รชานนท์ ศรีนอก : จากตำนานบอลประเพณี สู่นักการเมืองท้องถิ่นที่หวังพัฒนาบ้านเกิด

รชานนท์ ศรีนอก : จากตำนานบอลประเพณี สู่นักการเมืองท้องถิ่นที่หวังพัฒนาบ้านเกิด

รชานนท์ ศรีนอก : จากตำนานบอลประเพณี สู่นักการเมืองท้องถิ่นที่หวังพัฒนาบ้านเกิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บึงกาฬคือจังหวัดที่ 77 ของประเทศไทย แต่เรื่องราวของจังหวัดน้องใหม่ที่อยู่ห่างไกลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลับไม่เป็นที่สนใจของผู้คนมากนัก หากไม่ใช่คนในจังหวัด แต่สำหรับคนบึงกาฬ นี่คือบ้านของพวกเขา ทุกคนล้วนอยากมีบ้านที่น่าอยู่ มีความเจริญ สะดวกสะบาย สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในบ้าน

รชานนท์ ศรีนอก คือ อดีตนักฟุตบอลจากจังหวัดบึงกาฬ เขาจากบ้านเกิดตั้งแต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพื่อมาล่าตามฝันในกรุงเทพมหานคร ชีวิตลูกหนังของเขาผ่านการเล่นให้กับสโมสรมากมายทั้งเล็กและใหญ่ รวมถึงเป็น ตำนานของฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ในฐานะแข้งตัวหลักของทัพลูกแม่โดมตลอดหลายปีที่ผ่านมา

แต่วันนี้เขาตัดสินใจหันหลังให้กับกีฬาที่เขารัก เพื่อกลับสู่บ้านเกิด ผันตัวเองมาเป็นนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดบึงกาฬ พร้อมกับเป้าหมายที่แน่ชัด กับความหวังที่จะพัฒนาบ้านของเขา ให้ได้รับการพัฒนา ไม่แพ้กับบ้านอีก 76 หลังในประเทศไทย

ฟุตบอลคือความฝัน

"ตอนเป็นเด็ก ผมไม่ได้เรียนรู้วิชาฟุตบอลจากใครเลย เพราะไม่มีคนมาสอนให้ มีแค่คุณพ่อมาเตะด้วยเป็นเหมือนโค้ชคนแรก จะบอกว่าตัวเองโชคดีก็ได้ที่คุณพ่อเป็นครู จึงมีลูกฟุตบอล พวกอุปกรณ์ให้ได้เล่น"

"ผมถือว่าตัวเองโชคดีกว่าคนอื่น เพราะละแวกบ้านผมตอนนั้น มันไม่มีอะไรเลย ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีโค้ช ไม่มีการเรียนการสอน และไม่มีใครแถวนั้นอยากให้ลูกเล่นฟุตบอล เพราะมันต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ สภาพสังคมแถวบ้านผมคือจนมาก ๆ มันไม่มีอะไรเลย" รชานนท์ ศรีนอก เริ่มเล่าเรื่องราวของเขา ผ่านสภาพสังคมในวัยเด็ก 

Photo : Rachanon Srinok

มากกว่า 760 กิโลเมตรคือระยะทางความห่างไกล ระหว่างกรุงเทพมหานคร ถึงอำเภอบึงกาฬ ในสมัยที่ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจังหวัดหนองคาย จังหวัดเหนือสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดริมแม่น้ำโขง กับประเทศลาว อันเป็นบ้านเกิดของ รชานนท์ ศรีนอก

ระยะทางความห่างไกล ระหว่างกรุงเทพฯ กับบึงกาฬ คือความแตกต่างระหว่างความเจริญของทั้งสองพื้นที่ ในขณะที่เมืองหลวงของประเทศไทย เต็มไปด้วยความเจริญและการพัฒนาเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทุกปี แต่อำเภอบึงกาฬ หรือพื้นที่อื่นในจังหวัดหนองคาย กลับเป็นสังคมชนบทเต็มรูปแบบ 

วิถีชีวิตผู้คนมีเพียงแค่ตื่นนอนยามตะวันขึ้น เดินทางเข้าสวน หรือท้องนา เพื่อทำเกษตรกรรมอย่างเหน็ดเหนื่อยทั้งวัน และเดินทางกลับบ้านหลังเพราะอาทิตย์ตก วนลูปแบบเดิมไปทุกวัน แทบไม่มีความบันเทิงใด ๆ เข้าสู่ชีวิตผู้คน

เช่นเดียวกับ เด็กชายรชานนท์ ศรีนอก ฟุตบอลเป็นความสนุกไม่กี่อย่างในวัยเยาว์ และได้พัฒนากลายเป็นความฝัน และเป้าหมายที่จะกำหนดเส้นทางของเขา ยามต้องเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ 

Photo : Rachanon Srinok

"ผมดูฟุตบอลเอเชียนเกมส์ ที่ทีมชาติไทยเจอเกาหลีใต้ เห็นพี่วัง (ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล) ยิงฟรีคิกเข้า ก็อยากเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ เป็นความฝัน ซึ่งผมมองเป็นแค่ความฝันจริง ๆ เพราะมันไกลตัวมาก จะเป็นนักบอลอาชีพต้องเข้ากรุงเทพฯ แต่ผมตอนนั้นแค่จะเดินทางเข้ากรุงยังทำไม่เป็นเลย"

"จนตอนผมอยู่ ป.6 มีโรงเรียนชื่อดังในกรุงเทพแห่งหนึ่ง มีเปิดคัดนักฟุตบอล ผมก็เดินทางมาคัด รู้ไหมจากหนองคายมากรุงเทพฯ ผมนั่งรถไฟชั้น 3 แบบเข่าชนเข่ามาตลอดทั้งทาง ทรมานมาก ต้องนั่งอยู่กับที่ตลอดทั้งทางขยับไปไหนไม่ได้"

 

"ผมมาคัดตัวรอบแรกประมาณ 1,000 คนก็ผ่าน พอรอบสองเหลือ 500 คน ปรากฎว่ามีเด็กจากที่ไหนเพิ่มมาก็ไม่รู้ แล้วเด็กเหล่านั้นก็คัดติดไปหมดเลย ส่วนผมไม่ติด นับตั้งแต่วันนั้นผมก็เข้าใจว่า นี่แหละคือสังคมไทย"

Photo : Rachanon Srinok

ความผิดหวังจากการคัดฟุตบอลที่มาจากความไม่โปร่งใสของระบบ ทำให้ รชานนท์ สูญเสียความฝันของตัวเอง เขาละทิ้งกีฬาฟุตบอล แล้วหันไปเอาดีด้านบาสเกตบอล ในช่วงระดับมัธยม โดยไม่มีความคิดที่จะหันกลับมาเล่นฟุตบอลอย่างเอาจริงเอาจังอีกเลย 

"ช่วง ม.1 ถึง ม.4 ผมเล่นบาสไปเป็นทั้งตัวแทนโรงเรียน ตัวแทนเขต ตัวแทนภาค เพราะตอนนั้นเล่นแต่บาส ไม่ได้เล่นบอล จนกระทั่งตอน ม.5 รู้ข่าวว่า โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ มีเปิดคัดนักฟุตบอล ก็มานั่งคิดแล้วตัดสินใจว่า ฟุตบอลยังคงเป็นความฝันของเรา ไปลองอีกสักครั้ง ถ้าไม่ได้ก็ต้องยอมรับ"

ผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย

"ผมไปคัดรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ทางโรงเรียนรับแค่คนเดียวจากพันกว่าคน และผมได้ เหมือนฝันที่เป็นจริง ผมจึงได้ย้ายจากบึงกาฬ เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ" 

"มันต่างกันเยอะมากนะ การใช้ชีวิตในเมือง กับต่างจังหวัด เอาแค่สิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวัน ก็ไม่มีอะไรเหมือนกันแล้ว อย่างเรื่องความพร้อมในการเล่นเล่นฟุตบอล ก็ต่างกันเยอะมาก"


Credit : Dome FC

"ตอนผมอยู่ที่กรุงเทพคริสเตียนฯ ทางโรงเรียนให้ผมทุกอย่าง มีกับข้าวให้พร้อม เสื้อผ้ามีให้ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิตดีมาก มีครบทุกอย่าง แม่บ้านของทางโรงเรียนก็คอยมาดูแล ไม่นับเรื่องอุปกรณ์การเล่น หรือฝึกซ้อมฟุตบอล ที่ช่วยในการพัฒนาฝีเท้าได้เยอะมาก ผมมองว่าตัวเองโชคดีมากที่ได้มาอยู่ที่นี่"

"ซึ่งมันแตกต่างมากกับชีวิตตอนที่ผมอยู่ที่บึงกาฬ เพราะแค่รองเท้าสตั๊ดตอนนั้นผมยังไม่รู้จักเลย ไม่เคยมีใส่ อุปกรณ์การฝึกซ้อมก็ไม่มีสักอย่าง ซึ่งทุกวันนี้เด็กที่บ้านผม เขาก็ยังขาดเรื่องพวกนี้อยู่ดี ถึงแม้ว่ามันจะดีกว่าสมัยที่ผมเป็นเด็กก็ตาม"

 

"ผมคิดว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่เหมือนกับอยู่ในตัวเรา ทำให้ผมอยากกลับมาพัฒนาที่บ้าน"


Credit : CU-TU Traditional Football 

จากนักฟุตบอลของโรงเรียนในเครือจตุรมิตร รชานนท์ ศรีนอก เดินทางต่อในฐานะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ควบคู่ไปพร้อมกับการเป็นนักเตะตัวแทนสถาบัน 

ทำให้ชื่อของรชานนท์ ศรีนอก ถูกจดจำในฐานะตำนานของฟุตบอลประเพณีฝั่งลูกแม่โดม เพราะทุกครั้งที่เขาได้ลงสนามภายใต้สีเสื้อเหลืองแดง เขาเล่นเต็มร้อยใส่เต็มที่เสมอ

"ถามว่าทำไมผมถึงต้องเล่นฟุตบอลเต็มที่ทุกนัด ส่วนหนึ่งคงเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี แต่ผมมองว่าสำหรับผม การเล่นฟุตบอลประเพณี คือโอกาสให้ผมตอบแทนมหาวิทยาลัยมากกว่า"

 

"ธรรมศาสตร์มอบโอกาสให้แก่ผม ให้ความรู้แก่ผม ผมได้เรียนฟรีจากธรรมศาสตร์ ผมได้สังคม รู้จักคนมากมาย ผมไม่รู้ว่าจะตอบแทนสถาบันได้อย่างไรบ้าง และฟุตบอลประเพณีคือทางเดียวที่ผมจะทำได้"


Credit : CU-TU Traditional Football 

ชีวิตนอกรั้วธรรมศาสตร์ รชานนท์ ศรีนอก คือนักฟุตบอลอาชีพที่ต้องเล่นฟุตบอล รับใช้ต้นสังกัดเป็นอาชีพเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง

เส้นทางนักฟุตบอลของรชานนท์ ผ่านการเดินทางมากมาย ทั้งในแง่ของสถานที่ เขาผ่านการลงเล่นในหลายพื้นที่ ตั้งแต่กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, สระบุรี, สุพรรณบุรี, อยุธยา, ชัยนาท, นครปฐม, อุดรธานี รวมถึงประสบการณ์ในการลงสนามให้กับทีมระดับลีกสูงสุด จนถึงลีกภูมิภาค 

ประสบการณ์มากมายที่ผ่านเขามาในชีวิตของเขา หลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้ชายคนนี้ได้เห็นจากการเป็นนักฟุตบอล ได้สร้างความคิดบางอย่างให้แก่เขา ซึ่งนำมาสู่จุดหักเหสำคัญของชีวิตในวัย 31 ปี


Credit : CU-TU Traditional Football 

"ผมไม่เคยคิดจะมาทำงานด้านการเมืองเลยนะ ผมเหมือนนักฟุตบอลทั่วไป ก่อนหน้านี้การเมืองกับนักฟุตบอลมันเหมือนเรื่องที่ไกลตัวมาตลอด"

"จนกระทั่งผมได้กลับบ้านมาที่บึงกาฬอีกครั้ง เพราะการระบาดของ COVID-19 ผมก็ต้องออกกำลังกาย เพื่อรักษาร่างกายในฐานะนักฟุตบอลปกติ ได้ออกไปวิ่งรอบหมู่บ้าน ปั่นจักรยานรอบอำเภอ ได้เจอสภาพแวดล้อมของชุมชน ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน"

"มันเกิดคำถามมากมายในหัวของผม เพราะผมจากบ้านไปเป็นสิบปี แต่มันเหมือนไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีอะไรเปลี่ยน ชาวบ้านที่ทำสวน ทำนาที่นี่ ชีวิตของเขาเมื่อสิบปีก่อนเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ก็เป็นแบบนั้น"

"หรือตอนผมไปซ้อมบอลที่สนาม ผมก็ซื้ออุปกรณ์การฝึกซ้อมต่าง ๆ มาด้วยตัวเอง ก็มีเด็กแถวบ้านมานั่งดู และมาขอซ้อมด้วย เพราะพวกเขาไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ให้ฝึกซ้อมมาก่อน"

กลับคืนสู่บ้านเกิด

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รชานนท์จะกลับบ้านทุกปี เพื่อนำอุปกรณ์กีฬาไปแจกให้กับเด็กในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เพื่อมอบโอกาสในการเข้าถึงฟุตบอลที่มีคุณภาพเหมือนกับที่เขาเคยได้รับ แต่หลังจากที่เขาได้มาใช้ชีวิตคลุกคลีกับท้องถิ่นของตัวเองอีกครั้ง เขาพบว่าแค่การมอบสิ่งของให้กับผู้คนที่อยู่ห่างไกล ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกต่อไป

Photo : หมี รชานนท์ ศรีนอก - ลูกรองธีระพงค์ ศรีนอก

"พอเห็นบ้านเกิดยังไม่เจริญก้าวหน้า ทำให้ผมนั่งคิดว่า เราจะมาทำงานทางการเมืองดีไหม เพราะยกตัวอย่างง่าย ๆ ถนนเส้นหลัก ของอำเภอบุ่งคล้าที่ผมอยู่ ก่อนผมจะไปอยู่กรุงเทพฯ ถนนยังเป็นถนนปูนผสมลาดยาง สิบปีผ่านไปกลับมา ถนนอยู่แบบไหนก็อยู่แบบนั้น" 

"ซึ่งคุณภาพไม่ดีด้วย เป็นหลุมเป็นบ่อ แบบว่าฝนตกแค่ 3 นาทีน้ำท่วมแล้ว และสิบปีก่อนถนนน้ำท่วมตรงงไหน ทุกวันนี้ก็ยังท่วมอยู่จุดนั้น"

"ผมเคยไปเตะฟุตบอลมาหลายจังหวัด เห็นที่อื่นเขาเจริญกว่าบ้านเรา ไม่ต้องไปเทียบกับจังหวัดใหญ่แบบสุพรรณบุรี แค่ชัยนาทซึ่งเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่ตัวเมืองไม่ผ่านถนนเส้นหลัก ยังเจริญกว่าบึงกาฬมาก"

"ผมมานั่งคิดว่า ทำไมไม่อะไรมาช่วยเหลือ มาสร้างความพร้อมให้คนที่นี่ บึงกาฬเองก็เป็นจังหวัดที่ห่างไกล เป็นพื้นที่สีแดงเรื่องของยาเสพติด เด็กหลายคนที่โตมา ก็หันไปทางนั้น เพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่น"

"จะเล่นกีฬาพวกเขาก็ขาดโอกาส ขาดความพร้อม เพราะมีสนามฟุตบอลแต่ไม่มีลูกบอลให้เตะ จะเล่นตะกร้อก็ไม่มีลูกตะกร้อให้เล่น เกิดเป็นความคิดที่ทำให้ผมอยากจะกลับมาทำงานพัฒนาบ้านเกิด"

Photo : หมี รชานนท์ ศรีนอก - ลูกรองธีระพงค์ ศรีนอก

แม้จะมีความคิดที่แน่วแน่ แต่ด้วยวัยเพียง 31 ปี การบอกอำลาอาชีพนักฟุตบอลอาชีพไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยอายุที่สามารถค้าแข้งหาเงินเพื่อเลี้ยงชีพได้แบบสบาย ๆ บวกกับฟุตบอลคือสิ่งที่เป็นชีวิต และความรักของ รชานนท์ ศรีนอก มาตั้งแต่วัยเยาว์ จนเติบใหญ่ถึงทุกวันนี้

"ตัดสินใจยากมากว่าจะเลิกเล่นฟุตบอลดีไหม ฟุตบอลเป็นทั้งความฝัน และความรัก แต่มานั่งคิดว่าชีวิตฟุตบอลของเราถือว่ามาไกลเกินฝันแล้ว แต่ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเลือกที่จะทิ้งความรัก ความฝัน กลับมาพัฒนาบ้านเกิด"

ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รชานนท์ประกาศแขวนสตั๊ด เลิกเล่นฟุตบอลอย่างเป็นทางการ พร้อมกับผันตัวหันมาทำงานทางการเมืองท้องถิ่น กับการลงสมัครเป็นสมาชิก อบจ. อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับคณะก้าวหน้า

Photo : หมี รชานนท์ ศรีนอก - ลูกรองธีระพงค์ ศรีนอก

"ผมอยากเข้ามาสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้กับอำเภอของผม และมาช่วยพัฒนาด้านกีฬาให้จังหวัดบึงกาฬ เพราะเรายังไม่มีโรงเรียนกีฬาที่ได้มาตรฐาน ไม่มีมหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยที่สอนด้านกีฬา แม้กระทั่งสโมสรฟุตบอลอาชีพก็ไม่มี"

"ผมคุยกับทางทีมงาน อยากจะผลักดันด้านกีฬาอย่างจริงจัง สร้างโรงเรียนกีฬา มีวิทยาลัยพละคอยต่อยอดรองรับ ให้เด็กในท้องถิ่นที่อยากเป็นนักกีฬาสามารถได้รับความรู้ ไม่ใช่ต้องเดินทางจากบ้าน ไปเรียนไกลถึงอุดรธานีแบบในปัจจุบัน"

"ผมไม่รู้ว่า ผมจะช่วยได้มากแค่ไหน แต่ผมอยากได้โอกาสลองทำ เพราะผมเชื่อว่านักการเมืองท้องถิ่นจะเข้าใจปัญหาของชาวบ้าน ช่วงหาเสียงเลือกตั้งผมเดินทางไปพบกับชาวบ้านทุกหมู่บ้านด้วยตัวเอง ทุกบ้าน ทุกหลัง บางทีเดินไปหาถึงในสวน ในทุ่งนา เพื่อพูดคุยกับพวกเขา ได้เห็นปัญหาด้วยตัวเราเอง"

"มันเหนื่อยนะ แต่ก็มีความสุข เพราะสุดท้ายเหมือนกับเราได้ไปเจอญาติพี่น้อง ที่เราใช้ชีวิตคุ้นเคยมาตลอด ผมไปเจอพวกเขา ผมสัมผัสได้ว่าเขากำลังรอความหวังจากเรา"

Photo : หมี รชานนท์ ศรีนอก - ลูกรองธีระพงค์ ศรีนอก

หากพูดถึงชื่อของ รชานนท์ ศรีนอก ในฐานะนักฟุตบอลก่อนที่จะแขวนสตั๊ด เขาคือแข้งตัวเก๋าอีกคนของวงการฟุตบอลไทย แต่สำหรับเวทีการเมือง เขาคือมือใหม่ด้วยวัย 31 ปี แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง รชานนท์ ศรีนอก เปรียบเสมือนตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่ขอมีบทบาทในการกำหนดอนาคตของประเทศ ด้วยมือของตัวเอง

"ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ต้องกล้าคิด กล้าแสดงออกทางการเมือง ซึ่งตอนนี้ผมมองว่าการเมืองเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัว และให้ความสนใจ เพราะเด็กทุกวันนี้สามารถเข้าถึงความรู้ ศึกษาสิ่งที่สนใจได้ด้วยตัวเอง ผมมองว่าพวกเขาฉลาดนะ ยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่จะสามารถปลูกฝังข้อมูลผิด ๆ ได้อีกแล้ว"

"ผมอยากให้คนรุ่นเก่าเปิดรับความคิดคนรุ่นใหม่บ้าง ผมไม่ได้บอกว่าคนรุ่นเก่าไม่ดี หรือไม่เก่งนะ เพราะคนรุ่นใหม่เขาก็ได้อิทธิพลมาจากคนรุ่นเก่า แต่ว่าถ้าเราเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่มาช่วยต่อยอด สังคมนี้จะพัฒนาไปได้ดียิ่งกว่าเดิม" รชานนท์กล่าวทิ้งท้าย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook