ฉีกกรอบของประเทศ : เหตุใดสิงคโปร์จึงเก่งว่ายน้ำ แม้รัฐบาลไม่สนับสนุนให้เล่นกีฬา?
สิงคโปร์ คือหนึ่งในชาติของเอเชียที่พัฒนาก้าวหน้าไม่แพ้โลกตะวันตก และเป็นเบอร์ 1 ในหลายด้านของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ, เทคโนโลยี, คุณภาพชีวิตของประชาชน ชนิดที่เรียกว่าชาติเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันทาบไม่ติด
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเลิศในหลายด้าน วงการกีฬาของสิงคโปร์กลับไม่ยิ่งใหญ่สมกับความเจริญของประเทศ และยังเป็นรองหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค โดยเฉพาะหากเทียบกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่มีสภาพเศรษฐกิจใกล้เคียงกับสิงคโปร์ จะเห็นความแตกต่างชัดเจนว่า วงการกีฬาสิงคโปร์ล้าหลังมากแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม มีกีฬาประเภทหนึ่งที่คนสิงคโปร์เล่นได้ดี ไม่แพ้กับชาติอื่นในเอเชีย นั่นคือ ว่ายน้ำ แม้ว่าในความเป็นจริง รัฐบาลสิงคโปร์จะไม่นิยมสนับสนุนวงการกีฬา แต่การแข่งขันรูปแบบนี้กลับแตกต่างจากกีฬาอื่นในสิงคโปร์ จนเป็นเพียงไม่กี่ชนิดกีฬาที่ยังคงอยู่รอด และได้รับความยอมรับจากสังคมสิงคโปร์
เศรษฐกิจมาก่อน กีฬาไว้ทีหลัง
นับตั้งแต่ประกาศเอกราชอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี 1965 สิงคโปร์เดินหน้าหวังสร้างชาติเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หวังแซงหน้าคู่แข่งอย่าง มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และ ไทย
รัฐบาลสิงคโปร์ได้เดินหน้าออกนโยบายสนับสนุนภาคเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มที่ กล้าลงทุนกับการทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี ตั้งตนเป็นศูนย์กลางทางการค้าด้วยการขนส่ง ทั้งทางเรือ และทางอากาศของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งส่งให้สิงคโปร์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว
ด้วยการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อการพัฒนาประเทศของรัฐบาลสิงคโปร์ ทำให้ชีวิตของผู้คนบนเกาะแห่งนี้ ต้องเดินไปตามแนวทางที่ผู้มีอำนาจวางไว้ การศึกษา และอาชีพ ที่ช่วยสร้างบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม มีหลายอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในสเกลที่ใหญ่โต หนึ่งในนั้นคือวงการกีฬา รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ให้ความสำคัญ ในการสนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกาย หรือหันมาเอาดีด้านกีฬา
ในทางกลับกัน พวกเขามองว่าหากคนสิงคโปร์ ไม่ให้ความสนใจกับกีฬา และหันไปให้ความสำคัญกับการเรียนหนังสือ จะเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า จนเกิดคำกล่าวที่ว่า "รัฐบาลสิงคโปร์ ไม่สนับสนุนด้านกีฬา เพราะไม่ได้ทำให้ GDP ของประเทศเติบโต" ซึ่งแม้แต่คนสิงคโปร์เอง ก็ยอมรับว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่กล่าวมาลอยๆเสียด้วย
"นักกีฬาที่สิงคโปร์ไม่มีคนสนับสนุน เพราะรัฐบาลไม่ได้สนับสนุนให้คนเล่นกีฬา.. ผมอยากบอกให้รัฐบาลรู้ว่า การเป็นนักฟุตบอล มันไม่เกี่ยวกับเงิน ไม่เกี่ยวกับ GDP แต่มันสร้างความภูมิใจให้กับประเทศได้ หรือแม้กระทั่งเป็นธุรกิจ แต่คุณต้องอดทนรอ" อิรฟาน ฟานดี นักฟุตบอลทีมชาติสิงคโปร์ สังกัดบีจี ปทุม ยูไนเต็ด เคยกล่าวถึงเรื่องราวที่รัฐบาลสิงคโปร์ไม่สนับสนุนให้คนเล่นกีฬากับ Main Stand
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลได้ปลูกฝังค่านิยมที่ทำให้คนในประเทศเชื่อว่า การจะมีชีวิตที่ดีในสิงคโปร์ ต้องทำงานในสาขาที่รัฐบาลสนับสนุนเพื่อได้รับผลตอบแทนที่ดี ในขณะที่การเป็นนักกีฬา กลับไม่มีรายได้ที่ดีนัก หลายคนต้องเป็นนักกีฬา พร้อมกับทำงานพาร์ทไทม์ไปด้วยพร้อมกัน
ด้วยเหตุนี้ ครอบครัวของคนสิงคโปร์รุ่นใหม่จึงไม่นิยมให้ลูกหลานเล่นกีฬา ไม่อนุญาตให้พวกเขาออกไปเล่นซนนอกบ้าน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง จนกลายเป็นว่ากีฬาห่างจากคนรุ่นใหม่เข้าไปทุกที
"คนสิงคโปร์ในเขตเมืองเชื่อว่า การออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ไปวิ่งเล่นอย่างอิสระ คือความอันตรายที่จะทำให้ลูกหลานของพวกเขาบาดเจ็บ" แมททิว ลู นักเขียนชาวสิงคโปร์ เล่าถึงมุมมองที่คนสิงคโปร์มีต่อการเล่นกีฬา
การไม่สนับสนุนวงการกีฬาของรัฐบาลสิงคโปร์ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ปัจจุบันสิงคโปร์ยังคงมี GDP ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก เพียงแต่สิ่งที่ต้องแลกไป คือการมองข้ามความสำคัญของกีฬา ส่งผลให้สิงคโปร์ไม่สามารถเป็นมหาอำนาจด้านกีฬาในภูมิภาคนี้ได้
มุมมองที่แตกต่างต่อกีฬาว่ายน้ำ
แม้ว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะไม่สนับสนุนให้คนในประเทศเล่นกีฬาเท่าใดนัก แต่ไม่ใช่ว่าวงการกีฬาของประเทศนี้จะเงียบเหงาไร้รางวัลเป็นที่ภูมิใจของประเทศ เพราะบางกีฬาก็สามารถประสบความสำเร็จได้ในการแข่งขันระดับนานาชาติ หนึ่งในนั้นคือ ว่ายน้ำ
ว่ายน้ำเป็นหนึ่งในกีฬาที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของสิงคโปร์ มีนักกีฬาหลายคนคว้าเหรียญรางวัลในการแข่งขันเอเชียนเกมส์และซีเกมส์ ไม่ว่าจะเป็น หยาง เหว่ยหลิง หรือที่แฟนกีฬาชาวไทยคุ้นหูในชื่อ โจเซลิน โยว, เถา หลี่, หง ปิงเซียง และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ โจเซฟ สคูลลิง ผู้คว้าเหรียญทองแรกให้กับดินแดนเมอร์ไลออนในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก
เป็นระยะเวลายาวนานหลายสิบปีที่สิงคโปร์สามารถสร้างนักว่ายน้ำมาเชิดหน้าชูตาเป็นเกียรติของประเทศได้ ในขณะที่บางกีฬาไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นของวงการว่ายน้ำไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
"ถ้าเป็นกีฬา เช่น ว่ายน้ำ, ปิงปอง หรือ แบดมินตัน กีฬาพวกนี้สามารถสร้างชื่อเสียงได้ง่ายกว่า เพราะเป็นกีฬาบุคคล รัฐบาลจะสนับสนุนให้เล่น เพราะว่าประสบความสำเร็จได้ง่าย สามารถสร้างชื่อให้สิงคโปร์" อิรฟาน ฟานดี เล่าถึงการสนับสนุนกีฬาของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ไม่เทียบเท่ากันระหว่างชนิดกีฬา
การสนับสนุนต่อกีฬาว่ายน้ำของรัฐบาลสิงคโปร์ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบไร้เหตุผล เพราะต้องย้อนไปดูถึงประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของคนชนชาตินี้ จากการที่ภูมิประเทศของสิงคโปร์เป็นเกาะ ทำให้คนในประเทศมีความคุ้นชินกับน้ำมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่สิงคโปร์ยังไม่ได้ก่อตั้งเป็นประเทศ
กีฬาทางน้ำจึงมีประวัติศาสตร์ร่วมกันกับคนสิงคโปร์มาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี ซึ่งว่ายน้ำคือหนึ่งในนั้น
คนสิงคโปร์ได้ก่อตั้งสมาคมว่ายน้ำของตัวเอง ตั้งแต่ปี 1939 ซึ่งในเวลานั้นเกาะสิงคโปร์ยังเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษ แสดงให้เห็นถึงความผูกพันที่แน่นแฟ้นระหว่างคนจากเกาะแห่งนี้กับกีฬาว่ายน้ำ
ไม่เพียงเท่านั้น ว่ายน้ำยังเป็นกีฬาที่ทหารและผู้ปกครองจากประเทศอังกฤษที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ชื่นชอบอย่างมาก และกลายเป็นกีฬาของชาวต่างชาติชนชั้นสูงที่ปกครองสิงคโปร์ก่อนจะประกาศเป็นเอกราช
อาจจะเรียกไม่ได้ว่า ว่ายน้ำเป็นกีฬาประจำชาติของสิงคโปร์ แต่ความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองฝ่ายที่มีร่วมกันมาอย่างยาวนาน ทำให้รัฐบาล ผู้มีอำนาจ ไปจนถึงคนมีฐานะในสิงคโปร์ คอยสนับสนุนกีฬานี้อยู่เสมอ ผ่านการสร้างสระว่ายน้ำ ในรูปแบบของคลับเฮาส์ ทำให้ว่ายน้ำกลายเป็นกิจกรรมที่นิยมของคนมีหน้ามีตาในสังคม และเปลี่ยนผ่านว่ายน้ำให้เป็นกีฬาของคนรวยในสิงคโปร์
นอกจากนี้ ลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีผู้สร้างชาติสิงคโปร์ เคยมีนโยบายสนับสนุนให้คนสิงคโปร์หันมาเล่นกีฬาว่ายน้ำมากขึ้น ในช่วงยุค 60s เพราะ ณ เวลานั้น ว่ายน้ำเป็นกีฬาที่ชาวต่างชาติให้ความนิยม
การสนับสนุนให้คนสิงคโปร์หันมานิยมกีฬาว่ายน้ำ เป็นกุศโลบายทางการเมืองของ ลี กวนยู ที่ต้องการจะยกระดับชาวสิงคโปร์ให้ดูทัดเทียมกับชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทวีปยุโรป เพื่อสร้างความเชื่อ และแสดงให้เห็นว่า คนสิงคโปร์ไม่ได้แตกต่าง หรือด้อยไปกว่าชาวต่างชาติจากโลกตะวันตก
นอกจากนี้ สมาคมว่ายน้ำของสิงคโปร์ ได้นิยมเชิญนักกีฬาระดับโลกจากฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น รอย โรเมน หรือ มาร์ค สปิตซ์ ให้มาฝึกสอนนักว่ายน้ำรุ่นใหม่
เพราะด้วยความผูกพันที่ชาวสิงคโปร์มีต่อกีฬาว่ายน้ำ ทำให้เด็กที่มีแววในการแข่งขันประเภทนี้จะถูกนำมาฝึกฝน สั่งสมประสบการณ์จนก้าวขึ้นมาเป็นนักว่ายน้ำที่มีฝีมือ
อย่างไรก็ตาม เหตุผลสำคัญที่ทำให้ว่ายน้ำยังคงเป็นกีฬาที่ได้รับการสนับสนุนจนถึงปัจจุบัน เป็นเพราะความสำเร็จของนักกีฬาว่ายน้ำในยุคแรกเริ่ม ไม่ว่าจะเป็น มอลลีย์ เตย์ และ เตย์ ชินจู ที่แม้จะไม่ได้ชนะการแข่งขันระดับนานาชาติ จนมีเหรียญรางวัลมาคล้องคอ แต่ก็สามารถโชว์ศักยภาพของคนสิงคโปร์ในฐานะนักว่ายน้ำให้เป็นที่ยอมรับได้ กับการได้เข้าไปแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก
ผลที่ตามมาคือ รัฐบาลสิงคโปร์ยิ่งหันมาสนับสนุนกีฬาว่ายน้ำมากกว่าเดิม เพราะมองว่าเป็นช่องทางในการสร้างชื่อเสียงของประเทศได้ มีการอนุญาต และสนับสนุนให้เอกชนสร้างสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ เพื่อให้คนมาเล่นน้ำได้ รวมถึงมีการเปิดสระว่ายน้ำสาธารณะที่ภาครัฐเป็นผู้สร้างอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ กีฬาว่ายน้ำจึงมีความคุ้นเคยกับคนสิงคโปร์มาจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นกิจกรรมกลางแจ้งไม่กี่อย่างที่คนสิงคโปร์สามารถทำได้โดยง่าย นอกจากนี้ กีฬาว่ายน้ำ ต้องเล่นในสระว่ายน้ำเท่านั้น ซึ่งเหมาะกับการควบคุมของรัฐบาลสิงคโปร์มากกว่า ไม่เหมือนกีฬาประเภทอื่น เช่น ฟุตบอล ที่รัฐบาลต้องออกกฎหมายไม่ให้คนสิงคโปร์เล่นกีฬาประเภทนี้ในพื้นที่สาธารณะ
ปัจจุบัน รัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการสร้างความหมายให้กับกีฬาว่ายน้ำ ด้วยการยกย่องให้เป็นกีฬาที่สามารถพัฒนาความเป็นเลิศ ในด้านความพยายาม และการต่อสู้จนบรรลุเป้าหมาย ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของคนสิงคโปร์ที่ต้องการความเป็นเลิศ
ทำให้ในปัจจุบันครอบครัวที่มีฐานะ นิยมส่งลูกหลานเล่นกีฬาว่ายน้ำ ไม่ใช่เพื่อเป็นนักกีฬา แต่เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ซึ่งแม้จะไม่ใช่แนวทางพัฒนากีฬาโดยตรง แต่อย่างน้อยสิงคโปร์ก็มีโอกาสพบนักกีฬาว่ายน้ำ ที่มีความสามารถมากกว่ากีฬาประเภทอื่นด้วยนโยบายนี้
แม้ว่าการผลักดันกีฬาว่ายน้ำของประเทศสิงคโปร์จะมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่เสมอ จนดูเหมือนว่าการสนับสนุนกีฬานี้ ไม่ได้มีเป้าประสงค์กับการผลักดัน สร้างนักว่ายน้ำฝีมือดีโดยตรงเท่าไหร่นัก
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายคนสิงคโปร์ยังคงได้ประโยชน์ ผ่านการสนับสนุนของรัฐบาลสิงคโปร์ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม และสร้างนักว่ายน้ำฝีมือดีมาประดับวงการยาวนานกว่า 50 ปี
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ