ขุดต้นตอ : ทำไม "เมซุต โอซิล" ถึงย้ายทีมด้วยเหตุผลทางการเมือง?

ขุดต้นตอ : ทำไม "เมซุต โอซิล" ถึงย้ายทีมด้วยเหตุผลทางการเมือง?

ขุดต้นตอ : ทำไม "เมซุต โอซิล" ถึงย้ายทีมด้วยเหตุผลทางการเมือง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมซุต โอซิล คือหนึ่งในนักฟุตบอลระดับโลกจากทศวรรษที่ผ่านมา ความสำเร็จมากมายในฐานะแชมป์ฟุตบอลโลก กับทีมชาติเยอรมัน รวมถึงการเล่นให้กับสโมสรชั้นนำ ทั้ง เรอัล มาดริด และ อาร์เซนอล แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของเขาเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ด้วยวัยเพียง 32 ปี โอซิลกลับต้องย้ายไปเล่นในลีกตุรกี กับ เฟเนร์บาห์เช ทั้งที่ฝีเท้าของเขายังคงเล่นในลีกชั้นนำของยุโรปได้แบบสบายๆ

การตัดสินใจย้ายทีมในครั้งนี้ของโอซิล ไม่ได้เป็นเพราะเขาพิศวาสฟุตบอลแดนไก่งวงแต่อย่างใด แต่เรื่องราวทางการเมืองมากมายที่วนรอบตัวเขาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้พาให้แข้งมหัศจรรย์รายนี้ ต้องพาตัวเองไปวาดลวดลายที่ตุรกี แทนที่จะเป็นลีกระดับท็อปของโลก

เริ่มต้นจากปัญหาการเมือง

เรื่องราวทั้งหมด เริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี 2018 ที่ เมซุต โอซิล พร้อมทั้งเพื่อนนักฟุตบอลอีกสองราย ได้แก่ อิลคาย กุนโดกาน และ เซงค์ โตซุน เข้าพบ เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีของประเทศตุรกี ที่ชนะการเลือกตั้ง ได้รับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 เพื่อมอบเสื้อฟุตบอลของทั้งสามคนให้เป็นของที่ระลึก

1

แอร์โดอัน ณ เวลานั้น กำลังถูกจับตาอย่างมากโดยโลกตะวันตก กับการใช้อำนาจทางการเมืองแบบผิดๆ ผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จไว้กับตัวเอง รวมถึงมักปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง ด้วยการใช้กำลังตำรวจหรือทหาร จนนำมาซึ่งการบาดเจ็บ เสียชีวิตของประชาชนอยู่เสมอ รวมถึงเป็นพวกปลุกแนวคิดเหยียดเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เช่น โจมตีกลุ่มคนเพศทางเลือก และโจมตีคนเชื้อสายยิวผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง

การพูดว่า แอร์โดอันคือผู้นำการเมืองที่ฝั่งโลกเสรีชังคงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะชาติจากยุโรปตะวันตกที่มีอุดมการณ์ขั้วตรงข้ามกับประธานาธิบดีชาวตุรกีโดยสิ้นเชิง และ ประเทศเยอรมัน คือหนึ่งในหัวหอกสำคัญที่ต่อต้านผู้นำรายนี้

เมืองเบียร์มีบทเรียนที่เจ็บปวดกับการมีผู้นำฝ่ายขวาบ้าอำนาจในลักษณะเดียวกับแอร์โดอัน นั่นคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทำให้ชาวเยอรมันจำนวนไม่น้อย ต่อต้านนักการเมืองรายนี้สุดขาดใจ และพร้อมจะไม่ญาติดีกับใครก็ตามที่แสดงตัวสนับสนุนแอร์โดอัน

การที่โอซิลเข้าพบกับแอร์โดอัน จึงเป็นเหมือนการหักอกชาวเยอรมันทั้งประเทศ ในฐานะที่เป็นฮีโร่ของทีมชาติเยอรมัน แข้งรายนี้ควรจะเข้าใจความหมายของสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเมืองเบียร์ให้ความสำคัญ ไม่ใช่ไปยืนมอบเสื้อให้กับผู้นำที่สั่งฆ่าผู้เห็นต่างทางการเมืองไปหลายสิบราย 

แม้โอซิลจะยืนยันว่า การที่เขาไปมอบเสื้อให้แอร์โดอัน ไม่มีเหตุผลทางการเมือง การไปแสดงความยินดีกับผู้นำตุรกี ไม่มีอะไรกับมากไปกว่าทำไปตามพิธี ในฐานะที่เขาเป็นคนที่มีเชื้อสายเติร์กไหลเวียนอยู่ในตัว

2

อย่างไรก็ตาม ไรน์ฮาร์ด กรินเดิล ประธานของสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน หรือ เดเอฟเบ (DFB) ได้ออกมาโจมตีการกระทำของโอซิล รวมถึง อิลคาย กุนโดกาน สองแข้งทีมชาติเยอรมัน โดยให้เหตุผลว่า ประธานาธิบดีของตุรกีได้ทำเรื่องราวอันเลวร้ายมากมายที่ขัดกับศีลธรรมอันดี ที่คนเยอรมัน รวมถึงวงการฟุตบอลยึดถือ ดังนั้น การไปแสดงความยินดีที่แอร์โดอันได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

ไม่ใช่แค่ประธานเดเอฟเบที่โจมตีโอซิลและกุนโดกาน แต่รวมถึงสื่อมวลชนและชาวเยอรมันได้สาปส่งแข้งทั้งสองรายเป็นจำนวนมาก เพราะในสายตาของคนเมืองเบียร์ แอร์โดอันคือผู้นำเผด็จการ (ซ่อนรูป) ตัวพ่อ ที่พวกเขารังเกียจมากที่สุด

แฟนบอลทีมชาติเยอรมันจำนวนมาก เรียกร้องให้ DFB ถอดถอนรายชื่อนักเตะทั้งสองคน ออกจากลิสต์นักเตะที่จะไปลุยฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งถูกประกาศมาก่อนหน้านี้

3

เรื่องราวที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหาระดับชาติอย่างเต็มตัว เนื่องจาก แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมัน ต้องการเรียกนักเตะทั้งสองรายเข้ามาพูดคุยเป็นการส่วนตัว เพราะอยากจะสอบถามว่า โอซิล และ กุนโดกาน จะเลือกข้างเป็นเยอรมันที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตย หรือตุรกีภายใต้ผู้นำเผด็จการ?

แม้แต่นักการเมืองฝ่ายขวาของเยอรมนียังไม่ปกป้องนักเตะทั้งสองราย ด้วยการตั้งคำถามว่า ถ้าไปดีใจกับแอร์โดอันกับการเป็นผู้นำตุรกี จะมาเล่นฟุตบอลในสีเสื้ออินทรีเหล็กเพื่ออะไร? ทำไมไม่ไปเล่นให้ขุนพลเติร์ก ถ้าใจฝักใฝ่ฝั่งนั้น

โอซิล ไม่ใช่ เยอรมัน?

เรื่องราวเหมือนจะจบลงด้วยดี ทั้งโอซิลและกุนโดกาน ยืนยันว่า เยอรมันคือประเทศของพวกเขา และจะเป็นนักฟุตบอลที่แสดงความเป็นตัวแทนของชนชาติเยอรมันเพียงประเทศเดียวเท่านั้น

4

โอซิล และ กุนโดกาน ได้แพ็คกระเป๋าไปลุยศึกฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย โดยไม่มีเรื่องราววุ่นวายตามมา แต่แทนที่ทุกอย่างจะดีขึ้นกลายเป็นเลวร้ายกว่าเดิม เพราะทัพอินทรีเหล็กที่มีดีกรีแชมป์เก่าคล้องคออยู่ กลับกระเด็นตกรอบแรก ทั้งที่มีเพื่อนร่วมกลุ่มสุดหมู ไม่ว่าจะเป็น เม็กซิโก, สวีเดน และ เกาหลีใต้

ด้วยผลงานที่ย่ำแย่ ทำให้ชาวเยอรมันย่อมต้องการหาแพะไว้ระบายอารมณ์ ซึ่งหวยหนีไม่พ้นไปตกกับโอซิลที่คนเมืองเบียร์ตั้งแง่กับเขา ถึงความทุ่มเทในเสื้ออินทรีเหล็ก ตั้งแต่ก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มต้น

แม้ในความเป็นจริง โอซิลจะเป็นนักบอลของเยอรมันที่สร้างโอกาสทำประตูได้มากที่สุดต่อเกมในฟุตบอลโลก 2018 แต่สถิติไม่ได้ช่วยลดความเกลียดชังที่เขาได้รับจากเพื่อนร่วมชาติแม้แต่น้อย เขากลายเป็นแพะอันดับหนึ่ง กับการเป็นสาเหตุที่ทำให้อดีตแชมป์โลกพังพาบตั้งแต่รอบแรกในศึกฟุตบอลโลก 2018

สุดท้าย โอซิลทนกับเสียงโจมตีข้างเดียวไม่ไหว เขาออกมาทิ้งระเบิดก้อนใหญ่ด้วยการประกาศเลิกเล่นทีมชาติเยอรมัน พร้อมกับเผยถึงความในใจว่า สุดท้ายคนเยอรมันยังคงมองเขาเป็นแค่ผู้อพยพ แทนที่จะเป็นเพื่อนร่วมชาติที่มีแผ่นดินเกิดเดียวกัน

5

"ในสายตาของกรินเดิล (ประธานเดเอฟเบ) และแฟนบอลทุกคน เมื่อทีมชนะ ผมคือคนเยอรมัน แต่เมื่อทีมแพ้ ผมเป็นแค่ผู้อพยพ"

"ผมรู้สึกว่าไม่มีใครต้องการผมอีกต่อไป สิ่งที่ผมทำให้เยอรมันในฐานะนักเตะทีมชาติตั้งแต่ปี 2009 ถูกลืมไปจนหมดสิ้น"

"ทั้งที่ผมจ่ายภาษีให้เยอรมัน บริจาคเงินพัฒนาโรงเรียนในเยอรมันตั้งมากมาย ผมคว้าแชมป์โลกให้กับประเทศ แต่สังคมกลับไม่ยอมรับผม ทำเหมือนกับผมเป็นคนอื่นในสังคม"

"ผมรับไม่ได้กับการที่สื่อโจมตีว่า ผมทำให้ทีมตกรอบ ผมรับอะไรไม่ได้ทั้งนั้น เพราะพวกเขาไม่ได้โจมตีที่ผลงานของผม พวกเขาเล่นงานเพราะผมมีเชื้อสายตุรกี"

"พวกเขาล้ำเส้นความรู้สึกส่วนตัวของผมเข้ามามากเกินไป และพวกเขาไม่ควรทำแบบนั้น ผมให้ความเคารพรากเหง้าของผมเสมอ แต่หนังสือพิมพ์กำลังทำให้ประเทศเยอรมันเป็นศัตรูกับผม"

6

นี่คือข้อความบางส่วน จากแถลงการณ์เลิกเล่นทีมชาติเยอรมันของโอซิล หลายประโยคที่เต็มไปด้วยความผิดหวัง เสียใจ ไปจนถึงโกรธแค้น ที่เขาถูกเพื่อนร่วมชาติรุมทำร้ายอย่างไม่ไยดี 

การเลิกเล่นทีมชาติของเยอรมันของแข้งเชื้อสายตุรกีรายนี้ จึงไม่ได้เป็นการยุติเพื่อรับผิดชอบผลงานที่ย่ำแย่ หรือหมดไฟกับการรับใช้ชาติ แต่เป็นเพราะชายที่ชื่อ เมซุต โอซิล ไม่หลงเหลือความรู้สึกในฐานะคนเยอรมันอีกต่อไป

ไม่มีที่ยืนในลีกใหญ่ 

นอกจากเลือกยืนอยู่ตรงข้ามกับประเทศบ้านเกิด โอซิลต้องเจอกับปัญหาทางการเมืองที่ตามเขามาหลังจากนั้น เพียงแต่คราวนี้เปลี่ยนศัตรูไปเป็นประเทศจีน ชาติมหาอำนาจจากฝั่งเอเชีย

ช่วงปลายปี 2019 โอซิลได้บริจาคเงินให้กับแคมป์อพยพ ช่วยเหลือชาวอุยกูร์ หรือกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศจีน ที่ถูกรัฐบาลจีนไล่ปราบปรามอย่างหนัก ร่วมถึงปลุกระดมให้ชาวมุสลิมทั่วโลก ต่อต้านการกระทำของผู้มีอำนาจในแดนมังกร ที่คอยไล่ที่ เผาบ้าน เผาทรัพย์สินของชาวอุยกูร์ รวมถึงการจับกุม และทำให้เสียชีวิต

7

อย่างไรก็ตาม การโจมตีรัฐบาลจีนเท่ากับการประกาศเป็นศัตรู เพียงเวลาอันสั้น จีนได้ทำการถอดโปรแกรมการถ่ายทอดเกมการแข่งขันของอาร์เซนอล ต้นสังกัดของโอซิลในเวลานั้นออกจนหมดเกลี้ยง

โอซิลกลายเป็นฮีโร่ของชาวอุยกูร์ แต่สำหรับชาวจีน เขาคือวายร้ายที่ทุกคนไม่อยากเห็นหน้า อาร์เซนอลไม่มีทางเลือก นอกจากตัดสินใจตัดชื่อโอซิลออกจากการแข่งขันทุกรายการ ไม่ส่งเขาลงสนาม เพราะไม่ต้องการเสียจีน ซึ่งเป็นตลาดทำเงินขนาดใหญ่ของสโมสร

"นี่คือวันที่แสนเศร้า เพราะผลประโยชน์ทางธุรกิจกลายเป็นเรื่องสำคัญกว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน" แฟนบอลทัพปืนใหญ่รายหนึ่งแสดงความเห็นผ่าน The Athletic

โอซิลต้องยอมจ่ายอนาคตในวงการฟุตบอลของตัวเอง เพื่อแลกกับการเรียกร้องสิ่งที่ถูกต้อง ฝีเท้าชั้นเลิศของเขาหมดสิทธิ์ที่จะได้วาดลวดลาย เพียงเพราะการถามหาความเป็นธรรมให้กับคนเพียงกลุ่มหนึ่ง ที่ถูกรังแกจากการใช้อำนาจในทางที่ผิด

8

แน่นอนว่าหากอาร์เซนอลไม่ใช้งานโอซิล เขาก็มีสิทธิ์ที่จะย้ายไปเล่นให้กับสโมสรอื่น แต่ไม่มีสโมสรในลีกยักษ์ใหญ่ทีมไหนกล้าเซ็นสัญญาแข้งรายนี้ไปร่วมทีม เพราะไม่ต้องการจะประกาศสงครามกับจีน ด้วยการดึงตัวนักเตะอันเป็นที่ชังของแดนมังกรมาร่วมทีม

จะมีก็แต่บางสโมสรในเยอรมันที่ออกตัวต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน แต่ตัวของโอซิลได้ประกาศแตกหักกับแผ่นดินบ้านเกิดไปแล้ว เท่ากับว่าเขาไม่มีที่ไปในลีกใหญ่โดยสมบูรณ์ 

เมื่อหมดหนทางให้เดินต่อ โอซิลจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากกลับบ้าน อันหมายถึง "บ้าน" ที่แท้จริงของเขา นั่นคือ ประเทศตุรกี

ตุรกี นัมเบอร์วัน 

หลังจากโอซิลตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่า เขาจะอำลาอาร์เซนอล ในเดือนมกราคม ปี 2021 แข้งจากเมืองเกียร์เซนเคียร์เชน มีทางเลือกแค่ 2 ทางเท่านั้น หนึ่งคือย้ายไปเล่นที่ตุรกี สองคือบินข้ามโลกไปที่สหรัฐอเมริกา

แม้ว่า อังกฤษ, เยอรมนี, สเปน, อิตาลี, ฝรั่งเศส รวมถึง จีน จะไม่ต้องการโอซิล แต่ตุรกียังคงเปิดกว้างต้อนรับชายผู้พลัดถิ่นฐาน กลับสู่บ้านเกิดที่แท้จริงเสมอ 

9

ขณะที่สหรัฐอเมริกา ยึดหลัก "ศัตรูของศัตรูคือมิตรของเรา" เมื่อโอซิลเป็นศัตรูกับจีนอย่างชัดเจน พวกเขาพร้อมจะเปิดประตูต้อนรับให้นักเตะรายนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งเสรีภาพ

โอซิลถึงกับออกปากว่า เขาสนใจที่ย้ายไปเล่น ทั้ง ตุรกี และ สหรัฐอเมริกา พร้อมกับให้คำมั่นว่า หลังจากนี้เขาจะเล่นฟุตบอลในดินแดนของสองชาตินี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แผ่นดินยูเอสเอ คือสิ่งที่โอซิลขอเก็บไว้ก่อน เพราะเขาตัดสินใจเซ็นสัญญาเป็นนักเตะรายใหม่ของสโมสรเฟเนร์บาห์เช ทีมฟุตบอลที่มีความผูกพันกับต้นตระกูลของเขามาอย่างยาวนาน

"เฟเนห์บาร์เช คือทีมของผมมาตั้งแต่วัยเด็ก นี่คือสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในตุรกี" โอซิลให้เหตุผลที่เขาย้ายมาเล่นกับทีมดังของแดนไก่งวง

10
11
การตามความฝันคือเหตุผลที่โอซิลอ้างถึงการมาเล่นที่ตุรกี แต่ทุกคนรู้ดีว่า การย้ายทีมในครั้งนี้มีความหมายมากกว่านั้น เพราะนี่คือการแสดงให้เห็นว่า ตุรกีคือบ้านที่พร้อมจะอ้อมกอด เมซุต โอซิล ต่อให้โลกทั้งใบไม่รักเขา ผู้คนที่นี่พร้อมจะยอมรับเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างเต็มใจ ต่อให้แข้งพรสวรรค์รายนี้จะไม่เคยเล่นให้ทีมชาติตุรกีแม้แต่นัดเดียว

"นี่คือเรื่องราวที่วิเศษสำหรับชาวตุรกีและโอซิล เพราะเขาแสดงให้เห็นว่า เขาคือตุรกี เขามีความเชื่อมโยงกับตุรกี"

"ต้องยอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเยอรมันพังลงไปไม่น้อย พวกเขาทำผิดพลาดที่เปลี่ยนเรื่องทั้งหมดไปเป็นประเด็นการเหยียดเชื้อชาติ" ฮูเยซิน ออซค็อก นักข่าวชาวตุรกี กล่าว

12

เรื่องราวของโอซิลมาไกลถึงทุกวันนี้เพราะปัญหาทางการเมือง แต่ถามว่าเขามีสิทธิ์เลือกได้หรือไม่ ที่จะไม่เอาตัวเองเข้ามายุ่งกับเรื่องวุ่นวายพวกนี้?

ที่สุดแล้ว ก็คงเป็นไปดังคำกล่าวที่ว่า "การเมืองมีอยู่ทุกที่" เพราะต่อให้โอซิลพยายามวิ่งหนีประเด็นเหล่านี้ เขาก็ไม่สามารถหนีได้พ้นอยู่ดี

"ที่ตุรกี นักการเมืองชอบไปยุ่งกับคนดังเสมอ คนแบบ เมซุต โอซิล นี่แหละ เพราะพวกเขาต้องการใช้ประโยชน์จากกลุ่มเซเล็บ หนึ่งในนั้นก็คือแอร์โดอัน" ฮูเยซิน ออซค็อก นักข่าวชาวตุรกี เล่าถึงโชคชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงของ โอซิล

13

สุดท้ายแล้ว โอซิลยอมรับความจริงที่ว่า เขาไม่สามารถหนีเรื่องวุ่นๆจากปัญหาทางการเมืองได้ เขากลายเป็นเพื่อนสนิทกับแอร์โดอัน และได้ประธานาธิบดีรายนี้มาเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวในงานแต่งงานของเขาเมื่อปี 2019

การย้ายไปเล่นฟุตบอลในตุรกีของโอซิล จึงเต็มไปด้วยแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่าเรื่องของฟุตบอล ถึงกระนั้น นี่อาจเป็นทางเลือกเดียวที่เขาจะได้กลับมาลงสนาม และมีความสุขกับเกมลูกหนังอีกครั้ง

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ ขุดต้นตอ : ทำไม "เมซุต โอซิล" ถึงย้ายทีมด้วยเหตุผลทางการเมือง?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook