เอ็นลูกสะบ้าเข่าฉีกขาด : การบาดเจ็บรุนแรงที่พรากความเป็น "ปรากฏการณ์" ของโรนัลโด้
"นี่เป็นการบาดเจ็บรุนแรงสุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาในวงการฟุตบอล ลูกสะบ้าของ R9 เคลื่อนมาอยู่ที่บริเวณกลางต้นขา เขาร้องไห้ไม่หยุด และเราต้องให้มอร์ฟีนเพื่อระงับความเจ็บปวด"
กลางทศวรรษ 90s นักฟุตบอลดาวรุ่งชาวบราซิลคนหนึ่ง โผล่ขึ้นมาสร้างแรงสั่นสะเทือนโลกลูกหนัง เขาได้รับฉายาว่า "O Fenomeno" หรือ "ปรากฏการณ์" พร้อมได้รับการคาดหมายว่า อาจก้าวขึ้นมาเป็น สุดยอดนักเตะแบบที่โลกไม่เคยมีมาก่อน
แต่อาการบาดเจ็บหนักสุดสยองขวัญบริเวณหัวเข่า ได้ฝากรอยแผลอันน่ากลัว และพรากความเป็นปรากฏการณ์ของ "โรนัลโด้ หลุยส์ นาซาริโอ เด ลิมา" หรือ "โรนัลโด้" เมื่อตอนที่เขาเพิ่งอายุแค่ 23 ปีเท่านั้น ...
จนใครหลายคนต่างอดคิดไม่ได้ว่า โรนัลโด้ จะมีฝีเท้ายอดเยี่ยมเกรียงไกรขนาดไหน หากเขาไม่ได้รับบาดเจ็บตรงเอ็นลูกสะบ่าเข่า ถึง 3 ครั้ง !
เกิดอะไรขึ้นกับหัวเข่าของ โรนัลโด้ ? "หมอทิม - นพ. ภคภณ อิสรไกรศีล" AFC Medical Officer ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ด้านผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าและข้อไหล่ แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) โรงพยาบาลกรุงเทพ ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA Medical Centre of Excellence) จะมาเล่าให้ทุกท่านได้อ่าน ผ่านบทความชิ้นนี้
จุดเริ่มต้นความสยดสยอง
ย้อนกลับไปก่อนค่ำคืนวันที่ 21 พฤศจิกายน 1999 ... โรนัลโด้ ตอนนั้นคือกองหน้าระดับท็อปที่ไม่มีใครหยุดยั้งได้ R9 มีทั้งความแข็งแกร่ง, รวดเร็ว, การจบสกอร์ที่เฉียบคม และในค่ำคืนนี้ เขาสวมปลอกแขนกัปตัน นำต้นสังกัด อินเตอร์ มิลาน ลงเล่นเกมเซเรีย อา เจอกับ เลชเช่
ทุกอย่างดูเหมือนเป็นปกติ จนกระทั่งจังหวะหนึ่ง โรนัลโด้ เหยียดเท้าเพื่อจะแย่งบอล และสามารถช่วงชิงมันได้ แต่ไม่กี่วินาทีต่อมา เจ้าตัวกลับต้องรีบถ่ายบอลส่งให้เพื่อนร่วมทีม พร้อมส่งสัญญาณขอเปลี่ยนตัว
มีรายงานตามมาภายหลังว่า โรนัลโด้ ได้รับบาดเจ็บบริเวณหัวเข่าขวา แม้เขาจะเดินออกจากสนามได้ด้วยตัวเอง แต่การตรวจเพิ่มเติมกลับพบสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก เมื่อ โรนัลโด้ มีภาวะ "เอ็นลูกสะบ้าเข่าฉีกขาด" ต้องเข้ารับผ่าตัดเพื่อทำการรักษา
เขาใช้เวลาพักฟื้นฟูนานถึง 6 เดือน กว่าจะกลับมาช่วย อินเตอร์ มิลาน ได้อีกครั้งในเดือน เมษายน 2000 ที่สโมสรมีคิวเจอกับ ลาซิโอ ในศึกฟุตบอล โคปปา อิตาเลีย แต่เพียงแค่ 6 นาทีที่อยู่ในสนาม โรนัลโด้ ต้องพบกับหายนะครั้งใหญ่ของชีวิต
จากจังหวะกระชากบอล ตามด้วยการสับขาหลอก อันเป็นท่าไม้ตายคุ้นตา ทว่า จู่ ๆ เขาทรงตัวไม่อยู่จนเสียหลักล้มลงไป โรนัลโด้ นอนราบกับพื้นสนาม มือกุมหัวเข่าข้างขวาไว้แน่น สีหน้าและอากัปกริยาบ่งบอกถึงความเจ็บปวดที่ยากเกินกว่าบรรยายให้ใครเข้าใจได้ว่ามากขนาดไหน
"นี่เป็นการบาดเจ็บรุนแรงสุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาในวงการฟุตบอล ลูกสะบ้าของ R9 เคลื่อนมาอยู่ที่บริเวณกลางต้นขา เขาร้องไห้ไม่หยุด และเราต้องให้มอร์ฟีนเพื่อระงับความเจ็บปวด"
"หัวเข่าของเขาโตเท่าลูกบอล มีสายระบายเลือดมากมายจากหัวเข่า และ โรนัลโด้ พร่ำถามว่า เขาจะสามารถกลับมาเล่นฟุตบอลได้อีกครั้งหรือไม่หลังการผ่าตัด ได้โปรดอย่าโกหกเขา" นิลตัน เปโตรเน่ นักกายภาพบำบัดชาวบราซิล ที่ทำงานอยู่กับทีม อินเตอร์ มิลาน ในขณะนั้น ย้อนความหลังถึงเรื่องนี้
ผู้อ่านอาจคุ้นชื่อกับอาการบาดเจ็บอย่าง "เอ็นไขว้หน้าหัวเข่าฉีกขาด" และ "กระดูกหัก" ในนักฟุตบอลเป็นอย่างดี ซึ่งภาวะเหล่านี้น่ากลัว รุนแรง และใช้เวลาในการรักษายาวนาน แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับกรณีของ โรนัลโด้ ที่ประสบพบเจอกับการบาดเจ็บ "เอ็นลูกสะบ้าเข่าฉีกขาด"
จากการศึกษาเก็บข้อมูลในหมู่นักกีฬาฟุตบอล ภาวะ "เอ็นลูกสะบ้าเข่าฉีกขาด" เกิดขึ้นน้อยมาก ไม่เพียงเท่านั้น บรรดานักกีฬาที่เจอเคสลักษณะนี้ มีโอกาสกลับมาเล่นได้ในระดับสูงหลังการผ่าตัดรักษาค่อนข้างต่ำ เพราะถือเป็นอาการบาดเจ็บที่เข้าขั้นรุนแรงมาก
โดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่า ผู้ที่ผ่าตัดซ่อมเอ็นลูกสะบ้าหัวเข่า สามารถกลับมาเล่นกีฬาได้เพียงแค่ราว 52% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน้อย หากเจาะลึกให้ลึกลงไปในกีฬาที่ต้องใช้ขามากอย่าง ฟุตบอล ความเป็นไปได้ยิ่งน้อยลงไปอีก
รุนแรงแค่ไหน ?
เอ็นลูกสะบ้าเข่า (Patellar tendon) เป็นเอ็นเส้นใหญ่ด้านหน้าเข่า ที่เชื่อมต่อระหว่างกล้ามเนื้อต้นขา (Quadriceps) กระดูกสะบ้า (Patellar) และกระดูกหน้า แข้ง (Tibia) มีหน้าที่สำคัญในการเหยียดขา เตะขา ร่วมทั้งการเคลื่อนไหว ยืน เดิน
อาการเจ็บบริเวณเอ็นลูกสะบ้า พบได้ทั้งในคนทั่วไป และนักกีฬา โดยเฉพาะนักวิ่ง นักบาสเกตบอล รวมถึงนักฟุตบอล หากได้รับบาดเจ็บจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการชีวิตประจำวัน เพราะมีอาการเจ็บตรงหน้าเข่าใต้ลูกสะบ้า โดยเฉพาะตอนเดินขึ้นลงบันได, นั่งยอง
จากการศึกษาในฟุตบอลยุโรป พบอาการบาดเจ็บบริเวณเอ็นลูกสะบ้าเข่าประมาณ 1.2% ของการบาดเจ็บทั้งหมดในนักฟุตบอล ส่วนใหญ่ใช้เวลาในการพักรักษาเฉลี่ยประมาณ 2-3 สัปดาห์
แต่ถ้าหากค้นหาข้อมูลอาการบาดเจ็บลูกสะบ้าเข่าฉีกขาดในหมู่นักฟุตบอลอาชีพ กลับไม่พบข้อมูลรายงานในงานวิจัย เนื่องจากจำนวนนักเตะที่บาดเจ็บรุนแรงเช่นนี้มีจำนวนน้อยมาก
เพราะถ้าเป็นอาการ "เอ็นลูกสะบ้าเข่าฉีกขาด 100%" แบบ โรนัลโด้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดรุนแรง ไม่สามารถยืน, เดินเป็นปกติ และเหยียดขาให้ตรงได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ควบคุมจากกระดูกต้นขา และกระดูกหน้าแข้งจะขาดการเชื่อมต่อกัน ดังนั้นเรื่องออกแรงเตะบอล ลืมไปได้เลย
ภาวะนี้จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น และจำเป็นต้องเปิดแผลยาวบริเวณหน้าเข่า ไม่สามารถรักษาด้วยการส่องกล้องผ่าตัดได้ แถมยังต้องใส่เฝือก หรือที่ประคองเข่า เพื่อล็อคขาอยู่กับที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดภาวะข้อเข่าติด งอเข่าได้น้อย และกล้ามเนื้อฝ่อลีบตามมาได้
ความรุนแรงของเคสนี้ ทำเอา นายแพทย์ เชราร์ ไซยองต์ แพทย์ออร์โธปิดิกส์ชาวฝรั่งเศส ผู้มีประสบการณ์รักษานักฟุตบอล และเป็นผู้ลงมือผ่าตัดเข่า โรนัลโด้ ในขณะนั้น ไม่กล้าการันตีว่า R9 จะกลับมาเล่นได้อีกครั้งหรือไม่ ? "ผมเองเคยผ่าตัดรักษาอาการเอ็นลูกสะบ้าฉีกขาดในนักฟุตบอลอาชีพเพียงแค่ 1 ราย เป็นนักฟุตบอลชาวโปรตุเกส (เปาโล ฟูเตร้) โชคร้ายที่เขาไม่สามารถกลับมาเล่นฟุตบอลได้ในระดับเดิมอีก"
ณ เวลานั้น สื่อหลายสำนัก รวมทั้งแฟนบอล ต่างคาดการณ์ไว้ว่า โรนัลโด้ มีโอกาสที่จะไม่สามารถกลับมาเล่นฟุตบอลในระดับสูงได้อีก และคงเป็นเรื่องน่าเศร้าในวงการฟุตบอล ถ้าต้องสูญเสียสตาร์ระดับโลกไปจากเกมลูกหนัง ด้วยวัยเพียง 23 ปี
สาเหตุที่โชคร้าย
หากจะค้นหาต้อตอว่า โรนัลโด้ ได้รับบาดเจ็บรุนแรงแบบที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับนักฟุตบอลได้อย่างไร ? ก็คงต้องย้อนกลับไปดูรายงานทางการแพทย์ เกี่ยวกับ "อาการบาดเจ็บตรงเอ็นลูกสะบ้าเข่า"
สาเหตุส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากการใช้งานซ้ำ ๆ (Overuse) การใช้งานหนักเกินความเหมาะสม (Inappropriate loading) และภาวะน้ำหนักตัวมาก (Overweight) รวมถึงมีปัจจัยภายในร่างกายอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความผิดปกติของกระดูกและข้อ กระดูกขาบิดมากเกินไป กระดูกเท้าทำมุมผิดปกติ หรือขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ส่วนปัจจัยภายนอก ก็มีเรื่องของ การใช้งานหนัก หรือความแข็งของพื้นสนาม โดยพบอาการบาดเจ็บมากกว่าในกลุ่มพื้นสนามแข็ง อย่างเช่น สนามหญ้าเทียม เป็นต้น
สำหรับกรณีของ โรนัลโด้ เขามีอาการเจ็บหน้าเข่าทั้งสองข้าง มาตั้งแต่ หลังจบฟุตบอลโลกปี 1998 เพียงแต่ยังไม่แสดงรุนแรงจนน่ากังวล
นิลตัน เปโตรเน่ นักกายภาพบำบัดประจำสโมสร อินเตอร์ มิลาน ยังเสริมข้อมูลเพิ่มเติมว่า R9 มีปัญหาภาวะกระดูกต้นขาผิดรูป (Trochlear dysplasia) ทำให้ข้อเข่าบริเวณลูกสะบ้าไม่มั่นคง กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นรอบ ๆ ต้องทำงานอย่างหนักกว่าปกติ อันเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้เอ็นลูกสะบ้ามีอาการบาดเจ็บ และฉีกขาดในที่สุด
อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง ตามคำบอกเล่าของนักฟุตบอลบราซิลหลายราย คือ ผู้เล่นจำนวนไม่น้อย เคยผ่านการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บเส้นเอ็นมาแล้วทั้งสิ้น
ยาสเตียรอยด์ เป็นชื่อยาที่น่ากลัวสำหรับคนทั่วไปและนักกีฬาพอสมควร เนื่องจากทุกคนกังวลในผลข้างเคียงจากยา
อย่างไรก็ตาม ในหมู่นักกีฬา การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าที่บริเวณรอบ ๆ เส้นเอ็นที่อักเสบนั้นออกฤทธิ์ช่วยลดอาการอักเสบได้ค่อนข้างดี เห็นผลไว
แต่หากเลือกใช้อย่างไม่เหมาะสม รวมทั้งการฉีดยาเข้าไปบริเวณเส้นเอ็น ซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้เส้นเอ็นเสียคุณภาพและความแข็งแรง นำมาซึ่งภาวะเส้นเอ็นฉีกขาดได้
ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่า โรนัลโด้ อาจเคยฉีดยาสเตียรอยด์ เพราะเจ้าตัวเคยมีอาการบาดเจ็บบริเวณเอ็นลูกสะบ้ามาก่อนที่เอ็นลูกสะบ่าเข่าจะฉีดขาดแบบร้อยเปอร์เซนต์ แถมเขายังมีภาวะกระดูกต้นขาผิดรูป (Trochlear dysplasia) ติดตัวด้วย
ที่น่ากลัวคือ หลังการผ่าตัดซ่อมแซมแล้ว หัวเข่าจะไม่มีทางกลับเหมือนเดิม 100% และมีโอกาสฉีกขาดซ้ำได้มากถึง 50% ในบางเทคนิคการผ่าตัด
นอกจากนี้ ก่อนเจอกับอาการบาดเจ็บหนัก โรนัลโด้ เป็นคนที่มีรูปร่างหนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แม้ไม่ได้อวบอ้วนเท่าตอนที่ค้าแข้งให้ เรอัล มาดริด หรือในช่วงบั้นปลายอาชีพ
บวกกับสไตล์การเล่นที่ใช้ความรวดเร็ว แข็งแกร่ง จังหวะกระชากแล้วหยุดเปลี่ยนทิศทางกระทันหัน จังหวะสับขาหลอกแล้วเปลี่ยนจังหวะอย่างฉับพลัน สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดอาการบาดเจ็บเอ็นสะบ่าเข่าได้ทั้งสิ้น
จิตใจยอดนักสู้ของ R9
"8 เดือนหลังการผ่าตัดครั้งใหญ่ ผมไม่สามารถงอเข่าได้เกิน 100 องศา ผมเดินทางไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สหรัฐอเมริกา และหมอต่างบอกกับผมว่าไม่มีทางที่จะกลับไปเล่นฟุตบอลได้เลย" โรนัลโด้ กล่าวในสารคดีของ FourFourTwo แม้สภาพจิตใจจะย่ำแย่และหงุดหงิด แต่ตัว R9 ยังไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา
การผ่านอาการบาดเจ็บรุนแรง แต่กลับมาเล่นในระดับสูงได้ของ โรนัลโด้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เขามีจิตใจความเป็นนักสู้มากขนาดไหน ?
โรนัลโด้ มีความตั้งใจทำกายภาพบำบัด เช้า บ่าย และเย็นทุกวัน เขาพยายามฟื้นฟูร่างกายอย่างหนัก วันละ 9-10 ชั่วโมง แม้การบริหารเข่า งอเข่าจะเต็มไปด้วยความเจ็บปวดและยากลำบาก แต่เขาไม่เคยหมดความหวังเลย
สุดท้ายหลังการบาดเจ็บ และการผ่าตัดเอ็นลูกสะบ้าเข่า โรนัลโด้ ใช้เวลา 15 เดือน จึงสามารถกลับมาเล่นฟุตบอลที่เขารักได้อีกครั้ง
โรนัลโด้ กลับมาลงสนามได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2001 แต่ยอดดาวยิงชาวบราซิล มีเวลาพิสูจน์ตัวเองไม่มากนัก ก่อนทัวร์นาเมนต์ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ฟุตบอลโลก จะเริ่มขึ้นในกลางปี 2002 เนื่องจาก เขาประสบกับอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้ออยู่หลายครั้ง
ถึงขนาดที่ในบางช่วง R9 จำเป็นต้องกลับไปพักฟื้นที่ประเทศบราซิล อยู่ท่ามกลางครอบครัว และเพื่อนฝูงที่คอยให้กำลังใจ เสริมสร้างพลังบวกให้ โรนัลโด้ สู้ ในที่สุด เขาก็ได้เป็นหนึ่งในขุมกำลัง ทีมชาติบราซิล ชุดลุยบอลโลก ที่ประเทศญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ แม้เพิ่งลงเล่นไปแค่ 10 นัดเท่านั้น หลังการกลับมา
นัดแรกในฟุตบอลโลก 2002 บราซิล เจอกับ ตุรกี ที่เล่นได้อย่างแข็งแกร่ง โรนัลโด้ ทำได้ 1 ประตู ช่วยให้ทีมเก็บชัยชนะเหนือคู่แข่ง 2-1 ประตู
หลังจากการแข่งขันนัดนั้น 1 วัน เขาเปิดเผยว่า ร่างกายตนเต็มไปด้วยความเจ็บปวด เนื่องจากไม่ได้ลงเล่นเต็มเกมมานาน และถูกหมายตาจากกองหลัง เป็นเป้าให้โดนอัด โดนปะทะอยู่ตลอดทั้งเกม
เขายังเผยอีกว่า อาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อต้นขาขวา ทำให้ไม่สามารถยิงบอลได้อย่างปกติ โรนัลโด้ ตัดสินใจนำเอาเทคนิคการยิงบอลแบบจิ้มบอลด้วยปลายเท้า ที่เรามักไม่ค่อยได้เห็นการทำสกอร์ด้วยการยิงแบบนี้สักเท่าไหร่ในกีฬาฟุตบอลสนามใหญ่ อาจจะเพราะการควบคุมทิศทางบอลทำได้ยาก และการจะยิงให้มีน้ำหนักที่ดีก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่
และมันก็ได้ผล "บราซิล" คว้าแชมป์โลกสมัยที่ 5 ได้สำเร็จ โดย "โรนัลโด้" ถือเป็นพระเอกของงาน เขายิง 2 ประตูในนัดชิงชนะเลิศ พร้อมกับคว้ารางวัลรองเท้าทองคำ ซัลโวไป 8 ประตู และก้าวไปคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของโลกประจำปี 2002 ทั้งที่เขามีอาการบาดเจ็บรบกวน มาตั้งแต่จบเกมนัดแรกของทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก!
"ผมไม่เคยรู้ว่าตัวเองแข็งแกร่งแค่ไหน จนกระทั่งได้รับบาดเจ็บ ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องเข้มแข็ง ผมคิดว่าฟุตบอลให้อะไรกับผมมากกว่าที่ผมได้มอบให้กีฬาฟุตบอลเสียอีก" โรนัลโด้ กล่าวปิดท้ายในสารคดี
หลังจากฟุตบอลโลก 2002 เขาย้ายไปร่วมทีม เรอัล มาดริด สร้างตำนาน "กาลาคติกอส" ยุคที่รวมดาราโลกไว้มากมายในทีม โรนัลโด้ ยังคงโชว์ฟอร์มได้อย่างดีเยี่ยม ยิงประตูได้มากมาย
แม้สไตล์การเล่นของเขาจะแตกต่างจากก่อนมีอาการบาดเจ็บหนักอย่างเห็นได้ชัด จังหวะกระชากบอลด้วยความรวดเร็วคล่องแคล่วหายไป แต่ความเฉียบคมยังคงเยี่ยมยอด R9 จำต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการเล่นตามสภาพร่างกาย นั่นจึงทำให้ เขาสามารถยืนระยะเล่นฟุตบอลในระดับสูงได้จนถึงวัย 34 ปี
ยิ่งไปกว่านั้น โรนัลโด้ เคยได้รับบาดเจ็บเอ็นลูกสะบ้าฉีกขาดอีกครั้งในปี 2008 ขณะค้าแข้งอยู่กับทีม เอซี มิลาน นับเป็นครั้งที่สามที่เขาได้รับบาดเจ็บที่บริเวณนี้ แตกต่างตรงที่คราวนี้เป็นการบาดเจ็บหัวเข่าซ้าย ไม่ใช่ข้างขวาเหมือนเดิม
โรนัลโด้ ใช้เวลาในการรักษาอีกร่วม 1 ปี ถึงจะกลับมาลงสนามให้กับ โครินเธียนส์ สโมสรสุดท้ายในอาชีพนักเตะของเขา
แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ และเวชศาสตร์การกีฬาจะพัฒนาไปมาก แต่การบาดเจ็บแบบเดียวกับ โรนัลโด้ อย่าง "เอ็นลูกสะบ้าฉีกขาด" ก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายในการผ่าตัดรักษาและการฟื้นฟู
โดยเฉพาะในนักกีฬาอาชีพระดับสูงเช่นนักฟุตบอล ที่ต้องใช้งานหัวเข่าอย่างหนักหน่วงตลอดการแข่งขัน จะมีสักกี่คนที่ทำได้แบบ โรนัลโด้ ?
ในทางกลับกัน ก็อดคิดไม่ได้เลยว่า ถ้า โรนัลโด้ ไม่ถูกอาการบาดเจ็บหนักบริเวณเข่าขัดขวางพัฒนาการ และความสามารถของเขา R9 จะเป็นผู้เล่นที่สุดยอดมากขนาดไหน ?
อัลบั้มภาพ 27 ภาพ