"ดุสิต เฉลิมแสน" : จากแบดบอยฟุตบอลไทยสู่เฮดโค้ชมาดสุขุมและสิ่งที่ตกผลึกในวัย 50 ปี
"ถามว่าโค้ชโอ่ง ดุสิต เป็นซูเปอร์สตาร์หรือเปล่า? ก็เป็นนะ แต่เราไม่เคยใช้จุดนั้นกับลูกทีม เรามีแต่ชื่นชมเด็กรุ่นใหม่ 'เฮ้ย พวกเอ็งสุดยอดว่ะ, สมัยพี่ยังทำไม่ได้เลย' อะไรแบบนี้"
ดุสิต เฉลิมแสน กลับมาอยู่ในความสนใจของสื่อฟุตบอลไทยกระแสหลัก จากผลงานการคุมสโมสร บีจี ปทุม ยูไนเต็ด นำเดี่ยวเป็นจ่าฝูงศึกฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก หลังผ่านครึ่งทางฤดูกาล 2020
แต่น้อยครั้งเหลือเกินที่ชายวัย 50 ปีคนนี้ จะออกมาสัมภาษณ์ผ่านสื่อ เพื่อเปิดเผยแง่มุมความคิดของตน อาจเป็นเพราะบุคลิกที่ดูมาดนิ่ง สุขุม ใจเย็น ยามคุมทีมข้างสนาม ประกอบกับการไม่ได้อยากมีตัวตนบนหน้าพื้นที่ข่าวสักเท่าไหร่
เราจึงแทบไม่ค่อยได้เห็น บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับ "โค้ชโอ่ง" แม้เขาจะผ่านประสบการณ์การเป็นนักฟุตบอล และงานเฮดโค้ชมาอย่างโชกโชน แถมสตอรี่ชีวิตก็ไม่ธรรมดา เคยเป็นทั้งฮีโร่ของชาติ, เป็นผู้เล่นไทยที่ได้รับการยอมรับระดับเอเชีย รวมถึงตกเป็นข่าวฉาวหน้า 1
บทเรียนที่เขาได้เรียนรู้ และสิ่งที่เขาตกผลึกทางความคิดในวัย 50 ปี คืออะไร? นั่นคือประเด็นที่เรามานั่งสนทนากับ ดุสิต เฉลิมแสน ในโอกาสนี้
ตลอดชีวิต 50 ปีของคุณ แทบไม่เคยห่างกับกีฬาหรือทำงานด้านอื่นเลย? อะไรเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้ ดุสิต เฉลิมแสน เติบโตขึ้นมาเป็นนักฟุตบอล และเอาดีในเส้นทางนี้จนถึงปัจจุบัน
ครอบครัวผมมีขนาดใหญ่ พี่น้อง 6 คนเล่นกีฬาหมดเลย พี่สาวเป็นนักวอลเลย์บอล พี่ชายเล่นฟุตบอล เราก็ซึบซับความชอบในการเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก เล่นได้แทบทุกอย่างทั้ง ฟุตบอล, ตะกร้อ, วอลเลย์บอล, บาสเกตบอล รวมถึงกรีฑาด้วย แต่ชอบมากที่สุดคือ ฟุตบอล
ความจริงสมัยเรียนมัธยมฯ ตอนปลาย ผมเป็นนักวอลเลย์บอลติดทีมประจำจังหวัดสกลนครนะ ส่วนฟุตบอลยังเล่นอยู่ เพียงแต่รู้สึกว่าตัวเองเล่นสู้รุ่นพี่ไม่ได้ จนมามีโอกาสได้เล่นฟุตบอลถ้วยรายการใหญ่ของจังหวัดสกลนคร ที่สนามเซนต์ลอเรนซ์
มีแมวมองจากโรงเรียนศาสนวิทยา (โปลิศ เทโร เอฟซี ในปัจจุบัน) เขามาดูการแข่งขันและสนใจอยากได้ตัวไปร่วมทีม ประกอบกับตอนนั้นจบ ม.6 พอดี จึงย้ายมาเรียนต่อวิทยาลัยพลศึกษาชลบุรี (สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี ในปัจจุบัน) และเริ่มต้นเล่นบอลกึ่งอาชีพให้ทีมศาสนวิทยาฯ
จำได้ไหมว่าตอนอายุ 18 ปี มีความคิดหรือความฝันอะไร? ถึงเลือกออกจากบ้านเกิด มาเรียนหนังสือและเล่นฟุตบอลในจังหวัด
แค่อยากลองดูสักครั้งว่าจะไหวไหม ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องทีมชาติ หรือเป็นนักบอลที่มีชื่อเสียงเลยนะ พอเล่นไปได้สักระยะ ก็ถูกเรียกติดเยาวชนทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ตรงนั้นต่างหากที่ทำให้เราเริ่มจุดประกายความหวังว่า ตัวเองจะต่อยอดไปถึงชุดใหญ่ได้ไหม
แต่ก็ยังไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายหรอก เพราะเป้าหมายแค่อยากได้ลงเล่น ถ้วย ก. สักหน เจอกับนักบอลดังๆ ที่เป็นไอดอลเราในตอนเด็กแค่นั้นเอง สุดท้ายฟุตบอลมันก็พาไปเราเจออะไรที่ไกลกว่าสิ่งที่ตัวเองคิดไว้เยอะมาก
ช่วงวัยรุ่นคุณเป็นส่วนหนึ่งของทีมชาติไทยยุคดรีมทีม กลายเป็นบุคคลที่ใครๆก็รู้จัก พอทุกอย่าง ทั้งชื่อเสียง เงินทอง ความสำเร็จ เข้ามาหาเร็วขนาดนั้น รับมือกับมันยากไหม?
ต้องยอมรับว่าช่วงนั้นทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน เราได้รับโอกาสดีๆเข้ามาตลอด เดี๋ยวได้ติดธงบ้าง, มีรายได้จากเล่นสโมสรหลักหลายหมื่นต่อเดือน จากไม่เคยเที่ยวก็ลองเที่ยวดูสิ! ก็เริ่มใช้ชีวิตนอกสนามไม่ถูกต้อง ถ้าคนที่เคยติดตามข่าวยุคนั้น ก็จะจำได้ว่า เราเป็นนักบอลเพลย์บอย มีข่าวคราวไม่ดี
ตอนนั้นเราจัดการตัวเองไม่ได้เลย เพราะเราไม่มีใครมาคอยแนะนำ พ่อแม่ก็เสียไปตั้งแต่เรายังเล็กๆ เราใช้ชีวิตด้วยตัวเองมาค่อนข้างเยอะ จึงไม่ค่อยได้คิดวิเคราะห์เท่าไหร่ว่าสิ่งที่ทำอยู่มันดีหรือไม่ดี
เพียงแต่ว่าเรายังโฟกัสกับฟุตบอลเป็นเรื่องหลักในชีวิต อาชีพเราจึงไม่เคยเสีย เพราะเราไม่เคยทิ้งไปไหน ยังคงตั้งใจเล่นฟุตบอลเป็นอันดับแรก มันก็เป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่เราเคยใช้ชีวิตผิดๆ และได้เรียนรู้มาเยอะพอสมควรจากความผิดพลาดในช่วงเวลานั้น
ครั้งหนึ่งคุณเคยตกเป็นข่าวหน้า 1 ถึง 2 ครั้ง (ถูกตัดชื่อออกทีมชาติ และข่าวทะเลาะวิวาทในสถานบันเทิง) เหตุการณ์เหล่านั้นมันเปลี่ยนแปลงคุณไปอย่างไร?
เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า "เราใช้ชีวิตเยอะเกินไปหรือเปล่า?" แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ คือช่วงเวลาที่เราไปเล่นบอลอาชีพที่เวียดนาม ตอนนั้นเราอายุ 33 ปี ถือว่าอายุมากแล้ว ประกอบกับเรามีลูกต้องดูแล เราก็ต้องรู้จักความรับผิดชอบมากขึ้น มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงปุ๊บปั๊บหรอก ค่อยๆปรับทีละอย่าง
ถ้าอย่างนั้นการไปเล่นฟุตบอลอาชีพในต่างประเทศนับ 10 ปี ทั้งในช่วงระยะเวลาสั้นๆที่อินเดีย และระยะยาวที่เวียดนาม เปลี่ยนมุมมองและการใช้ชีวิตคุณไปอย่างไร?
เปลี่ยนเยอะเลย เพราะเราไปในฐานะนักบอลอาชีพ ถ้าสมัยก่อนอยู่เมืองไทย เรามีพรรคพวกเพื่อนฝูงหลายคน เวลาว่างก็จะไปกินดื่มบ้าง แต่อยู่ที่โน่นเราทำแบบนั้นไม่ได้ เช้าซ้อม เย็นซ้อม จะลาไม่มีเหตุผลไม่ได้
สมมติเมื่อก่อนคืนไหนดริงก์หนัก ตื่นเช้าก็โทรบอกโค้ช วันนี้ขอไปสายหน่อยนะ? หากยังเล่นอยู่ไทย เราทำได้ แต่พอเป็นฟุตบอลอาชีพในต่างประเทศ เราหมดสิทธิ์ทำแบบนั้น มันก็ต้องปรับตัวเองไปตามวิถีบอลอาชีพ
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจน คือ พอเรามีวินัยดูแลตัวเองดีขึ้น เรากลับรู้สึกร่างกายแข็งแรงกว่าตอนหนุ่มๆอีก ทั้งที่เราไปเล่นต่างประเทศครั้งแรกตอนอายุ 30 ปี กับ โมฮัน บากัน ในอินเดีย และย้ายไปวี-ลีก เวียดนาม ตอนอายุ 33 ปี เล่นอยู่ที่นั่น 5 ปี จนอายุ 38 ถึงแขวนสตั๊ด ถ้าเราอยู่เมืองไทยตลอด ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเล่นอาชีพได้ถึงอายุ 38 ปีไหม
เคยวาดฝันตัวเองเป็นเฮดโค้ชมาก่อนไหม?
ไม่เคย แต่ได้แรงบันดาลใจมาจากการคุยกับ อาจารย์อาจหาญ (ทรงงามทรัพย์) ก็ได้มุมมองเรื่องการเป็นโค้ช บวกกับเวลาแกสอน "โอ่ง ลองทำแบบนี้สิ" พอเราทำตาม เฮ้ย! มันใช่ เกิดความรู้สึกว่า อาจารย์แกเก่งนะ รู้ได้อย่างไรว่าทำแบบนี้แล้วนักบอลจะเก่งขึ้น?
หลังเลิกเล่นอาชีพ เรามีโอกาสได้ทำงานต่อกับสโมสร ฮอง อันห์ ยาลาย อีก 4 ปี เป็นทั้งผู้ช่วยโค้ชสลับกับเฮดโค้ช จึงได้มีโอกาสสัมผัสกับงานผู้ฝึกสอน
คราาวนี้ได้เรียนรู้แล้วว่า บทบาทหน้าที่มันต่างกับจากตอนเป็นผู้เล่นเยอะมากเลยนะ สมมติ นักบอลเตะ 90 นาทีจบ บอลแพ้ก็อาจเสียใจแค่ 1-2 วัน แต่พอเป็นโค้ชต่อให้เกมนั้นชนะ ก็ต้องพยายามดูรายละเอียด หาจุดผิดพลาดมาปรับปรุง อาชีพนี้มีการบ้านต้องทำเยอะมาก เพราะสิ่งที่ทำให้เราอยู่รอดได้นาน คือ ผลงาน
ตอนเป็นนักบอล หากเราฝีเท้าดี เล่นเก่ง ลงสนามเล่นเต็มที่ทุกนัด ต่อให้ผลการแข่งขันไม่ดี แค่นี้ทีมก็จ้างเราต่อแล้ว แต่งานโค้ชมันไม่ใช่แบบนั้น ถึงเราจะตั้งใจทำงานเต็มที่ ถ้าผลงานทีมไม่เป็นไปตามเป้า เขาก็ไม่จ้างเราต่อ
สมมติเราอยากให้นักบอลวิ่ง ไปสั่งให้เขาเคลื่อนที่เยอะๆ แต่นักบอลไม่ยอมวิ่ง เราจะทำอย่างไร? ต้องมาคิดแล้วว่าจะแก้แบบไหน? สื่อสารกับนักบอลอย่างไร? เราว่าพวกแพตเทิร์นการฝึกซ้อมฟุตบอล โค้ชทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามีอะไรบ้าง แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือรายละเอียดที่โค้ชแต่ละคนจะใส่ลงไป
คุณเริ่มต้นอาชีพโค้ชในต่างประเทศ ได้ประสบการณ์อะไรนำมาปรับใช้การคุมทีมในไทยบ้างไหม?
เอาจริงๆ เราคิดว่าตัวเองได้เรียนรู้การเป็นโค้ช จากการกลับมารับคุมทีม ศรีราชา เอฟซี เพราะตอนนั้นเราห่างกับบอลไทยมาเป็น 10 ปี แล้วงานแรกก็ไม่ประสบความสำเร็จ พาทีมเขาตกชั้น นั่นทำให้เราต้องกระตือรือร้นศึกษาให้มากขึ้นกว่าเดิม
ข้อดีอย่างหนึ่งคือ เราเป็นคนชอบถาม ชอบคุยกับโค้ชทุกรุ่น ไม่ว่าจะอายุมากกว่าหรือน้อยกว่า ชอบฟังมุมมองความคิดไอเดียการทำฟุตบอลของเขา แล้วลองนำมาปรับดูกับตัวเองสิว่าได้ไหม?
ถึงเราจะเริ่มต้นงานโค้ชที่เวียดนาม แต่จุดสตาร์ทในการเรียนรู้อาชีพนี้จริงๆ คือตอนกลับมาทำงานในเมืองไทย
ที่ผ่านมา ทำไมคุณถึงเลือกจับแต่ทีมขนาดเล็กและสโมสรในลีกรองมาโดยตลอด ทั้งที่ชื่อเสียงดีกรีสมัยเป็นนักเตะของคุณก็ไม่ธรรมดานะ?
ส่วนหนึ่งเพราะคาแรกเตอร์เราเป็นคนแบบนี้ ไมได้คิดว่าตัวเองเด่นดัง ต้องจับแต่ทีมใหญ่เท่านั้น เราทำได้หมดทุกทีม เพียงแต่เราชอบทำงานกับสโมสรที่สามารถดูแล และมีอิสระในการทำอย่างเต็มตัว มันเหมือนเราได้สร้างทีมนั้นจริงๆ ก็เลยวนเวียนอยู่กับสโมสรลีกรองมาตลอด
แต่วันหนึ่งด้วยวิถีฟุตบอล เราทำหลายสโมสรเลื่อนชั้น มันเป็นผลงานที่ผู้ใหญ่เขามองเห็น และเป็นจังหวะเวลาที่เราอยากลองออกมาหาความท้าทายที่สูงขึ้นกว่าเดิมบ้าง เราจึงตอบตกลงรับงานคุม บีจี ปทุม ยูไนเต็ด
ประสบการณ์จากลงไปคุมสโมสรเล็กมาหลายปี มันช่วยให้ทำทีมใหญ่ง่ายขึ้นไหม? หรือก็ไม่ได้ช่วยเท่าไหร่ เพราะบริบทมันแตกต่างกัน?
ความคาดหวังมันต่างเยอะมาก ทั้งจากผู้บริหาร, แฟนบอล รวมถึงนักเตะที่เขาก็คาดหวังว่า โค้ชจะทำให้เขาเก่งขึ้นและนำความสำเร็จมาสู่สโมสร
แต่มันก็มีข้อดีตรงที่ ศักยภาพของทีมใหญ่ทั้งงบประมาณ, การบริหารจัดการ, ขุมกำลังผู้เล่น ย่อมดีกว่าทีมเล็ก เราไม่สามารถอ้างได้ว่า ทีมไม่พร้อม ดังนั้น มันเป็นการวัดความสามารถทั้งหมดของโค้ชว่า หากมีพร้อมทุกด้านแล้ว เราจะทำได้ตามความคาดหวังของทุกฝ่ายไหม?
คนภายนอกจะรู้สึกว่าคุณเป็นโค้ชดูมาดนิ่ง สุขุม สไตล์การคุมทีมและตัวตนของ โค้ชที่ชื่อ ดุสิต เฉลิมแสน เวลาอยู่กับลูกทีมเป็นแบบอย่างไร?
ไม่นะ น้องๆ นักฟุตบอลรู้ดีว่าพี่เป็นคนตลก ชอบอำ ชอบหยอกนักบอล สนุกสนาน พยายามสร้างบรรยากาศการทำงานให้เหมือนพี่กับน้อง ไม่ใช่โค้ชกับนักบอล
ถามว่าเราสามารถรักษาระยะห่างกับลูกทีมได้ไหม? ก็ได้นะ แต่เราเชื่อว่านักบอลไทย, คนไทย ถ้าเราเข้าถึงเขา เราก็จะสามารถคุยกับเขาได้ทุกเรื่อง รับรู้ปัญหาเขา
โค้ชบางคนไปเว้นระยะกับนักบอลเยอะเกินไป พอมีปัญหาเกิดขึ้น เขาก็จะไม่กล้ามาคุยกับโค้ช แต่เราให้ความเป็นกันเองกับลูกทีม ทำให้หลายๆเรื่องอาจเป็นปัญหาในอนาคต คลี่คลายลง เพราะเราเปิดอกคุยกันได้ และแก้ไขปัญหานั้นได้ทันท่วงที
บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ฤดูกาลนี้มีผู้เล่นซูเปอร์สตาร์อยู่ในทีมเยอะมาก แต่ก็ยังมีพวกนักเตะไทยเกรดรอง และดาวรุ่งรวมอยู่ด้วย คุณมีวิธีการอย่างไรในการหล่อหลวมในนักเตะเหล่านี้ให้อยู่รวมกันเป็นหนึ่ง จนทำผลงานออกมาได้ดี?
เราใส่ใจและให้ความเป็นกันเองกับนักเตะทุกคนเท่าเทียมกัน เราปฏิบัติกับ นิว (ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์), ตังค์ (สารัช อยู่เย็น), วิกเตอร์ (คาร์โดโซ), (อันเดรส) ตูเญซ อย่างไร เราก็ทำแบบเดียวกับ แฮ่ม (ศุภศักดิ์ สารภี) และเด็กคนอื่นๆ ทำให้ทุกคนในทีมเลยอยู่กันอย่างมีความสุข
ถามว่าโค้ชโอ่ง ดุสิต ดังไหม? เป็นซูเปอร์สตาร์หรือเปล่า? ก็เป็นนะ แต่เราไม่เคยใช้จุดนั้นหรือวางอีโก้ใส่น้องๆในทีมเลย เราจะไม่ใช้คำพูดประเภทว่า "ทำไมเอ็งเล่นกันไม่ได้ว่ะ สมัยพี่เป็นนักเตะยังทำได้เลย?" หรือข่มเขาว่า โค้ชเป็นดาราเอเชีย สั่งอะไรต้องทำตามทุกอย่างสิ
เรามีแต่ชื่นชมเด็กรุ่นใหม่ "เฮ้ย พวกเอ็งสุดยอดว่ะ, สมัยพี่ยังทำไม่ได้เลย, พวกเอ็งเก่งกว่าสมัยพี่เล่นอีก" เหมือนถ้าเราไปขีดเส้นบางอย่างไว้ บางทีนักบอลเขาก็ไม่กล้าข้ามไปหาเราหรอก แต่พอเราเป็นแบบนี้ มันคุยได้หมดทุกเรื่อง คุยได้ลึกกว่าเดิม ต่อให้เราจะมีซูเปอร์สตาร์ล้นทีม แต่บรรยากาศการฝึกซ้อม ในสนาม ทุกคนเอ็นจอยและสนุกกันได้หมด
ถ้าอย่างนั้น บทเรียนหรือความผิดพลาดในสมัยเป็นผู้เล่น คุณสามารถนำเอามาใช้เพื่อสอนนักเตะรุ่นใหม่ด้วยหรือเปล่า? ถ้าสมมติเห็นเด็กคนหนึ่งกำลงเดินในทางที่ผิด คุณจะมีวิธีการพูดหรือบอกเขาอย่างไร?
เราเจอเด็กแบบนี้มาเยอะ เพราะเราเคยทำมาหลายสโมสร เอาเป็นว่าเด็กคนไหนเกเร มาอยู่กับโค้ชโอ่งได้เลย เพราะสมัยก่อนโค้ชก็เกเร ผีเห็นผีอ่ะ เราดูเขาออกหมด
เด็กบางคนเดินทางผิดพลาด ไปเพราะหลงคิดว่า ชีวิตนักบอลคงได้แค่นี้แหละ ทั้งที่หากเขาดูแลตัวเอง อดทนกับมันสักนิด เขาสามารถไปถึงเงินเดือนหลักแสนได้ไม่ยาก
ดังนั้น ถ้าเราเจอเด็กเกเร เราจะสอนเขาตลอดว่า "อย่าไปทำแบบนั้นนะ ด้านมืด ด้านเทา อย่าเลยเชื่อสิ พี่เคยเป็นมาก่อน โค้ชเคยลองมาแล้ว มันไม่ดี สู้เอาเวลามาตั้งใจเล่นฟุตบอล อยู่ในกรอบดีกว่า ฟุตบอลอาชีพมันหากินได้แค่ระยะสั้นเองนะ ประมาณ 10 กว่าปีเอง ทำไมไม่พยายามดูแลตัวเอง เก็บเงินเก็บทองให้ได้มากที่สุดล่ะ?"
แต่เด็กส่วนมากที่เราเจอ เขาก็จะกลับตัวกลับใจนะ ฟังที่เราสอน เชื่อในสิ่งที่เราพูด เพราะเขารู้ว่าเราเคยผ่านมาก่อนและหวังดีกับเขาจริงๆ ต่อให้แยกย้ายกันอยู่ทีมอื่น เวลาเจอหน้าเรา ไอ้เด็กพวกนี้ก็จะวิ่งเข้ามากอดเราตลอด
คุณเป็นนักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จ เคยได้ติดทีมดาราเอเชียด้วย แต่คุณกลับไม่ค่อยออกหน้าสื่อ ดูเหมือนชอบใช้ชีวิตเงียบๆ เพราะอะไร?
พื้นฐานเราเป็นคนไม่ชอบออกสื่ออยู่แล้ว สมัยดังๆ ยุคดรีมทีม มีช่องทีวีมาติดต่อชวนไปออกรายการบ่อย แต่ปฏิเสธตลอด ไม่ใช่ว่าเราอินดี้นะ แต่เราไม่อยากอยู่ในโลกแบบนั้น เรายังต้องการชีวิตส่วนตัว อยากเดินไปไหนมาไหนสะดวก ไม่อยากใช้ประโยชน์จากความดังไปทำให้ตัวเองเป็นที่สนใจของสื่อหรือของผู้คน
ทำไมคุณถึงไม่เล่นโชเซียลมีเดีย?
จริงๆ เป็นคนสมาธิสั้น อยู่กับอะไรนานๆ ไม่ค่อยได้ ถ้าอยู่บ้านก็เดี๋ยวลุก เดี๋ยวนั่ง เดี๋ยวเดิน ไม่ค่อยอยู่นิ่ง เคยลองเล่นโซเชียลมีเดีย แต่เวลาเราเห็นน้องเรา เพื่อนเรา โดนคอมเมนต์ด่าเสียหาย บางทีเรารับไม่ได้ อยากจะสวนแทนเหมือนกันว่า "ฟุตบอลมันไม่ได้ทำง่ายขนาดนั้นนะ"
เราจึงสอนนักบอลในทีมตลอดว่า ถ้าใจไม่แข็งพอ ก็อย่าไปอ่านพวกคอมเมนต์ เพราะในโซเชียลมีเดีย มันมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเรา บางคนเขาใช้ช่องทางนี้เพื่อระบายอารมณ์อย่างเดียวก็มี
ในวัย 50 ปี คิดว่ามีนิสัยอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหมจากตอนหนุ่มๆ?
นิสัยเหมือนเดิม เป็นคนเพื่อนเยอะ แต่บางครั้งก็ชอบอยู่กับตัวเอง มีมุมส่วนตัวบ้าง ไม่ได้ชอบออกสังคมเท่าไหร่ คิดว่าตัวเองไม่เคยเปลี่ยนไปนะ เพราะเพื่อนที่คบหาเมื่อก่อน ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่
ถ้าอย่างนั้นพอจะบอกได้ไหมว่าสิ่งที่ได้เข้าใจและตกผลึกเกี่ยวกับ ชีวิต การทำงาน ในวัย 50 ปีของ ดุสิต เฉลิมแสน คืออะไร?
เราเข้าใจความคาดหวังของคนอื่นมากขึ้น และไม่คิดเข้าข้างตัวเอง อันนี้เป็นสิ่งที่คิดได้จริงๆนะ เพราะไม่เคยยึดติดเลยว่า โค้ชโอ่ง ต้องอยู่ที่นี่เท่านั้น
เรายอมรับได้ในสิ่งที่ผู้คนคาดหวังอยากเห็นทีมประสบความสำเร็จ สมมติคุมบีจีฯ 3 นัด ผลงานเสมอ 1 นัด แพ้ 2 เกมติดต่อกัน เราก็คงอยู่ยากแล้ว แต่เราจะไม่โทษใคร เพราะเราเข้าใจธรรมชาติการบริหารทีมใหญ่ เราเข้าใจความผิดหวังของแฟนบอล เข้าใจทุกอย่างหมดเลย
ในการทำฟุตบอล ผลงานคือสิ่งที่พิสูจน์ทุกอย่าง หากวันหนึ่งโชคร้ายต้องแยกทางกัน เราจะไม่พูดเรื่องไม่ดีลับหลังเลย เพราะเราเลือกเองที่จะเซ็นสัญญามาอยู่สโมสรนี้ เราต้องรับผิดชอบกับผลที่จะตามมา
เรารู้ดีว่าฟุตบอลมันไม่สามารถสมหวังได้ทุกวันหรอก มันต้องมีวันที่ผิดหวัง เพียงตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่อนาคตใครจะไปรู้
ชีวิตเราผ่านมาจนอายุ 50 แล้ว เล่นฟุตบอลมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เราผ่านหลายสิ่งหลายอย่างมาเยอะมาก เจอทั้งดีและร้าย มาถึงวันนี้เราเตรียมใจ ยอมรับได้กับทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็สามารถอยู่กับปัจจุบันได้
อัลบั้มภาพ 14 ภาพ