CCFF : กองทุนสุดรวยที่ อาร์เซนอล และ สเปอร์ส ต้องมาขอกู้ยืมร่วม 300 ล้านปอนด์
ท่ามกลางการระบาดของไวรัส COVID-19 วงการฟุตบอลต้องเดือดร้อนกันทุกย่อมหญ้า รวมถึงสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่แม้จะอยู่ในลีกฟุตบอลมูลค่าสูงอันดับ 1 ของโลก ก็ไม่สามารถหนีวิกฤติทางการเงินได้พ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอังกฤษสามารถหาทางออกของปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการตั้งหน่วยงาน Covid Corporate Financing Facility หรือ CCFF มาปล่อยเงินกู้ ให้สโมสรได้นำเงินไปพยุงธุรกิจ และเอาตัวรอดจากช่วงเวลาที่ยากลำบากไปให้ได้
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา CCFF ได้ลูกค้ารายใหญ่ 2 ราย จากวงการฟุตบอล นั่นคือสองคู่ปรับจากลอนดอนเหนือ อาร์เซนอล และ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ที่กู้เงินรวมกันสูงถึง 300 ล้านปอนด์
ดังคำที่ว่า "ยิ่งสูงยิ่งหนาว" แม้จะเป็นทีมชั้นนำของพรีเมียร์ลีก แต่หากไม่มีเงินกู้จาก CCFF ทั้ง 2 ทีมอาจต้องเผชิญหน้าปัญหาทางการเงินอย่างหนักก็เป็นได้
CCFF คืออะไร ?
Covid Corporate Financing Facility เป็นหน่วยงานที่ถูกก่อตั้งโดยตรง จากรัฐบาลอังกฤษ ผ่านธนาคารแห่งชาติ โดยมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนธุรกิจใหญ่ระดับชาติ ผ่านการปล่อยเงินกู้ให้กับองค์กรที่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้
Photo : www.ukfinance.org.uk
หน่วยงาน CCFF ก่อตั้งอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2020 ทันทีที่โรคระบาด COVID-19 แพร่กระจายอย่างหนักในอังกฤษ และทวีปยุโรป ซึ่งรัฐบาลแดนผู้ดีสามารถคาดการณ์สถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วว่า เศรษฐกิจของประเทศต้องได้รับผลกระทบหนัก จากวิกฤติที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว
ช่วงแรกที่เกิดวิกฤติ สโมสรฟุตบอลไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ CCFF พิจารณาให้เงินกู้ยืมเพื่อพยุงสภาพคล่องของธุรกิจ เพราะ CCFF เน้นไปที่การช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรคระบาด เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว, อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่สูญเสียรายได้จากเศรษฐกิจที่พังลง
CCFF ไม่ได้ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจในประเทศเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงธุรกิจต่างชาติด้วยเช่นกัน โดย CCFF ปล่อยเงินกู้ให้สูงสุดได้มากกว่า 1 พันล้านปอนด์ นอกจากนี้มีรายงานข่าวว่า หน่วยงานนี้มีงบประมาณสำหรับปล่อยกู้ร่วม 18,000 ล้านปอนด์
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป วงการฟุตบอลกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน จากการระบาดของ COVID-19 หลังจากการแข่งขันฟุตบอลถูกเลื่อนออกไปหลายเดือน สูญเสียรายได้ ทั้งค่าตั๋วเข้าชม, ค่าขายของที่ระลึก, เงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ รวมถึงเงินค่าลิขสิทธิ์โทรทัศน์ที่ถูกเลื่อนจ่ายล่าช้าออกไป
สโมสรฟุตบอลไม่ใช่ธุรกิจที่มีเงินสำรอง ในการรองรับวิกฤติทางการเงินมากนัก เพราะแค่ทำทีมให้ไม่ขาดทุน ถือเป็นเรื่องยากอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ต้องมีเงินหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาด้านการเงินที่กระทบมาถึงหน่วยงานลูกหนัง พวกเขาจึงไม่มีความพร้อมมากพอที่จะรับมือได้ โดยปราศจากการช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ
เดือนมิถุนายน 2020 CCFF ประกาศให้ทีมฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก สามารถร่วมโครงการกู้ยืมเงินทุน เพื่อนำไปขับเคลื่อนสโมสร หลังจากก่อนหน้านั้น หลายทีมเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาสภาวะการเงินฝืดเคือง ด้วยการไล่บุคลากรออกจากงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลอังกฤษไม่ต้องการเห็นเท่าไหร่นัก
น้องไก่ขอยืม
ทันทีที่ CCFF เปิดให้สโมสรฟุตบอลเข้ากู้ยืมเงิน ก็ได้รับการตอบรับทันทีจากทีมในอังกฤษ นั่นคือ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ที่กู้เงินจากหน่วยงานนี้สูงถึง 175 ล้านปอนด์ ภายใต้เงื่อนไขว่า ทัพไก่เดือยทองต้องคืนเงินทั้งหมด ภายในเดือนเมษายน ปี 2021
ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่า ได้กู้เงินก้อนนี้ เพื่อมาทดแทนรายได้ที่หายไป จากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งไม่ใช่แค่เงินที่มาจากวันที่มีการแข่งขัน, เงินจากสปอนเซอร์ หรือเงินค่าลิขสิทธิ์โทรทัศน์ที่หายไป แต่รวมถึงรายได้จากการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานคอนเสิร์ต จนถึงการให้ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดียม เป็นสนามเหย้าจัดการแข่งขัน NFL ที่จะมาแข่งขันในประเทศอังกฤษเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นเงินรวม 200 ล้านยูโร ตามการสรุปของสโมสร
"ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ขับเคลื่อนสโมสร ด้วยเงินจากค่าจากสปอนเซอร์ หรือค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ เป็นหลัก ผมเคยพูดไปอย่างชัดเจนแล้วว่า ธุรกิจฟุตบอลได้รับความเสียหายอย่างหนัก จาก COVID-19 ไม่ใช่แค่เรา แต่รวมถึงทุกทีมในพรีเมียร์ลีก" แดเนียล เลวี ประธานทัพไก่เดือยทองกล่าว
สเปอร์ส คือหนึ่งในทีมที่มีค่าใช้จ่ายสูงจาก 20 ทีมในลีกสูงสุดของอังกฤษ จากฤดูกาลที่ผ่านมา ทีมดังจากลอนดอนเหนือ มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อผู้เล่นสูงเป็นอันดับที่ 7 ของลีก และหากรวมรายจ่ายทั้งหมดเฉพาะเงินเดือนของนักฟุตบอล สโมสรแห่งนี้เสียเงินสูงเป็นอันดับที่ 5 ของพรีเมียร์ลีก เป็นจำนวนเงิน 131 ล้านปอนด์ต่อปี
ประกอบกับ สเปอร์ส ไม่ได้มีมหาเศรษฐีต่างชาติหนุนหลัง เหมือนกับทีมชั้นนำทีมอื่น ทำให้เงินกู้ 175 ล้านปอนด์ เป็นเงินก้อนสำคัญที่เข้ามาช่วยให้สโมสรแห่งนี้ สามารถเดินหน้าต่อไปได้
แม้เงินค่าเหนื่อยของนักเตะจะเป็นหนึ่งในรายจ่ายสำคัญของ สเปอร์ส แต่สโมสรได้แถลงการณ์ว่า ไม่ได้กู้เงินก้อนนี้ เพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าจ้างให้กับนักฟุตบอล หรือใช้ในการซื้อผู้เล่นเข้าสู่ทีม แต่จะถูกใช้เป็นเงินสำรองตลอดทั้งปี เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีสะดุด
รวมถึงใช้เป็นเงินทุนในการจ่ายให้กับพนักงานของสโมสร ที่ไม่เกี่ยวข้องกับทีมฟุตบอล เช่น นักเตะ, โค้ช, ทีมสตาฟฟ์ เพื่อให้ลูกจ้างทุกคนของทีม มั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกเลิกจ้างท่ามกลางวิกฤติที่กำลังเผชิญอยู่ และได้รับเงินเดือนที่เหมาะสม ให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวของตัวเองได้ตลอดรอดฝั่ง
นอกจากนี้ สเปอร์ส เปิดเผยว่า เงินก้อน 175 ล้านปอนด์ จะเข้ามาสร้างความสมดุลทางการเงินให้กับสโมสร ซึ่งจะช่วยให้ทีมไม่ติดลบตัวแดงด้านเงินทุน และสูญเสียความน่าเชื่อถือของธุรกิจ ซึ่งอาจนำไปสู่การถอนตัวของสปอนเซอร์ หรือการขายหุ้นของสโมสรของผู้ถือหุ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทัพไก่เดือยทองยังคงเป็นทีมที่มีความมั่นคงทางการเงิน และอยู่ในระดับท็อปของพรีเมียร์ลีกเช่นเดิม
เป็นเรื่องเข้าใจได้ที่ สเปอร์ส ต้องกู้เงินก้อนนี้มาให้กับทีม เพราะนอกจากจะเสียรายได้มากมายแล้ว สเปอร์ส ยังได้ทำการคืนเงินจากการขายตั๋วปี ในส่วนเกมการแข่งขันนัดที่เหลือ ซึ่งแฟนบอลไม่สามารถเข้าชมได้ ให้กับผู้ซื้อตั๋วปี ซึ่งทำให้ทีมเสียรายได้ไปอีกหนึ่งก้อน
อย่างไรก็ตาม สื่อรายงานว่า เงินก้อนโตที่ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ กู้มา มีนัยยะสำคัญเพียงข้อเดียว คือนำมาใช้จ่ายเป็นเงินค่างวดของ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดียม ที่สร้างเสร็จได้ไม่นาน และกลายเป็นหนี้ตกค้างของทีมอยู่เกือบ 1 พันล้านปอนด์
กระนั้น เงินก้อนนี้ถือว่าสำคัญมากกับ สเปอร์ส อยู่ดี เพราะพวกเขาได้ลงทุนไปมากกับสนามแห่งใหม่ และหวังจะใช้เป็นเครื่องมือในการหารายได้ของทีม แต่การระบาดของ COVID-19 ทำให้แผนการหาเงินของ สเปอร์ส ต้องพังลง และยังมีเงินกู้สร้างสนามที่ต้องชำระ ดังนั้นการกู้เงินจาก CCFF คือหนึ่งในวิธีช่วยเหลือสโมสรให้สามารถประคับประคองทีมต่อไปได้
พี่ปืนขอกู้
วันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา คู่ปรับร่วมลอนดอนเหนือของ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ อย่าง อาร์เซนอล กลายเป็นสโมสรที่ 2 ในพรีเมียร์ลีกที่กู้เงินจาก CCFF เป็นจำนวน 120 ล้านปอนด์ โดยมีกำหนดจ่ายคืนในเดือนพฤษภาคม 2021
อาร์เซนอล ได้ออกแถลงการณ์ว่า เงินก้อนนี้มีเป้าประสงค์หลัก เพื่อมาช่วยใช้ชำระจ่ายค่างวดหนี้ เอมิเรตส์ สเตเดียม ที่เหลือคงค้างอยู่ที่ 170 ล้านปอนด์ ไม่ต่างจาก สเปอร์ส ที่ต้องการเงินกู้จากทางรัฐบาล มาช่วยผ่อนชำระหนี้ที่สโมสรมีค้างไว้อยู่
นอกจากนี้ สื่อได้รายงานว่า อาร์เซนอลน่าจะขาดทุนถึง 144 ล้านปอนด์ในปีนี้ จากรายได้ต่าง ๆ ที่หายไป โดยเฉพาะเงินจากสปอนเซอร์ ทำให้ทัพปืนใหญ่กู้เงินก้อนจาก CCFF เข้ามาพยุงสถานะการเงินของสโมสรชั่วคราว เพื่อให้บอร์ดการเงินของทีมไม่ติดลบตัวแดงมากไปกว่านี้ เหมือนกับกรณีของ สเปอร์ส
ซึ่งเป้าหมายหลักที่ อาร์เซนอล ต้องการในตอนนี้ คือการกู้เงินเข้ามาช่วยสโมสร เพราะทีมไม่ต้องการจะให้การสรุปงบการเงินของทีมในฤดูกาลนี้ ออกมาขาดทุนมหาศาล
อย่างไรก็ตาม สื่อได้แสดงความกังวลในกรณีการกู้ยืมของ อาร์เซนอล มากกว่า สเปอร์ส เพราะทัพปืนโตกู้เงินก้อนนี้มา และต้องผ่อนชำระในเวลาระยะสั้น ซึ่งทีมจำเป็นจะต้องหมุนเงินให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด
เพราะปัจจุบัน อาร์เซนอล แบกรับภาระค่าเหนื่อยนักฟุตบอลมหาศาล โดยมีค่าจ้างนักเตะเฉลี่ยต่อคน มากเป็นอันดับที่ 4 ของพรีเมียร์ลีก ขณะเดียวกันมีค่าเหนื่อยของทีมรวม มากเป็นอันดับ 2 ของลีก ที่จำนวน 145 ล้านปอนด์ต่อปี
นอกจากนี้ มีรายงานว่า เงินกู้ 120 ล้านปอนด์ จะถูกแบ่งบางส่วนคืนให้กับ บริษัท โครเอนเก สปอร์ต แอนด์ เอนเตอร์เทนเมนต์ บริษัทของ สแตน โครเอนเก ที่ถือครองสโมสร อาร์เซนอล อยู่ ซึ่งให้เงินกู้บางส่วนแก่ทีม ในปีที่ผ่านมา เพื่อพยุงสภาพคล่องของสโมสร
กรณีของ อาร์เซนอล มีความแตกต่างจาก สเปอร์ส ตรงที่ มีเศรษฐีข้ามชาติคอยหนุนหลังอยู่ นั่นคือ สแตน โครเอนเก และดูเหมือนไม่จำเป็นที่ทีมสีแดงจากลอนดอนเหนือ จะต้องกู้เงินจากรัฐบาลอังกฤษ เข้ามาช่วยเหลือสโมสรในยามวิกฤติเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม อาร์เซนอล ไม่ใช่ธุรกิจหลักของ สแตน โครเอนเก แต่เป็นทีมอเมริกันฟุตบอลในลีก NFL อย่าง ลอสแอนเจลิส แรมส์ ที่นักธุรกิจรายนี้ให้ความสำคัญ ท่ามกลางสภาวะวิกฤติเช่นนี้ ด้วยเงินทุนที่จำกัด โครเอนเก้ เลือกนำเงินทุนของตัวเอง ลงไปกับทีมของเกมคนชนคนมากกว่า
โครเอนเก มีแนวทางที่ชัดเจนว่า จะไม่นำเงินส่วนตัวลงทุนกับ อาร์เซนอล และทัพปืนใหญ่ต้องหาทางหมุนเงิน เพื่อให้สโมสรอยู่รอดด้วยตัวเอง แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการควักกระเป๋าตัวเอง จาก โครเอนเก อยู่บ้าง เช่น การออกเงินซื้อ โธมัส ปาเตย์ มาร่วมทีม เมื่อช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา แต่ก็ถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับรายจ่ายของทีม โดยเฉพาะในภาวะโรคระบาดแบบนี้
สุดท้ายแล้ว การกู้เงินจาก CCFF จึงถูกมองเป็นการเอาตัวรอดครั้งสำคัญของ อาร์เซนอล เพื่อให้สโมสรเดินหน้าต่อไปได้ กับการหมุนเงินให้มีสภาพคล่องต่อไป แม้ว่าจะมีนายทุนใหญ่หนุนหลังก็ตาม
ทั้ง อาร์เซนอล และ สเปอร์ส สามารถผ่านวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปได้ ต้องขอบคุณรัฐบาลอังกฤษที่ก่อตั้งหน่วยงาน Covid Corporate Financing Facility และแสดงให้เห็นว่า หากรัฐบาลมีคุณภาพ ภาคธุรกิจสามารถบรรเทาภาระ ผ่านช่วงเวลายากลำบากไปได้ระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางปีนี้ ทั้ง อาร์เซนอล และ สเปอร์ส ต้องชดใช้หนี้ก้อนโต ที่พวกเขากู้ยืมมา ซึ่งหากบริหารจัดการได้ดี คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่ เราอาจได้เห็นการร่วงหล่นครั้งสำคัญของทั้งสองสโมสร เหมือนกับหลายทีมในอังกฤษ ที่ต้องเผชิญหน้ากับความตกต่ำ เพราะการบริหารการเงินที่ผิดพลาด