Lucha Libre : ตำนานบทแรกที่ทำให้เกิดภาพจำว่านักมวยปล้ำเม็กซิกันต้องสวมหน้ากากขึ้นเวที
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มวยปล้ำกลายเป็นกีฬาขวัญใจใครหลายคน คือ คาแรคเตอร์ที่เด่นชัดของนักกีฬา โดยเฉพาะ "นักมวยปล้ำหน้ากาก" ซึ่งมีความโดดเด่นและดูเท่ ราวกับหลุดออกมาจากหนังสือการ์ตูน
นักมวยปล้ำหน้ากากที่เราเห็นกันจนชินตาทุกวันนี้ มีต้นกำเนิดมาจาก ลูชาลิเบร (Lucha Libre) หรือกีฬามวยปล้ำในประเทศเม็กซิโก การต่อสู้ที่หน้ากากมีคุณค่ามากกว่าเข็มขัดแชมป์ เพราะสิ่งที่ปิดบังใบหน้าของพวกเขา หมายถึงศักดิ์ศรีและเกียรติยศที่ต้องรักษาเอาไว้
นี่คือต้นกำเนิดและเรื่องราวของหน้ากากในกีฬาลูชาลิเบร กับการเดินทางยาวนานเกือบ 100 ปี ที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจและมองเห็นคุณค่าของหน้ากากมวยปล้ำมากขึ้นกว่าเดิม
กำเนิด "มาสคาราส"
กีฬามวยปล้ำเริ่มเข้าสู่ประเทศเม็กซิโกในช่วงทศวรรษ 1840s โดยนักมวยปล้ำชาวเม็กซิกันคนแรก คือ อันโตนิโอ เปเรซ เด ไบรอัน ชายหนุ่มรูปงามที่เดินทางไปทั่วยุโรป ในฐานะนักสู้เจ้าของฉายา "เฮอร์คิวลิสแห่งเม็กซิโก"
ความนิยมของมวยปล้ำเพิ่มขึ้นในเม็กซิโกอย่างช้า ๆ กระทั่งช่วงทศวรรษ 1920s หรือหลังเหตุการณ์การปฏิวัติเม็กซิโก ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงแก่วัฒนธรรมเม็กซิโก ชนชั้นแรงงานสามารถเข้าถึงกีฬาและความบันเทิง ในช่วงหลังการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็น มวยสากล, เบสบอล, โรงหนัง หรือ โรงละคร
Photo : www.onlineworldofwrestling.com
กีฬามวยปล้ำเริ่มแผ่ขยายความนิยมซึ่งแต่เดิมจำกัดอยู่ในเมืองหลวง (เม็กซิโก ซิตี้) สู่ระดับภูมิภาคในช่วงเวลานี้ คำว่า "Lucha Libre" หรือ "การต่อสู้อย่างอิสระ" เริ่มถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวเม็กซิกัน ผู้คนรวมตัวกันในสนามกีฬาประจำเมือง เพื่อรับชมการต่อสู้ของ 2 ลูชาดอร์ ที่ดำเนินไปอย่างโหดร้ายและไร้กฎกติกา
ปี 1933 กีฬามวยปล้ำในเม็กซิโกเริ่มเป็นรูปร่าง เมื่อสมาคมมวยปล้ำที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อย่าง Consejo Mundial de Lucha Libre หรือ CMLL ถูกก่อตั้งขึ้นโดย ซัลวาดอร์ ลูเตอร์ร็อธ โปรโมเตอร์มวยปล้ำที่ภายหลังถูกขนานเป็นบิดาแห่งลูชาลิเบร เพราะหลังจากก่อตั้งสมาคมได้ไม่นาน CMLL ดังเป็นพลุแตก และสามารถจัดโชว์ที่มีคนดูราว 5,000 คน ตั้งแต่ปีแรกของการดำเนินกิจการ
ในช่วงเวลานั้น คนดูส่วนใหญ่ของกีฬามวยปล้ำ คือ ชนชั้นแรงงาน จากเนื้อเรื่องคนดีปะทะคนเลว ที่เข้าใจได้ง่าย และสามารถสร้างความตื่นเต้นผ่านการต่อสู้ที่เน้นความรุนแรง ไม่นานนัก ลูเตอร์ร็อธ จึงคิดพัฒนาโชว์ของเขาให้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการสร้างคาแรคเตอร์ผู้ร้ายที่น่ากลัวเกินมนุษย์ธรรมดา
ในปี 1934 นักมวยปล้ำหน้ากากคนแรกจึงถือกำเนิดขึ้นในเม็กซิโก เมื่อนักมวยปล้ำวายร้ายชาวอเมริกันที่ชื่อว่า ไซโคลน แม็คเคลย์ ต้องการสวมหน้ากากขึ้นปล้ำ เพื่อรับบทตัวร้ายที่ได้แรงบันดาลใจจากกลุ่มเหยียดสีผิว หรือ Ku Klux Klan ในสหรัฐอเมริกา
Photo : theculturetrip.com
ช่างทำรองเท้าที่ชื่อว่า อันโตนิโอ มาร์ติเนซ จึงเปลี่ยนมารับงานเสริมเป็นการผลิตหน้ากากมวยปล้ำ โดยในช่วงแรก เขาใช้หนังกลับเป็นวัสดุทำหน้ากาก แต่ภายหลัง มาร์ติเนซ เปลี่ยนมาใช้ผ้าฝ้ายเป็นวัสดุเพื่อช่วยให้สวมใส่สบายยิ่งขึ้น นักมวยปล้ำชาวเม็กซิกัน จึงเริ่มให้ความสนใจที่จะลองรับบทนักมวยปล้ำหน้ากาก
ปี 1936 นักมวยปล้ำหน้ากากชาวเม็กซิกัน จึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อนักมวยปล้ำที่ชื่อว่า เฮซุส วาลาสเกซ ตัดสินใจปรับเปลี่ยนบทบาท และเปิดตัวภายใต้หน้ากากในนาม "ไอ้ค้างคาว" วาลาสเกซ หรือ เอล มูร์เซียลาโก (El Murcielago)
หน้ากากมวยปล้ำ หรือ มาสคาราส (Mascaras) จึงมีบทบาทในกีฬามวยปล้ำของเม็กซิโกเรื่อยมา ก่อนจะกลายเป็นวัฒนธรรมหลักของลูชาลิเบร จากอิทธิพลของลูชาดอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล นักมวยปล้ำเจ้าของหน้าสีเงินที่ชื่อว่า เอล ซานโต (El Santo)
จิตวิญญาณของความยุติธรรม
เอล ซานโต หรือ นักบุญภายใต้หน้ากากสีเงิน (El Enmascarado de Plata) มีชื่อจริงว่า โรดอลโฟ กุซมัน ฮูเอร์ตา เขาเริ่มปล้ำมาตั้งแต่ปี 1935 แต่ไม่เคยได้รับความนิยมระดับสูง จนกระทั่งปี 1942 ที่เขาเปิดตัวในฐานะ เอล ซานโต นักมวยปล้ำปริศนาที่เข้าร่วมการแข่งขันแบทเทิลรอยัล 8 คน และคว้าชัยชนะมาครองได้สำเร็จ
Photo : www.reddit.com
เอล ซานโต ดังเป็นพลุแตกนับแต่นั้น แฟนมวยปล้ำตกหลุมรักความสามารถ และหลงใหลในภาพลักษณ์ของเขา เมื่อบวกกับภูมิหลังอันเป็นความลับของนักสู้หน้ากากสีเงินรายนี้ เอล ซานโต จึงถือเป็นคาแรคเตอร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด เท่าที่วงการลูชาลิเบร เคยมีมา
ความโด่งดังของ เอล ซานโต ส่งผลให้นักมวยปล้ำหน้ากากในเม็กซิโกเพิ่มจำนวนขึ้นมหาศาล เริ่มจากการถือกำเนิดของ บลู เดมอน (Blue Demon) นักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม ผู้เป็นคู่ปรับตลอดกาลของ เอล ซานโต ทั้งสองสร้างแมตช์มวยปล้ำคุณภาพร่วมกันมากมาย จนมวยปล้ำกลายเป็นกีฬาระดับชาติ และถูกถ่ายทอดสดสู่สายตาผู้ชมทั่วประเทศถึง 4 ครั้งต่อสัปดาห์ในปี 1953
Photo : www.sun-sentinel.com
อิทธิพลของกีฬามวยปล้ำที่กำลังพุ่งสูงขีดสุด ส่งผลให้ เอล ซานโต และ บลู เดมอน กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในฐานะนักแสดงภาพยนตร์ ทั้งที่ไม่เคยเปิดเผยหน้าตาที่แท้จริงแก่สาธารณชน โดย เอล ซานโต โด่งดังจากหนังเรื่อง Santo vs The Zombies ที่เขารับบทเป็นตัวเอง หรือ เอล ซานโต ซึ่งกำลังต่อสู้กับฝูงซอมบี้ ด้วยพลังพิเศษเหมือนซูเปอร์ฮีโร่จากหนังสือการ์ตูนอเมริกัน
ส่วน บลู เดมอน ที่พลิกเป็นฝ่ายธรรมะหลังจากมีชื่อเสียง ร่วมแสดงให้ภาพยนตร์เรื่อง Los Campeones Justicieros (1971) ซึ่งเขารับบทเป็นหัวหน้ากลุ่มนักมวยปล้ำซูเปอร์ฮีโร่ หรือ Justice League เวอร์ชั่นนักมวยปล้ำ โดยมีลูชาดอร์ที่กำลังโด่งดังในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น มิล มาสคาราส (Mil Mascaras) นักมวยปล้ำเจ้าของฉายา "มนุษย์ 1,000 หน้ากาก", ทีเนียบลาส (Tinieblas) และ ราโย เด ฮาลิสโซ ร่วมแสดง
นักมวยปล้ำหน้ากากชาวเม็กซิกัน จึงมีอิทธิพลต่อสังคมมากกว่าในฐานะของนักกีฬา แต่รวมถึงบทบาทของฮีโร่ขวัญใจชาวบ้าน และสัญลักษณ์ของความยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนในประเทศเม็กซิโกโหยหา ท่ามกลางความวุ่นวายและความรุนแรงของบ้านเมือง ที่เกิดขึ้นโดยน้ำมือของแก๊งค้ายาเสพติด
หน้ากากมวยปล้ำ จึงมีความศักดิ์สิทธิและได้รับความเคารพอย่างมากจากแฟนมวยปล้ำ เพราะพวกเขาเชื่อว่าจิตวิญญาณที่รักความถูกต้องของนักมวยปล้ำ จะถูกรักษาไว้ภายในหน้ากากของเขา แม้ตัวนักมวยปล้ำจริง ๆ อย่าง เอล ซานโต และ บลู เดมอน จะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม
ศักดิ์ศรีและเกียรติยศ
ทุกวันนี้ คาแรคเตอร์ เอล ซานโต และ บลู เดมอน ยังคงโลดแล่นในวงการลูชาลิเบร ด้วยฝีมือของนักมวยปล้ำรุ่นหลัง ซึ่งเป็นทายาทของตระกูล โดยหน้ากากสีเทาของ เอล ซานโต สืบทอดต่อกันมาแล้ว 3 รุ่น ได้แก่ เอล ฮิโย เดล ซานโต (El Hijo del Santo) ลูกชายของ เอล ซานโต และซานโต จูเนียร์ (Santo Jr.) ซึ่งเป็นลูกชายของ เอล ฮิโย เดล ซานโต
Photo : www.theguardian.com
การสืบทอดหน้ากากจากนักมวยปล้ำรุ่นก่อนสู่นักมวยปล้ำรุ่นใหม่ ถือเป็นวัฒนธรรมที่ดำเนินมาอย่างยาวนานในวงการลูชาลิเบร แมตช์การปล้ำเดิมพันหน้ากาก หรือ Mascaras Contra Cabello จึงถือเป็นแมตช์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเหล่าลูชาดอร์ เพราะการถอดหน้ากากในกีฬามวยปล้ำเม็กซิโก หมายความว่านักมวยปล้ำรายนั้น สูญสิ้นศักดิ์ศรีในฐานะนักมวยปล้ำหน้ากากไปจนหมด
การสวม-ถอดหน้ากากขึ้นปล้ำ ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ในประเทศเม็กซิโก เพราะมีกฎอย่างชัดเจนว่า หากนักมวยปล้ำรายใดถูกถอดหน้ากากแล้ว จะไม่สามารถกลับมาสวมหน้ากากได้อีก
ด้วยเหตุนี้ นักมวยปล้ำหน้ากากระดับตำนานของฝั่งอเมริกา อย่าง เรย์ มิสเตอริโอ จึงถูกวิจารณ์อย่างมาก เมื่อเขาขึ้นปล้ำโดยสวมหน้ากาก หลังเปิดตัวกับ WWE เมื่อปี 2002 ทั้งที่ เรย์ มิสเตอริโอ สูญเสียหน้ากากของเขาไปตั้งแต่ปี 1999 หลังปล้ำแพ้ เควิน แนช ในศึก WCW Superbrawl IX
Photo : www.skysports.com
ปัจจุบัน หน้ากากจึงถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินเรื่องระหว่างแมตช์ โดยนักมวยปล้ำจะฉีกหน้ากากของนักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะ ซึ่งสื่อถึงการดูหมิ่นและไม่ให้ความเคารพคู่ต่อสู้ ที่เลือกจะต่อสู้บนสังเวียนภายใต้หน้ากาก
หน้ากากมวยปล้ำจะถูกถอดอย่างสมศักดิ์ศรีเพียงกรณีเดียวเท่านั้น คือ นักมวยปล้ำรายนั้นประกาศรีไทร์ และตัดสินใจถอดหน้ากาก เพื่อเปิดเผยหน้าตาและตัวตนที่แท้จริงแก่สาธารณชน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่กำลังบอกว่า นักมวยปล้ำรายนี้ได้ยุติบทบาทฮีโร่ เพื่อกลับไปใช้ชีวิตในฐานะคนธรรมดาอีกครั้ง เหมือนกับที่ เอล ซานโต เปิดเผยหน้าตาของตนผ่านจอโทรทัศน์ ก่อนจะเสียชีวิตราว 1 อาทิตย์ถัดมา
กีฬามวยปล้ำ และ หน้ากาก จึงเป็นสองสิ่งที่แยกจากกันไม่ขาดในประเทศเม็กซิโก เพราะทั้งคู่ไม่ได้สัมพันธ์กันแค่ในฐานะนักกีฬากับเครื่องแต่งกาย แต่หมายถึง วัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์, เกียรติยศ และศักดิ์ศรี ที่สืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาเกือบ 100 ปี และจะดำเนินต่อไปตราบนานเท่านาน