จอมโลภในคราบนักบุญ : NCAA องค์กรกีฬาไม่แสวงผลกำไร ที่มีรายได้ระดับพันล้าน
องค์กรไม่แสวงผลกำไร คือหน่วยงานที่บ่งบอกชัดเจนว่า เงินไม่ใช่เป้าหมายหลักของการดำเนินกิจการ แต่เป็นการสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคม อย่างไรก็ตามในวงการกีฬา กลับมีองค์กรไม่แสวงผลกำไร ที่สร้างรายได้ให้กับตัวเองระดับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
เรากำลังพูดถึง NCAA หน่วยงานที่ดูแล และควบคุม การแข่งขันกีฬาทั้งหมดในระดับมหาวิทยาลัย ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้จะมีหน้าที่สำคัญเป็นการพัฒนานักกีฬารุ่นใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งองค์กรนี้กลับฟันรายได้เละเทะ เป็นหนึ่งในหน่วยงานกีฬาที่มีรับรายได้มากที่สุดในโลก
ขณะที่ NCAA สร้างนักกีฬาระดับโลกออกมามากมาย แต่สถานะของการเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร กำลังทำให้หน่วยงานนี้ถูกกดดันอย่างหนัก ว่าพวกเขากำลังใช้กีฬา และข้ออ้างในการสร้างอนาคตให้เยาวชน เป็นเครื่องมือหาเงินมหาศาเข้ากระเป๋าตัวเอง
รู้จักกับ NCAA
NCAA หรือ National Collegiate Athletic Association คือหน่วยงานที่ไม่แสวงผลกำไรของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาศักยภาพของเยาวชนในสหรัฐฯ ที่เข้าสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพ ในฐานะนักกีฬา ผ่านการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
Photo : footballscoop.com
หรือเข้าใจง่าย ๆ NCAA คือองค์กรที่มีหน้าที่สร้างนักกีฬาในระดับมหาวิทยาลัย วางรากฐาน และเสริมศักยภาพให้ออกมาโดดเด่นที่สุด เพื่อช่วยนักกีฬาเหล่านี้สามารถเติบโตต่อในฐานะนักกีฬาอาชีพ หลังจากช่วงระยะเวลาเรียนในมหาวิทยาลัย
เนื่องจากระบบกีฬาของสหรัฐอเมริกา จะไม่ใช้วิธีสร้างผ่านอคาเดมี หรือศูนย์ฝึกส่วนตัว เหมือนที่แฟนกีฬาหลายคนคุ้นชิน เช่น ฟุตบอล หรือ มวย แต่ที่สหรัฐฯ จะใช้วิธีคัดเลือกเด็กผ่านมหาวิทยาลัย โดยคัดเยาวชนที่มีพรสวรรค์ด้านกีฬา เข้าไปเล่นให้กับทีมกีฬาของแต่ละมหาวิทยาลัย และใครที่ทำผลงานได้ดี ก็จะได้รับการต่อยอดให้เป็นนักกีฬาอาชีพ
NCAA คือหน่วยงานกลางที่เข้ามาสร้างมาตรฐาน ในการพัฒนานักกีฬาของแต่ละมหาวิทยาลัยให้ทัดเทียมอยู่ภายใต้ระดับเดียวกัน โดยปัจจุบันมีกว่า 1,200 มหาวิทยาลัย ในสหรัฐฯ และแคนาดา เป็นสมาชิกของ NCAA และนักกีฬาร่วม 480,000 คนอยู่ภายใต้การดูแลของ NCAA
สำหรับการก่อตั้ง NCAA เริ่มต้นภายใต้แนวคิดของ ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในช่วงปี 1901 ถึง 1909 ซึ่งเห็นปัญหาอาการบาดเจ็บ และเสียชีวิตของนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยจำนวนมาก จนเขาคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังจะทำลายวงการกีฬาของสหรัฐฯ
ทำให้เขาเรียกทั้งนักการเมือง, นักวิชาการ และผู้บริหารของมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐฯ มาระดมความคิดหาทางออกของปัญหา ซึ่งจบด้วยการก่อตั้ง NCAA ในปี 1906 เพื่อเป้าหมายให้ความรู้ และพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาวัยรุ่นอย่างถูกต้อง
งานแรกของ NCAA คือการออกกฎในกีฬาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเบสบอล, อเมริกันฟุตบอล, บาสเกตบอล ไปจนถึงมวยปล้ำอาชีพ ที่ช่วยเหลือให้นักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยได้รับการพัฒนาด้านทักษะมากที่สุด ทำให้ในหลายกีฬา กฎของลีกที่อยู่ภายใต้การควบคุม NCAA จะไม่เหมือนกฎของลีกกีฬาอาชีพ
Photo : www.freep.com
NCAA อาจจะเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร และมีเป้าหมายในการช่วยเหลือการพัฒนานักกีฬาเป็นสำคัญ แต่การอยู่ในสหรัฐอเมริกา คุณไม่สามารถหนีความสำคัญของทุนนิยมได้ ... NCAA เจอปัญหาอย่างหนักในช่วงแรก กับการดึงมหาวิทยาลัยให้เข้ามาเป็นสมาชิก เพราะมหาวิทยาลัยต้องการรายได้มหาศาล เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย เลี้ยงดูและสนับสนุนนักกีฬาของตัวเอง แต่ NCAA ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้เท่าไหร่นัก จนกลายเป็นความตึงเครียดระหว่างมหาวิทยาลัย กับ NCAA
สุดท้าย NCAA จึงต้องปรับตัว ด้วยการเป็นตัวกลางช่วยสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัย ผ่านการผลักดันให้กีฬามหาวิทยาลัยได้ถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ และนำค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมาเป็นเงินทุนสนับสนุนนักกีฬา
การถ่ายทอดสดกีฬามหาวิทยาลัยผ่านโทรทัศน์ โดยเฉพาะอเมริกันฟุตบอล สร้างความนิยมมหาศาลให้กีฬาระดับมหาวิทยาลัย และทำรายได้มหาศาลคืนให้กับ NCAA จนทำให้หน้าที่หลักของ NCAA เริ่มเปลี่ยนจากการพัฒนานักกีฬารุ่นเยาว์ เป็นจัดการแข่งขันรายการต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้สถาบันศึกษา
เศรษฐีเงียบแห่งวงการกีฬา
การจัดการแข่งขันกลายเป็นช่องทางหารายได้หลักของ NCAA มาจนถึงปัจจุบัน ผ่านการแข่งขันกว่า 90 รายการต่อปี จาก 24 ชนิดกีฬา ไม่ว่าจะเป็นกีฬายอดนิยมอย่าง อเมริกันฟุตบอล, เบสบอล, บาสเกตบอล, ฟุตบอล ไปจนถึงกีฬาเฉพาะทางอย่าง ยิงปืน, โบว์ลิ่ง, ลาครอสต์, ฟันดาบ, กอล์ฟ, พายเรือ
Photo : www.montgomeryadvertiser.com
การแข่งขันกีฬาที่จัดต่อเนื่องตลอดปีโดย NCAA มีหลายรายการที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่แพ้ลีกกีฬาอาชีพ เช่น ลีกอเมริกันฟุตบอลดิวิชั่น 1 ของ NCAA ที่มีค่าเฉลี่ยผู้ชมในสนามมากกว่า 40,000 คน รวมถึงมีผู้ชมมากกว่า 100 ล้านคนในสหรัฐฯ ที่ติดตามการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลมหาวิทยาลัย
หากวัดในแง่ของเรตติ้งทางโทรทัศน์ในประเทศ ลีกอเมริกันฟุตบอลของ NCAA ได้รับความนิยมมากกว่า NBA ลีกบาสอันดับหนึ่งของโลกด้วยซ้ำไป รวมถึงลีกเบสบอลอย่าง MLB ก็สู้ความนิยมของอเมริกันฟุตบอลมหาวิทยาลัยไม่ได้เช่นกัน
เฉพาะแค่กีฬาอเมริกันฟุตบอล ก็สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับ NCAA โดยปัจจุบันเงินที่ทาง NCAA ได้รับจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของเกมคนชนคน สูงถึง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 42,000 ล้านบาท โดยไม่รวมเงินพิเศษต่าง ๆ ซึ่งแม้จะต้องหักเงินส่วนนี้ไปให้กับมหาวิทยาลัยสมาชิก แต่ NCAA ก็ได้รับส่วนแบ่งเข้ามาไม่น้อยเช่นกัน
แค่นี้คงพอเห็นภาพแล้วว่า NCAA มีรายรับมากเพียงใด จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด เพราะในความเป็นจริงยังมีอีกหลายกีฬาในระดับมหาวิทยาลัยที่มีผู้ชมมหาศาล ทั้งบาสเกตบอลที่มีค่าเฉลี่ยนคนดูทางหน้าจอมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี
Photo : apkpure.com
เช่นเดียวกันกับเบสบอล ที่หากเข้าสู่รอบเพลย์ออฟ จะมีคนติดตาม 1 ถึง 2 ล้านคนต่อเกม แม้กระทั่งกีฬามวยปล้ำสากล หากเป็นรอบชิงแชมป์ของ NCAA ก็มีคนติดตามมากกว่า 5 แสนคนมาหลายปีติดต่อกัน
NCAA เปรียบเสมือนองค์กรที่มีลีกกีฬายอดนิยมมากมายไว้อยู่ในมือ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปัจจุบัน NCAA จะมีรายได้ มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นหน่วยงานด้านกีฬาลำดับต้น ๆ ของสหรัฐอเมริกาที่มีรายรับสูงในระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ทำให้ NCAA มักถูกโจมตีอยู่บ่อยครั้ง ว่าใช้ข้ออ้างของการพัฒนาเยาวชนเป็นช่องทางหากำไรมหาศาลเพื่อกลุ่มผู้บริหาร
Photo : www.pinstripealley.com
ในทางตรงกันข้าม NCAA ได้แสดงความชัดเจนด้วยการเปิดเผยว่า องค์กรใช้เงินอย่างน้อย 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปกับการสนับสนุนนักกีฬาที่อยู่ในการดูแลของ NCAA
และรายได้มหาศาลที่ได้รับมา ในความเป็นจริงทางหน่วยงานหักกำไรไว้กับองค์กรแค่เล็กน้อยเท่านั้น แต่เงินที่เหลือทั้งหมดถูกนำไปแบ่งให้กับมหาวิทยาลัยสมาชิก, รวมถึงใช้เป็นทุนจัดการแข่งขันเพื่อพัฒนานักกีฬาในอนาคต
นอกจากนี้ NCAA ยังเผยว่า ยิ่งองค์กรได้รับเงินเข้ามามากเท่าไหร่ ยิ่งหมายถึงโอกาสในการส่งนักกีฬาไปสู่ชีวิตที่มั่นคงในฐานะนักกีฬาอาชีพ โดยยกว่าในแต่ละปีนักกีฬาที่เป็นสมาชิกของ NCAA และออกจากมหาวิทยาลัยไปเป็นนักกีฬาอาชีพ มีรายได้รวมกันในปีแรกสูงถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จอมโลภในคราบพ่อพระ ?
แม้ว่า NCAA จะมองรายรับหลายพันล้านต่อปี เป็นเหมือนเงินลงทุนเพื่อพัฒนานักกีฬาในชาติ แต่ด้วยชื่อองค์กรไม่แสวงผลกำไร ทำให้ NCAA มักถูกโจมตีอยู่บ่อยครั้ง จนถึงกับเกิดกระแสเรียกร้องให้ NCAA เลิกทำตัวเป็นพ่อพระของวงการ และเอาชื่อการเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรออกไป แล้วเดินหน้าในฐานะองค์กรกีฬาแสวงผลกำไร ตามแบบฉบับทุนนิยมอย่างเต็มตัว
Photo : www.soccerwire.com
มีการตั้งข้อสงสัยว่าที่ NCAA ยอมสร้างภาพเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ก็เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้คนจำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตาม NCAA ยังไม่ถูกกดดันมากนัก เพราะความจริงที่ว่า NCAA มีรายรับมหาศาลในแต่ละปี ไม่ค่อยเป็นที่รู้ในวงกว้างของชาวอเมริกัน
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ NCAA โดนโจมตี มาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในกีฬามหาวิทยาลัย ซึ่งแตกต่างจากโฆษณาชวนเชื่อที่องค์กรบอกว่าคอยสนับสนุนนักกีฬารุ่นใหม่ แต่ในความเป็นจริงเยาวชนจำนวนไม่น้อย รู้สึกว่าไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร โดยเฉพาะหากเป็นนักกีฬาในมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องกีฬา การจะก้าวต่อไปสู่ระดับอาชีพเป็นเรื่องที่ยากมาก
"ปัญหาของกีฬามหาวิทยาลัย ไม่ได้มาจากนักกีฬา, โค้ช หรือการศึกษา แต่มาจากระบบที่เป็นอยู่ นักกีฬาในมหาวิทยาลัยเป็นได้แค่ 2 อย่าง คือทาส กับนักโทษ เพราะเหล่านักกีฬากลายเป็นแรงงานที่หารายได้ให้กับองค์กร โดยที่พวกเขาไม่ได้อะไรกลับมาเลย"
ไคเลีย คาร์เตอร์ (Kylia Carter) แม่ของ เวนเดล คาร์เตอร์ (Wendell Carter) อดีตนักบาสที่เข้าเรียนกับมหาวิทยาลัยดุ๊ค และเป็นสมาชิกของ NCAA อยู่ 1 ปี ได้ออกมาเปิดเผยความแย่ขององค์กรนี้ จนทำให้เธอตัดสินใจพาลูกออกจากมหาวิทยาลัย และเข้าสู่การดราฟต์กับลีก NBA ทันทีในวัย 19 ปี เมื่อปี 2018
Photo : yahoo.com
หนึ่งในคนที่โจมตี NCAA มาตลอดคือ เลบรอน เจมส์ (LeBron James) ยอดนักบาสในยุคปัจจุบัน ที่ก้าวขึ้นเป็นนักกีฬาระดับโลก โดยไม่ผ่านองค์กร NCAA เพราะเขาเลือกเป็นนักกีฬาอาชีพทันที หลังจากเรียนจบชั้นมัธยม
เลบรอนคืออีกคนที่มีความเชื่ออย่างชัดเจนว่า นักกีฬาใน NCAA เป็นเพียงแค่เครื่องมือหาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย และองค์กรแห่งนี้ โดยเจ้าตัวยกตัวอย่างว่า ความเป็นจริงที่เขาเข้าลีก NBA ทันทีหลังจากเรียนจบ ทำให้เขาได้รับรายได้มหาศาล จากส่วนแบ่งที่ยุติธรรมผ่านสัญญาต่าง ๆ ทั้งในฐานะนักกีฬา และพรีเซนเตอร์สินค้า
แต่หากเขาเข้าเรียนต่อ และเป็นนักกีฬาของ NCAA ต่อให้ทีมขายเสื้อที่มีชื่อของเขาหมดทุกเกม เขาก็จะไม่ได้รับเงินแม้แต่ดอลลาร์เดียวกลับมา
Photo : abc7.com
"ผมเป็นแค่คนที่โชคดี สามารถเป็นนักกีฬาอาชีพได้โดยไม่ต้องเรียนมหาวิทยาลัย แต่กับคนอื่นล่ะ ผมเสียใจแทนพวกเขา มันถึงเวลาแล้วที่ NCAA ต้องเปลี่ยนแปลง"
"ผมรู้ดีว่าโค้ชในระดับมหาวิทยาลัยได้เงินเยอะขนาดไหน และนักกีฬาได้เงินน้อยแค่ไหน ผมเบื่อที่จะได้ยินคำที่บอกว่า พวกเขาเปิดโอกาสให้นักกีฬาเรียนฟรี แต่พอถึงเวลาจริงนักกีฬาก็ได้แต่เล่นกีฬา ไม่ได้เรียนสักหน่อย" เลบรอน เจมส์ กล่าว
นอกจากจะไม่มีค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กับเหล่านักกีฬา NCAA ยังไม่อนุญาตให้เหล่านักศึกษารับรายได้พิเศษ ผ่านการเป็นพรีเซนเตอร์ หรือนำชื่อเสียงของนักกีฬาไปหารายได้เป็นอันขาด ซึ่งยิ่งทำให้นักกีฬาเป็นฝ่ายถูกเอาเปรียบจากองค์กรนี้อย่างเห็นได้ชัด
ดังในเคสของ เรจจี บุช (Reggie Bush) อดีตนักอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัยยูเอสซี (มหาวิทยาลัยเซาธ์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย) เขาเคยได้รับเงินตอบแทนเกือบ 3 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ จากเอเยนต์กีฬารายหนึ่ง ซึ่ง NCAA มองว่าบุชทำผิดกฎ และกลายเป็นปัญหาฟ้องร้องใหญ่โตตามมา
Photo : consent.yahoo.com
นักกีฬาหลายคนรู้เป็นอย่างดี ว่าหากเลือกเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย ภายใต้สังกัด NCAA จะเป็นอย่างไร ทำให้ผู้เล่นจำนวนไม่น้อยในกีฬาเบสบอล และบาสเกตบอลในปัจจุบัน ยอมเสี่ยงเป็นนักกีฬาอาชีพทันทีหลังเรียนจบมัธยม เพื่อไปเล่นในลีกสำรอง หรือแม้กระทั่งลีกต่างประเทศ และไม่มีอะไรรับประกันอนาคต แต่อย่างน้อยก็ยังมีรายได้ ดีกว่าไปเล่นกีฬามหาวิทยาลัย ที่ใช้ร่างกายหนักหน่วง เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บไม่แพ้กีฬาอาชีพ แต่ไม่มีรายได้กลับมา
ล่าสุดทาง NCAA ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้โดยเริ่มเปิดโอกาส ให้นักกีฬามหาวิทยาลัยสามารถหารายได้เพิ่มเติมได้ หากว่ารัฐซึ่งเป็นที่สังกัดของมหาวิทยาลัยนั้นอนุญาต เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ได้เริ่มอนุญาตให้นักกีฬามหาวิทยาลัย สามารถเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าได้เป็นที่เรียบร้อย
ไม่มีใครปฏิเสธถึงความดีที่ NCAA คอยสนับสนุนให้วงการกีฬาสหรัฐฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ด้วยรายได้มหาศาลที่เข้ามาสู่องค์กร ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ NCAA จะปรับตัวให้กีฬาในระดับมหาวิทยาลัย เป็นธุรกิจที่โปร่งใสมากขึ้น เพื่อลดคำครหาที่ว่าองค์กรนี้กำลังทำนาเป็นหลังคน เป็นจอมโลภในคราบนักบุญแบบปัจจุบัน