การแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของ โรเบิร์ต เดอ นีโร ในฐานะ "เจค ลามอตต้า" นักมวยสุดบ้าบิ่น
รางวัลออสการ์ 2 สมัยทำให้ โรเบิร์ต เดอ นีโร กลายเป็นตำนานของวงการฮอลลีวูด
หนึ่งในบทบาทที่ทำให้เขากลายเป็นตำนาน คือการใส่นวมและสวมวิญญาณของ เจค ลาม็อตต้า นักชกที่ว่ากันว่า "โดนต่อยเท่าไหร่ก็ไม่เคยเจ็บ"
ภายใต้บทบาทนักมวยนั้นมีอะไรซ่อนอยู่ และ โรเบิร์ต เดอ นีโร ทุ่มสุดตัวขนาดไหนจนได้ออสการ์ ? ติดตามทั้งหมดได้ที่นี่
1950s ยุคที่ไฟเตอร์เต็มวงการ
ฉายาของนักมวย สามารถบอกถึงวิธีการและจิตใจของนักชกเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ย้อนกลับไปในช่วงยุค 40s-50s ว่ากันว่ายุคนั้นเป็นยุคที่มวยชกกันได้มันและสนุกสะใจคนดูมากที่สุด โดยมีชื่อเรียกยุคกันอีกอย่างว่า ยุคโอลด์สคูล ของวงการมวยเลยก็ว่าได้
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือในยุค 40s-50s นั้น นักมวยแต่ละคนยังไม่ได้มีวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีนักโภชนาการดูแลอาหารของนักนักชกยุคนั้น ไม่มีนักจิตวิทยาทางการกีฬาเพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถลดความตึงเครียดในจิตใจได้เหมือน ณ ปัจจุบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เริ่มเข้ามาในช่วงปลายยุค 60s หรือจะอธิบายให้เห็นภาพคือ ยุคที่ มูฮัมหมัด อาลี เข้ามาในวงการและทำให้มวยรุ่นเฮฟวี่เวตดังคับโลกนั่นเอง
ในยุค 40s-50s นั้นมันเป็นอะไรที่แตกต่างมากมาย ที่เห็นชัดที่สุดในตอนนั้นคือ นักมวยผิวดำไม่ได้รับการยอมรับเหมือนปัจจุบัน ในช่วงเวลานั้นที่สหรัฐอเมริกา มีมาเฟียมวยซึ่งส่วนใหญ่มาจากพวกแก๊งสเตอร์ที่เป็นกลุ่มคนผิวขาว การเลี้ยงนักมวยไว้ในแก๊งเปรียบเหมือนกับการมีอาวุธเอาไว้ขู่คู่แข่ง และเป็นการเอาชนะกันบนเวทีแทนที่จะใช้ปืนยิงกันที่ข้างถนน
จะเห็นได้ว่ามวยในยุคนั้น มันคือการเดิมพันกันด้วยศักดิ์ศรีของแก๊ง มากกว่าการที่จะหาผู้ชนะในแง่ความเป็นเลิศทางกีฬา ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมากับนักมวยแทบทุกคนในยุคนั้น เมื่อพวกเขาเดินขึ้นเวที ไม่มีใครชกเพื่อรอนับคะแนนเมื่อต่อยครบยก น็อคเอาต์เท่านั้นที่พวกเขาต้องการ
ยอดฝีมือในยุคนั้นมีเพียงหนึ่งเดียว ชื่อของเขาคือ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน นักชกผิวดำ ที่ถูกเรียกว่า "นักชกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์" คนแรกของโลก ด้วยเหตุผลของความเก่งกาจที่ขึ้นมาเป็นแชมป์โลกได้ ในช่วงเวลาที่โดนเหล่ามาเฟียกีดขวางเส้นทางนักชกผิวดำ ด้วยการชนะทุกคนจนหมด และนำมาซึ่งการเปิดโอกาสให้เขาขึ้นชิงแชมป์โลกเป็นครั้งแรก และครองบัลลังก์นักชกที่เอาชนะคู่แข่งได้มากกว่าร้อยไฟต์
Photo : www.ringtv.com
"ชูการ์ เรย์ โรบินสัน คือคนที่ต้องต่อสู้กับพลังที่มองไม่เห็น นอกจากไล่กวาดนักชกที่ยิ่งใหญ่ในรุ่นจนหมดเกลี้ยง เขายังต้องสู้กับเรื่องเชื้อชาติ แต่ที่สุดยอดคือเขาสามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งหมดได้" วิล เฮย์กู้ด ผู้เขียนหนังสือ Sweet Thunder: Life and Times of Sugar Ray Robinson กล่าว
ด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมา ก็น่าจะพอเข้าใจความไร้เทียมทานของ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน ได้เป็นอย่างดี และอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น มวยยุคนั้นไม่เคยมีการเลือกคู่ชกแบบกลัวเสียแชมป์ ไม่มีการอมเข็มขัด ใครเก่งที่สุดย่อมได้เจอกันแบบไร้ข้อแม้ ดังนั้นแม้แต่คนเก่งอย่าง โรบินสัน ก็ยังต้องเคยลิ้มรสความพ่ายแพ้ครั้งแรกจนได้
แต่ใครล่ะที่สามารถเอาชนะนักมวยที่ดีที่สุดในโลกเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ นักชกที่หลายคนบอกว่าครบเครื่องและล้ำยุคเหมือนกับย้อนเวลามาจากโลกอนาคต
ผู้ปราบ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน คือ เจค ลาม็อตต้า เจ้าของฉายา กระทิงคลั่ง ... ว่ากันว่านักชกคนนี้ไม่เคยรู้จักคำว่าเจ็บคำว่าปวด และทนมือทนหมัดมากที่สุด ... เขาใช้สิ่งนี้เอาชนะ โรบินสัน จริงหรือไม่ ?
กระทิงคลั่ง
เรื่องราวของ เจค ลาม็อตต้า นอกสังเวียน ไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนกับที่ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน เป็น เขาเป็นลูกครึ่งอเมริกัน-อิตาเลียน และเติบโตมาในสังคมของแก๊ง เคยปล้นและฆ่าคนด้วยการซ้อมจนตายมาแล้ว (เรื่องดังกล่าวเจ้าตัวออกมาสารภาพในภายหลัง) และชื่อเสียงเรียงนามของเขาไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะเรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เขายอมรับว่าเขามีนิสัยเสีย คือการชอบทุบตีภรรยาในยามที่มึนเมา จนทำให้ชีวิตสมรสของเขาไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก โดยเขาผ่านการแต่งงานมาถึง 7 ครั้งเลยทีเดียว
Photo : www.independent.co.uk
อย่างไรก็ตามในฐานะนักมวย ลาม็อตต้า ถือเป็นนักชกสไตล์ยุค 40s-50s ของแท้ แม้ฝีไม้ลายมือจะเป็นรอง ชูการ์ เรย์ โรบินสัน แต่ เจค ลาม็อตต้า ถูกเรียกว่า กระทิงคลั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า เขามักจะระบายความโกรธแค้นเมื่อขึ้นเวที ยิ่งเขาโดนคู่แข่งชกเท่าไหร่ เขายิ่งเลือดขึ้นหน้า และซึมซับเอาน้ำหนักหมัดของคู่ชกเข้ามาเป็นพลังของตัวเอง ฟังดูอาจจะเหมือนเว่อร์ แต่เขาก็เคยบอกด้วยตัวเองว่า ตอนที่เขาโดนชก เขาไม่รู้สึกเจ็บปวดเลยแม้แต่น้อย
"ผมต่อสู้ตั้งแต่ 7 ขวบ ผมสู้ข้างถนนเพื่อเงินไม่กี่เหรียญ ผมเอาเงินที่ได้มาช่วยพ่อผมจ่ายค่าเช่าบ้าน ผมขึ้นเวทีมาจนนับไม่ถ้วนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ผมต้องการ ตอนที่ซ้อมมวย เด็กคนอื่นอาจจะซ้อมแค่ 3-4 ยก แต่ผมซ้อมทีละ 10-20 ยก"
"ผมชินกับการโดนชก จนเหมือนกับว่าผมสามารถหลอกร่างกายตัวเองได้ว่าผมไม่ได้เจ็บปวด ผมรู้สึกว่าไม่มีใครทำผมเจ็บได้ ผมอาจจะถูกเย็บที่หางคิ้ว จมูกหัก มือแตก แต่ขอโทษเถอะ ผมไม่เคยเจ็บปวดกับเขาเลยสักที" เจค ลาม็อตต้า ว่าไว้เมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิต
Photo : www.boxingnewsonline.net
ลาม็อตต้า นั้นถือเป็นเจ้าถิ่นในรุ่นมิดเดิลเวตมาก่อน จนกระทั่งวันที่ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน ใช้ฝีมือเอาชนะเรื่องสีผิว และก้าวจากรุ่นเล็กกว่าขึ้นมา ทั้งคู่จึงได้เจอกันครั้งแรกในเดือนตุลาคมปี 1942 การเจอกันครั้งนั้นเป็นเหมือนไฟต์แรกของโลกที่มวยสากลสามารถแบ่งสายนักมวยได้ 2 แบบ ได้แก่ ไฟเตอร์ และ บ็อกเซอร์ ... ลาม็อตต้า เป็นมวยไฟเตอร์หมัดหนักแต่ตั้งรับไม่เป็น ขณะที่ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน คือมวยที่เหมือนมาจากอนาคต เน้นการชกที่จะแจ้ง พลังหมัดสูง รู้จักผ่อนช้า เร่งจังหวะ
"มวยสไตล์ของผมคือการออกมาจากมุมได้เมื่อไหร่แล้วชกกันให้ตายไปข้าง ลงโทษคู่ชกให้ได้ หยิบยื่นหมัดให้พวกเขากินแทนอาหาร บู้ม บู้ม บู้ม ! ให้มันร่วงตรงนั้นไปเลย" ลาม็อตต้า กล่าวกับ The New York Times
การเจอกันครั้งแรก เจค ลาม็อตต้า เดินหน้าชก ชูการ์ เรย์ แบบไม่กลัวตาย ไฟต์นั้นแม้เขาจะเป็นฝ่ายเดินหน้า แต่ ชูการ์ เรย์ คือคนที่ออกหมัดจะแจ้งยิ่งกว่า โคตรมวยคนนี้ได้ทุกแบบไม่ว่าจะดักชกหรือแลกหมัดกับ ลาม็อตต้า ดังนั้นการเจอกันในปี 1942 ลาม็อตต้า จึงแพ้คะแนนไปแบบเอกฉันท์ ข้อดีอย่างเดียวที่ยังพอไหว คือในไฟต์นั้นเขาไม่ยอมโดนนับ 10 ให้เสียชื่อฉายา กระทิงคลั่ง เขาฝืนจนยืนครบยกได้อย่างน่าชื่นชม แม้จะต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ก็ตาม
ความห่างชั้นค่อนข้างจะชัดเจนในระดับหนึ่ง แต่เมื่อแพ้ไปก็ต้องทวงแค้นคืน หลังจากพ้นไฟต์แรกมาไม่นาน ลาม็อตต้า ยังคงเชื่อมั่นตัวเองเสมอว่า เขาจะสามารถทนหมัดที่หนักหน่วงของ ชูการ์ เรย์ ได้นานกว่าไฟต์ที่ผ่านมา และจะสู้ได้ดีกว่าที่เคย เขาเป็นคนประเภทที่หลายคนอาจจะเรียกว่าโง่ แต่สำหรับ ลาม็อตต้า เรียกว่าความเชื่อมั่น
"ผมไม่เคยกังวลเลยก่อนการเดินขึ้นเวทีเพื่อชกกับใคร ผมคิดเสมอว่าผมสามารถชนะได้ ... ทุกครั้งและตลอดเวลา ผมเป็นเช่นนั้นมาเสมอ" เขาว่าไว้
Photo : www.thefightcity.com
ไฟต์ที่ 2 ลาม็อตต้า กลับมาพร้อมกับแบกศักดิ์ศรีของย่านบรองซ์ ถิ่นของแชมป์มวยโลก และสามารถยัดเยียดความปราชัยครั้งแรกให้กับ โรบินสัน ได้สำเร็จ ด้วยการเอาชนะคะแนน ก่อนจะชกกันอีก 3 ครั้งภายในช่วงยุค 40s (ไฟต์ที่ 2 และ 3 ของทั้งคู่เกิดขึ้นในช่วงเวลาห่างกันเพียง 21 วันเท่านั้น) ซึ่ง 3 ครั้งดังกล่าว ชูการ์ เรย์ เอาชนะได้ทั้งหมด จนมาถึงครั้งสุดท้าย ครั้งที่ทั้งคู่อยู่ในช่วงอายุที่พีกที่สุด แถมยังมีเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นมิดเดิลเวตเป็นเดิมพัน การต่อสู้ครั้งที่ 6 ในปี 1951 ที่ เจค ลาม็อตต้า ได้แสดงให้โลกรู้ว่า ทำไมเขาถึงได้ฉายาว่า ไอ้กระทิงคลั่ง
ไฟต์นั้น ชูการ์ เรย์ โรบินสัน เหนือกว่าตามราคา เขาเดินหน้าไล่ชกหมายจะเอา ลาม็อตต้า ที่เป็นแชมป์โลกให้น็อคตั้งแต่ไก่โห่ แต่ ลาม็อตต้า แสดงให้เห็นว่าการโม้ว่า "ไม่เคยเจ็บ" ของเขาไม่ใช่แค่ข่าวลือ เขาโดน โรบินสัน จ้วงหมัดแล้วหมัดเล่า ชนิดที่ว่าใครเห็นก็ต้องบอกว่าลงแน่ แต่สุดท้าย ลาม็อตต้า ยืนระยะได้ถึง 13 ยก และแสดงออกถึงความ "ไม่เคยกลัว" นักชกที่ดีที่สุดในโลกตลอดกาลอย่าง โรบินสัน ด้วย
"มึงทำไม่ได้หรอกไอ้มืดสันขวาน มึงเอากูลงไม่ได้หรอกโว้ย", "มีอีกก็เอามาอีกสิวะ", "ขอหนัก ๆ อย่าให้กูผิดหวัง" นี่คือเสียงตะโกนของ ลาม็อตต้า ที่สวนทางกับสภาพบนเวทีของเขา ที่แทบจะยืนไม่ไหวตั้งแต่ยกที่ 6 แล้ว
จนแล้วจนรอด 13 ยกที่ ลาม็อตต้า ทนทายาด "มึงเก่งจริง แต่คว่ำกูไม่ได้หรอก" เขาพยายามจะบอกแบบนั้น นวมของทั้งคู่เต็มไปด้วยเลือดเหมือนกับการสังหารหมู่ ก่อนที่กรรมการจะทนเห็นสภาพไม่ไหว ยุติการชกด้วยความพ่ายแพ้ของ ลาม็อตต้า จนได้
Photo : www.independent.co.uk
วันนั้นทุกคนไม่ได้แค่จดจำความเหนือชั้นของ โรบินสัน แม้ปลายทางเขาจะเป็นผู้ชนะ แต่ที่สุดแล้วชื่อของ เจค ลาม็อตต้า ก็ถูกกล่าวขานในฐานะยอดนักสู้ตัวจริง คนที่สู้ยิบตาจนวินาทีสุดท้าย แม้จะเห็นว่าแพ้ชัด ๆ แต่ก็ไม่เคยยอมแพ้ ...
การชกไฟต์นั้นถือเป็น 1 ในหน้าประวัติศาสตร์มวยโลกในชื่อ "การสังหารหมู่ในวันวาเลนไทน์" นักชกทั้งสองคนกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ของยุค และเรื่องราวของ เจค ลาม็อตต้า ก็ถูกนำมาเล่าบนแผ่นฟิล์มภายใต้การกำกับของ มาร์ติน สกอร์เซซี ภายใต้ชื่อเรื่องว่า Raging Bull ... หนังที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะเล่าแค่มวย แต่จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของคน ๆ หนึ่งที่ทนทายาด ไม่ว่าจะเรื่องใดในชีวิตก็ตาม
Raging Bull
"มีคนถามผมว่าทำไมถึงอยากจะเล่าเรื่องชีวิตของผู้ชายคนนี้ ทั้งที่เขาใช้ชีวิตอย่างกับแมลงสาบขนาดนั้น และผมตอบว่า ก็เรื่องแมลงสาบนี่แหละที่ผมอยากจะทำ" มาร์ติน สกอร์เซซี กล่าว
Photo : www.theguardian.com
มาร์ติน สกอร์เซซี ตั้งใจวางพล็อตเรื่องให้ Raging Bull ไม่ใช่เรื่องราวของการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งแชมป์อันรุ่งโรจน์ของ ลาม็อตต้า แต่เขาอยากจะให้เห็นถึงชีวิตของคนสองเชื้อชาติ ผู้เลือกเดินบนเส้นทางที่ไม่มีสิทธิ์เลือกมากนัก และที่สำคัญคือเรื่องความเศร้าภายในจิตของ ลาม็อตต้า ที่ระลึกถึงความเลวในอดีตของตัวเองเสมอมา และต้องการใช้เส้นทางของการเป็นแชมป์โลกไถ่บาปที่ตัวเองเคยทำ
ความจริงที่หลายคนไม่รู้ คือก่อนจะมาเป็นหนังเรื่องนี้ มาร์ติน สกอร์เซซี ได้รับคำแนะนำจาก โรเบิร์ต เดอ นีโร ดาราเจ้าบทบาทที่เคยร่วมงานกับเขาในภาพยนตร์ Taxi Driver ให้ลองอ่านประวัติของ เจค ลาม็อตต้า ชื่อเรื่อง Raging Bull: My Story ดูในระหว่างที่เขาต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการน็อคโคเคน ... ซึ่งเมื่อได้อ่านแล้ว สกอร์เซซี เห็นชอบกับ เดอ นีโร ว่า หนังเรื่องนี้มีอะไรที่ซ่อนอยู่ ที่เขาทั้งคู่อยากจะหาคำตอบ
"ผมเคยเจอ เจค ลาม็อตต้า ด้วยตัวเองในคลับของผู้ชายในย่านบรอดเวย์ เขาทักทายทุกคน และผมสังเกตว่าเขามีน้ำหนักเกินเกณฑ์ไปเยอะเลย ผมก็คิดในใจว่า คนรูปร่างอย่างเขาไปถึงแชมป์โลกได้อย่างไร ยิ่งเมื่อได้อ่านหนังสือชีวประวัติของเขา ทั้งในแง่นักสู้ทั้งในและนอกสังเวียน ผมรีบโทรหา มาร์ตี้ (มาร์ติน สกอร์เซซี) ว่านายต้องทำหนังจากหนังสือเรื่องนี้นะ"
"นี่ไม่ใช่หนังสือที่ยอดเยี่ยมที่สุด แต่มันมีบาอย่างซ่อนอยู่ มันซ่อนใจความสำคัญเอาไว้ คุณลองเอาไปอ่านดูแล้วบอกผมทีว่าคุณคิดยังไง ?" โรเบิร์ต เดอ นีโร ว่ากับ ESPN
Photo : www.theguardian.com
เมื่อ เดอ นีโร เป็นคนเสนอ นั่นก็หมายถึงว่าเขาจะต้องรับบทพระเอกของเรื่อง ไม่ใช่แค่เพราะชอบ แต่เขาเชื่อว่าบทนี้คือบทที่น่าสนใจ และจะทำให้เขาครองตำแหน่งดารานำชายยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ได้เสียที หลังจากที่ในปี 1975 เขาเคยคว้ารางวัลดาราสมทบชายยอดเยี่ยมมาได้จากภาพยนตร์เรื่อง The Godfather Part II (รับบทเป็น วิโต คอร์เลโอเน วัยหนุ่ม บทเดียวกับที่ มาร์ลอน แบรนโด เล่นจนดังระเบิดใน The Godfather และได้ออสการ์ในปี 1972) ทว่าในปี 1977 และ 1979 เขาเข้าชิงรางวัลดารานำชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง Taxi Driver และ The Deer Hunter แต่ก็แพ้ไปในท้ายที่สุด
เรื่องฝีมือการแสดงไม่มีใครสงสัยอยู่แล้ว เพราะเขาการันตีด้วยรางวัลออสการ์ ทว่าความสุดยอดในเรื่องนี้ไม่ใช่การตีบทแตกในฐานะนักมวย แต่ เดอ นีโร เข้าถึงจิตวิญญาณของผู้ชายที่ไร้ความสมบูรณ์ภายในตัวเขาที่บูดเบี้ยวไปหมด เขาต้องแสดงแววตาที่ผิดในใจและไถ่บาปตลอดทั้งเรื่อง และเพื่อให้อิน เข้าถึงบทบาท ลาม็อตต้า ที่สุด เดอ นีโร ถึงขั้นเดินทางไปยังตอนเหนือของประเทศอิตาลี เพื่อได้เรียนรู้สำเนียงที่ตรงกับ เจค ลาม็อตต้า ที่สุดอีกด้วย
เดอ นีโร ทำเวิร์กช็อปสำหรับบทบาทของ เจค ลาม็อตต้า หนักมาก นอกจากเขาจะต้องร่ำเรียนการชกมวยสากลแล้ว เขายังต้องลดและเพิ่มน้ำหนักแทบจะตลอดทั้งเรื่อง มีอยู่ครั้งนั้นเขาต้องเพิ่มน้ำหนักจาก 145 ปอนด์ให้เป็น 215 ปอนด์ เนื่องจากต้องรับบท ลาม็อตต้า ในวันที่เกษียณแล้ว ซึ่งการเพิ่มน้ำหนักแบบกระทันหันครั้งนี้ทำให้เขาเกือบตายคากองถ่ายมาแล้ว เนื่องจากหายใจไม่ทันเพราะน้ำหนักที่ก้าวกระโดด และในวันที่ต้องลดน้ำหนักเร่งความฟิตเพื่อให้ได้กล้ามแบบนักมวย เดอ นีโร ก็จัดเต็มจนสามารถทำตัวเหมือนกับเป็น ลาม็อตต้า จริง ๆ
Photo : www.metaflix.com
นี่คือบทที่เขาต้องรับเดี๋ยวนั้นและทำให้เต็มที่ในปีนั้น เพราะถ้าเขาคิดนานจนปล่อยเวลาผ่านไป ร่างกายของเขาอาจจะไม่สามารถเล่นบทนักมวยได้อีกต่อไปเลยก็เป็นได้
"ผมปล่อยให้ตัวเองแก่กว่านั้นไม่ได้แล้ว ผมอายุ 34-35 แล้วในปี 1980 นั่นคือโอกาสเดียวของผม" เดอ นีโร กล่าวถึงเหตุผลที่เขาต้องทุ่มสุดตัวตลอดช่วงเวลาที่รับบทบาท เจค ลาม็อตต้า
Photo : pnabarro.wordpress.com
ขณะที่ เจค ลาม็อตต้า ตัวจริงที่คอยเป็นพี่เลี้ยงให้ โรเบิร์ต เดอ นีโร ก็ยืนยันถึงความทุ่มเทของนักแสดงเจ้าบทบาทว่า เดอ นีโร ทุ่มสุดตัวจริง ๆ ซ้อมเหมือนกับเป็นนักมวยอาชีพ และยังทิ้งท้ายว่า หลังจากที่ เดอ นีโร เล่นบทนี้ เขาเชื่อว่า เดอ นีโร จะสามารถขึ้นไปชกกับนักมวยอาชีพได้เลยทีเดียว
การแสดงแบบเข้าถึงกึ๋น ทั้งในช่วงใช้ชีวิตครอบครัวที่เลวร้าย และนักมวยสายทนทายาดของ โรเบิร์ต เดอ นีโร ถึงกับทำให้ เจค ลาม็อตต้า ที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ต้องเสียน้ำตา และนึกย้อนกลับไปถึงวันเก่า ๆ เลยทีเดียว ...
"มันคือหนังที่กระตุ้นจิตใต้สำนึก ผมดูทุกฉากแล้วคิด เฮ้ย นี่ผมทำทั้งหมดเหมือนในหนังจริง ๆ น่ะเหรอ ผมบอกตรง ๆ ผมไม่ชอบหนังเรื่องนี้เลย ผมยิ่งดูมันเท่าไหร่ ผมยิ่งเห็นพฤติกรรมความเลวร้ายและรุนแรงของตัวเอง ผมดูหนังเรื่องนี้กับภรรยา และในฉากทุบตีกันบนจอหนัง ผมหันหน้าไปถามเธอว่า 'นี่ผมเลวขนาดนั้นเลยเหรอ' ภรรยาของผมตอบว่า 'ไม่หรอกที่รัก คุณเลวกว่านั้นเยอะ'" ลาม็อตต้า กล่าว
Photo : www.imdb.com
ทุกอย่างที่กล่าวมายืนยันได้อย่างชัดเจนว่า โรเบิร์ต เดอ นีโร เข้าถึงบทบาทนี้ได้ขนาดไหน ความทุ่มเทและพยายามที่จะแสดงออกมาให้ดี ถูกตอบสนองด้วยรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมประจำปี 1981 ของ โรเบิร์ต เดอ นีโร ซึ่งรางวัลนี้เองที่ทำให้เขาเป็นตำนานนักแสดงผู้คว้าออสการ์ถึง 2 ครั้ง แบบที่หาตัวจับแทบไม่ได้จนกระทั่งทุกวันนี้