เรย์ vs คิม : "สู้ (จน) ตาย" ของนักชกเกาหลีใต้สู่การปิดตำนานมวย 15 ยก

เรย์ vs คิม : "สู้ (จน) ตาย" ของนักชกเกาหลีใต้สู่การปิดตำนานมวย 15 ยก

เรย์ vs คิม : "สู้ (จน) ตาย" ของนักชกเกาหลีใต้สู่การปิดตำนานมวย 15 ยก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

1980s คือยุคที่มวยรุ่นเล็กเฟื่องฟูสุด ๆ การกำเนิดของ จตุรเทพ แห่งยุคอย่าง ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด, มาร์วิน แฮ็คเลอร์, โรแบร์โต ดูรัน และ โธมัส เฮิร์นส์ อาจทำให้นักมวยหลายคนถูกลืมไปบ้าง 

คุณอาจจะไม่ค่อยได้ยินชื่อของ เรย์ มันชินี่ และ คิม ดุก กู บ่อยนัก ถ้าไม่ใช่คอมวยจริง ๆ ก็อาจจะไม่เคยได้ยินเรื่องราวของพวกเขาเลย ... อย่างไรก็ตามถ้าเปลี่ยนมุมมอง จากการมองว่าพวกเขาเป็น "นักมวย" เป็น "นักสู้" แทน คุณจะพบว่าเรื่องราวของนักชกสองสัญชาติคู่นี้ มีสตอรี่ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ตำนานนักมวยคนใดในโลกใบนี้เลย

เรื่องนี้มีคนต้องซื้อประวัติศาสตร์ด้วยชีวิต และสิ่งที่เขาจ่ายไป นำมาสู่การห่างไกลความตาย ของนักมวยยุคปัจจุบันอีกด้วย 

เกิดอะไรขึ้นในไฟต์ระหว่าง เรย์ และ คิม ในปี 1984 ? ติดตามได้ที่นี่

เส้นทางนักสู้ vs สายเลือดนักมวย 

ไกลออกไปจากกรุงโซล เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้ 100 กิโลเมตร มีหมู่บ้านชาวประมงในจังหวัด กังวอน ครอบครัวหนึ่งกำลังตกทุกข์ได้ยาก และเด็กน้อยที่ชื่อว่า คิม ดุก กู คือผู้เล่าเรื่องราวความลำบากนี้ด้วยทั้งหมดชีวิตของเขา


Photo : alchetron.com

ตอนอายุ 2 ขวบ พ่อของเขาติดเชื้อไวรัสและเสียชีวิตไป ส่วนเขาที่กำลังแบเบาะก็ติดเชื้อนั้นด้วย ก่อนรอดมาอย่างปาฏิหาริย์ แต่เรื่องราวทั้งหมดเพิ่งเริ่มต้นขึ้น 

Banam Sun-nyo แม่ของ คิม นั้นต้องเลี้ยงลูก 5 คนด้วยตัวคนเดียว และนั่นทำให้เธอต้องพยายามอย่างมากในแต่ละวัน เธอแต่งงานใหม่ทั้งหมดถึง 3 ครั้ง กว่าจะมาถึงครั้งสุดท้าย เธอและลูก ๆ ก็มีความทรงจำอันเลวร้ายมากมาย เช่น การถูกพ่อเลี้ยงทุบตี โดนกดขี่สารพัด จนต้องขนข้าวขนของกระเตงลูกเต้าหนีออกมาด้วยการเดินเท้าถึง 18 กิโลเมตร กระทั่งมาพบรักกับชาวนาคนหนึ่ง และนั่นคือรักสุดท้ายของเธอ

แน่นอนว่าเธอไม่ได้แต่งงานกับคนรวย ดังนั้นลูก ๆ ของเธอจึงต้องทำงานอย่างนัก คิม เองก็ช่วยที่บ้านทำงานแทบทุกอย่าง แม้จะเป็นน้องเล็กที่สุดในครอบครัวก็ตาม  

ช่วงเวลาหลังจากทำงานเสร็จ คิม มักจะโดนพี่ ๆ ลากไปมีเรื่องตามที่ต่าง ๆ สู้กับเด็กรุ่นเดียวกันทุกคน จนกระทั่งตระกูลคิมของพวกเขากลายเป็นขาโจ๋ประจำชนบทไปโดยปริยาย ... ทว่า คิม ดุก กู ถือเป็นนักสู้ระดับบ๊วยของทีม เขาสู้กับใครไม่ค่อยได้ เพราะตัวเล็กเกินไป

"ดุก กู ห่วยกว่าใคร ๆ ไม่คิดว่าวันหนึ่งเขาจะมาเป็นนักมวยได้เลย สิ่งเดียวที่พอจะมีคือเขาเป็นเด็กที่เข้มแข็งผิดมนุษย์ แม้จะสู้ใครไม่ได้ แต่ถ้าเรื่องความอึด ไม่มีใครทนมือทนตีนได้มากกว่าเขาอีกแล้ว" พี่ชายผู้นำพา คิม ดุก กู เข้าสู่เส้นทางนักเลงว่าไว้  

เมื่อเริ่มรู้ความเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น คิม ก็เข้ากรุงโซลเพื่อไปหางานทำ เริ่มจากงานรับจ้างหลายอย่าง ทั้งเด็กขัดรองเท้า เป็นไกด์ทัวร์ และสุดท้ายในปี 1976 เขาก็เริ่มเข้าสู่ค่ายมวยสากลสมัครเล่น

การมีน้ำอดน้ำทนของเขามีประโยชน์มาก คิม ดุก กู คือ มวยเอเชียพันธุ์แท้ และเขาก้าวกระโดดขึ้นอย่างรวดเร็ว เขาใช้เวลา 2 ปีในระดับสมัครเล่นก็เทิร์นโปร และต่อเนื่องจากนั้น 4 ปี เขาก็คว้าแชมป์สหพันธ์มวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF) รุ่นไลท์เวต 135 ปอนด์ มาครองเป็นตำแหน่งแรก จนชื่อของเขาเริ่มเป็นที่จับตามองในวงการว่าเป็น ดาวจรัสแสงดวงใหม่ของวงการมวยโสมขาว สถิติชนะ 17 เสมอ 1 แพ้ 1 นับว่าไม่ธรรมดา และสไตล์ของ คิม นั้นถูกระบุว่า "ดุร้าย" 

"ผมได้นั่งดูเทปของเขาและรู้ว่าคน ๆ นี้จะเป็นคู่ชกคนต่อไป เมื่อเปิดเทป ผมรับรู้ได้ว่านี่จะเป็นงานยาก ดุร้ายและน่าหลงใหล ผมคงต้องบอกแบบนั้น ชายป่าเถื่อนคนนี้อึดและบ้ามาก ขว้างหมัดออกมาเป็นชุด ราวกับเห็นภาพสะท้อนของตัวผมเองด้วยกระจก" ใครสักคนว่าถึงสไตล์การชกของ คิม ดุก กู ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็คงต้องบอกว่า นักชกชาวเกาหลีใต้มีสไตล์การชกเป็นมวยไฟเตอร์ คล้ายกับ แมนนี่ ปาเกียว ... เดินหน้าฆ่ามัน ตั้งรับไม่จำเป็น   

และใครคนนั้นที่กล่าวถึง คิม ดุก กู คือ เรย์ มันชินี่ ... สายเลือดนักมวยพันธุ์แท้จากรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้มีพ่อเป็นแชมป์โลกเมื่อครั้งอดีต 


Photo : www.ohiohistory.org

เรย์ มันชินี่ คือสายเลือดนักมวยโดยแท้จริง พ่อของเขา เลนนี่ เคยเป็นนักมวยระดับแถวหน้าในช่วงยุคปี 1940 แต่ไปไม่ถึงจุดสูงสุดเพราะต้องเข้าร่วมกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนได้รับบาดเจ็บจนไม่สามารถกลับมาชกมวยได้ เมื่อ เลนนี่ มีลูกชายคือ "เรย์" ความฝันทั้งหมดจึงถูกส่งต่อให้กับลูกชายของเขา ผู้รับฉายาของพ่อ พร้อมภารกิจคว้าแชมป์โลกที่ค้างคาภายใต้ชื่อ เรย์ "บูม บูม" มันชินี่ 

"ผมได้ฉายาว่า 'บูม บูม จูเนียร์' ตอนชกสมัครเล่นผมสถิติดีใช้ได้ แต่การชกแบบนั้นไม่ช่วยให้คุณได้มีข้าวกินจนอิ่มท้อง นักมวยทุกคนต้องเลือกว่าจะเอาอะไรระหว่างชกสมัครเล่นกับเทิร์นโปร ... ถ้าเลือกเส้นทางสายสมัครเล่น คุณจะมีอาชีพที่ยาวนาน แต่ถ้าเป็นมืออาชีพ คุณไม่มีทางรู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้น ... ตอนอายุ 18 ปี พ่อและแม่บอกว่าได้เวลาที่ต้องออกจากบ้าน และไปหางานทำซะ นั่นล่ะทำให้ผมเลือกเป็นนักมวยอาชีพ" 

เรย์ "บูม บูม" มันชินี่ เป็นมวยไฟเตอร์ที่ไม่เคยถอยหลังให้ใคร เขาได้รางวัลนักชกที่ต่อยได้น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดจนกลายเป็นขวัญใจคอมวยในยุค 80s แม้แต่ตำนานของยุคนั้นอย่าง ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด ยังเคยออกปากว่า "ผมไม่มีทางต่อยแบบเขาได้เลย" เบื้องหลังมาจากคำพูดของพ่อที่สอนตลอดว่า แม้จะไม่สามารถเอาชนะนักมวยทุกคนบนโลกนี้ได้ แต่อย่างน้อยเวลาขึ้นชกจงบี้เข้าไปอย่าได้ถอย ... และนั่นคือสไตล์ที่ทำให้ เรย์ มันชินี่ มวยซ้ายเลือดอิตาเลี่ยน-อเมริกัน ใช้เวลาแค่ 3 ปี ไต่จากการเทิร์นโปรไปสู่การเป็นนักชกแชมป์โลกรุ่นไลท์เวต 135 ปอนด์ของ WBC 

ในช่วงต้นยุค 80s ทั้ง เรย์ และ คิม ต่างก็เป็นสุดยอดมวยรุ่นเล็กของฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ดังนั้นเป็นธรรมดาของวงการมวยโลก เมื่อมีนักมวยที่ฝีมือใกล้ ๆ กัน จนเกิดข้อถกเถียงว่า "ใครเก่งกว่าใคร" พวกเขาก็จะสนองความต้องการ ด้วยการจับชนเพื่อหาคำตอบนั้น และสำคัญที่สุด คือ "ไฟต์แบบนี้" ทำเงินน่าดูเลยทีเดียว

Kill or be killed (ฆ่าหรือถูกฆ่า) 

ไฟต์ระหว่าง คิม และ เรย์ ถูกจัดขึ้นที่ ซีซาร์ พาเลซ นครลาสเวกัส ในปี 1982 ณ เวลานั้นเข็มขัดแชมป์ของ เรย์ "บูม บูม" ผ่านการป้องกันแชมป์มาทั้งหมด 4 ครั้ง จนกระทั่งมาถึงคิวของผู้ท้าชิงอย่าง คิม ที่เพิ่งเคยออกมาต่อยนอกประเทศเป็นครั้งที่ 2 

สำหรับ เรย์ และชาวอเมริกัน อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตระดับไฟต์หยุดโลก แต่สำหรับชาวเกาหลีใต้และตัวของ คิม นั้นยิ่งใหญ่อย่างที่สุด เป็นโอกาสที่แทบจะหาไม่ได้ เขารู้ดีว่าความพยายามทั้งชีวิตจะตอบแทนเขาอย่างสาสมหากเขาคว่ำ เรย์ ได้และเป็นแชมป์โลก ... สิ่งนี้สะท้อนออกมาเป็นคำพูดก่อนขึ้นชกว่า


Photo : www.fmkorea.com

"ไม่เขาก็ผม ... ต้องมีใครตายในไฟต์นี้" นี่คือสิ่งที่ คิม ว่าไว้ และมันมีความหมายค่อนข้างชัดเจน โลกของมืออาชีพไม่เอาให้ตายก็ไม่มีทางจะชนะได้ง่าย ๆ เหนือสิ่งอื่นใดคือ คิม ต้องการชัยชนะไฟต์นี้สุด ๆ เพราะ ณ เวลานั้น ภรรยาของเขากำลังตั้งครรภ์ลูกชายคนแรก ... ชัยชนะที่ฝันถึงยิ่งใหญ่กว่าการเป็นแชมป์ แต่มันคือชีวิตความเป็นอยู่และปากท้องของลูกเมีย ในฐานะหัวหน้าครอบครัว 

ระหว่างที่เข้าพักในโรมแรมเพื่อเก็บตัวก่อนวันชกจริง สำนักข่าวอย่าง นิวยอร์ค ไทม์ส ระบุว่า คิม ตั้งหน้าตั้งตาซ้อมอย่างหนัก และ เรย์ รู้เรื่องนี้ เขาเตรียมพร้อมด้วยการตัดอคติเรื่องเชื้อชาติออกไป คิดว่าใครที่มายืนชกกับเขาบนเวทีก็ตาม คนเหล่านี้ถือเป็นนักชกชั้นยอดทั้งนั้น 

"เมื่อต้องขึ้นชก ผมไม่เคยสนว่าใครจะมาจากประเทศไหน สิ่งที่ผมเห็นจากตัว คิม คือ เขาไม่ใช่นักชกที่เบสิคแน่นอะไรมากมายนัก แต่เขามีแรงปรารถนาสูงมาก เขาแบกประเทศของเขาไว้บนบ่าเพื่อขึ้นสังเวียนกับผม ... แบบนี้แหละที่น่ากลัว ผมรู้เลยว่าผมจะต้องเจอกับอะไรบ้าง" เรย์ ว่าไว้ และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เมื่อเสียงระฆังยกแรกดังขึ้น

"นักชกทั้งสองคนแลกหมัดกันทันที มีการฟันธงว่าไฟต์นี้ เรย์ มันชินี่ อาจจะต้องสู้แบบครบยก เพราะคู่ชกของเขาอึดมากที่สุดเท่าที่เขาเคยเจอ" ทิม ไรอัน ผู้บรรยายผ่านการถ่ายทอดสดครบทั้ง 15 ยกในวันนั้นบอกผ่าน นิวยอร์ค ไทม์ส 


Photo : naver.com

เรย์ เป็นฝ่ายชกได้ดีกว่าตามระเบียบ สำหรับนักชกที่เป็นมวยมาก่อนและเข้าสู่ระบบอาชีพที่ดีกว่า ขณะที่ คิม ยังคงสู้ตามวิธีของเขา แลกทุกหมัดแบบไม่มีมีกลัว แม้จะโดนชกไปบ้างแต่เขาก็สวนกลับได้ เข้าที่หน้าท้องและชายโครงซ้ายของ เรย์ เมื่อเข้าสู่ครึ่งหลังของไฟต์ (ยกที่ 8) ก็เริ่มเห็นความสูสีเกิดขึ้น

ในยกที่ 8 นั้นเอง ทั้งสองคนมีการปะทะกันที่ศีรษะ จนทำให้ทั้งคู่มีเลือดไหลออกมาบริเวณจมูก อาการแผ่วของ เรย์ เริ่มแสดงออกมาแล้ว แต่นั่นเป็นเพราะเขาชก คิม เท่าไหร่ คิม ก็ไม่ยอมลงสักที แม้ยกที่ 12 คิม จะโดนซัดร่วงจนเสียนับ แต่เขาก็ยังลุกขึ้นมาได้อีกจนผู้ชมกว่า 10,000 คนที่ ซีซาร์ พาเลซ อดปรบมือให้ไม่ได้ 

เมื่อเข้าสู่ยกที่ 13 คิม ที่อาการร่อแร่สุด ๆ ยังคงแสดงสิ่งที่เหลือเชื่อออกมาไม่หยุด เขาใช้แรงเฮือกสุดท้ายปล่อยหมัดชุดใส่ เรย์ ทั้ง ๆ ที่ควรจะร่วงไปตั้งนานแล้ว 

"นี่คือผู้ท้าชิง คิม ดุก กู คุณอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อของเขามาก่อน แต่วันนี้คุณจะต้องจดจำชื่อนี้เอาไว้ให้ดี" ผู้บรรยายถึงกับอดสรรเสริญไม่ไหว 

อย่างไรก็ตาม ความห่างชั้นระหว่าง เรย์ และ คิม ก็ไม่สามารถกลบซ่อนด้วยความอึดและบ้าบิ่นได้ตลอดไป เมื่อยกที่ 14 เริ่มขึ้น เรย์ มันชินี่ เล่นบทโหดใช้แรงเฮือกสุดท้าย ซัดหมัดซ้ายเข้าที่หน้า คิม แบบเต็ม ๆ จนครั้งนี้ ผู้ตัดสินอย่าง ริชาร์ด กรีน ถึงกับต้องโบกมือให้ยุติการชก เพราะหนนี้ คิม ลุกไม่ไหวจริง ๆ เขานอนแน่นิ่งไม่ขยับจนทีมแพทย์ต้องเข้าชาร์จและพาเขาส่งเข้าโรงพยาบาลทันที "เขามาไกลเกินขีดจำกัดแล้วในไฟต์นี้" ... เรย์ มันชินี่ ยังคงรักษาแชมป์โลกได้ต่อไป  


Photo : www.fmkorea.com

"ฆ่าหรือถูกฆ่า" คำที่ คิม ดุก กู พูดก่อนขึ้นเวทีไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ หรือวาทะที่ใช้ข่มขวัญ เขาทำมันจริง ๆ จนกระทั่งไม่มีแม้กระทั่งแรงจะเดินลงเวทีด้วยตัวเอง 

 

เรื่องเศร้าหลังจากนั้น 

เรย์ มันชินี่ รับรู้ถึงความเป็นนักสู้และไฟต์ที่ตึงมือที่สุดของเขาโดยนักชกจากอีกฟากโลก คิม ดุก กู ทำให้เขาซูฮกด้วยหัวใจ เรย์ ติดตามอาการของ คิม หลังจากที่เขาชูเข็มขัดแชมป์ก่อนพบว่า คิม ยังไม่ได้สติเลยแม้จะผ่านมาเป็นชั่วโมงแลยก็ตาม  

คิม โดนหามลงเปลและส่งตรงไปที่โรงพยาบาล Desert Springs เขาเข้ารับการ CT Scan และพบว่ามีเลือดออกใต้สมอง ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพราะเลือดของเขาไหลออกมากจนรอไม่ได้


Photo : daum.net

"เลือดของเขาออกเยอะ มากกว่า 100 ซีซี มากพอที่จะเติมแก้วใบเล็ก ๆ ให้เต็มได้ถึง 3-4 แก้วเลย" ลอนี่ ฮัมมาร์เกรน แพทย์เจ้าของไข้ว่าไว้เช่นนั้น นี่คือชะตากรรมของผู้แพ้ ส่วนผู้ชนะอย่าง เรย์ มันชินี่ กำลังออกรายการของโทรทัศน์ของ แฟรงค์ ซินาตร้า เพื่อพูดคุยถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่นี้

"ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี วานนี้เราได้พบกับไฟต์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยเห็น และผู้ชนะในวันนั้นอยู่กับเราแล้ว ยินดีต้อนรับแชมป์โลกไลท์เวต เรย์ 'บูม บูม' มันชินี่" นี่คือสิ่งที่ เรย์ จำได้ ซึ่ง ณ ตอนนั้นเขารู้แล้วว่า คิม ยังนอนไม่ฟื้นหลังผ่าตัด โดยการสัมภาษณ์วันนั้นเป็นการสัมภาษณ์ที่ทำให้เขารู้สึกว่า รอยยิ้มของเขาเป็นสิ่งที่ปลอมที่สุด 

"มันเป็นไฟต์ที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ ครับ ผมรักษาตำแหน่งแชมป์เอาไว้ได้ แต่ผมคงไม่ขอรับคำว่าฮีโร่เพราะผมไม่ใช่คน ๆ นั้น คิม ดุก กู คือคนที่ชกได้ดีกว่าผม" เรย์ กล่าว 

4 วันหลังการผ่าตัด คิม ดุก กู ฮีโร่สำหรับ เรย์ มันชินี่ ยังคงไม่ตอบสนอง เขากลายเป็นเจ้าชายนิทราโดยสมบูรณ์แบบ แม่กับภรรยาของเขาเดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกา เพื่อตัดสินใจครั้งใหญ่และบีบหัวใจอย่างที่สุด นั่นคือการเซ็นเอกสารเพื่อยินยอมให้แพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจ ปล่อยให้ คิม ดุก กู จากโลกนี้ไปอย่างสงบ 

"เหมือนกับว่าฟ้ากำลังจะถล่มใส่ฉันเลย" ภรรยาหม้ายของ คิม ดุก กู กล่าวได้เพียงเท่านั้น 


Photo : daum.net

ถ้าเขายอมถอยสักหน่อย เขาคงได้กลับบ้านในฐานะผู้แพ้และอยู่พร้อมหน้ากับลูกเมีย แต่เมื่อความเป็นนักสู้มันไม่เคยสั่งให้เขาถอยหลังได้เลยสักครั้ง คิม ดุก กู จึงปิดฉากตำนานมวยเบอร์ 1 ของเกาหลีใต้แบบสุดช็อค และการตายของเขานำมาซึ่งเรื่องเศร้าอีกมากมาย

สำหรับฝั่งตระกูลคิม แม่ที่ดูแลเขามาอย่างยากลำบากตั้งแต่เด็ก ตัดสินใจกินยาฆ่าแมลงเพื่อฆ่าตัวตายตามลูกชาย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 1983 หรือก่อนวันที่ เรย์ มันชินี่ จะขึ้นชกป้องกันแชมป์ครั้งต่อไปกับ จอร์จ ฟีนี่ย์ นักชกชาวอังกฤษเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น ริชาร์ด กรีน กรรมการบนเวทีในไฟต์ดังกล่าว ก็ใช้ปืนยิงตัวเองเสียชีวิตในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ... และนั่นเองคือเหตุการณ์กระทบชิ่งที่ส่งผลไปยังสภาพจิตใจของ เรย์ โดยตรง แม้ปากของเขาจะบอกว่า "ผมพร้อมแล้วสำหรับการป้องกันแชมป์ ความทรงจำทั้งหมดของผมถูกฝังไว้ที่ซีซาร์ พาเลซ" ก็ตาม

นั่นไม่ใช่เรื่องจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะหลังจากการตายของ คิม ดุก กู ในวันนั้น เรย์ มันชินี่ ก็ไม่เคยเป็นนักมวยพันธุ์ดุคนเดิมอีกเลย ... 

 

สะสางสิ่งที่ทำ 

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ เรย์ เองรู้สึกผิดอยู่ในใจเสมอมา เขาบอกว่าฝังมันไปพร้อมความทรงจำ แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่มีวันลืม สภาพร่างกายยังคงฟิต แต่สภาพจิตใจของเขาทั้งหดหู่และสับสน บ๊อบ อารัม โปรโมเตอร์มวยชื่อดังยังพูดถึงสภาพจิตใจของ เรย์ หลายครั้ง ซึ่งสุดท้าย เรย์ ก็ยอมรับว่า เขารู้สึกผิด และไปต่อบนเส้นทางนี้แบบเต็มใจไม่ได้จริง ๆ  


Photo : www.northcountrypublicradio.org

ลูก ๆ ของเขามักจะถูกเพื่อนถามว่า "พ่อของเธอชกคนจนตายใช่ไหม" หรือไม่ก็เป็นตัวเขาเองที่โดนถามว่า "รู้สึกยังไงที่ได้ฆ่าคนตาย" ไม่ว่าจะในเชิงพูดแซวหรือจริงจัง คำเหล่านี้ทำให้เขารู้สึกปวดใจทุกครั้งที่ได้ยิน

"มีหลายครั้งที่ คิม มาหาผมในความฝัน ผมจำไม่ได้ว่าผมทำอะไรเมื่อเจอหน้าเขา อาจจะขอโทษหรือไม่ เขาก็แค่มามองหน้าผมอย่างเดียว สิ่งเดียวที่จำได้คือเรากอดกัน และเดินจากกันไปโดยไม่มีคำพูด ... ผมไม่รู้ว่าผมฟุ้งซ่านไปเอง หรือในอีกมุมเขาอาจจะมาหาผมเพื่อบอกให้ผมปล่อยวางเรื่องนี้ลงก็ได้" เรย์ ว่าไว้ 

"หลังจากต่อยกับ คิม ผมเห็นประตูแห่งการแขวนนวมเปิดรออยู่ ผมคิดแต่ว่าผมอยากจะชกให้มาก ๆ โกยเงินให้ได้เยอะ ๆ แล้วก็ออกมาจากวงการมวยให้เร็วที่สุด แต่มันไม่ง่ายแบบนั้น เชื่อไหมตลอดชีวิตนักมวยผมสู้มา 34 ไฟต์ และแพ้เพียงแค่ 5 ครั้ง ... แต่ 4 ครั้งจากจำนวนนั้น เกิดขึ้นใน 5 ไฟต์หลังสุดของผม" เขายืนยันด้วยตนเองหลังจากแขวนนวมในปี 1989 

ช่วงเวลาหลังจากนั้น เรย์ ตัดสินใจสะสางสิ่งที่ค้างในสมองและจิตใจของเขามาตลอด เขาเดินทางไปที่เกาหลีใต้ เพื่อเปิดใจกับทุกคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยเฉพาะ อี ยอง มี ภรรยาหม้ายของ คิม และ ลูกชายของเขาที่ไม่ทันได้เห็นหน้าพ่อ เพื่อกล่าวคำขอโทษจากใจจริง เขาขอให้ทุกคนอภัยในสิ่งที่เขาไม่ได้ตั้งใจและรู้สึกผิดมาตลอด ... ทั้งสองครอบครัวปรับความเข้าใจกัน จนสุดท้ายแล้ว ความรุนแรงของแผลที่อยู่ในใจของทั้ง 2 ฝั่งก็ทุเลาลงไปตามกาลเวลา


Photo : www.newseyegeoje.com

"สำหรับผมแล้ว ไม่มีอะไรที่มันชอบธรรมเลยสักนิดสำหรับการทำให้ใครสักคนตาย แต่มวยคือกีฬาที่มีเกียรติ ไม่มีอะไรบริสุทธิ์และเรียลไปมากกว่าการที่ชายสองคน ขึ้นประจันหน้ากันบนเวที ทั้งคู่จะท้าทายกันทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ ในคืนนั้นผมใช้เกียรติทั้งหมด และความรักทั้งหมดที่ผมมีจนหมดสิ้น ... จนมันพรากทุกอย่างไปจากผมหลังจากจบค่ำคืนนั้น" เรย์ กล่าวในสารคดีชีวิตของเขา "The Good Son" 

แม้ คิม จะจากโลกใบนี้ไป และ เรย์ เองก็ไม่เคยเป็นนักชกคนเดิมอีกเลย แต่อย่างน้อยไฟต์ประวัติศาสตร์ที่ ซีซาร์ พาเลซ ก็นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของวงการมวยมากมายหลายรายเรื่อง ... โดยเฉพาะกับนักมวยรุ่นหลัง ๆ ต่อจากนี้ 

หลังการตายของ คิม ดุก กู เรียกได้ว่าเป็นการสังคายนาวงการมวยเพื่อยกระดับสุขภาพของนักชกให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการชกแบบ 15 ยก โดยลดลงมาเหลือ 12 ยก เพราะทรมานร่างกายนักมวยจนเกินไป, เพิ่มเชือกเวทีมวยให้มี 4 เส้น (จาก 3 เส้น) เพื่อเซฟร่างกายเวลานักมวยล้ม, การนับ 8 เพื่อเช็คสภาพร่างกายให้พร้อมว่าสามารถชกต่อไหวจริงหรือไม่ ตลอดจนการตรวจร่างกาย และสารกระตุ้นอย่างละเอียดก่อนที่ไฟต์จะเริ่มขึ้น 


Photo : Undisputed Champion Network

"ผมคิดว่าตัวเองโง่ ผมสละชีวิตที่ยืนยาวเพื่อทำเงินจากการชกมวย สุดท้ายแล้วผมไปเช็คระบบประสาททั้งหมดของผมและเข้ารับการทดสอบ โชคยังดีที่อาชีพนักมวยของผมแค่ 5 ปี มันไม่ได้มากเกินไป ร่างกายยังพอรับไหว" 

"แต่นักชกหลายคนสู้โดยไม่เคยคิดถึงเรื่องพวกนี้ พวกเขาต่อยจนอายุ 30 ปี และยังคงสู้ต่อไป ทุกวันนี้ผมสงสัยว่าจะทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร ถ้าบั้นปลายคุณมีเงินกองท่วมบ้านแต่คุณกลับจำชื่อตัวเองไม่ได้"  เรย์ "บูม บูม" มันชินี่ กล่าวทิ้งท้าย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook