คนเก่งสุดยังล้มเหลว ? : เหตุใดนักฟุตซอลอาชีพจึงไม่อาจเป็นนักฟุตบอลระดับท็อปได้
"มันเหมือนกับต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทั้งหมดเลย ฟุตบอลกับฟุตซอลในเกมระดับสูง มีแท็กติกและรายละเอียดของเกมที่แตกต่างกันมาก"
คำบอกเล่าจาก "บดินทร์ ผาลา" อดีตนักฟุตซอลอาชีพสโมสร การท่าเรือ ที่เปลี่ยนสายข้ามมาเล่นฟุตบอล จนไต่เต้าขึ้นมาติดทีมชาติไทย และลงเล่นให้ การท่าเรือ เอฟซี ในปัจจุบัน อาจขัดกับความเข้าใจของบางคนที่คิดว่า "ฟุตซอล" ก็คือ "ฟุตบอล" ที่ถูกย่อขนาดสนามลงมาให้เหลือเล่นกันฝั่งละ 5 คน บนพื้นยาง
มองผิวเผินทั้งสองชนิดกีฬา ก็ดูไม่ได้หนีกันมากสักเท่าไหร่หรอก ... เพราะต่างก็ใช้เท้าเพื่อควบคุมลูกบอลเป็นหลัก นับผลแพ้ชนะจากจำนวนประตูที่ทำได้ในเกม
หากเป็นเช่นนั้นจริง เราคงเห็นนักฟุตซอลอาชีพ โยกย้ายมากอบโกยเงินทองจากลีกลูกหนังเป็นเรื่องปกติแล้ว ทว่าแม้แต่ "ฟัลเกา" (Falcao) ราชาโต๊ะเล็กที่ได้รับการยอมรับว่า "เก่งที่สุดตลอดกาล" ก็ยังไปไม่รอด เมื่อครั้งเปลี่ยนมาเล่นฟุตบอลให้กับ เซา เปาโล ทีมระดับท็อปของบราซิล จนต้องหวนกลับไปเล่นฟุตซอลเหมือนเดิม
คำกล่าวจากผู้มีประสบการณ์ตรงอย่าง "บดินทร์" จึงมีน้ำหนักมากพอ ที่จะทำให้เราตั้งสมมติฐาน เพื่อหาคำตอบว่า เหตุใดนักฟุตซอลอาชีพจึงไม่อาจเป็นนักเตะระดับท็อปได้ ? แม้จะเปี่ยมไปด้วยทักษะความสามารถเฉพาะตัว ความเร็ว และการเลี้ยงบอลที่ยอดเยี่ยม
สนามต่างไซซ์
จริงอยู่ที่นักฟุตบอลระดับโลกจำนวนไม่น้อย อาทิ โรนัลดินโญ่, เนย์มาร์, เควิน เดอ บรอยน์ เคยผ่านประสบการณ์เรียนรู้ทักษะฟุตซอลมาก่อนในวัยเด็ก และมีส่วนช่วยให้นักเตะเหล่านั้น สามารถนำมาปรับใช้ได้กับสถานการณ์บีบคั้น หรือยามต้องเล่นบนพื้นที่จำกัดได้เมื่อเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
แต่นั่นไม่ได้เป็นสิ่งที่การันตีว่า "นักเตะโต๊ะเล็ก" จะสามารถโยกย้ายถ่ายโอนมาเล่น "ฟุตบอล" ได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากทั้งสองชนิดมีขนาดสนามที่ต่างกันมาก แถมทักษะจำเป็นที่ต้องใช้ในการเล่น รวมถึงมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันสักเท่าไหร่
"ฟุตซอลสมัยก่อนไม่ได้ถูกมองว่านี่คือกีฬาอีกชนิดหนึ่ง เพราะหลายคนมองว่าเหมือนเป็นเกมฟุตบอลที่ย่อส่วนลงมา แต่ความจริงทั้งสองกีฬามีความแตกต่างกันอย่างมาก ทักษะที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง ฟุตบอลใช้ข้างเท้าด้านในจับบอล ส่วนฟุตซอลจับบอลด้วยฝ่าเท้าเป็นหลัก เพื่อง่ายต่อการคอนโทรลบอล"
"การเลี้ยงบอล, การส่งบอล, การเคลื่อนที่ก็แตกต่างกัน ฟุตซอลใช้พื้นที่แคบ จึงต้องใช้การเคลื่อนที่ตลอดเวลา คล้ายกับบาสเกตบอล ส่วนฟุตบอล ด้วยความที่ขนาดค่อนข้างใหญ่ มีจำนวนผู้เล่นที่มากกว่า และนักเตะก็ไม่จำเป็นต้องวิ่งเยอะตลอดเวลาเท่ากับฟุตซอล ยังมีช่วงที่สามารถจ๊อกกิ้ง หยุด หรือเดินได้บ้าง"
"ทั้งสองกีฬาต้องใช้เวลาฝึกนานพอสมควร กว่าจะมีทักษะที่คุ้นชิน ปัญหาของนักฟุตซอลเวลาที่ต้องเปลี่ยนไปเล่นฟุตบอล คือ เวลาได้บอลก็จะพยายามเลี้ยงทันที เนื่องจากเคยชินมาจากตอนเล่นฟุตซอล แต่ขนาดสนามฟุตบอล พื้นที่มันใหญ่กว่า ระยะการเลี้ยงมันกว้างมากกว่าสนามฟุตซอล ก็อาจทำให้เขาเสียบอลได้"
โค้ชเอ๋ - พัทยา เปี่ยมคุ้ม อดีตนักฟุตซอลทีมชาติไทย และเฮดโค้ชสโมสร ห้องเย็นท่าข้าม อธิบายภาพความต่างของกีฬาทั้งสองชนิด และอุปสรรคหากนักเตะโต๊ะเล็กต้องการข้ามไปเล่นบอลสนามใหญ่
พัทยา เปี่ยมคุ้ม เคยมีประสบการณ์ในการเล่นฟุตบอลมาก่อน แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาเล่นฟุตซอลเต็มตัว ถือเป็นขุนพลโต๊ะเล็กยุคบุกเบิกของเมืองไทย เขาจึงเข้าใจทั้งสองศาสตร์เป็นอย่างดี และมองว่าคนที่เล่นฟุตซอลมาก่อน มีบางอย่างที่เสียเปรียบ คนเล่นฟุตบอลตั้งแต่แรกเริ่ม หากคิดเอาดีในเกมลูกหนัง
"วิชั่นการมองของนักฟุตบอลนั้นกว้างกว่านักฟุตซอลโดยธรรมชาติ เพราะเขาคุ้นชินกับการมองเกมบนพื้นที่สนามใหญ่ ที่มีผู้เล่น 10-11 ในสนาม ตรงข้ามกับนักฟุตซอล การมองเกมจะแคบกว่า เพราะเล่นในสนามเล็ก”
"บวกกับเกมฟุตซอลค่อนข้างเร็ว ลูกบอลมาหาที่ตัวเยอะกว่าเล่นฟุตบอล ทำให้เขาต้องรีบเคลื่อนที่ ตัดสินใจให้เร็วว่าจะเอาตัวรอดในพื้นที่แคบ ๆ จ่ายบอลให้เพื่อน หรือทำประตูเลย พอเขาเปลี่ยนไปเล่นบอลใหญ่ ก็จะเสียเปรียบตรงนี้"
การใช้งานของกล้ามเนื้อ
สปีดบอลที่รวดเร็วของเกมโต๊ะเล็ก ทำให้หลายคนอาจรู้สึกได้ว่า "ผู้เล่นฟุตซอล" ส่วนใหญ่ดูมีความคล่องตัวสูง เคลื่อนที่ได้อย่างพริ้วไหว ร่างกายดูมีความยืดหยุ่นกว่า และสรีระไม่สูงใหญ่มาก (ถ้าเทียบกับฟุตบอล)
ต่างจากนักฟุตบอลที่ส่วนใหญ่ร่างกายดูแข็งแกร่ง แรงปะทะดี เข้าสกัดอัดกับคู่แข่ง เล่นลูกกลางอากาศเยี่ยม หรือไม่ก็ต้องเป็นพวกสรีระสมส่วน เปี่ยมไปด้วยพละกำลัง ความเร็ว และทักษะความสามารถในการเลี้ยงบอล ส่งบอล ทำประตู
เมื่อระบบการเล่น และรูปแบบของ 2 กีฬา มีความแตกต่างกันพอสมควร ระยะเวลาแข่งขันก็ไม่เท่ากัน กติกาก็ไม่เหมือนกัน ฟุตซอล เล่น 5 คน 40 นาที (ครึ่งละ 20 นาที) แต่สามารถเปลี่ยนตัวเข้าออกได้ตลอดเวลา นับเวลาเฉพาะแค่ตอนบอลอยู่ในสนาม ไม่มีทดเวลาเพิ่ม ส่วน ฟุตบอล เล่น 11 คน 90 นาทีในเวลาปกติ (ครึ่งละ 45 นาที) มีชดเชยเวลาบาดเจ็บ เปลี่ยนตัวได้แค่ 3 คน
วิธีการเทรนสร้างกล้ามเนื้อเพื่อนำไปใช้งานของนักฟุตบอล จึงไม่เหมือนกันกับนักฟุตซอลเสียทีเดียว เพราะนักเตะอาชีพจำเป็นที่ต้องอาศัยความแข็งแรงของร่างกาย ในการเล่นกีฬาสนามใหญ่มากกว่า ฟุตซอล
หากจะอธิบายลักษณะการทำงานของกล้ามเนื้อลาย (Skeletal muscle) ที่ใช้ในการวิ่ง ก่อนอื่นเราขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่าง นักวิ่งระยะสั้น กับนักวิ่งมาราธอน ให้เห็นภาพก่อน
Photo : mybestruns.com
ถ้ามองจากภายนอก นักกีฬากรีฑาทั้ง 2 ประเภท มีรูปร่างที่ค่อนข้างแตกต่างกัน นักวิ่งระยะสั้น กล้ามเนื้อจะดูแน่นกว่า นักวิ่งทางไกลที่ส่วนใหญ่กล้ามเนื้อไม่ได้เด่นชัดเท่าหรือถูกลีนจนดูผอมเพรียว ลองนึกถึงหุ่น ยูเซน โบลต์ กับ เอเลียด คิปโชเก สองสุดยอดนักวิ่งของโลกดูสิ
โดยปกติ มนุษย์ทุกคนจะมีมวลกล้ามเนื้อกระตุกเร็ว (Fast-twitch muscle) และ กล้ามเนื้อกระตุกช้า (slow-twitch muscle) ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการฝึกซ้อมและวิธีการใช้งานของแต่ละคน
อย่างนักวิ่งระยะสั้น ก็จะเน้นสร้างกล้ามเนื้อกระตุกเร็ว ที่มีแรงและพละกำลังมาก หดตัวตอบสนองได้ไว เหมาะสำหรับการวิ่งเพื่อทำความเร็วสูงสุด
ส่วน นักวิ่งทางไกล จะใช้ กล้ามเนื้อกระตุกช้า ช่วยในด้านความทนทาน สามารถเคลื่อนไหวต่อเนื่องได้นานกว่า กล้ามเนื้อกระตุกเร็ว ที่ไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน
ในทางฟุตบอลและฟุตซอล มีการใช้กล้ามเนื้อทั้งสองส่วนผสมผสานกัน จากข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ ฟุตซอล มีการวิ่งในระดับที่เข้มข้นกว่า (High-intensity) เนื่องจากผู้เล่นต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา ด้วยการวิ่งสปีด, วิ่งเปลี่ยนทิศทาง หรือสปรินท์ตัวไปข้างหน้าถี่กว่าฟุตบอล
นักฟุตซอล จึงถูกฝึกเพื่อสร้างกล้ามเนื้อกระตุกเร็ว ทำให้นักกีฬาประเภทนี้ มีความคล่องตัวสูง ยืดหยุ่นดี ลงสนามแล้วสามารถจุดระเบิดวิ่งเต็มฝีเท้าได้ทันที ต่างจากนักฟุตบอลที่เครื่องร้อนช้ากว่า
แน่นอนว่า ในเกมฟุตบอล ก็มีการวิ่งลักษณะทำความเร็ว, เปลี่ยนทิศทาง และสปรินท์ตัวพุ่งไปข้างหน้า แต่นักฟุตบอลอาชีพจริง ๆ นอกจากจะต้องฝึกสร้างกล้ามเนื้อกระตุกเร็วแล้ว ก็ต้องมีการสร้างกล้ามเนื้อกระตุกช้าเพิ่มเข้าไปด้วย เพื่อช่วยให้สามารถยืนระยะเล่นเกม 90 นาทีได้ไม่มีหมด เพราะในเกมฟุตบอล ผู้เล่น สามารถหยุดเดิน จ๊อกกิ้ง สลับกับฉีกตัววิ่งด้วยความเร็วในบางจังหวะ
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง จังหวะเทคตัวกระโดดโหม่งที่เพิ่มเติมเข้ามา เนื่องจากฟุตซอลเน้นเล่นบนภาคพื้นมากกว่า แต่ฟุตบอลมีเรื่องของการเล่นลูกกลางอากาศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งอีกด้วย
ดังนั้นหากนักฟุตซอล อยากเปลี่ยนไปเจิดจริสในฟุตบอล ก็จำเป็นต้องเสริมกล้ามเนื้อกระตุกช้า เพิ่มเติมมากขึ้น รวมถึงการเทรนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ร่างกายในส่วนอื่น ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสกัด และปะทะหนัก ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา รวมถึงการเล่นลูกอากาศ
เพราะความแข็งแกร่ง เป็นเรื่องสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งในทางฟุตบอล ลำพังถ้าจะหวังพึ่งแต่ มัดกล้ามเนื้อกระตุกเร็ว เชื่อมั่นในความแพรวพราววูบวาบที่ติดตัวมาจากฟุตซอลอย่างเดียว พอใช้ร่างกายไปสักระยะ ผลที่ตามมาอาจหมดเรี่ยวแรงช่วงท้ายเกม และไปไม่รอดในเส้นทางนี้
แท็กติกสองศาสตร์
หลายคนทราบดีว่า "ลีกลูกหนัง" สามารถให้ค่าตอบแทนได้สูงกว่าการเล่นเกมโต๊ะเล็ก เพราะช่องว่างความเหลื่อมล้ำ รายได้ระหว่าง นักฟุตบอลกับนักฟุตซอล ยังห่างกันมากพอสมควร
ครั้นจะเอานักฟุตซอลมาเปลี่ยนสายเล่นบอลสนามใหญ่ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย เพราะแท็กติกของฟุตบอลมีความรายละเอียด ความซับซ้อนสูงกว่า ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าฟุตซอลมีแท็คติกน้อย แต่เนื่องจากฟุตบอลเล่นบนพื้นที่ใหญ่ และจำนวนผู้เล่นมากกว่า จึงพลอยให้แท็คติกเพิ่มเติมตามไปด้วย อีกทั้งระบบของ 2 กีฬาก็ไม่เหมือนกันอีก
Photo : www.dreamteamfc.com
ตัวอย่างที่ชัดเจนสุด คือ ฟัลเกา เทพเจ้าแห่งโลกฟุตซอล ผู้ได้รับการยอมรับว่า "เก่งที่สุดตลอดกาล" ... ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2005 เขาเคยได้รับการทาบทามจาก เซา เปาโล สโมสรยักษ์ใหญ่แห่งบราซิล เซ็นสัญญามาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
โดยหวังว่า ฟัลเกา จะใช้ความสามารถและทักษะอันเหนือชั้นของตัวเอง เป็นอาวุธลับพา เซา เปาโล ประสบความสำเร็จ แต่เขากลับเล่นไม่ได้อย่างที่ทุกคนคาดหวัง เมื่อต้องเปลี่ยนสายมาสวมรองเท้าสตั๊ด
"ผมรู้ว่าเขามีความสามารถมากแค่ไหน เพราะเขาเคยเป็นลูกทีมผมตอนเป็นเยาวชน แต่การเล่นฟุตบอลระดับสูงกับ เซา เปาโล เขาจำเป็นต้องปรับตัว ให้เข้ากับสนามขนาดใหญ่ เนื่องจากเขาไม่คุ้นชินกับวิ่งเยอะในเกมฟุตบอล"
"เขามีความทุกข์ใจ เพราะอยากลงสนามใจจะขาด แฟนบอลก็เรียกร้องตะโกนชื่ออยากดูเขาเล่น สื่อมวลชนก็เช่นกัน แต่เขากลับอยู่บนม้านั่งสำรอง ถึงยังไงเขาก็เป็นนักเตะที่ฝีเท้าน่าเหลือเชื่อมาก" เอเมอร์สัน เลเอา อดีตโค้ช เซา เปาโล กล่าวถึง ฟัลเกา
Photo : trivela.com.br
ฟัลเกา ได้ลงเล่นเป็นตัวสำรองในเกมลีกแค่ 2 นัดเท่านั้น เนื่องจากเขาปรับตัวไม่ได้เลย กลายเป็นเหตุให้สุดท้าย ฟัลเกา ตัดสินใจหวนกลับเล่นฟุตซอลต่อ และฟุตบอลในร่มบ้าง ตามโอกาส
ส่วนนักบอลดาวดังระดับโลกหลายราย ที่เคยมีพื้นฐานการเล่นฟุตซอลมาก่อน และประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ ก็เพราะว่าพวกเขายึดการเล่นฟุตบอลเป็นหลัก ขณะที่ ฟุตซอล เปรียบเสมือนส่วนเสริมที่เขาได้เรียนรู้ เพื่อเพิ่มพูนทักษะแก่ตัวเอง
"ข้อเสียเปรียบเลยสำหรับนักฟุตซอลเวลาไปเล่นฟุตบอล คือ พื้นที่การควบคุมมันเยอะ อยู่ในสนามก็อาจจะรู้สึกเคว้ง เพราะคู่ต่อสู้มันรอบทิศทางเลย โดยเฉพาะตำแหน่งกองกลาง แถมบอลมาหาตัวค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับฟุตซอลที่ได้ส่งบอล เลี้ยงบอล บ่อยกว่า เพราะพื้นที่มันแคบบอลถึงตัวเยอะ" เลิศชาย อิสราสุวิภากร นักฟุตซอลและผู้ช่วยโค้ชสโมสรฟุตซอล การท่าเรือ ที่เคยค้าแข้งให้ทีมฟุตบอล ปตท. กล่าว
แม้นักเตะโต๊ะเล็กจะต้องเจอกับปัญหาหลายอย่างในปรับตัวเพื่อเล่นฟุตบอล แต่ในทางกลับกัน เขามองว่าบางทักษะของฟุตซอล ก็สามารถช่วยสร้างความแตกต่างให้ทีมได้เช่นกัน ทั้งการเอาตัวรอดในพื้นที่แคบ ไปจนถึงการจ่ายบอลแบบคิลเลอร์พาส
"ข้อดีของการเล่นฟุตซอลมาก่อน คือ การจ่ายบอล ถ้าเป็นในเกมฟุตบอล บางทีนักเตะจะคิดว่าช่องนี้มันเล็กเกินไป แต่สำหรับนักฟุตซอล ถ้าคู่แข่งเปิดช่องประมาณนี้ เขาถือว่ากว้างแล้ว เกมฟุตซอลช่องมันเล็กกว่านี้อีก นักฟุตซอล จึงมีความกล้าแทงบอลแนวลึก จ่ายยัดตรงกลางช่อง เพราะมั่นใจในความแม่นยำ และคุ้นชินกับการจ่ายบอลอยู่สม่ำเสมอ"
"ส่วนตัวผมคิดว่า นักฟุตซอลที่ข้ามไปเล่นบอลสนามใหญ่ อาจเหมาะกับบางตำแหน่งเช่น แบ็ก, ปีก ที่พื้นที่การเล่นไม่ได้เยอะมาก อาจรับผิดชอบวิ่งขึ้น-ลงแค่ฝั่งเดียวเป็นหลัก ไม่ต้องเคลื่อนที่ทั่วสนาม เจอคู่แข่งรอบตัว ถ้าอย่างนั้นอาจพอปรับตัวได้" เลิศชาย เสริม
นั่นคงอาจเป็นเพราะเหตุผลที่ว่าทำไม เควิน เดอ บรอยน์ ถึงเป็นจอมแอสซิสต์ที่โดดเด่น ในเรื่องการจ่ายคิลเลอร์พาส ตัดแผงเกมรับคู่แข่ง เพราะเขาอาจจะได้ทักษะเหล่านี้ติดตัวมาจากสมัยที่ฝึกหัดเล่นฟุตซอล
รวมถึงได้คลายข้อสงสัยว่า นักเตะอาชีพที่มีปูมหลังมาจากฟุตซอลอย่าง บดินทร์ ผาลา และ ศศลักษณ์ ไหประโคน เหตุใดถึงโดดเด่นในการเล่นตำแหน่ง วิงแบ็ก, ปีก เมื่อเปลี่ยนมาเล่นฟุตบอล
"มันเหมือนกับต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทั้งหมดเลย ฟุตบอลกับฟุตซอลในเกมระดับสูง มีแท็คติกและรายละเอียดของเกมที่แตกต่างกันมาก" บดินทร์ ผาลา อดีตนักฟุตซอลอาชีพที่มาแจ้งเกิดในเส้นทางสายฟุตบอล จนติดทีมชาติได้สำเร็จ เผยถึงเคล็ดลับนั้นกับ Main Stand
"สาเหตุที่ผมเล่นบอลอาชีพได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นฐานดั้งเดิมผมเล่นฟุตบอลมาก่อน แต่ช่วงมัธยมปลาย ผมเล่นฟุตซอลควบคู่ไปด้วย ถึงแม้ว่าผมจะเคยเล่นลีกอาชีพโต๊ะเล็ก แต่ผมก็เล่นแค่ฤดูกาลเดียวแล้วก็เลิก ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะเปลี่ยนสายมาเอาดีทางฟุตบอลหรอกนะ แต่ผมมาได้โอกาสเซ็นสัญญาอาชีพกับ บางกอกกล๊าส (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด) ก็เลยเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นใหม่"
"ช่วงแรกที่เข้าไปอยู่กับทีม ผมเหมือนเป็นเด็กฝึกหัดเตะฟุตบอลเลย ต้องรื้อใหม่แทบทั้งหมด หลายสิ่งที่เราเคยทำได้กับฟุตซอล มันไม่สามารถเอาใช้ได้กับฟุตบอล เพราะสนามมันใหญ่กว่า มีพื้นที่ต้องวิ่งเยอะ แรงปะทะก็หนักกว่า ผมจำได้ว่าผมใช้เวลาปรับตัวนานมาก กว่าจะเข้าใจระบบฟุตบอล และทำตามแท็กติกที่โค้ชต้องการได้ บางครั้งผมยังติดจับบอลด้วยฝ่าเท้าอยู่เลย (หัวเราะ)"
คำตอบของ บดินทร์ ผาลา ชี้ให้เห็นว่าเจ้าตัวไม่ได้เปลี่ยนสายแล้วสามารถเล่นได้เลย แต่นั่นเกิดจากการที่เขาเปิดรับเรียนรู้ใหม่ ในด้านแท็คติก, เทคนิคของฟุตบอล รวมถึงพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของกีฬาลูกหนัง ทั้งการฝึก, จังหวะของเกม, สปีดบอล, การเคลื่อนที่ และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ร่างกาย
Photo : การท่าเรือ เอฟซี Port FC
โชคดีอีกอย่าง คือ บดินทร์ เปลี่ยนใจได้เร็ว หลังจากเล่นลีกฟุตซอลไปได้แค่ 1 ปี ก็เลิกทันที ไม่แน่เหมือนกันว่าถ้าสมมติเขาปล่อยเวลาผ่านไปนานกว่านี้ แล้วค่อยมาเริ่มต้นใหม่กับฟุตบอล บดินทร์ จะยังแจ้งเกิดกับเกมฟุตบอลได้หรือไม่…
เพราะจากข้อมูลทั้งหมดที่เราเสาะหา ได้สะท้อนให้เห็นว่า มันไม่ง่ายเลยสำหรับนักฟุตซอลคนหนึ่ง ที่จะละทิ้งความเคยชินจากกีฬาโต๊ะเล็ก มาประสบความสำเร็จในสนามใหญ่
เนื่องจาก ฟุตบอล และ ฟุตซอล ต่างมีวิวัฒนาการด้านการพัฒนาระบบแบบแผน, แท็คติก, เทคนิค และศาสตร์ของตัวเองไปตามแขนงตัวเอง
ดังนั้นทั้งสองกีฬาจึงมีความยาก-ง่าย ในมิติที่แตกต่างกันออกไป หากจะหยิบนักเตะโต๊ะเล็กไปเล่นบอล 11 คน พวกเขาก็มีสิทธิ์จะไม่ประสบความสำเร็จในระดับสูง เช่นเดียวถ้าลองนำ นักฟุตบอล มาจับใส่สนามขนาดเล็ก 5 คน ก็อาจไปไม่เป็น เล่นไม่ออกได้เหมือนกัน