เชราร์ อุลลิเยร์ : ตำนานผู้ทำให้ ลิเวอร์พูล เลิกกลัว "การเปลี่ยนแปลง"

เชราร์ อุลลิเยร์ : ตำนานผู้ทำให้ ลิเวอร์พูล เลิกกลัว "การเปลี่ยนแปลง"

เชราร์ อุลลิเยร์ : ตำนานผู้ทำให้ ลิเวอร์พูล เลิกกลัว "การเปลี่ยนแปลง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สตีเว่น เจอร์ราร์ด คือตำนานอันดับ 1 ของสโมสร ลิเวอร์พูล ยุคใหม่อย่างไม่ต้องสงสัย เขาก้าวขึ้นมาและกลายเป็นนักเตะคนสำคัญพร้อม ๆ กับบทบาทกัปตันทีมตั้งแต่ยังหนุ่ม และในวันที่เขาได้รับปลอกแขนอันทรงเกียรตินั้น ผู้ที่มอบมันให้กับเขาคือ เชราร์ อุลลิเยร์ ... กุนซือต่างชาติคนแรกในประวัติศาสตร์สโมสร ที่ตอนนี้ได้จากไปตลอดกาล

"ผมจะไม่มีวันลืมสิ่งที่ผู้ชายคนนี้ทำให้กับผม รวมถึงกับอาชีพการเล่นฟุตบอลของผม หลับให้สบายครับ บอส" เจอร์ราร์ด กล่าวถึงอดีตเจ้านายที่เขาเคารพรัก ซึ่งบ่งบอกถึงอิทธิพลของกุนซือชาวฝรั่งเศสรายนี้ได้เป็นอย่างได้ 

อุลลิเยร์ เข้ามาและเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง สิ่งใดที่เขาสร้างไว้และส่งผลมายัง ลิเวอร์พูล ในวันนี้ ติดตามความยิ่งใหญ่ของเขาได้ที่นี่

ผู้เปลี่ยนแนวคิดของ ลิเวอร์พูล 

นานเป็น 100 ปีที่ สโมสร ลิเวอร์พูล เชื่อใจคนท้องถิ่นและคนบ้านเดียวกัน พวกเขาให้โอกาส เชื่อมั่น และมอบงานสำคัญให้กับชาวสเกาเซอร์ รวมถึงคนในสโมสรภายใต้นิยามว่า "บูทรูม" เสมอ เพราะนี่คือขนบที่เป็นดั่งรากเหง้าของสโมสรมาช้านาน และพวกเขาก็ประสบความสำเร็จในฐานะทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอังกฤษมาโดยตลอดด้วยวิถีนั้น

อย่างไรก็ตามเมื่อโลกฟุตบอลเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุด เกมลูกหนังถูกยกไปอีกระดับในยุค 90s ช่วงที่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเลือกให้โอกาสเหล่านักเตะและโค้ชต่างชาติเข้ามาสร้างอิทธิพลให้กับแต่ละทีม ลิเวอร์พูล ก็ต้องยอมรับในการหมุนของโลกที่พวกเขาต้องปรับตัวตาม

ความเปลี่ยนแปลงในช่วงปลายยุค 90s นั้นชัดเจนที่สุดแล้ว นักเตะต่างชาติกลายเป็นผู้สร้างความแตกต่าง เช่นเดียวกันกับตำแหน่งผู้จัดการทีมที่มีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดนั่นคือ อาร์แซน เวนเกอร์ กุนซือชาวฝรั่งเศส ที่ก้าวเข้ามาและสามารถสร้าง อาร์เซนอล ให้ก้าวมาเป็น 1 ในทีมที่ต่อกรกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้อย่างดุเดือดเร้าใจ ก่อนจะไปถึงการคว้าตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีกมาครอง ซึ่ง ลิเวอร์พูล ต้องการสิ่งนี้เป็นอย่างมาก จนพวกเขาอยากจะเริ่มเปิดใจให้กับชาวต่างชาติขึ้นมาบ้าง

 

ย้อนกันไปให้เห็นภาพชัดคือ ๆ ยุค 90s ถือเป็นช่วงเวลาที่ ลิเวอร์พูล ตกต่ำและรอคอยความยิ่งใหญ่ให้กลับมา นักเตะอย่างอย่าง จอห์น บาร์นส์ และ เอียน รัช แก่ตัวลงไป ก่อนที่พวกเขาจะถูกทดแทนด้วยกลุ่มนักเตะรุ่น "สไปซ์ บอยส์" นำโดย สตีฟ แม็คมานามาน, ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ และ เจมี่ เร้ดแน็ปป์ เป็นต้น ทว่าภายใต้การทำทีมของ รอย อีแวนส์ สิ่งที่แฟนบอลอยากจะเห็นกลับไม่เกิดขึ้น ลิเวอร์พูล ถูกเรียกว่า "โรลเลอร์ โคลสเตอร์ ทีม" นั่นคือทีมที่บทจะขึ้นสุดก็เล่นดีแบบไม่มีใครหยุดได้ และบทจะลงสุด ๆ ก็พร้อมจะแพ้ได้แม้กระทั่งทีมท้ายตาราง ยากที่จะได้แชมป์อะไรสักอย่าง

ปี 1998 สโมสรเชื่อว่าถึงเวลาอันสมควร พวกเขาตัดสินใจใช้งานโค้ชคนคู่ โดยการเอา เชราร์ อุลลิเยร์ มาทำงานร่วมกับ รอย อีแวนส์ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อออกหน้านี้ ทุกคนรู้ดีว่า อีแวนส์ กำลังจะหมดหน้าที่นายใหญ่ในเวลาอันใกล้ ซึ่งที่สุดแล้วทั้ง 2 คนก็ได้ทำงานร่วมกันราว 4-5 เดือนเท่านั้น สุดท้าย อีแวนส์ ก็ยอมแพ้ให้กับความอึดอัดและลาออกไปในท้ายที่สุด 


Photo : www.planetfootball.com

อุลลิเยร์ ขึ้นเป็นนายใหญ่แต่เพียงผู้เดียว และจากนี้คือช่วงเวลาที่เขาจะได้แสดงศักยภาพในตัวเองออกมา กุนซือชาวฝรั่งเศสผู้นี้ เคยมีประสบการณ์ทำงานกับ ปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง ในยุค 80s รวมถึงการคุมทีมชาติฝรั่งเศสชุดใหญ่ในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกปี 1994 ก่อนจะขยับมาทำหน้าที่ประธานฝ่ายเทคนิคของสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส เขาใช้เวลากับทีมชาติฝรั่งเศสทั้งชุดเล็กและชุดใหญ่ถึง 10 ปี หน้าที่หลัก ๆ ของเขาเหมือนเป็นทั้งกุนซือและประธานเทคนิคในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ อุลลิเยร์ มีวิธีการทำงานแบบมองภาพกว้าง ๆ และมีแนวคิดฟุตบอลแนวคิดในการทำทีมที่ชัดเจน   

เขาจะเข้ามาทำให้นักเตะ ลิเวอร์พูล ก้าวเข้าสู่การเล่นแบบสากล ไม่ติดกับดักกับคำว่า "เครื่องจักรสีแดง" วิ่งบู๊สู้ไม่ถอยเหมือนกับที่กุนซือคนเก่า ๆ อย่าง แกรม ซูเนสส์ และ รอย อีแวนส์ พยายามจะประยุกต์ตัวตนของแต่ละคนลงในปรัชญานี้ เพื่อทำตามรอยความยิ่งใหญ่เมื่อครั้งอดีตแต่ไม่สำเร็จ

 

"เมื่อผมมาคุมทีม ลิเวอร์พูล สิ่งที่ผมต้องทำคือการสร้างอิทธิพลผ่านการบริหารและปรับปรุงบุคลิกของนักเตะของเรา ผมพยายามจะเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งเรื่องวินัยในทีม การฝึกซ้อม แผนเรื่องโภชนาการ ทั้งเรื่องอาหารและการดูแลร่างกาย ผมอยากทำให้นักเตะปฏิบัติตัวในแบบที่จะทำให้พวกเขาไปเล่นที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้" อุลลิเยร์ พูดถึงวันที่เขามารับตำแหน่งทีม

สิ่งที่ อุลลิเยร์ กล่าวนั้นคือเรื่องจริง นักเตะลิเวอร์พูลชุดนั้นหลายคนเป็นพวกควบคุมยาก อาทิ สไปซ์ บอยส์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักเตะหนุ่มที่มีเอี่ยวบนเส้นทางบันเทิงเยอะ และมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมหลายเรื่อง ณ เวลานั้น อาทิ เดวิด เจมส์ โดดซ้อม, ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ ต่อยกับรุ่นพี่ในทีม, เจสัน แม็คเอเทียร์ พยายามทำทรงผมให้เท่เพื่อได้เป็นพรีเซนเตอร์เจลแต่งผม เป็นต้น 

อุลลิเยร์ เข้ามาและเริ่มล้างภาพลักษณ์ความเป็น สไปซ์ บอยส์ ซึ่งรวมถึงนักเตะที่เขาไม่สามารถใช้งานได้ออกไปทีละนิด ๆ เพื่อให้ทีมมีปรัชญาฟุตบอลตรงกันกับเขา ... ย้ำอีกครั้งว่าเขาเป็นคนที่เห็นภาพกว้าง และเขาพร้อมจะสร้างอนาคตให้กับทีม เกินกว่าจะย่ำอยู่กับทีมเหมือนที่ทีมเคยเป็นมา 


Photo : www.liverpoolecho.co.uk

"แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ให้เวลา อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ถึง 4 ปี เพื่อรอวันคว้าแชมป์ ในขณะที่ อุลลิเยร์ เองก็ต้องการสิ่งเดียวกัน (เวลาและอิสระในการตัดสินใจ) เขาพยายามจะเปลี่ยนวัฒนธรรมฟุตบอลของสโมสรทันทีที่เข้ามา เขาขจัดเหล่านักเตะที่เป็นพวกขี้เมา และนักเตะที่รักสบายไร้แรงขับความทะเยอทะยานออกไปจากทีม เพื่อต้องการพาทีมไปยังจุดที่ดีที่สุด" เอียน วิธเทล นักข่าวจาก The Guardian เขียนบทความเกี่ยวกับ อุลลิเยร์ เอาไว้เมื่อ 19 ปีก่อน

 

ขณะที่ อุลลิเยร์ ยืนยันกับสื่ออังกฤษที่ตกใจกับการทำงานของเขาในเวลานั้นว่า "นักเตะที่ชอบดื่มเหล้าและปาร์ตี้จะต้องถูกกำจัดออกจากทีม ในช่วงเวลาของผมที่นี่ ผมคิดว่าผมอยากจะสร้างทัศนคติที่ดีให้กับผู้เล่นโดยตรง ผมจะพาทีมไปยังอีกก้าวหนึ่งของสิ่งที่เราอยากจะเป็น" และจากนั้นการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สร้างคน สร้างตำนาน 

อุลลิเยร์ ตัดสินใจทิ้งสไตล์การเล่นเก่า ๆ ไปหมดอย่างที่เขาว่า เขาเคยเล่าปรัชญาการทำทีมของเขาว่า ทีม ๆ นี้จะต้องมีแรงขับเคลื่อนสูง บดบี้กัน และเป็นผู้ชนะในแดนบนของสนาม นักเตะในทีมต้องเล่นเกมสวนกลับที่รวดเร็วให้ได้ ด้วยการใช้บอลแค่ 2 หรือ 3 จังหวะก่อนไปจบสกอร์, สร้างโอกาสให้กองหน้าเยอะ ๆ ลดวิธีการเล่นแบบโยนบอมบ์ตามสไตล์อังกฤษโบราณทิ้งไป บอลของเขาจะเปลี่ยนจากซ้ายไปขวา เพื่อหาที่ว่างเจาะเข้าไปโดยเน้นที่ปีกสองข้าง อุลลิเยร์ เรียกมันว่า "Snake Strategy" หรือ กลยุทธ์งู 

โมเดลฟุตบอลของเขาวางไว้แบบนี้ และเขาก็เปลี่ยนแปลงมันอย่างกล้าหาญ เขาไม่เคยกลัวการใช้เงินเพื่อหานักเตะเข้ามาใส่ตามแท็คติกที่เขาต้องการ แม้จะโดนวิจารณ์แค่ไหนก็ตาม เช่นเดียวกันกับนักเตะที่เล่นไม่ได้ เล่นไม่ไหว เขาก็พร้อมจะขายออกจากทีมทันที 

 

อุลลิเยร์ เรียกทีมในปี 1999 หรือปีแรกที่เขาคุมทีมเต็มตัวว่าเป็น "ตัวอ่อน" ที่ต้องรอการบ่มเพาะอะไรต่าง ๆ มากมาย หลังจากนั้นเขาเริ่มเสริมตัวผู้เล่นที่ใครหลายคนไม่รู้จัก แต่กลับเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทีมได้มากมาย เช่น ซามี่ ฮูเปีย กับ สเตฟาน อองโชซ์ 2 กองหลังโนเนมที่ใครได้ยินชื่อก็ต้องเลิกคิ้วใส่ นอกจากนี้ยังมี ซานเดอร์ เวสเตอร์เฟลด์, วลาดิเมียร์ ซมิเซอร์, ดีทมาร์ ฮามันน์ และ เอมิล เฮสกี ที่เข้ามาทีมทีม    

ก่อนที่ฤดูกาล 2000-01 จะเสริมด้วย คริสเตียน ซีเก้, มาร์คุส บับเบิล, อิกอร์ บิสคาน, นิค บาร์มบี้, แกรี่ แม็คอัลลิสเตอร์ และ ยารี่ ลิตมาเน่น จะเป็นได้ว่ารายชื่อเหล่านี้มีเพียง บาร์มบี้ และ เฮสกี เท่านั้นที่เป็นนักเตะอังกฤษ (อาจจะนับ แม็คอัลลิสเตอร์ ที่เป็นชาวสก็อตได้อีกคน) ที่เหลือเขาอิมพอร์ทนักเตะต่างชาติเกือบทั้งหมด 

เหนือสิ่งอื่นใดและท้ายที่สุด เขาไม่ลืมขนบบางข้อของสโมสรที่ว่าด้วยการให้โอกาสนักเตะท้องถิ่น เจมี่ คาร์ราเกอร์, แดนนี่ เมอร์ฟี่, สตีเว่น เจอร์ราร์ด และ ไมเคิล โอเว่น เหล่านี้คือแกนหลักในยุคของ อุลลิเยร์ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะในส่วนของ เจอร์ราร์ด นั้น อุลลิเยร์ พาตัวเขามาจากทีมเยาวชน ให้โอกาสอย่างสม่ำเสมอ แม้จะมีข้อผิดพลาดบ่อย ๆ ในตอนแรก ทั้งการโดนใบแดงเป็นประจำ ตลอดจนสไตล์การเล่นที่เหมือนกับเป็นลูกหาบเสียมากกว่า จนกระทั่ง เจอร์ราร์ด กลายเป็นนักเตะที่ดีขึ้น ก้าวสู่การเป็นจอมทัพ และได้รับตำแหน่งกัปตันทีมไปในท้ายที่สุด 

นอกจากนี้ยังมีมือขวาที่เป็นสเกาเซอร์พันธุ์แท้อย่าง ฟิล ธอมป์สัน เรียกได้ว่าแม้ อุลลิเยร์ จะพยายามใส่ของของตัวเองลงไป แต่เขาก็ไม่ลืมรากเหง้าและหยิบมันมาผสมผสาน จนได้ทีมที่ลงตัวในท้ายที่สุด

 

"ทีม ๆ นี้กำลังเติบโต ผมคิดว่า ลิเวอร์พูล จะเป็นผู้ท้าชิงของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อีกครั้ง แม้ อาร์เซนอล จะยังอยู่ แต่ ลิเวอร์พูล ชุดนี้อันตรายมาก พวกเขามีทีมที่แข็งแกร่ง มีกองหน้าที่ดุดันทั้ง 3 คน รวมถึง บาร์มบี้, เจอร์ราร์ด และ คาร์ราเกอร์ นี่คือกลุ่มนักเตะอังกฤษที่ดีที่สุดในลีก ณ เวลานี้" โจ รอยล์ อดีตกุนซือของ เอฟเวอร์ตัน กล่าวถึงทีมเพื่อนบ้านที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

อย่างที่หลายคนรู้กัน ลิเวอร์พูล ชุดนั้นกลับมาประสบความสำเร็จด้วยการคว้าทริปเปิลแชมป์ ทั้ง เอฟเอ คัพ, ลีก คัพ และ ยูฟ่า คัพ ... แม้จะไม่ใช่ถ้วยที่ใหญ่ทั้งหมด แต่สำหรับแฟน ลิเวอร์พูล พวกเขาได้เห็นถึงสัญญาณดีในรอบหลายปี และเชื่อมั่นในแนวทางของ อุลลิเยร์ มากขึ้น 

"ผมเชื่อมั่นเสมอ ผมต้องการทำให้นักเตะในทีมกลายเป็นผู้เล่นที่ดีขึ้นทุก ๆ คน ไมเคิล โอเว่น กลายเป็นคนทีพัฒนาขึ้นมากในเวลาแค่ไม่กี่ปี จนกระทั่งได้รางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมของยุโรป (บัลลงดอร์)"

"สตีเว่น เจอร์ราร์ด ก็เก่งขึ้นเยอะ เขาโตมาเป็นนักเตะที่น่าเคารพ ผมยังจำวันที่เขาอุ้มลูกสาวไปรอบ ๆ สนามเพื่อขอบคุณแฟน ๆ หลังเกมกับ นิวคาสเซิล (เกมสุดท้ายใน แอนฟิลด์ ของฤดูกาล 2003-04) ได้ดี นั่นคือภาพที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับผม"

"ผู้เล่นที่มาจากอคาเดมีเติบโตขึ้น ไม่ใช่แค่เป็นผู้ชาย แต่เป็นสุภาพบุรุษ ผมอาจจะไม่ได้ทำให้พวกเขาเก่งขึ้นในการเล่นฟุตบอล แต่ผมเชื่อว่าอิทธิพลของผมต่อผู้เล่น คือการเปลี่ยนแปลงพวกเขาในด้านความเป็นมนุษย์ ทุกวันนี้พวกเขาหลายคนเป็นซูเปอร์สตาร์ไปแล้ว แต่พวกเขาทุกคนยังสุภาพและถ่อมตัวเสมอ"

แม้จะจากไปแต่สิ่งที่ทำไว้ยังอยู่ 

ทุกอย่างมันควรจะเป็นเรื่องดี สโมสรกำลังเดินหน้าไปยังทิศทางที่ถูกต้อง แต่สำหรับฟุตบอลและชีวิตนั้น สิ่งที่คาดไม่ถึงพร้อมมาเยือนคุณเสมอ ในเดือนตุลาคมปี 2001 อุลลิเยร์ ป่วยเป็นโรคหัวใจกำเริบ ต้องผ่าตัดรักษาอย่างกะทันหัน หลังจากเกิดมีอาการขึ้นมาระหว่างเกมกับ ลีดส์​ ยูไนเต็ด  

เขาต้องให้ ฟิล ธอมป์สัน ทำหน้าที่แทนอยู่หลายเดือน และหลังจากนั้นผลงานของ ลิเวอร์พูล ก็ไม่ดีนักเมื่อเขาออกจากโรงพยาบาลและกลับมาคุมทีมอีกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยเรื่องฟุตบอลหรือเรื่องสุขภาพ ช่วงเวลาหลังการคว้า 5 แชมป์ภายในเวลา 1 ปีของ อุลลิเยร์ กับ ลิเวอร์พูล ไม่สามารถพาทีมไปข้างหน้าได้เหมือนที่ใครหวัง 

หลังจบฤดูกาล 2003-04 เขาออกจากตำแหน่งและถูกแทนที่ด้วย ราฟา เบนิเตซ กุนซือชาวสเปน ณ เวลานั้นแม้ อุลลิเยร์ จะต้องออกจากตำแหน่ง แต่สิ่งที่เขาทิ้งไว้ยังคงเป็นมรดกให้กับ ราฟา ได้เอาไปต่อยอดจนถึงการเป็นแชมป์ยุโรปสมัยที่ 5 ในปี 2005 

เป็นอีกครั้งที่การมองภาพกว้างของ อุลลิเยร์ สามารถนำมาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ นักเตะอย่าง สตีฟ ฟินแน่น, เจอร์ซี่ ดูเด็ก, คริส เคิร์กแลนด์, ยอห์น อาร์เน่ รีเซ่, มิลาน บารอส รวมถึง ซมิเซอร์ คือนักเตะที่ถูก ราฟา ใช้งานต่อและช่วยให้ทีมคว้าแชมป์บิ๊กเอียร์ โดยในทีมนัดชิงกับ เอซี มิลาน ที่ ลิเวอร์พูล ชนะจุดโทษในเกม "ปาฏิหาริย์ที่อิสตันบูล" นั้น มีนักเตะที่ อุลลิเยร์ ซื้อมาร่วมทีมลงสนามถึง 9 คน (ไม่รวม เจอร์ราร์ด และ คาร์ราเกอร์ ที่ขึ้นจากอคาเดมี) เลยทีเดียว

"ผมวางแผนการเพื่ออนาคตเสมอ ผมคิดว่าการเซ็นสัญญานักเตะแต่ละคนของผมล้วนมีความหมายที่แตกต่างกันไป นักเตะบางคนจะสามารถให้สโมสรได้ใช้งานไปอีกหลายปี แม้ผมจะไม่ได้อยู่กับทีมแล้ว ผู้จัดการทีมคนใหม่ที่เข้ามาจะได้รับมรดกจากผมแน่ ผมเลือกจะเซ็น มิลาน บารอส, รีเซ่, เลอ ตัลเล็ค และ ฟลอรองต์ ซินาม่า ปงโกลล์ ตั้งแต่พวกเขายังเด็ก"

"ในยุคของผมนั้น หลายสิ่งหลายอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไขทั้งหมด แต่ผมพยายามมองไปที่อนาคตเสมอในการซื้อตัวแต่ละครั้ง ผมชื่อว่าการพัฒนานักเตะ ลิเวอร์พูล ของผมดีพอให้ใครเข้ามาเก็บเกี่ยวผลในวันที่นักเตะเติบโตขึ้น"

"อย่าเข้าใจผิดล่ะ ผมไม่ได้รู้สึกไม่ดีที่ไม่ได้อยู่ที่นั่น (ในวันที่ทีมประสบความสำเร็จ) ผมอยากให้ลิเวอร์พูลเป็นแชมป์เสมอ ผมอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงทั้งหมด แค่ผมได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จนั่นก็ยอดเยี่ยมแล้ว ... ผมจะดีใจอย่างที่สุดที่ได้เห็นทีมของผมประสบความสำเร็จในวันข้างหน้า" 

6 ปีที่แอนฟิลด์ คือระยะเวลาการทำงานที่ยาวนาน เหนือความสำเร็จและการคว้า 5 แชมป์ใน 1 ปีปฏิทิน คือการเปลี่ยนแปลงสโมสรแห่งนี้ให้เดินไปในแนวทางที่ถูกต้อง การมองภาพกว้าง ๆ กล้านำเสนอสิ่งใหม่ในแบบที่ทีมไม่เคยเจอ ทั้งวิทยาศาสตร์การกีฬา, แนวทางการเล่น, แนวทางการซ้อม, ทัศนคติที่ดี และความเป็นมืออาชีพ เหล่านี้ทั้งหมดทำให้เราไม่สามารถเรียก ลิเวอร์พูล ในยุคของ อุลลิเยร์ ว่าเป็นทีมที่ล้มเหลวได้เลย แม้จะมีช่วงเวลาที่ไม่ดีเกิดขึ้นบ้าง

แต่การมาของ อุลลิเยร์ คือการเปิดประตูให้สโมสรรู้ว่า บางครั้งการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เขาผสมผสานความเป็นอินเตอร์เข้ากับความเป็นสโมสรท้องถิ่นนิยม ซึ่งนั่นเองที่ทำให้ทุกวันนี้ แม้เขาจะจากไปแล้ว แต่แฟน ๆ ของ ลิเวอร์พูล ก็ยังยกย่องเขาเป็นเหมือนตำนาน และเคารพเหมือนกับเป็นญาติผู้ใหญ่ที่เคยสร้างสิ่งดี ๆ ไว้มากมาย 

ยากกว่าการสร้างนักฟุตบอลที่ดี คือการสร้างคนที่ดี ยากกว่าการสร้างทีมที่ประสบความสำเร็จ คือการสร้างรากฐานที่จะทำให้ทีมได้เก็บเกี่ยวความสำเร็จในอนาคต ... นี่คือสิ่งที่ อุลลิเยร์ ทำและไม่มีทางจะถูกลืม 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook