ปฏิบัติการณ์ IO ของ "บาร์โตเมว" : เปิดเบื้องหลังการเข้าจับกุมอดีตผู้บริหาร บาร์เซโลน่า
ดีลมหางง, ทำให้ ลิโอเนล เมสซี่ หมดความอดทน, การไร้ความเป็นมืออาชีพในการดูแลสัญญาลูกจ้าง และผลงานที่เหมือนกับไม่เหลือเค้า บาร์เซโลนา ทีมเดิม
ทั้งหมดคือผลงานของ บาร์ซ่า ในยุคที่พวกเขามีผู้นำองค์กรที่ชื่อว่า "โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว"
ความตกต่ำที่หลายคนไม่อยากจะเชื่อไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และดูเหมือนว่าประธานสโมสรคนนี้จะมีเอี่ยวแบบเต็ม ๆ แม้การบริหารทีมให้ตกต่ำอาจไม่ผิดกฎหมาย แต่ทำไม บาร์โตเมว ถึงต้องโดนตำรวจจับกุม ?
เขาผิดตรงไหน ? ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่
ยิ่งใหญ่จนไม่น่าจะล้มได้
ช่วงยุค 2000s ต่อ 2010s บาร์เซโลนา ใหญ่คับโลก พวกเขาคือสโมสรฟุตบอลที่เป็นเบอร์ 1 อย่างไร้ข้อสงสัย ไม่ว่าจะในแง่ของการตลาด, ผลงานในสนาม, ภาพลักษณ์ของนักเตะ หรือแม้กระทั่งระบบเยาวชน ทุกอย่างประกอบกันทำให้ใครต่อใครก็อิจฉา
Photo : www.barcafan-club.com
ความเป็นเบอร์ 1 ของพวกเขามันหมายถึงแค่เก่งอย่างนั้นหรือ ? ไม่ใช่เท่านั้นหรอก บาร์เซโลนา สร้างอิมแพกต์มากมายให้กับโลกฟุตบอล พวกเขาสร้างเทรนด์ใหม่อย่าง ติกิ-ตากา การต่อบอลเท้าสู่เท้า หรือแม้กระทั่งการกล้าดันนักเตะเยาวชนขึ้นมาใช้งาน และปรัชญาฟุตบอลที่ความสวยงามมาพร้อม ๆ กับประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ทำให้หลายสโมสรพยายามตามรอย โดยมีพวกเขาเป็นต้นแบบ ไม่ในทางตรงก็ทางอ้อม
ยุคนั้นทีมไหนที่เล่นฟุตบอลเท้าสู่เท้าเร็ว ๆ แม่น ๆ ก็พลอยถูกเติมคำว่า "โลนา" กันแทบทั้งนั้น อาทิ สวอนซีโลนา หรือแม้กระทั่งในระดับภูมิภาคของเราก็ยังเคยมีการใช้ฉายานี้กับเขาด้วย เช่น บุรีรัมย์โลนา, บาร์ซ่า ออฟ อาเซียน (ทีมชาติเวียดนาม) และที่ชัดที่สุด คือทีมชาติไทยชุด "ดรีมทีม 2" ที่คว้าแชมป์อาเซียน, เหรียญทองซีเกมส์ และเข้ารอบคัดเลือกรอบสุดท้ายโซนเอเชียของฟุตบอลโลก ก็ยังใช้การต่อบอลเท้าสู่เท้า จนเป็นที่มาของ "ติ๊กต่อก สไตล์" ซึ่งเท่าที่กล่าวมาก็น่าจะพอทำให้นึกภาพได้ว่า บาร์เซโลนา มีอิทธิพลและเป็นการปฏิวัติฟุตบอลของยุคปลาย 2000s ต่อต้น 2010s อย่างแท้จริง
มีคำกล่าวถึงเรื่องสัจธรรมของทุกสรรพสิ่งว่า ไม่มีความยิ่งใหญ่ใดคงอยู่ไปตลอดกาล ... เมื่อเวลาผ่านไป บาร์เซโลนา ก็ตกต่ำลงทีละนิด ๆ จนกระทั่งเข้าสู่ปี 2020 เกิดสิ่งที่ไม่น่าเชื่อขึ้น เมื่อทีม ๆ นี้ "เละ" ราวกับเป็นคนละทีม แทบไม่เหลือเค้าความยิ่งใหญ่ที่เคยเป็นเลย
"เรารู้สึกท้อแท้กันมาก ๆ แต่คำพูดที่แท้จริงที่ผมอยากใช้คงจะเป็น น่าอับอาย มากกว่า เราไม่สามารถเล่นด้วยฟอร์มระดับนี้ได้ เพราะนี่ไม่ใช่แค่ครั้งแรก, ครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 ที่มันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น" แม้แต่นักเตะที่เป็นผู้เล่นระดับลีดเดอร์ของทีมอย่าง เคราร์ด ปีเก ยังเอ่ยคำนี้ออกมาด้วยตัวเอง
"ถ้ามันจำเป็นแล้วล่ะก็ ผมก็ยินดีที่จะเป็นคนแรกที่อำลาทีมเลย เพราะตอนนี้มันดูเหมือนว่าเราอยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุด เราต้องมานั่งนึกกันว่าอะไรจะเป็นผลดีต่อสโมสร และต่อ บาร์ซ่า มากที่สุด"
Photo : www.90min.com
คำกล่าวนี้บอกได้ถึงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในรั้ว คัมป์ นู ... ทีมที่เคยเป็นมหาอำนาจสิ้นท่า จากแทบไม่เคยสะกดคำว่าแพ้ กลับกลายเป็นทีมที่พร้อมจะทำแต้มตกหล่นทุกสัปดาห์, จากทีมที่ต่อให้แพ้ก็แพ้แบบโชคร้าย กลายเป็นทีมที่โดนยิงระดับ 3-4 ลูก บางเกมโดนไปถึง 8 เม็ด, และจากทีมที่เป็นตัวแทนของความกลมเกลียวและความภาคภูมิใจของแคว้นกาตาลุญญา กลับกลายเป็นทีมที่หมดอาลัยตายอยาก มีเรื่องให้จับผิดทุกสัปดาห์
เหตุผลของสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นมีมากมาย แต่ 1 ข้อใหญ่ที่ใครก็ไม่อาจมองข้ามได้ นั่นคือการเข้ามาสู่ทีมของ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว ในฐานะ "ประธานสโมสร" ... พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งไม่ว่าฉบับไหนก็พูดถึงชื่อเขา ทว่าเขาทำอะไรล่ะ ? ทำไมจากทีมที่ดีที่สุดในโลกจึงหมดสภาพได้ขนาดนั้น ?
เละหนักถึงซัดกันเอง
บาร์โตเมว เข้ามาสู่ทีมในปี 2014 รับมรดกต่อจากยุค ซานโดร โรเซลล์ ประธานคนเดิมที่ประกาศลาออกหลังมีข่าวทุจริต ทำให้ บาร์โตเมว ที่เป็นรองประธานต้องทำหน้าที่แทน 1 ปี ก่อนจะเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2015
Photo : en.as.com
หากถามว่าเมื่อมองจากปลายทางแล้ว ทำไมคนอย่าง บาร์โตเมว จึงถูกเลือก ? เหตุผลก็คงหนีไม่พ้น ในฤดูกาล 2014-15 บาร์เซโลนา กำลังเก่งที่สุดในโลก นำโดย ลิโอเนล เมสซี่, หลุยส์ ซัวเรซ และ เนย์มาร์ กวาดแทบทุกแชมป์ที่ลงแข่งขัน ดังนั้นใบบุญดังกล่าวจึงทำให้ บาร์โตเมว ชนะการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งประธานสโมสรอยู่เรื่อยมา
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากปี 2015 ต่างหากที่เป็นของจริง ทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว ว่า บาร์เซโลนา มีการซื้อขายที่แปลกประหลาดเกิดขึ้นในหลายดีล โดยเฉพาะนักเตะขาเข้าหลายคนที่ราคาแพงระยับระดับทะลุ 100 ล้านยูโร ทั้ง อุสมาน เดมเบเล, ฟิลิเป คูตินโญ่ และ อองตวน กรีซมันน์ ซึ่งไม่มีใครทำผลงานได้คุ้มจริง ๆ สักคน
แต่ปัญหาจริง ๆ มันไม่ได้อยู่ตรงนักเตะใหม่อย่างเดียว เพราะ "นักเตะเก่า" ที่อยู่กับทีมหรือแข้งระดับซีเนียร์ที่ตัดสินใจยืนฝั่งตรงข้ามกับ บาร์โตเมว ต่างหาก ที่เป็นการสั่นคลอนแบบชัดที่สุด พวกเขาโจมตีกันไป โจมตีกันมา ไม่มีความเป็นทีมเลยแม้แต่น้อย และเรื่องนี้เองที่ทำให้ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว ต้องทำในสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าจะทำ นั่นคือการจ้าง IO (Information Operation - ปฏิบัติการข่าวสาร) หรือกองกำลังโซเชียลที่จัดตั้งขึ้นมาให้ชมตัวเอง ตลอดจนสร้างเฟคนิวส์ เรื่องราวด้านลบและโจมตีนักเตะที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ซึ่งประกอบด้วย เมสซี่, ปีเก หรือแม้กระทั่งอดีตบุคลากรของทีมที่เป็น "ขั้วอำนาจเก่า" อย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอลา และ ชาบี เอร์นันเดซ
Photo : www.skysports.com
สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการจ้าง IO มาโจมตีบุคคลเหล่านั้น คือ บาร์โตเมว ใช้เงินของสโมสรเอามาจ้างบริษัทที่ชื่อว่า I3 Ventures และที่น่าตกใจ คือพวกเขาทำแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2016 ... ยัง ยังไม่หมดแค่นั้น การจ้าง IO ครั้งนี้มีการตรวจสอบพบว่า พวกเขาจ่ายเงินให้กับบริษัทสื่อที่ชื่อ I3 Ventures แพงกว่าปกติถึง 6 เท่า ... นั่นเท่ากับว่าพวกเขากำลังทุจริต และนั่นทำให้ บาร์โตเมว โดนจับกุมไปสด ๆ ร้อน ๆ ฐานคอร์รัปชั่น ในคดี "บาร์ซ๋าเกต" นั่นเอง
บาร์ซ่าเกต ...
"บาร์ซ่าเกต" คืออะไร ? ... ก่อนจะเริ่มคงต้องอธิบายตรงนี้ก่อน มันหมายถึงการสืบสวนสอบสวนคดีใดคดีหนึ่งอย่างต่อเนื่องจนพบกับความจริงที่สั่นสะเทือนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
Photo : tribuna.com
จุดเริ่มต้นจริง ๆ มาจากคดี "วอเตอร์เกต" การโจรกรรมข้อมูลสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต ณ อาคารวอเตอร์เกต กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อปี 1972 ซึ่ง ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจากพรรครีพับลิกันมีส่วนรู้เห็นด้วย แต่จากการสืบสวนเจาะลึกชนิด "สุดคอหอย" ก็ทำให้ นิกสัน ต้องลาออกจากตำแหน่งในอีก 2 ปีถัดมา และหลังจากนั้นมา เวลาที่มีข่าวในลักษณะเดียวกัน ก็มักจะใช้เรื่องนั้น ๆ ต่อท้ายด้วย "เกต" เสมอ
กลับมาที่ บาร์ซ่าเกต กันต่อ ... คดีนี้เป็นเรื่องของ บาร์โตเมว ที่โดนกล่าวหาว่าแอบจ่ายเงินให้บริษัทผลิตสื่อเพื่อทำงานออนไลน์อันมิชอบให้กับสโมสร ซึ่งเรื่องทั้งหมดเกิดจากการจองเวรของแฟนบอล บาร์เซโลนา กลุ่มหนึ่งที่เป็น "โซซีโอ" หรือสมาชิกสโมสร ที่ต้องการขุดสิ่งที่ บาร์โตเมว ทำไว้จนทีมของพวกเขาต้องตกต่ำเช่นนี้
การสอบสวนคดี บาร์ซ่าเกต ครั้งแรก เกิดขึ้นจากการร้องเรียนของแฟนบอลตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นเมื่อต้นปี 2020 ณ ตอนนั้น บาร์โตเมว ยังอยู่ในตำแหน่ง และยืนกรานเสียงแข็งว่าเขาไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
แต่ด้วยความรักจริง แค้นจริง ทำให้ "ยอดนักสืบโคนัน" เกิดขึ้นมากมาย มีการขุดบิลค่าใช้จ่ายก่อนที่ บาร์โตเมว ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าว พวกเขาก็เริ่มดำเนินการต่อทันที
สื่อหลายสำนัก นำโดย Cadena SER สถานีวิทยุข่าวชั้นแนวหน้าของสเปน รวมถึง Marca สื่อกีฬารายใหญ่ของสเปนเต็มใจเล่นเรื่องนี้และขุดคุ้ยอย่างเมามัน (Marca เป็นสื่อสาย "โปร มาดริด" ที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับ บาร์เซโลนา แต่ไหนแต่ไรด้วย) และพบว่า บาร์โตเมว จ่ายเงินให้ I3 Ventures ในนามสโมสร บาร์เซโลนา ถึง 1 ล้านยูโรต่อปี โดยเป็นการทำบัญชีที่หมกเม็ดทั้งหมด ... บาร์โตเมว เอาบิลการใช้เงินจ้าง IO ไปโปะไว้ในบิลแจ้งหนี้แผนกต่าง ๆ ของสโมสร ซึ่งมักจะใช้บิลที่มียอดน้อยกว่า 200,000 ยูโร เพื่อความแนบเนียน ด้วยตัวเลขต่อบิลที่ไม่มากมายนี้ ทำให้พวกเขาไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการคนอื่น ๆ ในสโมสร
เมื่อเรื่องเริ่มเเดง สื่อต่าง ๆ ก็เริ่มติดตามและขุดคุ้ยข่าวฉาวนี้มากขึ้น มีการเปิดเผยในภายหลังว่า บริษัท ต่าง ๆ ที่รับเงินดังกล่าว ได้แก่ NSG Social Science Ventures SL, Tantra Soft SA, Digital Side SA, Big Data Solutions SA และ Futuric SA นอกเหนือจาก I3 Ventures
Photo : news.yahoo.com
และมันชัดไปอีก เมื่อแต่ละบริษัทที่ได้รับเงินว่าจ้างจากสโมสร บาร์เซโลนา ดังที่กล่าวมาในข้างต้น ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับชายที่ชื่อว่า คาร์ลอส อิบาเนซ นักธุรกิจชาวอาร์เจนตินาที่เป็นเจ้าของ I3 Ventures ... มันทำให้ยากเกินกว่าจะมองเป็นแค่เรื่องบังเอิญ
เคราร์ด ปีเก เคยเป็นหนึ่งในผู้ที่เอะใจกับเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ว่ามีการจ้างหน่วยงานเพื่อโจมตีนักเตะ บาร์เซโลนา เอง และเขาเคยถามกับ บาร์โตเมว มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ซึ่ง บาร์โตเมว ตอบแค่เพียงว่า "เคราร์ด ฉันไม่รู้เรื่องจริง ๆ"
"เขาบอกเช่นนั้น แล้วผมก็เชื่อมัน ... จนกระทั่งหลังจากนั้น เราก็ยังเห็นคนที่ต้องสงสัยทำงานให้กับสโมสรอยู่ตลอดเวลา" ปีเก กล่าวกับ Goal.com และคนนั้นๆที่เขาหมายถึงชื่อว่า "ฆัวเม มาสเฟร์เรร์" หนึ่งในตัวละครลับของเรื่องนี้
เอากันให้ตาย ชกใต้เข็มขัด
การขุดคุ้ยเป็นไปอย่างมันหยด แม้ บาร์โตเมว จะลาออกจากสโมสรไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 แต่เรื่องของหลักฐานการทุจริตภายใน และการกุข่าวให้ร้าย หมิ่นประมาท คือเรื่องของการทำผิดกฎหมาย ... ถ้าอยากจะเถียงต้องไปเถียงในชั้นศาล
Photo : news.yahoo.com
และวันที่ 1 มีนาคม 2021 ปฏิบัติการจับจริงในคดี "บาร์ซ่าเกต" ของเจ้าหน้าที่ตำรวจแคว้นกาตาลุญญาก็ได้เริ่มขึ้น
พวกเขาจับกุมตัว โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว ที่บ้านพักของตัวเอง นอกจากนี้ยังพ่วงด้วยการบุกเข้าไปถึงสนาม คัมป์ นู เพื่อจับกุมตัว ออสการ์ กราอู ซีอีโอของทีม, โรมัน โกเมซ ปอนติ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของสโมสร และ ฆัวเม มาสเฟร์เรร์ เจ้าหน้าที่และหนึ่งใน ซีอีโอ เมื่อครั้งคดี "บาร์ซ่าเกต" หนแรกช่วงต้นปี 2020
ว่ากันว่าตัวของ ฆัวเม มาสเฟร์เรร์ นั้นคือตัวแปรสำคัญของเรื่อง เพราะเขามีเส้นสายและอำนาจในสโมสรเยอะมาก เนื่องจากเป็นนักประชาสัมพันธ์ระดับยอดฝีมือ และใครก็ตามที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งเก้าอี้ประธานสโมสร บาร์เซโลนา ก็ต้องได้รับความช่วยเหลือจากเขาทั้งนั้น หากอยากจะกลายเป็นคนชนะในการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ในยกแรกหลักฐานไม่เพียงพอจนทำให้ไม่สามารถเอาผิดใครได้ แต่ถึงกระนั้นก็มีกลิ่นแปลก ๆ ส่งออกมา เมื่อบอร์ดบริหารของ บาร์เซโลนา ถึง 6 คนได้แก่ เอมิลี โรโซด์, เอ็นรีเก ทอมบาส, ซิลวิโอ เอลีอาส, โจเซป ปอนท์, มาเรีย เตซิดอร์, โนเอเลีย โรเนโร และ ฆอร์ดี คัลซามิญา ลาออกจากตำแหน่งพร้อมกันท่ามกลางข่าวความความเสียหายที่เกิดขึ้น
ขณะที่ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว ก็ยกเลิกความสัมพันธ์ตามลักษณ์อักษร ระหว่างสโมสร บาร์เซโลนา กับบริษัทผลิตสื่อออนไลน์ I3 Ventures เพราะคดีดังกล่าว แต่ในทางตรงกันข้าม บาร์โตเมว ก็ยังประกาศว่าเขาจะดำเนินการในข้อหาหมิ่นประมาท หากใครยังแพร่ข่าวที่ว่าเขาเกี่ยวข้องกับคดี บาร์ซ่าเกต ด้วย
Photo : msn.com
อย่างไรก็ตามในการสอบสวน บาร์ซ่าเกต ยก 2 ที่เริ่มต้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดี บาร์ซ่าเกต หรือการที่ บาร์โตเมว ใช้เงินของสโมสรว่าจ้างบริษัทให้ปล่อยข่าวเสียหาย ทำลายชื่อเสียงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสโมสร เพื่อเอื้อผลประโยชน์ และสร้างความนิยมให้กับตัวเอง จนสามารถออกหมายจับเพื่อทำการสอบสวนในชั้นศาล
ด้านผู้พิพากษาในคดีนี้ที่ชื่อ อาเดรียนา กิล ได้สรุปคดี บาร์ซ่าเกต ในการสอบสวนครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 6) ว่า ยังมีเอกสารอีกจำนวนมากที่ยังต้องวิเคราะห์และยืนยันความถูกต้องอีกหลายฉบับ
มีการรายงานในสถานีวิทยุของสเปนว่า พบเอกสารความเกี่ยวข้องระหว่างบริษัท I3 Ventures และ สโมสร บาร์เซโลนา โดยมีการวบรวมหลักฐานได้ยาวถึง 36 หน้า เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่า I3 Ventures อยู่เบื้องหลังการสร้างบัญชีผู้ใช้ในโซเชียลมีเดียที่เป็นต้นเหตุปัญหาของเรื่อง
การกดไลค์ข้อความโจมตีฝั่งตรงข้ามของ บาร์โตเมว ที่ I3 Ventures เป็นผู้รับผิดชอบนั้นมียอดไลค์รวมถึง 3.75 ล้านไลค์ จากบัญชี IO ทั้งหมด 175,000 บัญชี ยอดคอมเมนท์โจมตีทั้งหมด 113,000 ข้อความ (โดยประมาณ) และยอดแชร์โพสต์ที่เกี่ยวกับการโจมตีให้ร้ายอีก 234,000 แชร์ ... นี่คือหนึ่งในข้อมูลจากหลักฐานจำนวน 36 หน้าที่เปิดเผยแก่สาธารณะ เรียกได้ว่าเป็นการจัดชุดใหญ่ขนาดหนัก จนถึงขั้นที่ทำให้ทางสโมสร บาร์เซโลนา ที่ยืนกระต่ายขาเดียวมาตลอดว่า "ยังไงพวกเขาก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้" เข้าตาจนในท้ายที่สุด
Photo : api.allfootballapp.com
การสอบสวนเมื่อปี 2020 บาร์เซโลน่า เคยให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า "I3 Ventures เป็นเพียงหนึ่งในบริษัทคู่ค้าของสโมสรเท่านั้น และไม่ได้มีความสัมพันธ์ลึกลับในแง่ของตัวเลขบัญชีตามที่มีการโฆษณาชวนเชื่อ" ... นี่คือคำแถลงจากสโมสร บาร์เซโลนา เมื่อปีที่แล้ว
ทว่าหนนี้หวยออกอีกฝั่ง หลังจาก โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว โดนจับกุม มีการแถลงจากสโมสรอีกครั้งว่า สโมสรจะช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจหาข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตครั้งนี้อย่างเต็มที่
"ข้อมูลและเอกสารที่ตำรวจร้องขอจะต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม และเราจะนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีนี้อย่างเคร่งครัด สโมสรฟุตบอล บาร์เซโลน่า ของแสดงความเคารพอย่างสูงต่อกระบวนการยุติธรรม และจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มกำลัง" นี่คือสิ่งที่พวกเขาเน้นย้ำในแถลงการณ์
แม้จะยังต้องรอการตัดสินในชั้นศาลเพื่อชี้ขาด แต่การขุดคุ้ยคดี "บาร์ซ่าเกต" ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ในสเปนและทำให้นับวัน ความจริงก็เริ่มปรากฎออกมาเรื่อย ๆ จนนักข่าวทั้ง 3 คนที่ทำข่าวเจาะนี้ ได้แก่ ซิเก โรดริเกซ, อันเดรีย โซลเดบีญา และ เซร์กี เอสกูเดโร จากรายการ Què t'hi Juguer ของสถานีวิทยุ Cadena Ser ถึงขั้นได้รับรางวัลข่าวสืบสวนสอบสวนยอดเยี่ยมประจำปี 2020 อีกด้วย
เท่ากับว่า ณ เวลานี้ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ทว่าการเดินขึ้นศาลของเขาพร้อมกับผู้ต้องสงสัยคนอื่น ๆ เพื่อพิจารณาคดีความ "บาร์ซ่าเกต" ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ จะเป็นการฟันธงคำตอบที่ชัดเจนที่สุดว่า แท้จริงแล้วความตกต่ำของ บาร์เซโลนา เกิดจากการกระทำของชายที่ชื่อว่า โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว หรือไม่
Photo : www.football-espana.net
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นชัดเจนว่า หลังบ้านของ บาร์เซโลน่า แตกเป็นสองฝั่งและเละเทะมานานแล้ว ไม่ใช่แค่กรณีตัวอย่าง เมสซี่ vs บาร์โตเมว อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจอีกต่อไป
การผิดใจกันและเอากันให้ตายโดยไม่สนกฎ คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ บาร์เซโลนา ต้องทนทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ จากสโมสรที่ยิ่งใหญ่และแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก มีมูลค่าทีมแตะ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นทีมแรกของโลก สู่ทีมที่มีหนี้อยู่มากกว่า 1 พันล้านยูโร ณ เวลานี้ และนอกจากเรื่องเงินแล้ว พวกเขาก็กลายเป็นทีมที่มีปัญหาแทบจะทุกด้านอีกด้วย
ไม่ว่าจะผิดจริงหรือไม่ ก็ชัดเจนว่าการที่คนในองค์กรไม่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน และเลือกจะโจมตีกัน มักเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะ ... ไม่ว่าในองค์กรใดก็ตามบนโลกนี้ จะได้บทเรียนจากการขึ้นศาลในคดี "บาร์ซ่าเกต" ครั้งนี้ อย่างแน่นอน
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ