"เราไม่เสียใจที่เลิกเล่น" อีฟ ณิชาต์ นักกีฬาทีมชาติที่ทิ้งเทนนิสอาชีพไปประกวด Supermodel
The Face Thailand รายการเรียลลิตี้ชื่อดัง เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนายแบบ-นางแบบ ขึ้นมาประดับวงการ ตลอด 4 ซีซั่นที่ผ่านมา มีชายหนุ่ม-หญิงสาว จำนวนมากนับพันนับหมื่นชีวิต ยื่นใบสมัครหวังจะได้ผ่านการออดิชั่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ The Face Thailand
ในซีซั่น 5 มีผู้เข้าแข่งขันรายหนึ่ง แตกต่างออกจากไปคนอื่น นั่นคือ อีฟ-ณิชาต์ เลิศพิทักษ์สินชัย เธอไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานหน้ากล้องมาก่อน ไม่เคยผ่านการแคสโฆษณา ถ่ายแบบ หรือทำอะไรก็ตาม อย่างที่ผู้สมัครส่วนใหญ่ทำกัน
ตรงกันข้าม ณิชาต์ ตากแดดตากลมฝึกซ้อมทุกวัน ในฐานะนักเทนนิสอาชีพ และตัวแทนทีมชาติไทย มาร่วม 10 ปี เส้นทางของเธออยู่ห่างออกไปจากคำว่า ซูเปอร์โมเดล อย่างมากADVERTISEMENT
ชีวิตของผู้หญิงคนนี้ เดินทางตามล่าความฝันด้วยการตัดสินใจของตัวเองอยู่เสมอ ตั้งแต่เริ่มมีฝันอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ ตัดสินใจออกจากโรงเรียน เพื่อทุ่มเทให้กับเทนนิสอย่างเต็มตัว จนถึงวันที่แขวนแร็คเกต และหันไปชิมลางกับวงการบันเทิง
บางช่วงชีวิตของเธอก็ประสบความสำเร็จ บางครั้งเธอไปได้ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่ตลอด 29 ปีที่ผ่านมา ณิชาต์ เลิศพิทักษ์สินชัย ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ เลือกเส้นทางที่ตัวเองอยากเดิน ลองท้าทายตัวเองอยู่เสมอ โดยไม่เคยมองกลับหลัง และรู้สึกเสียใจกับเส้นทางที่ได้ก้าวผ่านมา
ลาออกจากโรงเรียนตามฝัน
"เราเริ่มจับไม้ ตั้งแต่ประมาณ 3-4 ขวบ เพราะว่าคุณลุงกิตตน์สมบัติ เอื้อมมงคล เป็นนักเทนนิสทีมชาติเก่า และคุณแม่ที่เป็นน้องสาวของคุณลุงกิตตน์สมบัติ ก็เล่นเหมือนกัน เทนนิสเหมือนกับเป็นกีฬาประจำครอบครัว"
"ตอนเป็นเด็กเวลาที่บ้านไปเล่นเทนนิส เขาจะพาเราไปด้วย ก็อยู่คลุกคลีตรงนั้นตลอด ได้จับไม้ตีลูกเล่น ๆ เทนนิสกลายเป็นสิ่งที่อยู้กับเรามาตลอด ก่อนที่จะรู้ตัวด้วยซ้ำ"
"พออายุสัก 7 ขวบ จึงได้โอกาสไปลองแข่ง แล้วเกิดชนะขึ้นมา เป็นความคิดในหัวว่า เราเล่นเทนนิสได้โอเค หลังจากนั้นก็เริ่มเล่นเทนนิส แข่งขันตามรายการต่าง ๆ มาตั้งแต่ตอนนั้น" ณิชาต์ เริ่มเล่าเรื่องราวของเธอ
เด็กผู้หญิงกับการเล่นกีฬาอย่างจริงจัง ไม่ใช่เรื่องราวที่พบเห็นได้บ่อยนัก เพราะดูแตกต่างกับภาพนิยมของสังคมไทย ที่ชื่นชอบผู้หญิงที่มีความเรียบร้อยมากกว่า แต่ อีฟ-ณิชาต์ กลับพบความสนุกในวัยเด็กของเธอ ผ่านคอร์ทยาง โดยมีไม้เทนนิส กับลูกสักหลาดสีเขียวเป็นเพื่อนคู่ใจ
"เราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างนะ แค่เป็นผู้หญิงที่ดูแข็งแรง มีความแอคทีฟ ตอนนั้นเล่นเทนนิสสนุกจริง ๆ เราตีแบบไม่ได้คิดอะไร อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เราชนะบ่อยตอนเป็นเด็ก จนเริ่มได้ไปแข่งต่างประเทศ ติดทีมชาติชุดเยาวชน"
15 ปี คือวัยที่ผู้หญิงไทย ต้องเปลี่ยนคำนำหน้าจากเด็กหญิงเป็นนางสาว สำหรับนางสาวณิชาต์ เลิศพิทักษ์สินชัย ความเปลี่ยนแปลงในอายุ 15 ของเธอไม่ได้มีแค่นั้น แต่เธอได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่จะกำหนดเส้นทางชีวิตที่เหลือของเธอ
"ตอนช่วงมัธยมต้นเราเหนื่อยมาก เพราะต้องตื่นเช้าตั้งแต่ 6 โมงมาซ้อมเทนนิส เสร็จแล้วก็ไปเรียน เลิกเรียนต้องมาฝึกต่อ แต่เราไม่อยากทิ้งสักอย่าง ด้วยนิสัยของตัวเอง อยากทำอะไรให้มันถึงที่สุด เรื่องเรียนต้องทำให้ดี เล่นเทนนิสก็ต้องประสบความสำเร็จ พอผ่านไปสักพักเรารู้สึกว่า เราคงทำทั้งสองอย่างไม่ไหว"
"เราคิดมาสักพักแล้วว่า คงต้องเลือกสักอย่าง ระหว่างการเรียน กับเล่นเทนนิส ซึ่งตัวเองรู้สึกว่าเราควรไปด้านกีฬามากกว่า เพราะตัวเองแข่งมาตั้งแต่ยังเด็ก ชนะก็บ่อย ได้แชมป์ก็เยอะ ติด 1 ใน 3 ของรุ่นมาตลอด ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่านะ (หัวเราะ)"
"เรามานั่งคิดแล้วว่า ความฝันของตัวเองตอนนั้นคือยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ อยากโฟกัสด้านกีฬาจริงจังไปเลย รู้สึกว่าถ้าตัวเองทำได้ดี คงจะเป็นหนทางที่หาเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องลำบากพ่อแม่ จึงตัดสินใจไปบอกพวกท่านเลยว่า จะออกจากโรงเรียนหลังจบม.3 เพื่อทุ่มเทเวลาทั้งหมด ไปกับการเล่นเทนนิส"
"ทั้งหมดเป็นการตัดสินใจของเราเพียงคนเดียว ไม่ได้ปรึกษาใคร แต่ตอนไปบอกคุณพ่อคุณแม่ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาเข้าใจในทางเดือนที่เราเลือก และยังคงสนับสนุนเราอย่างเต็มที่"
เราไม่เคยเสียใจที่เลิกเล่น
หลังจากตัดสินใจออกจากโรงเรียน ณิชาต์เดินหน้าไปพร้อมกับวิชาเทนนิสศึกษา เธอใช้เวลาทั้งหมดไปกับการฝึกซ้อม และแข่งขัน วนเป็นลูปเดิมวันแล้ววันเล่า เพื่อหวังจะเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งหากจะได้สิ่งนั้นมา เธอมีราคาที่ต้องจ่าย
"พออกจากโรงเรียน มันก็เหมือนเสียชีวิตวัยเด็กส่วนหนึ่งไป เราไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้ไปเที่ยวเล่น ดูหนังกินข้าว แบบที่วัยรุ่นคนอื่นทำกัน ใช้ชีวิตกับการฝึกซ้อมตั้งแต่เช้าจนเย็น พอซ้อมเสร็จก็หมดแรง ไม่มีอารมณ์จะไปทำอย่างอื่น"
"แต่อีกด้าน เราได้ไปแข่งต่างประเทศเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะยิ่งไปแข่งมากเท่าไหร่ โอกาสที่อันดับโลกของเราจะเพิ่มก็มีมากขึ้น ถ้ายังเรียนอยู่คงทำแบบนี้ไม่ได้ ช่วงนั้นเราอยู่ต่างประเทศ มากกว่าบ้านตัวเองอีก (หัวเราะ)"
"การได้ไปแข่งต่างประเทศ เราได้อะไรหลายอย่าง ได้เจอกับคู่แข่งที่มีสไตล์ใหม่ ๆ มีวิธีตีไม่เหมือนกับเรา ให้ได้กลับมาฝึกฝนพัฒนาตัวเอง ให้เก่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม"
ณิชาต์ ไม่ได้เพียงแค่ได้โอกาสในการแข่งขันเทนนิสที่ต่างประเทศ เฉพาะการแข่งขันแบบธรรมดาเท่านั้น แต่เธอได้ลงแข่งรายการในระดับแกรนด์สแลม ในรุ่นเยาวชนถึง 3 รายการ ทั้ง ออสเตรเลียน โอเพน, วิมเบิลดัน โอเพน และ ยูเอส โอเพน
ชีวิตนักเทนนิสในระดับรุ่นเยาว์ของ ณิชาต์ เลิศพิทักษ์สินชัย ประสบความสำเร็จตามที่เธอต้องการ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่ออายุถึง 18 ปี จะตัดสินใจเทิร์นโปรในทันที ซึ่งเป็นความฝันอันดับแรกของเธอในฐานะนักเทนนิส และเธอไม่รอช้า ตั้งเป้าหมายต่อไป ที่หวังจะคว้ามาครองให้ได้ คือการเป็นนักเทนนิสหญิงชาวไทย ที่สร้างชื่อเสียงดังไกลไปทั่วโลก
"ตอนแรกคิดแบบเวอร์เลย (หัวเราะ) อยากไปเป็น 10 หรือ 20 อันดับแรกของโลก เรารู้ว่ามันเป็นเรื่องยาก แต่เราก็อยากไปตรงนั้นให้ได้"
"แต่ในความเป็นจริงมันไม่ง่าย เพราะพอเล่นอาชีพ ไม่ได้มีจำกัดอายุ เราเจอคนได้ทุกรุ่น ซึ่งตอนที่เทิร์นโปรใหม่ ๆ ต้องเจอกับนักเทนนิสที่เขาแก่กว่าเรา และเขาดูเก่งกว่าเรามาก เพราะเขานิ่งกว่า ใจเย็นกว่า เคี่ยวกว่า คุมเกมส์ได้ดีกว่า"
"ตอนเราขึ้นมาจากระดับเยาวชน เราคิดว่าตัวเองก็แน่พอตัว แต่พอมาระดับอาชีพ เราเจอนักเทนนิสบางคนที่ไม่มีชื่อเสียง แต่เขาต้อนเราจนไปไม่เป็น สุดท้ายเราพบว่าการจะเล่นเทนนิสอาชีพคือเรื่องที่ยากมาก เพราะนักเทนนิสทุกคนคือนักเทนนิสอาชีพจริง ๆ และเขาทำทุกอย่างด้วยความเป็นมืออาชีพ"
"แต่เราไม่เคยคิดที่จะเลิกเล่น หรือถอดใจ ถึงจะมีช่วงที่ท้อบ้าง จากการแพ้ติดต่อกัน แต่ส่วนตัวมองว่า เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ค่อย ๆ ปรับตัวไป ต้องสู้ต่อ ห้ามพูดว่า 'ไม่เอาแล้ว เลิกแล้ว' เราเชื่อว่าสักวัน ความทุ่มเทของเรามันจะออกมาให้เห็น"
เป็นอีกครั้งที่ความเชื่อมั่นของณิชาต์ แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ดีแก่ตัวเธอเอง กับการคว้าแชมป์ในหลายการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น แชมป์ ITF ประเภทเดี่ยว จากรายการที่ บังกาลอร์ 2010 และ กรุงเทพฯ 2015
รวมถึงประเภทคู่ ร่วมกับ เพียงธาร ผลิพืช ในการคว้าแชมป์ ITF ประเภทคู่ มากกว่า 10 รายการ นอกจากนี้ยังเคยคว้าเหรียญทอง จากการแข่งขันเทนนิสในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย มาได้อีกด้วย
ในอาชีพนักเทนนิส ณิชาต์ พอมีแชมป์ติดมืออยู่ตลอด แต่เธอกลับหันมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ควรจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ? เพราะถึงแม้จะทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่กับเป้าหมายที่เธอเคยตั้งเอาไว้ ยังคงดูห่างไกลเกินกว่าที่จะไปถึง
"จริง ๆ เราตั้งเป้าหมายขอแค่ทำอันดับโลก ได้ติดประมาณ 100 อันดับแรก ถือว่าตัวเองสุดยอดแล้วนะ แต่ก็ยังไปไม่ถึงสักที ประเภทคู่ได้อันดับ 144 ประเภทเดี่ยวได้ 280 เราคิดว่าต่อให้เล่นต่อไป คงจะไปไม่ถึง และตอนนั้นก็อายุ 27 เรารู้สึกว่าร่างกายไม่ดีเท่าสมัยก่อน ตอนยี่สิบต้น ๆ"
"เราคิดมาสักพักแล้วว่า ควรจะเลิกเล่นเทนนิสอาชีพไหม ประกอบว่าปีนั้น (2018) มีการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ที่อินโดนีเซีย เราจึงตั้งเป้าหมายว่า ถ้าแข่งและได้เหรียญรางวัลกลับมา เราจะแข่งต่อ แต่ถ้าไม่ได้ เราจะเลิก เพราะไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ถือว่าเราทำเต็มที่แล้ว"
โชคชะตาอาจจะรู้ว่า ชีวิตของ ณิชาต์ เลิศพิทักษ์สินชัย มีอะไรมากกว่าการเล่นเทนนิส เพราะเธอกลับจากการแข่งขัน เอเชียนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย ด้วยมือเปล่า เธอตัดสินใจแขวนแร็คเก็ต ยุติชีวิตการเป็นนักเทนนิสที่ยาวนานร่วม 20 ปีของเธอ โดยไม่ได้มีความรู้สึกติดค้างในใจ เพราะที่ผ่านมาถือว่าได้ทำเต็มที่แล้ว
"เราไม่ได้รู้สึกเสียใจที่เลิกเล่น เพราะรู้ดีว่าเราอิ่มตัวแล้ว ไม่ได้ท้อแล้วก็เลิกเล่น เราคิดว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมาได้ไกลถึงในจุดที่เรายืนอยู่ อาจจะไปไม่ถึงฝัน ที่จะเป็นนักเทนนิสระดับโลก ได้ไปแข่งแกรนด์สแลม เข้ารอบลึก ๆ หรือไปเป็นแชมป์ แต่เมื่อมองย้อนกลับไป เราพอใจมาก กับการตัดสินใจเลือกเดินมาทางนี้"
บนสนามแข่งขันใหม่
หลังจากตัดสินใจเลิกเล่นเทนนิส ณิชาต์ ไม่ได้มีความฝันอะไร มากไปกว่าการได้พักผ่อนตัวเอง ออกจากความกดดันในการแข่งขัน ที่ต้องการชัยชนะมาครอบครอง ทว่าเธอกับต้องหวนคืนสนามแข่งขัน เร็วกว่าที่ตัวเองคาดคิด เพียงแต่ไม่ใช่คอร์ตเทนนิส เหมือนที่เคยเป็นมา
"ส่วนตัวชอบเรื่องแฟชั่น หรือเสื้อผ้าอยู่แล้ว ชอบมานานมาก ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ชอบแบบที่ไม่มีเหตุผล ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเริ่มชอบตอนไหน รู้แค่ว่านี่คืออีกสิ่งที่เราอยากทำ แต่ตอนเป็นนักเทนนิส ไม่มีโอกาสได้ทำอะไรด้านนี้ เพราะเราโฟกัสกับแค่เทนนิสอย่างเดียว"
"เราพักได้ประมาณ 2-3 เดือน พี่สาวมาบอกว่า รายการ The Face Thailand มีประกาศรับสมัครแข่งซีซั่นใหม่ (ซีซั่น 5) ไปลองแข่งดูไหม ?"
"ตอนพี่สาวมาชวนรู้สึกลังเลเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ไป" อีฟ ณิชาต์ หัวเราะเมื่อเล่าถึงช่วงเวลาเธอเลือกจะยื่นใบสมัครเข้าร่วม The Face Thailand ซีซั่นที่ 5 และสุดท้ายรายการเลือกเธอผ่านการคัดเลือก เข้าสู่รอบเลือกทีม หรือ 18 คนสุดท้าย ท่ามกลางเพื่อนร่วมรายการที่เต็มไปด้วย นางแบบ-นายแบบ ศักยภาพสูง ดูมีความเป็นมืออาชีพ
"พูดตามตรง เราไม่ได้ไปแข่งเพราะว่า อยากเรียนรู้ หรือจะหาประสบการณ์ เราไปแข่งเพราะอยากเป็น The Face (หัวเราะ) ฟังแล้วอาจจะดูน่าหมั่นไส้ แต่ว่าเราเป็นคนแบบนี้ จะทำอะไรก็ต้องทำให้สุด ต้องคว้าชัยชนะมาให้ได้"
เลือดความเป็นนักกีฬายังคงเข้มข้น ณิชาต์ ลงแข่งขันด้วยเป้าหมายที่อยากเป็นผู้ชนะอันดับ 1 แต่เธอไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อนเลย นั่นจึงเป็นอุปสรรคอย่างมาก เธอต้องเรียนรู้ทักษะการเป็นนางแบบ ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงขั้นที่สามารถเดินแบบได้จริง ภายใต้สถานการณ์ที่บีบหัวใจผู้เข้าแข่งขันทุกคน เพราะทุกภารกิจจะต้องมีคนถูกคัดออก
"มันยากจริง ๆ เพราะการเป็นนางแบบ กับการเล่นเทนนิส ไม่เหมือนกัน เราเป็นมือใหม่มากกับงานนี้ ยังไม่คุ้นกับการอยู่หน้ากล้อง ตอนเล่นเทนนิส เรามีประสบการณ์มาเยอะ เราควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ตอนแข่ง The Face เรารู้สึกว่าตัวเองควบคุมอะไรไม่ได้เลย"
"เราตั้งใจมาก พยายามมากนะ คาดหวังกับตัวเอง ต้องทำให้ได้ แต่หลายครั้งก็มากเกินไป จนผลงานออกมาไม่ดี ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ เราก็รู้ตัวนะ ว่าเราทำได้ดีไม่พอ"
หลายครั้งที่ ณิชาต์ ต้องตกเป็นเป้าวิจารณ์ของกรรมการ และถูกนำไปเปรียบเทียบกับผู้เข้าแข่งขันคนอื่นในรายการ The Face Thailand เธอถูกส่งเข้าไปห้องดำ ที่จะคัดคนออกจากรายการอยู่ถึง 2 ครั้ง แต่สุดท้ายเธอฝ่าฟันไปได้ถึงรอบลึก
ในหลายสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความกดดัน ความตึงเครียดระหว่างการแข่งขัน และคราบน้ำตาของใครหลายคน เธอเป็นเพียงผู้เข้าแข่งขันเพียงไม่กี่คน ที่ยังสามารถยิ้มได้ไม่ว่าจะในเหตุการณ์แบบไหน เพราะประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ในฐานะนักเทนนิส ได้สอนให้เธอแข็งแกร่งขึ้น
"สิ่งที่เทนนิสสอนเรามา คือถ้าแพ้ต้องยอมรับ เรียนรู้กับสิ่งที่ผิดพลาด และลุกขึ้นสู้ต่อ ตอนอยู่ในรายการ The Face ก็เหมือนกัน เรารับได้ ถ้าเราทำได้ไม่ดี แต่ต้องเดินหน้าต่อไป"
"รายการ The Face คือรายการวาไรตี้ ผู้ชมต้องดูแล้วสนุก เขาพยายามสร้างความกดดัน ให้กับผู้เข้าแข่งขัน แต่เรารับมือได้ เพราะเราเคยผ่านตรงนี้มาก่อน ตอนเป็นนักเทนนิส เรามีประสบการณ์มากกว่าคนอื่นในเรื่องนี้ ... แต่ตอนแข่ง The Face ก็กดดันจริง ๆ นะ (หัวเราะ)"
บทสรุปสุดท้าย เป็นอีกครั้งที่ ณิชาต์ ไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ เธอไม่ได้ถูกเลือกสู่รอบ Final Walk ซึ่งคงเปรียบเสมือนรอบชิงรายการแกรนด์แสลม
ถึงเรื่องราวบทนี้จะจบลง ด้วยความผิดหวัง หากสิ่งที่เธอได้รับกลับมา ยังคงเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ย้ำว่าเธอได้เลือกทางที่เหมาะสมให้กับชีวิตตัวเองอีกครั้ง
"เราไม่เคยเสียใจที่ได้มาแข่งขัน The Face เราพอใจมาก ไม่เคยคิดว่าจะไปได้ไกลถึงขนาดนี้ นี่คือประสบการณ์อีกรูปแบบหนึ่งที่ยอดเยี่ยมมาก หลายอย่างที่ได้รับกลับมา ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะได้รับ แม้แต่การเป็นนางแบบทั่วไป ก็อาจจะไม่เจอกับประสบการณ์แบบนี้"
หวนคืนสู่คอร์ตเทนนิส
หลังจากจบจากการแข่งขัน The Face ณิชาต์ ทำการเซ็นสัญญากับ "กันตนา" อยู่ช่วงระยะหนึ่ง เพื่อเดินหน้าทำงานในวงการบันเทิง แต่หลังจากการระบาดของไวรัส COVID-19 บวกกับสัญญาที่ทำไว้สิ้นสุดลง ทำให้เธอ ตัดสินใจกลับคืนสู่วงการเทนนิสอีกครั้ง ในรูปแบบที่ต่างออกไปจากเดิม
"ประมาณปีที่แล้ว เราหันกลับมาสอนเทนนิส ตั้งแต่ปีที่แล้ว ค่อย ๆ ทำมาเรื่อย ๆ เพราะพอหลังจากจบรายการ The Face เราเริ่มกลับมาเล่นเทนนิสอีกครั้ง จากที่พักไป เหมือนกับว่าเราเริ่มกลับมาคิดถึงมันอีกครั้ง กลับมาสิ่งที่เราถนัด และอยากแบ่งประสบการณ์ให้กับน้อง ๆ เพราะโค้ชเทนนิสผู้หญิงในไทย ที่เคยเป็นนักกีฬาอาชีพมาก่อน ปัจจุบันก็ยังมีน้อย"
"ตอนนี้คือเข้าใจอารมณ์โค้ชมากขึ้น (หัวเราะ) เพราะย้อนไปตอนนักกีฬา ถ้าเวลาซ้อม เราทำไม่ได้ ต้องมีโมโห งอแง แต่พอมาเป็นโค้ช เราเข้าใจเด็ก ๆ นะ แต่ก็รู้ถึงความรู้สึกของโค้ชด้วย ว่าทำไมตอนนั้นเขาพยายามบอกให้เราแก้ไข ไม่ใช่มัวแต่อารมณ์เสีย เพราะมันไม่ได้ช่วยให้เราเก่งขึ้น"
ตลอดชีวิต 29 ขวบปี ของณิชาต์ เลิศพิทักษ์สินชัย เธอมีเป้าหมายให้กับตัวเองอยู่เสมอ และในฐานะโค้ชเทนนิสหญิงหน้าใหม่ เธอยังคงมีฝันที่ยิ่งใหญ่ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา นั่นคือ การผลักดันให้วงการเทนนิสไทย กลับไปสู่ระดับโลกให้ได้อีกครั้ง
"เด็กรุ่นใหม่ที่เขาเล่นเทนนิสในบ้านเรา ฝีมือดีเยอะมาก ๆ นะ เราอยากผลักดันพวกเขา เอาประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเจอมาไปสอน เช่น เวลาไปแข่งต่างประเทศต้องทำอย่างไร จะสถานการณ์แบบนี้ต้องรับมือแบบไหน การจะเป็นนักเทนนิสอาชีพต้องทำอะไรบ้าง"
"แต่ละเรื่องมันไม่ง่าย เรายอมรับว่าบางเรื่องยังไม่สามารถทำได้ แต่อย่างน้อยถ้าสิ่งที่เคยผ่านมา เราสามารถนำมาสอน ช่วยให้พวกน้อง ๆ เป็นนักเทนนิสที่ชนะการแข่งขันได้ เราถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จในฐานะโค้ชแล้ว"
เส้นทางใหม่ของ ณิชาต์ ยังมีถนนอีกยาวไกลให้เธอต้องเดินต่อ แต่หากมองย้อนถึงเส้นทางที่ผ่านมา ผู้หญิงคนนี้พึงพอใจกับทุกย่างก้าวที่ตัวเองได้เลือกเดิน โดยเฉพาะการตัดสินใจใช้ชีวิตกับกีฬาเทนนิส ซึ่งเป็นเพื่อนซี้ที่ขาดกันไม่ได้ มายาวนานกว่า 20 ปี
"เทนนิสให้อะไรเราเยอะมาก เป็นอาชีพที่เลี้ยงดูตัวเองได้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ภูมิใจ ช่วยสอนทุกอย่างให้เรา ทั้งความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา ความเป็นผู้ใหญ่ มีระเบียบวินัย โดยไม่ต้องมีใครมาบอก"
"เราอยู่กับเทนนิสมาเกินครึ่งชีวิต จะเรียกว่าเกือบทั้งชีวิตก็ได้ เราพอใจที่ได้อยู่ตรงนี้ หลังจากนี้คงจะอยู่กับมันไปตลอด ขึ้นอยู่กับว่าจะอยู่ที่ตรงไหนเท่านั้น ในอนาคตอาจจะเป็นโค้ช หรือเป็นเจ้าของอคาเดมีที่มีเด็กมาเรียนเยอะ ๆ แบบต่างประเทศ หรือเป็นเจ้าของสนามเทนนิสก็ได้ แต่ถ้าเป็นอย่างหลังจะดีมากค่ะ (หัวเราะ)" ณิชาต์ กล่าวทิ้งท้ายกับเรา
อัลบั้มภาพ 32 ภาพ