วีระชัย จันทมานะกุล - คุณครูวัย 70 ปีผู้ไม่เคยเกษียณและใช้ตะกร้อสร้างอนาคตเด็ก
ความฝันสูงสุดของคนเป็น "ครู" คืออะไร ?
เมื่อย้อนกลับไปมองความทุ่มเท และความเสียสละของผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ลูกศิษย์อย่างเราคงพอเข้าใจคำตอบของคำถามดังกล่าว ว่าทั้งหมดที่ทำลงไป คุณครูแต่ละคนต้องการเห็นสิ่งใดจากลูกศิษย์
สำหรับ "วีระชัย จันทมานะกุล" เขาไม่ต้องการเห็นอะไรมากไปกว่า การได้มองภาพลูกศิษย์เรียนจบในระดับปริญญาตรี แม้ตนเองเคยเป็นเด็กด้อยโอกาส ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมในระดับชั้นมัธยม
นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คุณครูพลศึกษาแห่งโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ เลือกใช้กีฬาตะกร้อเป็นเครื่องมือสร้างอนาคตแก่ลูกศิษย์ และยังคงทำเช่นนั้น ... แม้วันนี้เขาจะปลดเกษียณจากราชการ ตลอดจนอยู่ในวัย 70 ปีแล้ว
อดีตนักบอลที่เอาดีด้วยตะกร้อ
วีระชัย จันทมานะกุล เกิดและเติบโตที่จังหวัดชัยนาท เขาไม่ใช่เด็กที่ตั้งใจเรียนเท่าใดนัก แต่ถึงอย่างนั้น วีระชัย มีใจรักในวิชาพลศึกษา และศิลปะ
เขาชื่นชอบการเตะฟุตบอล รวมถึงการวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ จนวีระชัยสามารถทำอาชีพรับจ้างเขียนภาพ ให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับท้องถิ่น
โชคร้ายที่การเรียนของเขาตกต่ำลงเรื่อย ๆ จนมีคะแนนเก็บ 49 เต็ม 100 หรือติด 0 วีระชัยจึงปรึกษาครอบครัวถึงการเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ในปี 2515 ก่อนสอบเทียบเพื่อศึกษาต่อที่คณะพลศึกษา วิทยาลัยวิชาการศึกษา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ)
"ผมเริ่มเล่นตะกร้อมตอนปิดเทอมปี 3 ตอนนั้นผมอยากติดทีมกีฬาของมหา'ลัย แต่ฟุตบอลคนสมัครเยอะมาก ดีกรีทีมชาติทั้งนั้น ผมเลยหันมาฝึกตะกร้อ ก็พยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะไม่มีใครสอน" ครูวีระชัยเล่าถึงก้าวแรกที่เข้าสู่กีฬาตะกร้อ
"เปิดเทอมผมมาลองคัดเข้าทีมตะกร้อ ตอนนั้นผมเล่นไม่เป็นหรอก พอมีทักษะฟุตบอลอยู่บ้าง อาจารย์เขาสั่งให้ผมแปบอล ผมก็เดาะลูกอยู่เป็นชั่วโมงแล้วมันไม่ตกลงพื้นสักที เขาเลยเรียกผมติดทีม คงเห็นว่าผมพื้นฐานดี"
วีระชัย เล่นตะกร้อให้กับสถานศึกษาเป็นเวลา 1 ปี เมื่อเรียนจบระดับอุดมศึกษา เขาเข้าสู่ชีวิตการทำงานเต็มตัว ในปี 2521 วีระชัยถูกบรรจุให้เข้าสอนที่โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ ในฐานะครูพละ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
"ยิมนาสติก, ปิงปอง, บาสเกตบอล และลูกเสือ" คือรายวิชาที่ ครูคนใหม่ต้องรับผิดชอบในช่วงแรกที่เข้าสอนในโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ เขาประสบความสำเร็จด้วยการทำทีมบาสฯ คว้าแชมป์ 2 สมัย
แต่วันหนึ่ง นโยบายจากทางโรงเรียนเปลี่ยน มีความเห็นให้เลิกทำทีมบาสเกตบอล วีระชัยที่มีความฝันอยากสร้างทีมกีฬาให้แก่โรงเรียน จึงยกมืออาสาขอเปิดสอนวิชาตะกร้อ กีฬาที่โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ ไม่เคยรู้จักมาก่อน
"ผมเป็นนักกีฬาตะกร้อ" ครูวีระชัยตอบทันควัน ถึงเหตุผลที่เปิดสอนตะกร้อในโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์
"ก่อนหน้านั้นผมเป็นวิทยากรลูกเสืออยู่ 2 ปี แต่ใจผมไม่ชอบ อยู่แล้วอึดอัด ก็เลยบอก ผอ. ว่า ผมขอลาออกจากตรงนี้ แล้วไปทำสายกีฬาของผมดีกว่า เพราะผมเป็นคนกีฬา ผมอยากมาทำทีมกีฬาให้กับโรงเรียน"
ครูวีระชัยจึงเริ่มต้นสร้างทีมตะกร้อโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ โดยไม่รู้เลยว่า ความตั้งใจในฐานะคนรักกีฬาของเขา จะสร้างอนาคตแก่ลูกศิษย์ และเยาวชนด้อยโอกาส เป็นเวลายาวนานเกือบ 40 ปี
ความสำเร็จไม่เคยเป็นเป้าหมายของผม ?
"ปีแรกที่ผมทำทีมตะกร้อ เราแพ้โรงเรียนบางยี่ขันวิทยาคมยับเยิน เพราะเขาเก่งกว่าเรา แต่พอสอนไป 2-3 ปี เด็กเริ่มทำผลงานได้ดี มีเข้ารอบรองชนะเลิศ ได้เหรียญเงินติดมือมาบ้าง"
"ปีต่อมา เราได้เหรียญทองจากกรมพละ มีชุดนึงที่เก่งมาก ได้เหรียญทองจาก กทม. รุ่น 14 ปี, 16 ปี, 18 ปี ไล่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ส่วนประเภททีมชุด-ทีมเดี่ยว โรงเรียนเราเคยได้แชมป์ควบติดกันหลายปี ตะกร้อวัดมกุฏฯ ก็เริ่มมีชื่อเสียง"
ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ตะกร้อกลายเป็นกีฬายอดฮิตประจำโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ วัดได้จากจำนวนสนามตะกร้อมากถึง 17 แห่ง นักกีฬาของโรงเรียนก็ไม่จำกัดแค่เด็กในสถาบัน แต่รวมถึงเด็กจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนของเด็กในโรงเรียน หรือ เด็กที่โค้ชตะกร้อรายอื่นฝากมาร่วมฝึกซ้อม
ในเวลานั้น วีระชัย ทำงานเป็นผู้ตัดสินให้แก่สมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทย เขาจึงต้องเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อตัดสินการแข่งขันรายการต่าง ๆ
ด้วยชื่อเสียงของโรงเรียนที่ติดตัวมา ผู้ใหญ่และเพื่อนฝูงในวงการของวีระชัย ต่างพากันฝากเด็กในจังหวัดที่พอมีแววด้านตะกร้อ ให้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ ซึ่งถือเป็นหมายเลขหนึ่งของวงการตะกร้อขาสั้นในเมืองไทย
"ผมไม่ค่อยได้เด็กเก่งมากเท่าไหร่หรอก แค่มีแววนิดหน่อย เขาก็ฝากมาแล้ว แต่ผมรับหมดแหละ เพราะเด็กในโรงเรียนเล่นตะกร้อกันเป็นปกติ" ครูวีระชัยเล่าถึงกีฬาตะกร้อที่ฝังรากลึกในโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์
"ตอนนั้นมีหลายโรงเรียนจากต่างจังหวัดมาดูงานที่นี่ สนามซ้อมเรายังไม่เป็นที่เป็นทาง ตั้งอยู่ข้างลานจอดรถ แถมไม่มีรั้วกั้น เขาเห็นสนามแบบนี้ก็ถามผมว่า อาจารย์สอนเด็กเก่งได้อย่างไร ? ผมก็ตอบว่า ไม่รู้ ผมก็สอนตามปกติ เด็กเขาจริงจังกันเอง"
"ผมจำได้มีอยู่วันหนึ่ง วัดจัดงานศพใหญ่ คนที่มางานเขาคุยบอกผมว่า วันนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย มัวแต่ดูเตะเด็กตะกร้ออยู่บนถนน เขาก็ถามผมอีกว่า เด็กพวกนี้เก่งได้อย่างไร ?"
ความสำเร็จของนักกีฬาตะกร้อสร้างชื่อเสียงแก่โรงเรียนมากมาย แต่อีกด้าน มันคือดาบสองคม หลายโรงเรียนที่เคยเป็นคู่แข่ง ทั้ง โรงเรียนวัดราชาธิวาส, โรงเรียนบางยี่ขันวิทยาคม, โรงเรียนปทุมคงคา ต่างพากันล้มเลิกทีมตะกร้อประจำสถาบัน ด้วยเหตุผลที่เรียบง่าย คือ สู้โรงเรียนวัดมกุฏฯ ไม่ได้
โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ จึงเป็นโรงเรียนเดียวในละแวกพระนคร ที่ทำทีมตะกร้อยาวนานหลายสิบปี แต่ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นแชมป์หลายสมัย หรือส่งนักกีฬาติดทีมชาติอย่างต่อเนื่อง เพราะความสำเร็จเหล่านั้น ไม่เคยเป็นเป้าหมายในการสอนตะกร้อของครูวีระชัย
"เมื่อก่อนมีหลายโรงเรียนเก่งตะกร้อมาก แต่พอทำไปสักพักก็จะหาย ตอนแรกเขาทำแข่งกันไง แต่พอสู้วัดมกุฏฯ ไม่ได้ แถมยังมีโรงเรียนกีฬาโผล่ขึ้นมา เขาก็เลิกกันหมด"
"ผมทำอยู่จนถึงทุกวันนี้ ไม่เลิกแบบคนอื่นสักที เพราะเป้าหมายของผม ไม่ใช่เพื่อความเป็นเลิศ แต่เป้าหมายของผมคือส่งเด็กเหล่านี้เรียนจบปริญญาตรี"
สร้างอนาคตให้เด็กด้อยโอกาส
นักเรียนที่วีระชัยรับมาจากต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาส มีฐานะยากจน เขายกตัวอย่าง นักตะกร้อลูกครึ่งไทย-แอฟริกัน ที่คุณแม่เป็นคนไทย คุณพ่อเป็นชาวต่างชาติ แต่เสียชีวิตในเหตุการณ์สึนามิ
เด็กหนุ่มรายนี้จึงใช้ชีวิตในประเทศไทยโดยไร้จุดหมาย ไม่มีแม้กระทั่งที่เรียนหนังสือ จนได้โอกาสเข้ามาเป็นนักตะกร้อ ภายใต้รั้วโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์
"เด็กมันยกมือไหว้ แล้วบอกว่า ผมยังไม่มีที่เรียนครับ สอบอัสสัมฯ ก็ไม่ได้ สอบที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่รับตั้งแต่แรก ผมก็บอกว่า ถ้างั้นก็พาแม่มาคุยกันก่อน จึงได้รู้ประวัติของเขา" ครูวีระชัยกล่าวถึงนักกีฬาลูกครึ่งไทย-เคนยา
"ผมมีแต่เด็กแบบนี้ค่อนทีมเลยนะ เขาไม่มีเงินเรียน ก็เลยพากันมาอยู่ที่นี่ เพราะโรงเรียนวัดมกุฏฯ ค่าเทอมถูกที่สุด ตอนนี้โรงเรียนกีฬาต่างจังหวัดบางที่ ค่าเทอมหลักหมื่นแล้ว แต่ที่นี่ 2,900 บาท ผมก็หาค่าเทอมให้คนละสามพัน เป็นเงินที่ศิษย์เก่าช่วยบริจาค"
ไม่ใช่แค่เรื่องเงินที่ ครูวีระชัย ต้องรับเป็นธุระเพื่อช่วยเหลือเด็ก เขายังทุ่มเทเวลาตลอด 7 วันในแต่ละสัปดาห์ มาฝึกซ้อมนักกีฬาในทีม เพื่อไม่ให้เด็กออกนอกลู่นอกทางในช่วงวันหยุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขาเอง
"มันเป็นอนาคตของเขา วันนี้เขาไม่มีจะกิน แต่พอโตขึ้นไป เขาเลี้ยงดูแม่ได้ ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเขาจะโตเป็นคนแบบไหน เราส่งเขาเข้าเรียนปริญญาตรีก็หมดหน้าที่แล้ว คุณจะเรียนจบหรือไม่จบเป็นหน้าที่ของคุณแล้ว หน้าที่ผมคือหาที่เรียนให้คุณในระดับมหาวิทยาลัย"
ครูวีระชัย มองเห็นโอกาสที่จะใช้กีฬาตะกร้อ ส่งต่อลูกศิษย์ให้ถึงฝั่งฝัน คือ การเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เขาจึงพูดคุยกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงโครงการช้างเผือกที่จะเปิดรับนักกีฬาเหล่านี้ เข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา โดยไม่เสียค่าเทอมแม้แต่บาทเดียว
"สอบสู้เขาไม่ได้หรอกครับ" ครูวีระชัยกล่าวติดตลกถึงลูกศิษย์ "เด็กผมเริ่มเข้าเรียนธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปี 2539 ตอนนั้นมีงานศพที่วัด ผู้บริหารธรรมศาสตร์มาดูผมซ้อมเด็กอยู่หลายวัน เขาก็ขอคุยด้วย ผมก็ติดต่อเขากลับไปว่า ถ้าผมส่งเด็กเข้าเรียนในโครงการช้างเผือกจะได้ไหม ? ขอทุนเรียนฟรีให้ด้วยนะ เพราะเด็กพวกนี้ไม่มีเงิน ไม่มีจริง ๆ"
"ผมมีนักกีฬาคนหนึ่งเป็นลูกสัปเหร่อในวัด เรียนจบคณะวารสารฯ ของธรรมศาสตร์ เจ้านี่โคตรโง่เลย เรียนอยู่ 7 ปีกว่าจะจบ (หัวเราะ) แต่เรียนจบแล้วชีวิตเขาก็ดีนะ ทำงานสายทีวี ไปที่ไหนใครก็รับ เพราะประสบการณ์มันสูง"
"ผมเห็นว่ามันดี ก็สอนเด็กมาเรื่อย ไม่เคยหยุดสักที เพราะเด็กพวกนี้น่าสงสาร ประเทศไทยไม่ควรขึ้นค่าเทอมแพงขนาดนี้ มันก็เหมือนกับคัดกรองเอาเด็กที่พอจะมีจะกินเข้ามหาลัย ส่วนเด็กพวกนี้ก็ถูกดีดออกมา เพราะไม่มีทุนเรียน"
ความตั้งใจที่อยากให้ลูกศิษย์มีอนาคตที่ดี ครูวีระชัย จึงรับหน้าที่คล้ายเอเยนต์ในโลกกีฬา ติดต่อหลังไมค์ไปยังมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเสนอนักกีฬาตะกร้อของโรงเรียน แก่สถาบันที่สนใจรับเยาวชนเหล่านี้เข้าศึกษาในโควต้านักกีฬา โดยมีข้อแม้ว่า ต้องให้ทุนเรียนฟรี
ข้อแตกต่างคือ เขาไม่เคยได้รับเงิน หรือค่าตอบแทน เหมือนดั่งเอเยนต์ เป็นเพียงเรือจ้างที่พยายามพาลูกศิษย์ไปถึงฝั่ง
ลูกศิษย์หลายคนของเขา เคยเป็นเด็กด้อยโอกาส ไม่มีเงินแม้แต่จะเรียนในระดับมัธยม แต่กลับได้เข้าเรียนในสถาบันระดับอุดมศึกษาชื่อดัง อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยทักษะกีฬาตะกร้อ ซึ่งถูกถ่ายทอดโดยคุณครูที่มีชื่อว่า วีระชัย จันทมานะกุล
70 ปี ไม่หยุดสอน
เวลาผ่านมาเกือบ 40 ปี นับแต่วันแรกที่ครูวีระชัยสร้างทีมตะกร้อประจำโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ ปัจจุบัน ชายชราวัย 70 ปี ยังคงทำหน้าที่เป็นครูพละในสอนเด็กในโรงเรียนแห่งนี้ แม้จะปลดเกษียณจากราชการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557
"ผมคิดไม่เหมือนชาวบ้าน อาจจะเป็นเวรกรรมของผมมั้ง (หัวเราะ)" วีระชัย กล่าวเริ่มอย่างอารมณ์ดี
"ความจริงก็ไม่มีอะไรมาก ผมสอนเด็กแบบนี้สุขกายสบายใจดี ตอนนี้ผมอายุ 70 แล้ว ร่างกายไม่เป็นไร ผมก็ทำไป ถ้ามีแรงก็ทำให้ คิดว่าอยู่กับเด็กเราก็เด็กไปด้วย"
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครสักคนจะยอมเสียสละเวลาช่วงบั้นปลายชีวิต ให้กับใครสักคนที่ไม่เกี่ยวข้องทางสายเลือด แต่สำหรับครูวีระชัย การสร้างอนาคตให้แก่ลูกศิษย์ผ่านกีฬาตะกร้อ อยู่ในห้วงคำนึงความคิด และไม่มีแม้แต่สักวันที่เขาคิดจะหันหลัง ปล่อยเยาวชนเหล่านี้ เผชิญกับโลกอันโหดร้ายโดยไร้อนาคต
"ผมสอนเด็กแบบนี้มันดีกว่าทำอย่างอื่น เที่ยวผมก็เที่ยวมาหมดแล้วเกือบทุกจังหวัด ใครจะพูดถึงอะไร หลับตาลง ผมก็นึกภาพออก เธคเป็นแบบนี้ คาราโอเกะเป็นแบบนี้ น้ำตก ภูเขา ทะเล เป็นอย่างไร ต่างประเทศก็เคยไปมาแล้ว ตอนเป็นผู้ตัดสิน"
"ผมเคยไม่ได้เงินอยู่หลายเดือน ศิษย์เก่ามาถาม ผมก็บอกว่าไม่เป็นไร เพราะแค่ผมสอนเด็กได้ก็ถือว่าจบแล้ว ผมอยากให้เด็กเชื่อฟัง และเล่นตะกร้อได้ ต้องการแค่นี้ ถ้าเด็กมันทำได้ เรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ"
"อย่างน้อยสิ่งที่ผมทำมันคือการสร้างคน กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ ผมบอกกับเด็กแบบนี้เสมอ ผมพูดคำนี้ตั้งแต่วันแรกที่ผมสอนเด็กเล่นตะกร้อ"
ชีวิตของ วีระชัย จันทมานะกุล จึงไม่ใช่เรื่องราวของโค้ชที่ปั้นนักเรียนเพื่อเป็นสุดยอดนักกีฬา แต่เป็นเรื่องราวของครูที่อยากเห็นลูกศิษย์มีอนาคตที่ดี โดยใช้กีฬาปูทาง
นี่คือจิตวิญญาณของคนเป็นครู เรือจ้างที่ไม่มีความสุขไหนเกินไปกว่า การได้เห็นลูกศิษย์ข้ามไปสู่อีกฝั่งฝันดั่งที่ตั้งใจ