มากกว่าความเวอร์วัง : สัญญะที่แฝงไว้ในท่าไม้ตายนักเตะจากการ์ตูน "กัปตันสึบาสะ"

มากกว่าความเวอร์วัง : สัญญะที่แฝงไว้ในท่าไม้ตายนักเตะจากการ์ตูน "กัปตันสึบาสะ"

มากกว่าความเวอร์วัง : สัญญะที่แฝงไว้ในท่าไม้ตายนักเตะจากการ์ตูน "กัปตันสึบาสะ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อท่าไม้ตายที่เป็นเหมือนจุดขายของมังงะชื่อดัง มีอะไรมากกว่าเรื่องจินตนาการที่เกินจริง 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ไดร์ฟชู้ต" หรือ "ไทเกอร์ช็อต" คือภาพจำชั้นดีหากพูดถึงการ์ตูน "กัปตันสึบาสะ" เพราะท่าไม้ตายเหล่านี้ คือจุดขายที่ทำให้มันกลายเป็นการ์ตูนยอดนิยมมานานหลายสิบปี  

อย่างไรก็ดี แม้ว่าท่าไม้ตายเหล่านี้ อาจจะดูเกินจริงเหนือจินตนาการ แต่ในความเป็นจริงมันกลับแฝงอะไรบางอย่าง 

ติดตามเรื่องราวได้ที่นี่ 

เหตุเกิดจากมวยปล้ำ 

แม้ว่า กัปตันสึบาสะ จะเป็นมังงะฟุตบอลยอดนิยม ที่เปรียบเสมือนไบเบิ้ลของมังงะฟุตบอล แต่ความเป็นจริง มันคือการ์ตูนที่มีต้นกำเนิดมาจากคนที่เล่นฟุตบอลไม่เป็น

 

เพราะในวัยเด็ก โยอิจิ ทาคาฮาชิ ก็ไม่ต่างจากเด็กญี่ปุ่นทั่วไป ที่ชอบเล่นเบสบอล ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมของญี่ปุ่นมากกว่า ทำให้ในตอนแรก "ฟุตบอล" ไม่ใช่กีฬาที่เขาตั้งใจจะนำเป็นวัตถุดิบในการวาดการ์ตูน


Photo : LineToday 

ทว่า ฟุตบอลโลก 1978 ได้เปลี่ยนความคิดเขาไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อความสวยงามของเกมลูกหนัง บวกกับลีลาการเล่นที่น่าตื่นตาของทีมชาติอาร์เจนตินา แชมป์โลกในคราวนั้น ทำให้ ทาคาฮาชิ ตกหลุมรักในกีฬาชนิดนี้อย่างจัง และเปลี่ยนมาเขียนการ์ตูนฟุตบอล จนออกมาเป็น "กัปตันสึบาสะ" 

"ตอนอยู่ ม.ปลายปี 3 (ม.6) ผมได้ดูฟุตบอลโลก (1978) ที่อาร์เจนตินาทางทีวี และพบว่ามันเป็นกีฬาที่สนุกมาก ความอยากรู้อยากเห็นของผมทำให้ผมศึกษาเรื่องฟุตบอล มันทำให้ผมรู้ว่าในยุโรป ฟุตบอลได้รับความนิยมกว่าเบสบอล และจำนวนของนักฟุตบอลก็มากกว่ามาก ฟุตบอลคือกีฬาอันดับหนึ่งของโลก นั่นคือสิ่งที่ผมรับรู้" ทาคาฮาชิ ให้สัมภาษณ์กับ Nippon.com  

"แน่นอนว่าเบสบอลเป็นหนึ่งในเรื่องที่ผมคิดตอนเริ่มวาดมังงะ แต่ตอนนั้นมันมีมังงะเกี่ยวกับเบสบอลเยอะมาก ผมจึงคิดว่าผมน่าจะลุยไปกับฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก"  


Photo : The National  

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในสมัยนั้นเกมลูกหนัง ยังเป็นกีฬาที่ไม่ได้รับความนิยมนักในญี่ปุ่น ดังนั้นแค่การแข่งกันตามกติกาปกติอาจจะยังไม่พอ ทำให้ ทาคาฮาชิ ตัดสินใจนำ "ท่าไม้ตาย" ที่มีไอเดียมาจากกีฬามวยปล้ำ ซึ่งเป็นกีฬาที่เขาชื่นชอบสมัยเด็ก เข้ามาใส่ในการ์ตูนเรื่องนี้

 

"ผมได้อิทธิพลบางส่วนมาจากมวยปล้ำ อย่างท่า 'สกายแลบเฮอริเคน' ของสองพี่น้องทาจิบานะ และท่าประสานของคนอื่น เป็นภาพจำมาจากการแท็กทีมของนักมวยปล้ำ" ทาคาฮาชิ กล่าวกับ Ninomiya Sports 

ในช่วงแรกของเรื่อง ทาคาฮาชิ เริ่มต้นด้วยการใส่ท่าไม้ตายที่สามารถพบเห็นได้ในโลกจริงอย่าง ท่าเลี้ยงเส้นตรงของ ฮิวงะ โคจิโร หรือ โอเวอร์เฮดของ โอโซระ สึบาสะ แต่เมื่อเรื่องดำเนินต่อไป มันก็ได้พัฒนาความโหดขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความเวอร์วังอลังการ และกลายเป็นจุดขายของการ์ตูนเรื่องนี้ 

ยกตัวอย่างเช่น ท่า "ฟูลเมทัลแฟนธอม" ของ คาร์ลอส ซันตานา และ นาทูเรซา ที่ทั้งคู่ต้องหมุนตัวให้มาถึงบอลพร้อมกัน ก่อนจะเกิดการยิงแบบสะท้อนที่รุนแรง หรือ "ไฮสปีดทอร์นาโดสกายอัลฟา" ของ สึบาสะ และ มิซากิ ที่คล้ายกับท่าฟูลเมทัลฯ แต่เป็นการยิงกลางอากาศ ที่ได้รับการกล่าวถึงตอนที่ถูกนำมาใช้ครั้งแรก 

"ผมคิดว่าเพราะผมไม่เคยเล่นฟุตบอลมาก่อน ทำให้ผมมีไอเดียเกี่ยวกับรูปแบบการเล่นประหลาด ๆ ถ้าคุณเคยเล่นฟุตบอลมาก่อน คุณจะรู้ข้อจำกัดของมัน ผมสามารถมีไอเดียแบบนักเขียนการ์ตูนดิบ ๆ เพราะว่าผมไม่รู้พรมแดนของมัน" ผู้แต่งกัปตันสึบาสะอธิบายว่าทำไมท่าไม้ตายในการ์ตูนของเขาจึงเหนือจริง

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่ามันจะดูเหนือจินตนาการ แต่ในความเป็นจริง มันกลับมีอะไรที่ซ่อนอยู่ 
 

สัตว์ประจำท่าไม้ตาย 

ในมังงะเรื่อง กัปตันสึบาสะ ท่าไม้ตายถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะนอกจากจะเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้เนื้อเรื่องมีความสนุก การคอยลุ้นว่าจะมีท่าไม้ตายอะไรใหม่ ๆ ยังทำให้มังงะเรื่องนี้น่าติดตามยิ่งขึ้นอีก 

อย่างไรก็ดี นอกจากความน่าตื่นตาแล้ว สิ่งที่สะท้อนออกมาจากท่าไม้ตายเหล่านี้ คือคาแร็คเตอร์และสไตล์การเล่นของตัวละคร ที่จะช่วยทำให้คนอ่านได้รู้ว่าตัวละครนี้มีตัวตนเป็นแบบไหน 

"โดยพื้นฐานแล้ว ผมใช้ความคิดว่า 'ถ้าทำแบบนี้คงจะดีนะ' โดยรวมแล้วมันขึ้นอยู่กับคาแร็คเตอร์ของตัวละคร คล้ายกับนักมวยปล้ำที่จะคิดว่าเทคนิคไหนเหมาะกับตัวเองเป็นคนๆไป" ทาคาฮาชิอธิบายกับ Ninomiya Sports   

และสิ่งที่ทำให้เห็นภาพมากที่สุดคือการใช้สัตว์เป็นภาพแทน และในเรื่อง กัปตันสึบาสะ ก็มีสัตว์มากมายที่ถูกเลือกมาเป็นสัตว์ประจำท่าไม้ตาย ยกตัวอย่างเช่น โอโซระ สึบาสะ ที่มีนกเป็นสัตว์ประจำกาย เนื่องจาก คำว่า "สึบาสะ" ในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า "ปีก" บวกกับ "โอโซระ" ที่แปลว่า "ท้องฟ้า" นกจึงเป็นเหมือนตัวแทนของการโบยบินบนท้องฟ้า ที่เปรียบได้กับการเล่นอย่างอิสระในสนามของสึบาสะ

 


Photo : BanDai

เช่นกันกับ ฮิวงะ โคจิโร คู่แข่งในวัยเด็กที่ต่อมาเป็นคู่หูในทีมชาติของสึบาสะ เขามี ไทเกอร์ช็อต หรือลูกยิงพยัคฆ์ เป็นท่าไม้ตายหลัก ซึ่งเสือสำหรับฮิวงะก็คือตัวแทนของการเล่นที่รุนแรง เน้นพละกำลัง และไร้ความปราณี 

ในขณะที่สายเทคนิคอย่าง ฮิคารุ มัตสึยามะ กองกลางจากฮอกไกโด ก็มีนกอินทรีเป็นสัตว์ประจำท่าไม้ตาย (อีเกิ้ลพาส อีเกิลช็อต) เนื่องจากมีสไตล์การเล่นที่ใจเย็น มองการณ์ไกล วิสัยทัศน์ดี จึงถูกเปรียบว่าสายตาเฉียบคมเหมือนอินทรี 

แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวละครชาวญี่ปุ่นเท่านั้น ที่ใช้สัตว์มาเป็นตัวแทนของท่าไม้ตาย เพราะนักเตะต่างชาติหลายคนในเรื่อง ก็มีท่าไม้ตายในลักษณะนี้ 

ไม่ว่าจะเป็น เฮอร์มัน คัลซ์ กองกลางที่แม้จะตัวเล็ก แต่มีความขยัน และสร้างความอันตราย ที่ทำให้เม่นกลายเป็นสัตว์ที่เป็นตัวแทนของเขา (ลูกเสียบเม่น), คาร์ลอส ซันตานา ดาวยิงบราซิล ที่เป็นนกอินทรีทอง (โกลเดนอีเกิลช็อต) จากความเฉียบคมในการล่าประตู รวมไปถึง เสือดำ (แพนเตอร์ดริบเบิล แพนเตอร์ช็อต) ของ รามอน วิคตอริโน กองหน้าทีมชาติอุรุกวัย ที่สื่อไปถึงความว่องไวในฝีเท้า

 

ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่สัตว์ทั่วไป ที่ถูกนำมาใช้ในท่าไม้ตายในมังงะเรื่องนี้เท่านั้น เพราะบางครั้ง อาจารย์ทาคาฮาชิ ก็หยิบยกสัตว์เทพมาใช้อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นสถานการณ์พิเศษที่เข้าตาจน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ไรจูช็อต ของ ฮิวงะ ที่มีที่มาจาก ไรจู หรือสัตว์สายฟ้า ซึ่งเป็นสัตว์คู่ใจของเทพไรจิน เทพเจ้าสายฟ้าตามตำนานญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นจากการซุ่มฝึกซ้อมอย่างหนัก หลังหลุดจากทีมชาติ จนได้ท่านี้ติดตัวกลับมา 

หรือ ฟีนิกซ์ ไดร์ฟช็อต ของ สึบาสะ ที่มีนกฟีนิกซ์ เป็นสัตว์ประจำท่าไม้ตาย และมักใช้ยิงในสถานการณ์คับขัน โดยมันเกิดขึ้นครั้งแรกในรอบรองชนะเลิศ ชิงแชมป์มัธยมต้นกับ ฟุราโนะ ที่เขายิงตอนได้รับบาดเจ็บหนัก ก่อนที่มันจะกลายเป็นประตูช่วยให้ นันคัตสึ เข้าไปชิงชนะเลิศ 

อย่างไรก็ดี มันไม่ได้มีแค่สัตว์เท่านั้น

สัญญะที่แฝงเอาไว้ 

แม้ว่าสัตว์ดูเหมือนจะเป็นวัตถุดิบหลักที่ถูกนำมาใช้สำหรับท่าพิเศษในเรื่อง กัปตันสึบาสะ แต่หลายครั้งที่อาจารย์ทาคาฮาชิ เลือกที่จะใช้สิ่งที่ดูเป็นนามธรรม หรือจับต้องไม่ได้จากท่าไม้ตาย มาเป็นสิ่งบอกตัวตนของตัวละคร  

ยกตัวอย่างเช่น ความเป็นนักกายกรรมของ ฮวน ดิอาซ ที่ทำให้ท่าไม้ตายของเขามีความผาดโผน ทั้ง ท่าตีลังกาข้างแล้วโอเวอร์เฮดคิก หรือท่าตีลังกาหน้าแล้วตอกส้น (Somersault Shot) เนื่องจากเขามีต้นแบบมาจาก ดิเอโก มาราโดนา ซึ่งขึ้นชื่อในลีลาการเล่นที่แพรวพราวและน่าตื่นตา 

"ดิเอโก มาราโดนา ทำสิ่งพิเศษให้ผมเห็นอยู่เสมอ เขามักจะทำสิ่งตรงข้ามกับที่เราคิดไว้ เขาทำให้ตกใจอยู่เสมอ สิ่งที่เขาตัดสินใจทำมักจะถูก เขาเป็นคนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมสร้างเรื่องราว และอยู่เบื้องหลังคาแร็คเตอร์ของ ฮวน ดิอาซ" ทาคาฮาชิ ให้สัมภาษณ์กับ AS


Photo : Goal.com 

หรือความเป็นลูกชายเจ้าของสำนักคาราเต้ของ วาคาชิมัตสึ เคน ที่ทำให้ผู้รักษาประตูเยาวชนทีมชาติญี่ปุ่น (หรือกองหน้า ?) มีท่าไม้ตายส่วนใหญ่ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการเล่นคาราเต้ 

ไม่ว่าจะเป็นท่ากระโดดสามเหลี่ยม ที่กระโดดจากเสาหนึ่งไปปัดบอลอีกเสาหนึ่ง ท่าฝ่ามือใบมีด (Knifehand Defense) ที่ใช้สันมือปัดลูกบอลออกไป หรือท่าสุดเท่อย่างหมัดวาคาโดริว ที่ใช้มือต่อยลูกบอลที่มาจากด้านหน้า 

ในขณะเดียวกัน แนวคิดธาตุทั้ง 5 ของตะวันออก (ดิน น้ำ ไฟ ไม้ ทอง) ก็ถูกนำมาใช้เป็นท่าไม้ตายเช่นกัน ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ คาร์ล ไฮนซ์ ชไนเดอร์ กองหน้าชาวเยอรมัน ที่มี "ไฟ" ภาพแทนท่าไม้ตายของเขา ทั้ง ไฟร์ช็อต หรือ นีโอไฟร์ช็อต 

ซึ่งมันก็มาจากลักษณะนิสัยของกองหน้า บาเยิร์น มิวนิค ที่เป็นคนที่มีความจริงจัง กล้าหาญ มีอุดมการณ์ ในขณะเดียวกันก็ไร้ความปราณี และเย่อหยิ่งในศักดิ์ศรี ซึ่งเหล่านี้เป็นคุณลักษณะของธาตุไฟ 

นอกจากนี้ "ความพยายาม" ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ทาคาฮาชิ เน้นย้ำในมังงะเรื่องนี้ เพราะแม้ว่านักเตะส่วนใหญ่จะมีความสามารถที่เกินจริง แต่ก็มีบางส่วนที่เขาพยายามใส่ความเป็นมนุษย์ผ่านท่าไม้ตาย 

ตัวอย่างที่เห็นภาพที่สุดคือ เรียว อิชิซากิ กองหลังเพื่อนรักของ สึบาสะ ที่อาจจะไม่ได้มีเทคนิคที่โดดเด่น แต่กลับมีความขยันและความอึด ที่ทำให้เขามีท่าไม้ตายที่เกิดจาก "หน้า" ในเรื่อง โดยเฉพาะท่า "บล็อคด้วยหน้า" ที่เป็นท่าเก่งของเขา 

เช่นเดียวกับ ยูโสะ โมริซากิ ผู้รักษาประตูสำรองทีมชาติญี่ปุ่น ที่แม้จะมีฝีไม้ลายมือการป้องกันประตูห่างไกลจาก วาคาบายาชิ เก็นโซ แต่ความขยันของเขาก็ไม่เป็นรองใคร 


Photo : NeoTsubasa 

ทำให้เขามีท่าไม้ตายส่วนใหญ่ที่มาจากความพยายาม อย่าง "ขอให้โดนตัวสักทีเถอะ" ที่เป็นการพุ่งเอาตัวเข้าขวาง หรือท่าพุ่งรับสุดตัว "SGGK Catch" ที่มาจากคำว่า Super Ganbari Goalkeeper หรือ สุดยอดผู้รักษาประตูแห่งความพยายาม เป็นด้านคู่ขนานกับฉายา SGGK หรือ Super Great Goalkeeper ของ วาคาบายาชิ

"เนื่องจากทั้งสึบาสะและวาคาบายาชิเป็นอัจฉริยะ อิชิซากิคุงจึงเป็น 'ตัวแทนของคนธรรมดา' และด้วยความที่เป็นคนธรรมดา ไม่มีพรสวรรค์ จึงต้องพยายามเพื่อให้ได้ติดทีมชาติและอยู่กับสึบาสะตลอด" ทาคาฮาชิ อธิบายกับ Davinchi News

"เพราะผู้อ่านทั่วไปไม่ได้เป็นอัจฉริยะ ผมจึงวาดให้เห็นว่าการไล่คว้าความฝันจำเป็นต้องใช้ความพยายามและความอดทน" 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการใช้ภาพลักษณ์ของประเทศ มาเป็นท่าไม้ตาย
 

ภาพแทนสายตาคนญี่ปุ่น 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคที่โลกยังไม่ก้าวไกลอย่างปัจจุบัน การอธิบายตัวตนนักเตะต่างชาติ โดยเฉพาะชาติเล็ก ๆ ให้กับนักอ่านชาวญี่ปุ่น ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายความสามารถผู้แต่ง 

ซึ่งอาจารย์ทาคาฮาชิ ก็รับรู้ในเรื่องนี้ ทำให้เขาเลือกที่จะใช้ภาพลักษณ์ในแต่ละประเทศ มาเป็นเครื่องบ่งบอกตัวตนของนักเตะในชาตินั้นผ่านท่าไม้ตาย 

ไม่ว่าจะเป็น เซียว จุ้น กวง กัปตันทีมชาติจีน คู่ปรับในรอบคัดเลือกโซนเอเชีย ที่ท่าไม้ตายของเขาจะขาดมังกรไม่ได้ โดยเฉพาะปืนใหญ่แรงสะท้อน ที่จะมีมังกรบินตามลูกบอล เนื่องจากมังกรเป็นสัญลักษณ์ของประเทศจีน 

หรือกับทีมชาติไทย ซึ่งเป็นคู่ต่อกรสุดโหดหินของญี่ปุ่นในภาคเยาวชนโลก ที่มวยไทย ถูกนำมาใช้เป็นท่าไม้ตายหลักของ บุนนาค สิงห์ประเสริฐ เช่น มวยไทยบล็อค หรือ มวยไทยแทคเกิ้ล เช่นเดียวกับ ท่าที่เกี่ยวข้องกับตะกร้อ ของสามพี่น้องกรสวัสดิ์ 


Photo : Goal.com 

"ผมแค่อยากจะสร้างตัวละครให้มีจุดเด่น และเชิดชูความเป็นไทยได้ ก็เลยคิดตัวละครที่เคยเป็นนักมวยไทยมาก่อนอย่าง (บุนนาค สิงห์ประเสริฐ) และนักตะกร้อ (3 พี่น้องกรสวัสดิ์ - สกุล, ฟ้าลั่น, ชนะ) ที่ต่อมาได้กลายเป็นนักฟุตบอล มันเกิดจากไอเดียของผมนั่นแหละ ไม่ได้มาจากผู้เล่นคนไหนของไทยหรอก" อาจารย์ทาคาฮาชิอธิบาย 

ไม่ต่างจากซาอุดิอาระเบีย เศรษฐีน้ำมันแห่งตะวันออกกลาง ซึ่ง "ทะเลทราย" กลายเป็นภาพแทนของพวกเขา ที่ทำให้ท่าไม้ตายหลายท่าของเขาเกี่ยวข้องกับทรายเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ลูกยิงพายุทราย เป็นต้น 

เช่นกันสำหรับท่าชิ่ง "ห้านักรบแห่งพระอาทิตย์" ของทีมชาติเม็กซิโก ที่ใช้ในเกมพบกับญี่ปุ่นในศึกเยาวชนโลก ที่เป็นการต่อตัวขึ้นไปดวลลูกกลางอากาศ ก็มีความหมายสื่อไปถึงพิรามิดอันสูงตระหง่านของชาวแอซเท็ก อาณาจักรโบราณที่ตอนนี้อยู่ในเม็กซิโก 

ทว่า คงไม่มีอะไรที่ลึกล้ำไป "รถถัง" ของ ชา อิน ชอน กองหน้าชาวเกาหลีใต้ ที่มีความหมายสื่อไปถึงประเทศที่ผู้ชายทุกคนต้องเกณฑ์ทหาร ที่ทำให้ ชา บอม กึน ต้นแบบของตัวละครตัวนี้ เคยต้องเป็นรั้วของชาติ ก่อนที่จะไปสร้างชื่อในยุโรป 

สิ่งเหล่านี้คืออัตลักษณ์ที่อาจารย์ทาคาฮาชิ พยายามสื่อผ่านท่าไม้ตายในเรื่อง ที่ไม่เพียงแต่ทำให้พวกเขากลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ยังช่วยขับบุคลิกของตัวละครให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก 

ทำให้แม้ว่าจะมีเสียงติติงถึงความเวอร์วังของท่าไม้ตายในการ์ตูนเรื่องนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอีกด้านหนึ่งมันคือสิ่งที่ทำให้กัปตันสึบาสะ "แตกต่าง" จากการ์ตูนเรื่องอื่นในท้องตลาด 


Photo : ATimeDesign 

ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นภาพสะท้อนชั้นดีในความละเอียดของคนญี่ปุ่น ที่แม้จะเป็นเรื่องที่เหนือจินตนาการ แต่มันก็ผ่านการวางแผน คิด วิเคราะห์ และทำการบ้านอย่างหนัก จนทำให้มีท่าไม้ตายมากมายมาจากการ์ตูนเรื่องนี้ 

แล้วคุณล่ะ ท่าไม้ตายท่าไหนที่โดนใจคุณมากที่สุด ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook