Shivam : พนักงานรถไฟฟ้า ที่มีดีกรีเป็นแชมป์มวยปล้ำสถาบันหลักของไทย
"มวยปล้ำ" ในสายตาของผู้อ่านมองมันเป็นอย่างไร ? ศิลปะการต่อสู้ที่ใช้พละกำลังและเต็มไปด้วยความเสี่ยงมากมาย หรือกีฬาเน้นโชว์เพื่อความบันเทิง เพราะถูกเซ็ทสถานการณ์ไว้หมดแล้ว ?
นั่นเป็นมุมมองที่คุณอาจรู้สึกกับ "มวยปล้ำ" ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ตามการรับรู้ของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับ "ศิวัม ทริพาธี" หรือ "Shivam" มวยปล้ำเป็นมากกว่าแค่ศิลปะการต่อสู้หรือการแสดง เพราะนี่คือชีวิต จิตวิญญาณ และตัวตนของหนุ่มไทยเชื้อสายอินเดียรายนี้
จากเด็กที่ติดตามดู วีซีดีมวยปล้ำในกองสินค้าลดราคากลางห้างสรรพสินค้า สู่นักมวยปล้ำกึ่งอาชีพ ดีกรีแชมป์สถาบันหลักของไทย ผู้มีเป้าหมายอยากไปให้ถึงระดับโลก
โดยพร้อมที่จะสละวิชาความรู้ที่อุตส่าห์ร่ำเรียนจนจบปริญญาโท ตลอดจนหน้าที่การงานในปัจจุบัน ซึ่งให้ค่าตอบแทนงดงาม เพื่อแลกกับออกนับหนึ่งกับสิ่งที่เขาใฝ่ฝันอยากเป็นมาตลอดชีวิตนั่นคือ "นักมวยปล้ำอาชีพ" ในต่างแดน
Round 1 : ความฝัน
ช่องใส่ซีดีค่อย ๆ เคลื่อนตัวเข้าสู่เครื่องเล่น ไม่นานนักระบบกลไกของมัน ก็ได้อ่านข้อมูลที่อยู่ในแผ่นดิสก์ ปรากฏออกมาเป็นฉากการต่อสู้ของ "มวยปล้ำ" บนจอโทรทัศน์
ในวัย 5 ขวบ ศิวัม ทริพาธี ตื่นตาตื่นใจกับภาพเคลื่อนไหวตรงเบื้องหน้า เขาเพลิดเพลิน สนุก และอินกับมันมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทุกครั้ง ยามคุณครูถามถามไถ่ว่า "โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร ?" ศิวัม มีคำตอบเพียงอย่างเดียว ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
"ผมมีความฝันเป็นนักมวยปล้ำอาชีพมาตั้งแต่เด็ก อยากปล้ำในสังเวียนที่มีคนดูเป็นหมื่น ตะโกนเรียกชื่อเรา" เจ้าของแชมป์สถาบัน SETUP Thailand Pro Wrestling ย้ำคำตอบเดิมในวันวานให้เราฟัง
"ถ้านับตามเชื้อชาติผมเป็นคนอินเดียแท้ เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่เป็นชาวอินเดีย บรรพบุรุษของผมอยู่ทางรัฐอุตตรประเทศ ผมและคุณแม่ได้สัญชาติไทย เนื่องจากเกิดและเติบโตที่ไทยเหมือนกันกับผม มีเพียงคุณพ่อที่ไม่ได้สัญชาติไทย เพราะเป็นคนอินเดียที่ย้ายเข้ามาทำงานหากินที่นี่"
มวยปล้ำ เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในอินเดีย แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของชายหนุ่มแทบทุกภูมิภาค รูปแบบอาจแตกต่างกับมวยปล้ำตะวันตกที่เราคุ้นชินตา รวมถึงสนามแข่งขัน หากเป็นมวยปล้ำโบราณอินเดีย มักจัดบนลานดิน
คุณปู่ และคุณทวดของ ศิวัม เคยเป็นอดีตนักมวยปล้ำสมัครเล่น สมัยที่ยังไม่ได้ย้ายมาตั้งรกรากในเมืองไทย แต่นั่นกลับไม่ใช่เหตุผลหรือที่ทำให้ ศิวัม มีความฝันอยากเป็น นักมวยปล้ำอาชีพ
เพราะแรงบันดาลใจของเขา เกิดขึ้นในยุคเฟื่องฟูของมวยปล้ำในไทย ที่มีฉายทางโทรทัศน์ และสามารถหาซื้อแผ่นซีดีเทปบันทึกการแข่งขันได้อย่างง่ายดาย ช่วงประมาณเกือบ ๆ 20 ปีก่อน
"สมัยนั้นครอบครัวเพิ่งซื้อเครื่องเล่นซีดีมาใหม่ ๆ แต่ยังไม่มีแผ่นทดลองเล่น คุณแม่จึงไปซื้อแผ่นหนังมา 3-4 แผ่น ที่เขาขายลดราคาเป็นกอง ๆ ในห้าง ปรากฏว่าในจำนวนนั้น มี 2 แผ่น ที่เป็นมวยปล้ำ WWE และมวยปล้ำญี่ปุ่น"
"ผมก็เลยได้ดูมวยปล้ำเป็นครั้งแรก แล้วรู้สึกชอบมาก โดยเฉพาะมวยปล้ำฝั่งอเมริกา เพราะมันย่อยง่าย บันเทิงดี ตอนนั้นผมรู้สึกว่านักมวยปล้ำทำไมมันเท่ขนาดนี้ แถมยังได้ตังค์อีกด้วย เราชอบดูมวยปล้ำมาโดยตลอด และมีความฝันอยากเป็นแบบนั้นบ้าง"
Round 2 : ความจริง
เที่ยงวันหนึ่งระหว่างที่ทุกคนในออฟฟิศกำลังพักผ่อน "ศิวัม ทริพาธี" เด็กฝึกงานวัย 21 ปี ใช้เวลานั้นเลื่อนจอมือถือ เพื่อดูความเคลื่อนไหวบนหน้าฟีด Facebook ตามปกติ สายตาของเขามาหยุดสะดุดให้กับโพสต์ ๆ หนึ่งที่ประกาศรับสมัครนักมวยปล้ำไทยเข้าสังกัด
ข้อความไม่กี่บรรทัดในสเตตัสนั้น เหมือนได้ไปปลุก "เด็กชาย" ที่เคยมีความฝันอยากเป็นนักมวยปล้ำอาชีพ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
"พอเริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าช่วงมัธยมฯ ความฝันที่อยากเป็นนักมวยปล้ำมันค่อย ๆ เลือนลาง เนื่องจากมวยปล้ำอาชีพในไทยมันไม่มี ผมเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอะไรในชีวิต ก็เรียนหนังสือไปเรื่อย ๆ ติดตามดูมวยปล้ำอยู่บ้าง แต่ในฐานะแฟนมวยปล้ำคนหนึ่ง ที่อยากไปดูศึก WrestleMania สักครั้งในชีวิต เลิกคิดถึงฝันที่อยากเป็นนักมวยปล้ำอาชีพไปแล้ว"
"จนกระทั่งช่วงฝึกงาน ตอนปี 3 ผมมาเจอโพสต์รับสมัครนักมวยเข้าสังกัดในไทย มันเหมือนจุดประกายความฝันที่ผมลืมไปแล้วให้กลับมาอีกครั้ง"
"ผมส่งไปใบสมัครไป ทั้งที่ผมไม่ได้มีพื้นฐานศิลปะการต่อสู้ เคยเรียนเทควันโด ตอนอนุบาล ผมลืมไปหมด (หัวเราะ) อาจเข้าฟิตเนสบ้าง แต่ไม่มีกล้ามเนื้อเลย"
ศิวัม ยังจำวันแรกที่เขาตบเท้าเข้าไปฝึกมวยปล้ำในสมาคม Gatoh Move Pro Wrestling ได้เป็นอย่างดี เพราะทุกอย่างไม่ได้เป็นเหมือนภาพที่เขาคิดไว้ในหัวเลย
"วันแรกผมเฟลมาก ไม่ได้ใส่ท่าอะไรเลย ได้ทำแค่วิดพื้น สควอช ม้วนหน้าม้วนหลังเล็กน้อย แอบสงสัยเหมือนกันว่าตัวเองถูกหลอกหรือเปล่า ? แบบนี้มันจะเป็นมวยปล้ำได้อย่างไร แต่หลังจากฝึกไปได้ 2-3 เดือน จึงได้เข้าใจว่าที่ทำอยู่คือการปรับพื้นฐาน"
"ผมใช้เวลาเป็นปีกว่า จะได้ขึ้นปล้ำแมตช์แรก ด้วยเหตุสุดวิสัยบ้าง เช่น กำลังจะขึ้นรายการ ครอบครัวก็ขอให้กลับไปบวชที่อินเดียก่อน หรือได้รับบาดเจ็บเอ็นข้อเท้าฉีกตอนซ้อม ทำให้ชวดแข่ง แต่หลังจากอดทนรอคอยมานาน ในที่สุดผมก็ได้ประเดิมแมตช์แรกของตัวเอง"
"จำได้ว่านัดเปิดตัวอย่างเป็นทางการ จัดขึ้นในบาร์ ใต้โฮสเทลที่ฝรั่งพักอาศัย ปล้ำบนเบาะขนาด 2x4 เมตร เจอกับ Azura นักมวยปล้ำไทยที่เคยเซ็นสัญญาอยู่ในสมาคมมวยปล้ำญี่ปุ่น Michinoku Pro Wrestling"
"นั่นคือความรู้สึกที่ตื่นเต้นสุดในชีวิต ทั้งที่เป็นแมตช์สั้นมากแค่ 3 นาที คนดูมีนิดเดียว ไม่ใช่เกมที่ดีอะไร แต่เป็นก้าวแรกที่ผมภาคภูมิใจ นี่แหละคือเป้าหมายในชีวิตของฉัน ฉันอยากเป็นนักมวยปล้ำอาชีพ"
จะออกไปเตะขอบฟ้า แต่เหมือนว่าโชคชะตาไม่เข้าใจ ... แทบกลายมาเป็นซาวด์แทร็กประจำชีวิตของ ศิวัม ในช่วงนั้น
เพราะหลังจากปล้ำแมตช์แรกไปได้แค่ 1-2 เดือน เขาได้รับแจ้งว่า สอบติดปริญญาโท ทำให้ต้องบอกลาสมาคมมวยปล้ำของญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในขณะนั้น เพื่อไปศึกษาต่อที่เมืองเซาธ์แฮมป์ตัน ทางตอนใต้ของอังกฤษ เป็นเวลา 1 ปี
และก็เป็นอีกครั้งที่ ศิวัม ทริพาธี ถูก "ความเป็นจริง" ปลุกให้ตื่นจากความฝัน ...
Round 3 : ความพยายาม
"ผมยังอยากฝึกมวยปล้ำ หลังจากไปอยู่ได้แค่อาทิตย์เดียว ผมลองเสิร์ชหาสถานที่สอนมวยปล้ำ ก็เจอโรงเรียนอยู่ที่เมืองพอร์ทสมัธ แต่ว่าต้องเสียค่าเรียนและค่าเดินทางทุกสัปดาห์ ไป-กลับครั้งหนึ่ง ก็ประมาณ 30 ปอนด์ ตอนนั้นใครคิดก็ว่าผมบ้าแน่ ๆ ยอมเสียเงินทำไมทุกอาทิตย์"
ศิวัม เล่าว่า วงการมวยปล้ำกึ่งอาชีพที่อังกฤษในตอนนั้น มีความพร้อมมากกว่าในไทย อย่างโรงเรียนที่เขาฝึกซ้อมมีเวทีสำหรับปล้ำ และหนึ่งในประสบการณ์ที่เขาประทับใจ คือ การเป็นคนไทยที่ได้รับการชักชวนให้ขึ้นไปโชว์ในศึกมวยปล้ำแดนผู้ดี
"เดือนสุดท้ายก่อนบินกลับไทย ครูที่ฝึกผมบอกว่า เขาเห็นแววในผม จึงอยากชวนให้ลองมาขึ้นโชว์สักครั้งที่นี่ ผมก็เข้าสู่กระบวนการฝึกซ้อม"
"หนึ่งวันก่อนแสดงจริง ผมได้รับบาดเจ็บหนัก จากจังหวะที่ยกคู่ต่อสู้ฟาด ตอนที่ผมคลุกเข่าลงพื้น ผมดันทิ้งน้ำหนักข้างหนึ่งมากเกิน ตอนแรกผมยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร รู้แค่ว่ามันตึงมาก เดินไม่ได้"
"ตอนแรกลังเลใจว่าจะพักดีไหม สุดท้ายผมฝืนตัวเองขึ้นไปปล้ำ อันนี้ขอเตือนว่าไม่ควรทำตามนะครับ ผมซื้อเทปมาสามม้วนมาพันรอบเข่า จนงอไม่ได้ แมตช์นั้นก็ไม่ได้ดีอะไร แต่ผมมีความสุขที่ได้ทำ พอกลับมาถึงเมืองไทย ผมไปเอ็กซ์เรย์ปรากฏว่า เอ็นไขว้หลังเข่าฉีก ต้องพักประมาณ 4-5 เดือน"
ในช่วงที่เคลื่อนไหวร่างกายได้ยากลำบาก "ศิวัม" เริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง และทบทวนถึงความพยายามที่จะไปในเป้าหมายการเป็นนักมวยปล้ำอาชีพ เพราะเพียงแค่ก้าวแรก เขาก็ได้รับบาดเจ็บหนักถึง 2 ครั้ง และหากเขาต้องการปล้ำไปอีกอย่างน้อย 10 ปี จะต้องแบกรับความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บไปอีกมากมายแค่ไหน ?
สุดท้าย ศิวัม เลือกฟังเสียงหัวใจตัวเองที่สั่งให้เขาเดินหน้าฝึกซ้อมต่อ แม้รู้ดีว่าในเมืองไทย ยังไม่สามารถเล่นมวยปล้ำเป็นอาชีพได้เต็มตัว และจำเป็นต้องหางานทำอาชีพอื่นเป็นรายได้หลักด้วย
"ตอนนั้นผมได้ข้อเสนอจากหลาย ๆ บริษัทดัง หลังจากเรียนจบปริญญาโท แต่ผมตัดสินใจเลือกทำงานที่ Rabbit ในเครือของ BTS เพราะที่นี่ค่อนข้างยืดหยุ่นด้านเวลาเข้า-ออกงาน ทำให้ผมสามารถไปซ้อมมวยปล้ำได้สะดวกกว่า ถึงแม้บางแห่งจะยื่นข้อเสนอให้เงินผมเยอะมากกว่านี้ แต่คิดว่างานที่นี่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผมมากสุด"
"ตำแหน่งของผมคือ UX/UI Specialist คอยดูแลแอปพลิเคชั่น หน้าตาของมันและประสบการณ์ของผู้ใช้ ตอนแรกเพื่อนร่วมงานไม่มีใครรู้เลยว่าผมเป็นนักมวยปล้ำ กระทั่งเขาแอด Facebook มา จึงได้เห็นว่าเราปล้ำจริงจัง ก็มีเข้ามาแซวบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะให้กำลังใจ บอกว่าติดตามเชียร์อยู่"
คำถามหนึ่งที่ ศิวัม ได้ยินบ่อยครั้งในปัจจุบัน ช่างต่างจากโจทย์ของคุณครู ยามเขาเป็นเด็ก ?
ไม่มีใครอยากรู้แล้วว่า โตขึ้น ศิวัม อยากเป็นอะไร ? เพราะหลายคนมักพุ่งเป้า ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวเขาว่า "เรียนจบปริญญาโท มีงานการทำที่ดี แล้วเจ็บตัวเป็นนักปล้ำทำไม ได้เงินเยอะเหรอ ?" ซึ่งเขาอธิบายเรื่องนี้ให้เราฟังว่า
"บางคนเขาก็สงสัยว่าทำไมเราถึงต้องมาเจ็บตัว ในเมื่อมีงานการดี ๆ ทำ เราปล้ำเพราะได้ค่าจ้างดีเหรอ ?"
"แต่ผมกลับรู้สึกว่า การเป็นนักมวยปล้ำทำให้ผมมีความสุข มีพลัง และเป้าหมายชีวิต ทุก ๆ สัปดาห์ผมเฝ้ารอวันพุธที่จะได้ไปฝึกซ้อมในสิ่งที่ผมรัก มันทำให้ผมตื่นลืมตาทุกเช้า ด้วยการรู้ว่าเป้าหมายของตัวเองคืออะไร ? ไม่ล้อเล่นกับช่วงที่เหลือในชีวิต"
ผลจากความเพียรพยายามตลอด 4 ปี ส่งผลให้ ศิวัม ขึ้นไปฝากลวดลวยบนเวที กระชากแชมป์ SETUP Thailand Pro Wrestling สมาคมมวยปล้ำไทยอาชีพ สถาบันหลักของเมืองไทย จากการเอาชนะ Terry Diesel
และในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2020 ศิวัม ผู้ใช้ชื่อการปล้ำเดียวกับชื่อจริง (SHIVAM) จะขึ้นป้องกันตำแหน่งแชมป์สมาคม SETUP กับ Azura ยอดนักมวยปล้ำชาวไทย ที่ The Circus Studio ซึ่งแมตช์ดังกล่าว ได้มีการจำหน่ายตั๋ว Sold out เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Round 4 : ความเชื่อ
"ถ้าให้ตอบแบบพระเอกก็คงบอกว่า 'ไม่เหนื่อย' แต่ความจริงคือ มันเหนื่อยอยู่แล้วที่ผมต้องทำงานไปด้วย ปล้ำไปด้วย แต่เป็นความลำบากที่ผมยินดีทำ และคุ้มค่าจะเสียแรงกับมัน บางคนหลังเลิกงานอาจมีความสุขที่นอนอยู่บ้าน ดูทีวี บางครั้งมีความสุขกับการได้ไปฟิตเนส แต่ความสุขของผมคือมวยปล้ำ"
"มวยปล้ำเปลี่ยนทัศนคติมุมมองผมไปหลายอย่าง เมื่อก่อนตอนเป็นเด็ก ผมอาจไม่ชอบ จอห์น ซีน่า เพราะเขาได้ซีนเยอะ เป็นแชมป์ตลอดเลย แต่พอตัวเองได้มาอยู่ในวงจรนักมวยปล้ำจริง ๆ จอห์น ซีน่า คือสุดยอดนักมวยปล้ำจริง ๆ ทักษะของเขา วิธีการสื่อสาร ความเป็นมืออาชีพของเขามันน่าทึ่งมาก"
"กลายเป็นว่าเราชื่นชมนักมวยปล้ำทุกคนเลย เพราะกว่าจะออกมาเป็นท่าที่สวยงาม สมูธขนาดนั้น เขาต้องผ่านการฝึกซ้อมที่หนักหนาขนาดไหน บางคนรับบทเป็นตัวร้าย ก็ต้องยอมโดนคนด่า คนเกลียดในชีวิตจริง เพื่อให้การโชว์ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด ดังนั้นทุกคนควรให้เกียรติกับทุกวิชาชีพ"
จากคนหนุ่มที่เหมือนเรือไร้หางเสือ ไม่รู้ว่าชีวิตจะขับเคลื่อนไปทางไหนดี ทุกวันนี้ ศิวัม ทริพาธี มีคำตอบให้ใจตัวเองว่า เขาต้องการอะไรในชีวิตก่อนอายุ 30 ปี แม้หนทางที่เขาเลือก หลายคนจะเตือนด้วยความหวังดี และบอกว่า “อย่าไปเลย” เพราะมันเต็มไปด้วยความเสี่ยง
"ภายในอายุ 30 ปี ผมจะต้องถูกเซ็นสัญญาเข้าไปอยู่ค่ายมวยปล้ำระดับโลก และหาเลี้ยงชีพด้วยสิ่งที่ตัวเองรักให้ได้"
"ความจริงถ้าไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ผมคงลาออกจากงานไปฝึกมวยปล้ำที่ญี่ปุ่นแล้ว"
"ผมอยากลองดูสักครั้งชีวิต ตั้งใจว่าจะไปฝึกที่นั่นสัก 2 ปี หากผมทุ่มสุดตัวไปแล้ว 700 กว่าวัน แล้วมันประสบความสำเร็จก็ดี แต่ถ้าจะเฟลก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยยังได้ลองทำ ดีกว่าแก่ตัวมานั่งเสียดาย ที่ไม่กล้าลงมือทำ"
"หลายคนอาจคิดว่ามันเสี่ยงหรือเปล่า ยอมทิ้งหน้าที่การงาน เงินเดือน ไปเริ่มต้นฝึกมวยปล้ำจริงจังในต่างแดน สำหรับผมทุกอาชีพมีความเสี่ยงและต้องลงทุนหมด อย่างผมเป็นพนักงานบริษัท ผมก็ลงทุนกับเวลา หากเอาผมเวลาที่เสียไป มาทำธุรกิจกับที่บ้าน ผมอาจรวยไปแล้ว หรือผมทำธุรกิจแล้วเจ๊งก็ได้ ดังนั้นทุอย่างมันเสี่ยงหมด"
"ผมโชคดีที่มีต้นทุนชีวิตค่อนข้างดี ครอบครัวซัพพอร์ทตลอด ในเมื่อผมมีโอกาสที่จะทำมันได้เร็ว ทำไมผมต้องปล่อยโอกาสให้หลุดมือไป ?"
"บางคนเขาอาจจะมีความฝัน แต่ปัจจัยไม่เอื้อเท่าผม ผมแค่อยากบอกเขาว่า 'ถ้าคุณทำงานเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้' เท่ากับว่าคุณสุดยอดแล้ว เมื่อไหร่ที่คุณสบาย ขอแค่อย่าลืมกลับมาทำตามความฝันของตัวเอง"
ก่อนจากกัน เราถามเขาด้วยประโยคง่าย ๆ คล้ายกับสมัยเด็กที่เขาคุ้นชินคำถามลักษณะที่ว่า "คุณมีความฝันที่อยากไปให้ถึงจุดไหนในอนาคต" ศิวัม ยิ้มให้เราและบอกว่า "ระดับโลก"
คำถามต่างกัน แต่ความรู้สึกข้างในจิตใจของ หนุ่มวัยเบญจเพส ยังคงเหมือนกับตัวเขาเอง ตอนวัย 5 ขวบที่นั่งดูมวยปล้ำหน้าจอทีวี แล้วเกิดแรงบันดาลใจ อยากไปยืนอยู่ท่ามกลางผู้ชมเรือนพัน เรือนหมื่นในฮอลล์
"ผมอยากเป็นนักมวยปล้ำที่เก่งสุดในไทย จากนั้นสเต็ปต่อไปเก่งสุด คือ เบอร์ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสุดท้ายคือไปให้ถึงระดับโลก"
"แม้ตอนนี้ผมอาจต้องปล้ำให้คนดู หลักสิบชีวิตได้ชม แต่ผมก็คิดว่า ถ้าผมไม่เริ่มต้นจากคนดูหลักสิบ ผมก็ไม่มีวันที่จะได้ไปปล้ำให้ผู้ชมหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่นได้เห็น"
"สิ่งที่ผมทำทุกวันนี้ ผมรู้สึกคุ้มค่า ด้วยมูลค่าทางจิตใจ ไม่ใช่เรื่องเงินทอง มันคือไอ้เด็ก 5 ขวบที่อยู่ข้างใน บอกออกมาว่า 'มึงทำได้ มึงทำได้' สักวันมึงต้องเป็นแบบนักมวยปล้ำในทีวีให้ได้ มันทำให้ผมใช้ชีวิตช่วงที่เหลือต่อจากนี้ อย่างคนที่มีชีวิต"