แลมพาร์ด-สโคลส์-เจอร์ราร์ด : 3 เสือแดนกลางอังกฤษยุค 2000s แต่ทำไมอยู่ด้วยกันไม่ได้ ?
พอล สโคลส์, สตีเว่น เจอร์ราร์ด และ แฟรงค์ แลมพาร์ด ต่างก็เลิกเล่นฟุตบอลมานานหลายปีแล้ว ทว่าปัญหาโลกแตกที่พวกเขาทิ้งไว้ยังไม่เคยมีใครหาคำตอบที่แท้จริงได้สักที ...
คำถามที่ว่าคือ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเก่งเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกในยามที่เล่นให้กับสโมสร แต่เมื่อมาเล่นให้กับทีมชาติ กลับกลายเป็นการไม่สามารถผสมเป็นเนื้อเดียวกันได้
ทางออกคืออะไร ใครควรนั่ง ใครควรลงสนาม ใครควรได้เป็นนัมเบอร์วัน ... นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ความล้มเหลวของทีมชาติอังกฤษในยุค 2000s ติดตามได้ที่นี่
มองอังกฤษย้อนอดีต
หลังจากฟุตบอลโลกปี 1966 ที่ทีมชาติอังกฤษไปถึงตำแหน่งแชมป์ได้ ทีมชาติอังกฤษก็ไม่เคยเข้าใกล้การเดินซ้ำรอยเท้าที่รุ่นพี่ทำไว้ได้อีกเลย ...
Photo : BBC
มีเรื่องแปลกแต่จริงอยู่หนึ่งเรื่อง หากใครที่ติดตามทีมชาติอังกฤษมาพักใหญ่ในระยะหลัง เราจะได้เห็นสื่ออังกฤษมั่นใจว่าทีมชาติของพวกเขาจะได้แชมป์ และมักจะมีบทความหรือคอนเทนท์ที่แสดงถึงความเก่งกาจของนักเตะทัพทรีไลออนส์ ซึ่งที่สุดแล้วทุกคนรู้กันดี อังกฤษ ไปได้ไม่ไกลเสมอ นอกเสียจากทีมของ แกเรธ เซาธ์เกต ในฟุตบอลโลก 2018 เท่านั้นที่หลุดไปถึงรอบ 4 ทีมสุดท้าย ทว่าก็แพ้ให้กับม้ามืดอย่าง โครเอเชีย ต่อด้วย เบลเยียม อยู่ดี
ที่บอกว่าแปลกคือ สื่ออังกฤษไม่ได้ "อวยตัวเอง" ในช่วงปี 1966 ที่พวกเขาเป็นแชมป์ ก่อนฟุตบอลโลกครั้งนั้นจะเริ่มขึ้น สื่ออังกฤษมักจะโจมตีทีมชุดนั้นว่าเป็นทีมที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องการเลือกนักเตะขัดใจ หรือแม้กระทั่งการตีแผ่ปัญหาภายในทีมระหว่าง บ็อบบี้ มัวร์ กองหลังทีมชุดดังกล่าว กับกุนซือ อัลฟ์ แรมซี่ย์ ในเวลานั้น ซึ่งความจริงแล้วทั้งสองคนมีความสัมพันธ์เหมือนกับ พ่อ-ลูก เลยด้วยซ้ำไป
อัลฟ์ แรมซี่ย์ เข้ามาคุมทีมหลังฟุตบอลโลก 1962 ที่อังกฤษแพ้ บราซิล ตกรอบก่อนรองชนะเลิศ เขาเข้ามารับช่วงต่อจาก วอลเตอร์ วินเทอร์บ็อตท่อม กุนซือคนเก่า และ อัลฟ์ ต้องการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง โดยกฎข้อใหญ่คือ เมื่อเขาได้รับตำแหน่งกุนซือ คำสั่งของเขาถือเป็นที่สิ้นสุด ห้ามมีการเถียงหรือคัดค้านใด ๆ จากใครทั้งสิ้น และถ้ามีผลงานไม่ดี เขาจะเป็นคนรับผิดชอบเองทั้งหมด
Photo : Telegraph
สื่อคือกลุ่มที่ อัลฟ์ แรมซี่ย์ งัดข้อด้วยเสมอ เพราะสื่ออังกฤษมักมีชื่อเรื่องการแสดงความคิดเห็นเชิงแทรกแซง ในฟุตบอลโลก 1966 ก็เช่นกัน ก่อนที่จะเริ่มนั้น อัลฟ์ โดนสื่อวิจารณ์ว่ามีดีแต่ลมปาก และบริหารทีมไม่เป็น เนื่องด้วยเขาพยายามเปลี่ยนทีมในแบบที่ตัวเองเชื่อ เขาเลือกเอา บ็อบบี้ มัวร์ กองหลังจาก เวสต์แฮม ที่อายุแค่ 25 ปี เป็นกัปตันทีม ตอนนั้นสื่อทั้งประเทศงงมาก เพราะไม่เคยมีกัปตันทีมอายุน้อยขนาดนี้
แต่ อัลฟ์ อธิบายแนวทางของเขาว่า เขาชอบนักเตะประเภทนักสู้มากกว่าพวกนักเตะดังแต่ควบคุมยาก เขาเลือก มัวร์ เป็นกัปตัน เพราะ มัวร์ มาจากครอบครัวชนชั้นแรงงาน ทำให้เขามีแรงผลักดันมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่แฟนอังกฤษเซ็งโลกสุด ๆ จากการไม่ใช้งาน จิมมี่ กรีฟส์ กองหน้าที่ดีที่สุดในลีกและในประเทศ โดยก่อนหน้าบอลโลกจะเริ่มขึ้น เขายิงให้อังกฤษถึง 21 ประตูจาก 29 เกม
ทว่าหลังจากฟุตบอลโลกเริ่มแข่ง เมื่อ กรีฟส์ เจ็บจากศึกรอบแบ่งกลุ่ม และร่างกายไม่ค่อยดี ยิงประตูก็ไม่ได้ อัลฟ์ แรมซี่ย์ ก็ไม่ใช้งานเขาอีกเลย และเปลี่ยนมาใช้นักเตะกองหน้าจอมขยันอย่าง เจฟฟ์ เฮิร์สท์ แทน ทำเอาสื่อและแฟนบอลหัวร้อน ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่เลือกนักเตะที่ดีที่สุดอย่าง กรีฟส์ เพราะ เฮิร์สท์ นั้นไม่ใช่กองหน้าที่มีชื่อเสียงอะไรเลย เขาติดทีมชาติเพียงแค่ 5 เกมและไม่เคยทำประตูได้แม้แต่ลูกเดียวก่อนที่ทัวร์นาเมนต์จะเริ่มขึ้น แต่เขากลับเป็นที่ยอมรับของกุนซือทีมชาติอังกฤษ
Photo : Westham Utd
ทว่าทุกอย่างตัดสินกันในสนาม และ อัลฟ์ เดิมพันถูกในเกมรอบ 8 ทีมสุดท้ายและรอบ 4 ทีมสุดท้ายที่พบกับ อาร์เจนตินา และ โปรตุเกส ซึ่ง เฮิร์สท์ สามารถทำประตูได้ในรอบก่อนรองชนะเลิศ แถมยังกลายเป็นกุญแจที่นำทัพทรีไลออนส์คว้าแชมป์โลกสมัยแรก ด้วยการยิงแฮตทริกพาทีมชนะ เยอรมันตะวันตก ในรอบชิงชนะเลิศ ขณะที่ กรีฟส์ เองก็ไม่เคยได้รับความนิยมเท่ากับที่เคยเป็นอีกเลย
เช่นเดียวกับกับ อัลฟ์ แรมซี่ย์ จากกุนซือหัวแข็งที่ยึดมั่นในระบบการเล่นของตัวเองมากกว่าผู้เล่นดัง ก่อนหน้านี้เขาเจอความกดดันและคำวิจารณ์มากมาย สุดท้ายเขากลายเป็นฮีโร่ และได้รับการปูนยศจนกลายเป็น เซอร์ อัลฟ์ แรมซี่ย์ เลยทีเดียว
ที่ร่ายมายาวเหยียดนี้เพื่อต้องการให้ทุกคนนึกภาพความแตกต่างระหว่างอังกฤษในยุคแชมป์โลกปี 1966 กับทีมชุดระยะหลัง ๆ โดยเฉพาะหลังยุค 90s ให้ออก ทีมชุดหลังได้รับการผลักดันจากสื่อเสมอในช่วงเวลาก่อนแข่ง พวกเขาอวยสารพัดจนนักเตะรู้สึกกดดันเพราะมันมากเกินไป และเหนือสิ่งอื่นใดคือการเลือกนักเตะของกุนซือยุคหลังๆ ที่เชื่อมั่นในตัวนักเตะระดับสตาร์ มากกว่าจะยึดมั่นในระบบการเล่นแบบแผนของตัวเองที่ เซอร์ อัลฟ์ แรมซี่ย์ ทำ
และหนึ่งในกรณีศึกษาที่ดีที่สุด คือเรื่องที่เกิดขึ้นกับเหล่า 3 เสือในตำแหน่งมิดฟิลด์ของทีมหลังยุค 2000s ที่ประกอบด้วย พอล สโคลส์, สตีเว่น เจอร์ราร์ด และ แฟรงค์ แลมพาร์ด นั่นเอง ... ทีมชุดนั้นประกอบด้วยนักเตะที่สื่ออังกฤษมองว่าดีที่สุดรอบหลายปี พร้อมท้าชนกับตัวแทนทุกชาติ ทว่าปลายทางกลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง อังกฤษ ตายน้ำตื้นมาตลอด
Photo : Quora
และนำมาซึ่งการถกเถียงว่า จะเอาอย่างไรดีกับ สโคลส์, เจอร์ราร์ด และ แลมพาร์ด ?
3 จอมทัพ จาก 3 สโมสร
ในช่วงเข้ากลางยุค 2000s เป็นต้นมา สโมสรในอังกฤษถือว่าเป็นเจ้ายุโรปเลยก็ว่าได้ หลัง ลิเวอร์พูล เปิดยุคด้วยแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกในปี 2005 หลังจากนั้นทีมในอังกฤษอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี และ อาร์เซน่อล หรือที่รู้จักกันในชื่อ "บิ๊กโฟร์" ณ เวลานั้น ก็พาเหรดเข้าถึงรอบลึกเสมอ แถมยังมีการเจอกันเองในรอบรองชนะเลิศและรอบชิงชนะเลิศอีกด้วย
สโคลส์ เป็นกองกลางจอมทัพของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เจอร์ราร์ด คือทุกสิ่งทุกอย่างของ ลิเวอร์พูล ขณะที่ แลมพาร์ด คือนักเตะมิดฟิลด์ที่ เชลซี จะขาดไม่ได้ เพราะเด็ดขาดทั้งคาแร็คเตอร์และการยิงประตู
ทั้ง 3 คนนี้คือปัญหาโลกแตกสำหรับทีมชาติอังกฤษยุค 2000s โดยแท้จริง เหตุผลก็เพราะว่าพวกเขาเล่นในตำแหน่งเดียวกัน นั่นคือมิดฟิลด์ ที่แม้จะต่างวิธีการเข้าทำ ทว่าแต่ละคนก็มีจุดเด่นที่เกมรุกและการสอดไปทำประตูเหมือนกัน หนำซ้ำคาแร็คเตอร์แต่ละคนยังคล้าย ๆ กันอีก โดยเฉพาะ เจอร์ราร์ด และ แลมพาร์ด นั้น เรียกได้ว่าเป็นจอมทัพทั้งในและนอกสนาม เขาคือคนที่ทรงอิทธิพล มีความเป็นผู้นำมากกว่าเป็นผู้ตาม ขณะที่ สโคลส์ เองแม้จะเป็นรองในเรื่องนี้ แต่จิตวิญญาณของการเป็นผู้ชนะของเขาก็ไม่แพ้ใคร นั่นคือปัญหาที่ชวนให้กุนซือทีมชาติอังกฤษ ณ เวลานั้นอย่าง สเวน-โกรัน อีริคส์สัน ต้องปวดหัวอย่างไม่ที่สิ้นสุด
กล่าวคือทุกคนเก่งในสนามเหมือนกันหมด มีคาแร็คเตอร์แบบผู้ชนะเหมือนกันทั้งหมด เพียงแต่ว่าจริงแล้วในตำแหน่งนี้ควรจะมีเพียงแค่ 1 เดียวเท่านั้นที่เป็นแกนหลักเพื่อคงเอาไว้ซึ่งระบบของทีม ชัดเจนว่าการมียอดผู้เล่นในแดนกลางถึง 3 คนสำหรับตำแหน่งเดียวนั้น ส่งผลต่อการวางแท็คติกอย่างไม่ต้องสงสัย
อังกฤษ ใช้งานระบบการเล่น 4-4-2 ณ เวลานั้น นั่นทำให้พื้นที่กองกลางจะมีที่ว่างให้นักเตะแค่ 2 คน และโดยธรรมชาติแล้วมันย่อมหนีไม่พ้นการแบ่งงานกันทำระหว่างนักเตะเชิงรุก 1 คน เชิงรับ 1 คน เปรียบเทียบง่าย ๆ คือเหมือนที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ใช้งาน สโคลส์ และ รอย คีน ในทีม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นั่นเอง
ทั้งที่สามารถเลือกศูนย์กลางการขับเคลื่อนเกมแดนกลางได้แค่คนเดียว ทว่าที่สุดแล้ว อีริคส์สัน ก็ตัดปัญหาการ "เลือกไม่ได้" ให้จบลงอย่างง่าย ๆ นั่นคือการยัดทั้ง 3 คนลงไปเล่นพร้อมกันทีเดียวเลย เพราะเมื่อเขาเลือกใครสักคนลงสนาม และเอาใครอีกคนเป็นตัวสำรอง ก็จะมีคำวิจารณ์ต่าง ๆ นานาว่า ทำไมถึงไม่ใช้งานคนนี้ ทำไมถึงใช้งานคนนั้น มันคือปัญหาที่แก้ยังไงก็ไม่ลง แฟนบอลอังกฤษต่างเชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง พวกเขามีนักเตะที่ชอบใจและอยากให้นักเตะที่ตัวเองชอบได้ลงสนาม
Photo : Football365
ขณะที่สื่ออังกฤษผู้เชื่อว่านี่คือทีมที่หน้าเสื่อแข็งโป๊กที่สุดในรอบหลายปี ดังนั้นการพลาดเสมอ หรือเล่นได้ไม่ประทับใจ ก็ทำให้อังกฤษชุดที่มีกองกลาง 3 เทพนั้นโดนวิจารณ์ไปในแง่ลบตลอดเวลา ดังนั้นไม่ต้องเถียงกันและคิดให้ง่ายที่สุด เมื่อคุณมีนักเตะที่เก่งที่สุดแล้ว ก็หาทางยัดลงสนามให้ครบเท่านั้นเอง
"เรามีกองกลางที่ดีที่สุดถึง 4 คน (สโคลส์, แลมพาร์ด, เจอร์ราร์ด และ เดวิด เบ็คแฮม) ผมคิดว่าผมไม่สามารถเอาใครคนใดคนหนึ่งวางไว้บนม้านั่งสำรองได้เลย เพราะเชื่อว่าทุกคนล้วนเป็นเดอะเบสต์ทั้งสิ้น" อีริคส์สัน กล่าว
"ผมมั่นใจว่า เจอร์ราร์ด และ แลมพาร์ด สามารถเล่นกองกลางแบบยืนคู่กันได้ หรือไม่ก็ลองขยับเอา สโคลส์ ไปยืนเป็นปีกซ้ายก็ยังได้อีก ไม่ว่าจะทางไหน ผมคิดว่านี่คือทีมที่ดีที่สุดที่เรามี"
แม้เขาจะว่าอย่างมั่นใจ แต่ความจริงแล้วนี่คือการใช้งานนักเตะที่ไม่ตรงกับหน้าที่ที่เขาต้องการ ... ต้องยอมรับว่าอังกฤษยุค อีริคส์สัน และกองกลาง 3 เทพที่กล่าวมาไม่เคยมีช่วงเวลาที่ลงตัว พวกเขาไม่เคยมีเพอร์เฟกต์เกมให้เห็นมากนัก เพราะเมื่อมีคนเล่นดี อีกคนหนึ่งก็จะดรอปไปอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งมาตรฐานของนักเตะระดับโลกนั้นวัดง่าย เพราะนักเตะอย่าง สโคลส์, เจอร์ราร์ด และ แลมพาร์ด เล่นดีแทบทุกนัดในสโมสร ดังนั้นเมื่อใดก็ตามเมื่อพวกเขาเล่นให้อังกฤษแล้วบทบาทไม่เด่นเหมือนกับในสโมสร ทุกคนก็สังเกตได้ และเริ่มวิจารณ์กัน จนวนกลับมาที่ปัญหาข้อแรกที่เป็นปัญหาโลกแตกคือ "อังกฤษควรจะจัดกองกลางแบบไหนดี ?"
Photo : Football365
ของแบบนี้ชอบใครชอบมัน คีรอน ดายเออร์ นักเตะตำแหน่งปีกของทีมชาติอังกฤษชุดดังกล่าว กล่าวว่า "สโคลส์ สิดีที่สุด เก่งในแบบเดียวที่นักเตะอย่าง ซีดาน และ ชาบี ยังต้องยกนิ้วให้"
"ถ้าสโคลส์เล่นให้ประเทศอื่นเขาได้เป็นจอมทัพตัวเลือกแรกไปแล้ว อีริคส์สัน มักจะจัดทีมแบบว่า เบ็คแฮม ไว้ขวา, แลมพาร์ด และ เจอร์ราร์ด ยืนด้วยกันตรงกลาง แล้วเอาสโคลส์ไปเป็นปีกซ้าย ซึ่งผมคิดว่ามันเสียเปล่ามาก การเอานักเตะอย่างสโคลส์ไปไว้ที่ริมเส้น เปรียบดังอาชญากรรมเลยผมจะบอกให้" ดายเออร์ เขียนในอัตชีวประวัติของเขา
การยกตัวอย่างคำกล่าวของ ดายเออร์ ไม่ต้องการหมายความว่า สโคลส์ คือคนที่เก่งกว่า เจอร์ราร์ด หรือ แลมพาร์ด แต่มันเป็นการแสดงให้เห็นว่า บางครั้งการมีทรัพยากรที่ดีจนล้นมือ หากไม่สามารถบริหารจัดการให้ดีได้ ผลเสียจะยิ่งมีมากกว่าผลบวก ซึ่งนั่นคือสิ่งที่อังกฤษชุดนั้นเป็น พวกเขาเสียเปรียบทางด้านแท็คติก เพียงเพราะไม่สามารถเลือกที่จะดรอปใครได้เลยในบรรดา 3 คนนี้
"ตัวของผมและสตีเว่น เจอร์ราร์ด จะเล่นกองกลางด้วยกันได้ แต่ถ้าไม่มีใครสักคนอยู่ข้างหลังพวกเรา (หมายถึงกองกลางตัวรับ) มันจะทำให้คุณกังวลใจเสมอว่าเราจะสอดประสานและทดแทนกันได้ดีแค่ไหน เพื่อให้มีใครคนหนึ่งได้เติมขึ้นไปข้างหน้าอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องระแวงอะไร"
"สิ่งที่แย่ที่สุดของฟุตบอลคือ เมื่อคุณเริ่มใช้เวลาที่จะคาดเดาการวิ่งกับการเคลื่อนที่ของคุณและเพื่อนร่วมทีมเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น มันจะช้าไปเสียแล้ว เพราะทุกอย่างมันจะหมุนไปรอบตัวเราเร็วมาก โดยเฉพาะเมื่อมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราได้คาดเอาไว้"
Photo : Football365
"เราควรจะแก้ปัญหาด้วยการเล่นกองกลาง 3 คน ผมอาจจะเล่นคู่กับ โอเว่น ฮากรีฟส์, ไมเคิล คาร์ริค หรือ พอล สโคลส์ เพราะตอนนั้น สโคลส์ ก็รับบทบาทมายืนกลางสนามบ่อย ๆ เมื่ออยู่กับ แมนฯ ยูไนเต็ด" คำพูดนี้เป็นของ แฟรงค์ แลมพาร์ด ในวันที่เขาเป็นกุนซือเอง
สิ่งที่แลมพาร์ดคิด คือสิ่งที่ใครหลายคนคิด แม้เราไม่รู้ว่าผลลัพธ์ที่เขาว่ามาจะออกมาดีหรือไม่หากนำมาใช้กับอังกฤษชุดนั้นจริงๆ แต่สิ่งที่ยืนยันได้คือฟุตบอลหลังยุค 2000s นั้น แทบทุกทีมปรับมาใช้กองกลาง 3 ตัวด้วยกันทั้งนั้น โดยมิดฟิลด์ที่ยืนคู่กันตรงกลางจะต้องเป็นขั้วบวกกับขั้วลบจึงจะเข้ากันได้ดี อาทิ โคล้ด มาเกเลเล่ กับ ไมเคิล เอสเซียง ใน เชลซี ที่ทำให้ แลมพาร์ด โฟกัสกับการเล่นเกมรุกได้เต็มตัว, ชาบี อลอนโซ่ กับ ฮาเวียร์ มาสเคราโน่ จับคู่กันเพื่อให้ เจอร์ราร์ด มีอิสระ หรือแม้แต่ พอล สโคลส์ ที่เป็นรุ่นพี่คนอื่น เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็ถอยมาเล่นกองกลางร่วมกับนักเตะเชิงรับอย่าง ฮากรีฟส์, คาร์ริค หรือ อันแดร์สัน ทั้งสิ้น ... ซึ่งกองกลางทั้ง 3 ชุดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็ถือว่านำพาความสำเร็จมากมายมายังต้นสังกัดของพวกเขา
ย้อนกลับมาที่ทีมชาติอังกฤษ ณ เวลานั้นมันต่างออกไป พวกเขายึดมั่นในตัวบุคคลมากเกินไป เช่นเดียวกับระบบการเล่น 4-4-2 ที่ไม่สามารถยืดหยุ่นไปเล่นระบบอื่นใด จากกลุ่มนักเตะที่มีความสามารถรอบด้าน ก็กลายเป็นการจับปูใส่กระด้ง เอานักเตะเก่ง ๆ มารวมกันแต่ไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ สุดท้ายจอมทัพทั้ง 3 ก็ทำหน้าที่ได้แบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ จะรับก็ไม่ได้ จะรุกก็ไม่สุด และนี่คือผลกระทบทางด้านแท็คติก ณ เวลานั้น จนทำให้อังกฤษไม่ประสบความสำเร็จในรายการใหญ่ ๆ เลยแม้แต่รายการเดียว
เต็มไปด้วยอัตตา
เมื่อเอาทุกอย่างของทีมชุดที่ประกอบไปด้วยนักเตะที่ดีที่สุดในประเทศ นำโดย 3 กองกลางอย่าง สโคลส์, เจอร์ราร์ด และ แลมพาร์ด เอาไปเทียบกับทีมชุด เซอร์ อัลฟ์ แรมซี่ย์ ในปี 1966 แล้ว เราจะสามารถเห็นถึงความแตกต่างกันระหว่าง 2 ทีมจาก 2 ยุคได้ชัดเจนมาก
ประการแรก คือกุนซือของทีมมีความเด็ดขาดทางความคิดที่แตกต่างกัน เซอร์ อัลฟ์ แรมซี่ย์ ประกาศตั้งแต่รับงานคุมทีมว่า "ผมจะพาทีมคว้าแชมป์โลก 1966" และตั้งเงื่อไขขอสิทธิ์เด็ดขาดในการทำทีม ไม่สนผู้บริหาร, ไม่สนนักเตะ, ไม่สนแฟนบอล และไม่สนใจแม้กระทั่งสื่อ
Photo : 90Min
ขณะที่ สเวน-โกรัน อีริคส์สัน นั้นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ตัวของเขามีข่าวคราวเรื่องชู้สาว อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการตัดสินใจที่ไม่เด็ดขาดมากพอ เขาไม่ตัดใครสักคนออกไปและเลือกใช้งานนักเตะที่เก่งและดีที่สุด โดยให้ความสำคัญเหนือกว่าระบบทีม
สอง คืออิทธิพลต่อสื่อของอังกฤษที่ยิ่งนับวันยิ่งมีอิทธิพลและส่งผลต่อผลงานนักเตะ พวกเขาเกาะลึกทุกรายละเอียด ยามจะอวยก็อวยกันสุดลิ่มทิ่มประตู หรือในยามที่นักเตะในทีมหรือกุนซือมีข้อผิดพลาด พวกเขาก็จะขยี้แหลกเพื่อขายข่าว ซึ่งแน่นอนว่าสมาธิของนักเตะนั้นก็ย่อมเสียไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น สโคลส์, เจอร์ราร์ด หรือ แลมพาร์ด ใครก็ตามที่ได้ลงสนาม พวกเขาจะโดนจับตาทุกวินาที และไม่เคยดีพอสักครั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์ คำแนะนำ คำวิจารณ์ และการติเตียนมากมายเกิดขึ้นแบบไม่หยุด
จนกระทั่งทุกวันนี้ แม้นักเตะทั้ง 3 คนจะเลิกเล่นไปแล้ว แต่คำถามที่ว่าใครคือกองกลางที่ดีที่สุดก็ยังไม่หายไป สื่ออย่าง GiveMeSport ได้ถามคนในวงการฟุตบอล 19 คน ประกอบด้วยนักเตะดังพรีเมียร์ลีกเมื่อครั้งอดีตและปัจจุบันอย่าง เธียร์รี่ อองรี, เชส ฟาเบรกาส, มาร์ค โนเบิล, เวย์น รูนี่ย์, วิลฟรีด ซาฮา หรือแม้กระทั่ง รูเบน ลอฟตัส-ชีก ซึ่งคำตอบก็ยังกระจัดกระจาย หาทางลงให้คำตอบที่สมบูรณ์แบบกับคำถามนี้ไม่ได้เสียที
Photo : 90Min
เราเห็นอะไรจากสิ่งนี้ ? .... แทบทุกคนและแทบทุกสื่อมักจะตั้งคำถามว่า "ใครเก่งกันกว่ากัน และใครเก่งที่สุดในอังกฤษ" แทนที่จะเป็นคำถามที่ว่า ทีมชาติอังกฤษจะจัดทีมชุดที่ดีที่สุดในยุคนั้นได้อย่างไร ? ใครจะเป็นกองกลางที่ควรได้ลงเล่นที่แท้จริง ...
สโคลส์, เจอร์ราร์ด และ แลมพาร์ด คือคำตอบของปัญหาโลกแตก ทั้งที่ความจริงแล้วนักเตะคนอื่น ๆ ที่เล่นในตำแหน่งกองกลางและสัญชาติอังกฤษก็มีอีกมากมาย ทว่าพวกเขาที่เหลือโดนตัดทิ้งหมด เหลือแต่เพียงกลุ่มพระเอกกลุ่มนี้ พร้อมกับกรอบคำถามที่ว่าด้วยเรื่อง "ทำอย่างไรให้ 3 คนนี้เล่นด้วยกันได้"
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าที่ความสมดุลไม่เคยเกิดขึ้น เป็นเพราะพวกเขาพยายามหาพระเอกมากเกินไป จนลืมไปว่าพระเอกที่แท้จริงมีได้เพียง 1 เดียวเท่านั้น
Photo : Kop Stand
แม้กระทั่งหลังปี 2004 ที่ สโคลส์ ประกาศลาทีมชาติ และเหลือ แลมพาร์ด กับ เจอร์ราร์ด แค่ 2 คน คำตอบที่ถูกต้องกับระบบการเล่นที่ลงตัวของอังกฤษก็ยังหาคำตอบไม่ได้อยู่ดี ... และต้องจบยุคทองลงไปแบบงง ๆ โดยที่ไม่มีความสำเร็จใดให้ชื่นชม
บางทีพวกเขาเพ่งไปที่รายคนมากจนเกินไป มากกว่ามองภาพรวม ... และนั่นคือความเสียหายและน่าเสียดาย เพราะในช่วงเวลานั้น ด้วยคุณภาพนักเตะที่มี อังกฤษควรจะเป็นทีมที่สุดยอดมากกว่านี้ได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยทีเดียว