ก่อตั้งโดยเด็กเรียนไม่จบ : ขุดกำเนิด "Vans" รองเท้าใส่เล่นสเก็ตที่ดีสุดในโลก?

ก่อตั้งโดยเด็กเรียนไม่จบ : ขุดกำเนิด "Vans" รองเท้าใส่เล่นสเก็ตที่ดีสุดในโลก?

ก่อตั้งโดยเด็กเรียนไม่จบ : ขุดกำเนิด "Vans" รองเท้าใส่เล่นสเก็ตที่ดีสุดในโลก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงเวลาที่สเก็ตบอร์ด และเซิร์ฟสเก็ต กลับมาเป็นที่นิยมในหมู่นักเล่น อุปกรณ์อย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ รองเท้าผ้าใบคู่ใจที่เหมาะสำหรับการสวมใส่เพื่อออกไปไถบอร์ด

แน่นอนว่า Vans เป็นยี่ห้อแรกๆที่หลายคนนึกถึง เพราะแบรนด์รองเท้าเจ้านี้ถือครองความนิยมในกลุ่มสเก็ตเตอร์มาอย่างยาวนาน จนถูกยกให้เป็นรองเท้าที่ใส่เล่นสเก็ตได้ดีที่สุด

Vans มีดีอย่างไร? ทำไมถึงยังครองเจ้าตลาดนี้ได้อยู่? Main Stand จะพาคุณย้อนดูต้นกำเนิดของ Vans จากวันแรกที่ก่อตั้งบริษัท จนถึงวันที่เจาะตลาดสเก็ตบอร์ด และสร้างรองเท้าที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

จากคนเรียนไม่จบ

Vans เกิดจากมันสมองของนักธุรกิจหนุ่มชื่อว่า พอล แวน โดเรน ที่คลุกคลีกับการผลิตรองเท้ามาตั้งแต่อายุ 14 ปี  

เขาตัดสินใจออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะหลงใหลในกีฬาแข่งม้า แต่แม่ของพอลไม่ชอบใจนักที่เห็นลูกชายเอาแต่เหลวไหลไม่ทำงาน เธอจึงพาเขามาสมัครงานเป็นพนักงานทำความสะอาดในบริษัทผลิตรองเท้าชื่อ Randy's

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่อยู่กับองค์กร พอลไต่เต้าจากตำแหน่งล่าสุดสู่ช่างทำรองเท้า จนในที่สุด พอล ในวัย 34 ปี ก็ได้ขึ้นมาเป็นรองผู้จัดการบริษัท Randy's ประจำเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ 

ในขณะนั้น แบรนด์ Randy's  คือบริษัทผลิตรองเท้าที่ทรงอิทธิพลลำดับสามในยุค 60s (เป็นรอง Converse และ Keds) จากผลงานการผลิตรองเท้าผ้าใบให้แก่ บ็อบ คูซี ตำนานนักบาสเกตบอลของทีมบอสตัน เซลติกส์

แต่ใช่ว่ากิจการของพวกเขาจะมั่นคง เพราะฐานผลิตในเมืองการ์เดนเวล รัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ราวเดือนละหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

พอล แวน โดเรน พร้อมด้วยน้องชาย จิม แวน โดเรน และเพื่อนซี้ กอร์ดอน ลี คือ สามพนักงานที่บริษัทส่งไปแก้ไขปัญหาธุรกิจในแคลิฟอร์เนีย 

หลังจากทำงานอย่างหนักตลอด 8 เดือน ทั้งสามคนพลิกสถานการณ์ของโรงงานผลิตรองเท้าในเมืองการ์เดนเวล จากที่เคยขาดทุนเดือนละหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลายเป็นสร้างกำไรมากกว่าโรงงาน Randy's ที่เมืองบอสตันเสียอีก

พอลเรียนรู้อะไรหลายอย่างจากประสบการณ์ที่แคลิฟอร์เนีย ข้อแรกคือ โรงงานผลิตรองเท้ามักไม่ได้กำไรเท่าที่ควร เพราะร้านขายรองเท้าเอาส่วนแบ่งตรงนี้ไปเสียหมด ข้อที่สองคือ เขามีความฝันอยากเป็นเจ้าของโรงงานผลิตรองเท้า และเจ้าของร้านขายรองเท้าของตัวเอง ส่วนข้อที่สาม พอลเรียนรู้ว่าตัวเองคือนักธุรกิจชั้นยอด

สามเดือนหลังจากพลิกวิกฤติบริษัทที่เมืองการ์เดนเวล สองพี่น้องตระกูลแวน โดเรน ประกาศลาออกจากบริษัท Randy's เพื่อเริ่มต้นกิจการของตัวเอง โดยชักชวน กอร์ดอน ลี และนักธุรกิจชาวอิตาลีอีกรายเข้ามาร่วมหุ่นด้วย

 

เดือนมีนาคม ปี 1966 บริษัท "The Van Doren Rubber Company" ก่อตั้งขึ้นบนถนน 704 East Broadway เมืองแอนาไฮม์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา กลายเป็นแบรนด์รองเท้าลำดับที่สี่ในสหรัฐอเมริกาที่เลือกใช้ยางดิบผสมผงกำมะถัน (Vulcanised Rubber) เป็นวัตถุดิบในการผลิตรองเท้า เช่นเดียวกับ Randy's, Keds และ Converse เพื่อให้คุณภาพที่ดีสุด

ทนทานถูกใจเด็กสเก็ต

ความตั้งใจแรกของพอล แวน โดเรน คือต้องการให้สินค้าของเขากลายเป็นรองเท้าสำหรับทุกคนในครอบครัว 

บริษัท Van Doren Rubber จึงผลิตรองเท้าออกมามากมายหลากรุ่น ไม่ว่าจะเป็น รองเท้า lace-up, รองเท้า two eyelet, รองเท้า slip-on, รองเท้าหนัง, canvas boat shoe และรองเท้าเด็ก

แต่รองเท้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือรุ่น #44 หรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในนาม Vans Authentic รองเท้าแบบ Deck Shoe โดยถูกออกแบบขึ้นมาให้มีความทนทานราวกับรถถัง 

สำหรับรองเท้ารุ่นนี้ ใช้พื้นแบบ Waffle Sole อันเป็นเอกลักษณ์ของ Vans ที่มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง และมีความหนามากกว่าพื้นรองเท้าในตลาดถึงสองเท่า นอกจากนี้ Vans Authentic ยังใช้ผ้าใบที่ผลิตจากเส้นใยไนลอนแทนจะเป็นผ้าฝ้าย

ความทนทานของ Vans Authentic โด่งดังไปถึงหูของนักเล่นสเก็ตบอร์ดในละแวกใกล้เคียง ซึ่งในยุค 70s นั้น พื้นที่ทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย ไม่ต่างจากเมืองหลวงของวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดในสหรัฐอเมริกา 

Advertisement

Vans Authentic จึงเป็นรองเท้าที่อยู่ถูกที่ถูกเวลามากสุด เพราะนอกจากตัวสินค้าจะมีความทนทาน ยังหาซื้อง่ายมากอีกด้วย

ไม่ใช่แค่ความทนทานที่ทำให้รองเท้าของ Vans ได้รับความนิยม แต่เป็นเพราะบริการ Custom ของแบรนด์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อได้ออกแบบรองเท้าของตัวเอง

บรรดาผู้นิยมกีฬา Extreme จึงแห่กันมาสั่งซื้อรองเท้าสีเจ็บจี๊ดซึ่งไม่มีขายที่อื่น ส่งผลให้รองเท้า Vans Authentic เป็นที่นิยมมากในหมู่นักสเก็ตบอร์ด และนักปั่นจักรยาน BMX

เมื่อนักสเก็ตบอร์ดจากซานตาโมนิกา และชายหาดแมนฮัตตัน ต่างจับจองเป็นเจ้าของ Vans Authentic กันหมด 

สองนักเก็ตบอร์ดชื่อดังอย่าง โทนี อัลวา และ สเตซี เพรัลตา จึงอยากลองซื้อมันไปใช้บ้าง แต่เนื่องจาก Vans มีบริการรับผลิตรองเท้าแบบ Custom ทั้งสองจึงสั่งผลิตรองเท้าของตัวเองขึ้นมา โดยกำชับว่า Vans ต้องแก้ไขรองเท้าตามความต้องการของพวกเขา

Vans จึงเพิ่ม Padded collar ที่บริเวณส่วนขอบบนรองเท้าด้านหลังเพื่อเพิ่มความกระชับส่วนของเอ็นร้อยหวาย, Cushioned Insole แผ่นรองส้นเท้าภายในที่ช่วยรองรับแรงกระแทก และ Reinforced Heel เพื่อห่อหุ้มบริวเณส้นเท้าให้ลดแรงกระแทกจากการปะทะมากขึ้น

แทนที่ Vans จะผลิตรองเท้ารุ่นนี้แก่ โทนี อัลวา และ สเตซี เพรัลตา เพียงสองคน พวกเขากลับวางขายมันแก่บุคคลทั่วไปในชื่อรุ่น #95 หรือ Vans Era นอกจากนี้ยังมีการติดโลโก้ "Vans Off The Wall" ลงไป เพื่อบ่งบอกว่านี่คือรองเท้าเพื่อนักสเก็ตบอร์ดโดยเฉพาะ

Vans Era ถูกยกย่องเป็นรองเท้าสเก็ตบอร์ดรุ่นแรกของโลก ที่ออกแบบโดยสเก็ตเตอร์ หลังจากวางขายอย่างเป็นทางการในปี 1976 Vans Era กลายเป็นรองเท้าอันดับหนึ่งในหมู่คนรักการไถบอร์ด และทำให้ Vans หันมาเจาะตลาดนี้อย่างเป็นทางการนับแต่นั้น

รองเท้าเพื่อคนรักสเก็ตบอร์ด

Vans พัฒนารองเท้าเพื่อนักสเก็ตบอร์ดอย่างต่อเนื่องในยุค 70’s จนอาจเรียกได้ว่า ผลิตรุ่นใหม่ออกมาวางขายแทบทุกปี

ปี 1977 Vans เปิดตัวรุ่น #36 หรือ Vans Old Skool ที่พัฒนาต่อมาจากรุ่น Era โดย Vans Old Skool มีองค์ประกอบเหมือนกับรุ่นก่อนหน้าแทบทุกอย่าง ยกเว้นการนำหนังสัตว์มาใช้เป็นวัสดุของรองเท้าเพื่อเพิ่มความทนทาน และเพิ่มชิ้นส่วนบริเวณ Outsole ด้านหน้าที่ผลิตจากยางเครป ทำให้พื้นรองเท้าพังยากมากขึ้น

ไม่ใช่แค่ความทนทานที่เพิ่มขึ้น แต่ Vans Old Skool ยังโดดเด่นในเรื่องของดีไซน์ เพราะนี่คือรองเท้า Vans รุ่นแรกที่มีการนำ jazz stripe อันเป็นเอกลักษณ์มาใช้ โดยลวดลายนี้ถูกออกแบบโดย พอล แวน โดเรน ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์เอง (ส่วนโลโก้ Vans Off The Wall ออกแบบโดย มาร์ค แวน โดเรน หลานชายของพอล) 

แม้ Vans Old Skool จะแพงกว่า Vans Era อยู่ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ณ เวลานั้น) เมื่อออกขายครั้งแรก ทำให้มันได้รับความนิยมแบบพุ่งกระฉูด

ในปีเดียวกัน Vans ยังได้ผลิตโมเดล #98 หรือ Vans Classic Slip-Ons ออกมา ซึ่งรองเท้ารุ่นนี้กลายเป็นรองเท้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดในแคลิฟอร์เนียใต้ เพราะไม่ใช่แค่นักสเก็ตบอร์ดที่ชื่นชอบ แต่นักปั่นจักรยาน BMX ก็นิยมรองเท้ารุ่นนี้เช่นเดียวกัน เพราะ Vans Classic Slip-Ons ไม่มีเชือกรองเท้า จึงไม่ต้องกังวลปัญหาเชือกหลุดขณะเล่นกิจกรรมผาดโผน

ความสำเร็จของทั้งสองรุ่นส่งผลให้ Vans ออกแบบโมเดล #38 หรือ Vans Sk8-Hi ซึ่งถือเป็นรองเท้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากนักสเก็ตบอร์ด เพราะได้มีการปรับรองเท้าเป็นทรงสูง ส่งผลให้ข้อเท้าของนักสเก็ตบอร์ดมีความปลอดภัยมากขึ้น และเมื่อบวกกับความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์จาก jazz stripe จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ Vans Sk8-Hi จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

ช่วงปี 1976-1980 จึงเป็นช่วงยุคทองของ Vans อย่างแท้จริง กลายจุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์รองเท้ายี่ห้อนี้ที่ทำให้คนทั้งโลกรู้จัก 

แม้เวลาจะผ่านมานานหลายทศวรรษ จากวันที่ Vans Authentic, Vans Era, Vans Old Skool, Vans Classic Slip-Ons และ Vans Sk8-Hi ถูกวางจำหน่ายสู่ท้องตลาด 

แต่มรดกจากสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นในยุค 70’s ส่งผลให้รองเท้าเหล่านี้ยังคงขายดีตลอดมา ส่งผลให้ชื่อของ Vans ถูกจดจำในฐานะแบรนด์รองเท้าอันดับหนึ่งสำหรับนักสเก็ตบอร์ดมาจนถึงปัจจุบัน

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ก่อตั้งโดยเด็กเรียนไม่จบ : ขุดกำเนิด "Vans" รองเท้าใส่เล่นสเก็ตที่ดีสุดในโลก?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้