ไขข้อข้องใจ : เหตุใด "กังฟู" จึงเป็นศิลปะต่อสู้แห่งโลกตะวันออกที่ชนะใจคนตะวันตก ?

ไขข้อข้องใจ : เหตุใด "กังฟู" จึงเป็นศิลปะต่อสู้แห่งโลกตะวันออกที่ชนะใจคนตะวันตก ?

ไขข้อข้องใจ : เหตุใด "กังฟู" จึงเป็นศิลปะต่อสู้แห่งโลกตะวันออกที่ชนะใจคนตะวันตก ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กำแพงของเชื้อชาติและวัฒนธรรมนั้นสูงและแข็งแกร่ง โดยเฉพาะชาวตะวันตกที่เชื่อมั่นว่าพวกเขาคือความก้าวหน้าของโลก ยิ่งเป็นเรื่องยากที่เขาจะเปิดรับวัฒนธรรมอื่น ๆ เข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมของชาวเอเชีย

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่มีต้นกำเนิดจากเอเชีย แต่สามารถตีกำแพงวัฒนธรรมของโลกตะวันตกได้แตกกระจาย นั่นคือ "กังฟู" 

ศิลปะการต่อสู้ที่หลายคนบอกว่าเป็นปาหี่หลอกเจ้า กลายเป็นที่ชื่นชอบของคนตะวันตกได้อย่างไร ?

 

ติดตามได้ที่นี่

ความหมายของกังฟู

กังฟู อยู่คู่กับประวัติศาสตร์จีนมาอย่างยาวนาน แหล่งที่มาไม่ค่อยตรงกันนัก บางที่ก็บอกว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่กว่า 1 ล้านปีก่อน เพื่อใช้ในการล่าสัตว์ บ้างก็บอกว่าเกิดจากการฝึกที่วัดเส้าหลิน และบางที่บางตอนก็บอกว่า กังฟูปรากฏชัด ๆ แบบมีหลักฐานคือช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาล และใช้เพื่อฝึกทหารในกองทัพ ดังนั้นเรื่องความชัดเจนแบบ 100% คงตอบไม่ได้แน่ชัด แต่ที่แน่ ๆ เอาเป็นว่า นี่คือศิลปะประจำชาติของชาวจีน ก็ถือว่าเป็นอันรู้กัน 


Photo : shaolinwarriormartialarts.com

ไม่ว่าจะเกิดและถูกพัฒนาในยุคราชวงศ์ไหนไม่สำคัญ แต่ใจความที่แท้จริงของ กังฟู หมายความว่า "ศิลปะการต่อสู้แบบจีนที่ไม่มีอาวุธ" ท่วงท่าการออกอาวุธหรือตั้งการ์ดนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแบบฝึกหัด เสริมร่างกายและเส้นเอ็นให้แข็งแรง นอกจากนี้ยังมีการฝึกสมาธิเพื่อให้สามารถควบคุมร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

 

สิ่งที่โดดเด่นของ กังฟู หากเทียบกับศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ ทั่วโลก รวมถึงของตะวันตก อย่าง มวยปล้ำ และ มวยสากล คือเรื่องของ "ลีลา" ... กังฟู มีลีลากระบวนท่าที่สวยงาม และที่สำคัญมีหลายท่า โดยมีที่มาจากท่าทางเฉพาะชนเผ่าในประเทศจีนเมื่อโบราณที่สืบทอดส่งต่อกันมา นอกจากนี้ยังมีการเลียนแบบกระบวนท่าจากสัตว์หลากหลายชนิด ซึ่งถ้าใครเคยดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์เกี่ยวกับการต่อสู้ ก็คงเคยได้ยินท่าต่อสู้ต่าง ๆ อย่าง หมัดตั๊กแตน, หมัดพยัคฆ์, หมัดมังกร หรือะไรก็ว่ากันไป    

ลีลาการออกหมัด และหลบหลีกของ กังฟู นั้นพริ้วไหวและรวดเร็ว มีหลักการยืดเหยียดแบบครบวงจร ยกขาฉีกสูงถึงหัว กระโดดหมุนตัวเตะ รวมถึงการเปลี่ยนกระบวนท่าภายในเสี้ยววินาที หากเปรียบเทียบกับมวย ก็เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงแท็คติกในทุก ๆ ยก และเปลี่ยนวิธี เปลี่ยนกระบวนท่าที่จะใช้รับมือกับคู่ต่อสู้ที่แตกต่างกัน 


Photo : blackbeltmag.com

"Be Water" หรือ "จงเป็นดั่งน้ำ" คือสิ่งที่ บรูซ ลี สุดยอดนักกังฟูที่เคยไปไกลถึงวงการฮอลลีวูด พูดถึงหัวใจของกังฟู น้ำสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ตามภาชนะฉันใด กังฟูก็ไหลลื่นไปตามการต่อสู้ได้ฉันนั้น 

"อย่ากำหนดตัวเองให้ตายตัว ปล่อยมันไหลเหมือนกับสายน้ำ ทำจิตใจให้ว่างเปล่า ไร้รูปร่างเหมือนกับน้ำ เมื่อคุณใส่น้ำในถ้วย มันจะกลายเป็นถ้วย และถ้าคุณใส่มันในขวดน้ำ ก็จะกลายเป็นทรงของขวด พอถึงตอนนี้แล้ว น้ำนั้นสามารถไหลได้ แล้วก็สามารถสร้างแรงกระทบได้ด้วย จงเป็นดั่งน้ำ เพื่อนเอ๋ย" บรูซ ลี ว่าไว้

แมสได้ไง ? 

จริงอยู่ที่ท่าทางการต่อสู้ในแบบของกังฟูมันดูสวยงาม รวดเร็ว และพริ้วไหว แต่สำหรับชาวตะวันตกในเมื่อหลายสิบปีก่อน พวกเขาไม่ได้นิยมอะไรแบบนั้น ที่สหรัฐอเมริกา มวยสากล ครองใจคนที่รักศิลปะการต่อสู้มาตั้งแต่ปี 1920 เรื่อยมาจนมีวัฒนาการไปไกล มียอดนักมวยที่เก่งขึ้นและเฟอร์เฟกต์ขึ้นเรื่อย ๆ 


Photo : medium.com

กีฬามวยที่แต่ก่อนมีแต่เดินแลกหมัดว่ายน้ำเข้าหากัน แต่เมื่อทุกอย่างพัฒนาไปข้างหน้า มีรายได้เข้ามาจากคนดูในสนามและการถ่ายทอดสด เมื่อนั้นมวยก็เป็นอะไรที่ตอบโจทย์และเป็นกีฬาอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา สิ่งนี้พอจะบอกได้ว่าพวกคนอเมริกันหรือชาวตะวันตกอื่น ๆ ชื่นชอบศิลปะการต่อสู้ที่หนักหน่วงและแข็งแรงมากกว่า ไม่อย่างนั้นนักชกอย่าง ชูการ์ เรย์ โรบินสัน, ฟลอยด์ แพทเทอร์สัน และ มูฮัมหมัด อาลี คงไม่ร่ำรวยล้นฟ้าแม้จะมาจากครอบครัวยากจนแน่นอน  

นักมวยเหล่านี้มีค่าตัวเป็นสิบล้านตั้งแต่ที่ตั๋วเข้าชมยังราคาแค่หน่วยหลักสิบ รายได้ของนักมวยคือภาพสะท้อนของความนิยมอย่างแท้จริง และมวยยังคงเป็นศิลปะการต่อสู้อันดับต้น ๆ ของโลกในแง่ของเงินรางวัลและความแมสอย่างแท้จริง

 

คำถามคือ แล้ว กังฟู เข้ามาอยู่ร่วมกับสังคมตะวันตกได้ในตอนไหน ? ในเมื่อช่วงเวลาหลายปีก่อนชาวตะวันตกดูศิลปะการต่อสู้อย่างมวยเป็นหลัก และว่าตามตรงคือ แม้ประวัติศาสตร์ของกังฟูจะยาวนานเป็นล้านปีตามที่ตำราหลายเจ้าบอก แต่ปลายทางคือไม่เคยมีนักกังฟูคนไหนพิสูจน์ให้โลกรู้ได้สักทีว่า กังฟู นั้นเป็นศาสตร์ที่แข็งแกร่งและใช้ได้จริง 

อย่าลืมว่าในยุค ๆ หลังมีศิลปะการต่อสู้อย่าง MMA (ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน) ที่เปิดกว้างให้นักสู้จากทุกแขนงขึ้นเวทีเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง ... MMA ให้โอกาสทุกศาสตร์การต่อสู้มือเปล่าทุกแขนงได้ใช้อาวุธของตัวเองอย่างเต็มที่ แต่ที่สุดแล้วไม่เคยมีนักกังฟูหรือมวยจีนคนใดสร้างชื่อในการต่อสู้ระดับนี้ได้เลย    

หนักที่สุดคือในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งนักต่อสู้ MMA ชาวจีนเองที่ชื่อว่า สวี เสี่ยวตง ยังออกเดินทางไปคว่ำสำนักกังฟูตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อพิสูจน์ว่า กังฟู เป็นศาสตร์ที่แหกตา ซึ่ง สวี เสี่ยวตง ก็ไล่เก็บได้หมด จนถึงขั้นที่ว่าฝั่งกังฟูต้องยกเอา อี้ หลง ที่ถือว่าเป็นเบอร์ 1 ของสายกังฟู มาเพื่อหยุดการกระทำของ สวี เสี่ยวตง


Photo : www.taiwannews.com.tw

ที่สุดแล้วเมื่อถึงเวลา อี้ หลง ก็หนีไฟต์และอ้างว่ามีอาการบาดเจ็บ ไฟต์ระหว่าง MMA ปะทะ กังฟู เลยไม่เคยเกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งไฟต์ระหว่าง อี้ หลง กับยอดมวยไทยอย่าง บัวขาว บัญชาเมฆ ที่เคยออกข่าวว่า จะสู้กันในศึก MAS Fight ยกเดียว 9 นาที ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริงเช่นกัน

 

แม้แต่ชาวเอเชีย หรือชาวจีนด้วยกันเอง ยังให้ความสงสัยและไม่เชื่อว่า กังฟู แข็งแกร่ง แล้วชาวตะวันตกยอมรับศิลปะการต่อสู้อย่าง กังฟู ได้ยังไงกัน ? 

คำตอบที่ง่ายที่สุด ที่เราพอจะบอกได้ว่าชาวตะวันตกชื่นชอบกังฟูนั้น ขึ้นอยู่กับการตีความ ... อย่างที่กล่าวไปทั้งหมด ในแง่ของการยอมรับความแข็งแกร่งในหมวดหมู่ศิลปะการต่อสู้ กังฟู อาจจะไม่ได้มีหลักฐานพิสูจน์ความแข็งแกร่งอะไรถ้าเทียบกับศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ ไม่มีอะไรเป็นหลักฐานประจักษ์ว่า นักกังฟูสามารถใช้วิชาหมัดตั๊กแตน หรือหมัดพยัคฆ์คว่ำนักมวยระดับแถวหน้าได้ แต่สิ่งที่ทำให้ กังฟู แมสในระดับตะวันตกและได้รับความนิยมไปทั่วโลก อาจเป็นเพราะว่า "พวกเขาตีความมันในแง่ความบันเทิงมากกว่า"

ศิลปะแห่งความบันเทิงอันดับ 1 ของโลก 

เรื่องราวความนิยมไปทั่วโลก และทำให้ชาวตะวันตกรู้จักศาสตร์การต่อสู้แบบจีน เริ่มต้นขึ้นอย่างชัดเจนมากที่สุดเห็นจะเป็นช่วงยุค 70s ยุคนั้นต้องขอบใจอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของฮ่องกงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก พวกเขาสร้างภาพยนตร์ออกมาหลายต่อหลายเรื่อง และส่วนใหญ่เป็นหนังบู๊ที่เข้าใจง่ายที่สุด ดูได้ทุกเพศทุกวัย พระเอกใช้ศิลปะการต่อสู้ปราบเหล่าร้ายเพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ เส้นเรื่องที่เดาตอนจบได้ง่าย แต่ความมันที่แท้จริงเกิดจากการต่อสู้ระหว่างทาง ซึ่งแน่นอนว่าหนังฮ่องกงนั้นชูเรื่อง "กังฟู" มาเป็นอันดับ 1 

เดิมทีหนังฮ่องกงนั้น เน้นเอาวรรณกรรมของ โกวเล้ง และ กิมย้ง มาดัดแปลง อาทิ มังกรหยก หลาย ๆ ภาคที่เขย่าวงการหนัง สร้างความนิยมให้กับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ รวมถึงแผ่นดินอเมริกาเป็นอย่างมาก ความนิยมทั้งหมดเริ่มจากตรงนั้น จากจอมยุทธ์ มาถึงยุคที่ต้องสร้างหนังบู๊ร่วมสมัย เมื่อนั้นหนังที่นำแสดงโดย บรูซ ลี ก็เริ่มถูกสร้างขึ้น 

 


Photo : www2.bfi.org.uk

บรูซ ลี ถือเป็นลูกเสี้ยวฮ่องกง-ยุโรป (เชื้อสายยุโรปมาจากทางคุณแม่) แต่ได้สัญชาติอเมริกันเพราะเกิดที่สหรัฐอเมริกา ตัวของ บรูซ ลี นั้นมีพื้นฐานการเป็นกังฟู เพราะได้ร่ำเรียนศิลปะการต่อสู้อย่าง หย่งชุน จากอาจารย์ของเขาที่ชื่อว่า ยิปมัน ... ดังนั้นหนังที่ บรูซ ลี แสดง ต้องใช้กังฟูเป็นศิลปะการต่อสู้ดำเนินเรื่อง และหนังที่ได้รับความนิยมที่สุดของเขามีชื่อเรื่องว่า "The Big Boss" หรือมีชื่อไทยว่า "ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง" และชื่อในอเมริกาว่า "Fists of Fury" 

เดิมทีหนังที่ส่งเข้าไปฉายในอเมริกานั้น ไม่ได้มีเป้าหมายในการทะลวงทะลาย บ็อกซ์ ออฟฟิศ แข่งกับหนังระดับฮอลลีวูดแต่อย่างใด เพีงแต่เป็นการส่งหนังเข้าไปฉายเอาใจคนจีนในต่างแดน และหวังเปิดตลาดจากต่างประเทศดูบ้างเท่านั้น ดังนั้นในช่วงแรก ๆ จะบอกว่ากังฟูแมสในอเมริกาทันทีจึงไม่ถูกนัก เพราะจุดเริ่มต้นนั้นใช้เวลาพอสมควร กว่าที่ทุกคนในสหรัฐอเมริกาหรือทั่วโลกจะรู้จัก บรูซ ลี 

The Guardian สำนักข่าวเจาะระดับต้น ๆ ของโลก ยืนยันว่าความนิยมของ กังฟู ที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์ สำหรับชาวตะวันตก เริ่มต้นขึ้นจากโรงหนังเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่บนนถนนสาย 42 ของนิวยอร์ก ชื่อว่า ไกรนด์เฮาส์ ซิเนม่า (Grindhouse Cinemas) หากจะอธิบายให้เห็นภาพ นี่คือโรงหนังของชนชั้นล่าง ที่มีรายได้น้อย ค่าตั๋วราคาถูก ไม่ค่อยมีหนังระดับ บ็อกซ์ ออฟฟิศ เข้ามาฉายนัก

ดังนั้น "Fists of Fury" และหนังกังฟูจากฮ่องกงรวมถึง บรูซ ลี เรื่องอื่น ๆ จึงถูกเอามาฉายที่นี่ในช่วงแรก ซึ่งภายในโรงหนังมีแต่คนผิวดำ และคนเอเชียที่เข้ามาดู เพราะคนเหล่านี้ไม่มีโอกาสจะได้ไปนั่งดูหนังดี ๆ ในโรงหนังหรูหราเหมือนกับคนผิวขาวเท่าไรนัก 

เมื่อหนังกังฟูถูกฉายในโรงหนังของชนชั้นล่าง กระแสนิยม และการเจอ "ประสบการณ์ร่วม" ของคนผิวดำและคนเอเชียจึงมาเจอกัน เพราะหนัง กังฟู ส่วนใหญ่นั้น ตัวโกงมักจะเป็นฝรั่งผิวขาว เนื้อเรื่องก็จะประมาณว่ากลุ่มคนเอเชียโดนคนขาวกดขี่ ซึ่งนั่นคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และแน่นอนว่าเหล่าคนผิวดำก็รู้ความหมายของการต่อสู้นี้เป็นอย่างดี ... มีหนังไม่กี่เรื่องในยุคนั้นที่พระเอกและนางเอกไม่ใช่คนขาว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หนังกังฟู 

กลายเป็นว่าคนผิวดำชื่นชอบหนังกังฟูเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากคนขาวจะโดนอัดคว่ำแล้ว พวกเขายังได้ดูการต่อสู้แบบกังฟูที่พริ้วไหว แตกต่างจากหนังบู๊สัญชาติอเมริกันแบบสิ้นเชิง เรื่องนี้ยืนยันได้จากหนังกังฟูในระยะหลังจากนั้น มีนักแสดงผิวดำ รวมถึงนักกีฬาผิวดำระดับโลกอย่าง คารีม อับดุล จาบาร์ ที่เคยเล่นหนังร่วมกับ บรูซ ลี ในเรื่อง Game of Death มาแล้ว นอกจากนี้ยังมีเพลงที่ชื่อ Kung Fu Fighting ของนักร้องผิวดำอย่าง คาร์ล ดั๊กลาส ที่ได้รับความนิยมชนิดที่ว่าใครฟังก็ต้องร้องอ๋อ ไหนจะกลุ่มฮิปฮอปอเมริกันอย่าง Wu Tang Clan ก็ได้อิทธิพลในการตั้งชื่อแก๊งมาจากหนังกังฟูเช่นกัน 


Photo : M2 Power Media

หลากหลายเหตุผลประกอบกัน ทำให้กลุ่มคนผิวดำก็พากันแห่ไปดูเต็มโรงหนังขนาดเล็กทุก ๆ ครั้งที่มีหนังกังฟูเข้ามา และเมื่อหนังได้รับความนิยมมากขึ้น จากโรงหนังเล็กที่มีลูกค้าเป็นชนชั้นล่าง ก็ถูกซื้อลิขสิทธิ์นำไปฉายในโรงใหญ่ ๆ และเข้าถึงตาคนในชนชั้นต่าง ๆ มากขึ้น

อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น สัญชาตญาณของมนุษย์ทุกคนคือการเกิดมาเพื่อการต่อสู้ การได้ดูหนังบู๊ที่นำโดยศิลปะการต่อสู้แบบกังฟู สามารถทำให้ทุกคนเข้าใจได้โดยง่าย แม้ไม่รู้ที่มาที่ไป แต่เมื่อ บรูซ ลี แสดง ฉากบู๊ที่สวยงาม ลีลาที่รวดเร็ว แข็งแกร่ง และอ่อนช้อยในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความตื่นตาตื่นใจในฐานะ "ของใหม่" เหนือสิ่งอื่นใด คือการกำกับไว้ในใบปิดของหนังว่า "เล่นจริงเจ็บจริง ไม่ใช้สแตนด์อิน ไม่ใช้ตัวแสดงแทน" เท่านี้ก็เรียกความอยากดู และสร้างการบอกเล่าแบบปากต่อปากไปโดยปริยาย

จากศิลปะต่อสู้ สู่ ป๊อป คัลเจอร์ 

การที่คนตะวันตกได้รู้จัก กังฟู ต้องบอกว่า บรูซ ลี มีส่วนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ การแสดงของ บรูซ ลี เปิดประตูของโลกตะวันตก ให้หนังกังฟูและหนังฮ่องกงพาเหรดเข้าไปฉายมากขึ้นในภายหลัง 

รู้ตัวอีกที กังฟู ก็กลายเป็น ป๊อป คัลเจอร์ หรือเป็นกระแสทางวัฒนธรรมและสังคมไปโดยไม่รู้ตัว กังฟู แผ่อิทธิพลอย่างต่อเนื่อง นอกจาก บรูซ ลี แล้วยังมี เฉิน หลง, เจ็ท ลี และ ดอนนี่ เยน ที่ยังคงนำ กังฟู มาประยุกต์ใช้ในหนังบู๊ยุคหลัง ๆ และเหนือสิ่งอื่นใดคือ โปรดักชั่นและทุนการถ่ายทำก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ 


Photo : www.thatfilmguy.net

มีการหยิบเอาวัฒนธรรมของคนผิวขาวมาผสม การต่อสู้แบบใช้ปืน การบิดเส้นเรื่อง เล่าเรื่องให้แตกต่างออกไป ซึ่งไม่ว่าจะแบบไหนก็ได้รับความนิยมทั้งนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่อง Rush Hours หรือชื่อไทย "คู่ใหญ่ฟัดเต็มสปีด" ที่แสดงโดย เฉิน หลง กับ คริส ทัคเกอร์ ก็เป็นหนังฟอร์มใหญ่ระดับฮอลลีวูด โดยภาคแรกทำเงินทั่วโลกได้ถึง 224 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนต้องมีการสร้างภาค 2 ภาค 3 ในภายหลัง 

นอกจากนี้ กังฟู ยังโผล่ในหนังเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย และสร้างภาพจำให้กับทุกคนทั่วโลกว่า ถ้าได้ดูหนังกังฟู รับรองได้เลยว่าได้สนุกกับฉากบู๊แน่นอน ไม่ว่าจะเป็น Kill Bill, เส้าหลิน ซอคเกอร์ และ คนเล็กหมัดเทวดา ที่ล้วนแต่มี กังฟู มาเป็นส่วนผสมทั้งสิ้น 

ส่วนเรื่องที่ทำให้ กังฟู เข้าถึงทุกคนในโลก และทำให้กังฟูเป็นที่ชื่นชอบของทุกเพศทุกวัยคือ แอนิเมชั่นของค่าย Dreamworks ที่ชื่อว่า กังฟู แพนด้า ที่มีการหยิบเอาศาสตร์และส่วนประกอบของ กังฟู มากมายมาใส่ อาทิ กลุ่ม "Furious Five" ที่ประกอบด้วย เสือ, ตั๊กแตน, กระเรียน, งู และ มังกร การใส่วัฒนธรรมกังฟูอื่น ๆ อย่างเรื่องอาจารย์และลูกศิษย์, การนับรุ่นของรุ่นพี่และรุ่นน้อง โดยเรื่องทั้งหมดถูกเล่าผ่านฉากบู๊ ความสนุก และแทรกมุกตลกลงไปแบบลงตัว จนสามารถพูดได้ว่า กังฟูแพนด้า คือหนังกังฟูที่เข้าสู่กระแสหลักของอุตสาหกรรมหนังได้อย่างเต็มรูปแบบเลยก็ว่าได้ 


Photo : collider.com

สื่อ คือสิ่งที่สามารถสร้างความเชื่อและความนิยมให้กับผู้คนทั่วโลกมาทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นคำถามที่ว่า เหตุใด "กังฟู" จึงเป็นศิลปะต่อสู้แห่งโลกตะวันออกที่ชนะใจคนตะวันตกนั้น ... คำตอบที่ถูกที่สุดคือ กังฟู ไม่ได้สร้างและจบแค่ในหมวดหมู่ของศิลปะการต่อสู้เท่านั้น กังฟู เข้าไปอยู่ในฐานะความบันเทิง ที่สื่อถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้มาต่อเนื่องกว่า 50 ปี   

เมื่อคุณเห็นสิ่งเดิมซ้ำ ๆ มาเป็นระยะเวลานานขนาดนั้น คุณย่อมรู้สึกซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว เช่นนั้นเอง ที่ชาวตะวันตกกว่าจะรู้ตัวว่าชื่นชอบดู กังฟู พวกเขาก็ดู กังฟู แพนด้า ครบทุกภาค และจัดให้เป็นแอนิเมชั่นเรื่องโปรดไปเรียบร้อยแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook