสดมวยปล้ำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จึงเป็นก้าวสำคัญที่อาจทำให้มวยปล้ำกลับมารุ่งเรือง และเป็นที่พูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง
ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร การกลับมาของมวยปล้ำบนหน้าจอทีวีครั้งนี้ คือเหตุการณ์สำคัญที่จะถูกบันทึกไว้ในหัวใจแฟนมวยปล้ำชาวไทยทุกคน