มองอนาคตฟุตบอลลีกภูมิภาคผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นไปกับ อ.ณัฐกร วิทิตานนท์

มองอนาคตฟุตบอลลีกภูมิภาคผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นไปกับ อ.ณัฐกร วิทิตานนท์

มองอนาคตฟุตบอลลีกภูมิภาคผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นไปกับ อ.ณัฐกร วิทิตานนท์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"นักการเมืองมีส่วนสำคัญมาก ที่ทำให้ลีกภูมิภาคได้รับความนิยมขึ้นมาในช่วงหนึ่ง เพราะว่าปัจจัยหลายอย่างของทั้งฟุตบอลและการเมืองในเมื่อ 10 ปีก่อน เอื้อให้นักการเมืองท้องถิ่นได้ทำทีมฟุตบอล"

"ถ้าเรามองดูคนทำทีมฟุตบอลระดับรากหญ้าในปัจจุบัน จะพบว่ามีจำนวนนักการเมืองท้องถิ่นน้อยกว่าเมื่อก่อนมาก บางคนเลิกทำ มอบสิทธิ์ต่อให้คนอื่น หรือยุบทีมไปเลยก็มี"

ฟุตบอลลีกภูมิภาค หรือชื่ออย่างเป็นทางการ "ไทยลีก 3"  กับการปกครองส่วนท้องถิ่น คือภาพสะท้อนถึงความเชื่อมโยงที่แยกกันไม่ขาด ระหว่างกีฬากับการเมืองไทย ในอดีตนักการเมืองผู้มีอำนาจในหลายจังหวัด ได้มีบทบาทสำคัญ ต่อการสร้างกระแสนิยมให้กับลีกภูมิภาค มีกระแสคึกคักในภูมิภาคต่าง ๆ เหมือนกับลีกสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในเวทีลูกหนัง และการเมือง การเลือกตั้งท้องถิ่นที่หายไป บวกกับโครงสร้างฟุตบอลไทยที่เปลี่ยนไป ทำให้ความนิยมของฟุตบอลลีกล่างเสื่อมถอยลงไปเรื่อย ๆ จากลีกแห่งสีสันฟุตบอลไทย สู่ลีกที่เงียบเหงาไร้ผู้เหลียวแล ไม่ค่อยมีข่าวสาวนำเสนอ และการถ่ายทอดสดโดยสื่อมวลชน 

ทว่าในช่วงปลายปี การเลือกตั้งท้องถิ่นกำลังจะกลับมาอีกครั้ง ในวันที่ 20 ธันวาคมที่จะถึงนี้ แต่การกลับมาของการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ จะช่วยปลุกกระแสของฟุตบอลรากหญ้าได้จริงหรือไม่ ?

Main Stand พูดคุยกับ อ.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้เคยทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับฟุตบอลไทย และกำลังติดตามการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่กำลังมาถึงอย่างจริงจัง 


Photo : Nuttakorn Vititanon

อนาคตของฟุตบอลลีกภูมิภาคกำลังจะเดินหน้าไปในทิศทางใด ในสภาวะที่นักการเมืองท้องถิ่น กำลังจะกลับมามีบทบาทอีกครั้ง หลังสนามเลือกตั้งหนนี้ 

 

จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ ระหว่างนักการเมืองท้องถิ่น กับฟุตบอลรากหญ้าเริ่มต้นจากตรงไหน

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้นักการเมืองหันมาทำทีมฟุตบอล คือเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2549 ผลพวงที่ตามมาคือนักการเมืองบางคนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากการวินิจฉัยของศาล ซึ่งนักการเมืองพอไม่สามารถจะสร้างผลงานทางการเมืองได้ เขาก็ต้องหาอย่างอื่นทำ เพราะเล่นการเมืองไม่ได้แล้ว

พวกเขาต้องหาทางใหม่ที่จะนำเสนอตัวเอง สร้างผลงานให้กับท้องถิ่น นักการเมืองจำนวนหนึ่ง จึงตัดสินใจเปลี่ยนสนามการเมืองของตัวเองมาที่วงการกีฬา บางคนก็ไปรับตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาของจังหวัด บางคนหันมาทำทีมฟุตบอลในจังหวัด

ฟุตบอลกลายเป็นเครื่องมือในการโปรโมตตัวนักการเมือง ว่าถึงจะถูกแบนจากเวทีการเมือง แต่พวกเขาก็ยังคงทำอะไรบางอย่างเพื่อท้องถิ่นอยู่ ซึ่งฟุตบอลไทย ณ เวลานั้น ตอบโจทย์มากกับนักการเมืองกลุ่มนี้

มันจึงทำให้นักการเมืองท้องถิ่น กลายเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากกับฟุตบอลรากหญ้าในสมัยก่อน

 

นักการเมืองมีบทบาทมากแค่ไหน กับการผลักดันฟุตบอลลีกภูมิภาคบูมขึ้นมาในยุคนั้น 

นักการเมืองมีส่วนสำคัญมากที่ทำให้ลีกภูมิภาคได้รับความนิยมขึ้นมาในช่วงหนึ่ง มันเป็นเพราะว่าปัจจัยหลายอย่าง ของทั้งฟุตบอลและการเมืองในช่วงเวลานั้น เอื้อให้กับนักการเมืองท้องถิ่นในการทำทีมฟุตบอล


Photo : Suphanburi FC

อย่างแรกคือเรื่องของสนาม เพราะสนามฟุตบอลคือทรัพยากรหลักของทีมฟุตบอล ถ้าคุณไม่มีสนามเป็นของตัวเอง การทำทีมฟุตบอลไทยคือเรื่องยากมากในสมัยก่อน สมมติคุณเป็นบริษัทเอกชน ถ้าจะทำทีมฟุตบอลในต่างจังหวัด คุณต้องไปเสียเงินเช่าสนาม เสียค่าใช้จ่ายเยอะแยะมากมาย มันก็ดูเป็นการลงทุนที่ได้ไม่คุ้มเสีย

แต่สำหรับนักการเมืองท้องถิ่น เขามีทรัพยากรตรงนี้อยู่ในมือ โดยเฉพาะถ้าคุณมีตำแหน่งอยู่ใน อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) เพราะตามกกฎหมายแล้ว สนามกีฬาประจำจังหวัด จะถือว่าเป็นทรัพย์สินของ อบจ. 

ดังนั้น ถ้านักการเมืองท้องถิ่นที่เป็น อบจ. ทำทีมฟุตบอล สิ่งแรกที่เอื้อประโยชน์ให้ คือ ไม่ต้องเสียค่าเช่าสนาม สามารถลดงบค่าดูแลต่าง ๆ อย่างการรักษาความปลอดภัย สามารถดึงตำรวจในพื้นที่มาทำได้

พอนักการเมืองสามารถลดค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไป ทำให้สามารถนำเงินไปเน้นใช้กับการเซ็นนักเตะฝีเท้าดี ราคาแพงมาร่วมทีม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีนักเตะที่เก่ง และมีชื่อเสียงมาเล่นในลีกระดับล่าง มันช่วยสร้างกระแสนิยมให้กับฟุตบอลได้จริง

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ ถ้าคุณเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีตำแหน่งสำคัญใน อบจ. คุณสามารถนำงบของหน่วยงานท้องถิ่นมาสนับสนุนทีมฟุตบอลได้ ในฐานะส่วนหนึ่งของการให้เงินอุดหนุนองค์กรที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมท้องถิ่น ในอดีตมันยังเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย สามารถทำได้ และทีมฟุตบอลคือหนึ่งในนั้น

หลายสโมสรฟุตบอลได้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของการมีคนทำทีมเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ไม่ใช่แค่ทีมในระดับลีกภูมิภาคที่ได้ประโยชน์ แต่รวมถึงทีมประจำจังหวัดที่อยู่ในลีกใหญ่ อาทิ บุรีรัมย์, ชลบุรี ก็ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้เหมือนกัน

 

นักการเมืองเป็นกลุ่มคนเหมาะกับการทำทีมฟุตบอลท้องถิ่น แต่จริง ๆ แล้ว จำเป็นไหมที่นักการเมืองจะต้องมาทำทีมฟุตบอล 

มันมีทั้งคนที่อยากทำจริง ๆ กับคนที่อยากใช้ฟุตบอลในการสร้างฐานเสียงทางการเมือง เพราะกีฬานี้ช่วยทำให้นักการเมืองมีผลงานได้จริง

ยกตัวอย่าง ในหลายจังหวัด นักการเมืองที่ทำทีมฟุตบอล ไปจับมือกับโรงเรียนท้องถิ่น ทำเป็นในลักษณะเหมือนอคาเดมีฟุตบอล ส่งเด็กในจังหวัดทั้งเรียน และเล่นฟุตบอล นี่คือการทำผลงานในระบบการเมืองท้องถิ่นที่ชัดเจน กับการนำงบประมาณมาช่วยสนับสนุนเยาวชน สร้างโอกาสให้กับเด็กในท้องถิ่นได้เรียนหนังสือ ได้เล่นฟุตบอล

แต่บางคนก็ไม่ได้อยากทำขนาดนั้น ด้วยปัจจัยรอบตัว ทั้งคำเชื้อเชิญ หรือแรงกดดันจากคนรอบข้าง ที่อยากจะเห็นทีมฟุตบอล ด้วยความเป็นนักการเมืองที่มีอำนาจในจังหวัด บางทีก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะสุดท้ายหน้าที่ของนักการเมือง คือ การต้องรับใช้สังคมและสร้างผลประโยชน์แก่ท้องถิ่น 

เพราะสุดท้ายถ้าคุณไม่ทำทีม มันก็อาจกระทบกับคะแนนเสียง หรือชาวบ้านที่เขาชอบฟุตบอล อาจจะเสียศรัทธาในตัวคุณ ? "ทำไมจังหวัดอื่นมีทีมฟุตบอล แต่บ้านเราไม่มี" อะไรแบบนี้ สุดท้ายพอในจังหวัดไม่มีใครทำ นักการเมืองก็ต้องรับเอามาทำไว้ก่อน

 

มีความเชื่อกันว่า นักการเมืองท้องถิ่นทำทีมฟุตบอลเพื่อหวังคะแนนเสียง ในความเป็นจริงแล้ว การทำทีมฟุตบอลตอบโจทย์กับการสร้างความนิยมทางการเมืองจริงไหม 

ผมว่านี่คือคำถามที่ตอบยากนะ ว่าการทำฟุตบอลจะมีผลให้ประชาชนเลือกนักการเมืองไหม เราไม่มีทางรู้คำตอบที่แท้จริงว่า สุดท้ายนักการเมืองคนนั้นได้ชนะการเลือกตั้งเพราะอะไร นอกจากเราจะลงพื้นที่ไปถามผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทีละคน

จริงอยู่ว่า มีนักการเมืองที่ทำทีมฟุตบอล และประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งอยู่เยอะ ดังนั้นมันก็ไม่ผิดที่จะบอกว่า ถ้าทำทีมฟุตบอล นักการเมืองมีเปอร์เซนต์จะเป็นผู้ชนะ


Photo : dialysoccerthailand.blogspot.com

แต่ในความคิดของผม ผมมองว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น มันมีหลายปัจจัยมาก ที่จะทำให้คนตัดสินใจเลือกนักการเมืองสักคน บางคนดูเรื่องนโยบาย บางคนก็เลือกแค่พรรค ไม่สนนโยบาย หรือฟุตบอลก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้คนเลือกนักการเมืองที่ทำทีมฟุตบอล

การเลือกตั้งมันมีความคิดที่ซับซ้อน บางทีฟุตบอลอาจจะเป็นปัจจัยหลักในการลงคะแนนสำหรับบางคน หรือเป็นปัจจัยรอง และสำหรับบางคนอาจจะไม่มีผลเลยก็ได้ มันเป็นไปได้หมด

แต่ที่แน่นอนคือการทำทีมฟุตบอล ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่า คุณทำทีมแล้วจะชนะการเลือกตั้ง เพราะคนที่แพ้ก็มีไม่น้อย 

ยกตัวอย่างเช่น คุณสุนี สมมี ประธานกิตติมศักดิ์สโมสร ลำปาง เอฟซี ก็เคยเป็นนายก อบจ. ของจังหวัดมาก่อน และทำทีมฟุตบอลมาตลอด แต่พอลงเลือกตั้ง ส.ส. ระดับประเทศ เมื่อปีที่ผ่านมา ได้คะแนนแค่ 4 พันเสียง แพ้ยับเยินให้กับฝั่งเพื่อไทย

ในทางกลับกัน บางคนไม่ทำทีมฟุตบอล หรือเคยทำแล้วเลิกทำทีมไป แต่ชนะการเลือกตั้งก็มี อย่างเคสของจังหวัดพะเยา เขาเคยมีทีมฟุตบอล ทำโดย คุณธรรมนัส พรหมเผ่า แล้วพอถึงจุดหนึ่งคุณธรรมนัสก็เลิกทำ ตัดสินใจพักทีม ทีมพะเยาก็หายไปจากลีกอาชีพ

แต่พอมาถึงการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว คุณธรรมนัส กลับได้รับการเลือกตั้ง ทั้งที่ไม่ได้ทำทีมฟุตบอล คือเลิกทำไปแล้ว แถมอยู่พรรคพลังประชารัฐด้วยนะ แต่คุณธรรมนัส ยังชนะการเลือกตั้ง ทั้งที่ในความเป็นจริงการที่คุณเป็นนักการเมือง สังกัดพลังประชารัฐ มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะชนะเพื่อไทย ในพื้นที่ภาคเหนือ

สิ่งที่ผมจะบอกคือ การเลือกตั้งท้องถิ่นมันมีหลายปัจจัยมาก ที่จะทำให้นักการเมืองสักคนชนะการเลือกตั้ง ฟุตบอลอาจจะมีผลต่อการสร้างฐานคะแนนบ้าง แต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญขนาดนั้น ชนิดที่เรียกว่าจะกำหนดผลการเลือกตั้ง ยังมีเรื่องอื่นที่อาจจะสำคัญกว่า

ผมมองว่า ฟุตบอลคือหนึ่งในเครื่องมือโปรโมตตัวเองรูปแบบหนึ่งของนักการเมืองมากกว่า ส่วนจะได้ผล หรือไม่ได้ผล ก็ต้องดูเป็นกรณีไป

 

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสฟุตบอลในลีกภูมิภาคตกลงไปมาก พร้อมกับการหายไปของการเลือกตั้งท้องถิ่น การเมืองมีส่วนมากน้อยแค่ไหนกับกระแสฟุตบอลรากหญ้าที่หายไป

ผมมองว่ามีส่วน ถ้าเรามองดูคนทำทีมฟุตบอลระดับรากหญ้าในปัจจุบัน จะพบว่ามีจำนวนนักการเมืองท้องถิ่นน้อยกว่าเมื่อก่อนมาก บางคนเลิกทำ มอบสิทธิ์ต่อให้คนอื่น หรือยุบทีมไปเลยก็มี

ปัจจัยแรกคือ ในช่วงที่ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) คุมอำนาจอยู่ประมาณ 5 ปี คือช่วงเวลาที่ไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พอมันเป็นเช่นนั้น นักการเมืองบางคนก็ไม่รู้จะทำทีมไปทำไม เพราะไม่ได้อะไรกลับมา


Photo : NARA UNITED

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า นักการเมืองจำนวนไม่น้อยทำทีมฟุตบอลเพื่อหวังสร้างผลงาน ฐานคะแนน แต่พอไม่มีการเลือกตั้ง ก็เหมือนกับการเสียเงินหลักล้านไปแบบเปล่าประโยชน์ เมื่อการทำทีมฟุตบอล ไม่ตอบโจทย์ ไม่คุ้มค่า นักการเมืองจึงเลิกทำ

บวกกับพอ คสช.เข้ามา ภาพของการเมืองท้องถิ่นก็เปลี่ยน นักการเมืองบางคนหลุดออกจากตำแหน่ง เอาข้าราชการประจำมาทำหน้าที่แทน 

พอเป็นข้าราชการมานั่งตำแหน่งบริหารท้องถิ่น เขาเป็นคนจากการเมืองส่วนกลาง ไม่ต้องเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องสร้างผลงานเพื่อสร้างฐานเสียง มันจึงไม่เกิดความคิดริเริ่มที่จะสร้างผลงานให้กับท้องถิ่น หรือเกิดนโยบายต่าง ๆ ทีมฟุตบอลท้องถิ่นก็ได้รับผลกระทบ 

รวมถึงเรื่องงบประมาณที่หายไป จากเดิมที่การเมืองส่วนท้องถิ่น สามารถนำงบมาสนับสนุนสโมสรฟุตบอลได้ในสมัยก่อน ตอนนี้ไม่สามารถทำได้แล้ว ทำให้ทีมฟุตบอลหลายทีมขาดงบ เมื่อเงินหายไปความน่าดูของฟุตบอลลีกรากหญ้ามันก็ลดลง นักเตะที่มีคุณภาพก็เริ่มหายไป

มองอีกมุมหนึ่ง พอไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ความผูกพันระหว่างทีมฟุตบอล กับนักการเมือง มันก็ห่างกันตามไปด้วย เพราะทีมฟุตบอลก็คือตัวแทนของพื้นที่นั้น ๆ เมื่อการเลือกตั้งที่เคยเป็นตัวเชื่อมกลางระหว่างผู้คนกับนักการเมือง ถูกเว้นว่างไปนาน นักการเมืองก็ไม่รู้จะว่าทำทีมไปทำไม

รวมถึงยังมีปัจจัยอื่นด้วยเช่นกันที่ส่งผลกระทบให้ความนิยมฟุตบอลลีกล่างลดลง มันไม่ใช่แค่เรื่องจากฝั่งการเมืองเพียงอย่างเดียว เช่น การเปลี่ยนระบบลีกจากลีกภูมิภาค แข่งตามโซน เป็นไทยลีก 3 กับ 4 ที่เป็นการแข่งข้ามภาค ส่งผลกระทบกับการทำทีมของนักการเมืองเหมือนกัน

เพราะในช่วงเวลาเดียวกับที่ไม่มีการเลือกตั้ง นักการเมืองกลับต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำทีมมากขึ้น กลายเป็นภาระของนักการเมืองมากกว่าเดิม

การหายไปของลีกภูมิภาคก็ส่งผลมาก กับความนิยมที่เสื่อมลงของลีกล่าง เพราะดิวิชั่น 2 เดิม ได้รับความนิยมขึ้นมา เพราะเรื่องของท้องถิ่นนิยม นักการเมืองบางจังหวัดทำทีมฟุตบอล เพราะแฟนบอลอยากมีทีมบ้านเกิดไปแข่งกับทีมของจังหวัดเพื่อนบ้าน

คนต่างจังหวัด จะอินกับฟุตบอลลีกภูมิภาคมาก ถ้าจังหวัดของคุณไม่ได้มีทีมอยู่ไทยลีก ลีกภูมิภาคคือลีกที่ใกล้ตัวมากที่สุด และพวกเขามีอารมณ์ร่วมไปกับการแข่งขันในลีกท้องถิ่นตัวเอง การเจอทีมจากจังหวัดใกล้เคียง อินมากกว่าไทยลีกเยอะ

พอลีกภูมิภาคหายไป ถูกปรับเปลี่ยนโครงสร้างเป็นอาชีพมากขึ้นเป็นไทยลีก 3-4 ความอินตรงนี้มันก็หายไปด้วย ความผูกพันระหว่างแฟนบอลกับลีกก็หายไป จากลีกที่เคยได้รับความนิยมกลายเป็นลีกที่ไม่มีสโมสรไหนอยากจะอยู่ มีแต่ทุกทีมอยากจะหนีขึ้นไปสองลีกบน 

 

ปัจจุบัน ฟุตบอลลีกภูมิภาค (ไทยลีก 3) กลับใช้วิธีการแบ่งโซนแบบดิวิชั่น 2 เดิม ประจวบเหมาะกับการเลือกตั้งท้องถิ่นกลับมาแล้ว มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ที่ฟุตบอลลีกรากหญ้าจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

ผมคิดว่ายากที่ลีกภูมิภาคจะกลับมาได้รับความนิยมแบบในอดีต เพราะตอนนั้นที่นักการเมืองหันมาทำทีมฟุตบอล เป็นเพราะหลายคนโดนแบนทางการเมือง แต่ตอนนี้ คนเหล่านั้นกลับมาเล่นการเมืองได้แบบเต็มตัวแล้ว เขาก็กลับไปโฟกัสที่เวทีการเมืองมากกว่า ไม่จำเป็นต้องทำบอลแก้ขัดเพื่อสร้างฐานเสียง


Photo : Lamphun Warriors

บวกกับการทำทีมฟุตบอล ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า คุณจะชนะการเลือกตั้ง มันมีโอกาสทั้งแพ้ และชนะ ทำให้นักการเมืองบางคนมองว่า ฟุตบอลไม่ตอบโจทย์กับการสร้างฐานเสียงทางการเมือง 

ยุคนี้ก็ไม่เหมือนยุคก่อน เพราะการที่นักการเมืองจะเอางบส่วนกลางมาช่วยทำฟุตบอล มันก็ทำได้ยาก ถ้าทำจะถูก ปปช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) และ สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) จับตาอย่างหนัก ดังนั้นตอนนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักการเมืองจะทำทีมฟุตบอลออกหน้าออกตาเหมือนในอดีต

 

หากฟุตบอลไทยไม่ตอบโจทย์ กับนักการเมืองท้องถิ่นอีกแล้ว อนาคตของฟุตบอลรากหญ้าควรจะเคลื่อนไปในทิศทางไหน

ผมคิดว่าเราต้องมองไปที่นักธุรกิจ มากกว่านักการเมืองแล้วในตอนนี้ เพราะทีมฟุตบอลยังสามารถเป็นเครื่องมือโปรโมตแบรนด์ให้กับองค์กรธุรกิจได้ 

ถ้าฟุตบอลลีกภูมิภาค ได้นายทุนที่มีเงิน มีศักยภาพ อยากทำทีมฟุตบอลให้กับทีมบ้านเกิด ลีกรากหญ้าก็อาจจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ผมมองว่าหลังจากนี้ ฟุตบอลลีกล่างจะเติบโตไปในทิศทางนี้มากกว่า คงไม่กลับไปพึ่งนักการเมืองท้องถิ่นแบบในอดีต

 

สุดท้ายแล้ว ฟุตบอลลีกภูมิภาคยังมีความหวังที่จะกลับมาได้รับความนิยมเหมือนในอดีตไหม

ผมคิดว่ายาก เพราะเราสูญเสียกระแสที่เคยมีไปหมดแล้ว ต้องสร้างใหม่ทั้งหมด แต่มันก็เกิดขึ้นได้ ถ้าสโมสรได้นักธุรกิจที่ดีเข้ามาทำทีม เราหันมามองฟุตบอลท้องถิ่น ในฐานะเครื่องมือสร้างความบันเทิงให้กับคนในท้องที่ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความสุขให้คนช่วงสุดสัปดาห์ ฟุตบอลก็อาจจะกลับมามีคนดูอีกครั้ง


Photo : Chiangrai Lanna FC.

สิ่งที่สำคัญที่สุด สำหรับฟุตบอลลีกภูมิภาคคือ "ท้องถิ่นนิยม" เพราะเคยมีงานศึกษาประเด็นระหว่างสโมสรฟุตบอลกับท้องถิ่นนิยมอยู่ ซึ่งคนต่างจังหวัดจะมีความภูมิใจกับท้องถิ่นมาก พวกเขาจะสนใจกับทุกอย่างที่เป็นความภูมิใจของท้องถิ่น หนึ่งในสิ่งที่เป็นได้คือทีมฟุตบอล

สโมสรมันสามารถสื่อสารในการสร้างความภูมิใจท้องถิ่นได้ เช่น กรณีของจังหวัดเชียงราย คนเชียงรายภูมิใจกับทีมมาก ไม่ว่าคนนอกจะมองเชียงรายเป็นจังหวัดแบบไหน เป็นจังหวัดชายแดน หรืออะไรก็ตาม แต่เชียงราย คือ สโมสรฟุตบอลที่สามารถสร้างความภาคภูมิใจ ให้แก่ประชาชนในจังหวัดได้ 

หรือบางที คนก็พูดกันว่า เชียงราย อาจจะเป็นรองเชียงใหม่ในหลายเรื่อง แต่ถ้าเรื่องฟุตบอลเชียงรายไม่เคยเป็นรองเชียงใหม่ ฟุตบอลมันสร้างความรู้สึกจังหวัดนิยมได้จริง

ถ้าสโมสรฟุตบอลท้องถิ่น สามารถสร้างแนวคิดท้องถิ่นนิยมของสโมสรให้แข็งแกร่ง ผมมองว่ามันน่าจะตอบโจทย์ กับการสร้างความนิยมให้บอลท้องถิ่นอีกครั้ง 

รวมถึงการหันมาปั้นนักฟุตบอลเยาวชน สร้างเด็กในจังหวัด เป็นแนวทางที่น่าสนใจ กับการสร้างแนวคิดท้องถิ่นนิยม เพราะสุดท้ายผมมองว่า ฟุตบอลภูมิภาค จะไม่มีทางกลับมาได้รับความนิยม ผ่านการทำทีมทุ่มเงินโดยนักการเมืองแบบในอดีตอีกแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook