กฎเปลี่ยนโลก : ในวันที่ฟีฟ่าแก้กฎส่งคืนหลังผู้รักษาประตู

กฎเปลี่ยนโลก : ในวันที่ฟีฟ่าแก้กฎส่งคืนหลังผู้รักษาประตู

กฎเปลี่ยนโลก : ในวันที่ฟีฟ่าแก้กฎส่งคืนหลังผู้รักษาประตู
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ผ่านการปรับปรุงและพัฒนามาตลอด ไม่ว่านำลูกตั้งเตะ เตะมุม จุดโทษ เข้ามาในยุคแรก ไปจนถึงการใช้โกลไลน์ หรือ VAR ในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดี บนเส้นทางอันยาวนานของเกมลูกหนัง คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งไหนที่จะสร้างความสั่นสะเทือนไปกว่าการแก้กฎส่งคืนหลังผู้รักษาประตู ที่ทำให้เกมลูกหนังพลิกโฉมไปอีกหน้าหนึ่ง

เกิดขึ้นอะไรในตอนนั้น ติดตามไปพร้อมกันได้กับคอลัมน์ Chronicles  

ฟุตบอลแบบแมวไล่จับหนู 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในเสน่ห์ของเกมลูกหนัง คือการที่มันมีการพัฒนาทางด้านแทคติกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น “คาเตนัคโช” สู่ “โททัล ฟุตบอล” หรือ “ติกิ-ตากา” สู่ “เกเกนเพรสซิ่ง” จนทำให้กีฬาชนิดนี้ ได้รับความนิยมไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย 

อย่างไรก็ดีในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980s ต่อเนื่องมาถึงต้นทศวรรษที่ 1990s การดูบอลค่อนข้างที่จะอึดอัด เนื่องจากหลายทีมพากันใช้แท็คติกแบบเพลย์เซฟ นั่นคือการส่งบอลคืนกลับไปให้ผู้รักษาประตู

เนื่องจากในยุคนั้น หากส่งบอลคืนหลัง ผู้รักษาประตูสามารถใช้มือรับได้โดยไม่ผิดกติกา ทำให้การส่งบอลคืนโกลกลายเป็นเรื่องปกติหากทีมนำอยู่และต้องการถ่วงเวลา ซึ่งสามารถเห็นได้ ตั้งแต่เกมลีก สโมสรยุโรปไปจนถึงรายการระดับนานาชาติ 

ตัวอย่างเช่นในเกม ยูโรเปียนคัพ ปี 1987 ที่ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส เปิดบ้านพบกับ ดินาโม เคียฟ ในเกมนัดที่ 2 ของรอบแรก ผ่าน 50 นาที เรนเจอร์ มีสกอร์รวมนำอยู่ 2-1 พวกเขารู้ดีถ้าโดนยิง แค่ประตูเดียว ก็อาจทำให้ตกรอบได้  

ทำให้ในช่วง 5 นาทีสุดท้าย ทั้งสนามได้เห็นสิ่งที่ไม่คาดคิด เมื่อขณะที่ แกรม ซูเนสส์ แข้งเรนเจอร์ส ได้บอลใกล้เขตโทษของ เคียฟ เขาอยู่ในตำแหน่งที่ดีมาก ไม่ว่าจะเลี้ยงไปยิงหรือจ่าย แต่เขากลับหันหลัง แล้วหวดบอลไกลกว่า 70 หลาไปหา คริส วู้ด ผู้รักษาประตูของตัวเอง แน่นอนว่าสุดท้าย เรนเจอร์ส เอาชนะไปได้ในเกมนั้น

แต่นั่นไม่ใช่จุดต่ำสุดของการใช้ช่องโหว่ของกฎนี้ ทำลายความสนุกของฟุตบอล 

แม้ว่าฟุตบอลโลก 1990 ที่อิตาลี จะได้รับการยกย่องว่ามีสีสันที่สุด ทั้งการทำให้โลกรู้จักฟุตบอลแอฟริกาของ โรเจอร์ มิลลา ผลงานของ พอล แกสคอยน์ กับฟอร์มที่ดีที่สุดของอังกฤษในเวิลด์คัพ นับตั้งแต่คว้าแชมป์โลก หรือการคว้าแชมป์โลกของเยอรมันตะวันตก ก่อนจะรวมกับตะวันออก แต่มันก็มีจุดด่างพร้อยจากทีมชาติไอร์แลนด์ 

ภายใต้การนำทีมของ แจ็คกี้ ชาร์ลตัน ไอร์แลนด์ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จในฐานะรองแชมป์กลุ่ม ซึ่งมันคงจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร หากพวกเขาไม่ได้เข้ารอบ ด้วยการเสนอกับคู่แข่งทั้ง 3 เกม   

โดยหนึ่งในนั้นคือเกมพบอียิปต์ ซึ่งเป็นเกมที่มีเสียงครหามากที่สุด เมื่อตลอดทั้งเกม ไอร์แลนด์ ใช้แทคติกถ่วงเวลาด้วยการส่งบอลคืนหลังให้ผู้รักษาประตู จนมีสถิติออกมาว่า แพคกี้ โบนเนอร์ ผู้รักษาประตูของพวกเขา ถือบอลตลอดทั้งเกมเป็นเวลาถึง 6 นาทีเลยทีเดียว 

แถมสุดท้ายทีมที่เล่นได้อย่างน่าเบื่ออย่างไอร์แลนด์ ยังไปไกลถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ทั้งที่ไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งในเวลาปกติได้แม้แต่เกมเดียว (รอบ 16 ทีมเอาชนะโรมาเนียด้วยการยิงจุดโทษ)  


Photo : thesefootballtimes

 

ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ ฟีฟ่า อดรนทนไม่ได้ ต้องมาจัดการในเรื่องนี้ และมันก็นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการแก้กฎส่งคืนหลังโกล ที่ปฏิวัติรูปแบบการเล่นของฟุตบอลไปตลอดกาล  
 

ทัวร์นาเมนต์ทิ้งทวน 

“ความรู้สึกแง่ลบในฟุตบอลโลก 1990 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกมระหว่างไอร์แลนด์ และอียิปต์ ที่ผู้รักษาประตูไอริช แพคกี โบนเนอร์ ถือบอลเกือบ 6 นาทีในเกมนั้น ทำให้มีความคิดที่จะทบทวนเกี่ยวกับกฎการแข่งขัน” โจนาธาน วิลสัน คอลัมนิสต์ของ The Guardian กล่าวในบทความ In memory of backpasses (1863-1993)

ฟุตบอลโลก 1990 ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ ฟีฟ่า จัดการกับกฎส่งคืนหลังอย่างจริงจัง เพราะนอกจากเคสของทีมชาติไอร์แลนด์แล้ว เวิลด์ คัพ ในครั้งนั้น มันยังเป็นฟุตบอลโลกที่มีการทำประตูเฉลี่ยน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ (2.2 ประตูต่อเกม) 


Photo : thesefootballtimes

ทำให้หลังทัวร์นาเมนต์ที่อิตาลี ฟีฟ่าประกาศว่ากฎนี้จะต้องถูกแก้ไข และหลังจากหารือพวกเขาก็ได้ข้อสรุปว่าต่อจากนี้ ผู้รักษาประตูจะไม่สามารถใช้มือรับบอลได้ หากผู้เล่นฝ่ายเดียวกันส่งบอลคืนหลังด้วยเท้า

แต่ผู้รักษาประตูยังสามารถใช้มือรับบอลได้ หากเป็นการส่งคืนด้วยอวัยวะอื่น ไม่ว่าจะเป็นเข่า หน้าอก หรือหัว และที่สำคัญ หากแม้บอลจะออกมาจากเท้า แต่ไม่ได้มีเจตนาส่งคืน หรือเป็นการสกัด โกลก็ยังสามารถใช้มือรับได้เหมือนเดิม  

ฟีฟ่ายืนยันว่า ว่ากฎใหม่จะถูกนำมาใช้หลัง ยูโร 1992 ทำให้ศึกชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปที่สวีเดน กลายเป็นรายการระดับนานาชาติ รายการสุดท้าย ที่ผู้รักษาประตูยังคงใช้มือรับบอลจากการส่งคืนของเพื่อนร่วมทีมได้ 

และมันก็ยิ่งตอกย้ำ ว่าการแก้กฎเป็นเรื่องที่ถูกแล้ว 

เพราะแม้ว่าเดนมาร์ก จะสร้างเทพนิยายเดนส์ ด้วยการก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ ทั้งที่เข้ารอบมา ในฐานะมวยแทนของ ยูโกสลาเวีย ที่มีปัญหาทางการเมือง แต่รูปแบบการเล่นของพวกเขากลับไม่ได้ถูกชื่นชมนัก 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนัดชิงชนะเลิศกับเยอรมัน หลังจากออกนำตั้งแต่ต้นเกม แทคติกที่ ริชาร์ด โมเลอร์ นีลเซน กุนซือของเดนมาร์กนำมาใช้ก็คือ เคาะบอลไปมา ก่อนจะส่งคืนหลังให้ ปีเตอร์ ชไมเคิล ใช้มือรับ จากนั้นค่อยส่งบอลให้กองหลัง แล้วส่งคืนกลับมายังโกลอีกครั้ง ทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆจนหมดเวลา

แน่นอนว่าแทคติกดังกล่าว ทำให้เดนมาร์ก ถูกวิจารณ์พอสมควร แต่หลายคนก็ยังมองในแง่ดี เพราะคิดว่าต่อจากนี้เรื่องแบบนี้คงจะไม่มีให้เห็นอีกแล้วในเกมการแข่งขัน และน่าจะเห็นเกมที่สนุกขึ้นมากกว่านี้จากกฎใหม่

แต่แฟนบอลอาจจะทั้งคิดถูกและคิดผิด 
 

ฝันร้ายผู้รักษาประตู 

คล้อยหลังจากยูโร 1992 เพียงแค่เดือนเดียว กฎส่งคืนหลังแบบใหม่ ได้ถูกนำมาใช้ในเกมการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ซึ่งโอลิมปิก 1992 ที่สเปน ก็เป็นเวทีแรก ๆ ที่ทดลองใช้กฎนี้ 

อย่างไรก็ดี แค่เพียงนัดแรกของการแข่งขัน ก็ทำให้รู้ว่ากฎใหม่สร้างความลำบากให้กับกองหลังและผู้รักษาประตูขนาดไหน เมื่อในเกมระหว่าง อิตาลี และสหรัฐอเมริกา แนวรับและโกลของทั้งสองฝ่ายดูเก้ ๆ กัง ๆ ยามต้องส่งบอลคืนหลังทุกครั้ง

 

และหลังเกมผ่านไปหนึ่งชั่วโมง ฟรานเชสโก อันโตนิโอลี ผู้รักษาประตูของอิตาลี ก็กลายเป็นเหยื่อรายแรก ที่ถูกลงโทษจากกฎใหม่นี้ หลังใช้มือรับบอลจากการส่งคืนหลังของเพื่อนร่วมทีม จนเสียลูกโทษสองจังหวะ และเสียประตูจากจังหวะดังกล่าว 

พรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ก็เป็นอีกการแข่งขันที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากกฎใหม่นี้ ในปี 1992 พวกเขาเพิ่งจะเปลี่ยนชื่อจากดิวิชั่น 1 และได้รับการคาดหวังว่าจะมีเกมการแข่งขันที่สนุกกว่าเดิม แต่กฎคืนหลังทำให้ทุกอย่างตึงเครียดไปหมด 

อันที่จริง สัญญาณมันเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่เกมแชริตี้ ชิลด์ ก่อนเปิดฤดูกาล ระหว่างลีดส์ ยูไนเต็ด กับ ลิเวอร์พูล เมื่อผู้คนต่างเฝ้ารอว่า บรูซ กรอบเบลลา และ จอห์น ลูคิช ผู้รักษาประตูของทั้งสองทีมจะทำอย่างไรเมื่อบอลส่งมาถึงตัว 


Photo : thesefootballtimes

ซึ่ง ลูคิช คือคนแรกที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้ ทันทีที่บอลมาถึงตัว เขาจัดการหวดตูมเดียวไปจนถึงอัฒจันทร์ของสนามเวมบลีย์ และทำให้ แอนดี เกรย์ ผู้บรรยายชื่อดังถึงกับตั้งคำถามกฎใหม่จากจังหวะนี้ 

“ผมคิดว่านี่คือตัวอย่างที่เหมาะสมที่สุดเกี่ยวกับกฎนี้ มันทำให้เกมดีขึ้นจริงหรือ เมื่อคุณเห็นผู้รักษาประตูอยู่ภายใต้ความกดดันแบบนี้ แค่หวดบอลออกไปอย่างนั้นหรือ? ผมคิดว่ามันไม่ใช่” เกรย์กล่าว 

และมันก็กลายเป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นกันเป็นประจำในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลแรก กฎใหม่ได้สร้างความกดดันให้กับเหล่าผู้รักษาประตู ที่หลายครั้งยังทำให้ทีมเสียประตูหรืออยู่ในสถานการณ์เสียเปรียบ และทำให้ฤดูกาลนั้น กลายเป็นซีซั่นที่นายทวารก่อความผิดพลาดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 

ไซมอน เทรซี ผู้รักษาประตูของ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด คือหนึ่งในนักเตะที่ถูกกฎใหม่เล่นงาน ในเกมพบกับ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ในวันที่ 2 กันยายน 1992 เขาได้รับบอลส่งคืนหลัง และพยายามเลี้ยงหนีกองหน้าคู่แข่งที่วิ่งมากดดัน ก่อนจะเตะอัดคู่แข่งออกข้างไป


Photo : SkySport 

อย่างไรก็ดี ในจังหวะที่เขาพยายามจะทุ่มเอง ผู้ตัดสินให้ สเปอร์ส เป็นฝ่ายได้ทุ่ม และในจังหวะที่คู่แข่งพยายามเล่นเร็ว เทรซี ได้เอาตัวเข้าขวางจนนักเตะสเปอร์สล้มลง ผู้ตัดสินมองว่าเป็นเจตนาฟาวล์จึงให้ใบแดงไล่ เทรซี ออกจากสนามทันที 

สิ่งเหล่านี้คือภาพสะท้อนชั้นดีว่ากฎส่งคืนหลังแบบใหม่ ไม่เป็นมิตรต่อผู้รักษาประตู เนื่องจากพวกเขาเป็นตำแหน่งที่ถูกฝึกมาให้ใช้มือเล่นเป็นหลักมาเกือบทั้งชีวิต การใช้เท้าเล่น จึงกลายเป็นความเสี่ยง

“กฎใหม่กำลังล้อเลียนอาชีพของผม” อลัน ฮอดจ์กินสัน อดีตผู้รักษาประตู เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และทีมชาติอังกฤษกล่าว 

อย่างไรก็ดี มันแย่ไปหมดจริงหรือ 
 

การแก้กฎดีที่สุดของฟีฟ่า 

แม้จะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ากฎคืนหลังแบบใหม่สร้างความลำบากให้กับผู้รักษาประตูมากแค่ไหน แต่ในความเป็นจริง มันค่อนข้างทำได้ตามวัตถุประสงค์ที่วางเอาไว้ นั่นก็คือมีการทำประตูเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  

อย่างในโอลิมปิก 1992 ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์แรกที่มีการใช้กฎนี้พบว่ามีการยิงประตูรวมทั้งสิ้น 87 ลูก หรือเฉลี่ย 2.72 ประตูต่อเกม มากกว่า ฟุตบอลโลก 1990 ที่มีอัตราการทำประตูเพียงแค่ 2.2 ประตูต่อเกม หรือมากกว่าเดิมถึง ถึง 0.5 ประตูต่อเกม 

เช่นกัน สำหรับพรีเมียร์ลีกฤดูกาลแรกในซีซั่น 1992-1993 พวกเขามีจำนวนประตูเกิดขึ้นทั้งสิ้น 1,222 ประตู หรือ 2.65 ประตูต่อนัด ซึ่งเมื่อเทียบกับดิวิชั่น 1 เดิม ฤดูกาลที่แล้ว ที่มีประตูเกิดขึ้น 1,166 ประตู หรือเฉลี่ย 2.52 ประตูต่อนัด นั้นมีตัวเลขในเชิงบวกเช่นกัน 


Photo : Olympic.org 

นอกจากนี้ กฎส่งคืนหลังแบบใหม่ ยังทำให้ฟุตบอลมีรูปแบบการเล่นที่เปลี่ยนไป เมื่อแทคติกส่งบอลให้โกลเพื่อถ่วงเวลามันใช้ไม่ได้อีกแล้ว แถมบางครั้งจากความได้เปรียบอาจจะแปรเปลี่ยนเป็นความเสียเปรียบจนถึงขั้นเสียประตู ทำให้โค้ช ต้องคิดค้นหาวิธีใหม่ๆมาใช้ 

ในขณะเดียวกัน กฎใหม่ได้ก่อให้เกิดการวิวัฒนาการของผู้เล่นในตำแหน่งเกมรับ ไม่ว่าจะเป็นกองหลัง ที่ไม่สามารถทำได้แค่เล่นเกมรับเท่านั้น แต่ต้องจ่ายบอลหรือเลี้ยงหลบคู่แข่งได้ ทั้งในแง่การขึ้นเกม หรือเอาตัวจากสถานการณ์ที่กดดัน 

เช่นกันกับตำแหน่งผู้รักษาประตู กฎคืนหลังแบบใหม่ ได้บีบให้พวกเขา ต้องใช้เท้าเล่นบอลได้ ทั้งการจับบอล และการจ่ายบอล เพราะการยืนปักหลักเฝ้าเสาอยู่หน้าปากประตูตัวเอง มันไม่เพียงพออีกแล้ว 

และมันคือจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ ตำแหน่งผู้รักษาประตูมีบทบาทกับเกมมากขึ้น เพราะนอกจากการเซฟประตูแล้ว พวกเขายังสามารถรับบอลเพื่อเชื่อมเกม หรือช่วยจ่ายบอลยาวไปข้างหน้าไม่ต่างจากผู้เล่นคนหนึ่ง 

ทำให้ในยุคนั้น ผู้รักษาประตูที่ใช้เท้าได้ดี กลายเป็นอีกคุณสมบัติที่หลายทีมตามหา และทำให้มีนายทวารจอมเทคนิคสร้างชื่อขึ้นมามากมาย และ โฆเซ หลุยส์ ชิลาเวิร์ต, ฟาเบียน บาร์กเตซ หรือ จิอันลุยจิ บุฟฟอน คือหนึ่งในตัวอย่างเหล่านี้ 


Photo : Scorum 

แต่สิ่งสำคัญที่สุด กฎส่งคืนหลังแบบใหม่ มีส่วนอย่างมากต่อพัฒนาการของผู้รักษาประตูสไตล์ “สวีปเปอร์ คีปเปอร์” ซึ่งถือเป็นตำแหน่งยอดนิยม ที่เป็นเหมือนหนึ่งในเพลย์เมกเกอร์ของฟุตบอลยุคปัจจุบัน

“ไม่มีใครคาดคิดว่าผู้รักษาประตูจะเป็นตัววางแผน และจุดเริ่มต้นของการบุก” บทความของฟีฟ่าระบุ 

การปรับเปลี่ยนของมัน ได้ทำให้ฟุตบอลมีรูปเกมที่ไวขึ้น และลื่นไหลมากขึ้น ก่อนจะต่อยอดจนกลายมาเป็นเกมที่เต็มไปด้วยความฟิต และวิ่งแบบลืมตายอย่างในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนมันทำให้เกมการแข่งขันมีความตื่นตามากขึ้น ซึ่งไม่ผิดไปจากวัตถุประสงค์แรกที่ฟีฟ่าวางไว้ 

ทำให้แม้ว่าในตอนแรก การแก้กฎจะเต็มไปด้วยเสียงก่นด่า แต่ในระยะยาวต้องยอมรับว่า มันได้สร้างคุณูปการให้แก่วงการฟุตบอลอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในแง่ของความสวยงามของเกมการแข่งขัน 

การเปลี่ยนแปลงของมัน ไม่เพียงแค่กล้าคิดกล้าทำ แต่ยังเกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม ที่ทำให้ฟุตบอลยังคงความสนุก จนกลายเป็นกีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งของโลกอย่างในทุกวันนี้

ฟีฟ่า อาจจะทำอะไรผิดพลาดนับครั้งไม่ถ้วนในอดีต แต่ต้องยอมรับว่าการแก้กฎส่งคืนหลังของพวกเขา ได้ทำให้เกมลูกหนังเดินไปข้างหน้าอย่างแท้จริง 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook